รักและรบในโลกเสมือน

กันยายน 16, 2007

อ่านเรื่องราวเกี่ยวกับโลกเสมือนจริง (โลกในเน็ต)
จากมติชนสุดสัปดาห์ฉบับล่าสุดแล้วก็น่าคิดดีเหมือนกัน
เป็นเรื่องบังเอิญที่มติชนสุดฯ เล่มนี้มีคนเขียนถึงเรื่องนี้
ในมุมและขนาดที่แตกต่างกันถึงสามคน แต่ผมอ่านดูแล้ว
ก็เห็นว่ามันขยำรวมกันออกมาได้หนึ่งประโยคว่า
“โลกเสมือนจริงในวันนี้ก็คือโลกแห่งความจริงนั่นเอง”

เริ่มที่คอลัมน์ แลไปข้างหน้า ของ คุณศิริพงษ์ วิทยวิโรจน์
ที่เขียนถึงเรื่องที่เขาไปอ่านเจอมาจาก Wirednews
เรื่องแรกเป็นเรื่องของชายหนุ่มนิวยอร์กเกอร์คนหนึ่งที่แต่งงานแล้ว
มีลูกสองคน ไปรู้จักกับผู้หญิงวัยสี่สิบจากเวสต์ เวอร์จิเนีย
ที่แต่งงานแล้วอีกเช่นกันผ่านเว็บไซต์เกม Pogo ที่เขานิยมเข้าไป
เล่นโปกเกอร์ออนไลน์เป็นประจำ ต่างคนต่างก็สร้างตัวตนและบุคคลิกใหม่
บนอินเตอร์เน็ตขึ้นมาติดต่อสัมพันธ์กันผ่านโปรแกรมแชต
และก็เริ่มโทรศัพท์ติดต่อกัน ความสัมพันธ์ของทั้งคู่งอกเงยและ
ดำเนินไปอย่างสลับซับซ้อน สุดท้ายแล้วลงเอยด้วยการที่ชายหนุ่ม
ไปยิงเพื่อนร่วมงานคนหนึ่งของเขาเสียชีวิตด้วยความหึงหวงที่เธอ
ในโลกเสมือนจริงของเขาติดต่อออนไลน์กับเพื่อนร่วมงานคนนั้น
(ซึ่งผมก็ไม่รู้เหมือนกันว่าไปหึงกันอีท่าไหน)

อีกเรื่อง เป็นเรื่องของชายที่มีปัญหาครอบครัวแล้วหนีไปจมอยู่กับ
Second Life โลกเสมือนจริง เป็นเวลาหลายปีที่ใช้ชีวิต
ทำทุกอย่างอยู่ในนั้น ทั้งการทำธุรกิจ เลี้ยงสุนัข และแต่งงาน

เขาแต่งงานกับอีกคนบน Second Life คนซึ่งในชีวิตจริง
ก็แต่งงานแล้วเช่นกัน ทั้งหมดนี้นำไปสู่ความระหองระแหงในชีวิตจริง

เรื่องที่สามมาจาก ฮิวส์ตัน ครอนิคัล ที่รายงานว่าผู้หญิงหนึ่งในสาม
ที่พบคนรักจากบริการจับคู่ทางอินเตอร์เน็ตมีเซ็กซ์กันในการนัดพบครั้งแรก
โดย 75 เปอร์เซ็นต์มีเซ็กซ์โดยไม่ใช้ถุงยางอนามัย แสดงให้เห็นอย่างหนึ่ง
ว่า ความสัมพันธ์ของผู้คนในโลกเสมือนจริงซึ่งพัฒนาให้ก่อให้เกิดอารมณ์
ความรู้สึกได้อย่างรวดเร็วเหลือเชื่อ

คอลัมน์ที่สอง เป็นรายงานพิเศษของ คุณนงนุช สิงหเดชะ
พูดถึง พฤติกรรมผู้บริโภคสื่ออเมริกัน หันหลังสื่อดั้งเดิม-มุ่งออนไลน์

