Archive for กุมภาพันธ์, 2007

แล้วเจอกันเมื่อวันนั้นมาถึง

กุมภาพันธ์ 21, 2007

หยุดเขียนไปสักสองสัปดาห์นะครับ
ขอไปตั้งตัว เตรียมใจ และปรับหูเพื่อฟังภาษาโช้งเช้งก่อนนะครับ
เมื่อมีบ้าน มีไฟ มีน้ำ มีโทรศัพท์ มีอินเตอร์เน็ตแล้ว คงกลับมาคุยกันอีก

ว่างๆ ก็มาโยนๆ บทสนทนากันไว้เล่นๆ ได้นะครับ
เดี๋ยวไม่มีคนอยู่แล้วหยากไย่จะขึ้นเสียก่อน

แล้วเจอกันวันนั้นครับ
วันไหนผมก็ยังไม่รู้เหมือนกัน
สวัสดีครับ!
😀

พี่จิกกับซีดาน

กุมภาพันธ์ 20, 2007

1.
เพิ่งได้หยิบ ‘แมงกะพรุนถนัดซ้าย’ หนังสือรวมบทความ
‘คุยกับประภาส’ เล่มล่าสุดขึ้นมาอ่าน หลังจากซื้อมาวางไว้บนหิ้ง
ตั้งแต่งานหนังสือในเดือนตุลาฯ เมื่อปีก่อน

อาจเพราะเป็นผลงาน ‘ลำดับที่แปด’ ก็เป็นได้
ที่ทำให้ความตื่นเต้นอยากอ่านทันทีลดน้อยถอยลง
จำได้ว่า ตอนซื้อ ‘คุยกับประภาส’ ลำดับที่สองมาพร้อมกับหนังสือกองโต
แล้วหิ้วหอบมันขึ้นรถเมล์กลับบ้านนั้น ยังรีบเปิดอ่านตั้งแต่อยู่บนรถเมล์
เพราะชอบ ‘คุยกับประภาส’ เล่มแรกมาก และก็ใช่, เล่มสองก็ยังชอบมากอยู่ดี

หลังจากนั้นเมื่อเวลาผ่าน ความรู้สึกเมื่อได้หนังสือหมวด ‘คุยกับประภาส’
ติดไม้ติดมือกลับมาบ้านก็ไม่ตื่นเต้นเหมือนเดิมอีก อาจเพราะได้ทึ่ง
กับความคิดของพี่จิกไปซ้ำแล้วซ้ำเล่า ทึ่งแล้วทึ่งอีก จนสมองชา
กับอีกหนึ่ง ‘อาจ’ คือ อาจเพราะโหยหาอะไรที่มันสลับซับซ้อนมากขึ้น

อะไรที่มันอธิบายง่ายๆ ก็ได้ แต่ยิ่งอธิบายยากยิ่งชอบ

เหมือนช่วงหนึ่งที่เคยอ่านวรรณกรรมเยาวชนมากๆ
แล้วในที่สุดก็เลิกอ่านไป เพราะเริ่มรู้สึกว่า โลกจะอ่อนโยนเกินไปแล้ว

นี่ละมัง คือเหตุผลที่ ‘แมงกะพรุนถนัดซ้าย’ ถูกวางแช่ไว้ตั้งนาน

2.
พอเริ่มเปิดหน้าแรก ก็อ่านผ่านครึ่งเล่มไปแบบไม่กลัวเมื่อยแขน
เพราะช่างเพลิดเพลินเจริญสมองเสียเหลือเกิน กับความรู้ ข้อมูล
และมุมมองที่พี่จิกเอามาเรียงร้อยเข้าด้วยกันแบบ ‘ง่ายๆ’

หมายถึง ให้คนอ่านอ่านง่าย
แต่คนเขียนคงไม่ได้เขียนขึ้นมาง่ายๆ เป็นแน่

แล้วผมก็พบว่า หนังสือพี่จิกมีลักษณะบางอย่างเหมือนหนังสือธรรมะ
คือ ถ้าอ่านตอนไม่สบายใจจะสบายใจ อ่านตอนไม่สดใสจะสดชื่น
อ่านตอนเจอทางตันจะเจอทางออก อ่านตอนฟุ้งซ่านจะสงบ
อ่านตอนมีคำถามจะเจอคำตอบ และถ้าอ่านตอนจิตใจปกติจะเพลิดเพลินยิ่ง!

อีกอย่างคือ อ่านแล้วจะมีสติ
เพราะหนังสือเล่มใดก็ตามที่ชวนให้คนตั้งคำถามและครุ่นคิดหาคำตอบ
ย่อมนำมาซึ่ง ‘สติ’ เพราะคนอ่านย่อมได้หยุดคิดและไตร่ตรองกับตัวเอง
ในความสงบ

และในบางบทก็สามารถทำให้คนอ่านพบ ‘ซาโตริ’ ได้ในฉับพลัน!
เป็นการบรรลุ และตระหนักรู้เล็กๆ ที่เมื่อได้พบแล้วนำมาซึ่งความปิติ

3.
‘สุดเวหากับแค่คืบ’ คือบทนั้น
ขออนุญาตเล่าเรื่องย่อๆ จากเรื่องของท่านพี่

สุดเวหากับแค่คืบเป็นเพื่อนนักเรียนในโรงเรียนสอนศิลปะแห่งหนึ่ง
ทั้งคู่เป็นยอดฝีมือที่ยากตัดสินว่าใครเก่งกว่าใคร

วาดดอกไม้ ก็เหมือนจนคนดูอยากก้มลงดมกลิ่น
วาดหญิงงาม ก็อ่อนช้อยจนอยากให้เธอร่ายรำออกมาจากภาพ
วาดชายหนุ่ม ก็หมดจดจนหญิงสาวที่มายืนดูต้องเขินอาย

