Archive for ธันวาคม, 2006

ลูกชิ้นที่หายไป กับก้านไม้ที่เท่ขึ้น

ธันวาคม 30, 2006

1.
ร้านจุฑารส ที่สยามสแควร์เป็นร้านเก่าแก่นมนาน
เราได้เดินผ่าน แล้วเข้าไปหย่อนก้น หย่อนลิ้น เป็นระยะ
ตั้งแต่สมัยเรียน สมัยโดดเรียน และสมัยเลิกเรียน(ในโรงเรียน)
ข่าวเล่าว่า ร้านนี้เปิดประตูรับลูกค้าผู้ท้องกิ่วมากว่าสามสิบปีแล้ว

สามสิบปีแห่งสยามสแควร์ย่อมเต็มไปด้วยความเปลี่ยนแปลง
ยิ่งในช่วงสิบปีให้หลัง สยามสแควร์เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว
โฉบเฉี่ยว ฉูดฉาด เปรี้ยวปรู๊ดปร๊าด ปรับปรุงกันให้ ‘เท่’ ขึ้นทั้งบริเวณ

ในแง่สถาปัตยกรรม สยามฯ เป็นสถานที่ที่น่าสนใจสำหรับใครสักคนที่
อยากสังเกต ‘ชีวิต’, ‘การต่อสู้’, ‘การกลืน’, และ ‘การยืนหยัด’
ของสิ่งก่อสร้างที่มีชื่อว่า ตึก

ตึกในสยามฯ มีเอกลักษณ์และมียุคสมัยของมัน ซึ่งมีเสน่ห์ไม่น้อย
แต่ทุกวันนี้ตึกเก่าๆ เหล่านั้นถูกปก+ปิด, ปก+คลุม ด้วยวัสดุสมัยใหม่
เคลือบ+ทับ พื้นผิวเก่าๆ เหล่านั้นจนมิดชิด สิ่งที่เราเห็นเบื้องหน้าจึงมักจะเป็น
สีสันอันสะดุดตาจากป้ายหน้าร้าน บิลบอร์ดโฆษณา และเปลือกตึกใหม่ๆ
ที่พยายามจะแต่งตัวตึกรุ่นคุณลุงคุณป้าให้กลายร่างเป็นวัยรุ่น!

ตึกในสยามฯ จึงมีเสน่ห์ไปอีกแบบ
เสน่ห์ของชีวิตที่ผสมผสานระหว่าง ‘เก่า’ กับ ‘ใหม่’

ไม่เพียงแต่ ‘เปลือกหุ้ม’ เท่านั้น แต่ ‘ข้างใน’ ตึกเหล่านั้นก็ถูกปรับ+เปลี่ยน
แก้+ไข, ซ่อม+แซม อย่างเมามันจากฝีมือนักออกแบบรุ่นใหม่ หัวใหม่ มือใหม่
หลายตึกนั้นทำได้น่าสนใจ สามารถปรับ+ปรุงได้อย่างกลมกล่อม
และมีรสชาติใหม่เกิดขึ้นได้ตึกเก่า

หลายร้านในสยามสแควร์มีการตกแต่งภายในที่น่ารัก น่าสนใจ
และจนกระทั่งถึงยุคสมัยนี้แล้ว ร้านที่ยังคงความโบราณอยู่นั้นหายากยิ่ง
ร้านอย่างนิวไลท์, สีฟ้า, อินเตอร์ ดูจะยังยืนหยัดต่อไปด้วยฝีมือด้านการปรุงอาหาร
และทุ่มเทใจให้กับการสรรค์สร้างรสชาติที่สัมผัสด้วยลิ้นมากกว่ารสชาติที่ใช้ตาสัมผัส

เป็นการยืนหยัดท่ามกลางร้านอาหารน่ารัก เรียบหรู เท่ขรึม มืดๆ ครึ้มๆ สดใส ทันสมัย
ที่เน้นการสร้างบรรยากาศภายในร้านเกินหน้าเกินตารสชาติของอาหาร
ซึ่งร้านแบบหลังนี้ผุดขึ้นมาดกดื่นราวกับดอกเห็ดหลังฤดูฝน

และสิ่งที่ตามมาเป็นเห็ดดอกที่สอง คือ ราคาในเมนู ที่มักจะบวกค่าปูน ค่าสี
ค่าวอลเปเปอร์ลายสวย รวมไปถึงค่าจ้างนักออกแบบเท่ๆ เหล่านั้นเข้าไปด้วย

อย่างที่เค้าว่า ‘บรรยากาศมันขายได้’

2.
ลองเปิดพจนานุกรมดูเล่นๆ คำว่า ‘จุฑา’ มีความหมายว่า จุก, ที่สูงสุดของศีรษะ
หากลองสมาสเอาเองเล่นๆ ‘จุฑารส’ ก็น่าจะหมายถึง ‘รสชาติอันสูงสุด’

ซึ่งก็สมชื่อ ไม่ว่าผัดไทยกุ้งสด, หรือลูกชิ้นทั้งเอ็นและไม่เอ็น รวมไปถึงน้ำจิ้ม
ของร้านนี้ ล้วนแต่สมควรที่จะได้รับคำชมว่าเป็น ‘รสชาติอันสูงสุด’ ทั้งนั้น
เดินผ่านแล้วได้กลิ่นปิ้งลูกชิ้นทีไร น้ำลายต้องไหลเป็นปลาปุ้มปุ้ยทุกที

หลังจากร้านจุฑารสปรับปรุงและตกแต่งภายในเพื่อตามสมัยให้ทัน
และปรับเปลี่ยนเปลือกตัวเองให้พูดจากับเด็กสมัยใหม่รู้เรื่อง เราได้แต่นั่ง
บริเวณชั้นล่าง และก็รู้สึกว่ามันเป็นความรู้สึกแปลกๆ คือ ได้ลิ้มรสชาติเก่า
ในบรรยากาศโคตรใหม่ คือมันไม่เหลือเยื้อใยของกลิ่นเก่าๆ ไว้บ้างเลย
แต่ก็เข้าใจได้ในความเปลี่ยนแปลงของโลกและชีวิต-ไม่ได้คิดอะไรนักหนา

กระทั่งเมื่อวาน ระหว่างรอลูกชิ้นปิ้งที่สั่งไว้ ก็ได้เดินขึ้นบันไดไปเข้าห้องน้ำที่ชั้นสอง
จึงได้พบว่าบรรยากาศข้างบนช่างสวยหรู เท่ ครึ้ม อบอุ่น นวลนุ้ย ด้วยแสงของ
ไฟประดับสีส้ม ต่างจากบรรยากาศไฟขาวๆ สว่างๆ เห็นรอยคราบน้ำมันแบบเดิมสิ้นเชิง

ในความรู้สึกตอนนั้น ‘โอ้ว! จุฑารส ยู อาร์ โซ คูล!’

เดินลงบันไดทั้งที่ใจยังเต้นไม่เป็นจังหวะเพราะตื่นไปกับ ‘ความคูล’ บนชั้นสอง
ก็ต้องมาพบว่าลูกชิ้นที่สั่งไว้มีเพียงไม้ละสามลูก!!
สามลูก!
สามลูก!
(โปรดอ่านอีกครั้ง)
สามลูก!

เป็นการจัดสรรพื้นที่บนไม้ลูกชิ้นที่ไม่งามสักเท่าไหร่

แม้ว่าแม่ค้ารถเข็นบางร้านที่ถูกครหาว่า นำลูกชิ้นเนื้อหมามาปิ้ง
จะเสียบลูกชิ้นถึงหกลูกซึ่งดูคับแน่นไม้เกินไปบ้าง แต่มันก็ช่วยให้
พุงของเราคับ และกระเป๋าตังค์ยังแน่นไปด้วยเงิน
ความอึดอัดบนพื้นที่ไม้จึงพอจะยอมรับกันได้แบบไม่ต้องกล้ำ
แค่กลืน(ลูกชิ้น)ลงคอเพื่อส่งต่อไปยังกระเพาะอาหาร

โดยปกติสากล แม้ไม่ต้องทำสัญญาลงนามในสมัชชาลูกชิ้นโลก
ลูกชิ้นเสียบไม้ตามปกตินั้นควรมีจำนวนไม่ต่ำกว่าสี่ กำลังดีก็คือห้า
แต่ไฉนร้านจุฑารสผู้มีลูกชิ้นอันมีรสชาติอันเป็นเลิศจึงหดจำนวนลง
เหลือเพียงสาม?

จำไม่ได้ว่าแต่ก่อนห้า หรือ สี่?
แต่ไม่ใช่สามแน่ๆ เพราะมันช่างดูหรอมแหรม
จนชวนให้สงสารลูกชิ้นสามใบเถาอันว้าเว่ขาดเพื่อนร่วมไม้

แต่เมื่อได้จับก้านไม้ขึ้นมาจึงได้พบบางอย่างที่อาจตอบคำถามเรื่องลูกชิ้น

ก้านไม้ที่ร้านจุฑารส ‘คูล’ ไม่แพ้บรรยากาศการตกแต่งบนชั้นสอง
เป็นก้านไม้เสียบลูกชิ้นที่มีดีไซน์ที่สุดตั้งแต่เราเคยได้ยลมา
แทนที่จะเป็นไม้ด้วนๆ กุดๆ แบบธรรมดาทั่วไป
ก้านไม้ที่แทงทะลุลูกชิ้นกลมๆ ทั้งสามอยู่นั้นมีความแบนตรงส่วนปลาย
นั่นหมายถึงว่ามันจะต้องใช้ ‘พื้นที่ไม้’ ในการผลิตมากขึ้น
(หมายถึง หากใช้ ‘วัตถุดิบไม้’ เท่ากันจะผลิตไม้เสียบลูกชิ้นแบบมีดีไซน์
ได้น้อยกว่าไม้แบบธรรมดาๆ)
ไม่เท่านั้น-บริเวณส่วนแบนที่ว่า ยังมีการสลักชื่อร้านลงไปในนั้นด้วย!
นั่นหมายความว่า ความเท่นี้ย่อมมี ‘ค่าใช้จ่าย’!