ผลสำรวจของเวโรนิส ชูห์เลอร์ สตีเวนสัน ซึ่งเป็นบริษัทวิจัย
เผยแพร่ออกมาเมื่อเดือนที่แล้ว ชี้ว่า ผู้บริโภคอเมริกัน
กำลังเปลี่ยนความสนใจจากสื่อดั้งเดิม ซึ่งได้แก่สื่อที่มีโฆษณาหนุนหลัง
แล้วหันไปนิยมใช้บริการสื่อที่ต้องจ่ายค่าสมาชิกหรือค่าดู
เช่น อินเตอร์เน็ต, วีดีโอเกม, เคเบิลทีวี

ระหว่างปีค.ศ. 2001-2006 ผู้บริโภคใช้เวลาเฉลี่ยไปกับการบริโภคสื่อ
ที่ต้องจ่ายเงิน (paid media) เพิ่มขึ้น 19.8% ในขณะที่ในช่วงเดียวกัน
การบริโภคสื่อแบบดั้งเดิม เช่นทีวี วิทยุ หนังสือพิมพ์ กลับลดลง 6.3%
นับว่าเป็นเรื่องที่น่าประหลาดใจ

ประเมินว่า ในปีค.ศ. 2010 การใช้จ่ายเพื่อโฆษณาบนสื่อออนไลน์
จะมีประมาณ 5.4 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งหมายความว่าจะแซง
การโฆษณาบนสื่อสิ่งพิมพ์ ที่คาดว่าจะมีการใช้จ่ายเพียง 5.15
นั่นก็พอจะเป็นดรรชนีชี้วัดได้ว่า ผู้คนใช้จ่ายเวลาในโลกออนไลน์
มากกว่าโลกภายนอกที่จับต้องได้อย่างสิ่งพิมพ์

ข่าวสุดท้ายเป็นข่าวต่างประเทศ รายงานเรื่อง
ปฏิบัติการโจมตีโลกไซเบอร์ ปฏิบัติจารกรรมของจีน

มีตัวเลขระบุไว้ว่าคอมพิวเตอร์ของหน่วยงานด้านการทหาร
และรัฐบาลของชาติตะวันตกถูกโจมตีอยู่ทุกๆ วินาที
โดยกระทรวงต่างประเทศของสหรัฐเพียงแห่งเดียวพบว่า
เครือข่ายในกระทรวงถูกเจาะเข้าไปถึงวันละราว 2 ล้านครั้ง!

ขอรวบรายละเอียดทั้งหมดมาสรุปในไม่กี่บรรทัดว่า
เครือข่ายคอมพิวเตอร์ของเยอรมนี, อังกฤษ, และสหรัฐอเมริกา
ทั้งกระทรวงการต่างประเทศ, กลาโหม และข้อมูลของรัฐบาล
ได้ถูกแฮกเกอร์มือดีจากจีนเจาะทะลวงเข้าไปเพื่อหาความลับ

ซึ่งผู้วางแผนด้านกองทัพของสหรัฐเกรงว่าการที่จีนเปิดฉากจารกรรม
บนโลกไซเบอร์นั้น อาจจะไม่ใช่เพียงการจารกรรมธรรมดาเท่านั้น
แต่อาจจะเป็นการเตรียมการสำหรับสงครามในอนาคตกับไต้หวัน
และประเทศอื่นๆ

ในรายงานล่าสุดของเพนตากอนเกี่ยวกับเรืองกำลังของ
กองทัพประชาชนจีนประจำปี 2007 ระบุไว้ว่า พีแอลเอ
ได้พัฒนาระบบขึ้นมาโดยเฉพาะเพื่อการใช้คอมพิวเตอร์ในการโจมตี
โดยเฉพาะ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของปฏิบัติการทางทหารของจีน
และในการฝึกกำลังทหารล่าสุดของจีนนั้น ก็มีการฝึกเพื่อโจมตี
คอมพิวเตอร์ของฝ่ายศัตรูด้วย โดยสมมติให้มีการโจมตี
ระบบปฏิบัติการเครือข่ายของกองทัพอเมริกาจนใช้งานไม่ได้
หรือทำให้ส่งผลกระทบถึงชีวิตของพลเรือน

ในรายงานระบุว่า พีแอลเอได้ลงทุนกับไปกับระบบการต่อสู้
ทางอิเล็กทรอนิกส์และระบบการป้องกันการโจมตีด้านอิเล็กทรอนิกส์
รวมไปถึงระบบปฏิบัติการเครือข่ายคอมพิวเตอร์ต่างๆ นอกจากนี้
พีแอลเอยังได้สร้างหน่วยงานเพื่อการพัฒนาไวรัสสำหรับโจมตี
ระบบคอมพิวเตอร์และเครือข่ายคอมพิวเตอร์ของศัตรู

