สมัยมัธยมจะเขียนสิ่งหนึ่งเก็บไว้อ่านทุกปี
คล้าย “ไดอารี่” แต่เขียนปีละหน จึงกลายเป็น “เยียร์รี่” ไปแทน
ไม่ได้เขียนมานานหลายปี ปีนี้ได้โอกาสและอารมณ์เหมาะสมจะเขียน
จึงเห็นควรว่าน่าจะเขียนเก็บไว้ เพราะทุกครั้งที่หันหลังกลับไปอ่าน
ก็จะพบตัวเองในวันวานเสมอๆ ต่อไปนี้คือ “เยียร์รี่ ประจำปี 2550”
…
นี่คงเป็นปีสุดท้ายที่จะมีตัวเลข 2 เป็นตัวเลขแรกของ “อายุ”
แม้เราจะเกิดมาในยุคที่มนุษย์พยายามค้นหารหัสลับเพื่อยืดชีวิต
ด้วยวิธีต่างๆ นานา แต่เราก็คงไม่โชคร้ายขนาดที่จะอยู่ทันให้
นักวิทยาศาสตร์คิดค้นวิธียืดอายุขัยให้ยาวนานถึง 200 ปีหรอกมัง
ปีหน้าก็จะเข้าเลย 3 หลายคนแซวว่า เตรียมแก่หรือยัง?
จริงๆ แล้วไม่เคยคิดเลยว่าอายุวัย 30 จะ “แก่”
ไม่ค่อยเข้าใจเพลง “สามสิบยังแจ๋ว”
แหม ปกติ “30” เขาก็แจ๋วๆ กันทั้งนั้นไม่ใช่หรือ?
ยังเต่งยังตึ๊งตึงตังกันทั้งนั้นแหละ
และจะว่าไป ถึงจะกลัวตาย แต่ก็ไม่เคยกลัวแก่
ออกจะชอบความแก่ ชอบการผ่านโลกมามาก
ชอบการผ่านเหตุการณ์และผู้คนมาเป็นเวลาหลายปี
ยิ่งผ่านก็ยิ่งน่าจะนิ่ง และเข้าใจอะไรๆ ได้ดีขึ้น
เคยมีพี่คนหนึ่งเขียนสมุดบันทึกก่อนจากขณะที่ไปฝึกงาน
ที่บริษัทลีโอ เบอร์เนทท์ให้ว่า “อะไรที่ไม่เคยเจอ
พอเราได้เจอครั้งแรก เราก็จะตกใจ ตื่นเต้น และประหลาดใจ
บางครั้งก็ตั้งรับไม่ทัน แต่อีกหน่อยเอ๋ก็จะเข้าใจ
เมื่อผ่านอะไรมามาก สุดท้ายก็จะไม่มีเรื่องอะไรที่ทำให้เรา
ตื่นเต้นได้อีก” จำได้ว่าวันนั้นไม่ค่อยเห็นด้วย
กระทั่งถึงวันนี้ก็ยังไม่เห็นด้วยทั้งหมด เพราะคิดเสมอว่า
ชีวิตมีอะไรที่ทำให้เราประหลาดใจ และตั้งรับไม่ทันเสมอๆ
จริงอยู่ เมื่อเติบโต คนเราอาจจะนิ่งมากขึ้น แต่หากนิ่งเสียจน
ไม่มีอะไรที่จะมาทำให้หัวใจเปลี่ยนจังหวะการเต้น
ก็เห็นว่าจะหายใจต่อไปอย่างไม่ค่อยสนุกนัก
ยังอยากตื่นเต้นกับสิ่งใหม่ๆ ที่ไม่เคยเจอ
และอยากทำความเข้าใจสิ่งเหล่านั้น
สมัยเป็นเด็ก ชอบคิดว่า อยากโตเป็นผู้ใหญ่
และผู้ใหญ่ก็ชอบใส่ความคิดลงไปในหัวของเราว่า
“เดี๋ยวพอแกโตเป็นผู้ใหญ่ แกก็จะอยากกลับไปเป็นเด็ก”
หลายคนโตขึ้นแล้วอยากกลับไปเป็นเด็กอีก
แต่เราไม่ค่อยอยาก เราว่าเด็กเป็นวัยที่สับสน
มึนงง และร้องไห้ง่ายเกินไป
ดูไม่ค่อยพยายามเข้าใจอะไรสักเท่าไหร่
เด็กส่วนใหญ่จะถือตัวเองเป็นจุดศูนย์กลางของโลก
ทุกอย่างต้องหมุนวนรอบตัวฉัน ฉันเท่านั้นที่มีแรงดึงดูด
และกำหนดกฏเกณฑ์ไปตามแต่ใจที่ฉันต้องการ
จึงชอบผู้ใหญ่ (แน่นอน โดยเฉพาะที่สามสิบยังแจ๋ว)
และอยากเป็นผู้ใหญ่ แต่ไม่อยากแก่เกินวัย
เป็นผู้ใหญ่เท่าที่ประสบการณ์และความคิดตามวันวัยควรจะเป็น
อายุ 29 ก็คิดแบบคน 29 ไม่พยายามแก่ไปกว่านั้น-มันเมื่อย!
