Archive for the '29: ใหม่' Category

ย้ายไป exteen ครับ

พฤษภาคม 11, 2008

ขอย้ายบ้านไปที่
roundfinger.exteen.com
นะครับ

เราเคยนั่งคุยกันที่นั่น

พฤษภาคม 9, 2008

ณ ภูเขาเปื้อนเมฆแห่งนั้น เราเคยนั่งคุยกันถึงความฝัน ความประทับใจ และอะไรอีกมากมาย

Photobucket
โดม: ถ้าปัตตานีสงบ ผมอยากกลับไปเปิดร้านกาแฟเล็กๆ ที่นั่น

Photobucket
กิ๊ก: ไม่มียาตัวไหนรักษาได้เท่ากำลังใจจากเพื่อนมนุษย์

Photobucket
ป้อง: ผมอยากเป็นสถาปนิกและนักเขียนครับ

Photobucket
นัตตี้: ลงไปว่าผมเป็นวิศวกรสิ่งแวดล้อม นั่นเป็นสิ่งที่ผมอยากทำ

Photobucket
แช่ม: หนูอยากเป็นหมอฟันที่ประเทศลาว ต้องประเทศลาวด้วยนะ

Photobucket
ภูมิ: ถ้าเป็นไปได้ ผมอยากเปิดสำนักพิมพ์ของตัวเอง

Photobucket
พี่เอี้ยง: วันหนึ่งจะมีหนังสือสักเล่มที่มีชื่อเราอยู่บนปก

Photobucket
บีม: บีมจะไม่ยอมเป็นพนักงานออฟฟิศที่น่าเบื่อ

Photobucket
เกียง: ถ้าเป็นไปได้ ผมอยากทำหนังสักเรื่อง

Photobucket
บอย: ผมอยากเปิดเว็บไซต์สำหรับเด็กลพบุรี

Photobucket
ขวัญ: ขวัญอยากทำงานวิจัยที่ไม่วางไว้บนหิ้ง แต่มีประโยชน์กับชุมชน

Photobucket
เจน: เราอยากเป็นอาจารย์ให้ได้เหมือนอาจารย์ของเรา

Photobucket
แป้ง: เราชอบเดินทาง เราอยากจะเดินทางรอบโลก

Photobucket
เม: โลกนี้มีความแตกต่างระหว่างคนมากมาย หนูอยากช่วยได้เล็กๆ น้อยๆ ก็ดี

Photobucket
นานา: หนูอยากศึกษาเรื่องการตกแต่งภายใน จะได้ไปช่วยงานพ่อแม่ที่ร้าน

Photobucket
ตาล: จริงๆ แล้วตาลไม่รู้ว่าตาลอยากเป็นอะไร แต่ที่แน่ๆ ตาลชอบภาษาจีน

Photobucket
ฮิม: อยากเป็นสถาปนิก ฮิมอยากสร้างตึก สร้างบ้านครับ

Photobucket
เบียร์: พี่บอกว่าพี่ชอบฟังความฝัน แล้วคนไม่มีฝันจะทำไงดี

Photobucket
บดินทร์: ผมอยากมีร้ายขายยาที่เปิดเพลงแจ๊ส และมีมุมจิบกาแฟเล็กๆ

(ติดตามตอนต่อไป)

นิ้วแบนด์เปลี่ยนเวลา

พฤษภาคม 8, 2008

นาโนคอนเสิร์ต “นิ้วแบนด์” ในวันเสาร์ที่ 10 พฤษภาที่กำลังจะเดินทางมาถึงนี้ ขอเปลี่ยนเวลาเป็น 16.00 น. แทนนะครับพ่อแม่พี่น้อง แดดร่มลมตกน่าจะสบายกายสบายหูมากกว่า ส่วนสถานที่ยังคงเหมือนเดิม คือ ร้านประตูสีฟ้า เอกมัย ซ.10

