Archive for the '03: หนังสือ' Category

คู่มือบริโภคหนังสือ (2)

เมษายน 9, 2008

ข้อสอง: ซื้อคราวหน้าได้ไหม?
อันนี้เป็นหนังสือที่ได้คำตอบกับตัวเองแล้วว่า “อ่านจบแน่ๆ” แต่เมื่อก้มลงไปมองถุงโตงเตงในสองมือที่ถือแทบจะไม่ไหว (นั่นย่อมหมายความว่าคงอ่านไม่หมดในหกเดือนนี้ด้วย) ก็ต้องเงยหน้าขึ้นมาทำตาอาลัยเหมือนพี่มากกำลังจะลาอีนาคไปรบ แล้วเดินจากไปอย่างอาวรณ์ พูดกับหนังสือเล่มนั้นในใจว่า “คราวหน้าเจอกันใหม่ ถ้าพี่ยังอยากได้เธออยู่” หรือ “ตราบที่เราถูกกำหนดมาเป็นของกันและกัน มันต้องมีสักวันที่เราจะได้ใช้เวลาร่วมกัน”

การตัดสินใจแบบนี้นี่นับว่ามีข้อดีอย่างน้อยสองประการ หนึ่ง-ไม่ต้องเอาเงินไปจมอยู่ในหนังสือ ไม่ต้องเอาหนังสือไปจมอยู่ในกองฝุ่น และสอง-การมาซื้อคราวหน้านั้นก็ช่วยทำให้จ่ายน้อยลงอีกด้วย หนังสือบางเล่ม เวลาผ่านไปหกเดือน ราคาลดลงจนน่าตกใจสำหรับคนที่ซื้อไป และน่าแสยะยิ้มสำหรับคนที่กลั้นใจไว้ ยิ่งเวลาผ่านไปนานวัน ราคาก็ยิ่งต่ำลง ผมเคยซื้อหนังสือชุดหนึ่ง (สี่เล่ม) ในราคาเจ็ดร้อยกว่าบาท ณ วันนี้เขาขายแค่สองร้อยกว่าบาทเท่านั้นเอง!

ข้อสาม: รักจริงหรือ?
ข้อนี้ใช้วิธีพิสูจน์เหมือนเวลาเราไม่มั่นใจว่าจะรักใครคนนั้นจริงหรือเปล่า (ให้เวลาเป็นคำตอบ) ใช้สำหรับเล่มที่ชอบแต่ยังไม่ใช่ (อ่านจบแล้วอาจจะใช่) ด้วยวิธีเดินผ่านมาผ่านไป หยิบดูแล้วดูอีก อ่านหน้าโน้นทีหน้านี้ที มีหนังสือบางเล่มที่ผมทำอย่างนี้ประมาณห้ารอบ จนคนขายขำว่ามันจะลังเลอะไรนักหนา บางเล่มทำมาสามปีแล้วก็ยังไม่ได้ซื้อสักที วิธีนี้จะช่วยพิสูจน์ใจตัวเองได้ว่าอยากอ่านหนังสือเล่มนั้นมากขนาดไหน ถ้าหยิบจับขึ้นมาเกินสิบหน ก็สมควรซื้อ ไม่ใช่เพราะรักจริงหรอก แต่ควรซื้อก่อนที่จะโดนคนขายเขวี้ยงหนังสือเล่มนั้นใส่กบาล

ข้อสี่: ซื้อหนังสือเก่า
ข้อดีของงานหนังสือคือจะมีร้านหนังสือเก่ามาขายในโซนซีมากมายหลายร้าน ไม่ว่าจะเป็นหนังสือดีๆ ของนักเขียนไทยอย่าง ‘รงค์ วงษ์สวรรค์, อาจินต์ ปัญจพรรค์, ฮิวเมอร์ริสต์, คึกฤทธิ์, มนัส จรรยงค์, ฯลฯ หรือหนังสือแปลดีๆ วรรณกรรมต่างชาติที่น่าสนใจ ข้อสำคัญคือ หนังสือเก่าเหล่านี้ราคาถูกสุดคุ้ม แค่ได้เดินเข้าไปพลิกดูหน้าปกสวยๆ ของยุคสมัยนั้นก็เพลิดเพลินแล้ว ระหว่างเลือกซื้อก็ยังได้รู้สึกราวกับเป็นนักสะสม เพราะแต่ละเล่มนั้นมีอายุไม่ใช่น้อย มีเรื่องราวและคราบราเลอะพองาม บางครั้งผมหยิบหนังสือเก่าๆ เหล่านี้ทีหนึ่งสิบเล่ม รวมราคาแล้วแค่สามร้อยบาทเท่านั้นเอง

ข้อห้า: ไม่ต้องยกเซ็ตก็ได้
เดี๋ยวนี้ สนพ. ต่างๆ จะมีโปรโมชั่นไม่ต่างจากบริษัทเครือข่ายมือถือ ซื้อผลงานนักเขียนคนนี้ครบชุด รับไปเลยแก้วกาแฟ แผ่นรองเม้าส์ หรือส่วนลดสุดพิเศษ บางบูธอาจแถมเบอร์คนขาย นั่นเป็นสิ่งยั่วยวนที่ย่ำยีความรู้สึกจริงแท้ที่เกิดขึ้นกับผู้อ่านและตัวหนังสือ แทนที่จะซื้อเพราะอยากอ่าน เรากลับซื้อมาเพราะอยากได้ของแถม บางทีเราอาจจะต้องการอ่านงานของเขาบางเล่ม หรืออ่านทีละเล่ม ค่อยๆ เรียนรู้กันไป แต่พอเจอโปรโมชั่นเข้าไปก็หน้ามืด หอบกลับมาเป็นกอง ซึ่งก็เป็นกองจริงๆ หอบกลับมากองไว้ในห้องอ่านไม่ครบทุกเล่มที่ยกเซ็ตมา ผมเองก็เล็งเพชรพระอุมาเอาไว้หลายปีมาแล้ว โชคดีที่ไม่ได้ซื้อตอนคลั่ง (การซื้อ) หนังสือ ไม่งั้นถ้ายกเซ็ตมีหวังพุงกิ่ว เคี้ยวกระดาษแทนข้าวเป็นแน่ สำหรับนักเขียนที่เราอยากทำความรู้จักนั้น การเริ่มทีละเล่มสองเล่มน่าจะดี ส่วนสำหรับนักเขียนที่เราชื่นชอบและติดตามจะซื้อยกชุดก็คงจะได้ หากเราแน่ใจว่าจะอ่านหมด ผมคิดเสมอว่า สำหรับหนังสือแล้วไม่มีคำว่าเปลือง ถ้าซื้อแล้วได้อ่าน

(น่าจะยังมีอีก วันนี้พอแค่นี้ก่อนครับ)

คู่มือบริโภคหนังสือ (1)

เมษายน 8, 2008

ปัญหา: หนังสือกองโตนับร้อยเล่มยังไม่ได้ถูกเปิดอ่าน
ปัญหา (อีก): งานหนังสือทีไรก็ซื้อมากองเพิ่มอีกหลายสิบเล่ม
วิธีแก้: ยังไม่รู้ จึงเขียนบล็อกครั้งนี้ขึ้นมาเพื่อหาคำตอบ

ผมหา “วิธี” ที่จะบริโภคหนังสืออย่างพอดีมานานนม บางครั้งผมก็รู้สึกผิดบาปที่ซื้อกระดาษหลายปึกมากองกันไว้ ใช่! หนังสือที่ไม่ถูกเปิดอ่านก็ไม่ต่างอะไรกับกระดาษเปล่า! และกระดาษเหล่านั้นมันก็เคยเป็นต้นไม้มาก่อน โลกร้อนเพราะเราขยันบริโภคหนังสือ หากซื้อมาถือมาอ่านก็คงไม่ผิดอะไร แต่เล่นซื้อมากองไว้นี่มันชวนให้หงุดหงิด

ทุกครั้งที่เหลือบไปเห็นกองหนังสือ ผมเห็นธนบัตรและต้นไม้ รวมไปถึงความรู้ เมื่ออ่านหนังสือมาได้สักระยะ ผมก็เริ่มรู้สึกตัวว่าไม่ต่างอะไรกับสาวๆ เวลาเห็นรองเท้าหรือกระเป๋าสะพาย คือมีเท่าไหร่ก็ไม่พอ เห็นเล่มใหม่ก็อยากได้อีก ไอ้เล่มเก่าก็ยังไม่ได้อ่านสักเท่าไหร่ รู้สึกว่ามีเก็บไว้อุ่นใจดี บางทีก็เลยเถิดไปถึงขนาดรู้สึกว่า “แค่ซื้อก็ฉลาดแล้ว” นั่นเป็น “อารมณ์บริโภคนิยม” ดีแท้

พักหลังจึงพยายามตั้งสติ คิดก่อนซื้อ แทบจะหาลูกประคำมาเดินนับขณะเดินป้วนเปี้ยนในงานมหกรรมและสัปดาห์ลดราคาหนังสือ อ่านหนอ-คิดหนอ-ควักตังค์หนอ-จ่ายตังค์หนอ-มึงจะอ่านไหมหนอ ผมต้องสร้างสมาธิและถามตัวเองในใจว่าซื้อไปแล้วจะได้อ่านไหม หรือมันจะเป็นอีกหนึ่งเล่มที่ถูกกองไว้เป็นมิตรสหายกับฝุ่น

วันนี้ผมจึงมานั่งหาวิธีบริโภคหนังสือที่พอดี ซื้อมาแล้วได้อ่าน หรืออย่างน้อยซื้อมาก็ได้ใช้ประโยชน์ จะค่อยๆ คิดค่อยๆ เขียนไป หากใครคิดอะไรออกอีกก็มาบอกกันด้วย หากมันได้ผล เรามาทำเป็นคู่มือแจกในงานลดราคาหนังสือคราวหน้ากันดีกว่า

ข้อหนึ่ง: อ่านไหม
คำถามนี้สำคัญ หนังสือที่ซื้อมาแล้วไม่อ่านไม่ใช่ว่ามันไม่ดี แต่มันก็ไม่มีทางดีได้ถ้าเราไม่อ่านมัน บางครั้งเราซื้อมาเพียงเพราะได้ยินมาว่ามันดี หรือบางทีก็เพราะพลิกๆ ดูแล้วอู้หูอ้าหา แล้วพอกลับบ้านมาแล้วก็วางกองไว้ ไม่ได้หยิบมันขึ้นมาอีกกระทั่งสิ้นลมหายใจ หนังสือประเภทนี้เป็นเรื่องของใครของมัน แต่สำหรับตัวเอง หลังๆ ผมเริ่มจับทางได้ว่าผมจะมีหนังสือดีที่ซื้อมาแล้วไม่อ่านอยู่สองประเภท

หนึ่งคือ หนังสือที่มีเนื้อหาในเชิงวิชาการ ที่วิชาการเอามากๆ ส่วนใหญ่แล้วเป็นเนื้อหาที่ผมสนใจในเวลานั้น แต่เนื่องจากดันซื้อหนังสือมาเยอะเกินไป และมักจะหยิบเล่มที่อ่านง่ายมาอ่านก่อน พอรู้สึกตัวอีกที อ้าว งานหนังสืออีกแล้ว ไปซื้อเล่มใหม่มา เล่มเก่าที่ยากๆ ก็ยังกองไว้ ประมาณประวัติศาสตร์ชาติพันธุ์ไทย, การเมืองไทยสมัยรัชกาลที่ห้า, มนุษยวิทยาของสตรีชาวไตลื้อ หรืออะไรในทำนองใกล้เคียง กระทั่งถึงเนื้อหาหนังอึ้งทรงปัญญาอย่าง รวมฮิตปรัชญาตะวันตก, รวมมิตรปรัชญาตะวันออก แนวนี้นี่ถ้าเป็นแบบคัดย่อและสรุปมักจะอ่านจบ แต่เล่มที่มีรายละเอียดยิบย่อยมักจะถูกปล่อยไว้อย่างโดดเดี่ยว ทั้งหมดนี้ไม่ใช่หนังสือที่ไม่ดีเลยแม้แต่น้อย แต่มันเป็นหนังสือที่ถูกปล่อยไว้ให้แมงมุมโยงใยเล่น จึงเห็นว่าคราวหน้าคราวหลังควรจะฟังเสียงตัวเองให้ดีว่าซื้อมาแล้วจะอ่านไหม หากคำตอบคือ-ไม่ ก็ควรวางมันไว้ และให้คนอื่นที่เขาจะอ่านได้ซื้อไปเหลาสมอง ไม่ต้องมากองเป็นซากต้นไม้เช่นนี้

สองคือ งานวรรณกรรมชั้นยอดที่โลกยกย่อง ซึ่งมักจะมีความหนาเกินหกร้อยหน้า หันไปมองครั้งใดก็อยากอ่านเพื่อที่จะได้เข้าใจโลกและชีวิตให้มากขึ้น อีกทั้งยังได้เรียนรู้กลวิธีในการเรียบเรียงความคิดออกมา แต่แล้วก็แพ้ภัยความหนาของหนังสือ เหมือนเงยหน้ามองภูเขาลูกใหญ่แล้วถอดใจไปไต่ภูเขาลูกเล็กแทน ถึงมุมที่ได้มองจะไม่อลังการเท่า แต่อย่างน้อยก็ได้ไต่หลายเขาและได้หลายมุม

