Archive for กันยายน, 2007

ฉลาดไปใย สวยไว้ดีกว่า

กันยายน 30, 2007

เพื่อนหญิงคนหนึ่งเล่าให้ฟังว่า วันนี้ไปร้านหนังสือมา
หนังสือใหม่เยอะมาก (ฟังแล้วก็น้ำลายไหลตามไปด้วย)
“แต่ฉันไม่ได้ซื้อหรอกนะ ไม่อยากฉลาดแล้ว อยากสวยมากกว่า
ก็เลยเอาตังค์ไปซื้อแว่นกันแดดอันใหม่ เพิ่มความสวยดีกว่า”

เคยมีเพื่อนผู้หญิงบางคนพูดกับผมแบบนี้เหมือนกัน
จะว่าไปก็ไม่ใช่แค่คนสองคนเสียด้วย

ผมมักประทับใจเวลาได้พูดคุยกับคนฉลาด
และแน่นอนว่าเมื่อเป็นเพศตรงข้ามก็ย่อมประทับใจมากขึ้น
ความฉลาดก็เป็นความสวยแบบหนึ่ง เปล่งประกายได้เหมือนกัน

แต่เท่าที่ได้รู้จักผู้หญิงฉลาด หลายคนผิดหวังกับความรัก
หากลองทำการวิจัย ผมว่าผู้หญิงฉลาดอาจผิดหวังมากกว่าผู้ชายฉลาด

บางครั้ง ผู้หญิงฉลาดและพัฒนาตัวเองมากขึ้นจนแฟนหนุ่มตามไม่ทัน
ก็เป็นอันต้องเลิกรากันไป อาจเพราะเพศชายยอมเป็นเท้าหลังของช้างไม่ได้

สารคดีของบีบีซีที่เพิ่งได้ดู พยายามจับคู่ “นัดบอด” ให้หญิง-ชาย
มีนักธุรกิจสาวคนเก่ง วัยสามสิบกว่า หน้าตาค่อนข้างดีคนหนึ่ง
มีปัญหากับการหาคู่ เมื่อลองมา “จับคู่” ในโครงการนี้
ผลปรากฏว่า แรกเริ่มในนาทีแรกๆ ฝ่ายชายจะกดคะแนนค่อนข้างสูงให้เธอ
แต่พอเวลาผ่านไปเพียงห้านาที เมื่อบทสนทนาเริ่มต้น เธอมักจะ
เป็นฝ่ายควบคุมหัวข้อในการพูดคุย และเป็นฝ่ายรุก กระทั่งคะแนนลดฮวบ
ชายหนุ่มหลายคนบอกว่า เธอทำให้พวกเขารู้สึกว่าตัวเองโง่

หลายคำพูดของปราชญ์ที่คนทั่วไปยอมรับว่าฉลาด
มักจะบอกว่า พวกเขาไม่รู้อะไรเลย
คนฉลาดที่แท้คือคนที่รู้ว่าตัวเองไม่ฉลาด

และคนที่แยบยลซ่อนกลกว่านั้นคือคนที่พยายามทำเป็นไม่ฉลาด
แต่ที่จริงในใจก็คิดเอาไว้ว่า-กูฉลาดนะโว้ย
คนแบบแรกน่ารัก แบบหลังน่ากลัว

คนสวยไม่จำเป็นต้องโง่ และคนฉลาดก็ไม่จำเป็นต้องขี้เหร่
แต่หลายครั้งที่ความฉลาดทำให้บางคนเจ็บตัว
มีบ้างที่เธออยากจะขว้างมันทิ้งไป อยากเป็นเด็กน่ารักหัวอ่อน
จิ๊จ๊ะ ดี๊ด๊า ไปตามประสาที่หนุ่มๆ ชอบ
แต่ทำไม่ได้หรอก เพราะนั่นไม่ใช่สิ่งที่เธอเป็น

บางครั้งคนฉลาดดูเป็นผู้นำ เข้มแข็ง และดูแลตัวเองได้
แต่เอาเข้าจริงก็อ่อนแอ ขี้แพ้ และโหยหาใครสักคนเหมือนกัน
ยิ่งเจ็บกว่านั้นเวลาที่ต้องซ่อนเอาไว้ใต้หน้ากากของหญิงแกร่ง

บางครั้งผมก็รู้สึกกับผู้หญิงฉลาดเหมือนผู้หญิงที่มีร่างกายสูงมากๆ
คือจะโดดเด่น แต่หาแฟนยาก เพราะผู้ชายที่ “สูง” กว่าเธอมีไม่มากนัก
ดูเผินๆ เหมือนธรรมชาติจะยุติธรรม ที่แบ่งปันผู้ชายไปดูแล
หญิงสาวที่ไม่เข้มแข็ง แข็งแกร่ง และเป็นผู้นำได้เท่าพวกเธอ
แต่เอาเข้าจริงแล้วมันไม่ค่อยยุติธรรมสักเท่าไหร่
เพราะพวกเธอก็ไม่ได้ต่างอะไรกับหญิงสาวน่ารัก หน่อมแน้มเหล่านั้นเลย

“ไม่ได้อยากฉลาดเลยนะ” หลายคนพูด
คงคล้ายกับหญิงสาวที่ไม่ได้อยากเกิดมาสูง
“ผิดด้วยหรือที่เราเก่ง” หลายคนตั้งคำถาม
แต่ไม่ใช่เพื่อนของผมที่ตัดสินใจซื้อแว่นกันแดดแทนหนังสือ
รายนี้แค่กำลังตัดสินใจระหว่าง “สมอง” กับ “ความรู้สึก”

“ความรู้” เป็นเรื่องของเหตุผลล้วนๆ เป็นเรื่องของ “สมอง”
“ความงาม” เป็นเรื่องของความรู้สึก เป็นเรื่องของ “หัวใจ”

เป็นไปได้ไหมว่า “ความรู้” หรือ “เหตุผล” นั้น
เป็นสิ่งที่ผู้ชายถูกสังคมรอบกายหล่อหลอมให้มีมันมาโดยตลอด
และก็สะสมมันเอาไว้เต็มเปี่ยม แถมยังเบื่อหน่ายกับมันด้วยซ้ำในบางหน

เมื่อมีอยู่ในตัวจนมากเกินพอแล้ว จึงไม่ต้องการอีก
ไม่ต้องการ “สมอง” มาเพิ่มเติมแล้ว กดดันมากพอแล้ว
แต่ต้องการ “ความรู้สึก” หรือ “หัวใจ” ที่จะมาอยู่ข้างๆ มากกว่า
นั่นเป็นการคาดเดามุมมองของผู้ชาย แบบล่อเป้าขบวนการสตรีนิยมอย่างยิ่ง

ถ้าสมมุติฐานนี้เป็นจริง ผู้ชายก็น่าจะต้องการ “หัวใจ” ไม่ใช่ “สมอง”
เมื่อมี “หยาง” แล้ว จึงต้องการ “หยิน” มาทำให้เกิดสมดุล

แต่เอาเข้าจริง ลึกๆ แล้วไม่ว่าจะชายหรือหญิงก็ล้วนต้องการ “หัวใจ”
และสุดท้ายคนเราก็จะเป็นจะตายกับความรู้สึก ไม่ใช่ความรู้

ผมพอเข้าใจเพื่อนของผมได้ว่า ทำไมวันนี้เธอจึงไม่ซื้อหนังสือเลยสักเล่ม
เพราะไม่มีความรู้ชนิดไหนที่จะเยียวยาหัวใจของมนุษย์ได้

“หัวใจ” ต้องใช้ “หัวใจ” เยียวยาเท่านั้น

คุยกันเรื่องกระแสและหนังสือ

กันยายน 29, 2007

“แพร” รุ่นน้องที่จุฬาฯ ส่งเมลมาชวนคุยเรื่อง “กระแส” เห็นบอกว่ากำลังช่วยรุ่นน้องที่ชมรมเขียนจุลสารหัวข้อ “กระแส” (ถ้าเสร็จแล้วเอามาให้ชมเชยกันบ้างก็น่าจะดีนะแพร)

คำถาม-คำตอบ มีดังต่อไปนี้ครับ นำมาแปะไว้เพราะอยากชวนคุยกับเพื่อนบ้านท่านอื่นๆ เช่นกัน เราต่างก็อยู่ใน “กระแส” กันทั้งนั้นนี่!

+มีกระแสอะไรในสังคมที่มีอิทธิพลกับพี่เอ๋อย่างจริงๆ จังๆ บ้าง
อะไรก็ตามที่เกิดเป็นกระแสขึ้นมาแล้วเป็นเรื่องที่ใกล้เคียงกับความสนใจของเรา เราก็จะลองเข้าไปร่วมกระแสด้วย ไม่ใช่คนที่ปฏิเสธกระแส แถมยังอยากรู้ด้วยว่าทำไมมันถึงฮิตขึ้นมาได้ อย่างแฮร์รี่ พ็อตเตอร์ หรือ ดาวินชี โค้ด เป็นกระแสขึ้นมา เป็นเรื่องหนังสือ ซึ่งเป็นเรื่องที่เราชอบ เราก็จะลองอ่านดู กระแสทางการเมืองก็เป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับชีวิตของเราบางครั้งก็สนใจ กระแสหนัง เพลง กีฬา ก็มีอิทธิพลทั้งนั้นครับ อย่างตอนฟุตบอลโลกหรือฟุตบอลยุโรปนี่ก็เข้าขั้นติดงอมแงมเลยครับ แต่คิดว่ากระแสมีอิทธิพลกับเราในแง่ที่ทำให้อยากรู้อยากเห็นว่าเพราะอะไรมันจึงเป็นกระแสขึ้นมาได้ เหมือนเวลาเห็นไทยมุงกำลังมุงอะไรอยู่สักอย่าง เราก็อยากรู้ว่าเขามุงอะไร แต่เมื่อลองเข้าไปสัมผัสมัน เห็นมันด้วยตัวเองก็ต้องไตร่ตรองดูอีกทีว่าจะคล้อยตามกระแสหรือไม่ คือกระแสไม่ได้มีอิทธิพลกับเราในแง่ที่ว่าเมื่อคนส่วนใหญ่ชอบแล้วเราจะต้องชอบด้วยน่ะครับ

+พี่เอ๋มีกระแสในฝันมั้ย หมายถึงสิ่งที่อยากให้กลายเป็นกระแสขึ้นมา
กระแสในฝันคงอยากให้มีกระแส “ใจกว้าง” คือให้การเปิดรับความคิด ความเชื่อที่แตกต่างของเพื่อนมนุษย์คนอื่น “ฮิต” ขึ้นมา เพราะถ้ากระแสนี้ฮิตขึ้นมาจริงๆ พวกเราคงทะเลาะกันน้อยลง และโลกคงสงบกว่าที่เป็นอยู่ครับ

