1.
ว่ากันว่า “ชีวิตของคนที่เคยไปแคชเมียร์มาจะแบ่งออกเป็นสองช่วง
คือ ช่วงก่อนไปแคชเมียร์ กับหลังจากไปแคชเมียร์มาแล้ว”
ข้อความในเว็บไซด์บริษัททัวร์เขียนไว้อย่างนั้น
เป็นข้อความที่น่าคิด
หลายสถานที่และหลายสถานการณ์
ที่เราเดินผ่านแล้วเปลี่ยนแปลงไปอย่างสิ้นเชิง
เราเปลี่ยน มิใช่สถานที่
อะไรทำให้ประโยคนั้นเกิดขึ้น?
‘ชีวิตหลังแคชเมียร์’ มีหน้าตาเป็นอย่างไร?
อาจต้องไปหาคำตอบด้วยตัวเอง
2.
ในมุมที่หนึ่ง
แคชเมียร์ เป็นดินแดนขอบประเทศที่วางตัวอยู่ระหว่างอินเดียกับปากีสถาน
เป็นชายแดนที่มีเรื่องรุนแรงอยู่เนืองๆ และยังคงเกิดขึ้นแก้เหงาเป็นระยะ
แคชเมียร์ เคยเป็นรัฐอิสระ แต่ใน ค.ศ. 1947 ปากีสถานก็เริ่มเข้ายึดหลายๆ จังหวัด
ในแคชเมียร์ไปได้ เป็นสาเหตุให้แคชเมียร์เริ่มหันไปซบอกอินเดีย
และรวมเข้าเป็นรัฐหนึ่งในอินเดีย แต่ก็นั่นแหละ ยังคงมีกลุ่มมุสลิมบางกลุ่มที่
ต้องการแยกตัวได้ประกาศสงครามศักดิ์สิทธิ์กับอินเดียซึ่งประชากรส่วนใหญ่เป็นชาวฮินดู
และเริ่มโจมตีมาตั้งแต่ปี 1989 และยังคงตอบโต้กันไปมา มีภาพประดับเลือดสีแดงให้เห็นเป็นระยะ
3.
ในมุมที่สอง
แคชเมียร์ เป็นเขตพื้นที่ที่มีความเสี่ยงต่อแผ่นดินไหวรุนแรง
เดือนตุลาคม ปีที่แล้ว แผ่นดินก็เพิ่งขยับตัว วัดได้ 6.8 ริกเตอร์
(ศูนย์กลางวัดได้ 7.8 ริกเตอร์) ในเขตปากีสถานตึกสูงหลายหลังถล่ม
ในเขตอินเดีย(ตามข่าว)มีผู้เสียชีวิตสิบหกคน!
4.
ในมุมที่สาม
แคชเมียร์ เป็นสถานที่ในฝัน
เป็นสวิตเซอร์แลนด์แดนภารตะ
เป็นสวรรค์บนดิน เป็นสถานที่ท่องเที่ยวที่ยังคงความบริสุทธิ์
บริสุทธิ์เพราะเพิ่งเปิดเขตแดนให้คนนอกได้เข้าไปสัมผัส
บริสุทธิ์เพราะยังไม่เปิดตัวเองรับ ‘โลกใหม่’
เป็นความบริสุทธิ์ในมุมมองของนักท่องเที่ยว
เป็นนักท่องเที่ยวที่มักคาดหวังให้ประเทศอื่นๆ คงความบริสุทธิ์ไว้
แต่ประเทศของฉันนั้นต้องพัฒนาไปไกลๆ ให้ทันโลก
อยากสตัฟฟ์ประเทศที่ล้าหลัง
แต่ประเทศตัวเองต้องเร่งวุ้น เร่งสี เร่งโต
นับวัน ประเทศหรือดินแดนบริสุทธิ์ยิ่งหายาก
นับวัน ดินแดนในส่วนต่างๆ ของโลกยิ่งคล้ายกันไปหมด
ดินแดนที่ปิด(หรือเคยปิด)จึงมีเสน่ห์ชวนให้ค้นหา
อาจไม่ใช่แค่ต้องการไปสูดกลิ่นความบริสุทธิ์
แต่เป็นความรู้สึกโหยหา ‘ชีวิต’ ที่แท้จริง
‘ชีวิต’ พื้นฐาน ที่ดำรงชีพกับความจำเป็นจริงๆ เท่านั้น
อาจเพราะชีวิตคนเมืองใหญ่ ไม่ค่อยบริสุทธิ์
แต่รกรุงรังไปด้วยสิ่งเลอะเทอะเปรอะเปื้อน
นักเดินทางจากดินแดนพัฒนาจึงโหยหาความบริสุทธิ์
และความไม่พัฒนาเสียเหลือเกิน
เมื่อไปแล้วก็ไม่อยากกลับ
กลับมาแล้วก็ยังอยากกลับไปสัมผัสอีกครั้งแล้วครั้งเล่า
แต่พอกลับมา ก็ยากที่จะใช้ชีวิตบริสุทธิ์ในเมืองที่รกรุงรัง
5.