ซึ่งหากจีนประสบความสำเร็จในการครอบงำโลกไซเบอร์เอาไว้
นั่นหมายความว่า กองทัพจีนที่อ่อนแอกว่าก็จะสามารถเอาชนะ
กองทัพอเมริกันที่แข็งแรงกว่าได้ โดยไม่ต้องพึ่งพากำลังทหาร
เหมือนเมื่อก่อน

นี่นอกจาก ‘รัก’ กันแล้ว เรายังจะ ‘รบ’ กันในโลกเสมือนอีกด้วย!

ด้านรัฐบาลจีนที่ตกเป็นผู้ต้องสงสัย ได้ออกมาปฏิเสธข้อกล่าวหาต่างๆ
และว่า เป็นเรื่องที่ไม่มีมูลความจริงแต่อย่างใด โดยผู้เชี่ยวชาญ
ของจีนผู้หนึ่งกล่าวว่า แฮ็กเกอร์อาจจะใช้คอมพิวเตอร์ของจีน
ที่ไม่ได้มีระบบรักษาความปลอดภัยเพื่อปลอมตัวเข้าไปเจาะระบบ
คอมพิวเตอร์ของรัฐบาลต่างๆ แล้วป้ายความผิดให้กับรัฐบาลจีน

โดยหลังจากถูกกล่าวหา นางเจียง หยู โฆษกกระทรวงต่างประเทศ
ของจีนก็ได้ออกมาประกาศว่า การเจาะระบบข้อมูลคอมพิวเตอร์นั้น
เป็นปัญหาระหว่างประเทศ และจีนเองก็พร้อมที่จะร่วมมือกับประเทศอื่นๆ
รวมทั้งสหรัฐ ในการปราบปรามอาชญากรอินเตอร์เน็ต

จริงอยู่ครับ โลกเสมือนอาจเคยเป็นโลกคนละใบกับโลกที่เราอาศัย
หายใจสูดอากาศ “จริงๆ” เข้าปอดกันอยู่ แต่ยิ่งวันโลกสองใบนี้
ก็ยิ่งจะหลอมรวมกันเป็นใบเดียว และยากจะแยกออกจากกัน
เพราะสิ่งที่เชื่อมโลกสองใบนี้ด้วยกันก็คือ “คน” นั่นเอง
เป็น “คน” ที่มีอารมณ์ มีความรู้สึก มีความสัมพันธ์ มีความผูกพัน
มีความรัก มีความอาฆาต มีความอยากเอาชนะ มีความหิวอำนาจ
มีความบ้าพลัง กระหายการต่อสู้ มีทุกอย่างที่ “คนจริงๆ” มี
เมื่อ “คนจริงๆ” เข้าไปอาศัยในโลกใบไหน โลกใบนั้นก็ไม่ใช่
“โลกเสมือน” อีกต่อไป ยิ่งวันมันก็ยิ่งจะกลายเป็นโลกแห่งความจริง

*ขอบคุณมติชนสุดสัปดาห์สำหรับความรู้และข้อมูลครับ

15 Responses to “รักและรบในโลกเสมือน”

  1. อุ๋ม Says:

    อ่านแล้วสะเทือนใจนะ
    ไม่รู้ซิ
    โลกไซเบอร์มันทำให้ความฝันของหลายๆคน
    เป็นจริงขึ้นมาได้
    แต่มันก็ทำให้ใครหลายคน
    เริ่มที่จะขยาด

  2. Qingqing Says:

    อือ จริงนะ เหมือนแยกกันไม่ออก มันเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตเราไปแล้ว .. แต่..เราไม่ได้ปลอมตัวเป็นใครนะ ^_^

    (นอกเรื่อง.. รัฐบาลไทยกำลังเตรียมส่งมอบศาลาไทยให้รัฐบาลญี่ปุ่นไปตั้งไว้ที่สวนอุเอโนะในโตเกียวในโอกาสครบรอบ 120 ปีความสัมพันธ์ทางการทูตไทย-ญี่ปุ่น วันที่ 26 กันยานี้ จบข่าว..)