+ มีความคิดเห็นยังไงบ้างคะกับวงการหนังสือบ้านเราสมัยนี้
ในร้านหนังสือมีหนังสือหลากหลายมากขึ้นเรื่อยๆ คนอ่านมีโอกาสได้เลือกอ่านตามความชอบที่แตกต่างกันไป และแต่ละคนก็อาจจะอ่านหนังสือหลากหลายแนวมากขึ้น เราชอบให้ร้านหนังสือมีหนังสือเยอะๆ และหลากหลาย เพราะเชื่อว่าไม่ว่าหนังสือชนิดไหน เล่มไหน ก็มีคุณค่าบางอย่าง แต่ผู้อ่านที่มีคุณภาพไม่ควรอ่านหนังสือแคบๆ แค่แบบเดียว ทางด้านของสำนักพิมพ์และนักเขียน ถ้าผลิตผลงานที่มีแนวทางที่หลากหลายมากยิ่งขึ้นก็น่าจะทำให้วงการหนังสือคึกคัก ไม่ใช่เลือกพิมพ์เฉพาะเล่มที่คิดว่าจะขายได้ หรือพยายามผลิตตามกระแสที่กำลังขายดีอยู่ในช่วงนั้น

+ ตั้งแต่มี Harry Potter ดูเหมือนหนังสือแนวแฟนตาซีจะเป็นที่นิยมมากขึ้น พี่เอ๋ชื่นชอบแนวนี้บ้างหรือเปล่าคะ คิดว่ามันเป็นยังไงบ้าง
หนังสืออย่างแฮร์รี่ พ็อตเตอร์ เหมือนก้อนหินนำทาง พอโยนลงน้ำแล้วก็เกิดแรงกระเพื่อมเป็นวงกว้าง จริงๆ แล้วแฮร์รี่ฯ ไม่ได้ทำให้นวนิยายแฟนตาซีเป็นที่นิยมมากขึ้นเท่านั้น แต่ยังทำให้เด็กๆ กระเถิบตัวเข้ามาใกล้และรู้สึกสนุกกับ “หนังสือ” มากขึ้น เราอ่านแฮร์รี่ฯ เล่มหนึ่งและเล่มสองด้วยความตื่นเต้นและสนุกไปกับมันจนวางไม่ลง แต่อาจเพราะขี้เบื่อ ไม่ชอบอ่านแนวเดียวนานๆ ก็เลยเลิกอ่านไปเมื่อมาถึงเล่มที่สาม และก็ไม่ได้อ่านนวนิยายแฟนตาซีเล่มอื่น อะไรที่อ่านมาเยอะเกินไปจะเริ่มเบื่อ แล้วก็หันไปสร้างกระแสให้ตัวเองอ่านอย่างอื่นแทน

+ แล้วอย่างพวกนิตยสารต่างๆ พี่เอ๋เห็นด้วยหรือเปล่าว่ามันมีส่วนกำหนดความนิยมต่างๆ ในสังคม
นิตยสารก็เป็นสื่อสาธารณะชนิดหนึ่ง ซึ่งแน่นอนว่าต้องมีผลกระทบกับคนในวงกว้าง และยิ่งหากเรามีนิตยสารที่ไม่หลากหลายเพียงพอก็ยิ่งง่ายต่อการสร้างกระแสเพราะทุกเล่มถ่ายภาพโป๊ๆ เหมือนกัน สนใจเรื่องราวของความสวยความงามเหมือนกัน สัมภาษณ์ไฮโซเหมือนกัน ก็ย่อมผนึกกำลังกันสร้างค่านิยมบางอย่างขึ้นในสังคมเป็นธรรมดา แต่หากมีนิตยสารแนวทางอื่นอย่าง สารคดี, โอเพ่น หรือ ค.คน ออกมาปะปนบนแผง ก็จะมีค่านิยมแบบที่ต่างไปให้เลือกนิยมกัน

+ ส่วนตัวพี่เอ๋ติดตามนิตยสารแนวไหนเป็นพิเศษบ้างไหม
นิตยสารที่อ่านประจำคือ มติชนสุดสัปดาห์, จีเอ็ม, อะเดย์, เวย์, เนชั่นแนล จีโอกราฟิก, สารคดี, ค.คน พวกนี้นี่ถ้าเจอเล่มใหม่ก็รีบซื้อทันที เมื่อลองมานั่งดูแล้วก็เหมือนว่าจะเป็นนิตยสารที่นำเสนอข้อมูลเชิงสารคดีที่มีเนื้อมีหนัง อ่านแล้วเข้าใจคนในสังคมอื่น ได้เห็นชีวิตที่แตกต่าง และมีคำอธิบายหรือข้อมูลที่เป็นประโยชน์และทำให้เราเข้าใจโลกแวดล้อมรอบตัวเรามากขึ้น คนที่เลือกมาสัมภาษณ์ก็น่าสนใจ นักสัมภาษณ์เองก็เก่ง ส่วนมติชนสุดสัปดาห์นั้นก็เหมือนสรุปข่าว วิเคราะห์ประเด็นในแต่ละสัปดาห์ แถมยังมีคอลัมน์ดีๆ ให้อ่านอีกมากมาย นอกจากนิตยสารที่อ่านประจำพวกนี้ ก็ซื้อนิตยสารเกี่ยวกับการตลาดและเทรนด์ อย่าง มาร์เก็ตเทียร์, โพสิชันนิ่ง ถ้าเป็นเทรนด์หรือประเด็นที่เราสนใจ นิตยสารเกี่ยวกับการออกแบบก็ชอบซื้ออ่านครับ อย่าง อาร์ตโฟร์ดี ก็อ่านสนุกครับ

+ เกี่ยวกับหนังสือของตัวเอง พี่เอ๋คิดในแง่ที่ว่ามันจะออกไปก่อให้เกิดผลกระทบอย่างไรต่อสังคมไหม หรือเป็นความอยากบอกเล่าเรื่องราวประสบการณ์ต่างๆ ของเรามากกว่า
แล้วแต่เล่มนะครับ บางเล่มก็ตั้งใจส่งสารอะไรบางอย่างออกไปถึงคนที่เราอยากคุยด้วย ไม่ได้ตั้งใจว่ามันจะต้องไปเปลี่ยนแปลงความคิดใคร แต่ตั้งใจว่าอยากชวนคุยกันเรื่องนี้ ผมคิดอย่างนี้ คุณคิดยังไง แต่บางเล่มก็เหมือนวาดภาพน่ะครับ มีอารมณ์แบบนี้อยู่ อยากวาดมันออกมา หากใครมีความรู้สึกร่วมก็มาดูภาพแล้วรู้สึกไปด้วยกัน บางเล่มก็อยากให้คนอ่านสนุกไปกับมัน และคนเขียนเองก็สนุกที่ได้เขียน ก็แค่นั้น แต่สิ่งหนึ่งที่คิดไว้ในใจเสมอคือ เราไม่ได้กำลังเขียนไดอารี่ที่จะเก็บไว้อ่านคนเดียว มันจะออกไปอยู่ในร้านหนังสือและอาจจะมีคนหยิบมันขึ้นมาอ่าน เพราะฉะนั้นต้องระวังผลกระทบที่ไม่ดี หรือการมีทัศนคติต่อโลกต่อคนอื่นในเชิงลบ แบบนั้นนี่ไม่ควรจะเกิดขึ้น

+ มันเป็นภาระความรับผิดชอบของตัวผู้เขียนหรือเปล่าที่การที่หนังสือนั้นๆ เป็นที่ยอมรับขึ้นมาแล้ว ต้องพยายามรักษาระดับคุณภาพนั้นไว้
แหม พูดว่าเป็นภาระนี่ดูหนักหนานะครับ เราเชื่อว่านักเขียนหรือนักสร้างสรรค์ผลงานทุกคนก็อยากรักษาคุณภาพของผลงานไว้ในระดับที่ดี หรือถ้าเป็นไปได้ก็อยากพัฒนาให้มันดียิ่งๆ ขึ้นไป แต่ความดีนี่พูดยากนะครับ และก็ไม่สามารถนำมาวัดกัน นำมาเปรียบเทียบกันได้แบบเล่มต่อเล่ม บรรทัดต่อบรรทัด เพราะหนังสือแต่ละเล่มก็มีหน้าที่และมีความหมายของมัน เหมือนที่เราไม่สามารถบอกว่า คุณลุงคนสวนมีคุณค่าน้อยกว่าท่านประธานบริษัท เรื่องคุณภาพเป็นเรื่องที่คนอ่านมีมันเก็บไว้ในใจของตัวเอง เมื่อได้อ่านแล้วทุกคนย่อมตัดสินหนังสือเล่มนั้นโดยอัตโนมัติ ชอบ-ไม่ชอบ ห่วย-ดี ก็ล้วนแต่ตัดสินตามมาตรฐานความชอบและรสนิยมส่วนตัว ที่ว่า “หนังสือคุณภาพ” นั้น โดยมากมักจะตัดสินใจจากความชอบหรือการยอมรับของคนในวงกว้าง หรือคนที่มีชื่อเสียงเป็นที่ยอมรับ แต่จริงๆ แล้ว เราว่านักเขียนเองก็มีคุณภาพในใจของเขา และหากหนังสือเล่มนั้นผ่านเกณฑ์คุณภาพที่เขาตั้งไว้มันก็น่าพอใจแล้ว หนังสือบางเล่มก็มีคุณค่าแบบตลกคาเฟ่ แค่ทำให้คนขำได้ก็นับว่าคุณภาพยอดเยี่ยมแล้วว่าไหม