ไม่ว่าฤดูไหน แคชเมียร์ก็สวย (ดูจากรูปและคำบอกเล่า)
ฤดูร้อน แคชเมียร์จะสพรั่งไปด้วยสีสันของทุ่งดอกไม้และสวนแบบโมกุล
ท้องฟ้าสีฟ้าสดขับยอดเขาหิมะสีขาวให้คมชัด
ฤดูหนาว แคชเมียร์จะถูกปกคลุมด้วยหิมะขาวโพลนไปทั้งหุบเขา
น้ำในทะเลสาบกลายเป็นน้ำแข็ง สีขาวของหิมะห่มพื้นดิน
และเนินเขาเป็นเนื้อเดียวกับยอดเขาหิมะ ราวกับโลกเป็นสีขาว-ดำ
เป็นขาว-ดำที่สวย — สวยแบบเหงาๆ — สวยแบบหนาวๆ
แต่-ตามคำแนะนำ ไม่ควรไปแคชเมียร์ในฤดูหนาว
เพราะดีไม่ดีจะไปไม่ถึง!
การไปแคชเมียร์ต้องนั่งเครื่องบินไปลงที่เดลี
แล้วจึงต่อรถบัสไปยังแคชเมียร์ที่อยู่ทางด้านเหนือของอินเดีย
แต่!! ในฤดูหนาวหิมะพรำแบบนี้ มีสิทธิ์เป็นได้สูง
ที่ถนนจะถูกหิมะคลุม จนไม่สามารถเปิดให้รถวิ่งได้
และถ้าเหตุการณ์เป็นแบบนั้น ก็จะเหลืออีกทางเดียว
คือเครื่องบิน
ต้องนั่งเครื่องบินจากเดลี ไปลงยังเมืองศรีนาคา
ซึ่งก็ได้ยินมาว่า อาจจะบินหรืออาจจะไม่บิน
ตามแต่สถานการณ์ของท้องฟ้า
และถ้าทุกอย่างเป็นใจ ฟ้าเปิด ทางโล่ง
ก็ยังมีอีกหนึ่งสาเหตุที่จะกั้นขวางไม่ให้นักเดินทางไปถึงแคชเมียร์
คือ เหตุการณ์ความรุนแรงในบริเวณนั้น
ซึ่ง(ว่ากันว่า)ถ้ามีเสียงกระสุนดังขึ้นเมื่อไหร่
เขตแดนแคชเมียร์จะปิดทันที!
การเดินทางไป ‘สวรรค์บนดิน’ จึงไม่ง่าย
และใช่ว่า คิดอยากจะไป ก็จะได้ไปถึง
เป็นเรื่องของเหตุการณ์ ‘เฉพาะหน้า’
เป็นเรื่องที่ต้องไปลุ้นกันระหว่างทาง
แต่ถ้าคิดว่าจะไปไม่ถึง ก็คงล้มเลิกความคิดที่จะออกเดินทาง
บางที คงต้องออกเดินทางไปก่อน
อยากไปถึง แต่ถ้าไม่ถึงก็ไม่เป็นไร
เพราะว่าเมื่อได้เก็บกระเป๋าออกจากบ้านก็เท่ากับว่าได้ออกเดินทางแล้ว
บางทีก็ไม่ต้องไปถึง สวรรค์
แค่คิดจะไป สวรรค์ ก็มันส์แล้ว
ล่ำลากันชั่วคราวครับ
จะเดินทางไปสวรรค์ ทั้งที่ไม่รู้ว่าจะไปถึงไหม
กลับมาอีกทีกลางเดือนหน้า
ถึงตอนนั้น คาดว่าจะได้รู้แล้วว่า ‘ชีวิตหลังแคชเมียร์’ เป็นอย่างไร?
คงรู้…ถ้า ‘สามารถ’ ไปถึงแคชเมียร์
Kashmir, if I can.