Archive for the '04: ไอเดีย' Category

คิดแล้วขำ

เมษายน 30, 2008

เดินผ่านร้านขายน้ำส้ม
มีสามขนาดให้เลือกดื่ม
ใหญ่-กลาง-เล็ก ปกติคงเป็นแบบนั้น
แต่ร้านนี้เขาเบื่อชื่อเรียกขนาดแบบเดิมๆ
จึงเพิ่มเติมอย่างสร้างสรรค์
แถมยังชวนขันไปด้วย

ชอบใจ จึงยกกล้องขึ้นมา
เอ่ยปากบอกพี่เขาไปว่า
“ขอถ่ายรูปหน่อยนะครับ”
เขายิ้ม เราก็ยิ้ม
เขาคงภูมิใจในผลงาน
เราแอบอ่านจากแววตา

ความคิดสร้างสรรค์บางทีก็มีไว้ให้อีกคนหนึ่งยิ้ม
กระติกใส่น้ำส้มใบนี้อาจทำให้คนยิ้มได้วันละหลายคน
เดินถนนอยู่ดีๆ มีความคิดขำๆ มาขวางอยู่ตรงหน้า
น่าชื่นใจไม่น้อยไปกว่าน้ำส้ม
ถ้ามีเวลาอ่าน เหมือนที่พี่เขามีเวลาคิด
ไม่คิดก็ไม่ขำ แต่เพราะพี่เขาคิด เราเลยได้ขำ
พี่ช่วยทำให้วันร้อนๆ เย็นขึ้นตั้งหลายวินาที
เพราะกระติกของพี่ ไม่ได้มีแค่น้ำส้ม

Photobucket

หมอนของเราชื่อความเหงา

สิงหาคม 14, 2007

แล้ว “เนตร” ก็ส่ง “หมอน” ที่มีแรงบันดาลใจจาก “ความเหงา” มาอวด
หลังจากที่เคยยืมเรื่องของเธอมาเขียนใส่ในบล็อก (ที่นี่)
เพราะว่าชอบใจที่เอา “ความเหงา” ที่ติดหัวมาสลัดลงบนผลงาน

เนตรเขียนคอนเส็ปต์มาให้อ่านด้วยครับ
ไม่รู้เหมือนกันว่าเป็นเวอร์ชั่นเดียวกับที่ส่งอาจารย์หรือเปล่า
แต่ผมว่าเป็นวิธีการเขียนคอนเส็ปต์ที่ดูธรรมชาติดี (อย่างกับไดอารี่)

เอามาแปะแบ่งกันดูครับ ว่า “หมอน” ที่เกิดจาก “ความเหงา” ของเธอ
มีหน้าตาเป็นอย่างไร และยังได้รู้ต้นตอที่มาของมันอีกต่างหาก

บรรทัดต่อจากนี้คือตัวหนังสือของเนตรครับ

ชื่อผลงาน “เพื่อนของเราชื่อความเหงา”

ผลงานชิ้นนี้ได้แรงบันดาลใจจาก ความรู้สึกของฉัน ในสภาวะความรู้สึกโดดเดี่ยว ไม่มีใครอยู่ข้างๆ เปล่าเปลี่ยว ว้าเหว่ความว่างเปล่าในใจ เป็นความรู้สึกที่เกิดขึ้นมานาน จนฉันได้รู้ว่ามันคือความรู้สึกที่เรียกว่า ความเหงา และพอได้มาฟังเพลงของ บอย ตรัย ชื่อเพลงว่า เพื่อนของเราชื่อความเหงา จึงได้รู้ว่าที่ผ่านมานั้นฉันมีความเหงาเป็นเพื่อนมาตลอด จึงนำเสนอผลงานในรูปแบบที่เป็นหมอนขึ้นมา

ในความรู้สึกเหงาของดิฉัน ฉันนึกถึงต้นไม้ที่อยู่ท่ามกลางที่โล่งๆมันคือความรู้สึกที่โดดเดี่ยว ต้นไม้ต้นนั้นไม่ใช่ต้นไม้ที่กำลังจะเจริญเติบโต แต่เป็นต้นไม้ที่กำลังจะแห้งเหี่ยวตายในสภาพแวดล้อมที่ไม่มีสิ่งมีชีวิตใดใดอยู่ข้างๆ นึกถึงรากไม้แห้งๆ ไม่สดใส

