อ่านเรื่องราวเกี่ยวกับโลกเสมือนจริง (โลกในเน็ต)
จากมติชนสุดสัปดาห์ฉบับล่าสุดแล้วก็น่าคิดดีเหมือนกัน
เป็นเรื่องบังเอิญที่มติชนสุดฯ เล่มนี้มีคนเขียนถึงเรื่องนี้
ในมุมและขนาดที่แตกต่างกันถึงสามคน แต่ผมอ่านดูแล้ว
ก็เห็นว่ามันขยำรวมกันออกมาได้หนึ่งประโยคว่า
“โลกเสมือนจริงในวันนี้ก็คือโลกแห่งความจริงนั่นเอง”
เริ่มที่คอลัมน์ แลไปข้างหน้า ของ คุณศิริพงษ์ วิทยวิโรจน์
ที่เขียนถึงเรื่องที่เขาไปอ่านเจอมาจาก Wirednews
เรื่องแรกเป็นเรื่องของชายหนุ่มนิวยอร์กเกอร์คนหนึ่งที่แต่งงานแล้ว
มีลูกสองคน ไปรู้จักกับผู้หญิงวัยสี่สิบจากเวสต์ เวอร์จิเนีย
ที่แต่งงานแล้วอีกเช่นกันผ่านเว็บไซต์เกม Pogo ที่เขานิยมเข้าไป
เล่นโปกเกอร์ออนไลน์เป็นประจำ ต่างคนต่างก็สร้างตัวตนและบุคคลิกใหม่
บนอินเตอร์เน็ตขึ้นมาติดต่อสัมพันธ์กันผ่านโปรแกรมแชต
และก็เริ่มโทรศัพท์ติดต่อกัน ความสัมพันธ์ของทั้งคู่งอกเงยและ
ดำเนินไปอย่างสลับซับซ้อน สุดท้ายแล้วลงเอยด้วยการที่ชายหนุ่ม
ไปยิงเพื่อนร่วมงานคนหนึ่งของเขาเสียชีวิตด้วยความหึงหวงที่เธอ
ในโลกเสมือนจริงของเขาติดต่อออนไลน์กับเพื่อนร่วมงานคนนั้น
(ซึ่งผมก็ไม่รู้เหมือนกันว่าไปหึงกันอีท่าไหน)
อีกเรื่อง เป็นเรื่องของชายที่มีปัญหาครอบครัวแล้วหนีไปจมอยู่กับ
Second Life โลกเสมือนจริง เป็นเวลาหลายปีที่ใช้ชีวิต
ทำทุกอย่างอยู่ในนั้น ทั้งการทำธุรกิจ เลี้ยงสุนัข และแต่งงาน
เขาแต่งงานกับอีกคนบน Second Life คนซึ่งในชีวิตจริง
ก็แต่งงานแล้วเช่นกัน ทั้งหมดนี้นำไปสู่ความระหองระแหงในชีวิตจริง
เรื่องที่สามมาจาก ฮิวส์ตัน ครอนิคัล ที่รายงานว่าผู้หญิงหนึ่งในสาม
ที่พบคนรักจากบริการจับคู่ทางอินเตอร์เน็ตมีเซ็กซ์กันในการนัดพบครั้งแรก
โดย 75 เปอร์เซ็นต์มีเซ็กซ์โดยไม่ใช้ถุงยางอนามัย แสดงให้เห็นอย่างหนึ่ง
ว่า ความสัมพันธ์ของผู้คนในโลกเสมือนจริงซึ่งพัฒนาให้ก่อให้เกิดอารมณ์
ความรู้สึกได้อย่างรวดเร็วเหลือเชื่อ
…
คอลัมน์ที่สอง เป็นรายงานพิเศษของ คุณนงนุช สิงหเดชะ
พูดถึง พฤติกรรมผู้บริโภคสื่ออเมริกัน หันหลังสื่อดั้งเดิม-มุ่งออนไลน์
ผลสำรวจของเวโรนิส ชูห์เลอร์ สตีเวนสัน ซึ่งเป็นบริษัทวิจัย