+ บางทีการเขียนหนังสือให้คงความเป็นตัวของตัวเองมันไม่เอื้อกับความต้องการของตลาด/ผู้อ่าน โดยทั่วไป พี่เอ๋มีคำแนะนำอย่างไรบ้างคะ
เราไม่เชื่อว่าหนังสือที่พยายามเขียนเอาใจคนอ่านจะเป็นหนังสือที่ดี เหมือนผู้ชายคนหนึ่งพยายามทำอะไรก็ตามให้หญิงสาวประทับใจ แต่สุดท้ายก็ทำไปไม่ได้ตลอด เพราะมันไม่ได้เป็นตัวจริงของเขา การเขียนหนังสือที่ดีน่าจะออกมาจากความคิดความเชื่อของตัวเองจริงๆ ไม่อย่างนั้นจะเขียนหนังสือกันทำไม เหมือนพ่อครัว คนที่เดินเข้ามากินร้านเราก็เพราะเขาติดใจในรสชาติ รู้ว่าร้านนี้ก็ต้องรสนี้ ไม่ใช่ว่าเตรียมกระทะเตรียมตะหลิวรอไว้ ลูกค้าเดินเข้ามาจะสั่งอะไรก็ได้ ใส่ผักน้อย หวานหน่อย เค็มนิด สับหมูให้ละเอียดหน่อยเฮีย แบบนั้นก็เหมือนทำตามใจคนสั่ง แล้วความคิดของเราจริงๆ มันอยู่ตรงไหน เหมือนคนเขียนเองก็ยังไม่เข้าใจตัวเองด้วยซ้ำไป ในมุมของคนเขียน เราไม่คิดว่าหนังสือเป็นสินค้า และยิ่งไม่คิดว่าหนังสือจะเป็นสินค้าที่ต้องปรับตัวตามความต้องการของตลาด คงต้องถามก่อนว่าเราจะเขียนหนังสือพิมพ์หนังสือสักเล่มเพื่ออะไร ถ้าโจทย์คือเพื่อขาย ก็แปลว่าเรามองว่าหนังสือคือ สินค้า ถ้าอย่างนั้นก็โซ้ยกันให้สนุกเลย ออกไปเก็บข้อมูลเลยว่า ตอนนี้ตลาดกำลังต้องการอะไร มีช่องว่างทางการตลาดรูไหนให้เสียบบ้าง ปกแบบไหนที่คนชอบ ตั้งชื่อให้แรงๆ มีเรื่องบนเตียงใต้เตียงด้วยดีไหม ถ้าคิดแบบนั้นก็คงต้องมีกระบวนการในการผลิตและการเขียนแบบนั้น คือเป็นหนังสือที่เขียนจากข้างนอก เขียนขึ้นจากการตลาดเพราะอยากได้ตังค์ แต่เราชอบหนังสือที่เขียนและผลิตขึ้นจากข้างในมากกว่า เขียนในสิ่งที่คิดและเชื่อ พิมพ์ออกมาเพราะอยากพิมพ์ เชื่อว่ามันเป็นสิ่งที่ดี ส่วนจะขายหรือไม่ อันนี้ค่อยมาคิดกันตอนทำเสร็จแล้ว ว่าจะหุ้มเปลือกมันอย่างไร ประชาสัมพันธ์มันอย่างไร ให้คนหันมาสนใจ ส่วนเรื่องความเป็นตัวของตัวเองที่จะถูกใจตลาดหรือไม่นั้นเป็นเรื่องของดวงครับ บางคนมีรสนิยมตรงกับคนส่วนใหญ่ บางคนก็ดันไม่ตรงกับคนส่วนใหญ่ แต่มันก็ไม่ใช่เรื่องที่เขาจะต้องปรับตัวเพื่อเอาใจคนส่วนใหญ่ เราว่าอาจเป็นหน้าที่ของบรรณาธิการหรือสำนักพิมพ์ที่จะต้องคิดว่าจะนำเสนอผลงานของเขาอย่างไรให้คนส่วนใหญ่สนใจมากกว่า แล้วอีกอย่าง ถ้านักเขียนทุกคนปรับตัวเขียนให้ตลาดชอบ เราจะมีนักเขียนหลายคนกันไปทำไม ในเมื่อทุกคนก็เขียนคล้ายๆ กัน

+ ทำไมหลายครั้งหนังสือที่เราคิดว่าดีกลับไม่ดัง แต่หนังสือที่ดังบางเล่มกลับทำให้เราเกิดคำถามว่าดังเพราะอย่างอื่นที่ไม่ใช่คุณภาพของตัวงานหรือเปล่า
หนังสือทั้งสองแบบที่พูดมาน่าสนใจไปคนละแบบ แบบแรกที่คิดว่าดี ก็คงต้องถามว่า “ดี” ของใคร วัดจากอะไร ใช้อะไรเป็นเกณฑ์ เราไม่คิดว่าหนังสือที่มีเนื้อหาสาระหนักอึ้งหรือลึกซึ้งจะเป็นหนังสือดีสำหรับทุกคน แต่มันมักจะดีในมุมมองของคนที่คิดว่าหนังสือเป็นเรื่องจริงจังและสูงส่ง แต่จริงๆ แล้ว ขายหัวเราะก็เป็นหนังสือเหมือนกัน บางคนก็อ่านหนังสือเพื่อความเพลิดเพลินเท่านั้น หนังสือดีสำหรับเขาอาจเป็นหนังสือที่อ่านแล้วเพลินมากไม่ใช่หนังสือที่ทำให้เข้าใจชีวิตอันลึกซึ้งมากขึ้น ซึ่งไม่แน่ว่าวันหนึ่งเขาอาจจะต้องการหนังสือแบบนั้นก็ได้ เรื่องน่าสนใจมีอยู่ว่า หากเราเชื่อเหลือเกินว่าหนังสือเล่มนี้ดีสุดๆ อยากให้ผู้คนทั้งประเทศได้อ่านกัน เราจะนำเสนอความเชื่อของเราออกไปอย่างไร ทำอย่างไรที่จะโน้มน้าวให้คนหันมาสนใจความดีงามของหนังสือเล่มนั้น ไม่ใช่แค่จะมานั่งบ่นกันว่า เฮ้อ คนไทยรสนิยมต่ำ อ่านแต่หนังสือขยะ หนังสือดีๆ แบบนี้ไม่มีใครอ่าน เราว่ามันเป็นหน้าที่ของคนที่เชื่อว่าหนังสือเล่มนั้นดี (ไม่ว่าจะเป็นสำนักพิมพ์ หรือ นักวิจารณ์) ว่าจะบอกความดีงามที่ตนได้สัมผัสมาส่งต่อไปยังผู้อื่นอย่างไร จะสร้างรสนิยมแบบอื่นในการอ่านให้กับคนในวงกว้างได้อย่างไร จากที่เคยอ่านเอาเพลิน ลองอ่านเอาสาระบ้างไหม ยิ่งรู้เยอะยิ่งสนุกนะ ซึ่งก็คงต้องใช้เวลา แต่อย่างไรเราก็คิดว่า เรื่องสนุกมักจะขายได้มากกว่าสาระจริงจังเป็นปกติของโลกอยู่แล้ว คนที่ชอบเรียนรู้จากหนังสือมักจะเชื่อว่าหนังสือทำให้เราเข้าใจโลกและชีวิตมากขึ้น แต่จริงๆ แล้วแต่ละคนก็มีวิธีทำความเข้าใจโลกและชีวิตในแบบที่แตกต่างไป อาจไม่จำเป็นต้องอ่านหนังสือก็ได้ ส่วนหนังสือที่ดังแต่เราคิดว่าคุณภาพไม่ดี อาจไม่ใช่เรื่องที่ต้องไปนั่งจับผิดว่าเขาไม่ดีตรงไหน แต่น่าศึกษาจากเขามากกว่าว่า ขนาด(เราคิดว่า)ไม่ดีเขายังขายได้เป็นแสนเล่ม อะไรกันหนอที่มันทำให้ของไม่ดีขายได้ขนาดนั้น และมีส่วนไหนที่เราจะนำมาปรับใช้กับหนังสือดีที่อยู่ในมือเพื่อให้มันขายดีมากขึ้นได้บ้าง

+ เกี่ยวกับงานเขียนออนไลน์ล่ะคะ มันจะทำให้วัฒนธรรมการอ่านการวิจารณ์ของเราเป็นไปในทางที่ดีขึ้นไหม หรือพี่คิดว่าไง
ในด้านของการอ่าน งานเขียนออนไลน์อาจทำให้พฤติกรรมในการอ่านเปลี่ยนไป คืออาจต้องการอะไรที่สั้น กระชับมากขึ้น เพราะไม่ต้องการจ้องจอสว่างๆ นานเกินไป อีกพฤติกรรมที่น่าสนใจคือ เวลาเราอ่านงานเขียนออนไลน์มันง่ายต่อการค้นคว้าต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็นการคลิกเข้าไปตามลิงค์ต่างๆ ที่ผู้เขียนทำลิงค์ไว้ให้ หรือเราจะลองไปค้นคว้าหาต่อเองในอินเตอร์เน็ต ซึ่งก็ทำได้ทันทีในเวลานั้น ง่ายและเร็ว ทำให้เราไม่ได้จบการอ่านลงแค่บทความนั้นๆ แต่ยังขยายการอ่านออกไปอีก ซึ่งบางครั้งมันก็เชื่อมต่อไปยังเรื่องอื่นๆ ไม่รู้จบ ตรงนี้เรามองว่าเป็นประโยชน์นะ เพราะผู้อ่านจะรู้ข้อมูลมากขึ้น รอบด้านมากขึ้น และก็มีโอกาสวิเคราะห์ ตรวจสอบ และกลั่นกรองให้เป็นความคิดของตัวเองได้มากกว่าการอ่านจากบทความใดบทความหนึ่งเพียงแค่ชิ้นเดียว แถมยังสร้างนิสัยการ “คลิกลิงค์” ซึ่งก็คือการค้นคว้าหาต่อนั่นเอง อีกสิ่งที่ดีก็คือการได้เชื่อมโยงสิ่งหนึ่งเข้ากับอีกหลายๆ สิ่ง น่าจะนำมาซึ่งมุมมองที่กว้างขึ้นและเห็นผลกระทบจากสิ่งหนึ่งไปสู่อีกสิ่งหนึ่ง ทั้งในแง่ของแรงบันดาลใจ และการส่งผลกระทบในแง่ที่ไม่ดี

ในส่วนของการวิจารณ์ เราว่าเวทีออนไลน์ทำให้ผู้คนกลายเป็นนักคิดนักเขียนกันมากขึ้นมาก คือปกติคนเรามักจะคิดและมีทัศนคติกับสิ่งต่างๆ อยู่ตลอดเวลาอยู่แล้ว เพียงแค่เราไม่ได้ไปนั่งบ่นให้ใครฟัง หรือเราไม่ได้เขียนมันออกมาบนหน้ากระดาษ ได้แต่คิดแล้วก็สลายตัวไป แต่พอมีบล็อก มีไดอารี่ออนไลน์ หลายคนมีเรี่ยวแรงเขียน อยากเขียน เพราะเขียนแล้วมีคนอ่าน มีคนมาฟังความคิดของเรา มีคนมาแลกเปลี่ยน ถกเถียง และสนับสนุน เมื่อไม่ได้คิดอยู่คนเดียวก็เลยสนุกและต่อยอดความคิดได้ การเขียนบล็อกและเขียนไดอารี่ออนไลน์จะทำให้คนขยันคิดกับเรื่องต่างๆ มากขึ้น ในแง่ของวัฒนธรรมการวิจารณ์ก็น่าจะทำให้เกิดมาตรฐานความดีงามที่หลากหลายมากขึ้น ไม่ใช่ความดีงามที่อยู่ในอุ้งมือของนักวิจารณ์มืออาชีพ หรืออาจารย์ที่มีความรู้เสมอไป เสียงเล็กๆ ของคนธรรมดา ในฐานะของคนที่อยู่ในสังคมเดียวกัน รับสื่อเหมือนกัน ก็มีเวทีให้แสดงทัศนคติ ความเชื่อ ความชอบ และได้บอกเหตุผลของตัวเองให้คนอื่นฟัง ซึ่งเราว่าทุกความคิดล้วนแล้วแต่น่ารับฟัง เพราะมันสะท้อนอะไรบางอย่างในสังคมเสมอ ไม่เฉพาะความคิดเห็นที่เต็มไปด้วยทฤษฎีเท่านั้นที่น่าอ่าน แต่ความรู้สึกในไดอารี่ของเด็กมัธยมสักคนก็น่าสนใจไม่น้อยไปกว่ากัน

