เมื่อคืนซัดหนังไปสองเรื่องครับ
หนึ่งคือ วังดอกทอง สองคือ บาเบล
หนังดีทั้งสองเรื่อง ชอบทั้งสองเรื่องเลยครับ
หนึ่งนำเราเปิดประตูย้อนไปดูอารยธรรมอลังการของจีนยุคโบราณ
อีกหนึ่งนำเราไปดูเบื้องลึกเบื้องหลังของความป่วนปั่นไม่เข้าใจกัน
ระหว่างคนบนโลกในสภาพการณ์ปัจจุบันที่ผู้คนจงเกลียดจงชัง
และไม่ไว้ใจกันมากขึ้น มากขึ้น มากขึ้นเรื่อยๆ
บทภาพยนตร์ของ ‘บาเบล’ ชวนให้นึกถึงหนังออสการ์อย่าง ‘แครช’
ที่ฉายภาพความหวาดระแวงของคนในสังคมโลกาภิวัฒน์ออกมาให้เห็น
เพียงแค่ ‘บาเบล’ นำเสนอในสเกลที่กว้างขึ้น ในระดับโลก
ก่อนจะอ่านย่อหน้าถัดไป น่าจะไปซื้อตั๋วหนังเข้าไปนั่งดูเสียก่อน
หรือไม่ก็ต้องตัดสินใจแน่นอนแล้วว่าจะไม่ไปดูหนังเรื่องนี้
เพราะถัดจากนี้จะเป็นการเล่าเรื่อง
ตอนจบพระเอกตาย!
หะล้อเล่นน่า
หากเล่าเรื่องเป็นเส้นเดียว (ไม่สลับซับซ้อนเหมือนหนังหลังตัดต่อ)
‘บาเบล’ คือเรื่องของ ชายญี่ปุ่นที่เดินทางไปล่าสัตว์ในประเทศโมร็อคโค
แล้วพึงพอใจในตัวพรานนำล่าอย่างมาก จึงทิ้งของฝากไว้ให้เป็นที่ระลึก
ของฝากนั้นคือปืนล่าสัตว์ (ไรเฟิลชื่อรุ่นยาวๆ) กระบอกหนึ่ง
พรานคนนั้นได้ปืนมาจึงนำไปขายให้กับเพื่อนบ้าน โดยไม่ลืมโฆษณาด้วยว่า
ปืนกระบอกนี้สามารถยิงได้ไกลตั้งสามกิโลเมตร
ฝ่ายเพื่อนบ้านคนนั้นก็ซื้อไปเพื่อเอาไว้ให้ลูกชายสองคนยิงหมาไน
ที่ชอบมาขโมยกินแพะในฝูงที่ครอบครัวของเขาเลี้ยงไว้ ลูกชายก็เอาปืนไปเล่น
และหัดยิงตามประสาเด็ก มีการทดลองว่าปืนกระบอกนี้จะยิงได้ไกล
อย่างที่คุณเซลส์แมนโฆษณาไว้จริงหรือเปล่า จึงลองขึ้นไปบนเขา
แล้วเล็งลงมาเล่นๆ ไปที่รถบัสที่กำลังแล่นอยู่บนถนนด้านล่าง
ปัง!
เซลส์แมนไม่ได้โม้! ลูกกระสุนนั้นพุ่งทะลุกระจกเข้าไปเจาะเข้าที่หัวไหล่
ของหญิงชาวอเมริกันคนหนึ่งที่กำลังนั่งหลับหัวพิงกระจกรถบัสอยู่
เป็นเรื่อง! อะไรเกิดขึ้นกับคนอเมริกันย่อมเป็นเรื่องใหญ่กว่าชนชาติอื่น
และจะเป็นอะไรไปไม่ได้นอกจาก การก่อการร้าย!
