Archive for ตุลาคม, 2007

ความงามของโลก เผยตัวเมื่อเรามอง

ตุลาคม 31, 2007

เมื่อวานนี้ “เนี่ย ลั่ง” เรียกผมไปที่หน้าจอคอมพิวเตอร์ของเขา
“เอ๋ มานี่สิ มีอะไรจะให้ดู” เขาบอกกับผมว่า “special”
ผมเห็นใบหน้ากรุ้มกริ่มของเขาก็พอจะเดาได้ว่า
มันต้องเป็นเรื่อง “มิดีมิร้าย” แน่ๆ

แล้วก็เดาไม่ผิด สิ่งที่เขาชี้ชวนให้ผมชมมันคือ “ฉากเซ็กซ์” จริงๆ เสียด้วย
แถมยังเป็น “ฉากเซ็กซ์” ที่โจ๋งครึ่มเอามากๆ
เรียกได้ว่า “ทำ” กันกลางแจ้ง หน้าซูเปอร์มาร์เก็ต
ไม่อายหน้าอินทร์หน้าพรหมกันเลย

แต่ “ฉาก” ที่ว่า ผมกลับไม่รู้สึกว่าลามก สกปรก ซกมก
แถมยังรู้สึกว่ามันช่างน่ารักน่าชังเสียเหลือเกิน
เพราะมันเป็นการบรรเลงเพลงรักระหว่างตั๊กแตนสองตัว
ตัวหนึ่งสีน้ำตาล อีกตัวสีเขียว ดูปราดเปรียวและมีความสุข

null

ผมไม่ได้รู้สึกแค่ว่าเจ้าสิ่งมีชีวิตร่วมโลกคู่รักคู่นี้น่ารัก
แต่ผมยังรู้สึกไปด้วยว่าเพื่อนร่วมงานคนนี้ช่างน่ารักน่าเอ็นดู
คิดดูสิ ใครจะมีเวลาและดวงตาที่ใส่ใจพอที่จะไปมองเห็น
“ฉากรัก” ของตั๊กแตนหนุ่ม-สาวที่กำลังกอดก่ายกันได้แบบนี้
อาจจะมี แต่จะมีกี่คนที่สนใจ และให้เวลาจับจ้องมองมัน
และน้อยกว่านั้น ที่จะมีสักคนที่ใส่ใจถึงขนาดเก็บภาพมาฝากเพื่อน

null

ผมจึงอดรู้สึกไม่ได้ว่า “เนี่ย ลั่ง” ช่างน่ารัก
โชคดีที่เป็นชาย ถ้าเป็นหญิงสาวนี่อาจเคลิ้มไปแล้วก็ได้

หากใครติดตามอ่านบันทึกในบ้านหลังนี้มาโดยตลอด
ก็คงรู้จัก “เนี่ย ลั่ง” ในระดับหนึ่ง
ชายหนุ่มวัยไล่เลี่ยกับผม ดำรงตำแหน่งอาร์ต ไดเร็กเตอร์
มี “จวงจื่อ” ผู้สมถะเป็นฮีโร่ประจำใจ มาจากมณฑลฉงชิง
ชอบความเนิบช้า และไม่ค่อยอยากทะเยอทยาน
วันนี้ผมมีอีกสิ่งที่ควรจะแนะนำมาบอกกล่าว
“เนี่ย ลั่ง” เป็นมนุษย์ที่ชอบพกกล้องส่องโลก
กล้องที่เขาใช้ตัวใหญ่ไม่ใช่เล่น แต่ผมชอบ “สี” จากกล้องของเขา
มันธรรมชาติดี ติดก็แต่ว่ามันใหญ่ พกไปไหนไม่ค่อยสะดวก
แต่นั่นไม่ใช่ปัญหาสำหรับเขา บางวันที่พวกเราเดินออกไปกินข้าวกลางวัน
หากมีอารมณ์ เขาก็มักจะสะพายมันขึ้นไหล่ กดชัตเตอร์เก็บ “ข้างทาง” ไปเรื่อย

“my eyes” เขาเรียกกล้องเทอะทะของเขาว่าอย่างนั้น

ผมออกจะชอบภาพถ่ายฝีมือเขา มันไม่ได้แปลกประหลาดพิสดาร
แต่มันก็สวยในแบบที่โลกเป็น มุมมองปกติ แต่ “จับ” อารมณ์ในชั่วขณะนั้นได้
เด็กทำไอศกรีมหล่นแล้วร้องไห้ ไข่แตก คนแก่คุยกัน หนุ่มสาวกอดกันอุ่นๆ
เนี่ย ลั่ง เก็บสถานการณ์เล็กๆ ต่างๆ เหล่านี้ใส่กล้องของเขาเสมอๆ
รวมไปถึงรายละเอียดเล็กๆ ของโลกที่คนทั่วไปมักมองข้าม
โถปัสสาวะรูปร่างแปลกๆ พื้นดินแยกเป็นรูปรอยยิ้ม ปลั๊กไฟที่มองไปเหมือนหน้าบึ้ง
ฯลฯ, ฯลฯ, ฯลฯ

เขาถ่ายรูปมากมายจริงๆ นั่นหมายความว่า เขา “มอง” โลกมากเช่นกัน

วันนั้น พวกเรานั่งทำงานกันอยู่ดีๆ พอ เนี่ย ลั่ง มองเห็นว่าวันนี้เมฆสวย
ก็ชวนนิกกี้, ซูซี่ วิ่งขึ้นไปบนดาดฟ้าชั้นเก้าของตึกบริษัทเรา
ผมมองตามและรีบวิ่งตามขึ้นไป ฟ้าสวยจริงๆ ด้วย
เมฆในช่วงก่อนฤดูใบไม้ร่วงในช่วงห้าโมงเย็นเหนือมหานครเซี่ยงไฮ้
สวยเหลือเกิน ผมเองก็เก็บใส่กล้องมาหลายก้อนอยู่

เนี่ย ลั่ง บอกกับผมว่า “ช่วงนี้เมฆสวยทุกวัน”
เรานัดกันว่าพรุ่งนี้จะขึ้นมาถ่ายรูปอีก
เมื่อเก็บเมฆเสร็จ เราก็ลงมาเก็บงานที่คั่งค้างกันต่อ

ผมชอบพวกเขา แม้ว่าบางครั้งจะดูใส่ใจกับการงานน้อยไปบ้าง
แต่บางครั้งเขาก็สอนผมอ้อมๆ เช่นกันว่า
นอกหน้าต่างนั้นยังมีความงามให้พักผ่อนและมองมันบ้าง
หากมัวแต่ทำงาน ก้มหน้าก้มตาอยู่แต่สิ่งที่ต้องรับผิดชอบ
แล้วปล่อยให้เมฆก้อนสวยลอยผ่านไป วันนี้ก็พลาดความงามไปหนึ่งอย่างแล้ว
ทำงานหนักแต่ก็พักมองเมฆได้ ผมได้มองเมฆก็เพราะพวกน้องๆ แท้ๆ

ผมบอกให้ เนี่ย ลั่ง ส่งรูปชุดนี้ให้กับผม รูปตั๊กแตนคู่ชู้ชื่น
เขาใส่ลงไปในแฟ้มของผม แล้วบอกกับผมว่า “ไฟล์ชื่อ Happy Time”
ว่าแล้วก็หัวเราะ ผมยิ้มให้เขา แล้วก็เปิดมันออกมาดู
ผมถามว่า “Happy Time ที่ว่าเนี่ย มันนานไหม”
เขาบอกว่า นานมาก เขาถ่ายเก็บไว้ แล้วเดินเข้าไปซื้อของในซูเปอร์มาร์เก็ต
ออกมาดูมันอีกครั้ง มันก็ยังเริงรักกันอยู่เลย

แหม ช่างน่าอิจฉา

ภาษาอังกฤษของ เนี่ย ลั่ง ไม่แข็งแรงนัก แต่คราวนี้ผมว่า
เขาตั้งชื่อไฟล์ได้น่ารักดี และผมว่ามันก็ไม่ใช่ “ช่วงเวลาแห่งความสุข”
เฉพาะของเจ้าตั๊กแตนสองตัวนี้เท่านั้น แต่ยังเป็นความสุขของผู้ถ้ำมอง
อย่างเขาด้วย

จริงๆ แล้วเรื่องเล็กๆ สวยๆ ขำๆ แบบนี้เกิดขึ้นทุกวันรอบๆ ตัว
แต่เรามัวแต่ก้มหน้าก้มตาอยู่กับสิ่งเดิมๆ ในโลกใบแคบๆ ของเรา
บางครั้งก็รีบเดินไปข้างหน้า จนไม่มีเวลามองโลกเล็กๆ
ด้วยดวงตา “มาโคร” ทำให้ละเลยความอัศจรรย์เหล่านี้ไป

บางที วันไหนมีเวลา ผมคิดว่าจะลองมองโลกด้วยตามาโครดูบ้าง
คิดว่าน่าจะเจอความอัศจรรย์หลายอย่างที่ซ่อนตัวอยู่ในความธรรมดา

“ตามความเป็นจริงแล้ว เราอยู่ท่ามกลางความไพศาลและความอัศจรรย์นานา
หมู่ดาวถึงสามแสนล้านดวง ต้นไม้มุมสวน หมู่นกที่โผบิน แมลงปอปีกใส
เห็นตาช่ายเส้นเลือด คือความอัศจรรย์ของชีวิตที่บอบบาง
การอยู่อย่างไม่สัมผัสสัมพันธ์กับความอัศจรรย์เหล่านี้คือการมีชีวิตอยู่กับ
ความจริงที่น่าอับเฉา”
จอห์น เลน เขาว่าไว้อย่างนั้น
และผมก็ว่ามันก็จริงอย่างที่พี่เขาว่า
จะน่าเสียดายแค่ไหน หากเราต้องจากโลกไปโดยที่ไม่ได้เห็น
ความงามและความอัศจรรย์เหล่านี้เลย

ความงามและความอัศจรรย์เกิดขึ้นรอบตัวทุกวัน
มันเปิดการแสดงให้มนุษย์ชมไม่รู้วันละกี่รอบต่อกี่รอบ
แต่ถ้าเราไม่มีเวลาตีตั๋วเข้าชม ก็คงไม่มีวันได้ยิ้มไปกับมัน
และคงไม่มี “Happy Time”

ความสุขมีเวลาให้เราเสมอ แล้วเราล่ะ มีเวลาให้ความสุขหรือเปล่า?

null

ฤดูใบไม้ง่วง

ตุลาคม 30, 2007

กลับมาเซี่ยงไฮ้คราวนี้ใบไม้ไม่เหมือนตอนก่อนที่จะจากไป ก่อนไปมันยังเต่งตึงขึงขังมีกำลังวังชา ตั้งตรงชี้โด่ขึ้นฟ้าท้าลมงัดหัวสู้กับน้ำฝนที่หล่นมา สีสันก็เขียวสดมันปลาบอวดสุขภาพที่ดี แต่พอกลับมาอีกที ไหงใบไม้ทั้งหลายกลับง่วงเหงาหาวนอน ทำท่าทำทางสิ้นไร้พลังเรี่ยวแรง หัวห้อย สัปหงก แกว่งไกวไปมา เหมือนคนอดนอนมาหลายสัปดาห์ยังไงยังงั้น แต่ละใบซีดเซียว เปลี่ยนสีเป็นสีน้ำตาล เหลือง เริ่ม แห้ง กรอบ และแก่ พร้อมที่จะ “ร่วง” ลงมานอนหัวหนุนพื้นคอนกรีตแล้วหลับไหลไปตลอดกาล

อืม ดูใบไม้แต่ละใบช่าง “ง่วง” และอยาก “ร่วง” เสียเหลือเกิน

จะว่าไป อาจถึงฤดูกาลที่ใบไม้ควรจะได้ผ่อนพักบ้างแล้วล่ะมัง หลังจากที่มันงอกเงยอวดความเขียวประดับโลกเอาไว้ตั้งแต่เดือนเมษาโดยประมาณ ถึงเดือนตุลาก็คงได้เวลานอนบ้างแล้ว ใครก็ต้องการการพักผ่อนทั้งนั้น และทุกสิ่งก็ต้องหมุนเวียนเปลี่ยนผันด้วยกันทั้งนั้นใช่ไหม

