1.
ร้านจุฑารส ที่สยามสแควร์เป็นร้านเก่าแก่นมนาน
เราได้เดินผ่าน แล้วเข้าไปหย่อนก้น หย่อนลิ้น เป็นระยะ
ตั้งแต่สมัยเรียน สมัยโดดเรียน และสมัยเลิกเรียน(ในโรงเรียน)
ข่าวเล่าว่า ร้านนี้เปิดประตูรับลูกค้าผู้ท้องกิ่วมากว่าสามสิบปีแล้ว
สามสิบปีแห่งสยามสแควร์ย่อมเต็มไปด้วยความเปลี่ยนแปลง
ยิ่งในช่วงสิบปีให้หลัง สยามสแควร์เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว
โฉบเฉี่ยว ฉูดฉาด เปรี้ยวปรู๊ดปร๊าด ปรับปรุงกันให้ ‘เท่’ ขึ้นทั้งบริเวณ
ในแง่สถาปัตยกรรม สยามฯ เป็นสถานที่ที่น่าสนใจสำหรับใครสักคนที่
อยากสังเกต ‘ชีวิต’, ‘การต่อสู้’, ‘การกลืน’, และ ‘การยืนหยัด’
ของสิ่งก่อสร้างที่มีชื่อว่า ตึก
ตึกในสยามฯ มีเอกลักษณ์และมียุคสมัยของมัน ซึ่งมีเสน่ห์ไม่น้อย
แต่ทุกวันนี้ตึกเก่าๆ เหล่านั้นถูกปก+ปิด, ปก+คลุม ด้วยวัสดุสมัยใหม่
เคลือบ+ทับ พื้นผิวเก่าๆ เหล่านั้นจนมิดชิด สิ่งที่เราเห็นเบื้องหน้าจึงมักจะเป็น
สีสันอันสะดุดตาจากป้ายหน้าร้าน บิลบอร์ดโฆษณา และเปลือกตึกใหม่ๆ
ที่พยายามจะแต่งตัวตึกรุ่นคุณลุงคุณป้าให้กลายร่างเป็นวัยรุ่น!
ตึกในสยามฯ จึงมีเสน่ห์ไปอีกแบบ
เสน่ห์ของชีวิตที่ผสมผสานระหว่าง ‘เก่า’ กับ ‘ใหม่’
ไม่เพียงแต่ ‘เปลือกหุ้ม’ เท่านั้น แต่ ‘ข้างใน’ ตึกเหล่านั้นก็ถูกปรับ+เปลี่ยน
แก้+ไข, ซ่อม+แซม อย่างเมามันจากฝีมือนักออกแบบรุ่นใหม่ หัวใหม่ มือใหม่
หลายตึกนั้นทำได้น่าสนใจ สามารถปรับ+ปรุงได้อย่างกลมกล่อม
และมีรสชาติใหม่เกิดขึ้นได้ตึกเก่า
หลายร้านในสยามสแควร์มีการตกแต่งภายในที่น่ารัก น่าสนใจ
และจนกระทั่งถึงยุคสมัยนี้แล้ว ร้านที่ยังคงความโบราณอยู่นั้นหายากยิ่ง
ร้านอย่างนิวไลท์, สีฟ้า, อินเตอร์ ดูจะยังยืนหยัดต่อไปด้วยฝีมือด้านการปรุงอาหาร
และทุ่มเทใจให้กับการสรรค์สร้างรสชาติที่สัมผัสด้วยลิ้นมากกว่ารสชาติที่ใช้ตาสัมผัส
เป็นการยืนหยัดท่ามกลางร้านอาหารน่ารัก เรียบหรู เท่ขรึม มืดๆ ครึ้มๆ สดใส ทันสมัย
ที่เน้นการสร้างบรรยากาศภายในร้านเกินหน้าเกินตารสชาติของอาหาร
ซึ่งร้านแบบหลังนี้ผุดขึ้นมาดกดื่นราวกับดอกเห็ดหลังฤดูฝน
และสิ่งที่ตามมาเป็นเห็ดดอกที่สอง คือ ราคาในเมนู ที่มักจะบวกค่าปูน ค่าสี
ค่าวอลเปเปอร์ลายสวย รวมไปถึงค่าจ้างนักออกแบบเท่ๆ เหล่านั้นเข้าไปด้วย
อย่างที่เค้าว่า ‘บรรยากาศมันขายได้’
2.