อีกฝั่งหนึ่งของโลก ที่สหรัฐอเมริกา บ้านของหญิงสาวที่โดนยิง
ลูกน้อยสองคนถูกฝากไว้กับพี่เลี้ยงชาวเม็กซิกันที่กำลังจะต้องกลับไป
งานแต่งงานของญาติ แต่ก็ไม่สามารถไปได้ เพราะพ่อแม่ของเด็กยังไม่กลับ
ก็แน่ล่ะสิ แม่ของเด็กจะเป็นจะตายก็ยังไม่รู้ชะตา พ่อก็อยู่ด้วยกันที่
โมร็อคโค ได้แต่โทรมาบอกว่า สงสัยจะกลับไปไม่ทัน ฝากดูแลเด็กๆ ด้วย
พี่เลี้ยงชาวเม็กซิกันพยายามนำเด็กทั้งสองไปฝากเพื่อนพี่เลี้ยงข้างบ้าน
แต่ก็ถูกปฏิเสธ เมื่อหมดทางเลือก เธอจึงหอบหิ้วเด็กน้อยน่ารักน่าชัง
ชาวอเมริกันทั้งสองข้ามชายแดนไปร่วมงานแต่งงานด้วยที่เม็กซิโก
ตลอดเวลาเธอและหลานชายของเธอที่เป็นคนขับรถต่างดูแลเด็กๆ
เป็นอย่างดี เธอรักเด็กสองคนนี้มาก ด้วยเพราะดูแลมาตั้งแต่เกิด
ขากลับจากงานแต่งงาน หลานชายที่กำลังเมาขับรถมาถึง
ด่านเข้าประเทศสหรัฐอเมริกา ตำรวจเรียกให้หยุดรถ ฉายไฟส่องหน้า
เมื่อเห็นว่ามีเด็กอเมริกันมาด้วยจึงสงสัยในตัวเม็กซิกันทั้งสอง
ตำรวจตรวจค้นอย่างเคร่งเครียดชวนอึดอัด จากคนไม่มีความผิด
ทั้งคู่เริ่มดูเหมือนคนผิดมากขึ้นเรื่อยๆ เหมือนคนผิดในสายตาตำรวจ
และเหตุการณ์เลวร้ายก็เกิดขึ้น เมื่อหลานชายตัดสินใจเหยียบคันเร่ง
พุ่งรถแหกด่านตรวจออกไป และนำตัวป้ากับเด็กๆ ไปทิ้งไว้กลางทุ่งทะเลทราย
รุ่งขึ้น ป้าพี่เลี้ยงพาเด็กๆ เดินหาหนทางที่จะมีคนช่วยนำกลับบ้าน
แต่ยิ่งเดินก็ยิ่งไกล ยิ่งหลง ยิ่งเหนื่อย ยิ่งท้อ และยิ่งหมดหวัง
ระหว่างนั้นเด็กชายเอ่ยปากถามป้าพี่เลี้ยงว่า
“ทำไมเราต้องหนีด้วย เราไม่ได้ทำอะไรผิด”
“เราไม่ได้ทำผิด แต่คนอื่นนึกว่าเราทำผิด” ป้าตอบ
“คุณเป็นคนเลว” เด็กชายหวาดระแวง
“ฉันไม่ได้เป็นคนเลว ฉันแค่ทำอะไรโง่ๆ ลงไปเท่านั้นเอง” ป้าตอบทั้งน้ำตา
หลังจากเดินตากแดดกันมานาน เด็กหญิงทำท่าจะขาดน้ำ อาการน่าเป็นห่วง
ป้าจึงตัดสินใจทิ้งเด็กทั้งสองไว้ และเดินออกมายังถนนเพื่อหาคนช่วย
และเธอก็ถูกตำรวจจับ
จับ โดยไม่ฟังความข้างป้าใดๆ ทั้งสิ้น
ไม่ฟังสิ่งที่ป้าพยายามจะอธิบาย ไม่ฟังความจริงที่จะเล่า
ไม่ฟังเจตนาบริสุทธิ์ ไม่ฟังอะไรเลย และไม่คิดจะฟัง
ได้แต่ตัดสินใจสิ่งที่ตัวเองคิดว่าเป็นแบบนั้น
ตัดสินโดยยึดมุมมองของตนเป็นหลัก
เหมือนตำรวจโมร็อคโคที่นึกล่วงหน้าไปก่อนเลยว่า
เจ้าของปืนกระบอกนั้นต้องเป็นผู้ก่อการร้าย
และไม่คิดจะฟังคำอธิบายจากพรานคนนั้น,
ชายผู้ซื้อปืนต่อมา และลูกชายทั้งสองของเขา
ตำรวจพากันกระหน่ำยิงเขาทั้งสามโดยไม่ถามอะไรซักคำ
ป้าโดนข้อหาร้ายแรงจากรัฐบาลอเมริกัน
ถูกเนรเทศกลับไปเม็กซิโกในทันที!