วันนั้นในงาน แมว ณ ต้นไม้ หลังจากที่มีเพื่อนร่วมงานคนหนึ่งเอ่ยปากถามถึงความยากลำบากในการเขียนหนังสือ แล้วได้ฟังคำตอบจากปากใต้ตาตี่ของพี่ก้อง ก็ทำให้ต้องขยับคางลงไปชนไหปลาร้า เพราะเห็นด้วยกับคำของพี่เขา และเห็นว่าเรารู้สึกคลับคล้ายกัน พี่ก้องตอบว่า งานเขียนนั้นยากที่สุดตอนเริ่ม และก็มารู้สึกดีเอาตอนที่หนังสือเสร็จเป็นรูปเป็นเล่ม แต่ก็ดีใจได้ไม่นาน เพราะพอคิดถึงเล่มใหม่ ก็ต้องกลับไปเริ่มต้นที่ศูนย์อีกครั้ง และก็เข้าสู่กระบวนการที่ยากที่สุดอีกหน

ครับพี่ ผมเห็นด้วย

วันนั้นนั่งคิดตามไป ก็นึกขึ้นมาได้ว่า จริงๆ แล้วงานเขียนนั้นไม่ต่างกับการหว่านไถและเก็บเกี่ยวผลผลิต นักเขียนเองก็ไม่ต่างกับเกษตรกร แต่ก็อมความคิดเอาไว้ในปากป่องๆ และเก็บงำนำมาคิดต่อระหว่างนั่งชักโครกที่บ้าน ก็ได้ความว่า หรือที่จริงแล้วทุกอาชีพต่างก็มี “ฤดูกาล” ของแต่ละคน และเราเองก็ต่างเป็นเกษตรกรด้วยกันทั้งนั้น

เริ่มต้นจากการลงมือหว่านเมล็ด ปักต้นกล้า ซึ่งต้องใช้เวลา แรงงาน และความตั้งใจในปริมาณมหาศาล นึกถึงการงานของตัวเอง งานโฆษณานั้นในช่วงเริ่มคิด “ไอเดีย” เพื่อที่จะนำมาเล่าเรื่องก็คิดกันอย่างหนัก พอผ่านไปได้ก็ต้องให้เวลากับการรดน้ำ พรวนดิน ใส่ปุ๋ย เพื่อให้ “ต้นกล้าไอเดีย” ค่อยๆ เติบโตเป็นต้นที่สมบูรณ์ แข็งแรง ทนทานต่อมด แมลง ตั๊กแตน ตัวหนอนที่จะคอยมาบ่อนทำลาย ต้องดูแลประคบประหงมอย่างดีกว่าที่มันจะสำเร็จออกมา และก็ได้มานั่งชื่นชมมันตอนที่ได้เห็นมันในทีวี แล้วได้ชี้ชวนให้ป๊าให้แม่ให้อาแจ้ได้ร่วมเฮฮาไปกับมัน แล้วยืดอกยกหัวนมอย่างภูมิใจว่า งานนี้ของผมนะคร้าบ!

ซึ่งจริงๆ แล้วใครก็เป็นเช่นนั้นใช่ไหม?

นึกไปถึงเพื่อนๆ ร่วมคณะ สถาปนิกก็ต้องหว่านเพาะแบบร่าง เขียนแบบ และค่อยๆ ลงมือปลูกสร้าง ก่อนที่จะมานั่งชื่นชม ถ่ายรูปอาคารตอนสำเร็จ, ครูบาอาจารย์ก็เป็นแบบนั้นเช่นกัน ประคมประหงมดูแล “ต้นกล้าลูกศิษย์”, หมอก็ดูแล “ต้นกล้าคนไข้”, นักการตลาดก็ดูแล “ต้นกล้าสินค้า”, ทนายความก็ดูแล “ต้นกล้าคดี”, ผู้กำกับก็ดูแล “ต้นกล้าบท และต้นกล้าหนัง”, นักร้องก็ดูแล “ต้นกล้าเพลง” กระทั่งสุดท้ายก็สำเร็จจนได้บรรเลงให้คนอื่นฟัง และเมื่อได้เห็นรอยยิ้มของคนที่ได้รับตัวโน้ตและเนื้อร้องของเราหย่อนใส่เข้าไปในรูหูของเขา เราก็ดีใจยิ้มกว้างไม่ต่างอะไรกับเกษตรกรที่ยิ้มออกเมื่อเห็นผลมะเขือเทศสุกปลั่งอยู่เต็มไร่

ก่อนจะถึงฤดู “เก็บเกี่ยว” ก็ต้องผ่าน “ฤดูเหนื่อย” ก่อนเป็นธรรมดา ฝนแล้ง, น้ำท่วม, แมลงกัดกินใบ อุปสรรคมากมายรุมเร้า ไม่ว่าใครก็ต้องผ่านฤดูกาลเหล่านั้น ดอกผลต่างต้องการเวลาในการเติบใหญ่ ไม่มีไม้ผลชนิดไหนให้ผลในชั่วข้ามคืน และระยะเวลาอันยาวนานก็มักจะนำมาซึ่งความภาคภูมิใจในฤดูเก็บเกี่ยวผลผลิต

แต่ใครจะนั่งภาคภูมิใจกับ “ผล” ที่ได้ในหนึ่งรอบการหว่านไถได้นาน หากมัวแต่นั่งยิ้มกว้างไม่ปลูกต้นกล้าใหม่ๆ ไม่หว่านไถเมล็ดพันธุ์ แล้วฤดูกาลหน้าจะเอา “ผล” ที่ไหนมาชื่นชม “ผล” ของฤดูนี้ก็มีแต่จะเหี่ยวเฉาลงไป เราจึงต้องลงแรงเพาะและปลูกต้นกล้าใหม่ๆ เสมอ เมื่อ “รอบใหม่” เดินทางมาถึง เมื่อใบไม้หายง่วง เจ้าของเรือกสวนก็ควรจะโงหัวขึ้นและเริ่มต้นฤดูกาลใหม่เช่นกัน

การงานหรือกระทั่งการเรียนต่างเป็นวัฏจักรเช่นนี้ ขยันอ่านหนังสือ ปลูกต้นกล้าความเข้าใจ เดินเข้าไปสอบ และได้เก็บเกี่ยวผลสอบที่น่าภาคภูมิ ก็นั่งยิ้มอยู่ได้หลายวัน แต่พอรู้สึกตัวอีกทีก็ต้องขยันอีกครั้งเสียแล้ว การงานก็ไม่ต่างกันใช่ไหม

ฤดูกาลหมุนเวียนเปลี่ยนผัน การงานของคนเราก็ไม่ต่างกัน
มีหว่าน และมีเก็บ
มีอุปสรรค และมีรอยยิ้มในปั้นปลาย

บางที ระหว่างฤดูฝนที่เฉอะแฉะจนรากต้นกล้าพานจะเน่า หรือฤดูแล้งที่เหือดแห้งกำลังใจจนต้นกล้าขาดน้ำหล่อเลี้ยง หากเพียงเกษตรกรมองไปข้างหน้า มองยาวไปถึงฤดูเก็บเกี่ยว ก็อาจพอจะฮึดและมีเรี่ยวมีแรงขึ้นมาได้บ้าง นึกภาพมะเขือเทศแดงก่ำลูกโตๆ เต็มไร่ วันที่เราจะได้นั่งยิ้มกับ “ผล” สวยๆ ของมัน ก็อาจส่งผลกับร่างกายราวกับได้ซดกาแฟห้าสิบแปดถ้วย

สิ่งหนึ่งที่ชาวสวนทุกคนน่าจะหันไปมองยามอ่อนล้า ก็ไม่ใช่อะไรที่ไหน แต่เป็นเพื่อนชาวสวนด้วยกันนั่นยังไง ใครๆ เขาก็เป็นชาวสวนเหมือนเราทั้งนั้น มีฤดูกาลที่หมุนเวียนเปลี่ยนผันเหมือนกัน เราไม่ได้ทำสวนอยู่คนเดียวเสียเมื่อไหร่

กระทั่งธรรมชาติก็มีช่วงเวลาของมัน ใบไม้ก็ยังสัปหงกเอาหัวผงกลงดินได้เลย นับประสาอะไรกับชาวสวน หากง่วงหากเหนื่อยจะพักผ่อนบ้างก็คงไม่เสียเวลามากมาย พืชผลที่ดูแลรดน้ำใส่ปุ๋ยธรรมชาติมักจะสวยและปลอดภัยกว่าสูตรเร่งโตทั้งหลาย

แต่ก็เช่นกันกับใบไม้ เราคงง่วงได้ไม่นานนัก เพราะขนาดใบไม้ เมื่อร่วงไปแล้ว ก็ยังงอกใบใหม่ออกมาเงยหน้าสู้ฟ้า ตั้งต้นหายใจรับฤดูใหม่ต่อไป

หากเราเอาแต่ผงกหัวง่วงเหงา ก็คงไม่ต่างจากใบไม้เหลืองๆ ที่รอวันแห้งกรอบเป็นสีน้ำตาล แล้วก็ปลิดตัวหลุดจากขั้วลงไปนอนแอ้งแม้งอยู่กับพื้น ไม่ได้ตื่นอีกตลอดกาล

ฤดูหนาวที่นี่เพิ่งเริ่มต้น ฤดูใบไม้ร่วงกำลังจะสิ้นสุดลง ความหนาวที่ยาวนานและจะหนาวมากขึ้นเรื่อยๆ เมื่อเปรียบเทียบกับหน้าที่การงานที่ฟูมฟักมาตลอด นี่ก็กำลังอยู่ในช่วงที่อุปสรรคมากมาย และต้องดูแลให้ดีที่สุด ยิ่งใกล้ฤดูเก็บเกี่ยวก็ยิ่งต้องให้ความสำคัญ ระหว่างนี้ผมก็กำลังนึกถึงวันแดดใสในฤดูใบไม้ผลิอีกครั้ง อีกหลายเดือนกว่ามันจะเดินทางมาถึง แต่ผมยังจำรอยยิ้มของเพื่อนๆ ที่สดใสร่าเริงในวันนั้นได้ พวกเราต่างคุยกันว่าเราคงจะได้ยิ้มกว้างเมื่องานสำเร็จ

แต่ก็นั่นแหละ พอยิ้มเสร็จ ก็ต้องก้มหน้าก้มตาเพาะต้นกล้าต้นใหม่กันต่อไป

คุณล่ะ กำลังอยู่ในฤดูไหน?

ลงนามเยี่ยมบ้าน

ตุลาคม 30, 2007

สวัสดีครับ

สวัสดีครับ เพื่อนบ้านทุกคนทั้งที่ตั้งใจเข้ามา เป็นขาประจำ ขาจร และบังเอิญพลัดหลงเข้ามา วันนี้ตั้งใจจะทำในสิ่งที่เคยได้ทำเอาไว้แล้ว ณ บ้านพักอีกหนึ่งหลัง (bloggang) แต่แล้วก็ย้ายกลับมาอยู่ที่นี่ (wordpress) อีกครั้ง จึงเห็นว่าน่าจะกั้นห้องหนึ่งห้องเอาไว้เพื่อ “สะสมเพื่อนบ้าน” และจะได้บอกกล่าวข่าวสารบางอย่างในอนาคตกันได้

จึงเปิดห้องและหัวข้อนี้ขึ้นมาเพื่อขอแรงเพื่อนบ้านที่แวะเวียนเข้ามาทั้งที่เปิดเผยตัวและพรางตัวราวกับทหารที่แต่งตัวเลียนแบบต้นไม้ หรือ เม็ดทรายในทะเลทราย หรือเพื่อนบ้านที่ล่องหนไร้ตัวตนราวกับลมตด เอ้ย! สายลมในฤดูหนาวอันอ่อนไหว (แหม มันช่างต่างกันเหลือเกิน) หากว่างๆ ก็ร่วมกันลงนาม เปิดร่างเผยตนออกมาให้เห็นหน้าค่าตาและตัวหนังสือกันสนุกๆ

และต้องขออภัยเพื่อนบ้านทั้งหลายที่ได้ลงนามกันไว้ ณ บ้านพักหลังโน้น (คลิก!) ถ้ายังมีแรงและเวลาว่าง มามะมาช่วยลงนามกันอีกครั้ง แต่ถ้าใครยังไม่่ว่างหรือไม่มีแรง ก็เดินไปซื้อกระทิงแดง ลิโพ เอ็มร้อย มาซดก่อนแล้วค่อยกรอกชื่อ และข้อมูลกันก็ได้ แต่ผมไม่แนะนำยาบ้าเนื่องเพราะว่าฤทธิ์อาจจะรุนแรงเกินไป เดี๋ยวจะคึกกรอกประวัติจนไม่ได้หลับได้นอน : )