สองประเภทที่กล่าวมาอาจเป็นหนังสือที่ “อ่านจบ” ของหลายคน และหนังสือที่ผมอ่านจบ ก็อาจมีญาติมิตรท่านอื่นไม่นึกแม้แต่จะหยิบขึ้นมาอ่านด้วยซ้ำ จะมานั่งเถียงกันเรื่องรสนิยม ผมว่าเราเอาเวลาไปหม่ำข้าวมันไก่หรือนั่งขบคิดว่าผัดมาม่าอย่างไรให้อร่อยน่าจะมีคุณค่ามากกว่า รสนิยมเป็นเรื่องของ “รส” ที่ต่างคนต่าง “นิยม” แต่คำถามสำหรับการซื้อหนังสือนี่เราน่าจะร่วมมือร่วมใจร่วมใช้ด้วยกันได้ ไม่ว่าเราจะนิยมรสไหน

คำถามแรกที่ผมแนะนำก็คือ “ซื้อไปแล้วจะได้อ่านไหม”

พี่จิกกับซีดาน

กุมภาพันธ์ 20, 2007

1.
เพิ่งได้หยิบ ‘แมงกะพรุนถนัดซ้าย’ หนังสือรวมบทความ
‘คุยกับประภาส’ เล่มล่าสุดขึ้นมาอ่าน หลังจากซื้อมาวางไว้บนหิ้ง
ตั้งแต่งานหนังสือในเดือนตุลาฯ เมื่อปีก่อน

อาจเพราะเป็นผลงาน ‘ลำดับที่แปด’ ก็เป็นได้
ที่ทำให้ความตื่นเต้นอยากอ่านทันทีลดน้อยถอยลง
จำได้ว่า ตอนซื้อ ‘คุยกับประภาส’ ลำดับที่สองมาพร้อมกับหนังสือกองโต
แล้วหิ้วหอบมันขึ้นรถเมล์กลับบ้านนั้น ยังรีบเปิดอ่านตั้งแต่อยู่บนรถเมล์
เพราะชอบ ‘คุยกับประภาส’ เล่มแรกมาก และก็ใช่, เล่มสองก็ยังชอบมากอยู่ดี

หลังจากนั้นเมื่อเวลาผ่าน ความรู้สึกเมื่อได้หนังสือหมวด ‘คุยกับประภาส’
ติดไม้ติดมือกลับมาบ้านก็ไม่ตื่นเต้นเหมือนเดิมอีก อาจเพราะได้ทึ่ง
กับความคิดของพี่จิกไปซ้ำแล้วซ้ำเล่า ทึ่งแล้วทึ่งอีก จนสมองชา
กับอีกหนึ่ง ‘อาจ’ คือ อาจเพราะโหยหาอะไรที่มันสลับซับซ้อนมากขึ้น

อะไรที่มันอธิบายง่ายๆ ก็ได้ แต่ยิ่งอธิบายยากยิ่งชอบ

เหมือนช่วงหนึ่งที่เคยอ่านวรรณกรรมเยาวชนมากๆ
แล้วในที่สุดก็เลิกอ่านไป เพราะเริ่มรู้สึกว่า โลกจะอ่อนโยนเกินไปแล้ว

นี่ละมัง คือเหตุผลที่ ‘แมงกะพรุนถนัดซ้าย’ ถูกวางแช่ไว้ตั้งนาน

2.
พอเริ่มเปิดหน้าแรก ก็อ่านผ่านครึ่งเล่มไปแบบไม่กลัวเมื่อยแขน
เพราะช่างเพลิดเพลินเจริญสมองเสียเหลือเกิน กับความรู้ ข้อมูล
และมุมมองที่พี่จิกเอามาเรียงร้อยเข้าด้วยกันแบบ ‘ง่ายๆ’

หมายถึง ให้คนอ่านอ่านง่าย
แต่คนเขียนคงไม่ได้เขียนขึ้นมาง่ายๆ เป็นแน่

แล้วผมก็พบว่า หนังสือพี่จิกมีลักษณะบางอย่างเหมือนหนังสือธรรมะ
คือ ถ้าอ่านตอนไม่สบายใจจะสบายใจ อ่านตอนไม่สดใสจะสดชื่น
อ่านตอนเจอทางตันจะเจอทางออก อ่านตอนฟุ้งซ่านจะสงบ
อ่านตอนมีคำถามจะเจอคำตอบ และถ้าอ่านตอนจิตใจปกติจะเพลิดเพลินยิ่ง!

อีกอย่างคือ อ่านแล้วจะมีสติ
เพราะหนังสือเล่มใดก็ตามที่ชวนให้คนตั้งคำถามและครุ่นคิดหาคำตอบ
ย่อมนำมาซึ่ง ‘สติ’ เพราะคนอ่านย่อมได้หยุดคิดและไตร่ตรองกับตัวเอง
ในความสงบ

และในบางบทก็สามารถทำให้คนอ่านพบ ‘ซาโตริ’ ได้ในฉับพลัน!
เป็นการบรรลุ และตระหนักรู้เล็กๆ ที่เมื่อได้พบแล้วนำมาซึ่งความปิติ

3.
‘สุดเวหากับแค่คืบ’ คือบทนั้น
ขออนุญาตเล่าเรื่องย่อๆ จากเรื่องของท่านพี่

สุดเวหากับแค่คืบเป็นเพื่อนนักเรียนในโรงเรียนสอนศิลปะแห่งหนึ่ง
ทั้งคู่เป็นยอดฝีมือที่ยากตัดสินว่าใครเก่งกว่าใคร

วาดดอกไม้ ก็เหมือนจนคนดูอยากก้มลงดมกลิ่น
วาดหญิงงาม ก็อ่อนช้อยจนอยากให้เธอร่ายรำออกมาจากภาพ
วาดชายหนุ่ม ก็หมดจดจนหญิงสาวที่มายืนดูต้องเขินอาย

แม้จะฝีมือเทียบเทียมกัน แต่นิสัยของทั้งสองต่างกันเหลือเกิน

สุดเวหา เป็นคนจริงจังมุ่งมั่น หากจะทำอะไรก็ต้องทำให้ถึงที่สุด
ต่อให้ต้องทุ่มเททุกสิ่งทุกอย่างในชีวิตเขาก็จะทำ ที่สำคัญ
เขาเป็นคนไม่ยอมคน ตลอดชีวิตเขาปรารถนาเป็นหนึ่งเพียงอย่างเดียว

ส่วน แค่คืบ เป็นคนพูดน้อยและมีรอยยิ้มพิมพ์อยู่บนใบหน้าเป็นนิจ
เขามักทำงานด้วยความผ่อนคลาย ราวกับว่างานเป็นอิริยาบถหนึ่ง
ของการดำรงชีวิต ไม่ต่างอะไรกับการกิน นอน หรือหายใจ
เขามักทำงานศิลปะอย่างสม่ำเสมอ ต่างจากสุดเวหาที่มักจะมุมานะ
ทำงานหนักเป็นช่วงๆ หยุดเป็นช่วงๆ

คนชอบถามว่า สองคนนี้ใครเก่งกว่ากัน?
ซึ่งทำให้สุดเวหารำคาญใจและอยากหาคำตอบ
จึงบอกอาจารย์ว่าอยากตัดสินให้รู้ๆ กันไปเสียที

อาจารย์ตั้งกติกาง่ายๆ ว่า จะวาดรูปอะไรก็ได้ ใหญ่แค่ไหนก็ได้
ให้เวลาเพียงหนึ่งสัปดาห์ โดยให้ทั้งสองนั่งวาดอยู่ในห้องโถงเดียวกัน
ขอเพียงภาพที่วาดออกมานั้นต้องสามารถ ‘จู่โจมเข้าหาคนดูโดยไม่รู้ตัว’

สุดเวหาเริ่มวาดรูปตั้งแต่ตอนเช้าตรู่ของวันแรก
เขามองออกไปที่กระจกหน้าต่างแล้วก็เริ่มร่างรูป
สายตาแดงก่ำของเขาจ้องเขม็งไปที่ผืนผ้าใบที่เขากำลังจรดพู่กันลงไป

แค่คืบมาถึงห้องโถงช้ากว่า เขานั่งมองอะไรไปเรื่อยเปื่อย
ก่อนจะเริ่มจรดพู่กันลงบนผ้าใบ

เวลาผ่านไปครึ่งวัน

สุดเวหารู้สึกว่าแค่คืบแอบลอกรูปวาดของเขา จึงรีบคว้าผ้าดำ
มาคลุมผ้าใบที่กำลังวาดอยู่ในทันที แล้วก็หันไปตวาดแค่คืบว่า
ทำไมต้องมาลอกภาพของเขาด้วย ไม่มีสมองคิดเองหรือไง

แค่คืบออกปากขอโทษ ชวนไปกินข้าว เพราะเห็นนั่งวาดมาทั้งวันแล้ว
สุดเวหาไม่ไป เพราะคิดว่าแค่คืบจะมาชวนให้เขาเสียเวลา

เวลาผ่านไปหลายวัน

แค่คืบยังคงเดินเล่นบ้าง วาดบ้าง นอนมองท้องฟ้าบ้าง
จนบางคนนึกว่าแค่คืบยอมแพ้ไปซะแล้ว
ฝ่ายสุดเวหายังคงก้มหน้าก้มตาทำงานอย่างไม่มีหยุดพัก

ครบหนึ่งสัปดาห์ ถึงกำหนดที่อาจารย์จะมาตัดสินว่า
ใครคือที่หนึ่งของโรงเรียนศิลปะ

ในห้องโถงแห่งนั้น มีขาตั้งผ้าใบวาดรูปสองอันตั้งอยู่กลางห้อง
ทั้งสองขาตั้งมีผ้าสีดำคลุมไว้ไม่ให้เห็นว่ารูปข้างในเป็นรูปอะไร

อาจารย์เดินไปดูที่รูปของสุดเวหาก่อน ทันทีที่ดึงผ้าคลุมสีดำออก
ผู้คนในห้องก็ส่งเสียงฮือในลำคอ เป็นภาพวาดใบหน้าของสุดเวหาเอง
เขาใช้เวลาทั้งอาทิตย์เพ่งหน้าตัวเองในกระจกหน้าต่าง
แล้ววาดภาพนี้ขึ้นมา ดวงตาของเขาในรูปแดงก่ำไม่ผิดกับตัวจริง

“มันจู่โจมคนดูโดยมิรู้ตัวไหม?” ใครคนหนึ่งพูดขึ้น
“รู้ตัวสิ ใครๆ ก็รู้ว่าสุดเวหาเป็นคนอย่างนี้อยู่แล้ว” อีกคนตอบ

อาจารย์ทำมือบอกให้ทุกคนเงียบเสียง แล้วเดินไปที่รูปของแค่คืบ
อาจารย์บอกให้แค่คืบดึงผ้าสีคลุมดำนั้นออก แค่คืบมองหน้าอาจารย์นิ่ง
“เปิดผ้าออกสิ แค่คืบ” อาจารย์ย้ำ
“เปิดไม่ได้ครับอาจารย์” แค่คืบพูดเบาๆ

นักเรียนทั้งหลายต่างนึกว่าแค่คืบยอมแพ้แล้ว จึงพากัน
แสดงความยินดีกับสุดเวหา ที่แค่คืบไม่กล้าแม้แต่จะเปิดผ้าออกมาสู้
สุดเวหาชูกำปั้นสุดเหยียดอย่างผู้มีชัย

อาจารย์มองแค่คืบด้วยความสงสัย แล้วเอะใจหันไปมองผ้าสีดำ
ที่คลุมผ้าใบอยู่อีกที จากนั้นรอยยิ้มของอาจารย์ก็ผุดขึ้น

“จู่โจมคนดูอย่างมิรู้ตัวโดยแท้จริง” ตาของอาจารย์จ้องเขม็ง

คงมีอาจารย์คนเดียวที่มองเห็นว่า ผ้าสีดำที่คลุมภาพวาดอยู่นั้น
มันไม่ใช่ผ้าสีดำแต่อย่างใด ที่แท้แล้ว ทั้งหมดมันคือรูปวาดผ้าสีดำ
ที่กำลังคุลมผ้าใบที่มีขาตั้งอยู่ต่างหาก

4.
การกลับมาอ่านหนังสือที่เขียนด้วยลีลาง่ายๆ อย่าง ‘คุยกับประภาส’ อีกครั้ง
ทำให้ผมรู้สึกเหมือนที่เคยรู้สึกเมื่อหลายปีก่อน ก่อนที่จะพยายามล้อเล่น
กับลีลาและภาษาอันฉวัดเฉวียนชวนปวดหัว เหมือนนักฟุตบอลที่ขยัน
สับขาหลอก จนบางทีก็สะดุดขาตัวเองล้มคว่ำหน้าคะมำ

นักฟุตบอลนิ่งๆ ขยับตัวน้อยๆ แต่เกิดผลลัพธ์ใหญ่ๆ แบบซีเนอดีน ซีดาน
เมื่อเทียบกันกับไอ้หนูวัยรุ่นนักสับขาหลอกอย่าง คริสเตียโน่ โรนัลโด้
สำหรับคนดู มันก็เพลินตาไปคนละแบบ

แต่ผลลัพธ์อาจอยู่ที่การยิงประตู
เล่นง่าย หรือ เล่นยาก ถ้ายิงประตูได้ก็น่ายินดีทั้งนั้น

เด็กๆ อาจชื่นชอบที่จะใช้ลีลาหวือหวาเลี้ยงหลบกองหลัง
คนโตๆ แล้วใช้ประสบการณ์และความเก๋าส่งบอลเข้าตาข่าย

ซีดาน ขยับตัวนิดเดียวแต่มักจะจู่โจมฝ่ายตรงข้ามโดยมิทันตั้งตัว
เล่นเหมือนง่าย แต่จริงๆ ยาก

เล่นฟุตบอลเหมือนหายใจ

เหมือนทุกครั้งที่ดูทีวี ผมอยากเล่นฟุตบอลให้ได้อย่างซีดาน
และก็เช่นกันกับทุกครั้งที่ได้อ่านงานเขียนของประภาส ชลศรานนท์
ผมอยากเขียนหนังสือให้ได้อย่างพี่จิก.