เพราะเมื่อชีวิตเดินทางมาถึงวัยหนึ่ง
เมื่อผ่านเส้นทางต่างๆ มาตั้ง 29 ปี
ย่อมเข้าใจ “กฏ” ของธรรมชาติมากขึ้น
“กฏ” ข้อสำคัญก็คือ เราไม่สามารถควบคุมอะไรได้
และธรรมชาติก็หลากหลายเกินกว่าที่จะเป็นไปตามที่
เราต้องการตลอดเวลา
เราไม่ใช่จุดศูนย์กลางของโลก เราเป็นเพียงเส้นรอบวงเท่านั้น
เป็นจุดๆ หนึ่งในเส้นรอบวง ที่ต่อเชื่อมกับจุดอีกหลายจุด
ต่อเชื่อมกันเป็นเส้น เป็นระนาบ เป็นปริมาตร เป็นสังคม เป็นโลก
โลก-ที่ไม่มีใครเป็นจุดศูนย์กลาง ไม่มีใครจำเป็นต้องหมุนรอบใคร
ไม่มีใครควรที่จะถูกใครบังคับบัญชา ไม่มีใครควรจะโอนอ่อนตามใคร
แต่ละจุดต่างเป็นตัวของตัวเอง ไม่มีจุดไหนดีเลิศ ไม่มีจุดไหนถูกต้องที่สุด
เราทั้งหมดประกอบเข้าด้วยกัน จากความหลากหลายกลายเป็นหนึ่ง
ดูเหมือนหนึ่ง แต่ที่จริงเป็นล้านๆ
ยอมรับเสียเถิดว่า ไม่มีใครเหมือนกันเลย
ไม่มีแม้แต่หนึ่งคนต่อหนึ่งคน
เราต่างแตกต่าง เราต่างคิดต่างใจ
โชคร้ายหน่อยที่เราต้องอยู่ข้างๆ กัน อยู่บนโลกใบเดียวกัน
และจุดเล็กๆ อย่างพวกเรานั้น ต้องมีคราวที่หัวไหล่กระทบกันเสมอ
ยอมรับเสียเถิดว่า เราไม่สามารถรักทุกคนได้
และอย่าได้พยายามทำให้ทุกคนรักเรา
อย่าได้คิดว่า เขาจะยอมรับในความเป็นเรา
เพราะเขาก็มีความคิดของเขา เติบโตมาในแบบของเขา
ขอโทษด้วยจริงๆ ที่เรารักกันไม่ได้-มันฝืน
สิ่งที่ทำได้คือ “เข้าใจ”
29 ปีที่ผ่านมา ข้อความง่ายๆ ที่สรุปได้คือคำนั้น
เรามีชีวิตอยู่เพื่อ “เข้าใจ”
เข้าใจคนอื่นๆ
เข้าใจสิ่งอื่นๆ
เข้าใจเหตุการณ์
เข้าใจชีวิต
เข้าใจโลก
เข้าใจตัวเอง
เรามีชีวิตอยู่เพื่อ “เข้าใจ” เท่านั้นเอง
จริงอยู่ ไม่มีใครเข้าใจทุกอย่าง
แต่อย่างน้อย เราควรพยายามทำความเข้าใจ
อย่างน้อยก็ “เผื่อใจ” ให้กับคนอื่นที่แตกต่างไป
แม้จะพยายามแค่ไหนก็ไม่เข้าใจ แต่ก็เผื่อใจให้พื้นที่กับเขาบ้าง
เราเรียนกันไปทำไม?