เผยแพร่ออกมาเมื่อเดือนที่แล้ว ชี้ว่า ผู้บริโภคอเมริกัน
กำลังเปลี่ยนความสนใจจากสื่อดั้งเดิม ซึ่งได้แก่สื่อที่มีโฆษณาหนุนหลัง
แล้วหันไปนิยมใช้บริการสื่อที่ต้องจ่ายค่าสมาชิกหรือค่าดู
เช่น อินเตอร์เน็ต, วีดีโอเกม, เคเบิลทีวี
ระหว่างปีค.ศ. 2001-2006 ผู้บริโภคใช้เวลาเฉลี่ยไปกับการบริโภคสื่อ
ที่ต้องจ่ายเงิน (paid media) เพิ่มขึ้น 19.8% ในขณะที่ในช่วงเดียวกัน
การบริโภคสื่อแบบดั้งเดิม เช่นทีวี วิทยุ หนังสือพิมพ์ กลับลดลง 6.3%
นับว่าเป็นเรื่องที่น่าประหลาดใจ
ประเมินว่า ในปีค.ศ. 2010 การใช้จ่ายเพื่อโฆษณาบนสื่อออนไลน์
จะมีประมาณ 5.4 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งหมายความว่าจะแซง
การโฆษณาบนสื่อสิ่งพิมพ์ ที่คาดว่าจะมีการใช้จ่ายเพียง 5.15
นั่นก็พอจะเป็นดรรชนีชี้วัดได้ว่า ผู้คนใช้จ่ายเวลาในโลกออนไลน์
มากกว่าโลกภายนอกที่จับต้องได้อย่างสิ่งพิมพ์
…
ข่าวสุดท้ายเป็นข่าวต่างประเทศ รายงานเรื่อง
ปฏิบัติการโจมตีโลกไซเบอร์ ปฏิบัติจารกรรมของจีน
มีตัวเลขระบุไว้ว่าคอมพิวเตอร์ของหน่วยงานด้านการทหาร
และรัฐบาลของชาติตะวันตกถูกโจมตีอยู่ทุกๆ วินาที
โดยกระทรวงต่างประเทศของสหรัฐเพียงแห่งเดียวพบว่า
เครือข่ายในกระทรวงถูกเจาะเข้าไปถึงวันละราว 2 ล้านครั้ง!
ขอรวบรายละเอียดทั้งหมดมาสรุปในไม่กี่บรรทัดว่า
เครือข่ายคอมพิวเตอร์ของเยอรมนี, อังกฤษ, และสหรัฐอเมริกา
ทั้งกระทรวงการต่างประเทศ, กลาโหม และข้อมูลของรัฐบาล
ได้ถูกแฮกเกอร์มือดีจากจีนเจาะทะลวงเข้าไปเพื่อหาความลับ
ซึ่งผู้วางแผนด้านกองทัพของสหรัฐเกรงว่าการที่จีนเปิดฉากจารกรรม
บนโลกไซเบอร์นั้น อาจจะไม่ใช่เพียงการจารกรรมธรรมดาเท่านั้น
แต่อาจจะเป็นการเตรียมการสำหรับสงครามในอนาคตกับไต้หวัน
และประเทศอื่นๆ
ในรายงานล่าสุดของเพนตากอนเกี่ยวกับเรืองกำลังของ
กองทัพประชาชนจีนประจำปี 2007 ระบุไว้ว่า พีแอลเอ
ได้พัฒนาระบบขึ้นมาโดยเฉพาะเพื่อการใช้คอมพิวเตอร์ในการโจมตี
โดยเฉพาะ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของปฏิบัติการทางทหารของจีน
และในการฝึกกำลังทหารล่าสุดของจีนนั้น ก็มีการฝึกเพื่อโจมตี