(ขอบคุณแพรที่ชวนคุยครับ)

เรื่องรอบเดือน

กันยายน 28, 2007

บล็อก Culture Gap ให้ข้อมูลเกี่ยวกับเรื่อง
“ตำนานพระจันทร์…วันไหว้!” เอาไว้ว่า

น้าชาติ ประชาชื่น แห่ง คอลัมน์ รู้ไปโม้ด (นสพ.มติชน)
เขียนถึงประวัติเทศกาลไหว้พระจันทร์ ไว้ว่า
เป็นการไหว้เพื่อรำลึกถึง เทพรูปงามองค์หนึ่ง นามว่า ไท้อิมเนี้ย
ซึ่งจะเสด็จมาโปรดสัตว์โลก ในคืนพระจันทร์เต็มดวง…

… อีกตำนานหนึ่งกล่าวไว้ว่า ผู้นำชาวจีน นามว่า จูง่านเจียง
วางแผนยึดอำนาจจากกษัตริย์ชาวมองโกล
โดยส่งเอกสารลับไว้ในขนมเปี๊ยะที่มีขนาดใหญ่
นัดให้ทุกครอบครัวเตรียมอาวุธ โดยจัดงานไหว้พระจันทร์ตบตา
และในที่สุด ก็ยึดอำนาจได้สำเร็จ

นั่นเป็นตำนานวันไหว้พระจันทร์ ซึ่งผมก็ไม่แน่ใจนักว่า
“เด็กจีน” สมัยนี้จะรู้หรือเปล่า เพราะทุกวันนี้คนจีนบนแผ่นดินใหญ่
ไม่มีใครไหว้พระจันทร์กันแล้ว เพื่อนบอกว่า พวกประเพณีดั้งเดิม
เหล่านี้น่าจะยังมีอยู่ในไต้หวัน และคงติดตามตัวชาวจีนที่อพยพ
ไปยังดินแดนอื่น

แต่ที่แน่ๆ บนแผ่นดินใหญ่ หลังยุคเหมาเจ๋อตุงก็ไม่มีการไหว้พระจันทร์อีก
เหมาต้องการปฏิวัติวัฒนธรรม เพราะฉะนั้นความเชื่อเดิมๆ จึงถูก
ขุดรากถอนโคนทิ้งไป และก็ทำได้สำเร็จเสียด้วย

เมื่อสองวันก่อน ผมเอ่ยปากถาม “เด็กจีน” หลายคนว่า
นี่เป็นเทศกาลไหว้พระจันทร์ใช่ไหม? (ผมทำท่ายกมือไหว้)
เขาทำหน้างง เขาเรียกเทศกาลนี้ว่า “Moon Cake Festival”
หรืออาจพอจะแปลเป็นไทยได้ว่า “เทศกาลขนมไหว้พระจันทร์”
ไม่มีอะไรเชื่อมโยงเกี่ยวกับการ “ไหว้” อีกต่อไป
ผมถามต่อ “แล้วเทศกาลนี้มีความสำคัญยังไง?”
“อ๋อ คล้ายวันครอบครัว ทุกคนจะมารวมตัวกันเพื่อกินขนมไหว้พระจันทร์”
(ซึ่งจะให้ถูกควรจะเรียกว่า “ขนมพระจันทร์” ไม่มี “ไหว้”)
จึงเป็นการรวมตัวกันเพื่อ “กิน” พร้อมหน้า เนื่องในวันที่พระจันทร์ดวงกลมโต
ส่องสว่างเหมาะแก่การนั่งชมจันทร์กันทั้งครอบครัวก็เท่านั้นเอง

ใกล้วันหยุดยาวของชาวจีนเข้ามาทุกที
ตามปฏิทิน พรุ่งนี้จะเป็นวันสุดท้ายที่พวกเราทำงานกัน
“หนึ่งสัปดาห์ทอง” คนจีนเรียกแบบนั้น แต่จริงๆ แล้ว หยุดเนื่องในโอกาส
“วันชาติ” ชาวจีนหลายคนถือโอกาสกลับบ้าน บางคนที่อยู่บ้านมาตลอด
อย่างชาวเซี่ยงไฮ้ก็ถือโอกาสเดินทางไกล น้องสาวในกลุ่มนั่งรถไฟ
ไปทิเบต ผมอยากจะกระโดดขึ้นรถไฟไปด้วย แต่ไปไม่ได้

นิกกี้-น้องชายในทีม ถือโอกาสนี้กลับบ้านไปหาพ่อแม่ที่หนานจิง
จริงๆ แล้วนิกกี้เป็นชาวเหนือ แต่ครอบครัวย้ายมาอยู่ที่หนานจิงแล้ว
ผมถาม “ดีใจไหมได้กลับบ้าน” เขาตอบ “ดีใจมาก คิดถึงบ้านมาก
คิดถึงพ่อ คิดถึงแม่” เขายิ้มกว้าง

เนี่ยลั่ง-น้องชายในทีม ได้โอกาสพาภรรยากลับถิ่นฐานที่ฉงชิง
“คราวนี้นั่งรถไฟเร็วหน่อย เดี๋ยวนี้รถไฟวิ่งไวขึ้น” เขาเล่า
“กี่ชั่วโมง?” ผมถาม “ยี่สิบแปดชั่วโมง” เขาตอบ ผมตาโต
“เร็วแล้วนะ แต่ก่อนสามสิบเจ็ดชั่วโมง” ผมตาเหลือก!
“ดีใจไหม ได้กลับบ้าน” ผมถาม “ดีใจสิ ผมชอบฉงชิง คิดถึง”

เซี่ยเจิ้ง-น้องชายในทีมอีกคนที่มีบ้านอยู่กุ้ยโจว
“กลับบ้านไหม สัปดาห์ทองคำ” ผมถาม “ไม่กลับ” เขายิ้ม
“อ้าว ทำไมไม่กลับ” เขาตอบ “แม่ผมอยู่ที่เซี่ยงไฮ้”
“อ๋อเหรอ ดีจัง” เขายิ้ม

เอลวิส-เพื่อนชาย กลับสิงคโปร์ไปดูแลภรรยาที่กำลังท้องกลม

แอนสัน-โปรดิวเซอร์หนุ่ม ไปฮ่องกงกับครอบครัว

ที่บริษัทบรรยากาศคล้ายบ้านเราช่วงสงกรานต์
เงียบ ร้าง และว่างเปล่า

หมี-เพื่อนชายอยู่ที่นิวยอร์ก เจอกันในเอ็มเอสเอ็น
“ไงบ้าง ได้ข่าวว่าได้งานแล้ว” ผมถาม
“อืม เพิ่งเริ่มว่ะ” ผมถามต่อ “จะอยู่อีกนานเลยเหรอ”
“ทำวีซ่ามาตั้งแสนหก อยู่ได้สามปี” ผมซัก “เอาครบเลย?”
“อืม ถ้างานสนุกก็คงอยู่ไปเรื่อยๆ” ผมถาม “สนุกกว่าไทยไหม?”
“ก็สนุกกว่านะ” ผมคิดในใจ มีหวังมันจะอยู่อีกนาน

ก้อง-เพื่อนชายอยู่ปารีส เจอกันในเอ็มเอสเอ็น
“ไงมึง อยู่จีนอยู่รึเปล่า?” มันทักมา
“อืม มึงล่ะ เรียนจบยัง?” ผมทักกลับ
“จบแล้วว่ะ เพิ่งกลับไปไทยมา เจอเพื่อน แต่ไม่เจอมึง”
“จบเร็วจัง แล้วมึงกลับไปปารีสอีกทำไม”
“ทำงาน” มันตอบ “อ้าว ทำไมต้องทำที่นั่น?”
“แล้วทำไมจะไม่ทำวะ” ผมถาม “งานสนุกกว่าไทยเหรอ?”
“อืม ก็สนุกกว่า” ผมถาม “เงินดี?” มันตอบ “ก็ดีกว่า”
ผมนึกในใจ มีหวังมันจะอยู่อีกนาน

นก-เพื่อนสาวอยู่ชิคาโก เจอกันในเอ็มเอสเอ็น
“ปักกิ่งเป็นไงบ้าง?” นกถาม
“ก็แข็งๆ นะ ไม่แน่ใจว่านกจะชอบ”
“อืม แล้วทำงานกับคนจีนมีปัญหาไหม?”
“ก็ไม่นะ นกทำได้สบายอยู่แล้ว”
“อืม ไม่แน่อาจจะย้ายไปปักกิ่ง”
“โอย อย่างแก สบายอยู่แล้ว”
ผมถามนกตลอดว่าเมื่อไหร่จะกลับเมืองไทย ถามจนเลิกถาม

น้ำ-เพื่อนชายอยู่ซานฟรานฯ เจอกันในเอ็มเอสเอ็น
“จะจบยังมึง?”
“ยังว่ะ อีกสักปีกว่า”
“จะกลับไหม ไม่คิดถึงเมืองไทยบ้างเหรอวะ”
“ไม่ค่อย แต่ก็ไม่ได้ชอบที่นี่หรอกนะ”
“แล้วจะอยู่ทำไมนานๆ”
“มันมีอะไรให้ทำมากกว่า มีอะไรสนุกๆ ให้ทำมากกว่าหน่อย”
“เออ ยังไงอย่าลืมก็แล้วกัน ปีหน้ากลับไปเที่ยวไทยกัน”
“เออ ไม่ลืม ถ้ากูจบนะ”

ตุ๋ย-เพื่อนชายอยู่กรุงเทพฯ เจอกันในเอ็มเอสเอ็น
“ไอ้บอลกำลังจะแต่งงาน ส่วนไอ้เอ๊ะแต่งกับอีชุไปแล้ว”
“มึงล่ะ แต่งเมื่อไหร่” ผมถาม “โอย ยัง มึงล่ะกลับเมื่อไหร่”
“เดี๋ยวเดือนหน้ากลับไป นั่งคุยกัน”
“ฟังเพลงไหม แต่งเสร็จไปหลายเพลงแล้ว”
“เออ ส่งมาดิ”

ต๋อย-เพื่อนชายอยู่กรุงเทพฯ เจอกันในเอ็มเอสเอ็น
“เพลงในบล็อกมึงวันนี้โคตรเหงาเลย”
ผมไปทำงาน กลับมาอีกทีเห็นข้อความที่ต๋อยทิ้งไว้
เพิ่งรู้ว่าต๋อยเข้ามาอ่านบล็อกด้วย เมื่อวานมันเพิ่งบอก
ถ้าอ่านอยู่ก็สวัสดีนะเว้ย-ต๋อย!