สมการในสมอง: y = ax

มกราคม 31, 2007

ตื่นเช้ามานั่งอ่านหนังสือ กำแพงคนโง่
เขียนโดย ทาเคชิ โยโร่ แปลโดย โชว์เดียร์
แค่บทที่สองก็เริ่มสนุก

สนุกกับการคิด ‘สมการเชิงเส้นในสมอง’ ของผู้เขียน
จากข้อสังเกตที่ว่า “เราไม่สามารถสื่อสารกับคนที่ไม่อยากรู้ได้”

หนังสือบอกว่า
ในระหว่างที่รับข้อมูลผ่านสัมผัสทั้งห้า และส่งข้อมูลออกไปจาก
การเคลื่อนไหวนั้น ในสมองจะทำการเคลื่อนไหวและหมุนเวียน
ข้อมูลที่ถูกใส่เข้าไป

ลองให้การรับข้อมูลที่ว่าคือ x และการส่งข้อมูลคือ y
ก็จะได้สมการเชิงเส้น y = ax
เมื่อมีข้อมูลค่า x อะไรก็ตามที่ใส่เข้าไป คูณเข้ากับ
สัมประสิทธิ์ a ผลหรือการตอบสนองที่ได้ก็คือค่าของ y

a คืออะไร?
a คือ ‘น้ำหนักที่เป็นความจริง’ ซึ่งจะแตกต่างกันไป
ขึ้นอยู่กับแต่ละคนว่าจะให้น้ำหนักความจริงมาก-น้อยแค่ไหน

พูดง่ายๆ ก็คือ การตอบสนองของคนเราขึ้นอยู่กับ
ข้อมูลที่ใส่เข้าไปในตัวเราคูณเข้ากับการตัดสินของเราว่า
ข้อมูลนั้นจริงใจหรือไก่กา (จริงหรือไม่ จริงหรือเปล่า หว่าวๆๆๆ)

สมมุติว่า เราให้ค่าความจริงกับข้อมูล (a)
จากคุณสนธิ ลิ้มฯ (นามสมมุติ) ค่อนข้างมาก
การตอบสนองของเราก็จะมากด้วย เช่น
ไปร่วมเอาผ้ากู้ชาติผูกกบาลตะโกนตามหลังคุณ สนธิ ลิ้มฯ
แต่ถ้าเราให้ค่าความจริงกับข้อมูลนั้นน้อย
เราก็คงนอนอยู่บ้านเกาสะดือเล่นเฉยๆ
ถ้าหนักกว่านั้นคือให้ค่าเป็นติดลบ เราก็อาจหาทางออกอื่น
เช่นไปเย้วๆ กับม็อบคนรักทักษิณ หรืออื่นๆ ที่เป็นทางตรงข้าม
(ซึ่งไม่ได้หมายความว่าเกลียดคนนี้แล้วต้องชอบอีกคนนึงเสมอไป)

ในหนังสือบอกว่า
โดยปกติแล้วถ้ามีข้อมูล x ที่รับเข้าไป ก็จะต้องมีปฏิกิริยา
สักอย่างเกิดขึ้น ก็เพราะเมื่อในเมื่อมีค่า y ปรากฏอยู่
a ก็จะไม่เป็นศูนย์

แต่มีกรณีพิเศษที่ a = 0 ในกรณีเช่นนี้ ถึงแม้จะมีข้อมูล
รับไว้มากเท่าไหร่ก็ตาม ก็จะไม่มีข้อมูลที่ส่งออกมา
ก็หมายความว่า ข้อมูลนั้นไม่ส่งผลไปที่การกระทำใดๆ

การที่ข้อมูลที่รับเข้าไปไม่ส่งผลใดๆ กับการกระทำนั้น
ก็หมายความว่า สิ่งนั้นไม่ใช่ความจริงสำหรับคนคนนั้น

ในหนังสือยกตัวอย่าง คนอิสราเอลที่มีค่าสัมประสิทธิ์เป็นศูนย์
ต่อเรื่องที่ว่า คนอาหรับจะพูดถึงพวกเขาว่ายังไง
หรือโลกจะวิพากษ์วิจารณ์พวกเขายังไง เพราะฉะนั้น
มันจึงไม่มีผลต่อการกระทำของพวกเขาเลย

อีกตัวอย่าง
ถ้าเราเดินๆ อยู่แล้วมีหนอนไต่อยู่ที่เท้า
บางคนก็จะหยุดดู แต่คนที่ไม่สนใจก็จะไม่ใส่ใจหนอนตัวนั้น
เท่ากับว่าค่าสัมประสิทธิ์ของสมการที่มีต่อข้อมูลของหนอนตัวนั้น
สำหรับคนคนนั้นมีค่าเป็นศูนย์นั่นเอง

ในหนังสือยังยกตัวอย่างเวลาพ่อด่า
เมื่อเราไม่เชื่อข้อมูลที่พ่อด่าว่าเรา สมองเราจะรับเฉพาะ
ข้อมูลใบหน้าของพ่อที่กำลังโกรธว่าเป็นความจริง
แต่จะทิ้งคำด่า(อันเป็นประโยชน์)ไป
เพราะในตอนนั้นสำหรับเรา คำสั่งสอนของพ่อ ไม่ใช่ความจริง
(เพราะเราไม่เห็นด้วย)

แต่ถ้าพ่อชม เราคงรับฟังทุกถ้อยคำอย่างตั้งใจ
และค่า a ก็จะเป็นบวกทันที

ง่ายๆ ถ้าค่า a (น้ำหนักความจริง) ต่อ x (ข้อมูลที่ใส่เข้าไปในสมอง)
เป็นบวก ค่าของ y ซึ่งก็คือการกระทำตอบกลับก็จะเป็นบวกไปด้วย

คิดไปคิดมาก็เหมือนความรักเมื่อครั้งยังหวาน
น้องชี้นกแล้วบอกว่าไม้ พี่ก็ว่าไม้ไปตามวาจา
เห็นปูน้องบอกว่าปลา พี่ก็ว่าปลาไปตามดวงใจ

เราให้ค่าความจริงโดยตัดสินจากแหล่งข้อมูลนั้นด้วย

หนังสือยังบอกอีกว่า
การกระทำมีทั้งด้านลบและบวก ถ้า a เป็น บวก10a
ก็สามารถเป็น ลบ10a ได้เช่นกัน
อย่างนายโอซามะ บินลาดิน ที่ฝ่ายชังก็จะเกลียดมาก
ฝ่ายสนับสนุนก็จะชอบมาก a ของบินลาดิน
จึงเป็นตัวเลขที่ใหญ่มาก ทั้งนี้ก็มาจากความใหญ่ของข้อมูล
(การกระทำ) ของเขานั่นเอง

เหมือนเวลาเราลงมือจีบใครสักคน
ถ้าเขาเปิดรับ ‘ข้อมูลการจีบ’ ของเรา ว่ามันมีอยู่จริง
เราก็ย่อมจะได้ค่า a คูณเข้าไปใน x (การจีบ)
แต่ถ้าตื้อมากๆ เข้า ก็อาจจะได้ค่า a ที่เป็นลบ
แต่อย่างน้อยก็ยังดีกว่าค่า a เป็นศูนย์
เพราะนั่นหมายความว่า เราไม่มีตัวตน
หรือเธอไม่เห็นหัวเราอยู่ในสายตาเลยนั่นเอง

การที่ค่า a เป็นลบมากๆ นั้นมีผลดีกว่าเป็นศูนย์
เพราะเมื่อเราไม่เชื่อมากๆ มันจะนำไปสู่การแสวงหา
ในหนังสือเปรียบเปรยกับเกมหมากกระดานโอเทโล่
ที่เมื่อเป็นลบมากๆ เข้าก็จะเปลี่ยนเป็นบวกได้ทันที

พระเอกกับนางเอกที่ทะเลาะกันจะเป็นจะตายในตอนต้นเรื่อง
จึงลงเอยด้วยการแต่งงานหอมแก้มฟอดๆ กันได้ในท้ายเรื่อง
ก็เพราะค่า a ที่เป็นลบมากๆ นั่นแหละ (ตบจูบ ตบจูบ!)

แต่ในอีกกรณี ถ้าค่า a ของใครคนหนึ่งพุ่งไปถึง infinity
ข้อมูลหรือความเชื่อนั้นๆ จะเริ่มกลายเป็นสิ่งจริงแท้แน่นอน
สำหรับคนคนนั้น และส่งผลต่อการกระทำได้อย่างไร้ขีดจำกัด

เหมือนคนที่เชื่อในคำสอนใดมากๆ และสามารถทำทุกอย่างได้
ตามคำสอนของลัทธิเหล่านั้น

หนังสือบอกว่า
การที่ค่า a = 0 และ a = infinity นี่เองเป็นปัญหาใหญ่ในปัจจุบัน
และหากสังคมเป็นแบบนั้น เราก็จะอยู่กันไม่ได้

เพราะเมื่อคนหนึ่งเชื่อในความจริงของตัวเองสุดกู่ (a = infinity)
และปิดประตูรับความจริงจากแหล่งข้อมูลอื่น (a = 0)
เราคงไม่สามารถพูดจาทำความเข้าใจอะไรกันได้

ผมมองว่า เราสามารถมีความเชื่อของเราได้
และไม่จำเป็นต้องแกล้งเห็นด้วยกับคนอื่นที่คิดต่างออกไป
แต่เรานั่งอยู่บนโต๊ะอาหารเดียวกัน อยู่ในบ้านหลังเดียวกัน
พูดจาแลกเปลี่ยนกัน รับฟังกัน ทำความเข้าใจกัน ก็น่าจะดี

ทำความเข้าใจ โดยไม่จำเป็นต้องเห็นด้วย.

แฉคนไทย (สอง)

มกราคม 30, 2007

(กลับมาต่อกันตามสัญญาครับ พอดีว่ายังไม่ง่วง)

นิสัยกว้างๆ เก้าอย่างของคนไทย

1.ความสนุก คือหลักชัยของชีวิต
อันนี้ที่จริงไม่ต้องการคำบรรยาย คำว่า ‘สนุก’ เป็นคำพูดยอดฮิต
ติดปากของเราชาวไทยทุกสาขาอาชีพ กระทั่งอาชีพที่เคร่งขรึม
ก็ยังหลุดคำว่า ‘สนุก’ ออกมาเสมอ

หนังสือหรืองานเขียนบางชิ้นดูจริงจัง แต่ก็มักได้รับคำชมว่า ‘อ่านสนุก’
เราจึงได้เห็นคำพูดอาทิ งานวิชาการอ่านสนุก, รายการสารคดีดูสนุก,
กระทั่งอุปกรณ์ก่อร่างความคิดสร้างสรรค์ อ่านสนุก! ก็มี

กระทั่งเรื่องเคร่งเครียดอย่างการรัฐประหาร
“เฮ้ย! เมื่อคืนติดตามข่าวปฏิวัติรึเปล่า?”
“เออ ตามตลอดเลย กว่าจะได้นอนตั้งตีสาม แม่งสนุกดีว่ะ”

หรือกระทั่งการกู้ชาติ
“เมื่อวานไปสวนลุมฯมาเปล่า? ได้ข่าวว่าสนุกมาก”
“โหย มึงพลาดไปแล้วล่ะ ไปร้องตะโกนไล่ ออกไปๆๆๆ โคตรหนุกเลย”

อะไรก็เป็นเรื่องสนุกได้ เหมือนความสนุกอยู่ในหัวใจพี่ไทยตลอดเวลา
เราจึงเป็นประเทศที่มีวันหยุดมากที่สุดประเทศหนึ่งของโลก

หนังสือเล่มนี้เขียนไว้ว่า
หากท่านต้องการให้คนเยอรมันทำงาน ต้องบอกว่า “มันเป็นกฎ”
ถ้าเป็นชาวอังกฤษ ต้องบอกว่า “มันเป็นมารยาทของสุภาพบุรุษ”
ถ้าเป็นอเมริกันก็ต้องบอกว่า “แกทำได้แล้วจะเป็นฮีโร่”
ส่วนพี่ไทยเราก็ต้องบอกว่า “ทำดิ สนุกสุดๆ เลย”

