ข้างหลังภาพไผ่

สิงหาคม 7, 2007

อ่าน ‘ปวงปรัชญาจีน’ ของ ‘ฟื้น ดอกบัว’ เพลินดีครับ
ในนั้นเขียนถึงปรัชญาจีนไว้ว่า ปรัชญาจีนเกิดขึ้นโดยอาศัยความเชื่อถือที่ผ่านมาเป็นรากฐาน ปรัชญาจีนไม่สนใจแสวงหาปฐมธาตุอย่างที่ปรัชญาตะวันตกมุ่งแสวงหา (น่าจะหมายถึงการตั้งคำถามเชิงอภิปรัชญา อาทิ โลกเกิดขึ้นมาได้อย่างไร, ทำไมจึงมีจักรวาล, มนุษย์เกิดขึ้นมาจากอะไร หรืออะไรทำนองสืบค้นหาราก หาอดีต เพื่อทำความเข้าใจปัจจุบันแบบที่ตะวันตกฮิตๆ กัน) แต่ปรัชญาจีนไม่สน ช่างมันฉันไม่แคร์ ให้ความสนใจมนุษย์ด้วยกัน ว่าทำอย่างไรคนจึงจะเป็นคนดี มีความสุข ทำอย่างไรสังคม ประเทศ และโลกจะมีความสงบสุข ดังสูตรของปรัชญาจีนซึ่งมีแปดคำ คือ

ซิวกี้ แปลว่า อบรมฝึกฝนตนเอง
อังนั้ง แปลว่า ยังความสงบสุขให้แก่ผู้อื่น
ไหลเสี่ย แปลว่า ทำภายในตนให้มีคุณธรรม
วั่วอ๊วง แปลว่า ทำภายนอกให้เป็นกษัตริย์นักปกครองที่ดี

ว่ากันว่า ชาวจีนเป็นนักปฏิบัติไม่ใช่นักทฤษฎี สิ่งที่สนใจศึกษาและตั้งคำถามจึงเป็นเรื่องที่นำมาปฏิบัติได้มากกว่าการค้นคว้าหาความรู้หรือทฤษฎีช่างคิดอย่างชาวตะวันตก ปรัชญาจีนจะเน้นจริยธรรมมากกว่สติปัญญา จึงเป็นไปในทางจริยศาสตร์และสุนทรียศาสตร์ ซึ่งจะว่าไปทั้งสองฝั่งโลกก็สนใจเรื่องที่แตกต่างกัน จึงส่งผลให้ผู้คนในรุ่นลูกหลานคิดและดำเนินชีวิตแตกต่างกันไป ซึ่งก็น่าสนใจและน่าทำความเข้าใจทั้งสองฝั่ง กำไรดีออก เขาคิดกันมาตั้งเยอะแล้ว เราแค่อ่านสิ่งที่เขาคิด แล้วสะสมเก็บไว้คิดกับเรื่องต่างๆ ในชีวิตของตัวเอง

จากที่บอกไป จุดมุ่งหมายของปรัชญาจีนแทบทุกสาขาต่างก็มุ่งที่จะส่งเสริมความเป็นปราชญ์ภายในและกษัตริย์ภายนอก ความเป็นปราชญ์ภายใน คือ บุคคลที่สามารถพัฒนาตัวเองให้มีคุณธรรม ส่วนเป็นกษัตริย์ภายนอกนั้นหมายถึงบุคคลที่บำเพ็ญประโยชน์มหาศาลให้แก่ชาวโลก

ดีกับตัวเอง และดีกับโลก

ว่ากันว่าปรัชญาจีนนั้นมีเป็นร้อยสำนัก แต่ที่ส่งผลและมีความสำคัญต่อวิถีชีวิตของคนจีนกระทั่งถึงปัจจุบันนั้นมีสำนักที่สำคัญสี่สำนักด้วยกัน