และเป็นไปได้ไหมว่า ‘ค่าใช้จ่าย’ บริเวณก้านไม้อัน ‘เวรี่คูล’ นี้
ทำให้ลูกชิ้นอันมีรสชาติเป็นเลิศนั้นหายไป?

เราต้องยอมเสียลูกชิ้นอร่อยๆ ไป
แลกกับความรู้สึก ‘เท่ๆ’ ที่ได้มาจากการสัมผัสก้านไม้เสียบลูกชิ้นมีดีไซน์
เป็นแบบนั้นหรือเปล่า?

3.
โลกยุคนี้ อะไรๆ ที่ขาย ‘เนื้อ’ กันจริงๆ นั้นอยู่ยาก
เพราะคนเคยชินกับการเสพและบริโภค ‘เปลือก’ กันอย่างหฤหรรษ์
หาก ‘เปลือก’ ถูกสร้างขึ้นมาเพื่อห่อหุ้ม ‘เนื้อ’ ที่ดีมีคุณภาพ
ก็คงไม่ได้น่ารังเกียจอะไร แต่คงน่าเสียดายหากต้องถึงกับ ‘เฉือนเนื้อ’
เพื่อนำมาสร้าง ‘เปลือก’ เอาใจคนรุ่นใหม่ที่โหยหาเปลือกคูลๆ

นี่ก็เป็นความรู้สึกของคนกำลังจะแก่ (หรือแก่แล้ววะกู?)

แต่เราว่า โดยพื้นฐานของมนุษย์ไม่ว่าจะแก่หรือหนุ่มหรือสาว
หาก ‘ของ’ สิ่งนั้นเป็น ‘ของดี’ (ไม่ต้องนับไปถึงของระดับ ‘จุฑา’)
จะหนุ่มจะสาวจะแก่ก็ย่อมโหยหา ‘เนื้อ’ มากกว่า ‘เปลือก’ อยู่วันยันค่ำ

สำหรับร้านที่มีลูกชิ้นรสเลิศระดับ ‘จุฑารส’
ที่เราได้ลิ้มชิมรสอันสูงสุดสะใจมาเป็นเวลานาน
เรารู้สึกค่อนข้างเสียดาย หากในอนาคต ความใส่ใจในรสชาติจะหดหายไป
เมื่อคนรุ่นหลังขึ้นมาบริหารแทน ในฐานะลูกค้าผู้คลั่งไคล้ในรสชาติลูกชิ้น
ก็แค่อยากให้คงความใส่ใจในรสชาติอันเอร็ดเด็ดนั้นไว้
ส่วนไอ้เรื่องก้านไม้อันเท่หรูนั้น เราเป็นคนหนึ่งที่ไม่ได้ใส่ใจอะไรกับมันเลย

และถ้าเลือกได้
เราขอไม้ธรรมดาๆ และเอาลูกชิ้นที่หายไปกลับคืนมาได้มั้ยครับ?

แอบอุ่น

ธันวาคม 27, 2006

1.
เผลอแผลบเดียวเหมือนเอาลิ้นเลียริมฝีปาก
เราอยู่คนเดียวในห้องเล็กๆ ที่บรรจุรวมกับห้องเล็กๆ อีกหลายร้อยห้อง
มาเป็นเวลาเกือบสองปีแล้ว ความรู้สึกของคนที่นอนกอดความอบอุ่น
ในบ้านมาตลอดยี่สิบกว่าปี มีพี่ มีพ่อ มีแม่ รอยิ้มรับตอนกลับบ้าน
เปลี่ยนเป็นการเปิดประตูห้องเข้าไปเพื่อพบกับความเงียบ
บางทีก็ เงียบสงบ บางครั้งก็ เงียบเหงา – แล้วแต่อารมณ์ของวัน

คอนโดฯ โดยทั่วไป(หมายถึงที่ไม่ได้หรูหราอลังการอะไรนัก)
มักมีลักษณะการออกแบบคล้ายคลึงกัน คือ เป็นห้องเดี่ยวๆ ให้ชีวิตเดี่ยวๆ
ได้หายใจอยู่ในนั้นแบบต่างคนต่างอยู่ มีพื้นที่ส่วนกลางที่เปิดโอกาส
ให้คนร่วมชุมชนมาแบ่งปันชีวิต พูดคุย แลกเปลี่ยน หรือกระทั่งเปิดโอกาส
ให้เส้นทางของแต่ละคนได้มีโอกาสมาเดินตัดกันน้อยยิ่งกว่าน้อย
และโดยเจตนาแล้วก็ไม่มีความต้องการจะให้คนเหล่านั้นพบปะกันสักเท่าไหร่

(แน่อยู่แล้ว คอนโดฯ ส่วนใหญ่อยู่ในบริเวณที่ดินราคาแพง
จะมาแบ่งพื้นที่ให้กับการพบปะสังสรรค์กันทำไม แบ่งไปก็ไม่ได้ตังค์
เอามากั้นห้องสร้างตึกเยอะๆ ใหญ่ๆ คุ้มกว่า)

จึงมีพื้นที่เพียงไม่กี่ส่วนเท่านั้นแหละที่คนร่วมคอนโดฯ จะได้จ้องตากัน
ที่จอดรถ, ในลิฟต์, ร้านขายของ, ร้านซักผ้า
หากหรูหราหน่อยก็อาจจะมีสระว่ายน้ำหรือฟิตเนส
แต่ก็เป็นการจ้องตากัน แล้วก็หลบตากันไปแบบเขินๆ
คำพูดคุยสั้นๆ แค่ ‘สวัสดีครับ/ค่ะ’ ก็ยังไม่ถูกเอ่ยออกมา
กระทั่งยิ้มเล็กๆ ที่มุมปากก็ยากที่จะหยิบยื่นให้กัน

ชุมชนในคอนโดฯ จึงเป็นชุมชนที่มีความ ‘หนาแน่น’ สูง (คนเยอะในพื้นที่แคบ)
แต่กลับไม่มีความ ‘แนบแน่น’ เลยแม้แต่น้อย
นั่นย่อมหมายถึง เป็นชุมชนที่ไม่มี ‘พลัง’ ด้วย
ไม่ว่าพลังในการร่วมกันทำสิ่งที่ดี หรือร่วมกันต่อต้านสิ่งที่ไม่ดีก็ตาม

ไม่แน่ใจเหมือนกันว่า เพราะคนที่เลือกอยู่คอนโดฯ ชอบอยู่แบบ ‘อย่ามายุ่งกะกู’
หรือตัวคอนโดฯ กันแน่ที่ทำให้คนที่อยู่อาศัยรู้สึกว่า ‘อย่าไปยุ่งกะมัน’

2.
บอร์ดส่วนกลาง เป็นพื้นที่เล็กๆ ที่ชาวคอนโดฯ จะร่วมรับรู้ข่าวสารร่วมกัน
โดยมากมักจะเป็นข่าวสารจากส่วนกลาง(นิติบุคคล)
บอกเรื่องน้ำ ไฟ ขยะ จิปาถะทั่วไป อาจมีการทวงหนี้(ประจาน)บ้าง
สำหรับห้องที่ติดค้างชำระนานไปหน่อย แต่น้อยยิ่งกว่าน้อย
ที่เราจะเห็น ‘ข้อความ’ ที่ส่งจากชาวคอนโดฯ ผู้โดดเดี่ยว
ถึงชาวคอนโดฯ ผู้รักชีวิตแบบตัวใครตัวมันคนอื่นๆ ร่วมตึก

กระทั่งวันนั้น เราได้เห็นโปสเตอร์สีแดง-ดำขรึมเข้มเอาจริงเอาจัง
มีการจัดวางตัวหนังสือและเลือก Typeface มาอย่างดี ติดอยู่ที่บอร์ด
ความ ‘มีดีไซน์’ ของมันกระโดดเตะเข้าที่ตาของทุกคนที่เดินผ่าน
รวมทั้งตาตี่ๆ ของเราด้วย ข้อความจริงจังพอๆ กับดีไซน์เขียนว่า

‘พวกเราไม่ได้เสียเงินซื้อบ้าน เพื่อที่จะมีอาคารจอดรถสูงโด่มาบดบังทัศนวิสัย
ได้โปรดเหลือพื้นที่โล่งๆ ให้เราได้มองเห็นวิวและได้หายใจหายคอกันบ้างเถิด’

โดยมีข้อความเล็กๆ ด้านล่าง เขียนไว้ทำนองว่า
‘ร่วมกันคัดค้านการก่อสร้างอาคารจอดรถสูงหลังตึกเรา’

จะมีการสร้างอาคารจอดรถหรือ?
เราเพิ่งรู้จากโปสเตอร์แผ่นนี้นี่แหละ

สำหรับเรา เราว่ามันเป็นแผ่นกระดาษที่มีพลังมาก มีพลังในการสร้างอารมณ์ร่วม
ของคนในชุมชนเดียวกัน(ที่อยู่กันแบบต่างคนต่างอยู่มาตลอด)ให้มาร่วมกันต่อต้าน
สิ่งที่ไม่ค่อยชอบมาพากล และได้ร่วมตะโกนเสียงเบาๆ ของเราออกไปพร้อมกัน
แน่นอนว่ามันต้องดังขึ้น และอาจดังไปถึงหูของผู้เกี่ยวข้อง

เป็นพื้นที่ประชาธิปไตยเล็กๆ ที่เราไม่เคยเห็นในคอนโดฯ

เรายังคาดหวังที่จะเห็นการรวมตัวกันของคนในคอนโดฯ
เพื่อแสดงออกถึงความคิดเห็นที่ไม่เคยมีใครได้พูดออกมา
ความคิดเห็นที่ทุกคนอาจคิดเหมือนๆ กัน
แต่ก็ได้แต่เก็บมันไว้เงียบๆ คนเดียวในห้องเล็กๆ
ที่ถูกผนังกั้นความเป็นเพื่อนมนุษย์ของเราทุกคนออกจากกัน

อยากเห็นชุมชนที่ ‘หนาแน่น’ มา ‘แนบแน่น’ กันสักครั้ง

แต่ความคาดหวังของเราก็หายไปพร้อมกับกระดาษแผ่นนั้น ในวันรุ่งขึ้น
พื้นที่ประชาธิปไตยที่พยายามต่อรองคัดง้างกับอำนาจมักอยู่ไม่ได้นาน