ไม่ว่าจะวิชา หรือ ศาสตร์แขนงไหน เราเรียนไปเพื่อทำความเข้าใจทั้งนั้น
ชีววิทยา, เคมี, ฟิสิกส์, คณิตศาสตร์, สถาปัตย์, รัฐศาสตร์,
เศรษฐศาสตร์, วิศวกรรมศาสตร์, แพทยศาสตร์, อักษรศาสตร์, ฯลฯ
หากไม่ได้ร่ำเรียนไปเพื่อเข้าใจเพื่อนๆ ข้างๆ กาย รู้เยอะไปก็เท่านั้น
พระพุทธเจ้าพูดเรื่อง “ใบไม้กำมือเดียว”
ความรู้มีมากมายเหมือนใบไม้นับล้านๆ ใบในป่าใหญ่
แต่สิ่งที่เราจำเป็นต้องรู้มีอยู่แค่หนึ่งกำมือเท่านั้นเอง
สำหรับท่าน สิ่งนั้นคือ วิธีดับทุกข์
และเราคิดว่า หนึ่งในวิธีดับทุกข์ก็คือ ความเข้าใจ นี่เอง
หนึ่งในธรรมะหัวข้อหลักที่เปรียบเป็นแก่นของพุทธศาสนา คือ
“อิทัปปัจจยตา” ซึ่งคล้ายกันเหลือเกินกับเพลง “อื่นๆ อีกมากมาย”
ของวงเฉลียง ตามความเข้าใจอันอ่อนหัดของเรา
คัมภีร์เล่มหนาหลายร้อยหน้านั้นหดสั้นๆ แล้วเหลือประโยคว่า
“ทุกสิ่งที่เกิดขึ้นล้วนมีเหตุ”
“ถ้าเขาเป็นคนเลว ที่เลวนั้นจากใด คำตอบมีไว้ ตอบไปก็คงอื้อ
อาจเลวเพราะแสนเข็ญ หยาบช้าเพราะขมขื่น เหตุนำนั้นพันหมื่น
อื่นๆ อีกมากมาย”
อีกท่อนหนึ่งซึ่งชอบมาก
“เด็กหนีไม่ยอมเรียน โดดเรียนเพราะเหตุใด ลองตอบกันไหม
เด็กไปเพราะใจเบ่ง แม่ให้ไปขายของ ครูสอนไม่ดีเอง
เด็กรักเป็นนักเลง อื่นๆ อีกมากมาย”
ทุกสิ่งที่เกิดขึ้น หากเราสาวกลับไปเรื่อยๆ เราจะเจอต้นตอในที่สุด
และเมื่อเจอตอที่ว่า ก็จะนำมาซึ่งคำว่า “อ๋อ” ตรงตอนั้นเอง
แต่ก็ใช่ว่าเราจะสาวจนเจอ “ตอ” ตลอดเวลา เป็นไปไม่ได้หรอก
“เฉลียง” จึงเขียนไว้ในเพลงว่า “เผื่อใจไว้ที่ยังไม่เห็น”
เบื้องหลังการกระทำ เบื้องหลังนิสัยที่ไม่ถูกใจของคนๆ หนึ่ง
คงมีอะไรมากมาย อะไรมากมาย-ที่เราอาจไม่มีโอกาสได้เห็นและได้รู้
แม้ไม่สามารถเข้าใจอะไรได้ทุกอย่าง ไม่สามารถเข้าใจใครได้ทุกคน
แต่แค่พยายาม “เผื่อใจ” และทำความเข้าใจ แค่นั้นก็น่ารักจะตายไปแล้ว
ช่วงหลายปีหลัง ได้ดูหนังที่ฉายภาพความหลากหลายของเพื่อนมนุษย์
อย่าง Crash, Babel, Little Miss Sunshine และ Bobby
กี่เรื่องกี่เรื่องก็ชวนให้หลั่งน้ำตา กับความไม่เข้าใจกันของเพื่อนมนุษย์
จุดเล็กๆ ที่ต่อเนื่องกันเป็นเส้นรอบวง แต่หลายครั้งที่จุดบางจุด
ยึดตัวเองเป็นจุดศูนย์กลางโลก และก็ต้องพบกับความพังทลายในที่สุด
บางเรื่องที่จบลงอย่างสวยงามก็ทำให้วันนั้นยิ้มได้ โลกดูมีความหวัง
ในจอทีวี ในหน้าหนังสือพิมพ์ ยังเต็มไปด้วยความไม่เข้าใจกัน
หนังสือมากมายในห้องสมุด ในร้านหนังสือ หนังมากเรื่อง กวีมากบท
ความรู้เป็นกระตั๊ก อ่าน ดู ฟัง เสพเข้าไปก็ไม่เกิดประโยชน์อะไร