ดิฉันจึงนำรากของกล้วยไม้มาเป็นตัวแทนของความเหงาและให้หมอนสื่อถึงตัวของดิฉันเองที่มีความเหงาอยู่รอบๆ ตัว เรื่องโทนสีจึงอยากใช้สีธรรมชาติเดิมของรากกล้วยไม้เลย เพราะความเหงามันเกิดขึ้นจากความรู้สึกของตัวเราเองที่สร้างขึ้นมาเองไม่ต้องปรุงแต่งใดใด โดยรูปแบบของหมอนจะเป็นใบที่ยาวกว่าปรกติ ให้เวลาที่นอนรู้สึกถึงความอ้างว้าง ความเหงาในตัวดิฉัน หมอนใบนี้เมื่อนอนไปแรกๆ อาจรู้สึกเจ็บบ้างเพราะทำจากรากกล้วยไม้สด แต่พอเมื่อเวลาผ่านไปพอรากของกล้วยไม้แห้งด้วยคุณสมบัติของมัน จะมีความนุ่มขึ้น สบายขึ้น ผ่อนคลายมากขึ้น ก็เหมือนกับความรู้สึกเหงาที่แรกๆ เราอาจจะรู้สึกเจ็บปวดกับมันบ้าง เราอาจจะยังไม่ชินกับมันนัก เราอาจต้องเสียน้ำตา เราอาจยังไม่เข้าใจ แต่พอเมื่อเวลาผ่านไปซักพักความเหงาก็เปลี่ยนแปลงไปอาจเปลี่ยนไปได้หลากหลายรูปแบบหลายความรู้สึก แต่สำหรับดิฉัน ความเหงาในตอนนี้ เป็นเสมือนคนที่จะอยู่ข้างๆ ในเวลาที่ไม่มีใคร นั้นก็คือ “เพื่อน”

ฉันมีเพื่อนชื่อความเหงาค่ะ

null

null

เป็นไงบ้างครับ?
อย่างแรกที่ชอบก็คือการเลือก “หมอน” มาเป็นอุปกรณ์บรรจุความเหงา
เพราะเวลาที่คนเราจะเหงาหนักๆ ก็ตอนจะนอนนี่แหละ
เพราะเป็นช่วงเวลาที่เราจะต้องอยู่คนเดียว เปล่าเปลี่ยวเอกา

และก็ชอบ “วิธีคิด” ตรงที่บอกว่า นอนแรกๆ จะเจ็บ
(ดีนะที่ไม่เอาหนามกุหลาบมาทำ) แล้วมันจะนุ่มขึ้นในที่สุด
ผมออกจะเห็นว่า มันเป็น “หมอนศิลป์” มากกว่า “หมอนฟังก์ชั่น”
คือ “มีไว้รู้สึก” มากกว่า “มีไว้นอน”

เหมือนมีหมอนใบนี้ตั้งไว้ในห้องเป็นเพื่อน ว่ายังมีคนอื่นที่เหงาอยู่เหมือนกัน
อย่างน้อยก็คนที่ออกแบบหมอนใบนี้นี่ไง

ในร้ายมีดีเสมอ

ธันวาคม 17, 2006

1.
สมัยฝึกงานอยู่ที่บริษัท ลีโอ เบอร์เนทท์
มีพี่ครีเอทีฟคนหนึ่งให้โจทย์เรามาคิดโฆษณาขาย “แมลงสาบ”
เราหัวเราะเสียงดัง แล้วถามพี่ไปว่า “จะไปขายใครครับพี่?”
พี่เค้าตอบกลับมาว่า “ไม่รู้สิ ฝากคิดด้วยละกัน”
เราหัวเราะในโจทย์อันแสนจะสร้างสรรค์ แต่นึกในใจ
“จะบ้าเหรอ ใครจะไปอยากได้แมลงสาบ”
เพื่อนที่นั่งอยู่ด้วยกันในห้องนั้นโพล่งออกมาว่า
“ขายให้คนเลี้ยงปลาสิ
ผมเคยอ่านหนังสือเจอว่าชาวบ้านบางแห่งใช้แมลงสาบเลี้ยงปลา”
เราเองก็เคยเห็นอาเจ็กโยนแมลงสาบให้ปลาอะโรวาน่ากิน
มันก็ขย้อนเข้าไปอย่างเอร็ดอร่อย