ปรัชญาเต๋า: เห็นว่า ขึ้นชื่อว่าคนนั้นยุ่งเหยิงไม่มีที่สิ้นสุด เป็นที่ตั้งแห่งปัญหาทั้งปวง ยิ่งคิดยิ่งทำอะไรมากยิ่งยุ่งมาก จะแก้ไขอย่างไรก็ไม่มีที่สิ้นสุด สู้ปล่อยไปตามธรรมชาติ สนับสนุนให้เข้าหาธรรมชาติจะดีกว่า (เหลาจื่อ, จวงจื่อ)

ปรัชญาขงจื่อ: เห็นว่า ขนมธรรมเนียมโบราณที่ดีงามมีอยู่มาก ควรที่จะได้ฟื้นฟูเรื่องที่ดีงานขึ้นมาใหม่ และนำมาเป็นหลักประพฤติปฏิบัติ (ขงจื่อ, เม่งจื่อ)

ปรัชญาม่อจื่อ: เห็นว่า เรื่องที่ล่วงมาแล้วก็เหมาะกับคนสมัยนั้น ไม่ควรรื้อฟื้นมาอีก (ดูท่าท่านพี่จะขัดกับพี่ขงจื่อ) ควรหาอะไรใหม่ๆ ที่เหมาะสมมาเป็นหลักยึดเหนี่ยวจะดีกว่า (ม่อจื่อ)

ปรัชญานิตินิยม: เห็นว่า ธรรมชาติดั้งเดิมของคนมีแต่ความชั่วร้าย จึงจำต้องใช้อำนาจและกฎหมายมาเป็นเครื่องควบคุม (ฮั่นเฟ่ยจื่อ)

ผมออกจะเห็นว่าคนจีนอิงชีวิตกับเต๋าและขงจื่อเสียมาก เรื่องความถูกต้อง ดีงาม เป็นเรื่องสำคัญ และก็พยายามมีชีวิตสอดคล้องกับธรรมชาติ ให้ความสำคัญกับธรรมชาติ เวลาคนจีนพูดถึงภูเขาจะยกเอาบทกลอนบทกวีสมัยก่อนมาพูดเพื่ออธิบายความงามอยู่เสมอๆ

ระหว่างเดินดูพิพิธภัณฑ์เซี่ยงไฮ้ ในห้องภาพเขียนโบราณ มีคำถามเกิดขึ้นในหัวว่า ทำไมไม่มีภาพเขียนรูปของกษัตริย์หรือฮ่องเต้หรือผู้สูงศักดิ์เลย อย่างเวลาที่เราดูหนังจีน ก็ไม่เคยเห็นภาพวาดฮ่องเต้ ฮองเฮา ประดับตามผนังวัง ในสมัยที่ฝรั่งวาดพระเจ้า คนจีนก็วาดต้นไผ่ ต่อมาฝรั่งเปลี่ยนไปวาดกษัตริย์ คนจีนก็ยังวาดต้นไผ่ ภูเขา และฝูงปลาในหนองน้ำ ฝรั่งเปลี่ยนไปวาดมนุษย์ คนจีนก็ยังวาดต้นไผ่ อ้อ มนุษย์ธรรมดานี่คนจีนก็วาดคู่กับต้นไผ่มาตลอด

นั่นหรือเปล่า เหล่าจื่อ? เหล่าจื่อในชีวิต เหล่าจื่อในความคิด เหล่าจื่อในวัฒนธรรม ไม่อวดอ้าง ไม่ทำตัวเด่น สงบเสงี่ยมเจียมตัว ไม่ต้องการบันทึกภาพความยิ่งใหญ่ของตัวเองเอาไว้เพื่อป่าวประกาศให้โลกรู้