หากไม่นำมาซึ่งความเข้าใจตัวเองและคนอื่น
ไม่ว่าอะไรก็ตามที่เราทำ จริงๆ แล้วเราใช้เวลาไปกับมัน
เพื่อทำความเข้าใจสิ่งต่างๆ ให้มากขึ้น อ่านหนังสือ, ดูหนัง,
ฟังเพลง, เดินทาง, ทำงาน, สังเกตการณ์ ก็เพื่อเข้าใจ
หากเราตื่นมาทุกวันเพื่อที่จะทำความเข้าใจคนอื่นและสิ่งต่างๆ
ให้มากขึ้น เราก็น่าจะได้เข้าใจทีละนิดทีละน้อย ค่อยเป็นค่อยไป
เมื่อเข้าใจ ก็จะทุกข์น้อย เมื่อยอมรับในเหตุที่มาของสิ่งต่างๆ
ที่ไม่เป็นอย่างที่คิด ไม่เป็นไปตามที่คาดหวัง ก็น่าจะยิ้มได้บ่อยขึ้น
หรือต่อให้ไม่เข้าใจ แต่เผื่อใจสำเร็จ ต่อให้ไม่ยิ้ม
อย่างน้อยก็คงไม่บูดบึ้ง
สงครามเล็กๆ เกิดขึ้นตลอดเวลารอบตัวเรา
จากการไม่พยายามเข้าใจอีกฝ่าย
สงครามข้างถนน, ในห้องประชุม, ร้านอาหาร, แถวรอคิว, ฯลฯ
มีคนบอกว่า “ไม่มีเส้นทางใดนำไปสู่สันติภาพ สันติภาพคือเส้นทาง”
การพยายามทำความเข้าใจอีกฝ่ายก็น่าจะระงับสงครามได้
หรืออย่างน้อยก็ไม่ทำให้มันบานปลายเกินกว่าที่เป็นอยู่
แก่ขึ้นอีก 1 ปี นั่นเท่ากับว่าได้เห็นโลกและเพื่อนร่วมโลก
มากขึ้นอีก 1 ปี เช่นกัน นั่นน่าจะทำให้เข้าใจอะไรต่อมิอะไร
มากขึ้นอีกสักหน่อย และยังตั้งความคาดหวังเพื่อที่จะ
เข้าใจให้มากขึ้น เพื่อที่จะทุกข์ให้น้อยลง
เมื่อมองคนอื่นๆ อย่างที่เขาเป็น ไม่พยายามไปดัด ปรับ เปลี่ยน
และควบคุมบังคับ หรือคาดหวังให้เขาเป็นอย่างที่เราอยากให้เป็น
เมื่อนั้นเราก็คงสบายตัว เขาก็คงสบายใจ
เราเป็นอย่างที่เราอยากเป็น เขาเป็นอย่างที่เขาอยากเป็น
เราอยู่ข้างๆ กัน เรียนรู้กันและกัน เพื่อเข้าใจกัน
เราอาจจะเกิดมาเพื่อการนี้
ใช่, เราอาจเกิดมาเพื่อทำความเข้าใจซึ่งกันและกัน
โลกกว้าง คนอีกมาก ล้วนแตกต่างไม่มีที่สิ้นสุด
ชีวิตที่มีระยะเวลาไม่ถึงหนึ่งร้อยปีสั้นเกินไป
สั้นเกินไปที่จะทำความเข้าใจใครได้หมด
แต่ก็สั้นเกินไปที่จะอยู่ไปอย่างไม่พยายามทำความเข้าใจใครเลย
ขอบคุณ 29 ปีที่ผ่านมา
รอยตีนกาที่เพิ่มขึ้น
นั่นหมายถึง เราได้เห็นสิ่งต่างๆ มาพอประมาณ
และทุกสิ่งทุกอย่างที่ไหลผ่านเข้ามาในดวงตา
ก็ย่อมไหล “เข้า” ไปใน “ใจ” ด้วยเช่นกัน
จำนวนตีนกาจึงนำมาซึ่งจำนวนความเข้าใจ
แล้วจะกลัวแก่ไปไย
หากยิ่งแก่ก็ยิ่งเข้าใจ
ยิ่งแก่ ก็ยิ่งสุข
………………………………………………………………
ขอเชิญเพื่อนบ้านทุกท่านร่วมกันปันเค้กช็อกโกแล็ตทำเองก้อนนี้
คนละชิ้น สองชิ้น สามชิ้น ก็ตามสะดวกเลยครับ ซัดกันให้อิ่ม
งั่มกันให้เต็มที่ รับรองได้ว่าเค้กก้อนนี้กินเท่าไหร่ก็ไม่หมดครับ (ฮ่าฮ่า)