2.ชอบการชี้นำ ฟันธง
เขาเขียนว่า พี่ไทยเราชอบอะไรขาวจัด-ดำจัด
ถ้ารักนักการเมืองคนไหน ก็จะฟันธงว่า เป็นคนดี
ถ้าเกลียดใครก็ชั่วไม่ได้ผุดได้เกิด

ละครไทยก็เลยมีตัวละครชี้นำแบบชั่วก็ชั่วชัดๆ
ดีก็ดีโคตรๆ จะได้ไม่ต้องดูไปแล้วงงๆ ต้องเก็บไปคิดต่อว่า
ตกลงไอ้คนนั้นชั่วหรือดีกันแน่ ขี้เกียจคิด บอกกันมาเลย

อย่างเหตุการณ์ในวันที่สิบเก้า กันยาฯ ที่ผ่านมาก็เช่นกัน
ทะเลาะกันไปมาสองฝ่าย ไม่รู้จะเชียร์ฝ่ายไหนดี
ฝ่ายไหนดี ฝ่ายไหนร้าย หรือชั่วทั้งสองฝ่าย ก็ตัดสินใจไม่ถูก
พอมีคนออกมา ‘ฟันธง’ พี่ไทยเราก็เอาข้าวเอาดอกไม้ไปให้กันเพียบ

หนังสือเขียนว่า
ปรัชญาการศึกษาจึงขัดแย้งกับนิสัยคนไทยอย่างมาก
เพราะปรัชญาการศึกษาคือการตั้งคำถาม กระตุ้นให้เกิดคำถามใหม่
ไม่ต้องสรุป ไม่ต้องฟันธง เพื่อที่คนเรียนจะได้ไปต่อยอด

นั่นแหละ-พี่ไทยเราขี้เกียจคิดมาก เดี๋ยวจะไม่มีเวลาสนุก
นิสัยนี้ไม่ต้องพลิกตำราหมอดูก็บอกกันได้ – – ฟันธง!
(เห็นมั้ยหมอดูฟันธงยังงานล้นมือขนาดนี้เลย)

3.ชอบเยอะๆ
ถ้าท่านจะเปิดข้าวแกง ต้องมีหม้อข้าวแกงเรียงโชว์เกินยี่สิบหม้อ
ยิ่งเป็นร้อยหม้อยิ่งดีใหญ่ คนไทยชอบอ่านเมนูเล่มหนาๆ
พอรู้สึกว่ามีของให้เลือกเยอะแล้วหัวใจจะพองโต ตื่นเต้น

แชมพูสระผมก็เลยมีร้อยรุ่นพันยี่ห้อ กระทั่งแชมพูหมาก็เยอะไม่แพ้กัน
เวลามีอะไรน้อยๆ จะตัดสินใจไม่ค่อยได้ รู้สึกว่ายังไม่หนำ

ทริปท่องเที่ยวก็ต้องใส่สถานที่ให้เยอะเข้าไว้
ไปสูดหายใจครึ่งเฮือกแล้วกระโดดขึ้นรถไปต่อ ก็ไม่เป็นไร
ขอให้ได้ไปเยอะๆ ทริปแบบเจ็ดวัน สิบสี่ประเทศ จึงเกิดขึ้น
ทัวร์ไหว้พระก็ต้องเก้าวัดถึงจะหนำ อีกไม่นานอาจทัวร์ไหว้พระ
เก้าสิบเก้าวัดก็ได้ ยิ่งเยอะยิ่งหนุก

พวกฟังก์ชั่นของโทรศัพท์มือถือก็เหมือนกัน
ขอเยอะๆ เข้าไว้ ใช้-ไม่ใช้ไม่เป็นไร มีเกินๆ ไว้อุ่นใจกว่า

4.เน้นรูปแบบมากกว่าสาระ
มนุษย์ในโลกนี้ชอบเน้นรูปแบบมากกว่าสาระอยู่แล้ว
แต่ในหนังสือเล่มนี้บอกว่า พี่ไทยเราเน้นหนักมาก
สังเกตได้จากพิธีเปิด พิธีปิด ประธานกล่าว ตัดริบบิ้น
อะไรต่อมิอะไรก็มักจะยืดยาวกว่าจะเข้ารายการเนื้อๆ

ผู้มีภูมิก็มักจะใช้คำพูดคำจาให้หะรูหะราเอาไว้ก่อน
ให้มันดูฟุ่มเฟือยฟังยากๆ เข้าไว้ สาระน้อยไม่เป็นไร
เพราะรูปแบบมันสร้างภาพลักษณ์ที่น่าเชื่อถือได้

5.อยากเป็นมากกว่าอยากทำ
หนังสือเขียนว่า
หนทางได้บุญจึงเป็นการซื้อบุญ
อยากแข็งแรงแต่ไม่อยากออกกำลังกาย

จริงๆ แล้วคนไทยอยากเป็นนู่นเป็นนี่มากมาย
และมักมองหา ‘ทางลัด’ ไปสู่จุดหมายเหล่านั้น
อยากรวยก็เล่นหวยกันไป

6.ไม่เป็นไร ช่างเขาเถอะ
พี่ไทยเราชอบประนีประนอม ให้อภัยคนง่าย
เขาจะโกงชาติบ้านเมืองยังไงก็ไม่เป็นไร ช่างเขาเถอะน่า
ซึ่งข้อนี้บางทีก็ดี บางทีก็ร้าย
แต่จริงๆ แล้วก็ทุกข้อนั่นแหละที่มีมุมดีและร้ายต่างๆ กันไป
ในแต่ละเหตุการณ์และขนาดความสำคัญ

อีกสามข้อที่หนังสือเล่มนี้เขียนไว้คือ
7.ไม่มีความเท่าเทียมกันในปฏิสัมพันธ์ใดๆ
8.ทนแรงกดดันระยะยาวไม่ได้
9.ได้ทำ กับ ทำได้ (ขอแค่ได้ทำ ทำได้รึเปล่าไม่รู้)
ซึ่งผมยังนึกตัวอย่างที่ตัวเองเห็นด้วยมากๆ ไม่ออก
ใครนึกออกบอกกันด้วยครับ

แต่หลายเรื่องข้างบน ผมค่อนข้างเห็นด้วย
โดยยังไม่ได้คิดตัดสินดี-ร้าย
บางนิสัยก็ดีกับบางกรณี บางนิสัยก็ร้ายกับบางกรณี
แต่ผมว่า ดีออกครับ ที่เรา (พี่ไทย) จะได้ทบทวนตัวเองดูบ้าง
สนุกดีออก!

แฉคนไทย (หนึ่ง)

มกราคม 29, 2007

(ก่อนที่จะสำลักความฝันกันจนจุก ขออนุญาตพักไว้ก่อนครับ)

อ่านหนังสือจบไปสองเล่มครับ!
ต้องขอโม้สักหน่อย ถือเป็นความภูมิใจของช่วงเวลานี้
เพราะช่วงนี้อ่านหนังสือหลายเล่มเหมือนคนหลายใจ
แต่ก็ไม่ได้ลงเอยเสร็จสิ้นกับใครเลยจริงๆ สักราย
วันนี้ดีใจ สำเร็จไปตั้งสองเล่ม

เล่มหนึ่งค้างคามานาน ใช้เวลาอ่านอยู่ประมาณสองสัปดาห์
คือ บัลซัคกับสาวน้อยช่างเย็บผ้าชาวจีน ของ ไต๋ซื่อเจี๋ย
แปลโดย โตมร ศุขปรีชา

อีกเล่มเพิ่งซื้อมาวันนี้ครับ X-ray คนไทย 360 องศา
โดย พงษ์ ผาวิจิตร อ่านแล้วมันส์กระเด็น!

มีหลายแง่มุมในหนังสือเล่มนี้ที่รู้สึกว่า ‘โดน’
น่าจะเล่าได้หลายวันไม่แพ้ความฝันที่นั่งนึกก็ได้อีกหลายตอน
วันนี้ขอเอามาแบ่งสักส่วนหนึ่งก่อนก็แล้วกันครับ

ว่ากันด้วย…
การให้คุณค่ากับคนในสังคมไทย

อันดับแรก คือ ชาติตระกูล
จะไปขอลูกสาวใครเขา จะไปสมัครงาน สมัครเรียน
คนไทยมักดูกันที่ชาติตระกูลก่อน
ยิ่งถ้ามีตัวหนังสือ ‘ณ.เณร’ ห้อยปนอยู่ในนามสกุลด้วยแล้ว
ยิ่งมีโอกาสที่คนอื่นจะชื่นชมโดยที่ยังไม่ต้องทำอะไร
ผมเองก็เคยอยากเติมคำว่า ‘ณ มีนบุรี’ ต่อท้ายนามสกุลตัวเอง
อยู่เหมือนกัน

เราจึงมีสังคมอภิสิทธิ์ชนที่เรียกกันว่า ‘สังคมไฮโซ’
ลูกหลานของคนดังไม่ว่าเข้าวงการอะไรก็มักจะได้ ‘เส้นทางลัด’
ไปสู่ความสำเร็จเร็วกว่าคนอื่นที่มีความสามารถเท่าๆ กัน

นิตยสารต่างๆ ก็นิยมซุบซิบคนในสังคมชั้นสูงเหล่านี้
แต่ไม่เห็นมีใครซุบซิบคนเก่งกันบ้างเลย
อืม เราน่าจะมี oops! ฉบับเด็กเคมีโอลิมปิกบ้างเนอะ

แฉ! น้องวิภาอ่านเคมีถึงตีสี่ไม่หลับไม่นอน
แม่บ่นอุบ อยากให้อ่านถึงตีห้า

อันดับสอง คือ ทรัพย์สมบัติ ความร่ำรวย
จุดเด่นของหนังสือเล่มนี้ คือ การหยิบยกข้อสังเกตในชีวิตจริงขึ้นมา
อย่าง ป้าย ‘บ้านนี้อยู่แล้วรวย’ มักจะขายดีกว่า ‘บ้านนี้อยู่เย็นเป็นสุข’
สำนวนไทยอย่าง ‘มีเงินนับเป็นน้อง มีทองนับเป็นพี่ ถ้ามีที่ทางดีๆ
ก็นับเป็นพ่อเลยแหละ’ หรือข้อสังเกตกับคนถูกหวยที่จะมีญาติโกโหติกา
เพิ่มมาจากไหนต่อไหนมากมาย

ซึ่งก็พอจะเป็นเครื่องพิสูจน์ได้ว่า พี่ไทยเราชอบนับญาติกับคนรวย
ส่วนเงินที่รวยมานั้นมาจากไหน พี่ไทยไม่ค่อยสน

อันดับสาม คือ ความเป็นสากล
ใครที่ได้ไปหายใจสูดคาร์บอนไดออกไซด์ที่เมืองนอกเมืองนามา
มักจะมีราศีผ่องอำไพมากกว่าพวกที่หมกตัวอยู่ในเมืองไทยตั้งแต่เกิด
‘เด็กจบนอก’ ไม่ว่าจบจากห้องแถวในซอกซอยไหนของเมืองนอก
กระทั่งว่าจะจบหรือไม่จบ ก็มักมีราศีดีกว่าชาวบ้าน
เพราะพี่ไทยมักเชื่อว่า เมืองฝรั่งมีดีกว่าบ้านเฮา

ในหนังสือเขียนไว้ด้วยว่า ทั้งที่บางคนที่ไปเรียนเมืองนอก
ก็เพราะสอบไม่ติดในเมืองไทย แต่ผมว่าข้อสังเกตนี้
ดูจะโหดร้ายไปสักนิด

อันดับสี่ คือ ดีกรีการศึกษา
บัณฑิตแม้มาขายขนมครก ก็ยังได้รับการยกย่องว่าเป็น
‘ขนมครกบัณฑิต’ ‘น้ำเต้าหู้ปริญญาโท’ หรือ ‘ไก่ย่างปัญญาชน’
ซึ่งอันนี้ผมยืนยันว่า ‘ขนมครกปริญญา’ ที่มีนบุรีขายดีมาก
แม้ว่าลูกชายคนขายจะไม่ได้จบปริญญาด้านขนมครกมาก็ตาม

แปลกดีที่เรามักรู้สึกว่า คนมีการศึกษาจะทำอะไรได้ดีกว่า
แม้ว่าจะขายเต้าฮวย เฉาก๊วย บ๊ะจ่าง ก็ดูน่าเชื่อถือกว่า
อาเจ๊ อาซ้อ ผู้ชำนาญการมานานกว่ายี่สิบปี

ในหนังสือเล่มนี้พูดถึงการให้ค่าของคนที่ลาออกก่อนเรียนจบอย่าง
ริชาร์ด แบรนด์สัน (เวอร์จิ้น), เดล (เจ้าพ่อคอมพิวเตอร์ขายตรง),
บิล เกต (ไมโครซอฟต์) ที่ได้รับเกียรติเชิญไปสอนนักศึกษา
ในมหาวิทยาลัยดังๆ ของโลก ก่อนตบท้ายว่า กฎของมหาวิทยาลัย
เมืองไทยบอกไว้ว่า ผู้ที่จะสอนคนอื่นได้ต้องจบการศึกษาสูงกว่าหนึ่งขั้น

แม้จะมีวิทยากรนอกมาสอนบ้าง แต่หัวข้อนี้ก็ดูท่าจะจริง
ในแง่ของการให้คุณค่าคนในสังคมส่วนใหญ่ ที่ยังคงวัดคน
จากใบปริญญามากกว่าความสามารถหรือประสบการณ์

อันดับห้า คือ หน้าที่การงาน
โดยเน้นไปที่ข้าราชการ ที่หลายคนยังมีความเชื่อว่าได้เป็นเจ้าคนนายคน

อันดับหก คือ การประสบความสำเร็จในหน้าที่การงานที่ผ่านมา
พูดถึงความสำเร็จที่ต้องประโคมกันให้โด่งดัง

ซึ่งสองอันดับหลัง ผมค่อนข้างเห็นว่าเป็นเรื่องทั่วไป
ที่คนมักให้ค่ากันเป็นปกติ

พรุ่งนี้ (ถ้าไม่ง่วง) จะมาต่อกันที่เก้านิสัยของคนไทย
ที่อ่านแล้วเหมือนนั่งดูตัวเองยังไงยังงั้น
โปรดติดตามตอนต่อไปครับ!