โดยอัตโนมัติ เมื่อออฟฟิศเงียบ และโล่ง
ผมกลับไปออนเอ็มเอสเอ็นคุยกับเพื่อนอีกครั้ง
บางคนไม่ได้คุยกันตั้งนาน ผมมองรายชื่อเพื่อนในเอ็มฯ
กระจัดกระจายกันไปไม่รู้กี่ที่ต่อกี่ที่

คืนวันนั้น พระจันทร์เต็มดวง น้องๆ ในกลุ่มกลับบ้าน
ไปกินขนมไหว้พระจันทร์กับครอบครัว หลายคนบอกให้ผม
ไปซื้อขนมมากินเล่น ผมก็ยิ้มแฮ่แฮ่ไปตามเรื่อง

ผมแหงนหน้ามองพระจันทร์
ผมว่ามันเป็นวัตถุบนท้องฟ้าที่โรแมนติกที่สุดสิ่งหนึ่ง
แล้วเพลง “เดือนเพ็ญ” ก็ดังขึ้นในใจ
ถนนมืด ไฟสว่าง พระจันทร์สว่างกว่า

null

เดือนเพ็ญสวยเย็นเห็นอร่าม
นภาแจ่มนวลดูงาม เย็นชื่นหนอยามเมื่อลมพัดมา
แสงจันทร์นวล ชวนใจข้า คิดถึงถิ่นที่จากมา
คิดถึงท้องนา บ้านเรือนที่เคยเนาว์

เรไร ร้องดังฟังว่า
เสียงที่เจ้าพร่ำครวญหา
ลมเอยช่วยพากระซิบข้างกาย
ข้ายังคอยอยู่ไม่หน่าย
ไม่เลือนห่างจากเคลื่อนคลาย
คิดถึงไม่วายเมื่อเราจากกัน

กองไฟ สุมควายตามคอก
คงยังไม่มอดดับดอก
จันทร์เอยช่วยบอกให้ลมช่วยเป่า
สุมไฟให้แรงเข้า พัดไล่ความเยือกเย็นหนาว
ให้พี่น้องเรานอนหลับอุ่นสบาย

ลมเอยช่วยเป็นสื่อให้
นำรักจากห้วงดวงใจของข้านี้ไปบอกเขานั้นหนา
ให้เมืองไทยรู้ว่า ไม่นานลูกที่จากมา
จะไปซบหน้ากับอกแม่เอย

Get this widget | Track details | eSnips Social DNA

ภาพเขียน

กันยายน 26, 2007

วันนี้ใช้ภาพเขียนแทนก็แล้วกันครับ : )

null

null

null

null

null

null

null

null

null

DISPLAY EGAZINE ชวนคุย

กันยายน 24, 2007

DISPLAY EGAZINE นิตยสารออนไลน์ฉบับนี้
ชวนคุยเรื่องโฆษณาครับ เราคุยกันผ่านทางอีเมล
หากใครสนใจก็อ่านเล่นเพลินๆ ได้ที่นี่ครับ
http://www.thaiegazine.com/
: )

ชายแจกใบปลิว

กันยายน 24, 2007

เขาเป็นพนักงานแจกใบปลิว
“ใบปลิวมันก็ปลิวสมชื่อ” เขาคิดในใจ
แจกไปได้ไม่นานมันก็ปลิวว่อนอยู่แถวนั้น
บ้างปลิวร่อนขึ้นจากถังขยะด้วยแรงลม
บ้างก็ปลิวเพราะคนปล่อยมันให้หลุดจากมือ
หลังจากพลิกดูไม่ถึงสามวินาที

เขาเป็นพนักงานแจกใบปลิวของร้านแฮมเบอร์เกอร์
ใส่หมวก ใส่แว่น เสื้อลายทางขีดเป็นเส้นแนวดิ่ง กางเกงดำ รองเท้าดำ

เขาจำได้ว่าชายหนุ่มคนนี้ไม่เคยรับใบปลิวจากมือเขา
หญิงสาวคนนี้ก็ด้วย
จะว่าไป คนส่วนใหญ่ไม่ค่อยรับใบปลิวหรอก

ใบปลิว-สิ่งที่ไม่มีใครต้องการ ข่าวสารที่ไม่มีคนอยากรู้
เขาหยิบยื่น แต่ก็ไม่มีใครอยากรับ

“บางคนรับก็เพราะสงสาร” เขาคิดในใจ
ใครบ้างที่อยากรับใบปลิวเพราะอยากอ่านอยากรับจริงๆ?

ใบปลิวปลิวว่อนกลางอากาศ
ตกลงมาเกลื่อนพื้นรอบๆ บริเวณนั้น-บริเวณที่เขายืนแจก

เขาไม่เคยคิดจะเก็บมันขึ้นมาเพื่อแจกอีกหรอก
จะทำแบบนั้นทำไม เขาอยากรีบๆ แจกให้หมดไวๆ
หน้าที่หยิบยื่นสิ่งของที่ไม่มีใครต้องการจะได้สิ้นสุดลงเสียที

วันนี้โชคดี เขาแจกใบปลิวจนเกือบหมดแล้ว
อ้อ นี่คนสุดท้าย รับไปโดยไม่มองหน้าเขา
ใบปลิวหมดแล้ว

เขายังยืนอยู่ตรงนั้น
ก้มลงเก็บใบปลิวขึ้นมาหนึ่งใบ
ปัดฝุ่น อืม สะอาดแล้ว

เขาถือมันไว้
รอให้หญิงสาวในชุดสีชมพูพาสเทลคนนั้นเดินผ่านมา
คงเป็นยูนิฟอร์มของบริษัทที่เธอทำงานอยู่
เธอใส่ชุดนั้นทุกวัน
เธอเดินผ่านทางเส้นนี้ทุกวัน
และ…เธอรับใบปลิวจากมือเขาทุกวัน

ใบปลิว-สิ่งที่ไม่มีใครต้องการ ข่าวสารที่ไม่มีคนอยากรู้

วิภา-เธอจะมาไหม?

กันยายน 19, 2007

“วิภา” เป็นพายุชื่อไทย เธอเป็นไต้ฝุ่น
ถ้าว่างและไม่ลืมจะนำเรื่องที่ไต้ฝุ่นต้องชื่อเป็นหญิงสาวมาฝากกัน
หรือถ้าใครทราบจะมาแปะแบ่งกันอ่านเล่นก็ยินดีมากๆ ครับ

ผมนั่งรอ นอนรอคุณวิภามาตั้งแต่เมื่อคืนก่อน
เพราะมีข่าวว่าเธอจะมาเยือนเซี่ยงไฮ้ ตัวของเธอก็ใหญ่ใช่เล่น
มีข่าวมากมายกล่าวถึงเธอ บ้างว่าจะพัดผ่านตัวเมืองเซี่ยงไฮ้
ด้วยความเร็วหนึ่งร้อยกิโลเมตรต่อชั่วโมง บ้างว่าจะทำให้เกิดคลื่น
สูงถึงสิบเมตร! ล้วนแล้วแต่น่าหวั่นและหวาดกลัวทั้งสิ้น

เมื่อคืน หลังมื้ออาหารค่ำ ผมเดินห่อไหล่ใต้ร่ม ฝนหล่นมาเม็ดใหญ่
และหนัก (หมายถึงหลายเม็ดมาก) ว่ากันว่า “วิภา” จะมาเมื่อคืน
หรืออย่างช้าก็คงเป็นตอนเช้า

ผมรอเธอจนหลับไป ตื่นมาอีกทีแดดก็แยงหน้าต่าง
ผมรีบสะดุ้งขึ้น มองออกไปข้างนอก สงบ มีฝนพรำเล็กน้อยเท่านั้น
อาบน้ำแต่งตัว เดินออกไปข้างนอก ฝนพรำ ลมแรง
แรงจนพุ่มไม้โย้ไปเหมือนกัน ยังนึกในใจ-หรือเป็นหางของคุณวิภา?

เปล่า-เธอยังไม่มา!
ข่าวบอกอย่างนั้น เพื่อนบอกว่า ข่าวว่าจะมาตอนบ่ายสาม
อ้าว มาสายหรือนี่? ก็นั่งรอกันต่อไป ทุกคนใจจดจ่อ
นั่งทำงานไปดูนอกหน้าต่างไป ฟ้าเป็นสีเทาทั้งวัน
ฝนหยดทีละเม็ดสองเม็ดเหมือนกักตุนเอาไว้ตกหนักๆ ทีเดียว

บ่ายสอง หัวหน้าใหญ่ส่งเมลกระจายไปทั่วออฟฟิศ

Dear all,

Due to the Typhoon maybe arriving later today,
all staff can go home.

Please take your own time.
If you need to do work and have a lap-top
please take the lap-top with you.

Please be safe.
And we look forward to seeing you tomorrow.

