จะนึกถึง “พลาสเตอร์ปิดแผล” กันทีก็ต้องรอมีดบาด ใครจะบ้านั่งนึกหน้าพลาสเตอร์ราวกับละเมอหาหญิงอันเป็นที่รัก (หรือชายอันเป็นที่หลงใหล) อยู่ทุกเวลานาที ผมหันหน้ามาสนใจพลาสเตอร์ยาเมื่อได้ไปอ่านเจอตัวหนังสือที่ตั้งข้อสังเกตเกี่ยวกับพลาสเตอร์ปิดแผลในหนังสือ Jerome Becomes a Genius ของ Eran Katz ตัวละครในหนังสือเล่าว่าเขาไปอ่านเจอข้อความในนิตยสารไทม์เมื่อนานมาแล้ว ข้อเขียนนั้นตั้งข้อสังเกตว่า โลกมีพลาสเตอร์ปิดแผลมาเป็นเวลาเจ็ดสิบปี แต่พลาสเตอร์ปิดแผลทุกชนิดผลิตออกมาเป็น “สีเนื้อ” ที่เป็นสีครีมเหมือนกันทั้งหมดเป็นเวลาถึงหกสิบปี และตลอดหกสิบปีนั้นทุกคนก็ก้มหน้าก้มตาปิดแผลกันด้วยพลาสเตอร์สีเนื้อ “มาตรฐาน” นั้นกันอย่างไม่โต้แย้งอะไร
แหม มันช่างโดนใจคนผิวดำคมขำอย่างผม ผมทนใช้พลาสเตอร์ “สีผิวฝรั่ง” มาตั้งนานโดยไม่เคยตั้งคำถามสักแอะ ทั้งที่เมื่อแปะลงไปบนผิวหนังมันก็ด่างขึ้นมาเป็นแผ่น ไม่แนบเนียนผสมกลมกลืนเป็นเนื้อเดียวเหมือนเวลาฝรั่งเขาใช้กัน
เป็นเรื่องเล็กที่มีความคิดเบื้องหลังที่ใหญ่กว่านั้น
นั่นเป็นลักษณะของโลกในยุคหนึ่ง ซึ่งบางส่วนก็ยังคงต่อเนื่องมาจนถึงโลกยุคนี้ คือความคิดความเชื่อที่ว่า “ฝรั่งคือมาตรฐานโลก” ก็เหมือนกับเวลาที่เข้าไปยืนอยู่ตรงหน้าโถปัสสาวะของโรมแรมบางแห่งแล้วชายชาวไทยบางคนต้องยืนเขย่งขา เพราะเขาใช้ “มาตรฐานความสูงของฝรั่ง” มาเป็น “มาตรฐานสากล”
มันสากลตรงไหน?
พลาสเตอร์แผ่นเล็กๆ ยังชวนให้คิดขยายออกไปอีกไกล ถึง “มาตรฐาน” ทั้งหลายที่ฝรั่งเขาว่ากันว่าดี ผิวขาว, ประชาธิปไตย, ISO, ฯลฯ บางทีมันก็น่าตั้งคำถามดูเหมือนกันว่า เรากำลังก้มหน้าก้มตายอมรับมาตรฐานเหล่านั้นโดยไม่ตั้งคำถาม เหมือนที่ยอมใช้พลาสเตอร์ยาด่างๆ ที่ต่างจากสีผิวของเราอยู่หรือเปล่า
โลกเปลี่ยนยุคสมัยมาสู่ช่วงเวลาที่มนุษย์เห็นหน้าค่าตาและได้แลกเปลี่ยนวัฒนธรรมกันมากขึ้น ฝรั่งก็เริ่มรู้แล้วว่าตัวเองไม่ได้เป็นมาตรฐานโลก และคำว่า “ฝรั่ง” ไม่ได้เท่ากับคำว่า “สากล” โลกยังมีมนุษย์ผิวสีอื่น มีความเชื่อความชอบและค่านิยมที่ต่างไป น่าจะเป็นเรื่องดีที่เราจะได้แลกเปลี่ยนกันไปมา ไม่ใช่การเข้าไปปรับเปลี่ยนประเทศชาติอื่นและบังคับให้ต้องเป็นไปตามมาตรฐานของตนเอง
แหม ขนาด นาตาลี แฟนของพี่ภราดร เขายังยกมือไหว้เลย!
ว่ากันว่า ทุกวันนี้มีพลาสเตอร์หลายสีมากขึ้น กระทั่งมีสีของคนผิวดำให้คนดำได้เลือกใช้ ผมยังไม่เคยเห็น แต่ได้ยินแล้วก็คิดว่าน่ารักดี เวลามีแผลก็ปิดแผลได้อย่างสวยงามไม่มีรอยด่างของ “สีผิวมาตรฐาน” ให้รำคาญใจ
ผมลองไปสืบประวัติพลาสเตอร์ยามาจาก บล็อกแห่งนี้
เห็นเขาเล่าว่า เหตุเกิดที่บริษัท จอห์นสันแอนด์จอห์นสัน ซึ่งตอนนั้นเป็นผู้ผลิตผ้าก๊อซและเทปกาว มีพนักงานชาย (Earle Dickson) ที่เพิ่งแต่งงานกับ Josephine หญิงสาวที่ถูกมีดบาดบ่อย ด้วยความที่ขี้เกียจทำแผล เขาจึงเอาเทปกาวของบริษัทตัวเองมาตัดเป็นแถบสั้นๆ แล้วเอาผ้าก๊อซวางไว้ตรงกลาง มีแผลปุ๊บก็แปะได้ปั๊บ ทันใจ เมื่อบริษัทของเขารู้เข้าจึงนำไปผลิตเป็นพลาสเตอร์ยามาให้เราใช้กันจนถึงทุกวันนี้
ลองคิดดูสิครับว่า หากเหตุการณ์นี้เกิดขึ้นที่อินเดีย หรือ แอฟริกา ทุกวันนี้เราจะใช้พลาสเตอร์ยาสีอะไร
เมื่อมองไป ผมว่าเราก็จะเห็นว่าโลกใบนี้ยังมีแผลอีกมาก หลายแผลที่ดูเหมือนจะได้รับการเยียวยารักษา แต่หากมองดีๆ มันเป็นการครอบงำด้วยสีผิวมาตรฐานต่างหาก
(อย่างการไล่ที่ทำกินของชาวบ้านที่อยู่ในพื้นที่นั้นมานานหลายสิบปี เพื่อสร้างเขื่อนปั่นไฟให้คนเมืองใช้กัน นั่นก็เป็นการตัดสินปัญหาด้วยการใช้ “สีมาตรฐาน” เช่นกัน จึงดูเหมือนว่า “สีมาตรฐาน” จะเป็น “สีของคนที่มีอำนาจ” มากกว่า)
นอกจากพลาสเตอร์ปิดแผลแล้ว อย่างอื่นก็มี “สี” เหมือนกัน