ขณะเดียวกันก็น่าคิดว่า เหตุใดศิลปะจีนจึงเต็มไปด้วยความพร้อย แพรวพราว และออกจะอวดตัวเอง ส่งผลมาถึงสถาปัตยกรรมปัจจุบันอย่าง หอไข่มุก หรือ สนามกีฬาโอลิมปิกที่จะใช้ในพิธีเปิด (The Bird Nest) ที่มีดีไซน์สะดุดตาและพยายามทำตัวโดดเด่นและแปลกประหลาด ถึงแม้ว่าอาคารหลายหลังจะออกแบบโดยสถาปนิกต่างชาติ แต่ต้นตอของโจทย์และความต้องการ รวมไปถึงคนที่อนุมัติแบบก็ต้องเป็นคนจีนนี่แหละ พูดถึงความแพรวพราว วังทั้งหลายในหนัง รวมถึงเสื้อผ้าของราชวงศ์ก็ประดับประดาโอ่อ่าอย่างยิ่ง หรือนั่นก็มาจากอีกความเชื่อ เป็นความเชื่อดั้งเดิม ที่ว่าฮ่องเต้เป็นโอรสสวรรค์ และเป็นผู้เดียวที่สามารถติดต่อกับ “เทียน” (จอมเทพบนสวรรค์) ได้ จึงจำต้องทำตัวประดุจเทพ อยู่ในวังที่เหมือนสวรรค์ อะไรที่สำคัญและเป็นมงคลจึงมักมีรูปร่างหน้าตาที่อู้ฟู่ แต่ดูเหมือนทุกวันนี้อาคารสมัยใหม่ต่างๆ ก็พยายามทำตัวเหมือนวัง ตกแต่งให้หรูหรา เน้นทองคำ มีดีไซน์สะดุดตา ซึ่งอาจตอบความต้องการของคนชั้นกลางและชนชั้นสูงที่อยากกระเถิบฐานะของตัวเองขึ้นไปเรื่อยๆ ให้เข้าใกล้สวรรค์ เข้าใกล้ฮ่องเต้ หรืออาจเพราะโลกกำลังอยู่ในยุคที่ต้องแตกต่างจึงจะอยู่รอด อาคารแต่หลังจึงพยายามถีบตัวเองออกจากดงตึกอื่นๆ กันใหญ่ เดี๋ยวนี้การสร้างตึกขึ้นมาหนึ่งหลังนั้นไม่ใช่แค่การสร้างสถาปัตยกรรม แต่ยังเป็นการสร้างภาพให้กับเจ้าของตึก และสร้างความรู้สึกให้แก่ผู้ใช้ตึกและผู้พบเห็นอีกต่างหาก

พูดถึงเรื่องความอู้ฟู่ก็ชวนให้นึกถึงหนังของ จางอวี้โหมว ที่เคยเรียบง่ายและก็ค่อยๆ อู้ฟู่ ใหญ่โต พิสดาร อลังการขึ้นเป็นลำดับ จนมาถึงเรื่องสุดท้ายนี่ก็ทองอร่ามไปทั้งวัง (ดอกทอง) หรือเป็นความเปลี่ยนแปลงในภาพใหญ่ของจีน พอมีเงินก็ต้องใช้สอย และใช้สอยไปกับการสร้างความยิ่งใหญ่ เป็นอีกยุคสมัยที่คนเชื่อในความก้าวหน้า พัฒนา และเติบโต และดูเหมือนคนจีนบางกลุ่ม ขณะนี้ก็มีความเชื่อลึกๆ ว่า จีนกำลังจะเป็นศูนย์กลางของโลกยุคใหม่ จึงพยายามสร้างความยิ่งใหญ่ให้ประจักษ์ต่อสายตาชาวโลก ส่วนผสมของเก่าและใหม่น่าสนใจดีเหมือนกัน ดูเหมือนความเชื่อเดิมๆ ที่หยั่งรากลึกก็ยังคงอยู่ แต่ความเชื่ออีกแบบหนึ่งก็เข้ามาผสมปนเปไปตามวิถีชีวิตที่เปลี่ยนไป ไม่ต้องพูดถึงว่างานศิลปะจีนทุกวันนี้คงไม่มีใครมานั่งวาดต้นไผ่ให้เห็นอีกต่อไปแล้ว

ปรัชญาและความเชื่อเป็นเรื่องน่าสนใจ ชวนให้คิด ชวนให้สนุก ที่พูดๆ มาก็เดาๆ เอาเท่าที่สังเกตเห็นและจับปะติดปะต่อเอาเอง หากมีผู้รู้จะมาไขความจริงให้กระจ่างก็จะยินดีอย่างมากครับ

เราเชื่อแบบไหน เราก็ดำเนินชีวิตแบบนั้น จริงๆ เสียด้วยสิ
แล้วคนที่ไม่มีความเชื่อ จะดำเนินชีวิตอย่างไรเล่า?