กรอกอะไรทิ้งไว้ดีหนอ?
จริงๆ แล้วสิ่งสำคัญก็แค่ชื่อ (จะเป็นชื่อแฝง นามจอ นามเล่น นามจริง ก็ตามแต่ใจท่านเลยครับ) และอีกอย่างก็คือ อีเมลแอดเดรส ที่ถ้าหากฝากไว้ก็จะได้ข่าวสารน้อยๆ (ไม่เยอะ) แจ้งไปในคราวจำเป็น อย่างเช่นงาน แมว ณ ต้นไม้ ที่ผมได้ร่อนจดหมายเชิญญาติมิตรที่ลงนามไว้ไปกว่าสองร้อยฉบับ (และได้รับตอบกลับมาตั้งสิบฉบับแน่ะ!) โดยได้ความช่วยเหลือในการรวบรวมรายชื่อจาก “ปอ” (ต้องขอบคุณ “ปอ” มากๆ มา ณ ที่นี้ด้วยครับ)

ครับ ชื่อและอีเมลเอาไว้ติดต่อส่งข่าวกัน

ส่วนถ้าใครเพลิดเพลินและสนุกกับการบอกกล่าวเล่าเรื่องราวให้ฟัง จะบอกเล่าความชอบ ความคิด อะไรต่างๆ คุยกันไว้เล่นๆ ก็น่าสนุกดี เหมือนอย่างที่เคยยกตัวอย่างไป อาทิ ชอบฟังเพลงประเภทไหน, หนังสือเล่มโปรด, คติประจำใจ, สถานที่ที่ชอบที่ชอบ, อาหารจากโปรด, หนังที่ลืมไม่ลง, นักร้องที่กรี๊ด, ประเทศในฝัน, ฤดูที่โปรดปราน, สีที่ชอบ, ฯลฯ ซึ่งก็ไม่รู้เหมือนกันว่ามันมีสาระไหม แต่ผมว่ามันเหมือนเวลาที่เราเขียน Friendship ดี ไม่รู้จะเขียนทำไม แต่เวลามานั่งอ่านแล้วมันสนุกดี และก็อาจทำให้ได้รู้จักเพื่อนคนนั้นมากขึ้น : )

ว่างๆ ช่วงอู้งาน อู้เรียน หรือก่อนนอน ก็กรอกกันไว้เล่นๆ ได้นะครับเพื่อนบ้านทุกท่าน

ขอบคุณที่เข้ามาเยี่ยมเยือนกันนะครับ
และ…ยินดีที่ได้รู้จักครับ!
: )

เอ๋

ตูดในอิฐ

ตุลาคม 28, 2007

ผมเห็นรอยยิ้ม และได้ยินเสียงหัวเราะของคุณผู้อ่านที่ยืนอยู่ตรงหน้าหลายครั้ง เมื่อผมจรดปากการ่างรูป “ตูด” (ของแท้ต้องมีสิว ผด เม็ดโรคผิวหนัง และขน) ลงในหนังสือ “อิฐ”

ผมว่า “ตูด” เป็นอวัยวะที่น่ารัก และชวนให้ขำ เรียกรอยยิ้มได้ง่าย เหมือนจะเป็นจุดซ่อนเร้นแต่รูปร่างหน้าตาของมันก็อ้วนๆ กลมๆ นุ่มๆ น่าตบน่าตี (ตูดใครแข็งๆ เหลี่ยมๆ ก็เถียงมา) ตูดจึงออกไปทางน่าเอ็นดูมากกว่าน่าขยะแขยง

หลายคนพอขำเสร็จก็สูดหายใจลึกหนึ่งฟืดแล้วเอ่ยปากถามว่า “ทำไมต้องตูดด้วย?” ผมยิ้ม บางทีก็ตอบว่า “คำตอบอยู่ในเล่มครับ” ถ้าว่างหน่อยก็จะจิ้มประโยคหนึ่งในหนังสือ “อิฐ” ให้เชยชม พร้อมกับบอกด้วยว่า “ผมชอบประโยคนี้มาก”

ประโยคนั้นคือ “ถึงหากว่าการสร้างสรรค์ของข้าพเจ้าจะเป็นเพียงการผายลม อย่างน้อยที่สุดก็ย่อมจะดีกว่าการสูดดมลมที่ผู้อื่นผายออกมาอย่างแน่นอน” มันออกมาจากปาก (กา) ของ “โกวเล้ง” ครับ

ผมเคยได้ยินมาว่า วรรณกรรมชื่อก้องของ โกวเล้ง นั้น ภายในยุคสมัยของเขา ในแวดวงขีดเขียนก็ยังมีนักวิจารณ์หลายคนบ่นผ่านงานวิจารณ์ว่างานของโกวเล้งเป็นวรรณกรรมขยะ ไร้คุณค่า มิได้ต่างอะไรจากการ “ผายลม”

ใครชอบดม “ตด” บ้างครับ?
ผมนี่แหละตัวดีเลย ทั้งตดตัวเอง และตดคนอื่น
ตดมักจะสร้างความรู้สึกหนึ่งให้เกิดขึ้น และหากขยันดม เราก็จะจับได้ว่า กลิ่นนี้ท่านใดผายออกมา

ผมว่าโกวเล้งขี้เล่นดี แซวนักวิจารณ์กลับอย่างมีอารมณ์ขัน คือ อย่างน้อยกว่าจะมีงานเขียนสักเล่มนักเขียนก็ยังต้องใช้แรงเบ่ง และใช้เวลากว่าจะ “ปู๊ด” ออกมาได้ แต่นักวิจารณ์นั้นทำเพียงยื่นจมูกมาสูดกลิ่นตดจาก “ตูด” ของโกวเล้ง แล้วก็ร้องออกมาว่า “อี๋ เหม็น” เท่านั้นเอง

ผมไม่เคยรังเกียจอาชีพนักวิจารณ์ แถมยังชอบอ่านบทวิจารณ์หนัง เพลง และหนังสือเสียด้วย ผมชอบฟังมุมมองที่แตกต่างออกไป งานศิลปะมองได้ด้วย “เกณฑ์” และ “แว่น” ไม่รู้กี่ร้อยกี่พันแบบ

แต่ประโยคนี้ของโกวเล้ง เป็น “พลังใจ” ให้กับนักสร้างสรรค์ทุกคน ให้ไม่กังวลกับการเบ่งงานออกมา ต่อให้มันเป็น “ตด” แต่อย่างน้อยเราก็ได้ “สร้าง” อะไรขึ้นมาประดับไว้บนโลก และเมื่อได้รับคำติ คำวิจารณ์บ้าง ที่น่ารับฟังและนำไปสู่การพัฒนางานให้ดีขึ้นก็ไม่น่ามีปัญหา แต่หากได้รับคำบ่นที่ไม่ค่อยสร้างสรรค์ก็ไม่น่าท้อ และลองถอยออกมามองสักหน่อย ก็จะเห็นว่า อย่างน้อยเราก็เป็นคนตด และเขาเป็นคนดมกลิ่นตดเรา และนั่นอาจทำให้เราอยากจะตดต่อไป

อุปสรรคหนึ่งของการสร้างสรรค์อะไรแปลกๆ ใหม่ๆ มักจะเป็นความไม่แน่ใจ ไม่มั่นใจ ว่ามันจะดีหรือไม่ เพราะหากเราวัดมันด้วยเกณฑ์เดิมๆ วัดจากสิ่งที่มีอยู่แล้ว สิ่งที่เขาว่ากันว่าดีอยู่แล้ว สิ่งที่ขายได้อยู่แล้ว สิ่งที่ผู้คนชื่นชอบอยู่แล้ว นั่นย่อมเสี่ยงต่อการถูกกล่าวหาว่าเป็นเพียง “การผายลม”

แต่พอดีว่าผมชอบดมลมตด และไม่อยากให้คนร่วมบ้านเมืองพากันกลั้นตดจนหน้าเขียว เวลากลั้นตดนี่มันอึดอัดนะครับ หากมีคนสร้างสรรค์อะไรสนุกๆ กล้าๆ ออกมามากๆ ผมว่า โลกมันก็น่าเบื่อน้อยลง และนั่นก็เป็นเหตุผลที่ผมวาดรูป “ตูด” ปล่อยลม “ตด” ลงไปในหน้าแรก เมื่อคุณผู้อ่านถือหนังสือ “อิฐ” มาให้ขีดเขียนลายเซ็น

“ขอให้ตดให้สนุกนะครับ”
“ตดให้สนั่นไปเล้ย!”
“ว่างๆ อย่าลืมตดให้โลกดมนะครับ”
ข้อความเหล่านี้มักจะห้อยอยู่ใต้ตูดขึ้นสิว และขนหรอมแหรม

หากไม่ปวดตดก็ไม่เป็นไรครับ ดำเนินชีวิตกันตามสบายต่อไปเถิด
แต่หากใครสักคนกำลังปวดตดล่ะก็ อย่าได้ปล่อยให้ความกังวลและเกณฑ์มาตรฐานของใครคนอื่นมาทำให้เราต้องอายที่จะปล่อยลมของเราออกมา และอย่ากลั้นมันเอาไว้จนมันหายไปในช่องท้องและช่องสมองเลยครับ เบ่งให้เต็มที่ ไม่ต้องขมิบ

ตดออกมาเถิดครับ
หากไม่ตด เราก็ไม่รู้หรอกว่า
ตดของเรานั้นหอมหรือเหม็น

ความงามในหนึ่งสัปดาห์

ตุลาคม 27, 2007

กลับเมืองไทยมาได้ 7 วัน แปลกดีเหมือนกันครับ
ที่ผมพบกับ “ความงาม” บ่อยเหลือเกิน
เป็นการพบที่ทำให้คำถามในสมองค่อยๆ คลี่คลาย
ผมกำลังมีปัญหากับ “ความงาม”
หรือจะพูดให้ชัด ก็อาจต้องบอกว่า
ผมกำลังมีปัญหากับรสนิยมเกี่ยวกับความงาม
เพราะยิ่งตัวเลขอายุเพิ่มขึ้นก็เริ่มเห็นอะไรงามง่าย
จากที่ก่อนหน้านี้อยู่ในช่วงที่เห็นดีเห็นงามยากเหลือเกิน
เมื่อเห็นว่าไอ้นี่ก็งามไอ้นู่นก็งามก็เลยงง
งงว่าตัวเองหลายใจและพยายาม “มองแบบเอาใจช่วย”
มากเกินไปหน่อยไหม ซึ่งหากจะพูดจาเป็นภาษาศาสนาหน่อย
ก็อาจพูดได้ว่า “มองอย่างที่มันเป็น”
ไม่พยายามไปดัด ปรับ เปลี่ยน อะไร
มองแบบ-เออมันก็เป็นเช่นนั้นแล

เลยรู้สึกว่าตัวเองกำลังแก่และแห้งแล้งทรรศนะ
ซึ่งอาจจะดู “เป็นกลาง” เกินไปสำหรับอาชีพสร้างสรรค์
ซึ่งจะให้ดีแล้วน่าจะมีความชอบ เกณฑ์ สไตล์ และทรรศนะ
ว่าไอ้นี่ไม่สวย ฉันไม่ชอบ มันน่าจะเป็นแบบนี้สิ
แต่นี่ยิ่งวันก็ยิ่งกลายเป็น “ก้อนหิน” ที่มานั่งชมโลก
มอง-แล้วก็พยักหน้าหงึกๆ “มันก็สวยในแบบของมัน”

วันนั้น ที่งาน แมว ณ ต้นไม้ อัพ-ทรงศีล ทิวสมบุญ
พูดประโยคหนึ่งเกี่ยวกับ “ความงาม”
อัพบอกว่า “วินาทีที่เรามองภาพเขียนภาพหนึ่ง
แล้วเรารู้สึกว่า เออเว้ย สวยดีว่ะ ตอนนั้นเราก็มีความสุขแล้ว”

ผมเก็บมาคิดว่า เราควร “มอง” สิ่งต่างๆ แบบไหน
อะไรที่สวยและงามอันนั้นไม่ต้องคิดมาก ยังไงก็สุข
แต่ถ้าเป็นอะไรที่ในความรู้สึกแรกมันไม่งามล่ะ?
เราควรจะมองหา “ความงาม” ไหม หรือการที่เรารู้สึกว่า
“อี๋ อุบาทว์” นั่นมันถูกต้องแล้ว?