แม้จะฝีมือเทียบเทียมกัน แต่นิสัยของทั้งสองต่างกันเหลือเกิน

สุดเวหา เป็นคนจริงจังมุ่งมั่น หากจะทำอะไรก็ต้องทำให้ถึงที่สุด
ต่อให้ต้องทุ่มเททุกสิ่งทุกอย่างในชีวิตเขาก็จะทำ ที่สำคัญ
เขาเป็นคนไม่ยอมคน ตลอดชีวิตเขาปรารถนาเป็นหนึ่งเพียงอย่างเดียว

ส่วน แค่คืบ เป็นคนพูดน้อยและมีรอยยิ้มพิมพ์อยู่บนใบหน้าเป็นนิจ
เขามักทำงานด้วยความผ่อนคลาย ราวกับว่างานเป็นอิริยาบถหนึ่ง
ของการดำรงชีวิต ไม่ต่างอะไรกับการกิน นอน หรือหายใจ
เขามักทำงานศิลปะอย่างสม่ำเสมอ ต่างจากสุดเวหาที่มักจะมุมานะ
ทำงานหนักเป็นช่วงๆ หยุดเป็นช่วงๆ

คนชอบถามว่า สองคนนี้ใครเก่งกว่ากัน?
ซึ่งทำให้สุดเวหารำคาญใจและอยากหาคำตอบ
จึงบอกอาจารย์ว่าอยากตัดสินให้รู้ๆ กันไปเสียที

อาจารย์ตั้งกติกาง่ายๆ ว่า จะวาดรูปอะไรก็ได้ ใหญ่แค่ไหนก็ได้
ให้เวลาเพียงหนึ่งสัปดาห์ โดยให้ทั้งสองนั่งวาดอยู่ในห้องโถงเดียวกัน
ขอเพียงภาพที่วาดออกมานั้นต้องสามารถ ‘จู่โจมเข้าหาคนดูโดยไม่รู้ตัว’

สุดเวหาเริ่มวาดรูปตั้งแต่ตอนเช้าตรู่ของวันแรก
เขามองออกไปที่กระจกหน้าต่างแล้วก็เริ่มร่างรูป
สายตาแดงก่ำของเขาจ้องเขม็งไปที่ผืนผ้าใบที่เขากำลังจรดพู่กันลงไป

แค่คืบมาถึงห้องโถงช้ากว่า เขานั่งมองอะไรไปเรื่อยเปื่อย
ก่อนจะเริ่มจรดพู่กันลงบนผ้าใบ

เวลาผ่านไปครึ่งวัน

สุดเวหารู้สึกว่าแค่คืบแอบลอกรูปวาดของเขา จึงรีบคว้าผ้าดำ
มาคลุมผ้าใบที่กำลังวาดอยู่ในทันที แล้วก็หันไปตวาดแค่คืบว่า
ทำไมต้องมาลอกภาพของเขาด้วย ไม่มีสมองคิดเองหรือไง

แค่คืบออกปากขอโทษ ชวนไปกินข้าว เพราะเห็นนั่งวาดมาทั้งวันแล้ว
สุดเวหาไม่ไป เพราะคิดว่าแค่คืบจะมาชวนให้เขาเสียเวลา

เวลาผ่านไปหลายวัน

แค่คืบยังคงเดินเล่นบ้าง วาดบ้าง นอนมองท้องฟ้าบ้าง
จนบางคนนึกว่าแค่คืบยอมแพ้ไปซะแล้ว
ฝ่ายสุดเวหายังคงก้มหน้าก้มตาทำงานอย่างไม่มีหยุดพัก

ครบหนึ่งสัปดาห์ ถึงกำหนดที่อาจารย์จะมาตัดสินว่า
ใครคือที่หนึ่งของโรงเรียนศิลปะ

ในห้องโถงแห่งนั้น มีขาตั้งผ้าใบวาดรูปสองอันตั้งอยู่กลางห้อง
ทั้งสองขาตั้งมีผ้าสีดำคลุมไว้ไม่ให้เห็นว่ารูปข้างในเป็นรูปอะไร

อาจารย์เดินไปดูที่รูปของสุดเวหาก่อน ทันทีที่ดึงผ้าคลุมสีดำออก
ผู้คนในห้องก็ส่งเสียงฮือในลำคอ เป็นภาพวาดใบหน้าของสุดเวหาเอง
เขาใช้เวลาทั้งอาทิตย์เพ่งหน้าตัวเองในกระจกหน้าต่าง
แล้ววาดภาพนี้ขึ้นมา ดวงตาของเขาในรูปแดงก่ำไม่ผิดกับตัวจริง

“มันจู่โจมคนดูโดยมิรู้ตัวไหม?” ใครคนหนึ่งพูดขึ้น
“รู้ตัวสิ ใครๆ ก็รู้ว่าสุดเวหาเป็นคนอย่างนี้อยู่แล้ว” อีกคนตอบ

อาจารย์ทำมือบอกให้ทุกคนเงียบเสียง แล้วเดินไปที่รูปของแค่คืบ
อาจารย์บอกให้แค่คืบดึงผ้าสีคลุมดำนั้นออก แค่คืบมองหน้าอาจารย์นิ่ง
“เปิดผ้าออกสิ แค่คืบ” อาจารย์ย้ำ
“เปิดไม่ได้ครับอาจารย์” แค่คืบพูดเบาๆ

นักเรียนทั้งหลายต่างนึกว่าแค่คืบยอมแพ้แล้ว จึงพากัน
แสดงความยินดีกับสุดเวหา ที่แค่คืบไม่กล้าแม้แต่จะเปิดผ้าออกมาสู้
สุดเวหาชูกำปั้นสุดเหยียดอย่างผู้มีชัย

อาจารย์มองแค่คืบด้วยความสงสัย แล้วเอะใจหันไปมองผ้าสีดำ
ที่คลุมผ้าใบอยู่อีกที จากนั้นรอยยิ้มของอาจารย์ก็ผุดขึ้น

“จู่โจมคนดูอย่างมิรู้ตัวโดยแท้จริง” ตาของอาจารย์จ้องเขม็ง

คงมีอาจารย์คนเดียวที่มองเห็นว่า ผ้าสีดำที่คลุมภาพวาดอยู่นั้น
มันไม่ใช่ผ้าสีดำแต่อย่างใด ที่แท้แล้ว ทั้งหมดมันคือรูปวาดผ้าสีดำ
ที่กำลังคุลมผ้าใบที่มีขาตั้งอยู่ต่างหาก