หากใครงงสงสัยว่ามันอยู่ตรงไหนบนแผ่นดินไทย หากมารถไฟฟ้าก็ลงที่สถานีเอกมัย และกระโดดขึ้นแท็กซี่หรือมอเตอร์ไซค์เข้ามา บอกพี่ๆ คนขับคนขี่ว่า “เอกมัยซอยสิบ” เมื่อรถจอดจะเห็นลานจอดรถกว้างๆ หนึ่งลาน เดินดุ่มๆ เข้ามาดุ่ยๆ จนสุดลาน จะเห็นร้านหนังสือปนอาหารหน้าตาน่ารักที่มีประตูทาสีฟ้าตั้งหราอยู่ ร้านที่ว่าก็คือร้านนั้นนั่นเองครับ

ใครว่างๆ อย่าลืมแวะมานั่งฟังเพลงกันหนุกๆ นะครับ
: )

สี่วันอันยาวนาน

พฤษภาคม 7, 2008

ไดอารี่วันที่ 6 พ.ค. 2551

เสียงดุกดิกขลิกขลุกปลุกให้ตื่นขึ้นมา แสงเช้าแยงตาบอกให้ลืมขึ้นมาสักที ค่อยๆ เอื้อมมือไปรูดม่านสีน้ำเงิน จึงเห็นว่าคนอื่นๆ บนตู้รถไฟเขาตื่นกันเกือบหมดแล้ว กำลังจะแหย่ขาลงมาทางบันได มือแปะไปโดนซองสีน้ำตาลจ่าหน้าซองว่า “To คนที่นิ้วกลมที่สุดในโลก” งงๆ เพราะยังไม่ตื่นดีเท่าไหร่ พลิก-หงายไปมาอยู่สอง-สามที ก่อนที่ก้าวลงบันไดมาแตะพื้นรถไฟ แล้วนำมันไปเก็บไว้ในเป้ใบใหญ่สีเทา คว้าแปรงสีฟัน บีบยา แล้วเดินไปที่อ่างล้างหน้า สวนทางกับเพื่อนๆ ที่นั่งบนรถไฟมาด้วยกัน ยิ้มอวดขี้ฟันแล้วกล่าวทักกันว่า “อรุณสวัสดิ์”

เดินไปก็ยังขำเมื่อเห็นคนที่อยู่ตู้เก้าตื่นเช้ามากองอยู่ตู้แปด เมื่อคืนก็ทำท่าจะไม่นอน ถ้าไม่มีกฏล็อกประตูตอนสี่ทุ่มก็คงจะคุยกันยันเที่ยงคืนเป็นอย่างน้อย ความรู้สึกตอนที่เดินสวนกันในวันนี้ต่างกับวันแรก (ที่ตกรถไฟ) อยู่มาก ความเขินหายไปกลายเป็นความสบายใจเข้ามาแทน (สบายแค่ไหน รูปถ่ายทั้งหลายคงฟ้องได้)

เชื่อแล้วว่ามีความสุขที่ได้คุยกันจริงๆ ทันทีที่ตื่นมาก็มานั่งจ้อกันต่อ เหมือนอย่างที่หมอกิ๊กบอกว่า “ทำอย่างกับไม่เคยเจอกัน” ซึ่งมันก็ถูกแล้ว จริงๆ แล้วต้องบอกว่า “ทำอย่างกับจะไม่ได้เจอกันอีก” รถไฟก็วิ่งของมันไป มันเคยหยุดรอใครเสียเมื่อไหร่ พยายามนำสมุดเฟรนด์ชิพส่งต่อให้หลายๆ คนได้เขียนตัวหนังสือลงไปในนั้น เพราะรู้ดีว่า ถ้าเขียนวันอื่นมันก็ “ไม่ใช่” แล้ว อยากได้ตัวหนังสือของเพื่อนร่วมทริปทุกคน แต่สุดท้ายก็ไม่ครบ แต่ก็ไม่เป็นไร