Best,

ผมอ่านแล้วก็ขำดี-หวังว่าเราจะได้เจอกันอีกพรุ่งนี้

พนักงานหลั่นล้าดีใจ บ้างเก็บกระเป๋า แต่ส่วนใหญ่ยังนั่งขยันกันต่อ
ขยันกันไปถึงบ่ายสามก็แล้ว บ่ายสี่ ห้าโมงเย็นก็แล้ว วิภาก็ยังไม่มา
พายุชื่อไทยก็นิสัยเหมือนพี่ไทยจริงๆ ไม่ค่อยเคร่งครัดเรื่องเวลา
มาช้าก็อ้างว่า-รถติด ผมรอถึงห้าโมงกว่า ฟ้าเริ่มมืด กลับบ้านดีกว่า

เดินย่ำต๊อกมาตามถนน ทุกคนยังใช้ชีวิตปกติ
จักรยานจอดข้างทางไม่กลัวปลิว ร้านผลไม้วางส้มสูกลูกไม้ไว้หน้าร้าน
ต้นไม้ใบครบ คนกางร่ม ใส่เสื้อกันฝนสีสด เดินไปมา ถีบจักรยาน
รถราก็เหมือนทุกวัน ผมแวะไปซื้อหมูแดงเพื่อมากินแกล้มมาม่า
ระหว่างอยู่ในร้านก็ได้แมสเสจจากเพื่อนว่า “ไต้ฝุ่นจะมาตอนทุ่มหนึ่ง”
ผมพิมพ์ข้อความทำนองเดียวกันต่อไปให้เพื่อนที่ยังทำเป็นขยันอยู่ที่ออฟฟิศ

ผมว่ามันก็ตื่นเต้นและสนุกดี เหมือนช่วงที่บ้านเมืองเรามีข่าวลือเรื่อง
“รัฐประหาร” ตลอดเวลา ก็ส่งแมสเสจเตือนเพื่อนเตือนญาติกัน
ไม่เว้นแต่ละวัน พอวันปฏิวัติเข้าจริงๆ ก็แทบจะไม่เชื่อ

แต่ก็นั่นแหละ ระหว่าง “ลือ” มักจะสนุก
แต่พอมันเกิดขึ้นจริงๆ แล้ว ไม่สนุกเลย
อ้อ! นี่เราครบรอบการทำรัฐประหารหนึ่งปีวันนี้พอดีเลย
แหม บ้านเมืองเราก็ดีขึ้นเยอะเลยจริงๆ

ผมเดินออกจากร้าน หิ้วกล่องหมูแดงข้ามถนน
มือหนึ่งถือร่มกันฝนปรอย ฟ้ามืดมาก ตอนนั้นเกือบหกโมงครึ่ง
ใกล้แล้วสิ คุณวิภา เราจะได้เจอกันเสียที
ผมจินตนาการไม่ออกว่า เวลาไต้ฝุ่นพัดใส่มหานครทันสมัย
จะเป็นอย่างไร?

เพื่อนคนหนึ่งถามว่า ไต้ฝุ่นนี่หน้าตาเป็นอย่างไร?
สามวินาทีแล้วสลายตัว หรือพัดเป็นวัน?
ผมเข้าไปหาข้อมูล ที่นี่ มา
ได้ข้อมูลที่ค่อนข้างน่าตกใจ

๑. พายุไต้ฝุ่น คือพายุโซนร้อน ซึ่งเกิดในมหาสมุทรหรือทะเลในโซนร้อนและมีลมพัดรอบศูนย์กลางอย่างน้อยด้วยความเร็ว ๑๑๘ กิโลเมตรต่อชั่วโมง (อาจจะถึง ๓๐๐ กิโลเมตรต่อชั่วโมงได้)

๒. พายุไต้ฝุ่น เป็นบริเวณความกดต่ำ ซึ่งมีเส้นผ่าศูนย์กลางเป็นร้อยๆ กิโลเมตรจนถึงประมาณ ๑,๖๐๐ กิโลเมตร หรือกว่านั้น และมีอายุอยู่ได้หลายๆ วัน ลมของพายุนี้พัดรอบ ๆ ศูนย์กลางและลอยตัวขึ้นคล้ายบันไดวน

๓. คุณสมบัติที่สำคัญและน่าสนใจอย่างหนึ่งของพายุนี้ก็คือ ที่บริเวณศูนย์กลางของพายุเราเรียกว่า “ตา” ของไต้ฝุ่น ตาเป็นบริเวณเล็กๆ ซึ่งมีเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ ๑๐ ถึง ๕๐ กิโลเมตร ในบริเวณตาของไต้ฝุ่นจะมีอากาศค่อนข้างดี ลมพัดค่อนข้างเบา

๔. พายุไต้ฝุ่น มีพลังงานมากมายมหาศาล ในวันหนึ่งสามารถผลิตพลังงานได้เท่ากับลูกระเบิดไฮโดรเจนขนาด ๑ ล้านตันของ ที เอ็น ที ได้มากว่า ๑๐,๐๐๐ ลูก ไต้ฝุ่นได้รับพลังงานมหึมาจากพลังงานความร้อนแฝง ซึ่งไอน้ำในทะเลกลั่นตัวเป็นน้ำ

๕. ในละติจูดต่ำๆ ไต้ฝุ่นจะเคลื่อนตัวตามกระแสลมส่วนใหญ่จากทิศตะวันออกมาทางทิศตะวันตก และค่อยโค้งขึ้นไปทางละติจูดสูง แล้วเวียนโค้งกลับไปทางทิศตะวันออกอีก

๖. เมื่อไต้ฝุ่นเคลื่อนตัวเข้าสู่พื้นดิน ภูเขา หรือมวลอากาศเย็นทำให้พลังงานของไต้ฝุ่นค่อยๆ สลายตัวลงอย่างรวดเร็ว กลายเป็นพายุโซนร้อนหรือดีเปรสชั่น

๗. อันตรายจากพายุไต้ฝุ่น มีหลายอย่าง เช่น ฝนตกหนัก ลมแรง พายุฟ้าคะนอง คลื่นจัด และอุทกภัย (ซึ่งมักจะทำให้มีผู้คนเสียชีวิตได้มาก) ฝนอาจจะตกได้กว่า ๑,๘๐๐ มิลลิเมตรในระยะเวลา ๒๔ ชั่วโมง พายุโซนร้อนซึ่งพัดเข้าแหลมตะลุมพุกจังหวัดนครศรีธรรมราช เมื่อ ๒๕ ตุลาคม ๒๕๐๕ ทำให้คนเสียชีวิตประมาณ ๑,๐๐๐ คน และสูญเสียทรัพย์สมบัติหลายร้อยล้านบาท ซึ่งส่วนใหญ่มีสาเหตุเนื่องจากน้ำทะเลท่วม

เมื่อนึกได้ ผมก็รีบวิ่งแกว่งหมูแดงขึ้นห้อง!

ผมเปิดหน้าผ้าม่านออกให้กว้างที่สุดเพื่อรอชมการมาของคุณวิภา
ตรวจหน้าต่างทุกบานว่าปิดสนิทและล็อกเรียบร้อย เปิดโทรทัศน์ดู
ไม่มีข่าวอะไรเป็นพิเศษ เห็นตัววิ่งข้างล่าง ซึ่งก็ไม่ค่อยสนใจ
เพื่อนจีนโทรมาบอกว่า ตัววิ่งด้านล่างที่มีทุกช่องนั้นเป็นคำเตือนว่า
คุณวิภาอาจจะมาช้าหน่อย แต่ระหว่างนี้ถ้าไม่จำเป็นอย่าออกจากบ้าน
ปิดหน้าต่างทุกบาน อ่านแล้วก็ระทึกดีเหมือนกัน

ระหว่างเดินจากออฟฟิศกลับมาที่บ้าน ผมถ่ายรูปข้างทาง “ก่อนไต้ฝุ่น”
เอาไว้ กะว่าจะเปรียบเทียบกับสภาพ “หลังไต้ฝุ่น” แต่ถึงตอนนี้
ก็ยังไม่รู้ว่าจะมีสภาพนั้นให้เห็นหรือไม่ เพราะดูเหมือนคุณวิภา
จะเปลี่ยนใจไม่มาแล้ว?

นี่ก็ห้าทุ่มเข้าไปแล้ว ถ้าเป็นนัดสัมภาษณ์งานคุณวิภาต้องสอบตก
ไปแล้วแน่ๆ เล่นมาสายขนาดนี้ แน่นอนว่าความคิดตื้นๆ ก็อยากเห็น
และอยากอยู่ในเหตุการณ์น่าตื่นเต้นแบบนี้ แต่คิดแบบมีสติสักหน่อย
ก็เห็นว่า หากคุณวิภา “แคนเซิ่ล” นัดครั้งนี้ก็อาจจะดีสำหรับคนส่วนใหญ่
และเมืองเซี่ยงไฮ้เอง มีการคาดคะเนว่าถ้าพัดเข้ามาจริงๆ
อาจมีค่าความเสียหายหลายพันล้านดอลล่าร์

ผ้าม่านยังเปิดอ้าออก ท้องฟ้ามืดมาก แต่ก็ไร้เมฆ
ยังเห็นหอไข่มุกระยับวับๆ แสงเรืองๆ อยู่ไกลๆ
เม็ดฝนข้างหน้าต่างไหลหายไปหมดแล้ว เหลือเพียงคราบ
ถนนโล่งกว่าปกติ มีเพียงแท็กซี่ใจกล้าบางคันเท่านั้น
ที่ยังส่องแสงวิ่งไปมาบนถนน รถเมล์คันใหญ่คงคิดว่า
หนักพอที่จะถ่วงตัวเองให้รอดไปจากลมแรงได้
ผู้คนน่ะหรือ แทบไม่เห็นเลย เมื่อมองสำรวจจะมุมนี้
มุมมองจากชั้นยี่สิบเอ็ด

ตึกทั้งหลายยังส่องไฟสวยงานตามปกติ ห้องพัก
ในอพาร์ตเมนท์หลายห้องเปิดไฟ เขาทำอะไรกันอยู่?
แล้วห้องที่ปิดไฟล่ะ?

เมืองเงียบผิดปกติ แต่ทุกอย่างก็ดำเนินไปตามปกติ
เหมือนทุกคนจะตื่นเต้นกับการมาของคุณวิภา
แต่พอแกเลื่อนนัดหลายครั้งเข้า ทุกคนก็เริ่มเซ็ง
และเลิกเตรียมการต้อนรับไปเสียแล้ว

เพราะอะไรจึงใส่ (f) หน้า msn

กันยายน 19, 2007

วันนี้ ก่อนที่จะได้ข่าวเรื่องไต้ฝุ่น
ตั้งเอาไว้ในใจแล้วว่าจะกลับบ้านมานั่งคิดและเขียน
เรื่องที่วันนี้ผู้คนในเอ็มเอสเอ็นพากันใส่ “ดอกไม้” ไว้หน้าชื่อ
ไม่เพียงเท่านั้น ยัง “บอกต่อ” ให้ญาติโยมในเอ็มฯ ช่วยกันใส่ด้วย
โดยมักจะบอกต่อกันว่า “ช่วยกันใส่ดอกไม้เพื่อแสดงความเสียใจ
กับเหตุการณ์เครื่องบินตกกันหน่อยนะ”

ผมขอแสดงความเสียใจกับเหตุการณ์ครั้งนั้นมา ณ โอกาสนี้ (ด้วยคน)
และที่กำลังจะเขียนถึง “ดอกไม้” ข้างหน้าเอ็มเอสเอ็น
ก็ไม่ได้มีเจตนาลบหลู่ความปรารถนาดีของเพื่อนๆ ในเอ็มฯ
ที่ “แสดงออก” ด้วยการวางดอกไม้ไว้หน้าชื่อในวันนี้
เพียงแค่ผมคิดว่ามันน่าสนใจไม่น้อย เพราะมันออกจะเป็น
วัฒนธรรม “ป๊อป” อยู่เหมือนกัน

อะไรที่ทำให้การใส่ดอกไม้ไว้หน้าชื่อในเอ็มเอสเอ็น “ฮิต” ขึ้นมาได้?