10 Responses to “ข้างหลังภาพไผ่”

  1. drhojun Says:

    อ่านแล้วเพลินดีอ่ะ
    ขอบคุณคับ สำหรับเรื่องดีๆ 🙂

  2. อู Says:

    เพลินจริงๆ

  3. echaba Says:

    แอ๊ด..

    สิ่งที่ได้ยิน ได้อ่าน บางครั้งก็ต้องร้อง “อ๋อ”
    แล้วทำไมก่อนที่จะได้ยิน ได้อ่าน ถึงไม่รู้สึก “เอ๋” ล่ะ

    ..หางอึ่งจริงหนอเรา – –
    ไปละ..ธาตุไฟเข้าแทรก

    กริ๊ก..

  4. mimmim Says:

    มัน ๆ ๆ ๆ ๆ ๆ ๆ ๆ ๆ ๆ ๆ ๆ ๆ ๆ ๆ ๆ ๆ ๆ ๆ ๆ ๆ ๆ ๆ ๆ ๆ ๆ ๆ ๆ ๆ ๆ ๆ ๆ ๆ ๆ ๆ ๆ ยาวดีเน๊าะ…

    ยาวทุกอันเลย แต่สาระแน่นเอี้ยด…เยี่ยมจริง ๆ

  5. pattararanee Says:

    ท่านนิ้วฯ อย่าลืมถ่ายรูปคู่กับต้นไผ่เก็บไว้ด้วยนะจ๊ะ ^O^

  6. roundfinger Says:

    ผมไม่ใช่หมีแพนด้านะครับพี่

  7. jummdcu Says:

    วันละสั้นๆที่ยาว+มีสาระดีจริงๆ
    ขอบคุณที่เอาเรื่องราวต่างๆมาฝากกันเน้อ
    😀

  8. เติ้ล Says:

    เชื่อแบบไหนก็ดำเนินชีวิตแบบนั้น << สุดแสนจะจริง

    ป.ล. พี่เอ๋ไม่ใช่หมีแพนด้า แต่ถ้าจำไม่ผิด พี่จะมีพุงเหมือนหมีแพนด้านะขอรับ

  9. pattararanee Says:

    อ้าววว ไม่ใช่ หลินฮุ่ย หรอกรึทั่น
    มิน่า ถึงอยู่ที่เซี่ยงไฮ้ บ่จ้าย เจียงใหม่ อิอิ

    *จุ๋ม วันละสั้นๆ ที่แสนยาว….
    แต่เราก็ชอบอ่านเหมือนกันเนี่ยสิ ทำไงดี

  10. nordy Says:

    เคยเหยียบย่างเยื้องกายเข้าไปเรียนปรัชญาตะวันตกมาหน่อยนึง
    เหมือนกัน รู้สึกเป็นอะไรที่ไม่ชอบเอามากๆ คือไม่ใช่ไม่ดี แต่ไม่เข้าใจ
    สิ่งที่เขาคิดกัน มองหาความเป็นอยู่ของตัวตน แต่ไม่กล่าวถึงแก่นของคน
    ไม่รู้นะ ที่เรียนอาจไม่ครอบคลุมแนวคิดทั้งหมด แต่เท่าที่สัมผัส -ไม่เข้าใจ-
    ปรัชญาตะวันออก ไม่เคยเรียนหรืออ่านอย่างจริงจัง แต่เท่าที่รับรู้ เป็นปรัชญาที่พูดถึงคนกับธรรมชาติและหลายๆ อย่างที่เราเข้าใจในแนวคิด -ปฏิบัติได้หรือไม่ได้
    อีกเรื่องหนึ่ง- อาจเป็นเพราะเราเติบโตในทิศตะวันออก เลยเข้าใจ ถ้าเราเกิดในทิศตะวันตกเราก็คงไม่เข้าใจตะวันออกหรอกมั้ง -แต่ชอบโลกของโซฟีนะ แม้จะยังอ่านไม่จบ-


ส่งความเห็นที่ pattararanee ยกเลิกการตอบ