คอมพิวเตอร์ของฝ่ายศัตรูด้วย โดยสมมติให้มีการโจมตี
ระบบปฏิบัติการเครือข่ายของกองทัพอเมริกาจนใช้งานไม่ได้
หรือทำให้ส่งผลกระทบถึงชีวิตของพลเรือน
ในรายงานระบุว่า พีแอลเอได้ลงทุนกับไปกับระบบการต่อสู้
ทางอิเล็กทรอนิกส์และระบบการป้องกันการโจมตีด้านอิเล็กทรอนิกส์
รวมไปถึงระบบปฏิบัติการเครือข่ายคอมพิวเตอร์ต่างๆ นอกจากนี้
พีแอลเอยังได้สร้างหน่วยงานเพื่อการพัฒนาไวรัสสำหรับโจมตี
ระบบคอมพิวเตอร์และเครือข่ายคอมพิวเตอร์ของศัตรู
ซึ่งหากจีนประสบความสำเร็จในการครอบงำโลกไซเบอร์เอาไว้
นั่นหมายความว่า กองทัพจีนที่อ่อนแอกว่าก็จะสามารถเอาชนะ
กองทัพอเมริกันที่แข็งแรงกว่าได้ โดยไม่ต้องพึ่งพากำลังทหาร
เหมือนเมื่อก่อน
นี่นอกจาก ‘รัก’ กันแล้ว เรายังจะ ‘รบ’ กันในโลกเสมือนอีกด้วย!
ด้านรัฐบาลจีนที่ตกเป็นผู้ต้องสงสัย ได้ออกมาปฏิเสธข้อกล่าวหาต่างๆ
และว่า เป็นเรื่องที่ไม่มีมูลความจริงแต่อย่างใด โดยผู้เชี่ยวชาญ
ของจีนผู้หนึ่งกล่าวว่า แฮ็กเกอร์อาจจะใช้คอมพิวเตอร์ของจีน
ที่ไม่ได้มีระบบรักษาความปลอดภัยเพื่อปลอมตัวเข้าไปเจาะระบบ
คอมพิวเตอร์ของรัฐบาลต่างๆ แล้วป้ายความผิดให้กับรัฐบาลจีน
โดยหลังจากถูกกล่าวหา นางเจียง หยู โฆษกกระทรวงต่างประเทศ
ของจีนก็ได้ออกมาประกาศว่า การเจาะระบบข้อมูลคอมพิวเตอร์นั้น
เป็นปัญหาระหว่างประเทศ และจีนเองก็พร้อมที่จะร่วมมือกับประเทศอื่นๆ
รวมทั้งสหรัฐ ในการปราบปรามอาชญากรอินเตอร์เน็ต
…
จริงอยู่ครับ โลกเสมือนอาจเคยเป็นโลกคนละใบกับโลกที่เราอาศัย
หายใจสูดอากาศ “จริงๆ” เข้าปอดกันอยู่ แต่ยิ่งวันโลกสองใบนี้
ก็ยิ่งจะหลอมรวมกันเป็นใบเดียว และยากจะแยกออกจากกัน
เพราะสิ่งที่เชื่อมโลกสองใบนี้ด้วยกันก็คือ “คน” นั่นเอง
เป็น “คน” ที่มีอารมณ์ มีความรู้สึก มีความสัมพันธ์ มีความผูกพัน
มีความรัก มีความอาฆาต มีความอยากเอาชนะ มีความหิวอำนาจ
มีความบ้าพลัง กระหายการต่อสู้ มีทุกอย่างที่ “คนจริงๆ” มี
เมื่อ “คนจริงๆ” เข้าไปอาศัยในโลกใบไหน โลกใบนั้นก็ไม่ใช่
“โลกเสมือน” อีกต่อไป ยิ่งวันมันก็ยิ่งจะกลายเป็นโลกแห่งความจริง
*ขอบคุณมติชนสุดสัปดาห์สำหรับความรู้และข้อมูลครับ