เปิดท้ายขายชาติ

มกราคม 9, 2007

สุดสัปดาห์ที่ผ่านมาได้อ่านเรื่องราวเกี่ยวกับห้าประเทศ จากหนังสือห้าเล่ม
ซึ่งผมพบว่ามันมีตะขอเกี่ยวเข้าด้วยกันโดยบังเอิญ
หนึ่งคือ มติชนสุดสัปดาห์
สองคือ 30วัน ของ พี่ภิญโญ ไตรสุริยธรรมา
สามคือ ข้างหลังโปสการ์ด ของ หลานเสรีไทย (136)
สี่คือ เรื่องเล็กในเมืองใหญ่ ของ วริษฐ์ ลิ้มทองกุล
ห้าคือ ศตวรรษจีน ของ อ.วรศักดิ์ มหัทธโนบล
เรื่องราวทั้งหมดมีดังต่อไปนี้

หนึ่ง: ฝรั่งเศส
ผมได้ความรู้จากคอลัมน์ ‘โลกหมุนเร็ว’ ของคุณเพ็ญศรี เผ่าเหลืองทอง
ในมติชนสุดสัปดาห์ เรื่อง ‘ขายมรดก (ของชาติ) กิน’ เป็นความรู้ที่น่าตื่นตา—

เมื่อเร็วๆ นี้รัฐบาลฝรั่งเศสโดยกระทรวงการคลังได้เปิดแผนกขึ้นมาใหม่
ชื่อว่า Service France Domaines ตั้งขึ้นเพื่อขายอาคารบางแห่งของรัฐบาล
หากยังไม่ตกใจ กรุณาฟังอีกครั้งหนึ่ง ‘ขายอาคารบางแห่งของรัฐบาล’
ซึ่งรัฐบาลเป็นเจ้าของอยู่ตั้งสองหมื่นแปดพันแห่ง!
มูลค่าของมันก็ประมาณสามหมื่นแปดพันล้านยูโร!
แม้จะมีลูกเล่นน่ารักๆ คือการตั้งราคาโบสถ์นอตรดามและพิพิธภัณฑ์ลูฟร์
ไว้ที่หนึ่งยูโร เพื่อที่จะบอกว่า ‘(ยัง)ไม่ขายนะเว้ย’
แต่ก็ใช่ว่าในอนาคต จะไม่เปลี่ยนราคา และไม่เปลี่ยนใจ

สามปีที่ผ่านมารัฐบาลได้ขายอสังหาริมทรัพย์ไปแล้วหนึ่งจุดสี่พันล้านยูโร
รวมทั้งอาคารเก่าอีกห้าร้อยล้านยูโร

โรงแรมมาเจสติกซึ่งเคยเป็นที่ตั้งกองบัญชาการนาซีสมัยสงครามโลกครั้งที่สอง
ก็กำลังจะถูกขาย และคาดว่าจะทำรายได้ประมาณห้าร้อยล้านยูโร

ผู้ที่ควักเงินมหาศาลซื้อตึกเก่าเหล่านี้ คือ กองทุนบำเหน็จบำนาญ
จากประเทศต่างๆ กองทุนของอเมริกันแห่งหนึ่งชื่อ เวสท์บรูค พาร์ทเนอร์
ได้ซื้อโบสถ์ยุคนีโอคลาสสิกในใจกลางเมืองปารีสไปแล้ว!
ส่วนเงินที่ได้จากการขายตึก(สมบัติชาติ)เหล่านี้นั้น รัฐบาลก็จะ
นำไปใช้หนี้ที่รัฐบาลติดคนอื่นเค้าอยู่ และส่วนหนึ่งก็จ่ายทดแทนให้คนที่เขาอยู่

สอง: อังกฤษ
ผมยังไม่เคยไปลอนดอน แต่ก็ได้เห็นหน้าค่าตาชิงช้าสวรรค์ขนาดยักษ์
ที่สูงที่สุดในโลก (หนึ่งร้อยสามสิบห้าเมตร) หมุนรอบละสามสิบนาที
ที่มีชื่อว่า ลอนดอน อาย ตัวนี้มาบ้าง แต่ผมเพิ่งมารู้จาก หนังสือ30วัน
นี่เองว่าบริษัท มาดาม ทุสโซด์ เจ้าของพิพิธภัณฑ์หุ่นขี้ผึ้งอันเลื่องลือ
แห่งกรุงลอนดอนนั้นถือหุ้นอยู่หนึ่งในสามของลอนดอน อาย
หรือคิดเป็นเงินลงทุนถึงสามร้อยล้านปอนด์

แต่เรื่องไม่ได้จบอยู่แค่นั้น เมื่อเดือนมีนาคม สองห้าสี่แปด
บริษัท ดูไบ อินเตอร์เนชั่นแนล แคปิตอล บริษัทด้านการลงทุน
ของดูไบ โฮลดิ้ง ซึ่งเป็นของรัฐบาลดูไบอีกทอดหนึ่ง
(คล้ายกับเทมาเส็กของสิงคโปร์) ได้ใช้เงินแปดร้อยล้านปอนด์
เข้าซื้อหุ้นของบริษัทมาดาม ทุสโซด์ไปแล้วเรียบร้อย

นั่นหมายความว่าพิพิธภัณฑ์หุ่นขี้ผึ้งของชาวลอนดอน และจุดชมวิวเท่ๆ
อย่างลอนดอน อาย ได้ตกเป็นของเจ้าชายจากดูไบเรียบร้อยโรงเรียนแขก

ทั้งนี้ หากวันหนึ่งน้ำมันหมดดูไบ แต่ประเทศอดีตเศรษฐีน้ำมันก็ยัง
หากินได้จากเงินที่นำมาลงทุนข้ามชาติแบบนี้ได้

สาม: ไทย
ทางนี้ไม่ใช่ทางสาธารณะ
‘โรงแรมพระนางเพลซ’ เปิดเพื่ออำนวยความสะดวกแก่นักท่องเที่ยว-
แต่สงวนสิทธิ์ตามกฎหมายที่จะไม่อนุญาตให้บุคคลที่ไม่พึงปรารถนา
มาใช้เส้นทางนี้

ผมอ่านเจอข้อความนี้ในหนังสือ ‘ข้างหลังโปสการ์ด’ ในส่วนภาคที่สอง
‘กลับบ้าน’ หลานเสรีไทย (136) ได้แสดงความมุ่งมั่นในการต่อต้าน
การท่องเที่ยวแบบบุกรุกและกลืนกินวิถีชีวิตชาวบ้านแทบทุกบรรทัด

ผมพบข้อความในทำนองเดียวกันกับข้อความในหนังสือนี้บ่อยๆ
ตามสถานที่ท่องเที่ยว(เคย)ธรรมชาติทั้งหลาย

ล่าสุดก็ที่เกาะช้าง ขณะล่องเรือ ‘ตกหมึก’ กลางแสงจันทร์
เด็กในเรือก็พูดขึ้นมาว่า “โรงแรมนั้นสวยมากเลยนะพี่”
ลุงคนขับตะโกนเตือนเด็กน้อยว่า “อย่าไปเล่นแถวนั้นเลยเชียวนะ
เดี๋ยวเค้าเรียกตำรวจมาจับเอา” ผมถามลุงว่า-จริงหรือ?
ลุงตอบ “จริง เค้าถือว่าหาดนั้นเป็นของเค้า ให้เฉพาะแขกที่มาพัก
เข้าไปได้เท่านั้น ขนาดเรือนี่ก็ยังห้ามแล่นเข้าไปใกล้ๆ เลย”
ผมมองออกไปยังโรงแรมแห่งนั้น แสงสวยเหลือเกิน
แต่ฟ้าเหนือเกาะช้างมืดสนิท

สี่: จีน
ในหนังสือ ‘เรื่องเล็กในเมืองใหญ่’ ก็มี ‘เรื่องใหญ่’ อยู่เหมือนกัน
หลังจากจีนเป็นฝ่ายปราชัยให้กับอังกฤษในสงครามฝิ่น
ชาวอังกฤษจำนวนมากได้เข้ามาลงหลักปักฐานในเมืองเซี่ยงไฮ้
ในช่วงกลางศตวรรษที่สิบเก้า เมื่อตั้งรกรากไปได้ซักพัก
ชาวอังกฤษก็เริ่มมีความคิดที่จะสร้างสวนสาธารณะเหมือนที่มีในอังกฤษ
ไว้สำหรับพักผ่อนหย่อนใจบ้าง จึงได้สร้างสวนสาธารณะขึ้น
ในย่านเดอะบันด์ปัจจุบัน

แต่คำว่า สวน ‘สาธารณะ’ นั้น ไม่ได้มีความหมายรวมชาวจีนไปด้วย

คำสั่งชิ้นหนึ่งที่ลงนามโดย N. O. Liddell, Secretary Council Room
เมื่อวันที่สิบสาม กันยายน ค.ศ. หนึ่งพันเก้าร้อยสิบเจ็ด ระบุไว้ชัดเจนว่า

“สวนสาธารณะแห่งนี้เปิดตั้งแต่ช่วงเวลาหกโมงเช้าถึงเที่ยงคืนครึ่ง
มีไว้ให้เฉพาะชุมชนชาวต่างชาติเท่านั้น และห้ามจักรยาน สุนัข และคนจีนเข้า
ยกเว้นคนจีนที่เป็นคนรับใช้ของชาวต่างชาติ”

ห้า: อิตาลี
บทหนึ่งในหนังสือศตวรรษจีน พูดถึงหอเอนปิซ่าที่ประเทศอิตาลี
มีวิศวกรจีนผู้หนึ่งเสนอตัวกับรัฐบาลอิตาลีว่า ตนสามารถใช้ความรู้ความสามารถ
ทางด้านวิศวะของตะวันตกผสมผสานกับของจีนแต่โบราณมายกให้หอเอนแห่งนี้
‘ตั้งตรง’ ขึ้นได้

แต่ปรากฏว่ารัฐบาลอิตาลีในขณะนั้นปฏิเสธความหวังดีของวิศวกรจีนผู้นี้
เพราะตระหนักถึงความมหัศจรรย์ที่ซ่อนอยู่ในความเป็นอารยะของหอเอนปิซ่า
ว่ามันอยู่ตรงที่มัน ‘เอน’ โดยไม่ล้มมาเป็นเวลานับร้อยๆ ปี
ไม่ใช่การที่จะถูกทำให้มันตั้งตรงเด่ขึ้นมา

ซึ่งนับว่าเป็นการตัดสินใจที่แสดงถึงวิสัยทัศน์ที่ผู้นำอิตาลี
(ในปี ค.ศ. สองพัน) มีต่อ ‘อารยธรรม’ ได้เป็นอย่างดี
เฮ้อ! บ้านเราน่าจะมีผู้นำทำนองนี้บ้าง

แต่ก็นั่นแหละ ในย่อหน้ารองสุดท้ายของคอลัมน์ ‘โลกหมุนเร็ว’
ก็บอกกับผมว่า นายกฯ ซิลวิโอ เบอร์ลุซโกนี่ ของอิตาลีก็เคย
เสนอความคิดตั้งหน่อยงานขึ้นมาขายสมบัติของชาติเหมือนกัน
ในปี ค.ศ. สองพันสอง แต่แล้วก็เงียบหายไป เพราะคนอิตาลีลุกฮือต่อต้าน

เห็นแฟชั่นการขายสมบัติชาติกินแบบนี้แล้วก็ชวนให้ระแวง

หลังจากไปเที่ยวท่องผ่านทางตัวหนังสือมาทั้งห้าประเทศ
ก็ได้แต่หวังว่า ในอนาคตผมจะยังสามารถจูงลูกอุ้มหลานเดินเข้าไป
ในวัดพระแก้วได้โดยที่ยังไม่ต้องเสียค่าผ่านประตู

และได้แต่ภาวนาว่า
ขออย่าให้มีใครหน้าไหนได้รับเชิญให้เข้ามาปักป้ายใจร้ายแบบนั้น
ในบ้านเมืองเรา.