4.
การกลับมาอ่านหนังสือที่เขียนด้วยลีลาง่ายๆ อย่าง ‘คุยกับประภาส’ อีกครั้ง
ทำให้ผมรู้สึกเหมือนที่เคยรู้สึกเมื่อหลายปีก่อน ก่อนที่จะพยายามล้อเล่น
กับลีลาและภาษาอันฉวัดเฉวียนชวนปวดหัว เหมือนนักฟุตบอลที่ขยัน
สับขาหลอก จนบางทีก็สะดุดขาตัวเองล้มคว่ำหน้าคะมำ

นักฟุตบอลนิ่งๆ ขยับตัวน้อยๆ แต่เกิดผลลัพธ์ใหญ่ๆ แบบซีเนอดีน ซีดาน
เมื่อเทียบกันกับไอ้หนูวัยรุ่นนักสับขาหลอกอย่าง คริสเตียโน่ โรนัลโด้
สำหรับคนดู มันก็เพลินตาไปคนละแบบ

แต่ผลลัพธ์อาจอยู่ที่การยิงประตู
เล่นง่าย หรือ เล่นยาก ถ้ายิงประตูได้ก็น่ายินดีทั้งนั้น

เด็กๆ อาจชื่นชอบที่จะใช้ลีลาหวือหวาเลี้ยงหลบกองหลัง
คนโตๆ แล้วใช้ประสบการณ์และความเก๋าส่งบอลเข้าตาข่าย

ซีดาน ขยับตัวนิดเดียวแต่มักจะจู่โจมฝ่ายตรงข้ามโดยมิทันตั้งตัว
เล่นเหมือนง่าย แต่จริงๆ ยาก

เล่นฟุตบอลเหมือนหายใจ

เหมือนทุกครั้งที่ดูทีวี ผมอยากเล่นฟุตบอลให้ได้อย่างซีดาน
และก็เช่นกันกับทุกครั้งที่ได้อ่านงานเขียนของประภาส ชลศรานนท์
ผมอยากเขียนหนังสือให้ได้อย่างพี่จิก.

แอบภูมิใจที่ได้ลงอะเดย์

กุมภาพันธ์ 19, 2007

ข่าวฝากครับ:
เอ่อ…คือ…อะเดย์เล่มใหม่ ฉบับเจ็ดสิบแปด ที่อยู่บนแผงวันนี้
มีสัมภาษณ์ ‘นิ้วกลม’ ครับ ยาวพอสมควรเชียว ฝากบอกเพื่อนบ้านไว้ครับ
อ่านแล้วน่าจะรู้จักกันมากขึ้น

ฝากด้วยครับ.
😀

ศิลปะแห่งความจริงใจ

กุมภาพันธ์ 18, 2007

‘ความจริงใจ’ เป็นศิลปะประเภทหนึ่ง
ไม่ง่าย ที่เราจะทำตัวจริงใจกับใครสักคน
มีเพียงบางคนเท่านั้น ที่เรากล้า ‘จริงใจ’ ใส่เขา
บางคน จริงใจมากเกินไป ก็อาจทนกันไม่ไหว
รับกันไม่ได้ และอาจฟูมฟายนำไปสู่การเลิกคบหา

การพูดจากันด้วยความจริงใจหาได้ยากในบทสนทนาของคนเพิ่งรู้จัก
แต่ก็ไม่เสมอไป บางคน เพิ่งรู้จักกันก็ซัด ‘ความจริงใจ’ ใส่กันโครมๆ
อาจมีอะไรบางอย่างบอกใบ้กับเราว่า ไอ้คนนี้ ‘จริงใจ’ ใส่มันได้

เราจึงมักหยั่งเชิงอยู่พอสมควร ก่อนที่จะ ‘จริงใจ’ กับใครสักคน
ด้วยรู้ฤทธิ์แห่ง ‘ความจริงใจ’ ดี

แหม ใครจะกล้าทัก คนที่เพิ่งเจอว่า “น่ารักจังเลยค่ะ แต่กลิ่นตัวเหม็นยังกะปลาร้า!”
หรือ “เสื้อกล้ามตัวนี้สวยดีนะคะ แต่ก่อนใส่น่าจะตัดขนจั๊กกะแร้ก่อนนะคะ”
หรือ “ช่วงนี้ทำงานหนักเหรอครับ หัวเถิกเชียว”

มันก็จริงใจกันเกินไป

‘ความจริงใจ’ จึงเป็นศิลปะ
และหากมีใครเปิดสอนคอร์ส ‘ศิลปะแห่งความจริงใจ’ เราอยากไปสมัครเรียน
ความจริงใจเคยทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างเรากับเพื่อนสนิท ‘ร้าว’ มาแล้ว
แม้ยังคบหากันอยู่ แต่รอยร้าวก็ยังคงร่องรอยไว้ ยากจะกลับไป ‘สนิท’ ดังเดิม

การที่จะพูดจา ‘จริงใจ’ จึงต้องอาศัยศิลปะ
‘สาร’ แห่งความจริงใจน่าจะถูกส่งออกไปพร้อมกับความเข้าอกเข้าใจ
และความปรารถนาดี เมื่อนั้น ‘ความจริงใจ’ จะสวยงาม
ไม่ห่าม ไม่ดิบ ไม่แข็ง ไม่รุนแรงจนเกินไปนัก

ทุกครั้งที่ได้รับคำแนะนำจากเพื่อน, พี่, น้อง ที่จริงใจ
เรามักรู้สึกว่า ความสัมพันธ์ระหว่างเราสองคนนั้นกระชับแน่นขึ้น

ยิ่งสนิทกัน เรายิ่งกล้าพูดจากันจากใจ
ยิ่งพูดจากันจากใจ เราก็ยิ่งสนิทกัน

เราชอบคนจริงใจ และเชื่อว่าใครๆ ก็คงชอบ
เราพยายามจริงใจกับคนที่จริงใจได้
และหวังว่าเขาจะจริงใจกลับมา