3.
หลังจากเหตุการณ์ในวันนั้น เราก็ไม่ได้คิดถึงการรวมตัว
ไม่ต้องนับไปถึงรวมใจกันของผู้คนที่อยู่ปะปนในตึกเดียวกันอีกเลย
เราได้แต่เดินขึ้นห้อง กดลิฟต์เปิดเพื่อรอเพื่อนร่วมตึกบางคน
บางทีเค้าก็เปิดรอเราบ้าง เราต่างยิ้มให้กัน และเอ่ยคำสั้นๆ ว่า ‘ขอบคุณ’
ก็แค่นั้น เราไม่มีอะไรที่จะพูดจาแบ่งปันกันได้

กระทั่งเมื่อวาน วันธรรมดาๆ หลังวันพิเศษที่มีลุงแก่เครายาว
หอบหิ้วของขวัญมาแบ่งปันคนอื่น เป็นวันหนึ่งในฤดูหนาวที่อากาศเย็น
ทำหน้าที่ของมันตามเวรยามแห่งฤดูกาล เราใช้คีย์การ์ดเปิดประตูเข้ามา
เหมือนทุกวัน และก็พบถุงผ้าใบใหญ่ตั้งอยู่หน้าห้องแรกที่เปิดเข้ามาเจอ
ตั้งอยู่หน้าลิฟต์ ทุกคนที่เดินเข้ามาก็คงเห็นและสะดุดตา
ด้วยว่า ตามกฎกติกาของคอนโดฯ แล้ว เจ้าของห้องไม่สามารถนำสิ่งของมาวางเกะกะ
บริเวณทางเดินอันแสนแคบนั้น เกรงว่าจะเดินสวนกันไม่ได้ แต่นี่เป็นถุงขนาดใหญ่!

หรือตาลุงซานต้าลืมทิ้งไว้?

เมื่อเดินเข้าไปใกล้ๆ จึงเห็นกระดาษแผ่นเล็กๆ ติดอยู่บนถุงนั้น
ตัวหนังสือเขียนด้วยลายมือ(น่าจะเป็นหญิงสาว) เส้นสายจากปากกาลูกลื่นสีน้ำเงิน
ลากเป็นประโยคว่า ‘ช่วยกันแบ่งปันเสื้อผ้าไปบริจาคเด็กดอย’
พร้อมกับลงชื่อเบอร์ห้องกำกับไว้

ช่างเข้ากันกับฤดูกาลแห่งการให้-แบ่งปันความอบอุ่นในฤดูหนาว

ถุงผ้าใบนี้ไม่ต่างอะไรกับภาพต้นไม้ต้นเล็กๆ ที่พยายามดิ้นรนผลิใบสีเขียว
อยู่ในซอกคอนกรีตในเมืองใหญ่, ไม่ต่างอะไรกับหยดน้ำเล็กๆ ที่หยดลงบน
ใจแห้งๆ แข็งๆ ของคนที่อยู่อาศัยแบบตัวใครตัวมันในคอนโดฯ เหงาๆ อย่างเรา
และอาจจะอีกหลายคนในตึกแห่งนี้

เราเดินเข้าไปชะโงกดูซิบที่เปิดอ้าไว้ เห็นเสื้อผ้ามากมายอยู่ในถุงใบนั้น
ภาพบางภาพเกิดขึ้นในหัว เป็นภาพคนต่างห้องที่ไม่รู้จักกัน
เดินเอาเสื้อผ้ามาหย่อนลงในถุงทีละคน ทีละคน โดยไม่ได้เจอหน้ากัน
หรืออาจเจอกันและก็เพียงส่งยิ้มให้แก้เขิน

โดยไม่รู้ตัว เรายิ้ม

เราเดินขึ้นห้องตามปกติ ที่ไม่ปกติก็คือ ปาก
ที่พยายามท่องเบอร์ห้องในกระดาษแผ่นนั้นในใจ
อยากเห็นหน้าเจ้าของลายมือน่ารักนั้นสักครั้ง
เราอาจเคยเดินสวนกันใช่ไหม?

สุขสันต์วันคริสต์มาส

ธันวาคม 25, 2006

1.
หัวข้ออีเมลเขียนว่า Merry X’mas & Happy New Year na ka
บอลรีบคลิกไปที่อีเมลฉบับนี้ก่อนฉบับอื่น เพราะเป็นเมลของฝ้าย
แต่ทันทีที่คลิกเข้าไป ก็เจอชื่อคนอีกจำนวนเฉียดร้อยในช่อง ‘ผู้รับ’

2.
แนนกำลังนั่งส่งข้อความ
Merry Christmas may wonderful wishes &
happiness come to u

แนนส่งไปให้เพื่อนซี้ในกลุ่มแปดคน พี่ที่ทำงานอีกสิบคน
ทั้งหมดได้รับข้อความเดียวกัน

3.
พี่เจนรับข้อความจากแนน และส่งกลับไปว่า ‘U2’
พี่เจนขี้เกียจพิมพ์ และพี่เจนก็ใช้ข้อความสั้นๆ นี้ ส่งกลับไปยัง
ผู้คนทั้งหลายที่ส่งคำอวยพรและปรารถนาดีเข้ามาในโทรศัพท์มือถือ
หากนับแล้วคงไม่ต่ำกว่ายี่สิบ

4.
นุชกำลังนั่งเปลี่ยนชื่อท้ายคำอวยพร แล้วทยอยส่ง อาทิ
Happy Happy Xmas na BOW
Happy Happy Xmas na POND
Happy Happy Xmas na PING

นุชดูยุ่งๆ แต่นุชมีรอยยิ้ม

5.
โบกำลังคุยโทรศัพท์กับปอนด์ บอกว่า “เฮ้ย! ไอ้นุชแมสเสจมาว่ะ”
ปอนด์บอก “เออ เหมือนกันว่ะ”
ทั้งคู่กดอ่าน แล้วพูดว่า “โธ่! แม่งแค่เปลี่ยนชื่อ”

6.
โบวางโทรศัพท์ ตอบนุชกลับ ‘THX’
ปอนด์ส่งต่อคำอวยพรของนุชไปหาพี่ที่ทำงาน
Happy Happy Xmas na ka p’ MAN
Happy Happy Xmas na ka p’ BOY
Happy Happy Xmas na ka p’ J

7.
เจกดอ่าน ดีใจ-น้องปอนด์แมสเสจหาเราด้วย!
รีบตอบ ‘น้องปอนด์ก็มีความสุขมากๆ นะจ๊ะ
หนาวๆ แบบนี้ก็ขอให้มีความอบอุ่นตลอดเวลานะครับ’

ปอนด์กดอ่าน ทำท่าอ้วก แล้วยิ้ม
เอียงคอรอพี่แมนตอบกลับ

8.
แมนไม่ตอบปอนด์ เขียนข้อความส่งถึงฝ้าย
‘สุขสันต์วันคริสต์มาส แต่ไม่ต้องตอบกลับมาหรอกน้า
เสียดายสามบาท หุหุ’

ฝ้ายยิ้ม พิมพ์กลับไป ‘จะเก็บสามบาทไว้ทำไรคะ?’
แมนยิ้ม พิมพ์กลับไป ‘เก็บไว้ดูหนังกันดีก่า’
ฝ้ายยิ้ม พิมพ์กลับไป ‘ดูเรื่องไรดีคะ?’
แมนยิ้ม พิมพ์กลับไป ‘โทรคุยมั้ย เสียดายสามบาท’
ฝ้ายยิ้ม พิมพ์กลับไป ‘นั่นสิ เสียดายเนอะ’
แมนยิ้ม พิมพ์กลับไป ‘อืม เสียดาย’
ฝ้ายยิ้ม พิมพ์กลับไป ‘แหม สามบาทเอง’
แมนยิ้ม พิมพ์กลับไป ‘ตั้งสามบาท’
ฝ้ายยิ้ม พิมพ์กลับไป ‘งกจังนะ’
แมนยิ้ม พิมพ์กลับไป ‘งกเพื่ออนาคตของเรา’
ฝ้ายเลิกยิ้ม เลิกพิมพ์ หันหน้าหาคอมพ์

9.
แมสเสจของแมน ทำให้ฝ้ายนึกขึ้นได้ว่าวันนี้คือวันที่ยี่สิบห้า
คลิกที่ compose ส่งเมลหาทุกรายชื่อที่อยูในลิสต์
ตั้งหัวข้ออีเมลว่า
Merry X’mas & Happy New Year na ka
ข้อความข้างในเขียนสั้นๆ
‘มีความสุขมากๆ นะคะ’
‘จาก ฝ้าย’

10.
พี่ที่ออฟฟิศเดินเอาโปสการ์ดรูปซานตาคลอสขี่กวางมายื่นให้ฝ้าย
ลายมือหวัดๆ เขียนด้วยปากกาลูกลื่นสีน้ำเงิน
‘ฝ้าย…ไม่รู้จะอวยพรอะไร สุขสันต์วันคริสต์มาส ละกันนะ
ปล. การ์ดน่ารักมั้ย? เลือกอันนี้เพราะเห็นว่าฝ้ายชอบกวางเรนเดียร์นะเนี่ย
ปล. สอง ถ้าการ์ดถึงช้า ก็ถือซะว่าอวยพรเผื่อคริสต์มาสปีหน้าละกันนะ
ฮ่าฮ่า จาก บอล’

ปกไม่ปิด

ธันวาคม 24, 2006

ลองเอาปกหนังสือ(แบบใหม่)ที่ออกแบบไว้
มาแปะให้ดูกันเล่นๆ ครับ
แปะเล่นๆ แต่แสดงความคิดเห็นกันได้ครับ

ดูซิจะแปะรูปเป็นกับเค้ารึยัง?