ความสุขอาจเป็นสิ่งที่เราเคยรู้จักมันอยู่แล้ว

มกราคม 4, 2007

1.
เมื่อวานจัดห้องครับ
‘จิตที่แจ่มใส ย่อมไม่อยู่ในห้องรกๆ’ ใครสักคนกล่าวไว้
หากไม่กล่าว ก็ขออนุญาตกล่าวเอง เพราะทุกครั้งที่ห้องรก
เรามักจะรู้สึกว่าจิตใจเริ่มรุงรังและยุ่งเหยิง

ความยุ่งเหยิงครั้งนี้ เกิดจาก ‘หนังสือ’ ล้วนๆ เลยครับ
เป็นหนังสือที่คาราคาซังคาห้องคาใจมานานสองสมัย
สองสมัยที่ว่า คือ สองสมัยของงานหนังสือแห่งชาติ
มีหนังสือที่ซื้อมาราวหกสิบเล่มที่ยังอ่านไม่จบ
หมายความว่า บางเล่มอ่านแล้ว แต่ยังไม่ถึงหน้าสุดท้าย
และบางเล่มยังไม่ได้เริ่มเอาตาไปสัมผัสหน้าแรก!

หนังสือที่กองไว้ก็เป็นแค่ปึกกระดาษ
หากพูดให้หรูหราก็เหมือนกับโลกอีกหลายใบที่รอให้เราเข้าไปค้นหา
แต่ตราบใดที่ยังไม่เปิดประตูโลกใบนั้นเราก็ไม่มีวันค้นพบ
หนังสืออันมีค่า ก็ไม่มีค่าอะไร หากไม่ได้ถูกเปิด

หนังสือจะเป็นหนังสือ ก็ต่อเมื่อมีผู้อ่านมันเท่านั้น

การจัดห้องครั้งนี้ทำให้ได้สะสางหนังสือทั้งเก่าและใหม่
เล่มที่อ่านแล้วก็เก็บขึ้นหิ้ง เล่มที่ยังไม่ได้อ่านก็กองกันไว้ที่หัวเตียง
ทำตัวเหมือนเด็กกำลังจะเอ็นทรานซ์ (แอดมิชชัน-คราวนี้ถูกชัวร์)
ที่ตั้งใจว่าจะอ่านให้หนักหน่วงขึ้น

ระหว่างที่จัดหนังสือใหม่ๆ ก็เผอิญไปเจอเข้ากับหนังสือเก่าเล่มหนึ่ง
ที่ซื้อมาตั้งแต่เดือนธันวาฯ พ.ศ. สองพันห้าร้อยสี่สิบสาม ตามที่จดไว้ในหน้าแรก
อืม…หนึ่ง…สอง…สาม…สี่…ห้า…หกปีแล้วสินะ
จำได้ว่าเคยอ่านไปแล้ว จำได้ว่าชอบ
แต่แปลกใจว่าทำไมไม่มีการขีดเส้นข้างใต้ตัวหนังสือเลยแม้แต่ขีดเดียว
จึงลงมือลงตาอ่านอีกครั้ง และก็สำเร็จมันภายในเวลาหนึ่งชั่วโมง
หนังสือเล่มนั้นชื่อ ‘ชีวิตที่เจียระไนแล้ว’

2.
‘ชีวิตที่เจียระไนแล้ว’ เขียนโดย คุณณิพรรณ กุลประสูตร
โปรยปกไว้ว่า ‘ความเรียงชีวิต ความเรียงความคิด ความเรียงความรู้สึก’

จำได้ว่าขณะนั้น (เมื่อหกปีก่อน)
มีงานเขียนประเภทความเรียงที่มีอารมณ์เฉพาะแบบหนึ่ง
ที่ไม่กล้าให้นิยาม แต่เอาเป็นว่า อ่านแล้วรู้สึกดีกับชีวิต
เกิดอุณหภูมิอุ่นๆ ที่หน้าอกข้างซ้าย
เหตุการณ์เริ่มต้นขึ้นที่หนังสือ ‘ด้วยรักและช็อกโกแลต’
(เป็นเล่มที่เราชอบมาก) ต่อเนื่องมาถึงหนังสือซุปไก่ทั้งหลาย
‘Chicken Soup for the Soul’
กระทั่งมาถึง ‘เรื่องเล็ก’ ของพี่โหน่ง-วงศ์ทนง ชัยณรงค์สิงห์
ในมติชน สุดสัปดาห์ ที่เราติดงอมแงม และขออนุญาตห้อย
‘กาแฟและชา หมาและแมว’ ของพี่โตมร ศุขปรีชาไปด้วย
(นี่ก็ชอบมากครับ)

กลุ่มก้อนของงานความเรียงที่ว่า
นำพานักอ่านหลายคนให้รู้จักกับนักเขียนชื่อดัง(ตอนนั้น)คนหนึ่ง
คือ โรเบิร์ต ฟูลกัม ซึ่งก็ไม่ผิดหวัง
ขณะนั้นตามอ่านงานของฟูลกัมอยู่สอง-สามเล่ม กระทั่งหายอยากก็หยุดไป
แล้วจู่ๆ ชื่อของ โรเบิร์ต ฟูลกัม ก็หายไปจากแผงหนังสือ
แบบค่อยๆ ซึมหายไปไม่ให้รู้ตัว รู้ตัวอีกทีก็ลืมคุณลุงแกไปแล้ว

อะไรที่มากเกินไป ก็เป็นไปได้ว่าอาจจะเลี่ยน
ขณะนั้นมีนักอ่านหลายคนเริ่มเลี่ยนกับหนังสือแปล
เรื่องราวแห่งความสุขยี่ห้อซุปไก่
และเริ่มโหยหารสชาติอื่นๆ มาให้สมองได้ลองลิ้มชิมรสบ้าง
เราก็เป็นคนหนึ่งที่ห่างหายไปจากงานลักษณะนี้ ทั้งที่เคยชื่นชอบมาก

3.
กระทั่งได้มาเปิดอ่าน ‘ชีวิตที่เจียระไนแล้ว’ ในหกปีให้หลัง
ก็ได้พบว่า หลายข้อความในหนังสือเล่มนี้ อ่านแล้วมีความสุข
นอกจากมีความสุขแล้วยังได้มุมคิดง่ายๆ ที่มองข้ามไปทั้งที่อาจเคยมองแบบนั้น

โดยเฉพาะบท ‘ความสุข ‘รู้แล้วตั้งแต่อยู่อนุบาล’’
จำได้เลยว่า ข้อความในเครื่องหมายเน้นคำนั้นเป็นชื่อหนังสือของคุณลุงฟูลกัม
เป็นเล่มหลังๆ ตอนที่เราไม่ได้ตามอ่านงานของเค้าแล้ว

คุณณิพรรณคัดข้อความบางส่วนในหนังสือเล่มนั้นมาใส่ไว้ในหนังสือเล่มนี้
เราคัดมาใส่ไว้ในนี้อีกต่อหนึ่ง–

ผมได้ตระหนักแล้วว่า สาระความจำเป็นในการดำเนินชีวิตอย่างมีความสุข
และมีความหมายนั้น ไม่ใช่เรื่องยุ่งยากหรือสลับซับซ้อน แต่เป็นสิ่งที่ผมได้เรียนรู้
มาแล้วนานแสนนาน หลักการที่ผมเขียนเป็นสิ่งที่ผมเรียนรู้ตั้งแต่สมัยอยู่
โรงเรียนอนุบาล ไม่ใช่จากระดับปริญญาโท หรือเอก

สิ่งที่ผมเรียนรู้ตอนเป็นเด็กอนุบาล คือ
-แบ่งปันทุกสิ่งแก่เพื่อนๆ อย่าเก็บไว้คนเดียว
-เล่นอย่างยุติธรรม ไม่เอาเปรียบเพื่อน
-ไม่รังแกคนอื่น โดยเฉพาะผู้อ่อนแอกว่า
-เก็บสิ่งของให้เข้าที่ เมื่อใช้เสร็จ
-ทำความสะอาดสถานที่ให้เรียบร้อย เมื่อเล่นเสร็จ
-ไม่แย่งเอาสิ่งของของคนอื่นมาเป็นของตัวเอง
-เมื่อทำให้คนอื่นเจ็บ ต้องขอโทษ
-ล้างมือก่อนรับประทานอาหารหรือขนม
-กดชักโครกทุกครั้ง เมื่อทำธุระในห้องน้ำเสร็จ
-ขนมคุกกี้ใหม่ๆ และนมเป็นประโยชน์ต่อสุขภาพ
-มีชีวิตอยู่อย่างสมดุล รู้จักแบ่งเวลา เรียนบ้าง วาดรูประบายสี
ร้องเพลง เต้นรำ เล่นบ้าง ทำงานบ้าง
-นอนหลับสักงีบในตอนบ่าย
-เมื่อออกสู่โลกภายนอก จงระวังรถรา จับมือกันไว้ให้มั่น เดินเกาะกลุ่มไปด้วยกัน
-ปลาทอง หนูพุก หนูขาว หรือเมล็ดพืช มีเกิดแล้วก็มีตาย คนเราก็เช่นเดียวกัน
จงระลึกถึงหนังสือ ‘มานะกับมานี’ หรือหนังสือแบบหัดอ่าน ก.ไก่ ข.ไข่
คำสำคัญที่เราหัดอ่าน-เขียน และมักเขียนตัวโตๆ คือ ‘ระวัง’

ทุกสิ่งทุกอย่างที่เราต้องเรียนรู้ เราได้เรียนรู้แล้วตั้งแต่ชั้นอนุบาล

ลองคิดดูสิว่า โลกนี้จะมีความสุขแค่ไหน ถ้าประชาชนทุกคนได้กินขนมคุกกี้อร่อยๆ
และดื่มนมตอนบ่ายสามโมง พอง่วงก็ปูผ้าลงนอนสักงีบ ลองคิดดูสิว่าจะวิเศษ
แค่ไหน ถ้ารัฐบาลของทุกประเทศถือการจัดระบบระเบียบในรัฐบาลให้เรียบร้อย
ถูกต้อง เป็นนโยบายสำคัญ และเมื่อทำสกปรกเลอะเทอะก็จัดการเก็บกวาด
ทำความสะอาด ไม่ทิ้งให้เป็นภาระแก่คนข้างหลังต้องมาสะสาง

และนี่คือสิ่งที่เราสามารถนำไปใช้ได้เสมอ ไม่ว่าจะอายุมากน้อยเท่าใด
เมื่อออกสู่โลกกว้าง จงจับมือกันให้มั่น และเดินเกาะกลุ่มไปด้วยกัน
———————————————————-

ยังมีบางข้อความในหนังสือเล่มนี้ ล้อเล่นกับสมองของเราไปมาระหว่างอ่าน
ในบท ‘คนรักหนังสือ’

‘หนังสือดีๆ บางเล่มอยู่กับเราไปตลอดชีวิต’

โรเบิร์ต สเติร์น สถาปนิกอาวุโสบอกว่า
“หนังสือเป็นเหมือนเพื่อนเก่าที่คุณอยากไปเยี่ยมบ่อยๆ เช่นหนังสือบางเล่ม
ถึงแม้คุณจะเคยอ่านมาแล้ว แต่ก็อยากจะอ่านอยู่เรื่อยๆ มันทำให้คุณ
เพลิดเพลินและสบายใจ”

4.
เมื่อวานนี้ เราได้ไปเยี่ยมเพื่อนเก่ามา แต่ไม่เพียงเท่านั้น
เพื่อนคนนั้นยังได้พาเราไปหาตัวเราเมื่อครั้งสมัยหกปีที่แล้วด้วย
ร่วมโดยสารไปกับบางข้อความที่เราเคยอ่านผ่านมา
บางข้อความที่เราเคยชอบมันมาก
และบางความคิดที่เราก็เคยคิดแบบนั้น
บางสิ่งที่เราเคยรู้อยู่แล้ว เคยรู้จักมันเป็นอย่างดี
แต่ก็หลงลืมไป เมื่อเวลาเดินผ่านมาถึงวันนี้

รู้สึกดีที่ได้เดินทางไปเยี่ยม ‘เรา’ คนนั้น
ดีใจที่ได้จัดห้อง ดีใจที่ได้เจอเพื่อนเก่า และดีใจที่ได้เจอตัวเราเอง

ว่างๆ ลองกลับไปเยี่ยมเยียน ‘คนคนนั้น’ ดูบ้างก็ได้
มีโลกหลายใบหลายสมัยวางเรียงรายอยู่ในห้องของพวกเรา
รอให้เราเปิดประตูเข้าไปเยี่ยม ‘คนในนั้น’ อีกครั้ง

และ…ใครจะไปรู้
‘คนคนนั้น’ อาจเล่าเรื่อง ‘ความสุข’ ที่เราเคยรู้ให้เราฟังก็ได้.