แต่สำหรับคนที่ไม่ค่อยชอบความจริงใจมากนัก
ก็ต้องรักษาระยะให้พอเหมาะ

วันนี้ได้รับข้อความดีๆ ที่จริงใจจากพี่ชายคนหนึ่ง
เขาระมัดระวังคำพูดคำจามากๆ ว่าจะทำร้ายน้องชาย
ทุกถ้อยคำเต็มไปด้วยปรารถนาดีและความจริงใจ
เมื่อได้ฟังแล้ว ไม่มีเลยที่เราจะโมโห ไม่เข้าใจพี่
มีแต่ที่ได้ยินแล้วอยากยกมือไหว้

ความจริงใจ จึงไม่ใช่ทั้งการเลือกที่จะไม่พูดเรื่องที่ไม่ถูกใจ หรือเรื่องที่เรารู้สึกแย่
และก็ไม่ใช่การสักแต่จะพูดออกไป โดยไม่คิดถึงจิตใจของฝ่ายที่รับฟัง
หากแต่ เป็นการเริ่มต้นการพูดจาด้วยเจตนาที่ดี และถ้อยคำที่นุ่มนวลชวนให้คิดตาม

‘สาร’ ก็ยังส่งผ่านไปเท่าเดิม

ในชีวิตเรา เราต้องการคนพ่น ‘ถ้อยคำจริงใจ’ ใส่รูหูอย่างสม่ำเสมอ
เรื่องที่เผลอ เราต้องการคำตักเตือน
เรื่องที่พลาด เราต้องการคำท้วงติง
เรื่องที่ผิดใจกัน เราต้องการคำบอกกล่าวอย่างตรงไปตรงมา
เพื่อนประเภทนี้ จะช่วยชี้ให้เรามองเห็นด้านอื่นที่ไม่เคยมอง
ได้ฟังแล้วตรึกตรองก็จะมองเห็นปัญหา นำไปสู่การพัฒนาต่อไป

คบคนจริงใจไว้เยอะๆ ย่อมดีกว่าคบคนขี้ป้อยอ
ติเพื่อก่อ ย่อมดีกว่า ชมเพื่อรอให้มันเลี้ยงข้าว!

เรื่องคำชม ไม่ต้องห่วงหรอก
เพื่อนที่จริงใจก็ยินดีหยิบยื่นให้เราในวันที่เขาเห็นว่า น่าชม
และคำชมนั้นคงมีค่าเข้าไปอีกหลายเท่า
เมื่อเรารู้ว่า ออกมาจากปากของคนที่พูดจากใจจริง

วันนี้เป็นวันที่ได้เรียนรู้ สิ่งที่เคยรู้มานาน
แต่ได้รู้ซึ้งขึ้น เมื่อพบเจอความจริงใจที่ชวนให้รู้สึกดี
จึงอยากบันทึกบอกกับตัวเองไว้อีกทีว่า
ใครๆ ก็ชอบ ‘ความจริงใจ’ กันทั้งนั้น

แต่ความจริงใจที่แล้งไร้ศิลปะ ก็อาจทำร้ายมนุษย์ได้ไม่แพ้คำยกยอปลอมๆ

‘การทะนุถนอมหัวใจ’ กับ ‘ความจริงใจ’
จึงเหมือนสองด้านของเหรียญเดียวกัน มีทั้งสองด้านจึงจะมีค่า

และเวลาที่มีคนแสดงความจริงใจกับเราด้วยโดยไม่ลืมทะนุถนอมจิตใจ
ยิ่งทำให้เรา ‘รัก’ คนคนนั้นมากยิ่งขึ้น

ขอบคุณพี่ชายคนนั้น

ด้วยความจริงใจ.

คนที่ควรมี 02: ช่างทำกุญแจ

กุมภาพันธ์ 17, 2007

ชีวิตคนเราควรมี ‘ช่างทำกุญแจ’ ไว้อย่างน้อยสักหนึ่งคน
เพราะเรามีโอกาสเดินไปเจอ ‘ประตูที่ถูกล็อก’ ได้ทุกวัน
‘ประตูที่ถูกล็อก’ ทำให้เราไม่สามารถเดินต่อไปได้ในทางที่อยากเดิน
บางคนอาจเลือกที่จะหันหลัง ถอดใจ ไปไม่ถูก

ในระหว่างทางเดินชีวิต มี ‘ปัญหา’ มากมายที่ ‘ไข’ ไม่ออก
แต่ ‘ช่างทำกุญแจ’ คนนั้น มักเป็นคนที่หยิบยื่นคำตอบเพื่อ ‘ไข’
คำถามยากๆ เหล่านั้นได้ เปิดประตูที่ปิดตายให้แง้มออก

‘ช่างทำกุญแจ’ ที่ดีมักจะเป็นคนที่มีประสบการณ์สูง
รู้จัก ‘ล็อก’ หลายแบบ และรู้ขบเหลี่ยมในการลับ ‘กุญแจ’
เพื่อนำไป ‘ไข’ ปัญหาเหล่านั้น

คำตอบที่เราตอบไม่ได้ ‘ช่างทำกุญแจ’ จะช่วยตอบให้
อาจไม่ใช่คำตอบที่สามารถสะเดาะล็อกแห่งปัญหานั้นได้หมดจด
แต่ก็มักเป็นคำตอบที่คลี่คลายล็อกนั้นให้หลวมขึ้น
เราอาจต้องออกแรงเองอีกสักหน่อย เพื่อกระชากบานประตูนั้นออก
แล้วค่อยเดินต่อไป

หากมี ‘ช่างทำกุญแจ’ ไว้ใกล้ๆ โทรหาได้ยามติดขัด ก็คงดี
แต่ถ้าหากไม่มี เราสามารถเดินหา ‘ช่างทำกุญแจ’ บางราย
ได้ตามร้านหนังสือ