TU Book Festival

ธันวาคม 24, 2006

วันนี้ (อาทิตย์ที่ ยี่สิบสี่ ธันวาคม)
ในงานหนังสือของธรรมศาสตร์ (รังสิต)
มีตารางไปนั่งคุยเรื่องหนังสือสารคดีท่องเที่ยว
กับพี่เสี้ยวจันทร์ แรมไพร เวลาสี่โมงเย็นเป๊ะครับ
บอกกล่าวกัน เผื่อสนใจครับ.

http://www.tpm.tu.ac.th/index.php?lay=show&ac=article&Id=390391&Ntype=2

ปีหน้าจะเป็นปีแห่ง…

ธันวาคม 24, 2006

1.
งานโฆษณา ‘ส่งตรง’ หรือ Direct Mail ชิ้นหนึ่งของสิงคโปร์ที่เราชอบมาก
เป็นโฆษณารณรงค์ให้คนมาสมัครเป็นทหาร แต่แทนที่จะมาโอ้โลมกันด้วยการ
ให้พระเอกหน้าหล่อ(ที่ไม่อยากเป็นทหารแต่บังเอิญต้องไปเป็นเพราะกลัวถูกจับ)
ออกมาพูดจ้อทางทีวี เชิญชวนแบบเชยๆ ให้เหตุผลแนวชาตินิยม
“ผมได้ทำประโยชน์เพื่อชาติ” หรือ “เป็นทหารได้อะไรมากกว่าที่คิด”
โดยที่คนดูดูโฆษณาจนจบแล้วก็ยังไม่รู้ว่าไอ้ ‘อะไร’ ที่ว่าน่ะ มันคืออะไร?
ครีเอทีฟทีมนี้เลือกที่จะพูดเจาะเข้าไปที่ใจของคนหนุ่มที่กำลังหิวประสบการณ์ชีวิต
สื่อที่เลือกใช้ก็สร้างสรรค์เหมาะกับ ‘ไอเดีย’ ที่ต้องการนำเสนอ

เค้าเลือกใช้วิธีแจก ‘หนังสือ’ ครับ

เป็น ‘หนังสือ’ ที่ทำหน้าปกเหมือนนวนิยายเข้มข้นเกี่ยวกับชีวิตทหาร
ตั้งชื่อให้ชวนติดตาม และพอจะคาดเดาได้ว่า เรื่องราวคงมันส์หยด
แต่! เมื่อเปิดดูข้างใน กลับพบแต่กระดาษเปล่า!
ราวกับจะบอกกับผู้ที่ได้รับหนังสือเล่มนี้ว่า “เรื่องราวอันเข้มข้นทั้งหมดนั้น
คุณต้องเติมมันให้เต็มด้วยตัวเอง-ต้องเขียนด้วยตัวเอง”

เมื่อพลิกมาอ่านข้อความในหน้ารองปก ก็จะพบคำพูดท้าทายและกระตุกให้คิด
“หากชีวิตของคุณเป็นหนังสือสักเล่ม จะมีใครอยากอ่านมันมั้ย?”

ในแง่ของงานโฆษณา เราถือว่ามันช่างเป็นสื่อที่ ‘กระทำ’ กับกลุ่มเป้าหมาย
ซึ่งก็คือชายหนุ่มที่กำลังฮึกเหิมเป็นอย่างยิ่ง และเดาว่าน่าจะได้รับผลตอบรับที่ดี
โดยการมีคนหนุ่มที่อยากเติมเรื่องราว ‘น่าอ่าน’ ให้กับหนังสือชีวิตของตัวเอง
ไปสมัครเป็นทหารจำนวนไม่น้อย แต่ผลลัพธ์เกินคาดมากกว่านั้นกลับเป็นว่า
มันสามารถ ‘กระทำ’ กับคนนอกกลุ่มเป้าหมายอีกด้วย โฆษณาชิ้นนี้ชวนให้เรา
ตั้งคำถามกับตัวเองว่า ‘ชีวิตของเรามีสีสันและเมามันแค่ไหน?’

2.
หากแบ่งชีวิตออกเป็นช่วงเวลาที่แตกต่าง
ชีวิตแต่ละชีวิตคงแบ่งออกได้เป็นหลายส่วน ตามแต่เกณฑ์การแบ่งของแต่ละคน
ช่วงเด็ก, วัยรุ่น, หนุ่มสาว, ผู้ใหญ่, วัยชรา / ช่วงเรียน, ทำงาน, เกษียณ /
ช่วงมีแฟนคนแรก, แฟนคนที่สอง, มีเมีย, มีเมียน้อย / ช่วงรุ่งโรจน์, ช่วงตกต่ำ,
ช่วงย่ำแย่, ช่วงโคตรแย่, ช่วงกลับมาดีอีกครั้ง / ช่วงเป็นเด็กเชียงใหม่,
ช่วงเป็นตำรวจ, ช่วงเป็นนักธุรกิจ, ช่วงเป็นนายกฯ, ช่วงหลังนายกฯ
ชีวิตใครชีวิตมัน ความคิดใครก็ความคิดมัน คงซ้ำกันยาก

แต่เรามักคิดเสมอว่า หากสามารถร่างพล็อตให้กับเส้นทางชีวิตของตัวเองได้
ก็อยากให้มันมีเรื่องราวผ่านเข้ามาในชีวิตให้ได้เรียนรู้และทำความเข้าใจให้เยอะ
ชีวิตในช่วงเดียวกัน คนเราก็ใช้มันแตกต่างกัน เอาง่ายๆ แค่ช่วงชีวิตมัธยมฯ
บางคนมีแฟนยี่สิบคน ในขณะที่บางคนไม่เคยจีบผู้หญิงเลย,
บางคนเคยเรียนซ้ำชั้น ในขณะที่บางคนไม่เคยสอบตกซักวิชา,
ไม่ต้องนับไปถึงบางคนเคยติดยา ขณะที่บางคนดูดนมอย่างเดียว
(หมายถึงนมกล่อง!)

ในจำนวนช่วงชีวิตอันหลากหลาย มีช่วงไหนบ้างที่ ‘สะใจ’
และรู้สึกว่า ‘คุ้มค่า’ ที่ได้อยู่ในช่วงเวลานั้น?

เรามักจะอิจฉาคนที่ผ่านประสบการณ์ชีวิตที่หลากหลายและเข้มข้น
อย่างตอนที่เพื่อนอยู่ในเหตุการณ์สึนามิ ติดอยู่บนต้นมะพร้าวเป็นชั่วโมง
แล้วรอดกลับมาได้ เราก็รู้สึกว่าเพื่อนได้ผ่านประสบการณ์ที่เป็นหนึ่งบท
ใน ‘หนังสือแห่งชีวิต’ ที่เราไม่มีวันได้สัมผัส

พูดถึงหนังสือ, หนังสือหลายเล่มก็เป็นการร้อยเรียงเรื่องราวจากประสบการณ์
ในห้วงเวลาที่น่าสนใจออกมาให้คนอื่นได้อ่านกันอย่างเหงื่อหยด
คุณอาจินต์ มีช่วงชีวิตในเหมือนแร่, ประชาคม ลุนาชัย มีช่วงชีวิตในเรือประมง,
อ. เสกสรรค์ มีช่วงชีวิตเดือนตุลาฯ และในป่า,
พี่บินหลา มีช่วงเวลาแห่งการผจญภัยบนหลังอานจักรยาน, ฯลฯ
นั่นใช่ไหม ‘ชีวิตที่น่าอ่าน’

และบางที,
‘ชีวิตที่น่าอ่าน’ อาจมีความหมายใกล้เคียงกับ ‘ชีวิตที่คุ้มค่า’ ด้วยหรือไม่?

3.
อ่านเจอและได้ยินมาว่า พี่เป็นเอกยกให้ปีนี้เป็นปีแห่งการตามใจตัวเอง
คือ ถ้ามีใครชวนมาทำอะไรสนุกๆ จะทำด้วยหมด
เราได้ยินแล้วก็เห็นว่าเป็นการกำหนดที่น่าสนุกดี ก็ทีองค์กรต่างๆ ยังกำหนดได้เลยว่า
จะให้ปีนั้นปีนี้เป็นปีอะเมสซิ่งไทยแลนด์ แล้วระหว่างปีมันก็อะแมสซิ่งขึ้นมาได้จริงๆ

คิดดูอีกที การกำหนดอะไรทำนองนี้ก็ไม่ต่างจากการร่าง ‘พล็อต’ ให้กับชีวิต
ซึ่งก็ดูน่าจะเป็นการขีดวาดเส้นทางให้ได้ลองเดินตามที่ตั้งใจดูสักปี
เหมือนกับการร่าง ‘บท’ ของนวนิยายชีวิตของตัวเอง ที่กำหนดสถานการณ์
และเจตจำนงของตัวละครคร่าวๆ เอาไว้ตอนตั้งต้น ส่วนที่เหลือก็ปล่อยให้
เหตุการณ์ต่างๆ พาไป จะนำไปสู่อะไรก็เป็นเรื่องที่น่าตื่นเต้นของทั้งผู้เขียน
และตัวละคร

เราว่ามันน่าสนุกกว่าการเดินสะเปะสะปะแบบ ‘ไร้พล็อต’

ปีหน้าของบางคนอาจเป็นปีแห่งการพักผ่อน อาจเป็นปีแห่งการอ่าน
ปีแห่งการฟังเพลง ปีแห่งความรัก ปีแห่งการเรียนรู้ ปีแห่งการสูบบุหรี่
ปีแห่งการงดสูบบุหรี่ ปีแห่งความเบิกบาน (เลิกเครียดเลิกจนเริ่มต้นเข้าพรรษานี้)
ปีแห่งความขยัน ปีแห่งความขี้เกียจ ปีแห่งการสร้างเพื่อนใหม่ ปีแห่ง
การไปต่างจังหวัด ปีแห่งสุขภาพ ปีแห่งความสงบ ปีแห่งการฝึกภาษาอังกฤษ ฯลฯ
ซึ่งไม่ว่าจะเป็นปีแห่งอะไร
เราว่ามันก็น่าสนุกที่จะได้ลองปลุกปล้ำกับความตั้งใจของตัวเอง

ส่วนของเราเอง เราวาง ‘พล็อต’ คร่าวๆ เอาไว้เป็นที่เรียบร้อยแล้วว่า
ปีหน้าจะเป็นปีแห่ง ‘การผจญภัย’
ผจญภัยไปในโลกอีกใบ-ในพื้นที่ที่ยังไม่เคยทดลองใช้ชีวิต
พื้นที่ใหม่ๆ ทั้งในส่วนของรูปธรรมและนามธรรม
ผจญภัยเพื่อหาวัตถุดิบใส่ตัว ใส่สมอง และสองมือ
เราว่าเรายังอยู่ในช่วงสะสมวัตถุดิบ

และเราก็แอบคาดหวังว่า ปีหน้าจะเป็นปีที่ทำให้ชีวิตเรา ‘น่าอ่าน’
ไม่ได้หมายความว่า คนอื่นจะอยากอ่านหรอก นั่นไม่ใช่สิ่งที่ควรคาดหวัง
แต่เราคิดว่า หากชีวิตของเราเป็นหนังสือสักเล่ม
และเราได้กลับมานั่งอ่านมันในยามแก่ชรา
เราก็อยากให้มันเป็นหนังสือที่ระหว่างอ่านแล้วเราต้องคิดในใจว่า
“ทำไมมึงใช้ชีวิตได้น่าอิจฉาแบบนี้วะ?”