บางคนลงรถไฟไปก่อนถึงหัวลำโพง แยกย้ายกลับบ้านตามตำแหน่งแห่งที่ของแต่ละคน คนบนรถไฟถามไถ่กันว่า “เดี๋ยววันนี้ไปไหน” บ้างก็ตอบว่า “รีบไปเข้างาน” บ้างก็บอกว่า “เดี๋ยวจะโทรไปลางาน” จำได้ว่าตอนนั่งรถสองแถวออกมาจากบ้านปางแดงใน ฮิมพูดทำลายความเงียบขึ้นมาในรถว่า “อยากรู้จังว่า ทุกคนกลับไปจะทำอะไรเป็นอย่างแรก” ตอบไปว่า “อาบน้ำ” ฮิมส่ายหัว “ไม่เอาดิ หลังจากอาบน้ำ เก็บข้าวของแล้วสิ จะทำอะไร”

ไม่รู้เหมือนกันว่า หลังจากแยกย้ายกันทั้งบนรถไฟ และที่หัวลำโพงแล้ว ทุกคนไปทำอะไรกันบ้าง แต่ระหว่างทางที่นั่งรถกลับบ้านนั้นมีความคิดลอยวนไปมา บอกไม่ถูกเหมือนกันว่าคิดอะไรอยู่ หรือที่จริงอาจไม่ใช่ความคิดก็ได้มั้ง ท่าทางจะเป็นความรู้สึกมากกว่า หันหน้าไปมองรถติดๆ กับโฆษณาข้างรถเมล์แล้วรู้สึกคิดถึงที่นั่น จะบ้าหรือไง ไปแค่สาม-สี่วัน แต่มันรู้สึกอย่างนั้นจริงๆ รู้สึกเหมือนยังกลับมาไม่ครบ เหมือนทิ้งอะไรบางอย่างไว้ที่นั่น และอยากกลับไปอีก

อาจเพราะอยู่ท่ามกลางเสียงหัวเราะและพูดคุยโขมงมาหลายวันล่ะมั้ง ตอนนั่งรถกลับบ้านคนเดียวก็เลยรู้สึกว่ามันเงียบ หยิบเฟรนด์ชิพขึ้นมาอ่านในแท็กซี่ อ่านของแต่ละคนก็มีภาพจำคนละอย่างลอยขึ้นมา จะว่าไปก็ไม่คิดว่าชาตินี้จะได้มีเฟรนด์ชิพอีกเล่มหลังจากเรียนจบมัธยมแล้ว

รู้สึกเหมือนเดินทางไกลมาเป็นเวลายาวนาน เหมือนห่างจากสถานที่และสิ่งรอบตัวที่เคยชินไปนานมาก ทั้งที่จริงๆ แล้วมันก็แค่สี่วัน แต่เป็นสี่วันที่มีเรื่องราวมากเหลือเกิน เป็นเรื่องที่อยากจะเล่าให้คนทั้งโลกฟัง (ฟังดูโอเว่อร์ แต่รู้สึกอย่างนั้นจริงๆ) อยากให้ได้อยู่ด้วยกันที่นั่น เพราะรู้ตัวดีว่าไม่มีทางเล่าได้ถึงครึ่งหนึ่งของสิ่งที่มันเกิดขึ้น

อยากรู้ว่าคนอื่นเป็นบ้างหรือเปล่า เรานั่งรถกลับบ้านไปแบบเบลอๆ สงสัยคงกำลังทบทวนเรื่องโน้นเรื่องนี้อยู่ในหัว เรื่องหลายเรื่องที่เหมือนใครบนนั้นเขียนสคริปต์ขึ้นมา แต่ไม่ใช่หรอก จริงๆ แล้วทุกคนช่วยกันเขียนมันขึ้นมาต่างหาก

อยากขอบคุณทุกคนที่ช่วยกันเติมทริปที่คนจัดทั้งสามไม่ค่อยคิดอะไร ปล่อยว่างๆ เอาไว้เยอะแยะให้มันเต็มขึ้นมา ซึ่งสำหรับเราแล้วมันโคตรจะสมบูรณ์เลยล่ะ ขอบคุณที่ส่งพลังถึงกัน เกิดมาไม่เคยเห็นกองความฝันใหญ่เท่านี้มาก่อน เพิ่งรู้ว่าเวลาฝันมากองรวมกันแล้วมันโคตรทรงพลังเลย เขียนๆ อยู่นี่ยังกลัวคนเขาหาว่าบ้า ไปปลูกต้นไม้ไม่กี่ต้นแค่ไม่กี่วันกลับมาฟูมฟายได้ขนาดนี้ อยากอธิบายให้ฟังจริงๆ