ในนั้นมี ‘ช่างทำกุญแจ’ รอสะเดาะล็อกอยู่มากมายหลายคน
พร้อมหยิบยื่น ‘กุญแจ’ ให้กับคำถามไขยากที่ผุดขึ้นมาในแต่ละวัน
‘ล็อก’ แบบหนึ่ง อาจต้องการ ‘ช่างทำกุญแจ’ คนหนึ่ง
‘ล็อก’ อีกแบบ ก็ต้องปรึกษา ‘ช่างทำกุญแจ’ อีกคน

เราคงต้องใช้บริการของ ‘ช่างทำกุญแจ’ ทั้งใกล้ตัวและไกลตัว
ไปจนกว่าที่เราจะเริ่มมีประสบการณ์มากพอสำหรับการทำ ‘กุญแจ’ ให้กับตัวเอง

สำหรับ ‘ไข’ ล็อกให้กับตัวเองในยามติดขัด

วันหนึ่ง เมื่อได้สะสมประสบการณ์ ผ่าน ‘ล็อก’ มามากพอ
เราก็อาจจะพัฒนาฝีมือกลายเป็น ‘ช่างทำกุญแจ’ ได้เหมือนกัน
และวันนั้นก็อาจมีคนมาขอ ‘กุญแจ’ จากเราบ้าง

แต่คงไม่มีใครสามารถไข ‘ล็อก’ ได้ทุกล็อกหรอกละมัง
กระทั่ง ‘ช่างทำกุญแจ’ ก็ยังต้องการ ‘ช่างทำกุญแจ’ ไม่แพ้คนอื่น.

คนที่ควรมี 01: เด็กปั๊ม

กุมภาพันธ์ 17, 2007

ชีวิตคนเราควรมี ‘เด็กปั๊ม’ ไว้อย่างน้อยสักหนึ่งคน
‘เด็กปั๊ม’ ที่คอยเติมน้ำมันใส่ถังกำลังใจให้เราวิ่งต่อไปได้
‘เด็กปั๊ม’ ที่ว่า ไม่จำเป็นต้องเป็นคนที่ ‘เด็ก’ กว่าเสมอไป
บางที อาจเป็นคนที่อาวุโสกว่า แต่มีนิสัยและหัวใจของ ‘เด็กปั๊ม’

มีคนแบบนี้เอาไว้ข้างๆ กาย กำลังกายและกำลังใจย่อมมิมีวันเหือดลงง่ายๆ
วันไหนที่รู้สึกโหวงๆ เชื้อพลังความตั้งใจ ความพยายามกำลังจะหมดลง
ให้รีบพุ่งตรงไปที่ปั๊ม และคงได้กำลังกลับมา ถึงแม้ไม่เต็มถัง
แต่ก็คงเพียงพอให้ขับเคลื่อนต่อไป

บางสิ่งที่ทำอยู่ อาจดูโง่ อาจดูแย่ อาจดูไม่มีวันสำเร็จ ในสายตาคนอื่น
แต่ในสายตาของ ‘เด็กปั๊ม’ มันมักจะพอมีทางไป มีความเป็นไปได้อยู่บ้าง

‘เด็กปั๊ม’ ไม่ใช่คนประเภทชี้ช่องทาง ให้คำแนะนำเลอเลิศ ให้ทางออกกับชีวิต
แต่สิ่งที่ ‘เด็กปั๊ม’ ถนัด ก็คือการเติมกำลังใจใส่ถังหัวใจเหือดๆ นั้นนั่นแหละ
ด้วยนิสัยที่ยินดีจะเติมให้เสมอ ทั้งที่ก็ไม่รู้ว่าจะมีตะปู เรือใบ หรืออะไร
รกรุงรังขวางทางรอเจาะยางอยู่ข้างหน้ารึเปล่า?

หน้าที่ของ ‘เด็กปั๊ม’ มีแค่เติมน้ำมัน และชูกำปั้นให้ขับเคลื่อนต่อไป
หน้าที่อื่น เว้นไว้ให้คนอื่นได้ทำบ้าง

คนที่มี ‘เด็กปั๊ม’ หลายคน เป็นคนโชคดี
และน่าจะเป็นคนที่มีกำลังกาย กำลังใจอยู่เสมอ
เจอคนโน้นเติมน้ำมันให้ที คนนี้เติมให้ที ถังน้ำมันจึงเต็มปรี่ตลอดเวลา

ต่างจากคนที่ไม่มี ‘เด็กปั๊ม’ หรือยังมองหา ‘ปั๊มน้ำมัน’ ไม่เจอ
หรือจริงๆ อาจจะมีอยู่ข้างๆ ตัวแล้ว แต่ดันปิดฝาถังไม่ยอมให้คนๆ นั้นเติมให้
คนแบบนี้มีสิทธิ์ที่จะหมดกำลังใจได้ง่าย เมื่อได้ขับเคลื่อนเลื่อนตัว
ไปตามเส้นทางจนเหนื่อยล้า พานจะหมดกำลัง

ยิ่งหากวันไหนมีอะไรมา ‘เจาะ’ ถังน้ำมันให้ต้อง ‘รั่ว’ ขึ้นมา
ก็มีสิทธิ์จอดคาไว้ข้างทางอยู่อย่างนั้น หรือไม่ก็หันหน้ากลับ
ไปเริ่มต้นใหม่ หรือไม่ก็บ่ายหน้าไปทางเส้นอื่น เพราะเสียกำลังใจ
กระทันหัน และหามาเติมไม่ทันการ

‘เด็กปั๊ม’ จึงเป็นคนสำคัญของชีวิต ที่ควรมีไว้ชิดๆ ร่างกาย
ในวันที่อ่อนล้า หมดแรง เราอาจไม่ต้องการนักปราชญ์
ผู้เก่งกาจมาจากไหน เราอาจต้องการแค่ใครสักคนที่ยิ้มให้
ตอนที่เราจอดรถพัก เช็ดกระจกที่ขุ่นมัวให้ใสขึ้น เติมลมยางให้แข็ง
พร้อมที่จะแล่นต่อไป และที่สำคัญ เติมกำลังใจใส่ถังอีกครั้ง

การเดินทางอันยาวไกล เราควรมี ‘เด็กปั๊ม’ ไว้ข้างกายอย่างน้อยหนึ่งคน.