  3. jummdcu Says:

    โลกนี้ต้องการคนที่มีหัวใจที่เข้มแข็ง+ดีงาม
    (ทั้งโลกแห่งความจริง และโลกเสมือนจริง)
    😀


  4. แง เครื่องบินตก น่ากลัวจัง

  5. pattararanee Says:

    คนบนโลกจริง ส่วนหนึ่งก็จับมือกันแก้ไข ‘สภาวะโลกร้อน’

    และก็คนในโลกจริงอีกน่ะแหล่ะ ที่ยังอยากได้ไม่สิ้นสุด

    อืมม จะเกิด ‘จอมบงการ’ คนใหม่อีกแล้วเหรอ

    จะทะเลาะกันไปถึงไหน?

    คนเราหนอคนเรา เฮ้ออออออ

    *ว่าแต่ ท่านนิ้วฯ คงไม่เอาเรื่อง…
    โลกจริงกับโลกเสมือนนี้ ไปใช้เป็นพล็อตนิยายเรื่องใหม่น้า อิอิ


  6. เคยได้ยินมาหลายทีเกี่ยวกับเรื่องการแชทกันทางโปรแกรมต่างๆหรือแม้กระทั่งแชทผ่านเกมออนไลน์ ซึ่งก็ถือเป็นโลกเสมือนอย่างหนึ่งอย่างที่พี่ว่า และนั่นก็เป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้เกิดการนัดเจอกันในโลกจริง จนกลายเป็นโศกนาฏกรรมที่เคยอ่านเจอตามหน้าหนังสือพิมพ์ ใครที่ไม่เข้าใจในความเจริญอันนี้ก็จะมองว่าเป็นเรื่องไร้สาระที่หยิบยกมาอ้างอิงในการนำเสนอข่าว แต่หารู้ไม่ว่าคนที่อยู่รอบข้างตัวเองบางครั้งได้กลายเป็นคนไม่มีตัวตนในโลกจริงไปแล้ว ฟังดูอาจงง แต่มันก็เกิดขึ้นจริง!!

    ที่เพิ่งเขียนไปเป็นความคิดที่คิดมาตลอดว่ามันเริ่มร้ายแรงขึ้นเรื่อยๆเกี่ยวกับวงการไอทีในบ้านเรา และยิ่งควบคุมแก้ไขยากขึ้นเช่นกัน

    แต่พอได้อ่านที่พี่เขียนแล้วมันดูน่ากลัวมากๆ เคยรู้มาบ้างเกี่ยวกับความร้ายแรงในระดับชาติแต่ไม่คิดว่าหากมาพูดถึงความน่ากลัวของมัน มันจะน่ากลัวเพียงนี้เชียวหรือ กลุ่มคนในโลกใบนี้ถ้าแบ่งแยกออกเป็น 4 กลุ่ม(ตามความคิดผม) จะแยกได้เป็น
    1.กลุ่มคนที่เชี่ยวชาญเกี่ยวกับโลกเสมือนที่สามารถนำสิ่งที่พวกเขาคิดขึ้นมาได้มาบงการสิ่งต่างๆในโลกจริงได้
    2.กลุ่มคนที่รู้จักและหมกมุ่นอยู่เพียงบางส่วนของโลกเสมือน แต่กลับใช้บางส่วนนั้นเป็นที่สำหรับใช้ชีวิต
    3.กลุ่มคนที่รู้จักหลายๆส่วนของโลกเสมือน และยังสามารถใช้ชีวิตในโลกจริงได้
    4.กลุ่มคนที่ไม่รู้ว่าโลกเสมือนมีอยู่จริง
    จากข่าวที่พี่เล่าให้ฟัง สาเหตุของความร้ายแรงต่างๆน่าจะมาจากกลุ่มคนที่1 เพราะในโลกเสมือน ทุกสิ่งทุกอย่างสามารถเป็นไปได้ และพวกเขาจะเป็นกลุ่มที่เหนือกว่าทุกๆกลุ่มแน่นอน
    กลุ่มคนที่3น่าจะเป็นกลุ่มที่น่าห่วงน้อยที่สุดหากเกิดปัญหาเกี่ยวกับโลกเสมือนที่กระทบมาถึงโลกจริง แต่กลุ่มที่น่าห่วงที่สุดก็คือกลุ่มที่4ที่น่าจะเป็นกลุ่มที่มีจำนวนมากที่สุดนะผมว่า เพราะพวกเขาไม่รู้สามารถรู้ได้เลยว่าในโลกเสมือนนั้นเกิดอะไรขึ้น และพวกเขาก็ไม่สามารถเตรียมรับมือกันได้ แต่หากรู้มาบ้าง แล้วพวกเขาจะเอาอะไรไว้รับมือกับปัญหาล่ะ
    โอย เขียนเอง งงเอง ก้ไม่รู้เหมือนกันว่าตัวผมเองจัดอยู่ในกลุ่มไหนที่ตัวเองจัดเหมือนกัน
    ไม่รู้ว่าประตูมิติระหว่างโลกเสมือนกับโลกจริงจะเปิดเมื่อไหร่ แล้วจะมีตัวอะไรออกมาบ้าง แต่ก็ขอภาวนาให้อะไรก็ตามที่ออกมา เป็นสิ่งที่สร้างสรรค์จรรโลงโลกเถอะ
    เพราะตอนนี้โลกก็วุ่นวายพอแล้ว
    อย่าลืมสิว่า คุณก็ยังอยู่ในโลกจริงด้วยเหมือนกันนะครับคุณๆกลุ่มที่1…