ขอบคุณพี่ก้องที่เป็นตัวตั้งตัวตีจัดทริปนี้ขึ้นมา พี่ทำให้ผมมีคำตอบสำหรับคำถามยอดฮิตแล้วว่า “การเดินทางครั้งไหนประทับใจที่สุด” จำได้ไหมพี่ ในซุ้มไม้ไผ่กลางน้ำท่ามกลางเสียงกบระงมนั้น เราเที่ยวไปถามน้องๆ เขาว่า “คิดว่ากลับไปจากทริปนี้แล้วตัวเองจะมีอะไรเปลี่ยนแปลงไปบ้าง” หากคำถามเรื่องหนังสือที่เราล้อมวงคุยกัน ที่ตอบไปว่ามีบางเล่มที่เปลี่ยนความคิด ผมว่าทริปนี้ก็มีสรรพคุณไม่ต่างกันสำหรับผม

ขอบคุณอัพสำหรับเสียงกีต้าร์คลอเสียงแมลงเม่าและเสียงร้องหล่อๆ กับที่ยอมสละความสำอางโบฮีเมี่ยนมาเลอะเทอะด้วยกัน มีคำถามหนึ่งที่ลืมถามไป “มึงมีเสื้อยืดแขนสั้นบ้างไหมวะ” อ้อ ออกจะภูมิใจที่ได้เห็นน้ำตาที่ไร้ความดาร์กของทรงศีล

ขอบคุณปอนด์ สำหรับการเรียกรวมพลอย่างทุ่มเท รวมถึงยาตะไคร้กันยุงด้วย

ยังย้อนกลับไปคิดว่า ตอนที่พี่ก้องชวน หากบอกว่าไม่ไปจะเป็นยังไงนะ คงอดเก็บช่วงเวลาดีๆ อีกช่วงหนึ่งของชีวิตเอาไว้ คนเรามันจะมีช่วงเวลาแบบนี้สักกี่ครั้ง เป็นโชคดีของผม และโชคดีของพวกเราที่ได้ใช้เวลาร่วมกันสี่วัน-สามคืน มาตัดกันในช่วงเวลาสั้นๆ ซึ่งผมคิดว่าใครลืมได้นี่เก่งโคตร

กลับมาถึงบ้าน รูดซิบเป้ หยิบจดหมายใส่ซองสีน้ำตาลที่วางไว้ข้างหมอนตอนเราเผลอออกมาแกะดู เห็นลายมือก็รู้แล้วว่าเป็นใคร ลายมือเหมือนน้องจิ๊บ (น้องสาวคนเล็กในทริป) ที่เซ็นไว้ในเฟรนด์ชิพ ในนั้นมีกระดาษอยู่สามแผ่น จิ๊บตื่นมาเขียนกลางดึก แผ่นที่สามเป็นเนื้อเพลงเพลงหนึ่งซึ่งจิ๊บเขียนไว้ข้างใต้ว่า “พวกเรากะจะร้องเพลงนี้ให้พี่ๆ ฟัง แต่ไม่มีโอกาสเลย” แทนที่จะอ่าน แกะออกมาร้องเฉย ร้องไปก็หัวไหล่โยกไป อยากให้พวกเราได้ร้องเพลงนี้ด้วยกันที่นั่น หรือบนรถไฟ เราน่าจะได้ร้องกันนะ

วันเวลาดีๆ เหล่านั้น เธอยังคงจำมันได้ไหม
วันที่เคยร่วมทุกข์ และสุขจนล้นหัวใจ
วันที่เราได้ผ่านมาด้วยกัน
แต่ว่าเวลาที่ผ่านพ้นไป อาจจะทำให้ใจของใครลืมสิ่งนั้น
อยากจะมีเพลงๆ หนึ่ง ถ่ายทอดเรื่องราวเป็นพันๆ ให้เธอรู้