เหตุการณ์เล็กๆ วันนั้น ฝังอยู่ในหัวเรามาตลอด
มันกลับมุมมองของเราที่มีต่อทุกอย่าง
ถ้า ‘แมลงสาบ’ ยังมีข้อดี
ถ้า ‘แมลงสาบ’ ยังขายได้
อะไรอะไรก็คงขายได้ (ในแง่ของนักโฆษณา)
แต่ที่สำคัญว่าการขาย การได้รู้ว่า
‘ทุกสิ่งทุกอย่างมีข้อดี ขอแค่เราหาคนที่ต้องการมันให้เจอ’
นั้นช่วยให้โลกนี้น่าอยู่ขึ้นอีกเยอะ

2.
เมื่อกี๊นั่งดูรายการ คุยคุ้ยข่าว ของคุณ สรยุทธ
แกเสนอข่าวเกี่ยวกับที่ดินบริเวณรอบสนามบินสุวรรณภูมิ
ที่เราต่างก็รู้กันว่า ตอนนี้ที่ดินที่ใกล้สนามบินมากๆ นั้นราคาตกฮวบ
เพราะเสียงที่ดังสนั่นจากการขึ้น-ลงของเครื่องบินไม่รู้วันกี่สิบรอบ

แต่แล้วก็มีเสียงเล็กๆ เสียงหนึ่งดังขึ้น แทรกตัวเข้ามาในเสียงเครื่องบิน
เสียงนั้นคือเสียงของคุณ แคล้ว ทองสม
(ลองเสิร์ชจากกูเกิ้ลแล้วพอจับใจความได้ว่า
เขาน่าจะทำงานทางด้านการประเมินมูลค่าที่ดิน)
คุณ แคล้ว เสนอว่า
“ให้จัดโซนเสียงดังนั้น เป็นโซนผับ เทค”
โอ้โห! จบเลย
จากร้ายกลายเป็นดี
เสียงดังที่น่ารำคาญก็ไม่เป็นปัญหาสำหรับนักท่องราตรีอยู่แล้ว
ดีไม่ดีจะยิ่งเพิ่มดีกรีความมันส์เข้าไปกันใหญ่

ข้อเสนอพลิกมุมมองแบบนี้ ทำให้โลกน่าอยู่
ด้วยพยายามมองหา ‘ดี’ ใน ‘ร้าย’

ซึ่งจริงๆ สิ่งต่างๆ ในโลกก็คล้ายกับสัญลักษณ์ เต๋า
ในขาวมีดำ ในดำมีขาว
อยู่ที่ใครมองสีอะไร?

วิธีโปรโมต(น่าสน)

ธันวาคม 16, 2006

โปรโมตหนังด้วยการนั่งข้างๆ วัว
เดวิด ลินซ์ โปรโมตหนังเรื่องใหม่ Inland Empire
ด้วยการไปนั่งข้างถนนซันเซ็ตบูลวาร์ดของฮอลลีวู้ด
ข้างๆ ป้ายหาเสียงชิงออสการ์ให้ ลอร่า เดิร์น นางเอกหนังเรื่องนี้น่ะแหละ

เขาซื้อหนังเรื่องนี้คืนมาจากนายทุน
เพราะไม่ยอมทำตามคำสั่งของนายทุนที่บอกเขาให้ตัดหนังให้สั้นกว่า 172 นาที

ส่วนเรื่อง วัว
ลินซ์ให้เหตุผลสั้นๆ ว่า “ตอนทำหนังเรื่องนี้ผมชอบกินชีส”
“ถ้าไม่มีวัวก็จะไม่มีชีส ถ้าไม่มีชีสก็จะไม่มี Inland Empire”