    แล้วการเขียนหนังสือ หรือ การจัดรายการวิทยุ(ว่าจะไม่เอ่ยถึงแล้วนะ^^) ที่มีช่องว่างระหว่างคนเขียนกับคนอ่าน หรือ ระหว่างคนฟังกับนักจัดรายการ”ที่ไม่เคยเห็นหน้า หรือรู้จักกันมาก่อน”เนี่ย คุณนิ้วกลมว่ามันคือโลกเสมือนอย่างนึงหรือเปล่าครับ
    :]


  7. โอ้ เพิ่งรู้ตัว ยาวจังแฮะ ขอโต้ดค้าบ 😉


  8. ‘ในโลกเสมือน’คือ สื่อสัมพันธ์ เท่านั้น
    สัมพันธ์ เพื่อ ให้ได้สัมผัส ‘รัก’
    สัมพันธ์ เพื่อ ให้ได้สัมผัส ‘รบ’
    และสัมผัส ถึง ความรู้สึกลึกๆ ที่ไม่มีขีดจำกัดนั่นเอง.
    😉

  9. roundfinger Says:

    ยินดีครับ ชอบอ่านความเห็นของเพื่อนบ้านครับ
    ยาว-สั้น ไม่เกี่ยงเลยครับ : )

    ออกจะสงสัยว่าทำไมอ่านแล้วถึงรู้สึกว่า “น่ากลัว” กัน
    ผมรู้สึกว่ามันเป็นเรื่องที่น่าสนใจดีครับ
    ยิ่งเรื่องการรบ (ที่ยังไม่แน่ว่าข่าวจริง ข่าวลือ หรือข่าวสร้าง)
    ผมก็เห็นว่าน่าสนใจมาก เป็นเรื่องการวางหมากและหาจุดแข็ง
    ผมเคยนั่งดูตัวเลขจำนวนอาวุธนิวเคลียร์ของสหรัฐอเมริกาเปรียบเทียบ
    กับมหาอำนาจชาติอื่นแล้วก็นึกสงสัยในใจว่า จะเอาอะไรมาชนะได้
    หรือถ้าจะเอาชนะกันโลกก็คงแตกเป็นเสี่ยงๆ ไปเสียก่อน
    พอมาอ่านเจอข่าวนี้ก็เลยสนใจว่า อืม สงครามมันก็มีทางของมันแฮะ : )

    ส่วนเรื่องความสัมพันธ์ ผมว่า “โลกเสมือน” ไม่ได้เพิ่งเกิดขึ้นครับ
    แต่มันมีมานานแล้ว อย่างเวลาอาเสี่ยดอดไปห้องอีหนูที่เสี่ยซื้อหรือเช่าไว้ให้
    ในวันเสาร์-อาทิตย์ เสี่ยแกก็กำลังเข้าไปใน “โลกเสมือน”
    เพราะมันไม่ได้เป็นโลกที่ต้องใช้ชีวิตอยู่ด้วยเต็มๆ เหมือนโลกจริงๆ
    แต่เป็นโลกที่น่ารัก ขาวๆ อวบๆ อึ๋มๆ และมีแต่คำพูดเพราะๆ หวานๆ
    เอาอกเอาใจ ไม่เคยมีปัญหาเหมือนอีแก่ที่บ้านที่ต้องเผชิญปัญหา “จริงๆ” ร่วมกัน