ลองเปิดพจนานุกรมดูเล่นๆ คำว่า ‘จุฑา’ มีความหมายว่า จุก, ที่สูงสุดของศีรษะ
หากลองสมาสเอาเองเล่นๆ ‘จุฑารส’ ก็น่าจะหมายถึง ‘รสชาติอันสูงสุด’
ซึ่งก็สมชื่อ ไม่ว่าผัดไทยกุ้งสด, หรือลูกชิ้นทั้งเอ็นและไม่เอ็น รวมไปถึงน้ำจิ้ม
ของร้านนี้ ล้วนแต่สมควรที่จะได้รับคำชมว่าเป็น ‘รสชาติอันสูงสุด’ ทั้งนั้น
เดินผ่านแล้วได้กลิ่นปิ้งลูกชิ้นทีไร น้ำลายต้องไหลเป็นปลาปุ้มปุ้ยทุกที
หลังจากร้านจุฑารสปรับปรุงและตกแต่งภายในเพื่อตามสมัยให้ทัน
และปรับเปลี่ยนเปลือกตัวเองให้พูดจากับเด็กสมัยใหม่รู้เรื่อง เราได้แต่นั่ง
บริเวณชั้นล่าง และก็รู้สึกว่ามันเป็นความรู้สึกแปลกๆ คือ ได้ลิ้มรสชาติเก่า
ในบรรยากาศโคตรใหม่ คือมันไม่เหลือเยื้อใยของกลิ่นเก่าๆ ไว้บ้างเลย
แต่ก็เข้าใจได้ในความเปลี่ยนแปลงของโลกและชีวิต-ไม่ได้คิดอะไรนักหนา
กระทั่งเมื่อวาน ระหว่างรอลูกชิ้นปิ้งที่สั่งไว้ ก็ได้เดินขึ้นบันไดไปเข้าห้องน้ำที่ชั้นสอง
จึงได้พบว่าบรรยากาศข้างบนช่างสวยหรู เท่ ครึ้ม อบอุ่น นวลนุ้ย ด้วยแสงของ
ไฟประดับสีส้ม ต่างจากบรรยากาศไฟขาวๆ สว่างๆ เห็นรอยคราบน้ำมันแบบเดิมสิ้นเชิง
ในความรู้สึกตอนนั้น ‘โอ้ว! จุฑารส ยู อาร์ โซ คูล!’
เดินลงบันไดทั้งที่ใจยังเต้นไม่เป็นจังหวะเพราะตื่นไปกับ ‘ความคูล’ บนชั้นสอง
ก็ต้องมาพบว่าลูกชิ้นที่สั่งไว้มีเพียงไม้ละสามลูก!!
สามลูก!
สามลูก!
(โปรดอ่านอีกครั้ง)
สามลูก!
เป็นการจัดสรรพื้นที่บนไม้ลูกชิ้นที่ไม่งามสักเท่าไหร่
แม้ว่าแม่ค้ารถเข็นบางร้านที่ถูกครหาว่า นำลูกชิ้นเนื้อหมามาปิ้ง
จะเสียบลูกชิ้นถึงหกลูกซึ่งดูคับแน่นไม้เกินไปบ้าง แต่มันก็ช่วยให้
พุงของเราคับ และกระเป๋าตังค์ยังแน่นไปด้วยเงิน
ความอึดอัดบนพื้นที่ไม้จึงพอจะยอมรับกันได้แบบไม่ต้องกล้ำ
แค่กลืน(ลูกชิ้น)ลงคอเพื่อส่งต่อไปยังกระเพาะอาหาร
โดยปกติสากล แม้ไม่ต้องทำสัญญาลงนามในสมัชชาลูกชิ้นโลก
ลูกชิ้นเสียบไม้ตามปกตินั้นควรมีจำนวนไม่ต่ำกว่าสี่ กำลังดีก็คือห้า
แต่ไฉนร้านจุฑารสผู้มีลูกชิ้นอันมีรสชาติอันเป็นเลิศจึงหดจำนวนลง
เหลือเพียงสาม?
จำไม่ได้ว่าแต่ก่อนห้า หรือ สี่?