คนอย่างเรา (บ้าง)

ธันวาคม 22, 2006

*หมายเหตุ: อ่าน ‘คนอย่างเรา’ ของ วรพจน์ พันธุ์พงศ์ ในจีเอ็ม
แล้วชอบมาก ขณะเดียวกันก็เกิดคำถามว่า แล้ว ‘เรา’ ล่ะเป็นคนอย่างไหน?
คงไม่มีวิธีไหนตอบตัวเองได้ดีไปกว่าการนั่งบ่นกับตัวเอง ดังต่อไปนี้…
——————————————————-

เราเป็นคนที่มีความสุขกับชีวิต
หากเรียกแบบไม่สุดโต่งเกินไปคงต้องบอกว่า ทุกข์น้อย
ที่ทุกข์น้อยเพราะไม่นิยมนั่งจมอยู่กับความทุกข์นานนัก
เราเชื่อว่าคนเราไม่ได้เกิดมาเพื่อเป็นทุกข์
แต่เกิดมาเพื่อหาทางออกจากทุกข์ให้กับตัวเองให้เจอ

ยิ่งความรักยิ่งไม่ควรนำมาซึ่งความทุกข์
การที่จะรักใคร เราน่าจะเข้าใจในสิ่งที่เค้าทำมิใช่หรอกหรือ?
เราเคยอกหักรุนแรง ร้องไห้น้ำเกือบหมดตัวอยู่หนึ่งวันเต็มๆ
แล้ววันรุ่งขึ้นก็ตื่นขึ้นมาดำเนินชีวิตตามปกติ
ไม่ใช่ลืมเร็ว แต่พอเข้าใจแล้ว ความทุกข์ก็ทุเลาลงพอสมควร

คนรอบข้างชอบยัดเยียดตำแหน่ง คนมองโลกในแง่ดี ให้
แต่เราไม่ค่อยมั่นใจว่าเราเหมาะสมกับตำแหน่งนั้น
เพราะเราก็มองเห็นความเลวปะปนอยู่กับความดีทุกวี่วัน
ถ้าเลือกได้เราก็อยากมองโลกในหลายๆ มุม
มองมุมเดียวมันคงจะแคบไป (ต่อให้เป็นมุมดีก็เหอะ)

นั่นอาจเป็นหนึ่งในเหตุผลที่ทำให้เราอยากออกไปเห็นโลก
เพราะมีความเชื่อว่า โลกใบนี้มีไม้บรรทัดเป็นล้านๆ อัน
และยิ่งเราเห็นความหลากหลายของไม้บรรทัดของคนอื่นมากเท่าไหร่
เราจะยิ่งยึดติดกับมาตรวัดเก่าๆ ของเราน้อยลง เมื่อยึดติดน้อย
ก็จะทำให้เปิดใจและหันหูไปฟัง(ไม่จำเป็นต้องเชื่อ)มาตรวัดของคนอื่นบ้าง
ฟังและพยายามทำความเข้าใจ และสิ่งหลังนั้นเองที่เราเชื่อว่า
มันค่อนข้างสำคัญสำหรับการอยู่ร่วมกันบนโลกใบเดียว

การพยายามทำความเข้าใจในอะไรต่อมิอะไร น่าจะช่วยให้
เราดำเนินชีวิตอย่างไม่หดหู่เกินไปนัก เพราะการพร่ำบ่นก่นด่า
ไม่ได้ช่วยให้อะไรดีขึ้นมา เรามักเชื่อว่าทุกอย่างมีที่มาและสาเหตุ
กระทั่งในพฤติกรรมที่เลวที่สุด หากเราพยายามทำความเข้าใจ
เราอาจจะเข้าใจมันได้

หากอยากเข้าใจผู้คน ก็คงต้องเรียนรู้จากความคิดของคนที่แตกต่าง
วิธีลัดสองอย่างที่ใช้ค่อนข้างบ่อย คือ การดูหนัง และอ่านหนังสือ
หนังสือเป็นการประมวลความคิดแบบกระชับ เปิดมุมในการมองโลก
ขณะที่หนังนั้นเป็นชีวิตขนาดย่อ ให้เราได้เรียนรู้จากประสบการณ์
ที่เราไม่มีโอกาสได้สัมผัส ชีวิตที่เราไม่ได้เกิดมาเป็นแบบนั้น
หนังเปรียบเสมือนชีวิตฉบับอัดแน่นและเข้มข้น เป็นช่วงชีวิต
ที่ถูกเลือกมาแล้วว่า น่าสนใจที่สุด นอกจากเรียนรู้แง่มุมใหม่
เรายังได้ทำความเข้าใจผู้คนในแบบนั้นๆ ไปด้วย

เราปิดทีวีมาได้เกือบปีแล้ว ไม่ได้หมายความว่าไม่ดูเลย
เวลากลับบ้าน(พ่อแม่)เรามักนั่งเล่นหัวเราะรื่นเริงไปกับรายการโปรด
ของพวกเค้า กระทั่งนั่งด่าความโง่ของพระเอกที่ถูกอีตัวอิจฉา
ลากไปลากมาผ่านหน้านางเอกตลอดโดยไม่ขัดขืน
แต่ที่ห้องของเรา เราไม่เปิดทีวีมานานมาก
ล่าสุดอาจเป็นวันที่เพื่อนโทรมาบอกว่า “เฮ้ย! เค้าปฏิวัติกัน”

รายการโปรดในจอสี่เหลี่ยมมีแค่ไม่กี่รายการ
คนค้นคน, ชิงร้อยชิงล้าน, แฟนพันธุ์แท้, เกมอัจฉริยะ,
เอ่อ…นึกไม่ออกแล้ว!

วิทยุก็ไม่ได้ฟังมานานมาก แต่ก่อนฟังแฟตฯ
แต่แล้วก็เลิกฟังไปเฉยๆ จริงๆ ไม่ได้ตั้งใจจะเลิกฟังแฟตฯ
แต่เลิกฟังวิทยุ ก็เลยเลิกฟังแฟตฯ ไปโดยปริยาย
วงโปรดล่าสุดจึงหยุดอยู่ที่ Slur ตั้งแต่ซื้อแผ่นมา
ก็ยังกระดกหัวขึ้นลงกับเพลงสิบเอ็ด-สิบสองเพลงอยู่แค่นั้น

นี่ก็เพิ่งหยิบ MP3 The Beatles มาฟังวนไปวนมา
ด้วยเพราะว่ามีเพลงบางเพลงถูกเรายืมมาใส่ไว้ในหนังสือเล่มใหม่
The Beatles ต้องมาวนเวียนอยู่ในรถทุกปี
มาทีไรก็อยู่นาน

บางทีเราก็รู้สึกว่าการได้หยุดโลกของตัวเองไว้บ้าง
มันก็ทำให้ชีวิตไม่รกรุงรังจนเกินไป เพราะทุกวันนี้ ‘ของใหม่’
มันหลั่งไหลถาโถมเข้ามามากมายจนหูตาลายไปหมด

ชีวิตที่ดีน่าจะเป็นชีวิตที่เรากำหนดจังหวะของตัวเองได้
ไม่ใช่เต้นไปตามจังหวะอันเร่งรีบของโลก
อย่างนั้นมันเหนื่อยไปหน่อย

ปัญหาเดียวที่แก้ไม่หายก็คือนิสัยการชอบซื้อหนังสือเข้าบ้าน
เตียงนอนตอนนี้มีที่เหลือแค่พอเอาตัวสอดเข้าไปในผ้าห่ม
ซ้าย-ขวาเต็มไปด้วยตั้งหนังสือที่อ่านค้างไว้ โซฟาในห้อง
ไม่เหลือที่ให้นั่ง ต้องยกพื้นที่ให้หนังสือกองพะเนินอยู่อาศัยไปก่อน
ยังไม่มีเวลาไปซื้อหิ้งมาติดเพิ่ม
แหม…เวลาจะชำระสะสางหนังสือยังไม่มีเลย!