เธอร้องไห้แทบขาดใจ เธอมีบ้านอยู่ในอเมริกา
และอยู่ที่นี่มาเป็นเวลาสิบกว่าปีแล้ว หากที่สำคัญคือ
ความผูกพันระหว่างเธอกับเด็กๆ ที่เลี้ยงกันมาตั้งแต่ยังเล็กยังน้อย
อีกมุมหนึ่งของโลก
มีเด็กสาวหูหนวก-เป็นใบ้ชาวญี่ปุ่นอาศัยอยู่ในมหานครแห่งความอึกทึก
แต่โลกใบนั้นของเธอกลับเงียบสนิท พูดกับใครไม่ได้ ฟังใครไม่ออก
เป็นชีวิตที่อึดอัดอย่างยิ่ง อึดอัดและเก็บกดจากความที่ไม่สามารถ
ปฏิสัมพันธ์กับเพื่อนมนุษย์ทั่วไปได้เหมือนที่มนุษย์สื่อสารกัน
โลกที่ไม่มีการสนทนาแลกเปลี่ยนช่างโดดเดี่ยวและอ้างว้าง
และไม่มีทางที่สองฝ่ายจะรู้จักกัน เข้าใจกัน รับฟังกัน
และมากกว่านั้นคือ ให้อภัยกัน
เหมือนเธออยู่ในโลกคนเดียว มีเรื่องที่อยากเล่าอยากบอก
แต่ไม่มีใครพยายามรับฟังเธอ
เป็นคนชายขอบ เป็นชนกลุ่มน้อยในโลก
ไม่ต่างจากชาวโมร็อคโคเมื่อเทียบกับคนอเมริกันที่เป็นชนกลุ่มหลัก
ไม่ต่างจากชาวเม็กซิกัน ที่แม้จะมีเสียง แม้จะพูดได้
แต่ก็ไม่มีใครได้ยิน
โลกนี้อาจมีคน ‘เป็นใบ้’ มากกว่าที่เรารู้
โลกนี้อาจมีคน ‘เป็นใบ้’ แม้ว่าเขาเหล่านั้นจะพูดได้
แต่จะมีประโยชน์อะไรถ้าไม่มีใครฟังถ้อยคำอธิบายจากปากของพวกเขา
ถ้อยคำอธิบายที่มีเบื้องหลังมากกว่าที่เราคิด (เอาเอง)
ความผิดพลาดทั้งหลายของเพื่อนมนุษย์
เอาเข้าจริงแล้ว อาจไม่ได้เกิดขึ้นจากความเลวไปเสียทั้งหมด
แต่มันอาจเกิดขึ้นจากจากการกระทำโง่ๆ ที่ผู้กระทำก็ไม่ได้อยากทำ
การกระทำโง่ๆ ที่เมื่อเวลาผ่านแล้วจึงรู้ว่าไม่น่าทำ
และถ้าให้ย้อนกลับไปได้คงไม่มีใครทำอะไรโง่ๆ แบบนั้นอีก
เรื่องราวในหนังที่เล่ามาทั้งหมด มีใครเลวด้วยหรือ?
ชายชาวญี่ปุ่นคนนั้นจะรู้หรือว่า การที่เขายกปืนไรเฟิลกระบอกนั้น
ให้กับพรานชาวโมร็อคโคจะทำให้ป้าชาวเม็กซิโกต้องถูกเนรเทศ!
ปฏิกิริยาผีเสื้อกระพือปีก!
ไม่มีใคร (ในเรื่อง) ตั้งใจจะทำเลว — มีใครได้ยินบ้าง?
เด็กสาวใบ้ชาวญี่ปุ่นเป็นลูกสาวของชายเจ้าของปืน
ที่ไม่เคยพูดจากันแบบดีๆ และไม่เคยได้หันหน้า ‘ฟัง’ กันสักเท่าไหร่
แต่ในตอนจบ เหมือนทั้งคู่ได้สื่อสารอะไรกันบางอย่าง
อะไรบางอย่างที่นำมาซึ่งความเข้าใจ
อะไรบางอย่างที่นำมาซึ่งการให้อภัย
การกระทำโง่ๆ ทั้งหลายที่เกิดขึ้นจากความไม่ตั้งใจเหล่านั้น
ต้องการการให้อภัย
และการให้อภัยจะเกิดขึ้นได้
ก็ต่อเมื่อมนุษย์เงี่ยหูฟังกัน.