แต่ไม่ใช่สามแน่ๆ เพราะมันช่างดูหรอมแหรม
จนชวนให้สงสารลูกชิ้นสามใบเถาอันว้าเว่ขาดเพื่อนร่วมไม้
แต่เมื่อได้จับก้านไม้ขึ้นมาจึงได้พบบางอย่างที่อาจตอบคำถามเรื่องลูกชิ้น
ก้านไม้ที่ร้านจุฑารส ‘คูล’ ไม่แพ้บรรยากาศการตกแต่งบนชั้นสอง
เป็นก้านไม้เสียบลูกชิ้นที่มีดีไซน์ที่สุดตั้งแต่เราเคยได้ยลมา
แทนที่จะเป็นไม้ด้วนๆ กุดๆ แบบธรรมดาทั่วไป
ก้านไม้ที่แทงทะลุลูกชิ้นกลมๆ ทั้งสามอยู่นั้นมีความแบนตรงส่วนปลาย
นั่นหมายถึงว่ามันจะต้องใช้ ‘พื้นที่ไม้’ ในการผลิตมากขึ้น
(หมายถึง หากใช้ ‘วัตถุดิบไม้’ เท่ากันจะผลิตไม้เสียบลูกชิ้นแบบมีดีไซน์
ได้น้อยกว่าไม้แบบธรรมดาๆ)
ไม่เท่านั้น-บริเวณส่วนแบนที่ว่า ยังมีการสลักชื่อร้านลงไปในนั้นด้วย!
นั่นหมายความว่า ความเท่นี้ย่อมมี ‘ค่าใช้จ่าย’!
และเป็นไปได้ไหมว่า ‘ค่าใช้จ่าย’ บริเวณก้านไม้อัน ‘เวรี่คูล’ นี้
ทำให้ลูกชิ้นอันมีรสชาติเป็นเลิศนั้นหายไป?
เราต้องยอมเสียลูกชิ้นอร่อยๆ ไป
แลกกับความรู้สึก ‘เท่ๆ’ ที่ได้มาจากการสัมผัสก้านไม้เสียบลูกชิ้นมีดีไซน์
เป็นแบบนั้นหรือเปล่า?
3.
โลกยุคนี้ อะไรๆ ที่ขาย ‘เนื้อ’ กันจริงๆ นั้นอยู่ยาก
เพราะคนเคยชินกับการเสพและบริโภค ‘เปลือก’ กันอย่างหฤหรรษ์
หาก ‘เปลือก’ ถูกสร้างขึ้นมาเพื่อห่อหุ้ม ‘เนื้อ’ ที่ดีมีคุณภาพ
ก็คงไม่ได้น่ารังเกียจอะไร แต่คงน่าเสียดายหากต้องถึงกับ ‘เฉือนเนื้อ’
เพื่อนำมาสร้าง ‘เปลือก’ เอาใจคนรุ่นใหม่ที่โหยหาเปลือกคูลๆ
นี่ก็เป็นความรู้สึกของคนกำลังจะแก่ (หรือแก่แล้ววะกู?)
แต่เราว่า โดยพื้นฐานของมนุษย์ไม่ว่าจะแก่หรือหนุ่มหรือสาว
หาก ‘ของ’ สิ่งนั้นเป็น ‘ของดี’ (ไม่ต้องนับไปถึงของระดับ ‘จุฑา’)
จะหนุ่มจะสาวจะแก่ก็ย่อมโหยหา ‘เนื้อ’ มากกว่า ‘เปลือก’ อยู่วันยันค่ำ
สำหรับร้านที่มีลูกชิ้นรสเลิศระดับ ‘จุฑารส’
ที่เราได้ลิ้มชิมรสอันสูงสุดสะใจมาเป็นเวลานาน
เรารู้สึกค่อนข้างเสียดาย หากในอนาคต ความใส่ใจในรสชาติจะหดหายไป
เมื่อคนรุ่นหลังขึ้นมาบริหารแทน ในฐานะลูกค้าผู้คลั่งไคล้ในรสชาติลูกชิ้น
ก็แค่อยากให้คงความใส่ใจในรสชาติอันเอร็ดเด็ดนั้นไว้
ส่วนไอ้เรื่องก้านไม้อันเท่หรูนั้น เราเป็นคนหนึ่งที่ไม่ได้ใส่ใจอะไรกับมันเลย
และถ้าเลือกได้
เราขอไม้ธรรมดาๆ และเอาลูกชิ้นที่หายไปกลับคืนมาได้มั้ยครับ?