สองวันก่อน ผมเปิดหนังสือ “ต้นไม้สายใยชีวิต”
ของ จอห์น เลน สนพ. มูลนิธิเด็ก
มีบางข้อความในหนังสือที่เหมือนกำลังชวนผมคุย
เรื่อง “ความงาม”

“ระบบอุตสาหกรรมอย่างที่เป็นอยู่นี้ ได้เข้ามามีบทบาท
สำคัญยิ่งในกระบวนการการกีดกันศิลปะออกจาก
ชีวิตประจำวันของเรา มันทำให้เครื่องไม้เครื่องมือ
กับวิธีการประดิษฐ์ของใช้ในชีวิตประจำวันเปลี่ยนแปลงไป
เกือบชนิดหน้ามือเป็นหลังมือ ซึ่งในอดีต สิ่งเหล่านี้คือ
หนทางที่เราใช้แสดงออกซึ่งสำนึกแห่งความงาม
และความสมดุลของเรา”

เห็นจะจริง เรามีโอกาส “ประดิษฐ์” เครื่องมือเครื่องใช้น้อยลง
และเรากลายเป็น “ผู้ซื้อ” ที่ทำหน้าที่ “เลือก” ความงามมาใช้
เท่านั้นเอง

เมื่อทุกคนกลายเป็น “ผู้ซื้อ และ ผู้เลือก” นั่นเท่ากับว่า
“ความงาม” มีจำกัด และมีผู้ประดิษฐ์ความงามมาให้เราเลือก
ส่วนเราเองที่มีความงามในแบบของเรา ต่างคนต่างแบบ
ก็ได้แต่เก็บและกดมันไว้ข้างใน ไม่มีโอกาสได้แสดง
“ความงาม” ของเราออกมา

ทั้งแสดงให้ตัวเอง “ชม”
และแสดงให้ผู้อื่น “ชม”

ผมมีโอกาสได้ไปนั่งคุยกับคนที่น่าคุยหลายคน
หนึ่งในนั้นคือ “เจหวาน” นักเขียนกวนๆ
ที่คุยด้วยแล้วรู้สึกสบายใจ

ในช่วงหนึ่งของการคุยกัน ผมเล่า “คำถาม” ในหัว
ให้หวานฟัง หวานเล่าเรื่องให้ผมฟังสองเรื่อง
เรื่องแรกเป็นเรื่องของนักเขียนญี่ปุ่นคนหนึ่ง
ที่ชอบเดินทางไปนู่นมานี่ เดินทางเพื่อไป “มอง” โลก
และเขามี “ตา” ที่สนใจความงามในแบบที่ต่างไป

เขามาไทย และสนใจงานปั้น “นรก” ที่วัดแห่งหนึ่ง
มองว่ามันเป็น “ศิลปะบริสุทธิ์” คนออกความคิดคือพระ
ช่างปั้นก็เป็นคนงาน ไม่มีใครคิดว่าตัวเองเป็นศิลปิน
แต่สิ่งที่ทำมันคือศิลปะ เป็นศิลปะที่คนทำไม่ได้คิดด้วยซ้ำ
ว่าจะเรียกมันว่า “ศิลปะ”

เขาบอกว่า เขาเบื่อหน่ายกับศิลปินนามธรรมทั้งหลาย
ที่ชอบ “พูด” มากเกินกว่า “งาน”
ก็ในเมื่อศิลปะใช้ในการสื่อความคิด แล้วจะพูดทำไมให้มากมาย
หากอยากพูดเยอะๆ ก็ไม่ต้องวาดหรือปั้นหรือทำอะไรแล้ว
ก็มายืนพูดเลยดีกว่า

นั่นเท่ากับว่า เขาเห็นว่าศิลปะแบบนั้นไม่งามสักเท่าไหร่
ศิลปะที่ต้องอาศัยปากมาวาดเพิ่ม

หวานยังเล่าถึงเพื่อนอีกคนหนึ่งที่เปรียบความคิดของคน
เหมือนกระดานหก คนเราส่วนใหญ่ชอบมีความคิดสุดโต่ง
คือไม่อยู่ทางซ้ายของกระดาน ก็ขวาสุดไปเลย

ถ้าไม่ชอบเสื้อผ้าแบรนด์เนม ก็ต้องใส่ผ้าฝ้าย
หรือเสื้อห่านคู่ กางเกงปะๆ ผุๆ มือสอง ทำนองนั้น
เป็นสองฝั่งที่เพื่อนคนนั้นเรียกว่า “โอนอ่อน-แข็งขืน”
(ผมจำคำที่ถูกต้องจริงๆ ไม่ได้ ถ้าหวานเข้ามา
ช่วยแก้ให้ถูกหน่อยนะ)

คือเราก็โต้ตอบกลับด้วยการกระทำแบบหนึ่ง
และเราก็เลือกที่จะมี “ความงาม” ในแบบของเรา
ในขณะเดียวกันก็พยายาม “ปฏิเสธ” ความงาม
ฝั่งตรงข้ามไปด้วย

ผมฟังแล้วคิดว่าทรรศนะเกี่ยวกับความงามของเรา
ไม่ได้ต่างกันมากนัก แต่มีคำหนึ่งซึ่งผมว่ามันน่ารักดี
นั่นคือคำว่า “มองโลกอย่างเมตตา”

ไม่ต้องเออออห่อหมก แต่ก็ไม่ต้องยืนกรานปฏิเสธ
แต่พยายามมองสิ่งที่ไม่เห็นว่างามด้วยความเมตตา
ซึ่งผมคิดว่า “เมตตา” เป็นบันไดขั้นแรกของความเข้าใจ

คนที่มีความงามต่างไป โลกที่เต็มไปด้วยความงามล้านแปด
บางครั้งก็ต้องการดวงตาที่เมตตาหลายๆ คู่
ยิ่งในยุคสมัยที่ “ความงาม” แตกออกเป็นเสี่ยงๆ
เหมือนในทุกวันนี้

หลากหลายทรรศนะเกี่ยวกับ “ความงาม”
ที่เข้ามาปะทะกับผมในช่วงเวลาหนึ่งสัปดาห์ที่นี่
ทั้งทำให้เกิดคำถามและคลี่คลายมาซึ่งคำตอบ
ในเวลาอันสั้นและกระชับ

ผมคิดว่า ความงามในความรู้สึกแรกที่ได้พบเห็นสิ่งใดก็ตาม
นั้นสวยงามและเป็นความรู้สึกบริสุทธิ์ที่ยังไม่ไหลผ่าน
การกลั่นกรอง ขบคิด และความพยายามต่างๆ ของ
กระบวนการ “ฉลาดๆ” ในสมอง

เพราะความรู้สึกไม่ใช่เรื่อง “ฉลาด”

ส่วนความงามหลังจากวินาทีนั้น เป็นความงามที่สมอง
เริ่มเข้ามามีบทบาทในการ “พิพากษา” โดยดึงเอา
ความรู้และความคิดมากมายในหัวออกมาประมวล
เพื่อให้ข้อสรุปกับตัวเองว่า “มันงามไหม”

หลายคนมีคำตอบว่า “งาม” หลังจากคิดและมอง
ด้วยมุมที่แตกต่างไปจากมุมของตัวเอง
หลายคนตอบว่า “ไม่งาม” และคิดว่ามันน่าจะเป็น
แบบนั้นแบบนี้ บางครั้งก็อาจร้องว่า “อี๋ อุบาทว์”
หลายคนตอบว่า “ไม่งาม” แต่ก็ปล่อยมันไป
ตามแต่ที่มันเป็นอยู่ โลกมันก็ต้องคละเคล้ากันไป

บางคนตอบว่า “ไม่งาม” แต่ก็มองมันอย่างเมตตา
เมตตาในความ “ไม่งาม” ของมัน

ในขณะที่บางคนมองเห็นว่ามัน “งาม”
เหมือนอย่างที่ทุกอย่าง “งาม”
ตามหน้าที่และความเหมาะสมของมัน

และบางคนก็แค่ “รู้สึก” กับมัน
ไม่ว่าจะงามหรือไม่
เขาใช้ตาดู และก็ “วางตา”
วางวัตถุและคำพิพากษานั้นไว้ ณ ที่นั้น
แล้วเขาก็หันหลังเดินจากไป

ดอกไม้ ท้องฟ้า ก้อนหิน ตึกรามบ้านช่อง ท่อน้ำทิ้ง
ยังคงตั้งนิ่งอยู่ ณ ที่เดิม
ไร้ความหมาย ไร้ความงาม
เหมือนตอนก่อนที่เขาจะเดินเข้ามา

ความงามมาพร้อมมนุษย์ และจากไปพร้อมมนุษย์

พบกันในงานหนังสือครับ

ตุลาคม 19, 2007

สวัสดีครับ
ฮี่ฮี่ กำลังนั่งรอเดินเข้าประตูที่ 22
เพื่อมุ่งหน้ากลับไปยัง Bangkok
หลังจากที่ไม่ได้เห็นหน้าค่าตากันมานานเดือน
รู้สึกดีจังเชียว

เห็นว่ายังมีเพื่อนและพี่ถามว่าจะไปงานหนังสือวันไหน
ก็เลยมาบอกกล่าวกันสักหน่อยครับ
วันเสาร์ อาทิตย์ ทั้งสองสัปดาห์ ไปแน่นอนครับ
น่าจะไปถึงบูทอะบุ๊ก (H12 แพลนนารีฮอลล์)
ประมาณเที่ยงตรงครับ ถ้าเห่อกว่านั้น บางวันอาจจะ 11 โมง : )

วันอาทิตย์ที่ 28 เห็นว่าชาวอะบุ๊กจะเปิดตัวหนังสือใหม่กันบนเวที
เวลาประมาณบ่ายสองถึงบ่ายสามโมงครับ ไปนั่งพักขา ฮาๆ กันได้

วันที่ 23 มีงาน “แมว ณ ต้นไม้” ที่สะพานควาย
โรงละครมะขามป้อม ว่ากันว่าสีเหลืองอ๋อย
แต่ผมก็ยังไม่ทราบเหมือนกันว่าตั้งอยู่ตรงไหน
ยังไงจะหารายละเอียดมาบอกกันอีกครั้งนะครับ

แล้วเจอกันครับ
ประตูเปิดแล้ว
ไปขึ้นเครื่องก่อนล่ะคร้าบ!
: )

ถ้าเมทริกซ์ทำได้ อะไรก็ทำได้!

ตุลาคม 19, 2007

เมื่อวาน ผมเดินไปดูงานน้องอาร์ตไดเร็กเตอร์ในทีม
ผมขอให้เขาช่วยปรับ+เปลี่ยนอะไรนิดหน่อย
ประมาณว่าตัดหัวคนนี้ไปต่อหัวคนนั้น ดัดนู่นนิดนี่หน่อย
แต่งสี เพิ่มความเนียน เติมเงา ดัดเข้า perspective
ตอนพูดมันก็ง่าย ผมพูดจบภายในเวลาแค่สองนาที
แต่ไอ้ตอนทำนี่สิ ผมออกจะเป็นห่วงว่ามันจะยากไหม
ตอนนั้นมันก็ดึกแล้วเหมือนกัน ก็เลยเอ่ยปากถามเนี่ยลั่งว่า
“ยากไหม เป็นไปได้ไหม พอทำได้ไหม?”
เขาก้มหน้า ยิ้มเจื่อนๆ หัวเราะแหะๆ ในใจคงคิดว่า
“ให้บิดาพี่มาทำน่าจะเหมาะกว่า” แต่ก็ฝืนยิ้มแล้วตอบออกมาว่า
“ถ้าเมทริกซ์ทำได้ อะไรก็ทำได้”

ผมไม่เข้าใจประโยคของเขา จึงเอ่ยปากถามว่า
“ว่าไงนะ ไม่ค่อยเข้าใจ” เขาก็ยิ้มกว้างเลยคราวนี้
เรียกนิกกี้มาเป็นล่ามช่วยแปลภาษาให้ ได้ความว่า
“ถ้าหนังอย่างเมทริกซ์ยังทำออกมาได้ โลกนี้ไม่มีอะไรที่ทำไม่ได้หรอก”
นับประสาอะไรกับการตัดหัวต่อตัวปรับสีเปลี่ยนรูปร่างแค่นี้
พอได้ฟังคำแปล ผมหัวเราะลั่น แล้วกำมือชูขึ้นบริเวณหน้าอก
พร้อมกับทำท่าทุบอากาศหนึ่งทีแบบแน่นๆ ทำตามุ่งมั่น
แล้วบอกกับเนี่ยลั่งว่า “นั่นสิ ถ้าเมทริกซ์ทำได้ อะไรก็ทำได้”
แล้วเราก็หัวเราะกันจนลืมความยากไป

นิกกี้หันไปแซวเนี่ยลั่งว่า “แกมันเก่งที่สุดในโลกแล้ว”
เหมือนจะบอกว่า “เมทริกซ์มันระดับไหน แล้วแกมันระดับไหน”
ผมขำ แต่ก็หันไปบอกเนี่ยลั่งว่าผมชอบประโยคของเขามาก
ผมว่ามันตลกแต่ก็ฮึกเหิมดี เป็นการเปรียบเทียบที่น่าสนใจ

เนี่ยลั่งถามผมว่าเคยดูดีวีดีเบื้องหลังเมทริกซ์ไหม
มันมีตั้งเก้าแผ่น!!