0002: มนุษย์ต่างด้าว

กุมภาพันธ์ 16, 2007

“ฮัลโหล เอ๋ ยูอยู่ไหน?”
เสียงไทยสำเนียงเทมาเส็กของเอลวิสยังเหมือนเดิม
“อยู่เคเอฟซี ชั้นสองนะ”

รอยยิ้มขนาดกว้างใต้ไรหนวดของเอลวิสเป็นยิ้มที่คุ้นเคย
และมันอาจเป็นยิ้มของเพื่อนร่วมโลกต่างชาติที่ผมคุ้นเคยด้วยมากที่สุด
และรอยยิ้มนี่เองที่อาจจะเป็นเหตุผลสำคัญที่ทำให้ผมกล้าเก็บผ้าผ่อน
ออกเดินทางไกล

“ฮ่าฮ่า”
เสียงหัวเราะของเราทั้งคู่ดังขึ้นพร้อมกัน
ไม่รู้หัวเราะทำไม แต่ความเก้อเขินก็หายตัวไปหลังเสียงหัวเราะ

“เอลวิสจะมาเอาตัวเอ๋ไปเหรอ?” หญิงสาวข้างๆ ผมเอ่ยปากถาม
“ฮ่าฮ่า” เอลวิสหัวเราะอีกครั้ง “แล้วเอ๋จะไปไหม?”
“ไม่รู้เหมือนกัน” หญิงสาวตอบ เธอหัวเราะบ้าง

ทุกครั้งที่เราเปล่งเสียงหัวเราะออกมา เรามีเจตนาอะไร?
ผมว่าไม่เสมอไปหรอกที่เราจะหัวเราะเพราะ ‘ขำ’
และก็ไม่เสมอไปหรอกกระมังที่เราจะหัวเราะตอนเรามี ‘สุข’ เท่านั้น
บางครั้ง เราก็อาศัยเสียงหัวเราะเป็นกำบังความไม่สบายใจ มิใช่หรือ?

“ฮ่าฮ่า” ผมหัวเราะบ้าง
“เดี๋ยวเราลงไปหาร้านนั่งคุยกันดีกว่า”
ผมพูดประโยคนี้ หลังจากเห็นถ้อยคำ “หนูจะปิดร้านแล้ว” ของพนักงานในร้าน
ที่ส่งผ่านแววตา เราหันไปยิ้ม เธอส่งยิ้มคืนมา นัยน์ตาพูดว่า “ขอบคุณที่เข้าใจหนู”

เราย้ายก้นกันไปหย่อนบนเก้าอี้ที่ร้านโดนัทในสยามสแควร์
ผมสั่งช็อกโกแล็ตเย็น เอลวิสสั่งตาม เราแย่งกันจ่ายเงิน
มื้อเล็กๆ แบบนี้ต้องแย่งกันสักหน่อย มื้อใหญ่จะได้เป็นทีของอีกฝ่าย
ผมค่อนข้างประหลาดใจกับราคาสามสิบห้าบาทของช็อกโกแล็ตเย็นแก้วใหญ่
และประหลาดใจตามมาว่า ทำไมผมจึงประหลาดใจ?
ทำไมผมจึงรู้สึกว่า ช็อกโกแล็ตเย็นแก้วละสามสิบห้าบาทมันถูก?

หรือผมจะชินกับช็อกโกแล็ตเย็น+ราคาบรรยากาศในร้านกาแฟราคาแพงไปแล้ว?

เราเริ่มต้นบทสนทนากันด้วยการหยอกเอิน หยอกกันแบบผู้ชายกับผู้ชาย
มิใช่แบบกระหนุงกระหนิง แต่เป็นแบบกระโชกกระชาก
ไม่ได้หยิกแก้มหยิกก้น แต่เป็นตบหลังตบไหล่ เพื่อให้กำแพงน้ำแข็งละลาย

เพื่อนกัน สนิทกันขนาดไหน พอจากกันไปนานๆ เมื่อได้หวนมาเจอหน้ากันอีกที
มักจะมี ‘กำแพงน้ำแข็ง’ ก่อตัวขึ้นตรงหน้าเสมอ หนาบ้าง บางบ้าง ตามแต่คนไป

ไม่นานนักน้ำแข็งก็ละลายเกลี้ยง

ผมกับเอลวิสคุยกันแบบนี้มาตั้งแต่สมัยที่เราร่วมรัก เอ้ย! ร่วมงานกัน
องค์ประกอบหลักของโฆษณามีสองอย่าง ภาพ และถ้อยคำ
เอลวิส เป็น ผู้กำกับศิลป์ (อาร์ตไดเร็กเตอร์)
ผม เป็น ผู้เขียนคำโฆษณา (ก๊อปปี้ไรเตอร์)
เมื่อมาร่วมรักกัน จึงคลอดผลผลิตออกมาเป็น ‘งานโฆษณา’

คนมักเข้าใจว่า ก๊อปปี้ไรเตอร์ มีหน้าที่ ‘เขียน’ เท่านั้น
และอาร์ตไดฯ ก็มีหน้าที่แค่ ‘แต่งภาพ’ และก็มักจะเข้าใจผิดว่า
‘ครีเอทีฟ’ จะเป็นมนุษย์อีกคนหนึ่ง ที่ไม่ใช่ทั้งอาร์ตไดฯ และก๊อปปี้ฯ
มีหน้าที่คิดไอเดียในงานโฆษณา แล้วค่อยมาให้ก๊อปปี้ฯ ช่วยเขียนคำ
ให้อาร์ตไดฯ ช่วยแต่งภาพ แต่จริงๆ แล้ว ไอ้สองหน้าที่นั้นนั่นแหละ
ที่เรียกรวมกันว่า ‘ครีเอทีฟ’