ให้ทุกๆ ครั้งที่ได้ฟังเพลงนี้ ก็ขอให้รู้ที่แห่งนี้ นั้นยังมีรักอยู่
เคยเป็นยังไงในตอนนี้ขอให้รู้ ว่าจะไม่มีเปลี่ยนไป
และทุกๆ ครั้งที่ได้เพลงนี้ ก็ขอให้รู้ที่ตรงนี้ ไม่ว่าจะนานเท่าไร
เราจะมีกันและกัน เป็นหนึ่งในดวงใจตลอดไป ก็เพราะหัวใจเราผูกกัน

วันที่เราไม่เคยย่อท้อ วันที่เราต่างมีความฝัน
และทำทุกๆ สิ่งด้วยหัวใจเดียวกัน
เธอยังคงจำมันได้ใช่ไหม
แต่ว่าเวลาที่ผ่านพ้นไป อาจจะทำให้ใจของใครลืมสิ่งนี้
อยากจะมีเพลงๆ หนึ่ง บอกเรื่องราวที่ดีๆ เตือนให้รู้

ว่าทุกๆ ครั้งที่ได้ฟังเพลงนี้ ก็ขอให้รู้ที่แห่งนี้ นั้นยังมีรักอยู่
เคยเป็นยังไงในตอนนี้ขอให้รู้ ว่าจะไม่มีเปลี่ยนไป
และทุกๆ ครั้งที่ได้เพลงนี้ ก็ขอให้รู้ที่ตรงนี้ ไม่ว่าจะนานเท่าไร
เราจะมีกันและกัน เป็นหนึ่งในดวงใจตลอดไป
ก็เพราะหัวใจเราผูกกัน

น่าจะได้ร้องด้วยกัน ทุกครั้งที่ได้ฟังเพลงนี้จะได้คิดถึงปี๊บใบนั้น.

ทุกคนชอบใครบางคน

เมษายน 29, 2008

เชยมากครับ
ผมไม่เคยไป ‘หอศิลป์ บ้าน จิม ทอมป์สัน’ (Jim Thomson Art Center) กับเขาเลยสักครั้ง ได้ข่าวว่ากำลังจัดงาน “ต้มยำปลาดิบ” วันนี้ก็เลยแวะไปชิม หม้อไม่ใหญ่ แต่อร่อยดีเชียวครับ

ทั้งที่อยู่กลางเมือง กระเถิบมาจากมาบุญครองไม่เท่าไหร่ แต่พอเข้าไปแล้วเหมือนเป็นอีกเมืองหนึ่ง มันสงบเงียบดีจริง บรรยากาศเรือนไทยก็ชวนให้รู้สึกสบาย (ในความสบายก็มีความหรูสอดตัวอยู่ในนั้นเหมือนกัน) แต่นิทรรศการที่ด้อมไปดูมา เขาให้ดูฟรี ไม่เสียตังค์สักบาทสักเยน

“ต้มยำปลาดิบ” แค่ชื่อก็รู้แล้วว่าเป็นการเทรวมอาหารจานเด็ดของสองประเทศใส่ในหม้อเดียว เสียดายที่วันนี้ไม่ได้พกกล้องติดตัวไป ไม่งั้นคงได้ถ่ายรูปมาแบ่งกันดูเล่น งานที่แสดงไว้ก็ชวนชมทุกชิ้น แอนิเมชั่นที่ขยับพร้อมกับคนดู (ต้องใส่เสื้อที่เตรียมไว้ให้จึงจะมองเห็น) ของพี่ตั้ม-วิศุทธิ์ พรนิมิตร กับคุณวชิราภรณ์ ลิมวิภูวัฒน์ ก็สนุกดี หนังสั้นๆ ของคุณอภิชาติพงศ์ วีระเศรษฐกุล ก็มีเสน่ห์ กิโมโนที่ทอจากด้ายมัดหมี่ก็งามหยด แต่ที่ชอบที่สุดคืองานของ สึโยชิ โอซาว่า