    คนในเน็ต “สร้าง” ตัวตน “เสมือน” ของตัวเองขึ้นมา
    และหลงใหลในตัวตนของคนอื่น เพราะเรามี “ระยะห่าง” ระหว่างกัน
    ระยะห่างนั้นทำให้เราซ่อน “ความจริง” แย่ๆ เอาไว้ได้
    เพราะไม่ได้ใช้ชีวิตหรือแชร์ความคิด ร่วมประสบการณ์กันตลอดเวลา
    ผมจึงคิดว่า ไม่แปลกที่คนจะหลงคนในเน็ต เพราะเรามักจะได้เห็นแต่ตัวตนด้านดี
    แต่หากลองมาใช้ชีวิต “จริงๆ” ด้วยกัน ก็ย่อมมีปัญหาให้ช่วยกันฝ่าฟันทั้งนั้น

    สำหรับ “หนังสือ” ผมก็คิดว่ามันเป็นโลกอีกใบของมันครับ
    “ระยะห่าง” ระหว่างวิทยุกับผู้ฟัง หรือ หนังสือกับผู้อ่าน
    ก็เป็น “ระยะห่าง” แบบหนึ่ง จะจริงหรือเสมือนแค่ไหน
    ก็อยู่ที่คนคนนั้นจะ “สร้าง” หรือจริงใจแค่ไหน

    แต่ผมก็มองว่ามันเป็น “ของจริง” นะครับ เพราะมันเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตจริง
    ค่อนข้างต่างจาก “โลกเสมือน” ในอินเตอร์เน็ตที่โต้ตอบ แลกเปลี่ยนใกล้ชิด
    บางเกม บางโปรแกรมก็ต่อสู้ และใช้ชีวิตในนั้นได้เหมือนจริง จึงง่ายที่ผูกพันกัน
    เกลียดกัน รักกัน ซึ่งมันดู “จำลอง” โลกได้ “เสมือนจริง” มากกว่า

    และยิ่งสำหรับคนที่กำลังเบื่อโลกจริงๆ ที่เขาอาศัยอยู่ เขาก็จะไปหมกตัว
    ในโลกเสมือนและให้เวลากับมันในสัดส่วนที่มากขึ้นเรื่อยๆ
    นั่นอาจทำให้เขาค่อยๆ ตีตัวออกห่างและปฏิเสธโลกจริง ตัดตัวเองไปอยู่
    ในโลกส่วนตัวใบนั้น โลกที่เขาเลือก accept และ delete ผู้คน
    ที่มาสัมพันธ์ด้วยได้ง่ายๆ ควบคุมมันได้ง่ายกว่าเหตุการณ์ในโลกจริง

    อีกอย่างที่น่าพูดถึงก็คือ ความสัมพันธ์ในเน็ตหรือโลกเสมือนก็ไม่ได้แย่เสมอไป
    มีความสัมพันธ์ดีๆ เกิดขึ้นมากมาย และ “เน็ต” ก็เป็นแค่ช่องทางสร้างสัมพันธ์
    เท่านั้น ไม่ต่างจาก โทรศัพท์, จดหมาย, กระดาษโน้ต, กระดานข่าวกลาง, ฯลฯ
    มีเยอะแยะไปที่สังคมในเน็ตไปเจอะเจอและคบหาเป็นเพื่อนที่ดีต่อกันในโลกจริง
    และยิ่งวันผมก็ว่ามันยิ่งจะเยอะขึ้น เพราะโลกทุกวันนี้มีเรื่องราวหลากหลายมาก
    แต่อินเตอร์เน็ตช่วย “จำกัด” ขอบเขตความชอบให้หดแคบลง
    คอการเมืองก็มาหมกตัวถกกันในห้องนี้, คอหนัง, คอหนังสือ, คอบอล, คอหมูย่าง
    ก็หมกตัวในห้องที่ต่างกันไป นั่นทำให้ง่ายที่จะเกิดสังคมที่ผูกสัมพันธ์กัน
    เหมือนที่เพื่อนผมเคยจินตนาการอยากหาแฟนใน Tower Records
    เพราะมันเชื่อว่าคนที่มายืนฟังเพลงคงชอบเพลงในแบบเดียวกัน
    เหมือนที่ผมเคยจินตนาการอยากหาแฟนในห้องสมุด เพราะคิดว่าเราคงคุยกัน
    เรื่องหนังสือได้อย่างสนุกสนาน ยืมหนังสือ แนะนำหนังสือกันอ่านได้
    มาถึงยุคนี้ยิ่งง่ายเลย เพราะอินเตอร์เน็ต เว็บไซต์ และบล็อกได้แบ่งคน
    ออกเป็นประเภทตามความชอบเอาไว้ให้แล้วคร่าวๆ