อืม…เป็นวิธีโปรโมตหนังที่ประหลาดดี แต่น่าจะเหมาะกับคนดังระดับลินซ์เท่านั้นแหละ

แปลงหนังเป็นงานศิลป์
ผกก. ดาร์เรน อาโรนอฟสกี้ (Pi, Requiem for a dream)
ส่งบทไปให้ศิลปินสิบเอ็ดคนตีความออกมาเป็นงานศิลปะแบบใดก็ได้
จากนั้นค่ายหนังก็เอาไปเผยแพร่ต่อเป็นการโปรโมต

โปรโมตหนังสือด้วยหนังสั้น
ไมเคิล คอนเนลลี่ เอาบางส่วนจากนิยายสืบสวน Echo Park
มาทำเป็นหนังสั้นสิบนาทีเพื่อยั่วน้ำลายผู้ชม ก่อนที่จะบอกว่า
“โปรดติดตามอ่านต่อในหนังสือ”
http://www.youtube.com/watch?v=-ndCN3uHinE

(จาก ไบโอสโคป เล่มหกสิบเอ็ด)

เพะชะ คุชะ: แบ่งตามาดูโลก

พฤศจิกายน 19, 2006

1.
“เพราะเชื่อว่า อาชีพสร้างสรรค์น่าจะขยันแบ่งปันความคิด”
พิธีกรในคืนวันนั้นไม่ได้พูดภาษาคลับคลาคำขวัญแบบนี้หรอกครับ
เราเอามาเรียงร้อยใหม่ แม้จะลิเกขึ้น แต่ใจความครบถ้วนครับ

ข้อความในฟันหนู คือต้นตอความคิดของการจัดงาน เพะชะคุชะไนท์ ขึ้น
ครั้งแรกจัดขึ้นที่โตเกียว แล้วก็แพร่ขยายไปหลายแห่งบนผิวโลก

คำว่า เพะชะคุชะ เป็นคำจำลองมาจากเสียงเม้าท์แตกของสาวญี่ปุ่น
ถ้าเป็นพี่ไทยอย่างเราคงใช้คำว่า ‘อีโล้งโช้งเช้ง’ หรืออะไรทำนองนั้น

2.
คนเยอะเหลือเชื่อครับ!
คนที่ยืนๆ นั่งๆ เดินๆ กันในงานก็ดูเป็นคนในวงการสร้างสรรค์ด้วยกันทั้งสิ้น
ผู้คนที่เคยปรากฎหน้าปรากฎตาตามหน้านิตยสารและผู้ที่อยู่เบื้องหลังนิตยสารหลายเล่ม
ก็ด้อมๆ ยืนๆ อยู่ในงานมิใช่น้อย จินตนาการเอาไว้ว่าจะเป็นงานเล็กๆ น่ารักๆ
ในวงเล็บว่า (คงจะเงียบๆ) แต่เอาเข้าจริงแล้วกลับได้รับความสนใจเกินคาด!
(เอ่อ…หมายถึงคาดการณ์ของเรา) แต่คนเยอะ งานใหญ่ ก็ใช่ว่าจะไม่น่ารัก

งานเพะชะคุชะน่ารักมากครับ

บรรยากาศเป็นกันเอง ใกล้ชิด เหมือนเพื่อนมาเล่าความคิดให้เพื่อนฟัง
เอา ‘ของดี’ มาแบ่งปันกัน แบบไม่หวง
ซึ่ง ‘ของ’ ของแต่ละคนก็ล้วนแล้วแต่น่าสนใจทั้งนั้น
งานกระชับ รวดเร็ว ไม่เยิ่นเย้อ ขนาดกระชับแบบนี้ยังจบลงเกือบห้าทุ่ม!
แหม…ก็ ‘ของ’ มันเยอะ

3.
เหมือนได้เข้าไปเยี่ยม ‘โลก’ ของผู้ที่นำของมาอวด
ยี่สิบคนก็ยี่สิบโลก
ยี่สิบโลกก็ยี่สิบมุมมอง
ยี่สิบมุมมองก็มียี่สิบความงามที่แตกต่าง