วันนี้ มีเพื่อนในเอ็มฯ คนหนึ่งชวนให้ผมเติม (f) ไว้หน้าชื่อ
เพราะมันจะกลายร่างเป็น “ดอกไม้” เพื่อแสดงความเสียใจ
“วันนี้ เค้าบอกให้ใส่ (f) ไว้หน้าชื่อกัน” เพื่อนบอก
ผมถาม “เค้านี่ใครอะ? ใครเป็นคนคิดคนแรก?”
เพื่อนบอก “ไม่รู้เหมือนกัน แต่เค้าบอกให้บอกต่อๆ กันไป”

อะไรหนอที่ทำให้วันนี้ดอกไม้บานทั่วเอ็มเอสเอ็นเป็นทุ่งเลยเชียว?

เหตุผลแรก ผมคิดว่ามันเป็นการแสดงออกถึง “ความดี”
มีด้วยหรือใครที่ไม่อยากเป็นคนดี? ลึกๆ แล้วผมเชื่อว่าทุกคนมีด้านดี
และความรักดีอยู่ด้วยกันทั้งนั้น เมื่อมีโอกาสแสดงแง่มุมด้านนั้น
ออกมาให้โลกเห็น และไม่ได้ยากอะไร ก็ทำเสียหน่อย

เหตุผลที่สอง ผมว่ามันเป็นการได้ “แสดงออก” ของคนไม่มีเวลา
ง่ายกว่าโทรศัพท์ไปบริจาคเงิน หรือโอนเงินเข้าบัญชีผู้ประสบภัยน้ำท่วม
นี่อีกหน่อยเราอาจใส่รูป “ร่ม” ไว้หน้าเอ็มฯ เพื่อแสดงความเสียใจ
ต่อชาวเซี่ยงไฮ้ที่เพิ่งถูกไต้ฝุ่นถล่ม ความรู้สึกลึกๆ ของผู้ใส่อาจเทียบได้
กับการได้โทรไปบริจาคเงินให้ผู้ประสบภัย หรือการได้เห็นรายชื่อตัวเอง
บนจอทีวี คือไม่ได้อยากอวดใคร แต่พอใจกับสิ่งที่ตัวเองได้ทำ
เพื่อช่วยเหลือ (ซึ่งก็เป็นสิ่งที่ควรจะพอใจจริงๆ นั่นแหละ)

และหากพูดถึงเรื่องการได้ “แสดงออก” ผมว่ามันก็เป็นการแสดงตัวตน
อย่างหนึ่ง ไม่ต่างอะไรจากการตั้งชื่อที่บางคนตั้งให้เหงาได้ทุกวัน
บางคนก็ขำได้ทุกวัน บางคนก็ตั้งชื่อดูมีภูมิ บางคนก็แสดงตัวตนบางอย่าง
ออกมาด้วยชื่อหนังสือที่เพิ่งอ่าน, คำคมที่ชอบ, หนังที่เพิ่งดู
หรือกระทั่งการโชว์ชื่อเพลงที่กำลังฟัง ซึ่งจะว่าไปการแสดงออกถึงตัวตน
เหล่านั้นก็เป็น “ประตู” บานแรกที่ชักชวนให้เพื่อนเข้ามาถามไถ่ถึง “ชื่อ”
ที่ได้ตั้งเอาไว้นั่นเอง การวางดอกไม้ไว้หน้าชื่อก็เป็นการแสดงความรู้สึก
ในวันนั้นแบบหนึ่งเช่นกัน

เหตุผลที่สาม ผมว่าเป็นเพราะความ “ง่าย” ผมคิดว่ามันคล้ายกับ
การฟอร์เวิร์ดอีเมลต่อให้เพื่อนนับร้อย โดยไม่สนใจว่าเขาจะอยากรู้
เรื่องนั้นหรือเปล่า จะมีรสนิยมชมรูปโป๊ฝรั่งเหมือนท่านหรือไม่
จะอยากรู้ห้าสิบร้านอร่อยในเคนย่า จะอยากเห็นสัตว์ประหลาด
ในแม่น้ำโขงหรือเปล่า ไม่เป็นไร ส่งก็ง่าย เปิดก็ง่าย ลบก็ไม่ยากนี่

เป็นความ “ง่าย” ชนิดเดียวกันกับการส่งข้อความในวันปีใหม่
วันวาเลนไทน์ วันลอยกระทง วันตรุษจีน คริสมาสต์ สารพัดเทศกาล
ซึ่งจริงๆ แล้วมันก็เป็นเจตนาที่ดี และดูน่ารักน่าเอ็นดู เพียงแต่
ความง่ายแบบนั้นทำให้ผู้ส่งคิดและรู้สึกกับข้อความเหล่านั้น “น้อย”
ต่างจากการนั่งลงเขียนการ์ดส่งไป ซึ่งไม่สามารถใช้ข้อความเดิม
เพื่อฟอร์เวิร์ดส่งไปให้คนอื่นได้ พอเขียนการ์ดใบใหม่ก็ต้องนั่งคิดคำ
ให้เหมาะ ให้เพื่อนคนนี้ถูกใจ ซึ่งแน่นอนว่าย่อมไม่เหมือนเพื่อนคนที่แล้ว

และข้อความ “กลางๆ” อย่าง “สวัสดีปีใหม่ มีความสุขมากๆ นะจ๊ะ
คิดอะไรขอให้สมหวังทุกประการนะจ๊ะ” ผู้รับเองก็จะรู้สึกกับมัน “น้อย”
เช่นกัน เพราะในโทรศัพท์เครื่องนั้นมีข้อความเดียวกันเต็มไปหมด

แต่รู้สึก “น้อย” ก็ไม่ใช่รู้สึกแย่ ยังคงรู้สึกดีกับผู้ส่งที่ยังคง “นึกถึง” กัน

ทางผู้ส่งเอง เมื่อได้ส่งไปให้เพื่อนๆ นับร้อยคนแล้วก็มีความสุข
ขณะเดียวกันก็มักจะนั่งรอรับข้อความที่เด้งกลับมา บางคนพอส่งไปแล้ว
ก็ต้องมานั่งกังวลว่า-เอ๊ะ เราตกชื่อใครไปหรือเปล่า?

ผมว่ามันอาจเป็นความ “ง่าย” คล้ายๆ กัน คือ “ง่าย” ที่จะทำ
และมันออกจะเป็นการกระทำที่เป็น “สัญลักษณ์” มากกว่า
และหากมองโลกในแง่ร้ายสักหน่อยก็อาจมองได้ว่า
มันเป็นการกระทำเพื่อความสุขของตัวเองมากกว่าจะเพื่อให้เกิดผลลัพธ์
อย่างที่คาดหวังจริงจัง

ครับ, ผมกำลังพูดถึง “ดอกไม้” หน้าเอ็มฯ

การใส่ “ดอกไม้” หน้าเอ็มฯ เป็นการสร้างบรรยากาศ “หลุมศพเสมือน”
ขึ้นในโลกล่องหน ผู้คนสามารถนำดอกไม้มาวางเพื่อแสดงความเสียใจได้
คำถามมีอยู่แค่ว่า-ใครคือคนที่จะมาเห็น?

ญาติของผู้ประสบภัย หรือ ผู้ประสบภัย หรือใครกัน?
นอกจากคนที่เล่นเอ็มฯ ด้วยกันนั่นเอง แต่อย่างน้อยก็คงเป็นการดีที่ได้
“รำลึก” ถึงผู้ประสบภัยในวิธีแบบไซเบอร์

เหตุผลข้อสุดท้าย ซึ่งดูจะปวกเปียกสักหน่อยก็คือ เห็นเพื่อนๆ เขาทำกัน
และ “ต่อม” นี้นี่เองที่เป็นหัวเชื้อที่ดีของวัฒนธรรมป๊อป เมื่อพฤติกรรมหนึ่ง
ดำเนินเติบโตมาถึงจุดหนึ่ง ในจำนวนที่เริ่มเห็นว่า “ป๊อป” ผู้คนจำนวนที่เหลือ
จะคล้อยตายและปฏิบัติตามพฤติกรรมนั้นโดยง่าย

เหมือนที่เหลือบไปเห็น “ดอกไม้” หลายดอกในหน้าต่าง
ก็เลยวางของตัวเองไว้บ้างดีกว่า เดี๋ยว “เอ๊าท์”
และเมื่อมันเริ่มก่อตัวเป็น “กระแส” ก็จะเกิดการ “บอกต่อ”
กันไปเอง ซึ่งก็จะยิ่งโหมให้ “กระแส” กระพือแรงเข้าไปอีก

“ผมใส่ (f) แล้วคุณใส่หรือยัง?”
“ผมรู้ คุณก็ใส่ (f)”
ทำนองนั้น

แต่ก็อย่างที่บอกไป ผมยังเชื่อว่าทั้งหมดนี้ล้วนเกิดขึ้นจาก
เชื้อความดีที่มีอยู่ในตัวของทุกคน การแสดงออกถึงเจตนาที่ดีเป็นสิ่งที่
น่ารักอยู่แล้ว แต่ที่เขียนมาก็เพราะผมแค่อยากหาคำตอบให้ตัวเองว่า
อะไรที่ทำให้ “ดอกไม้” ผุดขึ้นใหญ่เลย

ผมยังคิดอยู่เลยว่า ถ้าไม่ได้เล่นเอ็มเอสเอ็นกัน เราจะ “แสดงออก” กัน
แค่ไหน อย่างไร เหน็บผ้าดำไว้ที่เสื้อตัวที่ใส่ไปทำงาน หรือไปเรียนหรือ?
ผมไม่ค่อยแน่ใจว่าเราจะทำอะไรแบบนั้นกัน และก็ไม่เคยเห็น