กูอยากให้มึงอ่าน

มกราคม 1, 2007

กูละมันส์ส์ส์ส์ส์ส์ส์ส์ส์
กูนั่งเล็มชีวิตในมหาลัยของนายทองปน บางระจันด้วยความมันส์หยดติ๋ง
อย่างกับมันหมูที่มีไว้ถูเตาก่อนย่างหมูเกาหลี–มันส์ขนาดน้าน!
กูแลกหนังสือ ‘หนุ่มหน่ายคัมภีร์’ ของ สุจิตต์ วงศ์เทศ มาด้วยแบงค์ยี่สิบแค่สองใบ
ในงานหนังสือแห่งชาติ ที่ผู้คนนิยมไปเดินกวาดซื้อหนังสือใหม่ที่ดาหน้ากันออกมา
ในช่วงเวลานั้น ทั้งที่อันที่จริงหนังสือเก่าที่เค้าเอามาขายถูกๆ หลายเล่มนั้น
โคตรจะคุ้ม

เปล่า-กูไม่ได้เถียงว่าหนังสือใหม่มันน่าซื้อ
แต่หนังสือเก่าก็น่าซื้อไม่หย่อนไปกว่ากัน

ความคิดเก่าๆ ยังทันสมัยและบางทีก็ล้ำสมัยเกินความคิดเด็กใหม่วัยจ๊าบ
ในยุคนี้ด้วยซ้ำ อีกทั้งกูยังเห็นว่า ‘ภาษา’ ของคนยุคเก่านั้นเก๋าและแซ่บอีหลีดีแท้

นายทองปนใช้สรรพนามคุยกับผู้อ่านว่า ‘กู’
แค่เปิดมาหน้าแรก กูก็รู้สึกว่า-เออเว้ย เราเป็นเพื่อนกัน
เป็นเพื่อนกัน-เพราะกูเผลอไปคิดว่า กูกำลังเป็นน้องใหม่รุ่นเดียวกับนายทองปน
แน่นอน กูย่อมนึกย้อนไปเมื่อครั้งสมัยยังเอาะ เพิ่งเดาะจีบนิสิตสาวใหม่ๆ
ได้ชัดเจน แหม กูยังไม่แก่ขนาดจะหลงๆ ลืมๆ เหมือนพวกนักการเมือง
ความจำเสื่อมพวกนั้น

ทองปนเป็นคนที่มีความคิดอ่านแก่เกินวัย ทำให้ไม่ค่อยสะดวกใจนักกับการรับน้อง
ที่เขามองว่ามันช่างปัญญาอ่อนเหลือเกินของบรรดารุ่นพี่ เมื่อคิดเช่นนั้นก็ยากที่
การรับน้องจะราบเหมือนผนังบ้านที่ฉาบด้วยปูนตราเสือ และลื่นเหมือนผิวเนียนขาว
ของน้องแตงโมที่หายจากอาการ ‘ม้าลาย’–พูดง่ายๆ ว่า ไม่ ‘ราบ+ลื่น’

ออกจะเป็น ‘ลาบ+รื่น’ มากกว่า
แซบเหมือน ‘ลาบ’
‘รื่น’ รมย์กับความคิดคมคายของนายทองปน บางระจัน

ลองชิมรสลาบดูซักหน่อยเป็นไร—

ครั้งหนึ่งเคยมีคนตั้งปัญหาว่าทำไมคนอย่างคานธี คนอย่างเนห์รู
จึงมีคนเชื่อฟังทั้งประเทศ เขามีมนต์ขลังอาคมกล้าหรือว่ามีเสน่ห์แรง
เพื่อนของกูพูดอย่างทันทีทันใด ว่าคนเหล่านั้นพูดด้วยการกระทำ
พูดด้วยความประพฤติ ประชาชนอินเดียรับฟังคำพูดรัฐบุรุษด้วยสายตา
ด้วยสมอง หูของพวกเขาแทบจะใช้การไม่ได้ เพราะเขาไม่ได้ใช้หูเลย

คนมันรักจะเคารพกันนั้น ไม่ต้องไปบังคับขับไสหรอก มันก็เคารพกันจนได้
ไม่เคารพกันด้วยอาวุโส ก็เคารพกันด้วยสติปัญญาความคิดอ่าน

พี่เอาอะไรมาวัดว่าอายุอานามเท่านั้น สติปัญญาจะต้องเท่านั้น
ผมมิได้หมายความว่าอย่างผมนี้วิเศษ แต่ผมอยากให้มองไปกว้างๆ ว่า
คุณสมบัติของคนนั้น กำหนดความดีงามกันด้วยอายุเท่านั้นหรือ
ความรู้สึกรับผิดชอบของคน ความยุติธรรมในใจ มีอยู่เฉพาะในคนสูงอายุเท่านั้นหรือ
บ้านเมืองที่กำลังจะชิบหายอยู่นี้—เป็นเพราะไอ้พวกที่ที่เพิ่งเดินมาพ้นปากมดลูก
หรือพวกหัวหงอกหัวดำ—หือออ

ถ้าจะว่ากันไป—ทำทำไม ที่รุ่นพี่ทำอยู่นี้ทำไปหาพระแสงอะไร
เอาเวลาไปทำมาหากินจะมิดีกว่าหรือ รับบ้าบอคอแตกอะไรกันนักหนา
แล้วคิดหรือว่าคนที่ถูกรับเขาพอใจ

ทำไมไม่คิดรับน้องใหม่กันให้ดีกว่านี้ งามกว่านี้เล่า ให้มันมีความหมายซาบซึ้งตรึงใจ
โดยที่ไม่ต้องมาฟุ่มเฟือยหรูหราฟู่ฟ่า…ไอ้เรื่องจะเต้นรำกัน หาเรื่องกอดกัน
หาเรื่องเสียดสีทางกามารมณ์กันน่ะ—ไม่ต้องให้น้องใหม่มาลงทุนด้วยหรอก
พากันเข้าไนต์คลับก็ได้ รัฐบาลและเอกชนเขาจัดสถานที่ไว้ให้เรียบร้อยแล้ว
โคตรพ่อโคตรแม่รวยก็พากันไปเถอะ โรงแรมก็มีตั้งแยะ—โมเต็ลก็มีตั้งมาก
พากันไปซี่

คำ-ก็อาวุโส สองคำ-ก็อาวุโส อย่าลุ่มหลงอยู่ในอาวุโส ระเบียบ
ประเพณีกันนักหนาเลย มันช่วยให้เป็นมนุษย์ฉลาดขึ้นมาไม่ได้หรอก
อีกไม่นานพี่ก็ตาย ผมก็จะเป็นอาวุโส จากนั้นผมก็ตาย
คลื่นลูกใหม่ก็จะมาเป็นอาวุโสแทน อาวุโสมันช่วยอะไรพี่ไม่ได้หรอก

ความมีอาวุโสไม่ใช่เที่ยวประกาศและเที่ยวบังคับคนอื่น
พวกผมต่างหากที่จะเป็น ผู้ให้ความมีอาวุโสของพี่
ถ้าพวกผมไม่ให้ พี่ก็มีอาวุโสไม่ได้

พี่อย่าคิดอ่านอะไรที่มันปัญญาอ่อนมากนัก
ธรรมชาติของมนุษย์ไม่เคยเลว แต่มนุษย์ต่างหากที่ทำให้มนุษย์เลว

สิ่งที่ผมกล่าวออกไปคงจะเลวทรามที่สุดก็ได้ เพราะฉะนั้นตั้งแต่พรุ่งนี้เป็นต้นไป
ผมจะไม่มาเรียนหนังสือ และไม่ต้องนับว่าผมเป็นน้องใหม่ที่นี่

โคตรแมน บอกได้คำเดียวว่า โคตรแมน (เฮ้ย! มันสองคำนี่หว่า)
กูล่ะอยากมีเพื่อนแบบไอ้ทองปน บางระจัน กูว่าคบคนแบบนี้แล้วกูจะฉลาดขึ้น
ไม่ก้มหน้าก้มตาเชื่อใครง่ายๆ ไม่เออออไม่ตามคำสั่งของครูบาอาจารย์และรุ่นพี่
ที่จริงๆ แล้วบางทีแม่งก็สมควรตั้งคำถาม

กูว่ายุคนี้หนังสือแบบ ‘หนุ่มหน่ายคัมภีร์’ หาอ่านยาก หรือไม่รู้ว่าขายยาก
บรรดาสำนักพิมพ์ก็เลยไม่พิมพ์ เพราะเด็กๆ แม่งอ่านกันแต่นิยายรักเกาหลี
เปล่า-ไม่ใช่ไม่ดี แต่คนเราเกิดมาทั้งทีก็น่าจะหากบเหลาสมองให้แหลมคม
เท่าๆ กับที่รื่นรมย์กับความหวานซึ้ง ชีวิตที่สมดุลมันต้องมีทั้งด้านอ่อนโยน
และด้านแข็งแกร่ง ไม่ใช่เหยาะแหยะไปวันๆ เห็นนักศึกษาเป็นแบบนั้น
แล้วหดหู่ว่ะ!

หรือไม่ใช่ว่าไม่พิมพ์ แต่เพราะไม่มีใครเขียน เพราะไม่มีใครเขียนได้
กูก็ได้แต่บ่น เพราะกูอยากอ่าน ใครก็ได้กรุณาเขียนออกมาให้สะใจกูหน่อยเถิด
ลำพังกูเองก็ได้แต่คิด กูมิมีความคิดอ่านเติบกล้าและแหลมคมขนาดนั้น
แค่คิดจะลงมือเขียน ก็เหมือนไอ้โง่ไม่เจียมกะลาหัวแล้ว

กูว่าไอ้ประเพณีดีงามทั้งหลายแหล่มันก็ไม่ใช่ว่าจะดีงามไปเสียทุกอย่าง
และไอ้การตั้งคำถาม ถามไถ่ ไล่เรียง เพื่อหาเหตุผลว่าทำไมกูต้องทำ
ทำไปดูต้องปฏิบัติตาม ก่อนที่จะเดินดุ่มๆ ตามไป แม่งเป็นเรื่องโคตรสำคัญ
คำว่า ‘อาวุโส’ หรือ ‘ผู้ใหญ่’ ไม่ได้เท่ากับ ‘เครื่องหมายถูก’ เสมอไป
ก็เหมือนกันกับคำว่า ‘ผู้มีอำนาจ’ นั่นแหละ ส่วนใหญ่ก็เลวกันทั้งนั้นมิใช่หรือ
ไม่สมควรหรอกหรือที่พวกกูจะตั้งคำถาม

แต่คำถามที่ดี ที่เหมาะ ต้องเพาะต้องบ่ม มันต้องปลูกจากหัวกบาลที่มีปุ๋ย
หัวกบาลกลวงๆ คงยากที่จะมีคำถามดีๆ ออกมา ก็เลยได้แต่ก้มหน้าก้มตา
เดินไปตามผู้จูงจมูก

หากถามแล้วปรากฏว่าไอ้สิ่งที่เค้าทำๆ กันอยู่มันถูกมันต้องแล้ว
ก็ไม่ใช่เรื่องเสียหาย ดีเสียอีก ที่ได้มีเวลามานั่งทบทวนกัน
ว่าทำไมมันต้องเป็นเช่นนั้น แต่ในทางตรงข้าม หากถามไปแล้วบรรดาผู้ใหญ่
ผู้อาวุโสทั้งหลายอึกอึกอักอัก ตอบไม่ได้ขึ้นมา ก็จะได้รู้กันเสียทีว่า
จริงๆ แล้วมันไม่เห็นต้องเป็นแบบนั้น

กูอยากเห็นน้องๆ นุ่งๆ ในมหาวิทยาลัย หรือกระทั่งในโรงเรียนประถม มัธยม
มีหัวกบาลที่ตั้งคำถามเป็น ไม่ใช่โอนเอนไปเรื่อยๆ เพราะทุกครั้งที่ตั้งคำถาม
ไอ้มนุษย์คนนั้นก็ย่อมกระหายคำตอบ

กระบวนการหาคำตอบนั่นแหละ จะทำให้ปัญญาผุดขึ้นมาเหนือโคลนตม

ไหนๆ ช่วงนี้ก็ปีใหม่ กูว่าได้มาพูดจาโผงผางเป็นกันเองแบบนี้แม่งมันส์ไปอีกแบบ
ปกติกูเป็นคนสุภาพอ่อนละมุน อบอุ่นชิบหาย วันนี้กูฝืนมากเลยที่ต้องมานั่งเขียน
อะไรหยาบคายแบบนี้

คำถามคือ หยาบคายแม่งผิดไหม?
ในความหยาบคายมีเจตนาดี เป็นไปไม่ได้หรือไงวะ?

กูไม่อยากฝืนนิสัยอันโคตรสุภาพแสนอ่อนโยนของกูมากไปกว่านี้
หากไอ้ทองปน บางระจันเป็น ‘หนุ่มหน่ายคัมภีร์’
กูก็เห็นทีจะหน่ายความอ่อนแอของนักศึกษายุคนี้ที่เคารพคัมภีร์เกินเหตุ
กูว่าบางทีคัมภีร์ของชีวิตมันต้องเขียนเองว่ะ
ก่อนที่จะเชื่อว่าเกลือเค็ม มึงต้องชิม ก่อนที่จะเชื่อว่าอะไรดี มึงต้องลอง
ก่อนที่จะเชื่อว่าอะไรเลว มึงก็ต้องลิ้มรสมันดู

กูว่า คงไม่ใช่คัมภีร์ทุกเล่มจะน่าเบื่อหน่าย
แต่มึงทั้งหลาย(กูหมายถึงน้องชายน้องสาว)น่าจะลองหาคัมภีร์นอกห้องเรียน
เล่มที่มันกระแทกสมองดูบ้าง กูเคยผ่านตามาบ้างบางเล่ม
ถ้าว่างกูจะเอามาแบ่งมาปัน

แต่มึงอย่าเอาแต่นั่งรอกูป้อนใส่ปาก
มึงจะรู้ได้ไงว่าไอ้ที่กูป้อนลงไป มันไม่ใช่ยาพิษ?