ในโถงใหญ่แห่งนั้นมีกองฟูกหุ้มผ้าลายสวยซ้อนกันขึ้นไปหลายชั้นเป็นภูเขาที่น่ารักเอาการ ฝาผนังฝั่งตรงกันข้าม มีรูปวาดลายเส้นของทั้งเด็กและผู้ใหญ่ติดไว้เต็มผนัง ผมหยิบซองๆ หนึ่งขึ้นมา ในนั้นมีกระดาษขนาดโปสการ์ดสองแผ่น แผ่นหนึ่งมีรูปวาดอยู่แล้ว อีกแผ่นหนึ่งว่างเปล่า ตัวหนังสือสีส้มสดใสด้านหลังเขียนไว้ว่า ‘Everyone likes someone as you like someone.’ — Tsuyoshi Ozawa

เจ้าของลายเส้นไร้เดียงสา (แต่อาร์ตเหลือล้ำ) ในซองที่ผมหยิบขึ้นมาคือ น้อง Jenna อายุห้าขวบ มุมกระดาษเขียนมา Queensland Art Gallery ผมเดาเอาว่ามันน่าจะมาจากที่นั่น ไกลเหมือนกันนะเนี่ย ขณะที่กำลังงงก็ลองพลิกหน้าซองขึ้นมาดู เขาเขียนหน้าซองเอาไว้แบบนี้ครับ

“ทุกคนชอบใครบางคน เหมือนที่เธอชอบใครบางคน”
ภาพวาดภายในซองนี้ วาดโดยใครบางคนในอีกประเทศหนึ่ง เป็นภาพของคนพิเศษของพวกเขาเหล่านั้นและเป็นของที่ระลึกสำหรับเธอ
1. วาดภาพใบหน้าคนพิเศษของเธอลงบนไปรษณียบัตรเปล่าภายในซอง
2. นำภาพที่เธอวาดเสร็จแล้ว ไปหย่อนลงกล่องรับจดหมายใบใดใบหนึ่ง
วันหนึ่งภาพของเธออาจเป็นของที่ระลึกสำหรับใครบางคนในอีกประเทศหนึ่งเช่นกัน

แค่อ่านก็ยิ้มแล้ว แต่ความสนุกไม่หมดแค่นั้น เมื่อวาดเสร็จ เรายังต้องปีนขึ้นไปหย่อนไปรษณียบัตรกันถึงยอดเขา แถมภูเขาลูกนี้ก็น่านอนหลับตรงนั้นเสียจริง นุ่ม เย็น สบาย

ผมเก็บรูปวาดของน้องเจนนากลับบ้านมา (ว่างๆ จะนำมาแปะโชว์ครับ) แล้วหย่อนรูปคนพิเศษของผมลงไปในกล่อง ไม่รู้เหมือนกันว่าวันหน้ามันจะเดินทางไปอยู่ในมือของใคร ประเทศไหน หยิบรูปวาดผู้หญิงปากแดงหัวยุ่งๆ ของน้องเจนนาขึ้นมาดูอีกรอบ ผมก็ไม่รู้เหมือนกันว่า เธอผู้นี้เป็นใคร

รู้อย่างเดียวว่า เธอไม่ใช่คนธรรมดา เพราะมีคนแอบชอบเธออยู่ตั้งหนึ่งคน

มีท่อไม่มีท้อ

เมษายน 28, 2008

ปากซอยเล็กๆ ที่สีลมถูก “ขุด” เพื่อวางท่อเป็นบ่อลึก เดินลำบาก
เรียกได้ว่าแทบจะเดินเข้าไปในซอยไม่ได้
ร้านอาหารของป้าแกอยู่ในซอย ลูกค้าเดินเข้าซอยไม่ได้ จะขายยังไง
หารู้ไม่ นั่นคือจุดขายที่ดี
ใครก็รู้ว่าที่สีลมคนเยอะจะตายไป (หนาแน่นที่สุดใน กทม. ไหมนะ)
ตอนกลางวันทุกร้านจะเต็มไปด้วยคน
ป้าแกออกมายืนตะโกนอยู่เหนือหัวของพนักงานขุดท่อ ว่า
“ข้าวแกงอร่อยๆ ในซอย โต๊ะว่าง ไม่ต้องรอ สั่งปุ๊บได้ปั๊บเลยค่ะ”