แต่เราอ่านไม่มีวันหมดหรอก
วันนี้ก็เพิ่งขนแมกกาซีนเข้าบ้านมาอีกสามเล่ม

เราเพิ่งคิดได้ไม่นานนี้ว่า เราจะไม่ซื้อรองเท้าอะไรอีกแล้ว
นอกจากคอนเวิร์ส ออลสตาร์สีดำ เพราะเราซื้อรองเท้ามากี่คู่ต่อกี่คู่
ก็ไม่เคยได้ใส่มันแบบบ่อยๆ สักที และไอ้คอนเวิร์สสีดำคู่เก่งก็มักจะ
ขาดก่อนใครเค้า เปลี่ยนไปสามคู่แล้ว คู่อื่นยังใหม่นิ้งอยู่เลย
เวลาจะเดินทางไปไหนต่อไหน เราก็มักเลือกใช้บริการของมันเสมอ
ด้วยเพราะมันรู้ตีน(คล้ายๆ รู้ใจ)กันเป็นอย่างดี

เราพบว่าการมีเสื้อยืดแบบเดียวกันทั้งตู้เป็นความเรียบง่ายในชีวิตชนิดหนึ่ง
ตั้งใจมานานพอสมควรว่าจะตัดใจให้มันเหลือสีเดียวให้ได้
แต่ก็ยังทำไม่ได้ เวลาเห็นเสื้อสีสวยๆ ก็มักซื้อรวมโหลมากับเสื้อสีดำ-สีโปรด
มันมักแทรกตัวมาเสมอ เขียวอ่อน ส้มแปร๋น ชมพูหวาน
แต่แล้วก็เฉกเช่นเดียวกันกับรองเท้า ไม่เคยได้ใส่มันไปไหน
กาลเวลาผ่านไป ก็มักจะกลายร่างเป็นเสื้อนอน
ทุกวันนี้เราใกล้จะทำได้สำเร็จ ในตู้เสื้อผ้าขณะนี้มีเสื้ออยู่แค่สี่สี
ดำ, น้ำตาล, น้ำเงิน (สีที่ใส่แล้วช่วยอำพรางพุง) จะเพิ่มอีกสีก็คือ ขาว

ยิ่งวันเรายิ่งพบว่า เมื่อเวลาผ่านไปถึงจุดหนึ่งคนเราจะเริ่มรู้ว่า
อะไรเหมาะกับตัวเอง และอะไรที่ไม่เหมาะ
อะไร-ใช่, อะไร-ไม่ใช่ ยิ่งวันเราจะยิ่งตัดสิ่งที่ ‘ไม่ใช่’ ทิ้งออกไป
จะได้มีเวลามาใส่ใจกับสิ่งที่ ‘ใช่’ มากขึ้น
ยิ่งแก่คนเราก็จะยิ่งตระหนักถึงคุณค่าของเวลามากขึ้นเรื่อยๆ
ไหนๆ ก็ไหนๆ ก็ตระหนักมันซะตั้งแต่ยังไม่แก่น่าจะดีกว่า
กลัวจะตระหนักช้าไป

เราเป็นคนที่ค่อนข้างในความสำคัญกับความสัมพันธ์ระดับใกล้ชิด
พ่อ แม่ และครอบครัว เป็นกลุ่มคนที่ควรให้เวลาอย่างมาก
ให้เวลาในขณะที่ยังสามารถให้กันได้ เฮฮาในเวลาที่สามารถ
ได้ยินเสียงหัวเราะของกันและกัน

การแบ่งเวลาเคยเป็นปัญหาหนักอกของเรา หนักขนาดที่อยากไปบวช!
ด้วยจินตนาการว่า หากไปอยู่วัดคงมีเวลามากกว่าที่เป็นอยู่
แต่จริงๆ แล้วเวลาของเรามักจะหายไปกับสิ่งที่ไม่ค่อยจำเป็น
และบางกรณีที่หากรู้จักปฏิเสธก็คงจะเหลือเวลามากขึ้นได้
การปฏิเสธเป็นศิลปะ แต่เราก็ไม่ค่อยถนัดนักที่จะอ้อมค้อม
บางที เราก็บอกไปตรงๆ “ไม่อยากไป” บ่อยเข้าเพื่อนๆ ก็ชินไปเอง
แต่กับคนอื่น(ที่ไม่ใช่เพื่อน)คงต้องประดิษฐ์ถ้อยคำสักหน่อย

เขียนไปเขียนมาก็เริ่มมองเห็นว่าตัวเองวนเวียนอยู่กับเรื่องของ
‘เวลา’ และ ‘ความเข้าใจ’ ราวกับว่ามันเป็นเรื่องใหญ่ของชีวิต
และออกจะเป็นการพูดถึงตัวเองมากกว่าสังคมรอบข้าง
อาจเพราะ ยิ่งวันเรายิ่งรู้สึกว่า แต่ละชีวิตมีวิถีของตัวเอง
บางที เราแค่อยากนั่งมอง มีบ้างที่อยากพูดคุยด้วย
มีบ้างที่อยากถามไถ่ แต่ความพยายามที่จะเปลี่ยนแปลงความคิด
ของคนอื่นยิ่งวันยิ่งหดตัว เราเชื่อมากขึ้นเรื่อยๆ ว่า
แต่ละชีวิตจะเรียนรู้ได้ดีที่สุดก็จากประสบการณ์ของตัวเอง

กลับไปที่ ‘เวลา’ และ ‘ความเข้าใจ’
สงสัยมันจะเป็นเรื่องใหญ่สำหรับเรา ณ ตอนนี้ (ปี2006)
พฤติกรรมที่พยายามตัดสิ่งต่างๆ ที่เป็นส่วนเกินออกไป
เพื่อให้มี ‘เวลา’ เพิ่มมากขึ้น ลึกๆ แล้วเราคงอยากได้
‘เวลา’ มาเพื่อทำความเข้าใจอะไรหลายๆ อย่าง
อาจด้วยความคิดพื้นฐานที่ว่า หากเรา ‘เข้าใจ’ แล้ว
เราจะดำเนินชีวิตได้ ‘นิ่ง’ ขึ้น

หากยังพยายามเข้าใจ นั่นย่อมแปลว่าเรายังไม่เข้าใจ
แต่ก็นั่นแหละ โลกนี้มีเรื่องให้ต้องเข้าใจมากมายนัก
บางครั้ง แค่การพยายามทำความเข้าใจ ก็ช่วยให้ ‘สติ’ เกิด
ส่วน ‘ปัญญา’ นั้นต้องใช้เวลาเดินทางตามมาอีกที

การจดบันทึก ‘คนอย่างเรา’ ครั้งนี้ก็ช่วยให้เข้าใจตัวเองมากขึ้น
นับเป็นสิ่งที่ดีในโอกาสที่กำลังจะขึ้นปีใหม่
เราเป็นคนอย่างนี้นี่เอง

คุณล่ะเป็นคนอย่างไหน?
————————————————
*ขอบคุณ พี่วรพจน์ พันธุ์พงศ์ สำหรับแรงบันดาลใจ.

ต้นไม้และชายชราที่มีเวลาแค่หนึ่งเดือน

ธันวาคม 21, 2006

1.
ไม่กี่วันก่อน ลมหนาวกระแทกหน้าหนาๆ ของเราให้พอรู้สึก
ซึ่งขนาดหน้าหนาระดับกระเบื้องตราช้างเรียกพี่ยังสัมผัสได้
นั่นแปลว่า ลมหนาวที่เรานึกว่ามันจะไม่มาตามนัด ได้พัดหวนมาแล้ว!

รู้สึกดีใจ เพราะโอกาสที่จะได้สัมผัสอากาศสบายๆ
แบบนอนแล้วไม่อยากตื่นแบบนี้ไม่ได้มีบ่อยนัก
และยิ่งปีก็ยิ่งหดน้อยลงเรื่อยๆ นี่ยังสบประมาทอากาศ
กับเพื่อนอยู่เลยว่า “มันจะหนาวไปซักกี่วันก๊าน!”
ทั้งที่ในใจก็อยากให้หนาวไปอีกซักสองเดือน
หนาวประมาณนี้ หนาวกำลังดี

นอกจากจะดีใจที่ได้เดินเหินแหวกลมหนาวสบายๆ แล้วนั้น
ยังดีใจกับลมที่เหมาะสมกับบรรยากาศในหน้าเทศกาลงานฉลอง
อากาศหนาวชวนให้เรามารวมตัวกันเพื่อความอบอุ่น
จะรวมเป็นหมู่ เป็นคู่ หรือสวิงกิ้ง คิง ควีน ก็น่ารักทั้งนั้น
ลองนึกการรวมตัวกันรื่นเริงท่ามกลางกลิ่นเหงื่อไคลเหงื่อมัน
เหงื่อฉันเหงื่อมึงเหงื่อกูดู ก็จะรู้ว่ามันช่างน่าหดหู่มากกว่ารื่นเริง
หนาวๆ แบบนี้แหละ น่ากอดกัน น่าเต้นรำ น่าจิบเบียร์
และน่าเบียดๆ เสียดๆ กันแล้วนับถอยหลังขึ้นวันใหม่
ซึ่งก็ไม่รู้จะนับไปทำไม แต่มันก็แลดูพิเศษและสนุกดี

2.
เดือนธันวาฯ เดินเข้ามาในปฏิทินทีไร
เราจะได้พบเห็นต้นไม้ประเภทหนึ่งเสมอ ไม่ว่ากี่ปีต่อกี่ปี
ต้นไม้นั้นคือ ‘ต้นคริสต์มาส’
อ้าว! อย่าเพิ่งจินตนาการภาพต้นสน
หัวแหลมทรงสามเหลี่ยมที่ถูกประดับด้วยไฟระย้า
ห้อยระโยงลูกบอลสีทองสีเงินเต็มต้นต้นนั้น
เรากำลังคุยกันถึง ‘ต้นคริสต์มาส’ จริงๆ

‘ต้นคริสต์มาส’ ที่มีใบอ่อนข้างบนเป็นสีแดง แทงขึ้นมาแซม
ใบเขียวเป็นแฉกๆ ที่เกาะอยู่เต็มลำต้น นึกออกใช่มั้ย?
อืม…ต้นนั้นแหละ!

‘ต้นคริสต์มาส’ ได้ชื่อมาจากสีสันของมันนั่นเอง
ใบอ่อนด้านบนจะเปลี่ยนเป็นสีแดงในช่วงปลายปีถึงต้นปี
จริงๆ แล้วเป็นไม้พุ่มขนาดกลางและเติบโตสูงใหญ่ได้ถึงสามเมตร

สามเมตร! สูงไม่ใช่เล่น

ว่าแต่ มีใครเคยเห็นต้นคริสต์มาสต้นใหญ่ขนาดนั้นบ้างไหม?
อาจจะมี แต่เราเชื่อว่าน้อยคนนัก เราก็เป็นหนึ่งในผู้ที่ไม่เคยเห็น
ยิ่งกว่านั้น เรามักคุ้นตากับมันในแบบที่อยู่ในถุงพลาสติกสีดำ
ที่เค้าใช้เพาะพันธุ์พืชกัน หรือไม่ก็อยู่ในกระถางเล็กๆ
ที่ถูกยกมาขายกันในฤดูหนาว และคนก็นิยมซื้อกัน
ไปประดับบ้านหรือสำนักงานเพื่อสร้างบรรยากาศ
จบงานแล้วก็เก็บ

เก็บไปไหน?