โลกของเรา

พฤศจิกายน 13, 2006

1.
ได้ยินชื่อและได้เห็นหน้าค่าตาอาจารย์ ปกป้อง จันวิทย์ มานานแล้ว
รู้ว่าเป็นคนเก่ง เคยอ่านผลงานผ่านตาไปบ้าง แต่ไม่จริงจังนัก

จนกระทั่งวันนั้น (ในงานหนังสือ ตุลาฯ 2549)
อาจารย์ปกป้องเดินผ่านซุ้มอะเดย์ เรายกมือไหว้
อาจารย์ยิ้มกว้าง (เป็นคนน่ารักและอารมณ์ดีมากๆ)
แล้วทักว่า “นี่คือนิ้วกลมใช่มั้ยครับ?”
ดีใจที่อาจารย์รู้จัก และเริ่มอยากรู้จักอาจารย์

เป็นอาการอยากรู้จักหลังจากได้พูดคุยกันหลายประโยค
รวมถึงได้พูดคุยผ่านสายโทรศัพท์ ก่อนที่อาจารย์จะเดินทางไปยุโรป
เป็นการคุยกันเรื่อง ‘คอลัมน์’ ใน http://www.onopen.com
อาจารย์เป็นคนง่ายๆ (แต่ไม่มักง่าย)
ตลกกับคำพูดของอาจารย์ที่บอกว่า
“ถ้าเอ๋ส่งมาวันนี้ ผมเอาขึ้นเว็บให้วันนี้เลย มาแข่งกันสิว่าใครจะไวกว่ากัน”
การส่งตัวหนังสือไปแปะไว้บนเว็บไซด์โอเพ่น ไม่ใช่เรื่องเล่นๆ
และเป็นเรื่องน่าดีใจ สำหรับนักเขียนอ่อนหัดอย่างเรา

2.
ในงานแฟตฯ ที่ซุ้มโอเพ่น
เหลือบไปเห็นหนังสือที่จดจดจ้องจ้องมานานแล้ว
เห็นทีจะได้ฤกษ์ซื้อเสียที
บางครั้ง เราก็อยากอ่านหนังสือบางเล่ม
เพราะต้องการทำความรู้จักกับนักเขียนคนนั้น
เหมือนอย่างที่ตัวหนังสือช่างคิดในซุ้มของโซฟา
ในงานแฟตฯ ว่าไว้ “Read me, Read my book.”
และครั้งนี้นักเขียนที่อยากรู้จักก็คือ อาจารย์ ปกป้อง นั่นเอง
หนังสือ blog blog ถูกเล็งมานานแล้ว
สุดท้ายก็ได้อ่าน

อาจารย์เขียนบล็อกได้สนุกและมีเนื้อหาเข้มข้นมาก – อิจฉา!
อ่านมาจนถึงบท นักวิชาการในฝัน (1): กรอบความคิด
บางข้อความในนั้น ชวนให้คิดถึง ‘โลก’ ของตัวเอง

ด้านหนึ่ง ตัวตนของเราได้รับอิทธิพลจาก ‘โลก’ (สภาพสังคม กฎกติกาในสังคม
ภูมิหลัง ประสบการณ์ ความเชื่อ ค่านิยมของสังคม ฯลฯ) ที่เราเผชิญ
พูดง่ายๆ ว่า ‘โลก’ มีส่วนสร้างเราขึ้นมา แต่อีกด้านหนึ่งตัวเราก็มีส่วนย้อนกลับ
ไปสร้าง ‘โลก’ เช่นกัน

เป็นมุมมองที่น่าสนใจ และชวนให้เห็นด้วย
เรามักคิดว่า เราถูกหล่อหลอมขึ้นมาจาก ‘โลก’ ในยุคสมัยของเรา
เรามักคิดว่า เราตกเป็นฝ่าย ‘ถูกกระทำ’ แต่ฝ่ายเดียว
แต่แท้จริงแล้ว เราก็เป็นส่วนหนึ่งที่จะปรับ+ปรุง ‘โลก’ ใบใหม่ในอนาคตได้!

หากมิใช่คนที่มีพลังเหลือเฟือ คงไม่กล้าคิดอะไรแบบนี้

3.
ตอนบ่ายนอนอ่าน มติชน สุดสัปดาห์ ฉบับ 1369
คอลัมน์ ‘ดีไซน์ คัลเจอร์’ ของคุณ ประชา สุวีรานนท์
งวดนี้เขาเขียนถึง ฟิลิปป์ สตาร์ก
หนึ่งในดีไซเนอร์จำนวนไม่กี่คนที่เราจำหน้าและผลงานได้(บ้าง)

ไอ้เครื่องคั้นน้ำผลไม้รูปทรงเหมือนแมงมุมต่างดาวสามขาน่ะ เห็นมานานแล้ว
แต่เพิ่งได้มารู้วันนี้เองว่ามัน ไม่เวิร์ก!
และเพิ่งรู้ชื่อเต็มๆ ของมันว่ามันชื่อ Juicy Salif lemon squeezer
ไอ้เจ้าซาลีฟนี้มีปัญหาหลายด้าน

ซาลีฟอาจจะดูน่าใช้ แต่ก็ไร้ประโยชน์ เพราะเมื่อนำมาใช้จริง
ผลไม้ผ่าซีกที่ควรจะวางอยู่บนหัวและลำตัวจะลื่นไถลลงมาด้านข้าง
มือของเราจะเลอะเทอเปรอะเปื้อน ยิ่งไปกว่านั้น หลังการใช้ครั้งแรก
ซาลีฟจะทำปฏิกิริยาเคมีกับกรดในน้ำมะนาว ส่งผลให้ผิวมันวาว
ราวกับเครื่องเงินของมันกลายเป็นเทาดังเช่นอะลูมิเนียมทั่วไป

เพิ่งรู้ความสับปะรังเคของมันก็วันนี้เอง
สมัยเรียนก็ไม่เห็นอาจารย์จะบอกว่ามันห่วย!
แต่พอบรรทัดถัดมา ก็ได้รู้ว่าจริงๆ แล้วมันเจ๋งนี่หว่า

แม้แต่สตาร์กเองก็เคยประกาศว่า
ซาลีฟไม่ได้มีไว้คั้นน้ำผลไม้ แต่เป็นเครื่องช่วยเปิดประเด็นการสนทนา
เช่น เมื่อลูกเขยคนใหม่ไม่รูจะพูดคุยอะไรกับแม่ยาย

หากบรรทัดบนคือ Design Concept ของไอ้แมงมุมสามขา
ต้องนับว่าเป็นแนวความคิดที่น่าสนใจและกวนอวัยวะที่ใช้เดินอย่างยิ่ง
เครื่องคั้นน้ำผลไม้ ที่มีไว้เปิดประเด็นสนทนา!

4.
สมัยเรียนที่ภาควิชาการออกแบบอุตสาหกรรม สถาปัตย์ จุฬาฯ
เราต่างรู้กันดีว่า แนวความคิดหลักประจำภาควิชาของพวกเรา
รับต่อมาจากโรงเรียนออกแบบบาวเฮ้าส์ ของเยอรมันอีกขั้นหนึ่ง
นั่นก็คือ Form Follows Function
แปลเป็นไทยก็ รูปทรงต้องเกิดจากประโยชน์ใช้สอย (เท่านั้น!)

เราสนุกกับแนวความคิดแบบนั้นมาสี่ปี แล้วเกิดการตั้งคำถามว่า
เราไม่สามารถออกแบบอะไรที่มันไม่มีประโยชน์ใช้สอยได้เลยหรือ?

หลังจากได้รู้ว่า โรเบิร์ต เวนจูรี่ สถาปนิกยียวนคนหนึ่ง
ออกแบบบ้านที่มีบันไดขึ้นไปชนผนัง ก็ยิ่งอยากทดลอง

ผลงานชิ้นหนึ่งที่อยู่ในความทรงจำของเพื่อนร่วมชั้นปี
คือ ที่ใส่กระดาษทิชชูในห้องน้ำ
เราดีไซน์มันเป็นรูปทรงแคปซูล พ่นสีเงินสลับกับสีฟ้าเมทัลลิก
เข้ายุคสมัยในเวลาใกล้มิลเลนเนียม (2000)
โดยเว้นช่องว่างข้างกระดาษทิชชูเอาไว้แบบไร้ประโยชน์ใช้สอย
สองข้างรวมกันก็น่าจะราวๆ สิบเซนติเมตร
Form ที่เกิดขึ้นจึงไม่ได้มี Function แต่อย่างใด
แต่มีไว้เพื่อให้รูปร่างมันเป็น ‘แคปซูล’ อย่างที่อยากให้เป็น

พรีเซ้นต์งานหน้าห้อง
“งานออกแบบชิ้นนี้ ผมไม่ได้ใช้
แนวความคิด Form Follows Function
แต่ผมมีแนวความคิดว่า Form Follows Fantasy”
ยังจำได้ดีว่าเพื่อนๆ ทั้งห้องปล่อยก๊ากออกมา
และยังจำแววตาถลนถลึงของอาจารย์สุดที่รักได้

งานชิ้นนั้นได้ผลลัพธ์สองอย่าง
หนึ่ง, เกรด C
สอง, ความสะใจ

5.
สถาบันที่ดี…ไม่ใช่สถาบันที่มีโครงสร้างสิ่งจูงใจที่ตีเส้นทางเดิน
ไปสู่ความเป็นนักวิชาการในฝันแบบเดียวกัน แบบใดแบบหนึ่ง
แต่เป็นสถาบันที่ดีในความหมายที่ส่งเสริมเอื้ออำนวยให้นักวิชาการ
ในฝันแต่ละแบบ สามารถแสดงศักยภาพของตนได้อย่างเจิดจรัส
ตามวิถีแห่งตน

ข้อความในหนังสือ blog blog ชวนให้คิดถึงอดีตของตนเอง
ปะปนไปกับชีวิตของ ฟิลิปป์ สตาร์ก
ไม่ได้หมายความว่า จะเอาตัวเองไปเปรียบเทียบว่าเก่งกาจอะไร
แต่อดตั้งคำถามไม่ได้ว่า ถ้าวันนั้นได้เกรด A เราจะมุ่งคิด
แนวความคิดแปลกๆ ไปอีกได้ไกลแค่ไหน?

หากมีการสนับสนุน
ผลักดันให้แต่ละคนเดินหน้าไปในทางที่คิดและฝัน
ไปในทางที่แต่ละคนแตกต่าง ให้พัฒนาไปอย่างสวยงาม
พวกเราคงจบออกมาอย่างหลากหลาย และไม่เป็นพิมพ์เดียวกัน

เพราะเราล้วนถูกสร้างมาจาก ‘โลก’ คนละใบ
เราเติบโตมาแตกต่าง และเราต่างก็มีเสน่ห์และความยียวนในแบบตน
หากแต่ระบบการศึกษากลับเคาะเราให้เหลือเพียง ‘พิมพ์’ เดียว
แล้วมันจะสนุกตรงไหน?

‘โลก’ ใบที่พวกเราสร้างขึ้น เมื่อถึงยุคที่พวกเราต้องรับภาระสร้างโลก
จึงไม่ต่างอะไรไปจาก ‘โลก’ ในวันที่ครูบาอาจารย์อยู่อาศัย

หากการศึกษาและสังคมเปิด ‘โลก’ ของแต่ละคน
รวมทั้งขัดเกลาให้ ‘โลก’ ของแต่ละคนชัดเจนสุกใสและสนุกที่จะคิด
เราคงได้อยู่ใน ‘โลก’ ที่น่าตื่นเต้นและสวยงามกว่าที่เป็นอยู่

‘โลก’ แห่งความแตกต่างหลากหลายย่อมสวยงามกว่า
‘โลก’ แบบเดิมๆ แบบเดียว – ‘โลก’ ที่เหมือนกันไปหมด

เราชอบรู้จัก ‘โลก’ ของคนอื่น
ยิ่งแตกต่างยิ่งชอบ และสนุกที่จะได้เอาตัวลงไปคลุกเคล้า
ไม่จำเป็นต้องชอบ ‘โลก’ ใบนั้น
แต่อยากเข้าใจว่า ‘โลก’ ของเขาเป็นแบบไหน

และเราก็ชอบที่จะให้คนอื่นรู้จัก ‘โลก’ ของเรา
เพราะเมื่อรู้จักกัน มันก็มักจะนำไปสู่ส่วนผสมใหม่
และนำพาไปสู่ ‘โลก’ ใบอื่น ใบแล้วใบเล่า…
เพราะคนหนึ่งคนย่อมนำพาไปสู่คนอีกหนึ่งคนเสมอ

เมื่อถึงอายุหนึ่ง คนรุ่นเราคงจำเป็นต้องรับภาระสร้าง ‘โลก’
ตั้งใจไว้แล้วว่า เราจะไม่ปิดกั้นความเป็นไปได้ใน ‘โลก’ ของใคร
เพราะเราอยากเห็น ‘โลก’ ที่หลากหลายมากกว่า ‘โลก’ ที่เป็นแบบเดียว

คุณล่ะอยากเห็น ‘โลก’ แบบไหน?
ช่วยกันสร้างดีมั้ยครับ?