    โลกเสมือนก็เป็นโลกใบเล็กๆ ในโลกจริงของเรา
    และมันก็เป็นส่วนหนึ่งในโลกจริงที่มีร้านข้าวมันไก่, มีโถส้วม, มีน้ำให้เราดื่ม
    เรายังต้องการโลกใบนั้นเพื่อกิน อยู่ ขับถ่าย ไม่ว่าจะหลงใหลโลกเสมือนแค่ไหน
    เราก็ต้องออกมากินข้าวมันไก่ในโลกจริงอยู่ดี ต่อให้จะสั่งซื้อได้ในนั้นก็เถอะ

    ผมก็เลยคิดว่า เรื่องราวของโลกเสมือนไม่ได้น่ากลัวอะไร
    มันเป็นอีกหนึ่งความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในโลกใบนี้
    โลกที่คนไม่เคยพอใจ และพยายามหนีไปอยู่ในโลกเสมือนมาตลอด


  10. เยี่ยมยอด .. ไปเลย
    น่านแหละใช่เลย..


  11. แต่ผมว่า”คอหมูย่าง”น่าจะหมกตัวได้ในทุกห้องนะครับ 555+
    ล้อเล่นครับ :]

  12. กระดาษโน้ต Says:

    เวลาอยู่ในโลกเสมือน ก็อย่าไปคิดไรมากมาย อย่าวาดหวังมากมาย เราจริงใจก็พอ ใครเขาจะยังไงก็ช่าง เรามีความสุขดีก็ดีแล้ว ก็ขนาดแค่คนที่เจอกันในโลกจริงๆนี่ กว่าจะได้มารู้จักและเป็นเพื่อนกันยังยากเลย มันต้องใช้เวลา การพูดคุย เรื่องราว ฯลฯ และอื่นๆอีกมากมาย มิตรภาพและสัมพันธภาพดีดี ไม่ได้เกิดขึ้นได้ง่ายๆ ส่วนในโลกเสมือนนี่ เราสัมผัสคนอื่นได้ยากยิ่งกว่า ถ้าเราคาดหวังมาก จะผิดหวังมาก ถ้าเราจริงจังมาก ก็จะรู้สึกแย่ได้มากเหมือนกัน…เอาแต่พอประมาณดีกว่านะ ^_^

  13. เจน Says:

    เคยไปแอบรอผู้ชายคนนึงที่ห้องสมุด และแล้วเค้าก็มา…….พร้อมกับแฟน แป่ววว

    โลกเสมือนของเราเหมือนห้องน้ำดีๆนี่เอง วันไหนท้องผูกก็เข้านานหน่อย
    วันไหนท้องเสียก็ต้องเข้าบ่อยๆ
    แต่วันนี้สุขภาพท้องสบายดีขอเข้ามานั่งพอประมาณ อิอิ ^^

  14. undercurrent Says:

    โลกไหนมีมนุษย์เข้าไปอาศัยอยู่ โลกใบนั้นก็จะถูกทำให้ขาดสมดุลย์ไปในที่สุด ไม่ว่าโลกใบนั้นจะเป็นโลกจริง หรือโลกเสมือนก็ตาม

  15. soraris Says:

    คิดว่า..โลกเสมือนเอาไว้หนีจากโลกจริง


ส่งความเห็นที่ ยาขอบ ยกเลิกการตอบ