สองหน้าที่นั้นนั่นแหละที่ช่วยกันคิดงานโฆษณามาด้วยกัน
ก่อนที่จะแยกย้ายกันไป ‘สำเร็จ’ ขั้นตอนสุดท้ายตามหน้าที่แต่ละคน
ก๊อปปี้ฯ ดูเรื่อง ‘คำ’ ทั้งในหนัง, สื่อสิ่งพิมพ์ และวิทยุ
อาร์ตไดฯ ดูเรื่องภาพ ทั้งในหนัง และสื่อสิ่งพิมพ์
เริ่มต้นคิดด้วยกัน แต่แยกย้ายกันไปดูแลในตอนท้ายของกระบวนการ

ครับ, ผมกับเอลวิสเป็น ‘ครีเอทีฟ’

อาชีพที่พี่คนหนึ่งเคยให้นิยามว่า ‘ถูกจ้างมาปวดหัว’
บางวันผมก็รู้สึกแบบนั้น แต่บางวันผมก็รู้สึกว่า เรา ‘ถูกจ้างมาสนุก’

ขณะที่ทำงานด้วยกัน มีบ้างที่สนุก มีบ้างที่เคร่งเครียด
มีบ้างที่เห็นตรง มีบ้างที่เห็นต่าง ซึ่งนั่นก็เป็นเรื่องยากอย่างหนึ่ง
ของอาชีพเกี่ยวกับความคิดสร้างสรรค์

อาชีพกึ่ง ‘ศิลปะ’

เพราะขึ้นชื่อว่า ‘ศิลปะ’ แล้ว ยากที่จะหาเกณฑ์การตัดสินที่ทุกฝ่ายจะยอมรับ
ย่อมมิใช่ อะไร+อะไร=อะไร ไม่มีเหตุผลอธิบายหรือหักล้างกันเห็นๆ
การตัดสินงานโฆษณาสำหรับนำไปพรีเซ้นท์ (ขาย) ลูกค้านั้น
จึงเป็นไปตามหลักการบางอย่างด้านการตลาด บวกรวมเข้ากับความชอบส่วนตัว
ของหัวหน้าที่มีชื่อเรียกตามตำแหน่งว่า ‘ครีเอทีฟ ไดเร็กเตอร์’ (ซีดี) เท่านั้น

ลูกน้องทั้งหลายถก+เถียงได้ตามมุมที่มอง ตามสมองที่คิด
แต่สุดท้ายก็ต้องยอมรับในการตัดสิน ซึ่งจะว่าไปก็ต้องอาศัย
ความเชื่อใจและศรัทธาในตัวหัวหน้าอยู่ไม่น้อย

ความที่เอลวิสเป็นสิงคโปร์ และผมเป็นคนไทย
ย่อมทำให้ความคิดที่ไหลออกมาจากสมองนั้นแตกต่าง
แต่ส่วนผสมที่แตกต่างกันนี่แหละที่น่าสนใจนักสำหรับความคิดสร้างสรรค์

‘การสร้างสรรค์ คือ การจับสิ่งที่ไม่เกี่ยวกันมาเกี่ยวกัน’ ใครเคยบอกไว้

ไทยกับสิงคโปร์อาจแตกต่าง และในวันนี้หลายคนอาจมีทัศนคติด้านลบ
กับประเทศนี้ หึหึ ผมแค่สังเกตจากการไปเชียร์ฟุตบอลนัดชิงในสนามศุภฯ
ที่เพิ่งผ่านมา

แต่สำหรับผม-คนที่ไม่ค่อยสนใจเรื่องเชื้อชาติ สัญชาติ
เอลวิสเป็นเพื่อนมนุษย์ และเป็นเพื่อนที่ดีของผมคนหนึ่ง

ครับ, ไทยกับสิงคโปร์อาจแตกต่าง แต่ในความแตกต่างย่อมมีจุดร่วม
ซึ่งบางจุด พอมาร่วมกันแล้วมันก็แปลกใหม่ดี

ตอนนั้น เอลวิสเป็น ‘เอเลี่ยน’ สำหรับเมืองไทย
‘เอเลี่ยน’ ที่แปลว่า ต่างด้าว
การมาอยู่โดดเดี่ยวในที่แปลกหน้าแปลกภาษาย่อมเหงาเป็นธรรมดา
แต่เอลวิสก็มีอาการเหงาเกินธรรมดาไม่น้อย
ทุกคืน เอลวิสต้องต่อสู้กับ ‘ความไม่ง่วง’ ของตัวเอง
และน้อยคืนที่จะเอาชนะมันได้

หากไม่รู้มาก่อน ผมอาจนึกว่า เอลวิสมาจากเมืองจีน
ก็ด้วยรอยดำรอบดวงตาสองดวงยังกะ ‘แพนด้า’ นั่นไงเล่า!

อาการ ‘หลับยาก’ ของคนต่างด้าวเป็นเรื่องที่ผมไม่อาจเข้าใจ
ผมพยายามบอกให้เอลวิสออกกำลังกายให้หนัก ปล่อยเหงื่อออกมาเยอะๆ
เอาให้เพลีย พอถึงเตียงจะได้สลบ แต่มันก็ไม่ง่ายแบบนั้น

ผมพยายามบอกให้เอลวิสอ่านหนังสือน่าเบื่อๆ ก่อนนอน
แต่เรื่องกลับเป็นว่า มันอ่านจนจบเล่ม!

ผมพยายามบอกให้เอลวิสทำสมาธิ
หายใจเข้านับ ‘พุท’ หายใจออกนับ ‘โธ’
หรือจะลอง เข้านับ ‘สิง’ ออกนับ ‘คโปร์’ ก็ยังได้
เพราะผมปรับใช้กับตัวเองมาแล้ว
เข้าผมนับ ‘แตง’ ออกผมนับ ‘โม’ แล้วผมก็หลับฝันดี

แต่เอลวิสมันนับทั้งพุททั้งโธ นับทั้งแกะทั้งแพะ มันก็ไม่หลับ!

ผมเองก็จนปัญญาจะหาวิธีมาทำให้เอลวิสหลับได้
เกรงว่าทางออกสุดท้ายจะเป็นการไปนอนข้างๆ เกาหลังให้มัน
และเกรงว่าความสัมพันธ์ของเราจะงอกงามเลยเถิดไปไกลกว่านั้น
จึงหยุดดีกว่า!