เราสงสัยมาตลอดว่า
ไอ้พวกต้นคริสต์มาสนี่มันอพยพไปทำมาหากินกันแถวไหน?
ใต้สะพานลอย กลับบ้านที่ต่างจังหวัด หรือบินไปไซบีเรีย?
ด้วยเพราะว่า เราไม่เคยเห็นหน้าค่าตามันมาตลอดปี
มาโผล่อีกทีก็เป็นช่วงฤดูหนาวเสมอ

อย่างในตอนนี้ มองไปทางไหนก็เห็นพรรคพวกของมัน
วางอยู่เกลื่อนกลาดไปหมด แต่พอเดือนธันวาฯ เดินทางจากไป
พวกมันก็จรลีหนีหน้าหายไปอย่างพร้อมเพรียง
ราวกับว่ามันกลัวเดือนมกราฯ จะเดินมาเขกกบาล!

ช่างเป็นต้นไม้ที่มีอายุสั้นเสียเหลือเกิน
สั้น-เท่าห้วงอารมณ์สนุกของคนที่ซื้อและ ‘ใช้’ มัน
เราเชื่อว่ามันเป็นต้นไม้ชนิดหนึ่งที่ไม่ค่อยได้ถูก ‘ปลูก’
แต่มักถูก ‘วาง’ และ ‘ยก’ และ ‘ย้าย’ ซะมากกว่า

ต้นไม้ที่ไม่ได้ถูก ‘ปลูก’ ให้รากไชลงไปลงในดินนั้นโตยาก
หากปุ๋ยอันน้อยนิดในกระถางเล็กๆ ใบนั้นหมดลง
มันก็คงแคระแกรน ยังไม่ต้องนับถึงการวางทิ้งไว้แล้วไม่ดูแล

3.
ชายแก่ในชุดแดงๆ หนาวๆ เครายาวๆ หงอกๆ ชอบขี่กวาง
ก็เป็นอีกสิ่งหนึ่งที่เราอยากรู้ว่า
ก่อนเดือนธันวาฯ ลุงแกไปทำอะไรอยู่ที่ไหน?
แกมีชีวิตความเป็นอยู่ยังไง?
แล้วทำไมไม่มีใครนึกถึงแกเลยแม้แต้น้อย
พอจะมานึก ก็นึกกันพร้อมๆ กัน ในเดือนธันวาฯ
ซึ่งแกก็จะป๊อปปูล่าขึ้นมาทุกครั้ง

แล้วคุณลุงซานต้าก็จะควบกวางกลับไปภายในเวลาค่ำคืนเดียว
หายไปจากห้างสรรพสินค้า, หน้าร้าน, โบรชัวร์, โปสเตอร์,
โฆษณา, ฯลฯ อีกสารพัด
พอเข้าเดือนมกราฯ ผู้คนก็ลืมลุงกันหมด
และไม่มีใครนึกถึงลุงอีกในระหว่างเดือนมิถุนาฯ สิงหาฯ กันยาฯ
ต้องรอเดือนธันวาฯ วนมาอีกที

แล้วระหว่างปี ลุงไปทำอะไรอยู่ที่ไหนครับ?

4.
ในเทศกาลนี้เอง ที่เราเคยสวมบทบาทเป็นซานต้าหน้าเด็ก
ขับรถไปหยิบยื่นของขวัญให้กับเด็กสาวคนหนึ่ง
แม้ไม่ได้ลงไปทางปล่องไฟ แต่ก็ตื่นเต้นทั้งคนให้คนรับ
ของขวัญในวันนั้นเป็น ‘ต้นคริสต์มาส’
เป็นต้นคริสต์มาสในถุงพลาสติกหุ้มดินจำนวนน้อย
รอคอยเจ้าของใหม่ผู้ใจดีแหวกฉีกขยี้ขยำถุงโยนลงถังขยะ
แล้วนำต้นไม้ต้นเล็กๆ ต้นนั้นไปใส่ลงในดินอันอุดม
เพื่อให้รากมันชอนไชหาอาหารหล่อเลี้ยงชีวิตต่อไป

และเธอผู้นั้นก็ใจดีอย่างว่า
นำต้นไม้อายุสั้นไปใส่ลงในผืนดินของสนามหญ้าหน้าบ้าน
ให้ได้เติบโตต่อไป ส่วนจะเติบโตแค่ไหน ถึงสามเมตรมั้ย?
เราก็ไม่รู้เหมือนกัน

ถ้าให้เดา ก็เดาว่ามันน่าจะเติบโต
อย่างน้อยก็คงโตกว่าความสัมพันธ์ของเราทั้งคู่

ไม่ต่างจากความสัมพันธ์,
ต้นไม้ที่มีโอกาสได้ฝังรากลงในดินที่อุดมสมบูรณ์ย่อมแข็งแรง
ส่วนต้นไม้ที่นำไปประดับเฉพาะฤดูกาล หิ้วไปวาง
ยกไปแต่งเสริมเติมบรรยากาศให้ไม่เหงา ตรงโน้นทีตรงนี้ทีนั้น
มีโอกาสสูงที่สุดท้ายจะแห้งตาย เพราะถูกทิ้งไว้ที่ไหนสักแห่ง
พอหมดช่วงเทศกาล คนคนนั้นก็ไม่ได้ใส่ใจมันอีก

ต้นไม้อย่างต้นคริสต์มาสที่มีไว้เพื่อประดับบ้าน
สร้างบรรยากาศให้รื่นเริงบันเทิงใจชั่วครั้งชั่วคราวเฉพาะฤดูกาลนั้น
ออกจะน่าสงสาร เพราะต้นของปีนี้ก็จะถูกทิ้งไป
และปีหน้าก็จะมีต้นใหม่มาตั้ง เพื่อถูกทิ้งอีก

เราว่า คนอย่างคุณลุงซานต้าก็น่าสงสาร
เป็นบุคคลที่ถูก ‘คิดถึง’ เฉพาะบางฤดูกาลเท่านั้น

ไม่เฉพาะฤดูหนาวหรอกล่ะมัง
เรามักเผลอปฏิบัติกับบางสิ่ง บางคน ในลักษณะคล้ายๆ กันนี้
รู้สึกดีในห้วงเวลาหนึ่ง และลืมไปเหมือนไม่เคยมีอยู่

5.
เท่าที่ลองนั่งคิด นอนคิด อาบน้ำคิดดู
ในที่สุดเราก็รู้ว่า ตลอดปี ก่อนเดือนธันวาฯ
คุณลุงซานต้าหายไปไหน? และเค้าทำอะไรอยู่?
คุณลุงแกไปปลูกต้นคริสต์มาส.

สนามแห่งความสุข

ธันวาคม 19, 2006

1.
ก่อนที่จะได้ชมหนังเรื่อง Driving Lessons ที่ลิโด
เราได้ดู Total Bangkok สารคดีขนาดสั้นประมาณยี่สิบนาที
ของพี่เป็นเอก รัตนเรือง อย่างสนุกสนานสำราญเรติน่า

Total Bangkok เป็นสารคดีเกี่ยวกับนักฟุตบอลใต้ทางด่วน
ดูเผินๆ อาจเรียกพวกเค้าอย่างที่เคยเรียก “พวกเล่นบอลใต้ทางด่วน”
แต่พอได้ไปดูใกล้ๆ จนได้กลิ่นเหงื่อและมีขี้เกลือติดตามา
เราก็กล้าเรียกพวกเค้าเต็มปากว่า “นักฟุตบอล”
(แถมยังเป็นนักฟุตบอลที่แข่งชนะทีมชาติชุด U20 อีกต่างหาก!)

หนังดำเนินไปอย่างเรียบง่าย และเป็นธรรมชาติ
ร้อยเรียงบทสัมภาษณ์ความรู้สึก ความคิด กระทั่งความฝัน
ของบรรดานักฟุตบอลทั้งหลายด้วยผู้บรรยายที่ทำหน้าที่
เหมือนไม้เสียบลูกชิ้น เสียบร้อยเรื่องราวต่างๆ เข้าด้วยกัน
ให้เป็นอันหนึ่งอันเดียว

ผู้บรรยายเสียงเท่ปนยียวน (ก็พี่เป็นเอกนั่นแหละ)
หยอดมุขพอให้ยิ้มเป็นระยะ อาทิ
“วันไหนที่คุณเล่นได้สุดยอด มันเป็นความรู้สึกที่ดีมากๆ
เหมือนกับได้มีเซ็กซ์กับซอนย่ายังไงยังงั้น
เอ่อ…อันนี้ผมเดาเอานะครับ ผมก็ไม่เคยมีเซ็กซ์กับซอนย่า”

หนังค่อยๆ ไล่เรียงให้เห็นลำดับของการเนรมิตพื้นที่สี่เหลี่ยมว่างเปล่า
ให้กลายมาเป็นสนามฟุตบอลอันอบอุ่นไปด้วยมิตรภาพแบบพี่ๆ น้องๆ
ตั้งแต่การเก็บเงินคนละสองบาทมาซื้อไฟเพื่อติดข้างสนามทีละดวง
ทีละดวง ทีละดวง ทีละดวง จนครบสี่ดวง ค่อยๆ เก็บเงินแล้วลงมือ
ประกอบโกล ซื้อตาข่าย กระทั่งเริ่มมีกล่องสำหรับเก็บอุปกรณ์ต่างๆ
จากพี่ผู้เป็นตัวตั้งตัวตีเพียงสองคน นักบอลก็ค่อยๆ เพิ่มจำนวนขึ้น
จนคึกคัก

ผู้คนหลากหลายมาจากต่างสถานที่ แต่ก็มารวมตัวกันที่นี่
เพราะมีความสุขในสิ่งเดียวกัน สิ่งนั้นคือการ ‘เตะบอล’
บางคนบอกว่า บ้าเตะบอลจนต้องเลิกกับแฟน
บางคนบอกว่า ชอบเตะบอลมากกว่าไปเที่ยวกลางคืน
บางคนบอกว่า กลับถึงบ้านก็เปลี่ยนชุดวิ่งมานี่ การบ้งการบ้านไว้ทีหลัง
บางคนบอกว่า มันเป็นความสุขที่สุดของชีวิต