ลองคิดดูสิครับ หนังจริงๆ มีสามแผ่น (สามภาค)
แต่เบื้องหลังล่อไปเก้า!!

สิ่งที่เราเห็นมักจะเป็นขั้นตอนสุดท้าย และ “ก่อนนั้น”
มักจะ “ยาว” และ “เยอะ” กว่าเสมอ

กลับไปที่ประโยคทองของเนี่ยลั่ง
“ถ้าเมทริกซ์ทำได้ อะไรก็ทำได้”
ผมว่ามนุษย์เรามีความคิดแบบนี้จริงๆ นั่นแหละ
คือเราจะให้ขอบเขต “ความเป็นไปได้” เอาไว้เท่าที่เราเคยเห็น
เท่าที่เราเคยรับรู้ หากเราไม่เคยเห็นเครื่องบินเราก็จะไม่เชื่อว่า
เรือเหล็กลำยักษ์แบบนั้นจะเหาะกลางอากาศได้ (ได้ไงวะ?)
และหากไม่เคยเห็นเครื่องบินคองคอร์ด เราก็คงไม่เชื่อว่า
ไอ้เรือเหล็กหนักๆ นี้จะบินเร็วเหนือเสียงได้
แต่พอเคยเห็น พอเคยรู้ ขอบเขตความเป็นไปได้ในใจก็จะถ่างกว้างออกไป

และสำหรับนักพัฒนาทั้งหลายที่ไม่ยอมหยุดอยู่แค่นั้น
เมื่อเห็นนก ก็ทำเครื่องร่อน เห็นเครื่องร่อนก็ทำเครื่องบิน
เห็นเครื่องบินก็ทำคองคอร์ท เห็นคองคอร์ทก็ทำจรวด
พอเห็นจรวดก็อยากทำให้มันพุ่งไปได้ไกลขึ้นไปอีก

ขอบเขตความเป็นไปได้เมื่อไปถึงจุดหนึ่ง บรรดานักพัฒนา
ก็พยายามจะไต่ระดับความเป็นไปได้ให้มากขึ้นไปอีก

ขอบเขตความเป็นไปได้ของเราจึงถูกจำกัดอยู่กับสิ่งที่เรารับรู้
ยิ่งเห็นน้อย เส้นรอบวงความเป็นไปได้ก็ยิ่งแคบ
ยิ่งเห็นมาก เห็นความเป็นไปได้ต่างๆ นานามาหมดแล้ว
ขอบเขตเส้นรอบวงแห่งความเป็นไปได้ก็ยิ่งกว้างใหญ่

“ไอ้แบบนี้ทำได้ด้วยเหรอวะ?”
“ได้สิวะ กูเคยเห็นมาแล้ว”
เพื่อนซี้มักจะถกเถียงกันทำนองนี้

“เคยเห็นมาแล้ว” จึงเป็นเครื่องมือเพื่อยืนยันความเป็นไปได้

และผมว่ามันก็น่ารักดี ที่มนุษย์เป็นแรงบันดาลใจและแรงผลักดัน
ให้กับมนุษย์ด้วยกันเอง เมื่อเมทริกซ์ทำได้ เนี่ยลั่งจึง(คิดว่าตัวเอง)ทำได้

ในชีวิตอันแสนสั้น ขอบเขตความเป็นไปได้ของคนเราไม่เท่ากัน
บางคน สำหรับเขา อะไรๆ ก็ดูเหมือนจะลำบากยากเย็น
และเป็นไปไม่ได้ไปเสียทุกอย่าง เวลาอยู่ใกล้ๆ คนแบบนี้
จะรู้สึกว่าโลกนี้ช่างตีบตัน มองไม่เห็นทางไป
โน่นก็ไม่ดี นี่ก็ไม่ดี โทษฉันทู้กที…อะไรว้า…(เพลงเก่ามาก!)

ต่างกับเวลาที่เราได้อยู่ใกล้คนที่มีขอบเขตความเป็นไปได้กว้างขวาง
พูดอะไรออกมาก็เหมือนว่ามันจะเป็นจริงได้ทุกสิ่งไป
โลกดูสดใส น่าอยู่ น่าใช้ชีวิต น่าออกค้นหา และน่าทำการทดลอง

คนประเภทหลังนั้นมีพลังเหมือนคนทำเดอะเมทริกซ์
พลังที่พร้อมจะบอกกับคนข้างๆ ว่า “แกก็ทำได้”

สำหรับผมแล้ว คนที่มีขอบเขตความเป็นไปได้กว้างขวาง
มักจะ “เปิด” อวัยวะสองอย่างออกให้กว้างที่สุด
หนึ่ง, “เปิดใจ” และสอง, “เปิดตา”
ยิ่งเห็นมากก็ยิ่งเป็นไปได้มาก
ยิ่งใจกว้างก็ยิ่งรับฟังอะไรที่ไม่เคยเห็น ยอมรับ และพร้อมจะลงมือทำ

ผมออกจะชอบใจที่ได้อยู่ใกล้ๆ อาร์ตไดเร็กเตอร์ที่เปิดกว้างทั้งสองอวัยวะ
ดีใจที่เขาไม่หันมาบอกผมว่า “โอย พี่ แบบนี้ทำไม่ได้หรอก ไม่ไหวอะ”
แต่เขากลับหันมาบอกผมด้วยประโยคที่ชวนให้ผมฮึกเหิมตามไปด้วย
ใช่ครับพ่อแม่พี่น้อง “ถ้าเมทริกซ์ทำได้ เราก็ต้องทำได้” ครับ!

ทำไงให้อ่อนโยน?

ตุลาคม 18, 2007

“พี่เคยเขียนถึงหนังเรื่อง Little Miss Sunshine ใช่ไหม
มันอยู่ตรงไหนอะ หาไม่เจอ”
“อ๋อ มันอยู่ใน bloggang”
“ถามต่ออีกหน่อย พี่ชอบคนไหนในเรื่อง”
“เราชอบปู่ แล้วบีมชอบคนไหน”
“ชอบแม่”
“อ๋อ อืม ชอบเหมือนกัน”
“หากเป็นได้สักครึ่งแบบนั้นคงจะดี”
“อืม…”
“ทำไงถึงจะเป็นคนอ่อนโยนอะ?”

นั่นคือที่มาของบล็อกในวันนี้ครับ
ผมว่ามันเป็นคำถามที่น่าสนใจมาก
น่าสนใจเพราะ
หนึ่ง, ความอ่อนโยนนี่มัน “ทำ” กันได้ด้วยหรือ?
สอง, สมมุติว่าทำได้ นั่นสินะ ทำยังไงล่ะ?

ชั่วความคิดแรก ผมตอบน้องไปว่า
“อย่างแรกเลย คงต้องให้เวลากับการสังเกตล่ะมั้ง”
แล้วก็ตามด้วยประโยคถัดมาว่า
“คำถามดีจัง ขอเก็บไปตอบในบล็อกนะ”

พี่ๆ เพื่อนๆ ล่ะครับ พอจะทราบไหมว่า
“ทำอย่างไรเราจึงจะเป็นคนอ่อนโยน?”
เอาเข้าจริงแล้วผมก็ไม่คิดว่าตัวเองเป็นคนประเภทนั้น
แม้จะมีบ้างในเวลาอากาศเย็นๆ และไม่มีคนอยู่ใกล้ๆ
แต่บางคำถามที่ไม่คิดว่าน่าจะเป็นคนตอบ แต่ผมก็ชอบเก็บมาคิด
บ่อยครั้งที่ความคิดและความเข้าใจของเราก็เริ่มจากคำถามที่ดี
ผมอยากเข้าใจและอยากหาคำตอบแบบเดียวกับที่บีมอยากหา
ก็เลยลองเก็บมานั่งคิดดู

แม้จะนั่งคิดได้สักพัก ผมก็ยังคงยืนยันคำตอบในความคิดวินาทีแรก
ผมคิดว่า มีหลายวิธีที่จะนำไปสู่การเป็นคนอ่อนโยน
(ซึ่งแน่นอนว่า ไม่ได้หมายความว่าความอ่อนโยนเป็นสิ่งที่ดีเสมอไป)
แต่ผมคิดว่า วิธีการหลักๆ ก็คือ “การให้เวลากับการสังเกต” นั่นเอง

เราสามารถอ่านวรรณกรรมเยาวชนสักสองโหล ดูสารคดีดอกไม้
ชีวิตมด ตัวหนอน ผีเสื้อ ดูหนังที่อ่อนละมุน ฟังเพลงละไม ฯลฯ
สิ่งเหล่านั้นล้วนหล่อหลอมให้เราอ่อนโยนมากขึ้น

แต่หากลองสังเกตให้ดี อาจพบคำตอบคล้ายกันกับผม
ผมว่าความอ่อนโยนเกิดขึ้นจากการใส่ใจ
และการใส่ใจนั้นอาศัยเวลา

คนที่มีเวลาใส่ใจกับสิ่งต่างๆ และผู้คนรอบข้าง
สนใจในรายละเอียด ซึมซับสิ่งเล็กๆ น้อยๆ ที่หลายคนมองข้าม
คนคนนั้นนับได้ว่าอ่อนโยนไม่ใช่น้อย

เขียนมาถึงตรงนี้ ผมนึกถึงคำว่า “sensitive”
เลยหยิบดิกฯ ขึ้นมาเปิด ในนั้นให้ความหมายไทยๆ ว่า
“ความรู้สึกไว” ผมแปลของผมเอาเองว่า “ขยันรู้สึก”

คนที่อ่อนโยนน่าจะมี “ต่อมรับความรู้สึก” โตเต่งกว่าชาวบ้าน
คืออะไรเข้ามาใกล้ๆ ก็รู้สึกรู้สาไปเสียทุกอย่าง
ฝุ่นตกกระทบผิวหนังก็รู้สึกราวกับ
ใครหย่อนลูกเทนนิสลงมาจากตึกสิบชั้น
โอว…นั่นก็ขี้รู้สึกเกินไป!