มึงหาวิธีหลับของมึงเองก็แล้วกัน!

นั่นแหละ ตอนนั้นผมเป็น ‘เจ้าบ้าน’ เอลวิสเป็น ‘ต่างด้าว’
และผมก็ไม่เคยเป็น ‘ต่างด้าว’ เสียด้วย
และผมก็ไม่เคยนอนไม่หลับ มีแต่จะหลับก่อนได้นอน

สำหรับการเดินทางไกลครั้งนี้ ผมเองก็เกรงอยู่ไม่น้อยว่า
ความเป็นต่างด้าวจะทำให้ผมนอนไม่หลับ ซึ่งผมคิดว่า
ภายใต้อาการ ‘นอนไม่หลับ’ นั้น มันซ่อนอะไรไว้หลายอย่าง
เป็น ‘อะไร’ ที่มีแค่คนที่นอนไม่หลับคนนั้นแหละที่จะรู้

คราวนี้ อาจจะเป็นผมบ้างที่ต้องการให้เอลวิสมานอนเกาหลัง!

0001: บ่ายนี้ที่บ่ายหน้า

กุมภาพันธ์ 15, 2007

มันเป็นบ่ายที่แดดร้อนเหมือนทุกวัน
และเครื่องปรับอากาศในออฟฟิศของผมก็พ่นลมเย็นฉ่ำใส่กบาล
เหมือนทุกวันเช่นกัน บ่ายวันนั้นดูเหมือนวันธรรมดาๆ วันหนึ่ง
ไม่มีอะไรผิดแปลกแตกต่าง

ใช่, ไม่มีอะไรบ่งบอกเลยว่า
มันจะเป็นบ่ายที่นำมาสู่ความเปลี่ยนแปลงอีกครั้ง

ในชีวิตคนเราจะมี ‘จุดเปลี่ยน’ ใหญ่ๆ สักกี่ครั้งกัน?

“พี่เอ๋ เอลวิสอยากคุยด้วย”
น้องสาวในกลุ่มหันหน้ามาเรียกผม ให้เดินไปที่คอมฯ ของเธอ
ผมนั่งลง หน้าต่างเอ็มเอสเอ็นเปิดคาไว้ อีกฝั่งหนึ่งของหน้าต่าง
คือ ‘เอลวิส’ นั่นเอง

“นี่เอ๋” ผมพิมพ์ไปเป็นภาษาอังกฤษ
“เอ๋ เป็นไงบ้าง?” เอลวิสตอบกลับมา
“สบายดี เรื่อยๆ น่ะ”
“เอางี้ สั้นๆ เลยละกัน ไอจะชวนยูมาอยู่ที่นี่”
‘ที่นี่’ ของเอลวิสคือ เอเจนซี่โฆษณาแห่งหนึ่งในมหานครเซี่ยงไฮ้
“ตลก” ผมเติมสัญลักษณ์หัวเราะขำต่อท้าย
“ไม่ตลก ไอไม่ได้พูดเล่น ซีเรียสนะ” เอลวิสไม่ตลกด้วย
“จริงเหรอ?” ผมมึน บอกไม่ถูก ไม่ได้ดีใจ แต่งง
“สนมั้ย? ถ้าสน เดี๋ยวคุยกัน”
“แล้วไอจะทำได้เหรอ? ไอเป็นก๊อปปี้นะ”
“ยูไม่ต้องเขียนภาษาจีนหรอก มาช่วยกันคิดงาน”
“…” ผมไม่รู้จะพิมพ์อะไร
“เอางี้ เดี๋ยวไอจะไปเมืองไทย เดือนตุลาฯ นี้ แล้วเรานัดคุยกันดีกว่า”
“ได้ๆ มาแล้วก็โทรมาแล้วกันนะเอลวิส”
“ได้ แล้วเจอกัน”
“อืม ขอบคุณนะที่นึกถึง”
เอลวิสส่งสัญลักษณ์ ‘ยิ้ม’ กลับมา

ผมหันหน้ากลับไปทำงานเหมือนเดิม ในหัวยังงงๆ
แต่ก็ไม่ได้คิดอะไรมาก จะบ้าเหรอ เอาคนไทยไปทำงานที่เซี่ยงไฮ้
ผมสงสัย ลังเล แปลกใจ แต่ก็สนใจอยู่พอประมาณ

บ่ายวันนั้นแดดร้อนเหมือนทุกวัน เครื่องปรับอากาศหนาวฉ่ำเหมือนทุกบ่าย
แต่อุณหภูมิในร่างกายผมไม่ค่อยปกตินัก.

เผื่ออยากคุย 001

กุมภาพันธ์ 15, 2007

เผื่อมีอะไรอยากคุยกัน
หย่อนใส่ไว้ในนี้ก็ได้นะครับ
โต้ตอบกันง่ายกว่าอีเมล
และเผื่อมีเพื่อนบ้านช่วยกันคุยอีกแรง
เชิญตามสบายครับ.
😀

14

กุมภาพันธ์ 14, 2007

เขาหยิบกุหลาบดอกนั้นขึ้นมา
หญิงสาวยิ้ม
เขาถามราคา
หญิงสาวตอบ
และยิ้ม
เขายิ้ม
หันไปมองกุหลาบดอกอื่น
เขาถามราคา
หญิงสาวตอบ
และยิ้ม
เขายิ้ม
หยิบกุหลาบดอกแรก
หยิบกระเป๋าสตางค์
หยิบเงิน
ยื่นให้หญิงสาว
หญิงสาวยิ้ม
รับเงิน
หยิบเงิน
และยื่นให้เขา
เขารับ
และยิ้ม
หญิงสาวยิ้ม
พูด “แฮปปี้วาเลนไทน์นะคะ”
เขายิ้ม
ยื่นกุหลาบดอกนั้นให้หญิงสาว
เขายิ้ม
หญิงสาวยิ้ม
เขาเดินจากไป.