เมื่อถอยออกมามองกว้างขึ้นอีกหน่อย ก็อาจจะเห็น “ความซ้ำ”
อันชวนเบื่อของชีวิตประจำวันที่หมุนวนเป็นวงเดิมๆ ทุกวันของคนเมือง
(ซึ่งเป็นคนกลุ่มใหญ่ที่เล่นอินเตอร์เน็ต) เมื่อมีเรื่องตื่นเต้นขึ้นมา
ก็เลยรู้สึกว่ามีอะไรใหม่ๆ เข้ามาในชีวิต และช่วยแก้เบื่อได้
วันนี้จึงไม่เหมือนเมื่อวาน เพราะมีเรื่องเจลลดไข้มนุษย์ต่างดาว,
เพราะมีเรื่องหญิงโรคจิตบุกแทงนักเรียนมัธยมฯ, เพราะมีดวงจันทร์
สองดวง หรือกระทั่งเพราะมีไต้ฝุ่นเข้า ผมเองก็ยังตื่นเต้นและหายเบื่อ
ไปได้ขณะหนึ่ง เมื่อเรื่องเหล่านั้นทำให้หายเบื่อ เราก็ต้องเป็นส่วนหนึ่ง
กับมันเสียหน่อย เมื่อได้ “แสดงออก” กับเรื่องนั้นก็ช่วยคลายเหงา
แก้เบื่อ และอย่างน้อยวันนี้ก็มี “ประเด็น” คุยกับเพื่อน

และจะว่าไป โลกทุกวันนี้ (โดยเฉพาะในอินเตอร์เน็ต) ก็ให้ความสำคัญ
กับการแสดงความคิดความเห็นและการแสดงออกค่อนข้างมาก
จะถูกจะผิด จะจริงจะเท็จ จะมีข้อมูล หรือจะเป็นความรู้สึก
ก็ขอให้ได้แสดงออก สังเกตได้จากกระดานเว็บบอร์ดทั้งหลาย
และรายชื่อในเอ็มเอสเอ็นก็ด้วย

ดูเหมือนว่า หากเราไม่มี “ทรรศนะ” กับเรื่องที่เขาพูดๆ กัน
เราก็จะไร้ตัวตนไปด้วย เพราะไม่มี “ทรรศนะ” ก็ไม่มีใครมองเห็น
และการได้ให้คนอื่นรู้ว่ามีฉันอยู่ตรงนี้ก็สำคัญกับมนุษย์เรา
มาตั้งแต่ไหนแต่ไรแล้ว

การใส่ (f) หรือ “ดอกไม้” หน้าชื่อชวนให้คิดยืดยาวมาได้ขนาดนี้
ครับ, อาจมีบางคนที่อ่านไปก็นึกในใจไปว่า จะเอาอะไรกับมันมาก
มันก็แค่มาแล้วก็ไป วันนี้ใส่ พรุ่งนี้ก็เอาออกแล้ว จะมานั่งขบอะไร
นักหนาให้ปวดกะโหลก

ก็จริงอย่างที่พี่ว่า
เพียงแค่ว่า ผมอยาก “แสดงทรรศนะ” กับเขาบ้าง-ก็เท่านั้นเอง

มรณาพายุสติ

กันยายน 18, 2007

มรณานุสติ คือ การตั้งสติด้วยการรำลึกถึงความตายอยู่เสมอ

ผมเพิ่งรู้วันนี้ตอนบ่ายเกือบเย็นว่า “ไต้ฝุ่น” จะพัดเข้าเซี่ยงไฮ้
ข่าวค่อยๆ น่ากลัวขึ้นเรื่อยๆ เริ่มจากเพื่อนร่วมงานเดินมาบอกว่า
“พรุ่งนี้เราไม่ต้องไปขายงานแล้ว เพราะออฟฟิศลูกค้าปิด
เราจะส่งอีเมลไปขายแทน” อืม…เริ่มแปลกๆ หลังจากนั้น
ก็เริ่มมีเสียงลือในออฟฟิศว่า “พรุ่งนี้พวกเราไม่ต้องมาทำงาน
ให้หมกตัวอยู่ที่บ้าน เพราะมันอันตรายเกินไป”

น้องในกลุ่มอ่านข่าวแล้วเดินมาบอกว่า “พรุ่งนี้โรงเรียนที่นี่
ปิดหมดเลย ให้เด็กๆ อยู่บ้าน” ผมเริ่มหวั่นใจ และคิดว่า
มันเริ่มน่ากลัว

น้องอ่านข่าวอีก เดินมาบอกว่า “นี่เป็นไต้ฝุ่นลูกใหญ่ที่สุด
ในรอบสิบปีที่เซี่ยงไฮ้เคยเจอมา ยินดีด้วยเอ๋”

ผมบอกน้องไปว่า “คืนนี้เราคงต้องตุนข้าวปลาอาหารและมาม่า
เราอาจไม่ได้ออกมาอีกสักสัปดาห์หนึ่ง อย่าลืมตุนน้ำไว้ดื่มด้วย”
น้องหัวเราะร่าบอกว่า “ถ้ามันหนักขนาดนั้นก็ดีสิ”

เพื่อนสาวคนหนึ่งบอกกับผมว่า เธอแชทกับเพื่อนในเอ็มเอสเอ็น
เพื่อนแนะนำว่า สภาพอากาศวินาศแบบนี้ ไม่มีอะไรดีไปกว่า
การหมกตัวอยู่ที่ห้องแล้วร่วมรักกับคนรัก” ในวงเล็บว่า (ก่อนตาย)

ผมนึกถึงเพลงของสี่เต่าเธอ “ออกมาผ่อนคลาย”
“ออกมาคลายลีลาเร่าร้อน ก่อนโลกาจะพังพินาศ”
ผมยังนึกในใจ ถ้าพรุ่งนี้ไต้ฝุ่นพัดเซี่ยงไฮ้ราบเป็นหน้ากลอง
คืนนี้ผมจะทำอะไรดี?

กระทั่ง “มื้อสุดท้าย” ของชีวิต ผมจะไปร่วมรับประทานกับใครดี?
ผมเลือกใช้โอกาสสุดท้าย (อาจมื้อสุดท้าย) ไปกับเพื่อนและน้อง
ในกลุ่ม เราดื่มเบียร์กันไม่รู้กี่ขวด คุยเล่น และหัวเราะสนุก
สนุกเหลือเกิน มีความสุขเหลือเกิน ทุกคนรอบตัวยังกินข้าว
กันตามปกติ เหมือนพรุ่งนี้จะไม่มีไต้ฝุ่น ชีวิตก็เป็นของมันแบบนั้น

ตกดึก ร้านเกือบปิด เจ้าของร้านกล่าวอะไรบางอย่าง
ผมจินตนาการไปเองว่า เธอกำลังกล่าวอำลาแขกทุกคน
วันนี้เป็นวันสุดท้ายในชีวิตของพวกเราแล้วทุกท่าน
เรามาสนุกร่วมกันให้เต็มที่เป็นครั้งสุดท้ายกันเถิด

แล้วทุกโต๊ะก็ร้องเพลง “แฮปปี้เบิร์ดเดย์” ขึ้นพร้อมกัน!
หญิงสาวคนหนึ่งรับหน้าที่ “เป่าเทียน” ร้านดับไฟ
แล้วเปิดขึ้นอีกครั้ง พนักงานในร้านต่อแถวเหมือนเด็กเล่นรถไฟ
แล้ววิ่งวนไปรอบร้าน ผมนึกในใจ-สนุกกันครั้งสุดท้าย?

ทุกคนวิ่งเล่นอย่างมีความสุข ลืมทุกข์ไปชั่วขณะ
ผมเอง-ด้วยฤทธิ์เบียร์ที่น้องๆ รินเอารินเอา ก็เพลินไปกับเขาด้วย
มีความสุขดี หัวเราะเสียงดัง กลบเสียงฝนตกหนักข้างนอก

พนักงานในร้านวิ่งต่อแถวเป็นรถไฟอยู่หลายรอบ
แล้วก็เล่นเกมอะไรสักอย่าง เหมือนเด็กๆ เล่น
แต่ดูมีความสุขเหลือเกิน

บางวัน เราก็ต้องการอะไรแบบนี้
โดยเฉพาะวันก่อนที่ไต้ฝุ่นจะโถมเข้ามาสู่ชีวิต
ในชีวิตจริง เราเดาไม่ได้ ไม่มีกรมอุตุฯ มาคอยพยากรณ์
ดินฟ้าอากาศและชะตาชีวิต เราไม่อาจเตรียมตัว
รู้แค่ว่า สุขให้มาก ก่อนที่ไต้ฝุ่นจะพัดเข้ามาน่าจะดี

ผมว่าเป็นความรู้สึกที่แปลกดี
เรารู้ว่าพรุ่งนี้ไต้ฝุ่นจะพัดกระหน่ำสู่เมืองที่เราอาศัย
แต่เราทำอะไรไม่ได้เลย-ไม่ได้เลยจริงๆ
ธรรมชาติเหนือการควบคุมของมนุษย์

หลายอย่างในชีวิตที่เราไม่สามารถเปลี่ยนทิศทางมันได้
เอาตัวเข้าขวางก็ปลิว และอาจเจ็บตัวเปล่าๆ

พรุ่งนี้ไต้ฝุ่นจะเข้าเซี่ยงไฮ้ หรืออย่างเร็วก็คืนนี้
เมื่อมันผ่านไป จะเหลืออะไรบ้าง

และ-ถึงวันนั้น, เราคงได้เต้นรำกันอีกรอบ

Typhoon Wipha churning towards Shanghai

กันยายน 18, 2007

China’s most populous city Shanghai and outlying areas were bracing for Typhoon Wipha on Tuesday, relocating hundreds of thousands of people to safer areas.

The typhoon, a storm packing winds of more than 180km/h was expected to make landfall in east China around midnight, after gale-force winds and driving rains have first swiped northern Taiwan.

Shanghai, a city of 17-million people, and the heavily populated neighbouring provinces of Zhejiang and Fujian were on high alert as officials warned residents to get ready for the worst.

Chinese meteorologist were particularly concerned that Wipha, which at 3.30am GMT was about 400km from the shore, was building strength as it churned towards Shanghai.

“This is the first time in 10 years that the eye of the storm will probably make landfall in Shanghai,” said Ding Ruoyang, a meteorologist at the Shanghai Meteorological Bureau.

Up to 200ml of rain is expected to pelt the city, while winds could gust above 102km/h an hour, prompting officials to begin evacuation procedures for 200 000 people.

“The evacuation includes residents who live in old and dangerous houses, workers who live in temporary construction site structures as well as workers living near the shore,” Ding said.

Meanwhile, in Zhejiang provincial flood control headquarters has warned the public to also relocate residents, patrol reservoirs and brace for geological disasters.

Food and water was being stored, while ferry service had been suspended, and fishing vessels had been ordered back to harbour, according to China’s official Xinhua news agency.

The Fujian provincial government had also issued warnings.

Typhoons regularly hit China, Taiwan, Japan and South Korea toward the end of August and September.

Earlier this month Typhoon Fitow walloped Japan, killing seven people, while on Sunday, Typhoon Nari killed at least nine in South Korea. – AFP

ข่าวจาก http://www.mg.co.za/articlepage.aspx?area=/breaking_news/breaking_news__international_news/&articleid=319561&referrer=RSS