จะว่าไปแล้ว ต่อมๆ นี้ก็คล้ายต่อมอื่นๆ ในร่างกาย
เราเกิดมา มันมีขนาดที่ติดตัวมาแบบหนึ่ง
แต่พอเราเติบโต มันก็เปลี่ยนแปลงไปตามพฤติกรรมการใช้ชีวิตของเรา
ผมจึงคิดว่า เราสามารถฝึก “ต่อมอ่อนโยน” ได้
หาก “สัมผัส” มันบ่อยเข้า มันจะบวมปูดตึงเต่งมากขึ้นเรื่อยๆ

และ “เวลา” นั่นเองคือคำตอบ
คนคนเดียวกัน ในวันที่มีเวลาว่างกับวันที่ยุ่งหัวฟูก็อ่อนโยนไม่เท่ากัน
หากมีเวลา เราจะใส่ใจสิ่งต่างๆ รอบกายมากขึ้น

แต่ก็อีกนั่นแหละ บางครั้ง เราก็ชินชากับชีวิตที่ไม่ค่อยมีเวลา
และชีวิตที่หมุนไวเหมือนกงล้อของหนูถีบจักร
กระทั่งวันที่มีเวลา เราก็มองข้ามสิ่งต่างๆ ที่น่าใส่ใจไปเสียได้

สำหรับผมแล้ว คนที่อ่อนโยนกับคนที่พยายามทำความเข้าใจ
มักจะเป็นคนเดียวกัน นั่นหมายความว่า เขามีเวลานั่งดู
ให้เวลาทำความเข้าใจ และพยายามมองให้เห็นสิ่งที่ไม่ได้เห็นอยู่ตรงหน้า
สิ่งที่ซ่อนอยู่เบื้องหลัง “ภาพ” ที่เห็น
สิ่งที่ซ่อนอยู่เบื้องหลัง “คำพูด” ที่ได้ยิน
สิ่งที่ซ่อนอยู่เบื้องหลัง “สัมผัส” ที่ได้แตะต้อง

นั่นเท่ากับว่า ไม่ “ผิว+เผิน” แต่ “ลึก+ซึ้ง”
คำว่า “ลึกซึ้ง” น่าสนใจ
เคยมีไหม “ตื้นซึ้ง” –ไม่มี!
คนเราจะ “ซึ้ง” ได้ ต้องปล่อยความคิดความรู้สึกด่ำดิ่ง “ลึก” ลงไปเท่านั้น

ชีวิตทุกวันเต็มไปด้วยผิวและเปลือก บางครั้งก็หน้ากาก
หากมีเวลาเราจะได้ปอกเปลือก แง้มผิว ถอดหน้ากากของสิ่งต่างๆ ออก
แล้วเราก็จะเข้าใจ “เบื้องหลัง” มากขึ้น

นั่นคือเหตุผลที่คนอ่อนโยนบางคนน้ำตาไหลเพียงเพราะใบไม้ร่วง!
เพราะในวินาทีนั้น ใบไม้อาจบอกความหมายของชีวิต!
บางครั้งคนเราก็ “บรรลุ” อะไรเล็กๆ จากการใส่ใจอะไรบางอย่าง
จ้องมองอะไรนานๆ แล้วอ่านเจอความหมายที่ซ่อนอยู่ลึกลงไป

นั่นในภาพกว้าง หากกล่าวให้แคบขึ้น ในระดับความสัมพันธ์คนต่อคน
จะว่าไปแล้ว เราต่างมี “ผิว” และ “เปลือก” ด้วยกันทั้งนั้น
หากเราคบกันผิวเผิน พูดคุยด่วนๆ เราก็จะใช้ผิวคุยกับผิว
และเราก็จะรู้จักและเข้าใจกันแบบ “ผิว+ผิว”

แต่หากมีเวลา เช่นกันกับการจ้องมองดอกไม้ใบหญ้า
ในคนหนึ่งคนมีสิ่งที่รอให้ค้นหาและเปิดเผยมันออกมา
มีความหมายลึกๆ มีเนื้อหา มีอดีตและเรื่องราวระหว่างทางที่ผ่านมา
หากใครสักคนมีเวลาเพียงพอที่จะใส่ใจนั่งฟังใครสักคน
ผิวก็จะค่อยๆ ถูกกระเทาะ เปลือกจะค่อยๆ ถูกแกะทิ้งไป
แล้วเราก็จะได้สัมผัส “ข้างใน” กันมากขึ้น
“ข้างใน” ที่ไม่ได้หมายความว่าทั้งคู่แก้ผ้าคุยกัน!

และโดยส่วนใหญ่ เรามักจะรู้สึกดีที่มีคนให้เวลาใส่ใจกับเรามากพอ
มีเวลาทำความรู้จักกันให้ลึกซึ้ง ซึ่งนั่นเป็นสิ่งที่ใครก็ต้องการทั้งนั้น
ใครสักคน (หรือหลายคน) ที่จะได้รู้จักและเข้าใจกันจริงๆ

การให้เวลาใส่ใจและทำความเข้าใจคนอื่นทำให้คนเราอ่อนโยนขึ้น
การได้เรียนรู้ความรู้สึกลึกๆ ที่ละเอียดอ่อนของคนอื่น
ก็ช่วยขัดเกลาความรู้สึกของเราให้ละเอียดขึ้นเช่นกัน
ความรู้สึกของมนุษย์ละเอียดอ่อนจะตายไป

หลายสิ่งที่เราเดินผ่าน หลายคนที่เราไม่ได้นั่งลงคุยด้วยจริงจัง
แท้จริงแล้วล้วนมีสิ่งที่รอให้ค้นหาและค้นพบ กระทั่งช่วยกันค้น
คนที่ขี้รู้สึกจะได้สัมผัสโลกมากกว่าคนอื่น
และโดยมากความรู้สึกที่อ่อนโยนมักจะสวยงาม
มีบ้างที่เศร้า เหงา ซึม แต่นั่นก็สวยงามไปอีกอย่างอยู่ดี

อะไรที่รวดเร็วและแข็งกระด้าง ยากที่จะทำให้รู้สึกดี
ความเนิบช้าและการซึมซับต่างหากล่ะที่นำมาซึ่งความอิ่มเอมใจ
และความรู้สึกอันลึกซึ้ง

ในหนังเรื่อง Little Miss Sunshine ตัวละคร “แม่”
มีฤทธิ์เป็น “กลาง” รับฟัง ใส่ใจ และซึมซับเรื่องราวต่างๆ ของคนอื่น
พยายามยอมรับในสิ่งที่แต่ละคนเป็น และพยายามเป็นตัวประสาน
ทุกคนเข้าด้วยกัน พยายามมองให้เห็นข้างในและเข้าใจทุกคน

พยายาม แต่ใช่ว่าจะสำเร็จ

เขียนมาถึงตรงนี้ ผมเริ่มมีคำแนะนำที่ “จับต้องได้” มากขึ้น
เขียนวนเวียนและพูดคุยไปมากับตัวเองมาเสียหลายบรรทัด
สุดท้ายแล้วมีคำแนะนำสำหรับผู้ที่อยากอ่อนโยนเป็นแบบฝึกหัดง่ายๆ
หากวันนี้มีเวลา ลองจับตาจ้องมองแมลงวันดูสักหน่อย
แล้วลอง “ตกหลุมรักแมลงวัน” ดูสักตัว

แน่นอน มันอาจต้องใช้เวลาพอสมควร

อะไรที่ทำให้คนเราจะตกหลุมรักแมลงวันได้?
และถ้าใครก็ตามที่ตกหลุมรักแมลงวันได้
ผมคิดว่า เขาก็คงอ่อนโยนไม่ใช่น้อย

ว่าแต่ว่า คุณพอจะมีเวลามองหาความงามของแมลงวันไหม?

อยู่ให้เขาหัวเราะ จากให้เขาร้องไห้

ตุลาคม 16, 2007

วันนี้เป็นวันสุดท้ายของ “หยาง”
หยางเป็น ECD เรียกยาวๆ ก็ Executive Creative Director
ว่ากันง่ายๆ ก็คือหัวหน้าใหญ่ของบรรดาครีเอทีฟทั้งหมด
ในองค์กรที่ขับเคลื่อนด้วยความคิดสร้างสรรค์
แน่นอนว่า หัวหน้าใหญ่ของครีเอทีฟย่อมมีความสำคัญไม่ใช่น้อย

โดยตำแหน่ง พวกเราทำงาน “ใต้” หยาง
และแน่นอนว่า มีน้องๆ ทำงาน “ใต้” เราอีกขั้นหนึ่ง
ตำแหน่งต่างๆ ขององค์กรมักถูกวาดแทนด้วยแผนภูมิรูปต้นไม้
โยงใยจากใหญ่ลงมาสู่เล็ก จากอำนาจมาสู่ด้อยอำนาจ
จากสูงมาสู่ต่ำ จากสำคัญมาสู่ไม่ค่อยสำคัญ
แผนภูมินี้มักโยงเข้าไปสูงสุดที่คนใดคนหนึ่งเสมอ
คนคนเดียวแต่บังคับบัญชาผู้คน “ใต้” เขานับสิบนับร้อย

แต่หยางไม่เคยทำให้เรารู้สึกว่าอยู่ “ใต้” บังคับบัญชา
เราทำงาน “ข้างๆ” กันต่างหาก
หยางเปิดรับฟังความคิดเห็นเสมอ
มิน่า รูหูของหยางถึงได้ใหญ่ (ฮ่าฮ่า)
แต่หยางก็ไม่ใช่คนหูเบา เรื่องอะไรที่เห็นว่าไม่ควรจริงๆ
หยางก็จะสวมวิญญาณหมอลักษณ์ “ฟันธง” ทันที

ความที่หยางเปิดรับความคิด ทำให้พวกเรากล้าออกความคิดความเห็น
ผมเถียงกับหยางออกจะบ่อยไป ถ้าหยางเหตุผลดี ผมก็ยอมรับ
และถ้าผมเหตุผลดี หยางก็เห็นทีจะต้องยอมรับบ้าง
หยางน่ารัก หยางไม่เคยรู้สึกว่าตัวเองเสียฟอร์มเวลายอมลูกน้อง
ตรงกันข้าม กลับชมเชย และบอกกับคนอื่นว่า เหตุผลของไอ้นี่ดี

มุกหนึ่งที่หยางชอบเล่นเสมอๆ เวลาเรานั่งถกเถียงกัน
ท่ามกลางเพื่อนร่วมออฟฟิศหลากสัญชาติ
มาเลเซีย, สิงคโปร์, จีน, ไทย, ญี่ปุ่น
“งวดนี้ไทยชนะ!” หยางเล่นมุกนี้ให้พวกเราขำอยู่บ่อยๆ

ทุกความคิดเห็นจึงสำคัญเท่าๆ กัน ไม่ขึ้นอยู่กับว่ามันออกจากปากใคร
ปากนั้นจะเล็กหรือใหญ่ ขอให้มันส่งเหตุผลดีๆ ออกมาก็พอ

หยางเป็นผู้นำที่น่ารัก
หากมีข้อผิดพลาด หยางพร้อมยืดอกรับก่อนใครเพื่อน
ผมนึกถึงคำนำของคุณอธิคม คุณาวุฒิ ที่เคยเขียนว่า
“บรรณาธิการที่ดี หากมีข้อผิดพลาดต้องออกหน้ารับเป็นคนแรก
และหากมีความดีความชอบก็ควรจะเป็นคนสุดท้ายที่ออกมารับ”
หยางเป็นเช่นนั้น

หากมีงานที่ลูกน้องไม่ยอมและไม่อยากทำ หยางยินดีทำให้
อะไรที่ยาก หยางยกมือรับไปทำแทนอยู่บ่อยครั้ง
หน้าที่ที่หนักหนา อุปสรรคที่เหมือนไม่มีทางออก
แต่เมื่อพวกเราอยู่กับหยาง มันก็เหมือนไม่ยากอย่างที่เป็น
กระทั่งบางครั้งเราก็ยังหัวเราะเสียงดังกันได้ท่ามกลางปัญหาหนักนั้น

หยางสอนผมว่า “ผู้นำที่แย่ที่สุดคือผู้นำที่ไม่ยอมตัดสินใจ
กลัวผิดพลาด ก็จะไม่นำพาองค์กรไปทางไหนสักทาง ถ้ามีผู้นำแบบนี้
ลูกน้องก็มีแต่ความสับสนงุนงง จำไว้นะ เป็นผู้นำแล้วจงตัดสินใจ
จะผิดจะถูกก็ตัดสินใจไป แล้วก็มุ่งไปตามเส้นทางนั้นให้ดีที่สุด”

หยางตัดสินใจในนาทีที่จำเป็นต้องตัดสินใจเสมอ-อย่างเด็ดขาด

แม้แข็งแกร่ง แต่หยางกลับอ่อนโยน
หยางจะกอดพวกเราทุกคนเสมอๆ เมื่อวานนี้ก็เพิ่งกอดผม
ก่อนจากลา ท่ามกลางอากาศหนาวเย็นในเดือนตุลาฯ
พอหยางรู้ว่าเมื่อวานเป็นวันเกิดของผม หยางก็ชวนไปทานข้าวด้วยกัน
แน่นอน มื้อใหญ่และเงินหยาง เรากอดกันหลังพรีเซ้นท์งาน
“สุขสันต์วันเกิดนะเอ๋” เขาพูด ผมยิ้ม “ขอบคุณนะหยาง”