เราก็เคยเป็นแบบนี้ ต้องเตะบอลทุกเย็น
บางวันก็ตอนเช้าและกลางวันด้วย
มันเป็นความสุขชนิดหนึ่ง ความสุขที่ได้เหงื่อออก
ได้วิ่ง ได้ส่ง และรับบอลจากเพื่อน
ได้เล่นด้วยกัน ได้ยิงประตู ได้ดีใจ ได้เซ็งตอนเสียประตู
ได้ตะโกนเรียกชื่อเพื่อนดังๆ ให้มันส่งบอลมา
(ซึ่งในเวลาปกติ คงไม่มีใครเรียกใครดังและตื่นเต้นขนาดนั้น)
ได้นั่งพัก ได้พูดคุยกันถึงจังหวะนั้นจังหวะนี้ ลูกยิงสุดสวย
ลูกรับสุดเหนียว ลูกส่งสุดยอด ที่ขาดไม่ได้คือการค่อนขอด
ทีมฝ่ายตรงข้ามในจังหวะที่เพลี่ยงพล้ำจนหนำใจ-ทีใครทีมัน

เดี๋ยวนี้ก็ยังพอจะมีโอกาสได้ฟาดแข้งบ้าง แต่ก็ไม่ใช่ทุกเย็น
แบบพวกเค้าเหล่านี้

“สนามฟุตบอลมันอยู่ตรงนี้ มันให้ความสุขกับคุณแน่นอน
ขอแค่คุณมีเวลาเดินทางมา และลงสนามเท่านั้น”
(หนังพูดไว้ดีกว่านี้เยอะ แต่เราจำได้แค่พอเลาๆ)

2.
ตั้งแต่ได้มานั่งเขียนบันทึกนึกก่อนนอนลงในอากาศ
เราก็รู้สึกว่า นอนหลับอย่างมีความสุข
บางที เวลาเราได้คิดอะไรเสร็จสรรพในเรื่องใดเรื่องหนึ่ง
มันก็ทำให้จิตใจสงบได้ไม่น้อย

หากนักฟุตบอลใต้ทางด่วนบางคน กลับถึงบ้านแล้วโยนกระเป๋า
เปลี่ยนชุด พุ่งไปยังสนามเพื่อฟาดแข้งกับเพื่อนฝูง
เราเองก็คงไม่ต่างจากเค้าซักเท่าไหร่ กลับถึงบ้าน
โยนกระเป๋า เปลี่ยนชุด พุ่งไปยังสนามที่ฝากไว้กับอากาศ
ลงฟาดนิ้วกับตัวหนังสือและแป้นคีย์บอร์ด

ก็อดคิดไม่ได้ว่า สิ่งที่ทำให้มีความสุขในการฟาดนิ้วนั้น
อาจเพราะมีคนร่วมลงสนามนี้ด้วยบรรยากาศแบบพี่ๆ น้องๆ

การฟาดนิ้วกับตัวอักษรในบล็อกนั้นเป็นไปอย่างสบายใจ
ไม่เกร็ง และไม่กังวลอะไรมากมายนัก ต่างจากการเขียนหนังสือ
เพื่อลงนิตยสาร หรือเพื่อประกอบร่างเป็นพ็อกเก็ตบุ๊ก
ซึ่งดูจะต้องใช้เวลา ความคิด และการประดิษฐ์ประดอยมากกว่า
แถมบางทีก็ยังมีการกังวลอีกว่า มันดีพอหรือยัง?

นิตยสารและแผงหนังสือเป็นสนามใหญ่ คนดูเยอะ ต้องตั้งใจเล่น
แต่บล็อกฝากอากาศเป็นสนามปูนเล็กๆ ใกล้บ้าน มีเพื่อนมาร่วมเตะบ้าง
พออบอุ่น เตะเอามันส์ เตะได้แบบไม่ต้องเกรงใจใคร ฮ่าฮ่า…

พี่เป็นเอกพูดไว้ท้ายๆ เรื่อง(ประมาณ)ว่า
“ผมตั้งใจมาบันทึกเรื่องราวเกี่ยวกับนักบอลใต้ทางด่วน
แต่สิ่งที่ผมได้กลับไป กลับเป็นบันทึกของความสุข

…ทันทีที่คุณเปลี่ยนชุดลงสนาม
คุณจะวางตัวตนของคุณทิ้งไป
ลืมความกังวล ความอิจฉาริษยาทั้งหลาย
เหลือเพียงแค่ ลูกบอล เท่านั้น…

ไนกี้บอกผมว่า Just do it.
Bobby McFerrin บอกผมว่า
Don’t worry, Be happy.
ผมเพิ่งรู้วันนี้เองว่า มันเป็นสิ่งเดียวกัน
สิ่งนั้นเรียกว่า ความสุข

3.
หลังจากดูหนังจบ
เราแทบอยากโทรไปหาเพื่อนแล้วชวนมันเตะบอลโกลหนู
แต่นั่นก็เป็นอารมณ์ชั่วแว้บ กลับมาที่บ้าน โยนกระเป๋า
เปลี่ยนชุด ลงสนามที่คุ้นเคย-สนามตัวหนังสือขนาดเล็ก
และก็พบว่า มันก็เป็นสนามที่รอเราอยู่ทุกเมื่อเชื่อวัน
และเราก็สามารถมีความสุขกับมันได้แบบเชื่อใจได้
ไม่ต่างจากสนามฟุตบอลใต้ทางด่วนของพวกเค้า

ใครๆ ก็คงมี ‘สนามแห่งความสุข’ ของใครๆ
ต่างคนต่างรูปแบบต่างสนามให้ลง ‘เล่น’
เป็นสนามที่ไม่มีใครมานั่งตั้งหน้าตั้งตาคาดหวังกับเรา
ปล่อยตัวปล่อยใจไปตามสบาย แค่เล่นให้สนุก

และหากวันไหนโชว์ฟอร์มได้สุดยอดขึ้นมา
ก็คงมีความสุขไม่ต่างจากการได้มีเซ็กซ์กับ…เอ่อ…
เลือกกันเอาเองก็แล้วกัน

ว่าแต่…
สนามแห่งนั้นของคุณคืออะไร?

ในร้ายมีดีเสมอ

ธันวาคม 17, 2006

1.
สมัยฝึกงานอยู่ที่บริษัท ลีโอ เบอร์เนทท์
มีพี่ครีเอทีฟคนหนึ่งให้โจทย์เรามาคิดโฆษณาขาย “แมลงสาบ”
เราหัวเราะเสียงดัง แล้วถามพี่ไปว่า “จะไปขายใครครับพี่?”
พี่เค้าตอบกลับมาว่า “ไม่รู้สิ ฝากคิดด้วยละกัน”
เราหัวเราะในโจทย์อันแสนจะสร้างสรรค์ แต่นึกในใจ
“จะบ้าเหรอ ใครจะไปอยากได้แมลงสาบ”
เพื่อนที่นั่งอยู่ด้วยกันในห้องนั้นโพล่งออกมาว่า
“ขายให้คนเลี้ยงปลาสิ
ผมเคยอ่านหนังสือเจอว่าชาวบ้านบางแห่งใช้แมลงสาบเลี้ยงปลา”
เราเองก็เคยเห็นอาเจ็กโยนแมลงสาบให้ปลาอะโรวาน่ากิน
มันก็ขย้อนเข้าไปอย่างเอร็ดอร่อย

เหตุการณ์เล็กๆ วันนั้น ฝังอยู่ในหัวเรามาตลอด
มันกลับมุมมองของเราที่มีต่อทุกอย่าง
ถ้า ‘แมลงสาบ’ ยังมีข้อดี
ถ้า ‘แมลงสาบ’ ยังขายได้
อะไรอะไรก็คงขายได้ (ในแง่ของนักโฆษณา)
แต่ที่สำคัญว่าการขาย การได้รู้ว่า
‘ทุกสิ่งทุกอย่างมีข้อดี ขอแค่เราหาคนที่ต้องการมันให้เจอ’
นั้นช่วยให้โลกนี้น่าอยู่ขึ้นอีกเยอะ

2.
เมื่อกี๊นั่งดูรายการ คุยคุ้ยข่าว ของคุณ สรยุทธ
แกเสนอข่าวเกี่ยวกับที่ดินบริเวณรอบสนามบินสุวรรณภูมิ
ที่เราต่างก็รู้กันว่า ตอนนี้ที่ดินที่ใกล้สนามบินมากๆ นั้นราคาตกฮวบ
เพราะเสียงที่ดังสนั่นจากการขึ้น-ลงของเครื่องบินไม่รู้วันกี่สิบรอบ

แต่แล้วก็มีเสียงเล็กๆ เสียงหนึ่งดังขึ้น แทรกตัวเข้ามาในเสียงเครื่องบิน
เสียงนั้นคือเสียงของคุณ แคล้ว ทองสม
(ลองเสิร์ชจากกูเกิ้ลแล้วพอจับใจความได้ว่า
เขาน่าจะทำงานทางด้านการประเมินมูลค่าที่ดิน)
คุณ แคล้ว เสนอว่า
“ให้จัดโซนเสียงดังนั้น เป็นโซนผับ เทค”
โอ้โห! จบเลย
จากร้ายกลายเป็นดี
เสียงดังที่น่ารำคาญก็ไม่เป็นปัญหาสำหรับนักท่องราตรีอยู่แล้ว
ดีไม่ดีจะยิ่งเพิ่มดีกรีความมันส์เข้าไปกันใหญ่

ข้อเสนอพลิกมุมมองแบบนี้ ทำให้โลกน่าอยู่
ด้วยพยายามมองหา ‘ดี’ ใน ‘ร้าย’

ซึ่งจริงๆ สิ่งต่างๆ ในโลกก็คล้ายกับสัญลักษณ์ เต๋า
ในขาวมีดำ ในดำมีขาว
อยู่ที่ใครมองสีอะไร?