ปวลี จิระกรานนท์-เสนอไอเดียซีดีดนตรีเพื่อวัว ไก่ และต้นไม้ที่ตั้งชื่อได้เก๋ไก๋ทุกแผ่น
พีรพัฒน์ กิตติสุวรรณ-อวดงานแอนิเมชั่นผสมวาดสด (เจ๋งมาก)
เศรษฐพงศ์ โพวาทอง-อวดงาน ‘ปะติด’
ธรรมนูญ ใหม่พิมพ์-มองเมฆบนท้องฟ้า เป็นตัวอักษร
ไผทวัฒน์ จ่างตระกูล-ชวนมาช่วยกันคิดว่าจะแปลงกระดาษให้เป็นอื่นได้ไง
ตรัย ภูมิรัตน- อวดภาพถ่าย ผสมเพลงเพราะเกี่ยวกับ ความเหงา (เสียงชวนละลาย)
ธวัช พันธุ์เจริญลักษณ์-อวดตุ๊กตาตัวเหลี่ยม (ชอบครับ)
ชลธร โพธิ์ทอง-อวดความงามของเงา
พงศ์ธร วชิรโภคา-บอกว่า แพงหรือถูก เราเลือกได้ (ตลกดี ชอบครับ)
จุฑารัตน์ พรมุณีสุนทร-ชวนมองความงามในตัวผู้หญิง (ชอบจังครับ)
คันถ์ชิต วณิชดิลกกุล-เสนอความคิดคันๆ กวนๆ ยวนๆ (ฮามาก)
จักรกฤษณ์ อนันตกุล-ความงามของเขาคือความไม่สมบูรณ์แบบ
ธัญสก พันสิทธิวรกุล-ภาพถ่ายอีกมุมของโตเกียว (พี่จริงใจมากครับ ชอบ)
คมสัน นันทจิต-อวดแผ่นเสียงเพลงเก่า (เสียงดายจังที่เสียงกระตุก)

ไม่ครบทั้งยี่สิบคนครับ
ชอบหลายชิ้นที่ทดเอาไว้
โดยเฉพาะการได้เห็นมุมมองของคุณจุฑารัตน์ ในการมองความงามของผู้หญิง
ผู้หญิงธรรมดาๆ ที่ถูกมองผ่านเลนส์กล้องของเธอ ชวนให้เรารู้สึกว่าสวย
หลังจากคืนนั้น เรามองผู้หญิงเปลี่ยนไป(น่าจะอีกสักระยะหนึ่ง)
เห็นความสวยที่ไม่เคยเห็น อืม…ผู้หญิงนี่สวยทุกคนจริงๆ (ฮ่าฮ่า!)

ความคิดของแต่ละคนเหมือนไม้ขีดไฟที่สามารถเก็บไปจุดประกาย
ให้ลุกไหม้เป็นแรงบันดาลใจได้มากมาย

การได้รู้มุมมองของคนอื่น ชวนให้เรามองโลกอีกแบบ
ได้หัดมองในมุมที่คนอื่นมอง
ได้เห็นความสวยของโลกในมุมอื่นบ้าง
กลับบ้านคืนนั้น โลกสวยขึ้นอีกยี่สิบเท่า

กระทั่งความไม่สมบูรณ์แบบก็ยังงาม!
(ตามสายตาของคุณ จักรกฤษณ์)

4.
ครับ-เราได้ตากลับบ้านมาอีกสี่สิบดวง
ได้ความคิด และไม้ขีดไฟกลับบ้านมาหลายก้อนและหลายก้าน

และเราก็เชื่อหมดใจว่า
“อาชีพสร้างสรรค์น่าจะขยันแบ่งปันความคิด”

แต่-ไม่เฉพาะอาชีพสร้างสรรค์หรอกละมัง
คนเราน่าจะขยันแลกเปลี่ยนความคิดกัน
โลกยังมีมุมอีกเยอะ
น่าเสียดาย-ถ้าเราจะมองมันด้วยตาแค่สองดวง.

มีอีกเยอะครับ ที่…
http://www.pechakuchabangkok.com