บางครั้ง ผมก็ชอบความสัมพันธ์แบบ “เมืองนอก”
ไม่มีคำว่า “ครับ” ลดทอนความสูง-ต่ำระหว่างวันวัย
แต่เรายังคงเคารพและเกรงใจกันตามความน่านับถือของคนคนนั้น

หยางเห็นพนักงานทุกคนเป็น “มนุษย์” ที่มีหัวจิตหัวใจ
หยางเคยบอกผมว่า “อย่ามองคนเป็นตัวเลข พนักงานทุกคนคือเพื่อน
มีหัวจิตหัวใจ มีความรู้สึก มีปัญหาที่ต้องการการช่วยเหลือ
ไม่ใช่หุ่นยนต์ที่เป็นกำลังการผลิต และนับหัว หารเงินเดือน
แล้วคิดออกมาเป็นผลลัพธ์ที่ควรผลิตได้ต่อเดือนว่าคนนี้ควรจะเท่านี้ๆ
เราเป็นเพื่อนกัน ต้องดูแลกันให้ดี” ค่ำคืนนั้นเองที่หยางพูดกับพวกเรา
เหนือแก้วเบียร์ว่า “ไม่มีงานไหนง่ายหรอก แต่งานที่ยาก หากได้ทำกับ
เพื่อนร่วมงานที่รู้ใจกัน พร้อมจะฝ่าฟันอุปสรรค์ไปด้วยกัน งานนั้นก็จะง่ายขึ้น”

วันนั้น บนดาดฟ้าบริษัทตัดต่อที่กรุงลอนดอน
เราคุยกันราวกับเหลียงเฉาเหว่ยกับหลิวเต๋อหัวใน Infernal Affair
หยางถามถึงอนาคตของผม เราคุยกันเรื่องอนาคตของเรา
บางทีเราอาจจะได้ร่วมงานกันอีก

“หากเรารักใคร เราต้องปล่อยเขาให้เป็นอิสระ” หยางพูด
ผมพยักหน้า ยิ้ม เขาหมายความตามนั้น
ผมเงยหน้ามองท้องฟ้าสีฟ้า หยางพ่นควันบุหรี่ลอยละล่อง
เราสองคนกำลังใช้ความคิด

วันนี้ เรามีปาร์ตี้เลี้ยงอำลาหยาง
เลขาฯ ของหยางเดินนำการ์ดมาให้ผมเขียนอะไรสักอย่าง
ปกติแล้ว การ์ดทำนองนี้จะได้รับแค่คำสั้นๆ หรือไม่ก็ลายเซ็น
แต่ของหยาง ผมเขียนค่อนข้างยาว และตั้งใจ

ผมขอบคุณเขาที่สอนอะไรหลายอย่าง ผมบอกเขาว่า
เขาเป็นผู้นำที่ดีเหลือเกิน ผมเรียนรู้จากเขามากมาย
เขาเป็น ECD ที่หนุ่มที่สุดตั้งแต่ผมทำงานมา
และขอให้ “หนุ่ม” ไปตลอดกาล หวังว่าเราจะได้เจอกันอีก
ที่ไหนสักที่ วันไหนสักวันหนึ่ง ผมลงท้ายข้อเขียนว่า
“Love” ไม่บ่อยนักที่จะให้คำนี้กับใคร

การ์ดใบนั้นถูกส่งถึงมือหยาง ในนั้นเต็มไปด้วยลายมือของพนักงาน
ทั้งบริษัท ทุกแผนกทุกสาขาที่เคยร่วมงานกับเขา
หน้าปกเป็นรูปพวกเรารวมเข้าด้วยกันเป็นรูปหยางที่กำลังยิ้มตาหยี

หยางอยู่ในชุดสุดแฟชั่นเหมือนทุกวัน สวมหมวกฟางถัก
เขากล่าวคำอำลาเป็นภาษาจีน โดยเกริ่นว่า ตอนเขาเข้ามา
เขาแนะนำตัวเป็นภาษาอังกฤษ ทุกคนตั้งใจฟัง หลายคนน้ำตาคลอ
ผมเองก็เกือบๆ ไป แต่คิดไว้แล้วว่าจะไม่ร้องไห้ให้กับผู้ชาย
ก็เลยกลืนมันลงกลับเข้าไปในตา (ฮ่าฮ่า โทษทีหยาง)

สั้นๆ ง่ายๆ หยางเอ่ยชื่อหลายคน และบอกว่าดีใจที่ได้ทำงานด้วย
“ผมยังอยู่ในเซี่ยงไฮ้ หากมีอะไรปรึกษาก็มาคุยกันได้เสมอ”
หยางยังคงน่ารักจนหยดสุดท้าย หยางบอกว่า คำที่ควรใช้ในการล่ำลาครั้งนี้
คือ “see you” ไม่ใช่ “goodbye”
แล้วหยางก็หัวเราะเสียงดังเหมือนที่เคยมาตลอด

วันพรุ่งนี้ ออฟฟิศเราคงเงียบลงไปพอสมควร
เสียงหัวเราะอันดังลั่นและจริงใจที่คุ้นเคยคงไม่มีอีกต่อไปแล้ว
เรายังคงต้องทำหน้าที่กันต่อไป “เหนือ” พวกเรา ขณะนี้ยังไม่มี “หัวหน้า”
คงต้องฟันฝ่าอุปสรรคด้วยตัวเองไปสักระยะเวลาหนึ่ง
ซึ่งจะว่าไป “ใต้” พวกเราก็ไม่มีลูกน้อง เพราะผมเองก็ได้เรียนรู้มาจากหยาง
ว่าไม่มีใครอยู่ “เหนือ” หรือ “ใต้” แต่พวกเราอยู่ข้างๆ กันต่างหาก

แม้ไม่มีหยาง แต่ “เชื้อหยาง” ยังคงแพร่กระจายไปทั่ว
“หัวหน้า” ที่เคยทำงานกับเขาได้เรียนรู้สิ่งดีๆ จากเขามาไม่น้อย

กระทั่งก่อนจาก กระทั่งวันนี้-วันสุดท้าย
หยางก็ยังสอนผมในความเงียบ เปล่า, เขาไม่ได้พูดออกมาหรอก
แต่ผมอ่านเอาจากแววตาเศร้าของหลายคนในห้องประชุม
แววตาที่เคยยิ้มหยี หัวเราะไปกับมุกตลกของหยางที่มีมาเสมอ
แววตาเหล่านั้นบอกกับผมว่า จงใช้ชีวิตในออฟฟิศเช่นเดียวกับหยาง

ยามอยู่ ทุกคนต่างหัวเราะไปพร้อมกับเขา
และยามจากอำลา ทุกคนต่างร้องไห้ด้วยความเสียดาย

หยาง-เพื่อน, หัวหน้า, ครู และพี่ชาย
เราคงได้เจอกันอีก
ด้วยรัก

29: ปีแห่งความเข้าใจ

ตุลาคม 15, 2007

สมัยมัธยมจะเขียนสิ่งหนึ่งเก็บไว้อ่านทุกปี
คล้าย “ไดอารี่” แต่เขียนปีละหน จึงกลายเป็น “เยียร์รี่” ไปแทน
ไม่ได้เขียนมานานหลายปี ปีนี้ได้โอกาสและอารมณ์เหมาะสมจะเขียน
จึงเห็นควรว่าน่าจะเขียนเก็บไว้ เพราะทุกครั้งที่หันหลังกลับไปอ่าน
ก็จะพบตัวเองในวันวานเสมอๆ ต่อไปนี้คือ “เยียร์รี่ ประจำปี 2550”

นี่คงเป็นปีสุดท้ายที่จะมีตัวเลข 2 เป็นตัวเลขแรกของ “อายุ”
แม้เราจะเกิดมาในยุคที่มนุษย์พยายามค้นหารหัสลับเพื่อยืดชีวิต
ด้วยวิธีต่างๆ นานา แต่เราก็คงไม่โชคร้ายขนาดที่จะอยู่ทันให้
นักวิทยาศาสตร์คิดค้นวิธียืดอายุขัยให้ยาวนานถึง 200 ปีหรอกมัง

ปีหน้าก็จะเข้าเลย 3 หลายคนแซวว่า เตรียมแก่หรือยัง?
จริงๆ แล้วไม่เคยคิดเลยว่าอายุวัย 30 จะ “แก่”
ไม่ค่อยเข้าใจเพลง “สามสิบยังแจ๋ว”
แหม ปกติ “30” เขาก็แจ๋วๆ กันทั้งนั้นไม่ใช่หรือ?
ยังเต่งยังตึ๊งตึงตังกันทั้งนั้นแหละ

และจะว่าไป ถึงจะกลัวตาย แต่ก็ไม่เคยกลัวแก่
ออกจะชอบความแก่ ชอบการผ่านโลกมามาก
ชอบการผ่านเหตุการณ์และผู้คนมาเป็นเวลาหลายปี
ยิ่งผ่านก็ยิ่งน่าจะนิ่ง และเข้าใจอะไรๆ ได้ดีขึ้น

เคยมีพี่คนหนึ่งเขียนสมุดบันทึกก่อนจากขณะที่ไปฝึกงาน
ที่บริษัทลีโอ เบอร์เนทท์ให้ว่า “อะไรที่ไม่เคยเจอ
พอเราได้เจอครั้งแรก เราก็จะตกใจ ตื่นเต้น และประหลาดใจ
บางครั้งก็ตั้งรับไม่ทัน แต่อีกหน่อยเอ๋ก็จะเข้าใจ
เมื่อผ่านอะไรมามาก สุดท้ายก็จะไม่มีเรื่องอะไรที่ทำให้เรา
ตื่นเต้นได้อีก” จำได้ว่าวันนั้นไม่ค่อยเห็นด้วย
กระทั่งถึงวันนี้ก็ยังไม่เห็นด้วยทั้งหมด เพราะคิดเสมอว่า
ชีวิตมีอะไรที่ทำให้เราประหลาดใจ และตั้งรับไม่ทันเสมอๆ
จริงอยู่ เมื่อเติบโต คนเราอาจจะนิ่งมากขึ้น แต่หากนิ่งเสียจน
ไม่มีอะไรที่จะมาทำให้หัวใจเปลี่ยนจังหวะการเต้น
ก็เห็นว่าจะหายใจต่อไปอย่างไม่ค่อยสนุกนัก

ยังอยากตื่นเต้นกับสิ่งใหม่ๆ ที่ไม่เคยเจอ
และอยากทำความเข้าใจสิ่งเหล่านั้น

สมัยเป็นเด็ก ชอบคิดว่า อยากโตเป็นผู้ใหญ่
และผู้ใหญ่ก็ชอบใส่ความคิดลงไปในหัวของเราว่า
“เดี๋ยวพอแกโตเป็นผู้ใหญ่ แกก็จะอยากกลับไปเป็นเด็ก”

หลายคนโตขึ้นแล้วอยากกลับไปเป็นเด็กอีก
แต่เราไม่ค่อยอยาก เราว่าเด็กเป็นวัยที่สับสน
มึนงง และร้องไห้ง่ายเกินไป
ดูไม่ค่อยพยายามเข้าใจอะไรสักเท่าไหร่
เด็กส่วนใหญ่จะถือตัวเองเป็นจุดศูนย์กลางของโลก
ทุกอย่างต้องหมุนวนรอบตัวฉัน ฉันเท่านั้นที่มีแรงดึงดูด
และกำหนดกฏเกณฑ์ไปตามแต่ใจที่ฉันต้องการ

จึงชอบผู้ใหญ่ (แน่นอน โดยเฉพาะที่สามสิบยังแจ๋ว)
และอยากเป็นผู้ใหญ่ แต่ไม่อยากแก่เกินวัย
เป็นผู้ใหญ่เท่าที่ประสบการณ์และความคิดตามวันวัยควรจะเป็น
อายุ 29 ก็คิดแบบคน 29 ไม่พยายามแก่ไปกว่านั้น-มันเมื่อย!

เพราะเมื่อชีวิตเดินทางมาถึงวัยหนึ่ง
เมื่อผ่านเส้นทางต่างๆ มาตั้ง 29 ปี
ย่อมเข้าใจ “กฏ” ของธรรมชาติมากขึ้น
“กฏ” ข้อสำคัญก็คือ เราไม่สามารถควบคุมอะไรได้
และธรรมชาติก็หลากหลายเกินกว่าที่จะเป็นไปตามที่
เราต้องการตลอดเวลา

เราไม่ใช่จุดศูนย์กลางของโลก เราเป็นเพียงเส้นรอบวงเท่านั้น
เป็นจุดๆ หนึ่งในเส้นรอบวง ที่ต่อเชื่อมกับจุดอีกหลายจุด
ต่อเชื่อมกันเป็นเส้น เป็นระนาบ เป็นปริมาตร เป็นสังคม เป็นโลก
โลก-ที่ไม่มีใครเป็นจุดศูนย์กลาง ไม่มีใครจำเป็นต้องหมุนรอบใคร
ไม่มีใครควรที่จะถูกใครบังคับบัญชา ไม่มีใครควรจะโอนอ่อนตามใคร
แต่ละจุดต่างเป็นตัวของตัวเอง ไม่มีจุดไหนดีเลิศ ไม่มีจุดไหนถูกต้องที่สุด
เราทั้งหมดประกอบเข้าด้วยกัน จากความหลากหลายกลายเป็นหนึ่ง

ดูเหมือนหนึ่ง แต่ที่จริงเป็นล้านๆ

ยอมรับเสียเถิดว่า ไม่มีใครเหมือนกันเลย
ไม่มีแม้แต่หนึ่งคนต่อหนึ่งคน
เราต่างแตกต่าง เราต่างคิดต่างใจ
โชคร้ายหน่อยที่เราต้องอยู่ข้างๆ กัน อยู่บนโลกใบเดียวกัน
และจุดเล็กๆ อย่างพวกเรานั้น ต้องมีคราวที่หัวไหล่กระทบกันเสมอ

ยอมรับเสียเถิดว่า เราไม่สามารถรักทุกคนได้
และอย่าได้พยายามทำให้ทุกคนรักเรา
อย่าได้คิดว่า เขาจะยอมรับในความเป็นเรา
เพราะเขาก็มีความคิดของเขา เติบโตมาในแบบของเขา
ขอโทษด้วยจริงๆ ที่เรารักกันไม่ได้-มันฝืน
สิ่งที่ทำได้คือ “เข้าใจ”

29 ปีที่ผ่านมา ข้อความง่ายๆ ที่สรุปได้คือคำนั้น
เรามีชีวิตอยู่เพื่อ “เข้าใจ”
เข้าใจคนอื่นๆ
เข้าใจสิ่งอื่นๆ
เข้าใจเหตุการณ์
เข้าใจชีวิต
เข้าใจโลก
เข้าใจตัวเอง

เรามีชีวิตอยู่เพื่อ “เข้าใจ” เท่านั้นเอง

จริงอยู่ ไม่มีใครเข้าใจทุกอย่าง
แต่อย่างน้อย เราควรพยายามทำความเข้าใจ
อย่างน้อยก็ “เผื่อใจ” ให้กับคนอื่นที่แตกต่างไป
แม้จะพยายามแค่ไหนก็ไม่เข้าใจ แต่ก็เผื่อใจให้พื้นที่กับเขาบ้าง

เราเรียนกันไปทำไม?
ไม่ว่าจะวิชา หรือ ศาสตร์แขนงไหน เราเรียนไปเพื่อทำความเข้าใจทั้งนั้น
ชีววิทยา, เคมี, ฟิสิกส์, คณิตศาสตร์, สถาปัตย์, รัฐศาสตร์,
เศรษฐศาสตร์, วิศวกรรมศาสตร์, แพทยศาสตร์, อักษรศาสตร์, ฯลฯ
หากไม่ได้ร่ำเรียนไปเพื่อเข้าใจเพื่อนๆ ข้างๆ กาย รู้เยอะไปก็เท่านั้น

พระพุทธเจ้าพูดเรื่อง “ใบไม้กำมือเดียว”
ความรู้มีมากมายเหมือนใบไม้นับล้านๆ ใบในป่าใหญ่
แต่สิ่งที่เราจำเป็นต้องรู้มีอยู่แค่หนึ่งกำมือเท่านั้นเอง

สำหรับท่าน สิ่งนั้นคือ วิธีดับทุกข์

และเราคิดว่า หนึ่งในวิธีดับทุกข์ก็คือ ความเข้าใจ นี่เอง

หนึ่งในธรรมะหัวข้อหลักที่เปรียบเป็นแก่นของพุทธศาสนา คือ
“อิทัปปัจจยตา” ซึ่งคล้ายกันเหลือเกินกับเพลง “อื่นๆ อีกมากมาย”
ของวงเฉลียง ตามความเข้าใจอันอ่อนหัดของเรา
คัมภีร์เล่มหนาหลายร้อยหน้านั้นหดสั้นๆ แล้วเหลือประโยคว่า
“ทุกสิ่งที่เกิดขึ้นล้วนมีเหตุ”

“ถ้าเขาเป็นคนเลว ที่เลวนั้นจากใด คำตอบมีไว้ ตอบไปก็คงอื้อ
อาจเลวเพราะแสนเข็ญ หยาบช้าเพราะขมขื่น เหตุนำนั้นพันหมื่น
อื่นๆ อีกมากมาย”

อีกท่อนหนึ่งซึ่งชอบมาก
“เด็กหนีไม่ยอมเรียน โดดเรียนเพราะเหตุใด ลองตอบกันไหม
เด็กไปเพราะใจเบ่ง แม่ให้ไปขายของ ครูสอนไม่ดีเอง
เด็กรักเป็นนักเลง อื่นๆ อีกมากมาย”

ทุกสิ่งที่เกิดขึ้น หากเราสาวกลับไปเรื่อยๆ เราจะเจอต้นตอในที่สุด
และเมื่อเจอตอที่ว่า ก็จะนำมาซึ่งคำว่า “อ๋อ” ตรงตอนั้นเอง

แต่ก็ใช่ว่าเราจะสาวจนเจอ “ตอ” ตลอดเวลา เป็นไปไม่ได้หรอก
“เฉลียง” จึงเขียนไว้ในเพลงว่า “เผื่อใจไว้ที่ยังไม่เห็น”
เบื้องหลังการกระทำ เบื้องหลังนิสัยที่ไม่ถูกใจของคนๆ หนึ่ง
คงมีอะไรมากมาย อะไรมากมาย-ที่เราอาจไม่มีโอกาสได้เห็นและได้รู้

แม้ไม่สามารถเข้าใจอะไรได้ทุกอย่าง ไม่สามารถเข้าใจใครได้ทุกคน
แต่แค่พยายาม “เผื่อใจ” และทำความเข้าใจ แค่นั้นก็น่ารักจะตายไปแล้ว

ช่วงหลายปีหลัง ได้ดูหนังที่ฉายภาพความหลากหลายของเพื่อนมนุษย์
อย่าง Crash, Babel, Little Miss Sunshine และ Bobby
กี่เรื่องกี่เรื่องก็ชวนให้หลั่งน้ำตา กับความไม่เข้าใจกันของเพื่อนมนุษย์
จุดเล็กๆ ที่ต่อเนื่องกันเป็นเส้นรอบวง แต่หลายครั้งที่จุดบางจุด
ยึดตัวเองเป็นจุดศูนย์กลางโลก และก็ต้องพบกับความพังทลายในที่สุด
บางเรื่องที่จบลงอย่างสวยงามก็ทำให้วันนั้นยิ้มได้ โลกดูมีความหวัง

ในจอทีวี ในหน้าหนังสือพิมพ์ ยังเต็มไปด้วยความไม่เข้าใจกัน
หนังสือมากมายในห้องสมุด ในร้านหนังสือ หนังมากเรื่อง กวีมากบท
ความรู้เป็นกระตั๊ก อ่าน ดู ฟัง เสพเข้าไปก็ไม่เกิดประโยชน์อะไร
หากไม่นำมาซึ่งความเข้าใจตัวเองและคนอื่น

ไม่ว่าอะไรก็ตามที่เราทำ จริงๆ แล้วเราใช้เวลาไปกับมัน
เพื่อทำความเข้าใจสิ่งต่างๆ ให้มากขึ้น อ่านหนังสือ, ดูหนัง,
ฟังเพลง, เดินทาง, ทำงาน, สังเกตการณ์ ก็เพื่อเข้าใจ

หากเราตื่นมาทุกวันเพื่อที่จะทำความเข้าใจคนอื่นและสิ่งต่างๆ
ให้มากขึ้น เราก็น่าจะได้เข้าใจทีละนิดทีละน้อย ค่อยเป็นค่อยไป
เมื่อเข้าใจ ก็จะทุกข์น้อย เมื่อยอมรับในเหตุที่มาของสิ่งต่างๆ
ที่ไม่เป็นอย่างที่คิด ไม่เป็นไปตามที่คาดหวัง ก็น่าจะยิ้มได้บ่อยขึ้น
หรือต่อให้ไม่เข้าใจ แต่เผื่อใจสำเร็จ ต่อให้ไม่ยิ้ม
อย่างน้อยก็คงไม่บูดบึ้ง

สงครามเล็กๆ เกิดขึ้นตลอดเวลารอบตัวเรา
จากการไม่พยายามเข้าใจอีกฝ่าย
สงครามข้างถนน, ในห้องประชุม, ร้านอาหาร, แถวรอคิว, ฯลฯ
มีคนบอกว่า “ไม่มีเส้นทางใดนำไปสู่สันติภาพ สันติภาพคือเส้นทาง”
การพยายามทำความเข้าใจอีกฝ่ายก็น่าจะระงับสงครามได้
หรืออย่างน้อยก็ไม่ทำให้มันบานปลายเกินกว่าที่เป็นอยู่

แก่ขึ้นอีก 1 ปี นั่นเท่ากับว่าได้เห็นโลกและเพื่อนร่วมโลก
มากขึ้นอีก 1 ปี เช่นกัน นั่นน่าจะทำให้เข้าใจอะไรต่อมิอะไร
มากขึ้นอีกสักหน่อย และยังตั้งความคาดหวังเพื่อที่จะ
เข้าใจให้มากขึ้น เพื่อที่จะทุกข์ให้น้อยลง

เมื่อมองคนอื่นๆ อย่างที่เขาเป็น ไม่พยายามไปดัด ปรับ เปลี่ยน
และควบคุมบังคับ หรือคาดหวังให้เขาเป็นอย่างที่เราอยากให้เป็น
เมื่อนั้นเราก็คงสบายตัว เขาก็คงสบายใจ

เราเป็นอย่างที่เราอยากเป็น เขาเป็นอย่างที่เขาอยากเป็น
เราอยู่ข้างๆ กัน เรียนรู้กันและกัน เพื่อเข้าใจกัน
เราอาจจะเกิดมาเพื่อการนี้

ใช่, เราอาจเกิดมาเพื่อทำความเข้าใจซึ่งกันและกัน

โลกกว้าง คนอีกมาก ล้วนแตกต่างไม่มีที่สิ้นสุด
ชีวิตที่มีระยะเวลาไม่ถึงหนึ่งร้อยปีสั้นเกินไป
สั้นเกินไปที่จะทำความเข้าใจใครได้หมด
แต่ก็สั้นเกินไปที่จะอยู่ไปอย่างไม่พยายามทำความเข้าใจใครเลย

ขอบคุณ 29 ปีที่ผ่านมา
รอยตีนกาที่เพิ่มขึ้น
นั่นหมายถึง เราได้เห็นสิ่งต่างๆ มาพอประมาณ
และทุกสิ่งทุกอย่างที่ไหลผ่านเข้ามาในดวงตา
ก็ย่อมไหล “เข้า” ไปใน “ใจ” ด้วยเช่นกัน

จำนวนตีนกาจึงนำมาซึ่งจำนวนความเข้าใจ
แล้วจะกลัวแก่ไปไย
หากยิ่งแก่ก็ยิ่งเข้าใจ
ยิ่งแก่ ก็ยิ่งสุข
………………………………………………………………

ขอเชิญเพื่อนบ้านทุกท่านร่วมกันปันเค้กช็อกโกแล็ตทำเองก้อนนี้
คนละชิ้น สองชิ้น สามชิ้น ก็ตามสะดวกเลยครับ ซัดกันให้อิ่ม
งั่มกันให้เต็มที่ รับรองได้ว่าเค้กก้อนนี้กินเท่าไหร่ก็ไม่หมดครับ (ฮ่าฮ่า)

null