ความสำเร็จของการเกิดมา

เมษายน 27, 2008

ยิ้มให้บ่อยที่สุด หมายถึงยิ้มให้ตัวเอง และให้คนอื่น
ตื่นเช้าๆ นอนดึกสักหน่อย จะได้มีเวลาดูโลกมากๆ
เห็นโลกให้มากที่สุด นั่นหมายถึงเดินเล่นดูโลกเยอะๆ
ไม่ต้องกินทุกสิ่งที่อร่อย แต่น่าจะอร่อยกับทุกสิ่งที่กิน
ไม่ต้องรักทุกคน ไม่ต้องทำให้ทุกคนรัก แค่มีบางคนที่รักกันจริงๆ
หายใจในจังหวะที่พอดี ไม่ถี่ ไม่เนือยจนเกินไป
ได้อยู่กับครอบครัว ปล่อยมุกให้เขาฮา และฮามุกของเขา
สะสมปัญญา ไม่ใช่เพราะอยากฉลาด แต่จะได้ไม่ทุกข์
เข้าใจโลกเพิ่มขึ้นทุกวัน เข้าใจมันอย่างที่มันเป็น
ในโลกมีคน เข้าใจโลกหมายถึงเข้าใจผู้คนด้วย
โกรธให้น้อย ชีวิตสั้น โกรธกันมันเสียเวลา
ดื่มน้ำให้มาก นั่นหมายถึงน้ำทุกประเภท
บางวันโค้กก็อร่อย บางวันก็โออิชิ บางวันก็ชาอู่หลง
เกิดมาตั้งนาน จะดื่มน้ำอย่างเดียวมันเศร้าไปหน่อย
แต่ไม่น่าดื่มอะไรซ้ำๆ กันนานๆ เดี๋ยวจะหวานหรือจืดเกิน
แต่น้ำไม่ใช่คน คนไม่ได้มีไว้ดื่ม และคนหนึ่งคนก็มีหลายรสชาติ
คบคนจำนวนมาก หากดูแลใส่ใจเขาได้
หากไม่ไหว น้อยไว้อาจจะดีกว่า
หาความตื่นเต้นใหม่ๆ ให้ชีวิตบ่อยๆ จะได้รู้สึกอยากหายใจต่อไป
ไม่ทิ้งขยะไว้บนโลก โลกมีขยะเยอะแล้ว
สร้างสรรค์อะไรทิ้งไว้บ้าง มุมหนึ่งคือจะได้ภูมิใจ
อีกมุมคือ ความหมายของการเกิดมา
ฟังเพลงเพราะๆ ไม่ด่าเพลงที่ตัวเองคิดว่าไม่เพราะ
เพราะอาจมีคนอื่นเขาชอบเพลงนั้นก็ได้
เอาปากมาร้องเพลงที่เราชอบ ดีกว่าเอาปากไปด่าเพลงที่ไม่ชอบ
อ่านหนังสือให้เยอะที่สุด หนังสือดีๆ อ่านทั้งชีวิตก็ไม่หมด
ถ้าใช้เวลากับเรื่องไร้สาระน้อย จะมีเวลาให้เรื่องมีสาระเยอะ
แต่เรื่องมีสาระมีมาก เวลาเท่าไหร่ก็ไม่พอ
“สาระ” ของแต่ละคนต่างกัน
เรื่องไร้สาระของบางคนอาจเป็นเรื่องมีสาระของบางคน
มีหนังสือหลายเล่มที่อยากอ่านก่อนตาย
ถ้าตายแล้วไม่ได้อ่านก็วางมันไว้บนโลกนี่แหละ
ถ้าชาติหน้ามีจริงจะกลับมาอ่าน ถ้าไม่มีก็ดีแล้ว
คุยกับคนต่อหน้ามากกว่าผ่านอินเตอร์เน็ต
เวลาจ้องตากันนี่มันดีนะ
หลับให้สบาย วางความคิดไว้ข้างเตียง
เกิดมาทั้งทีควรหลับฝันดีทุกคืน (หรือไม่ก็ไม่ต้องฝัน)
หากมีคนที่เราอยากให้เขาฝันดี น่าจะบอกเขาบ่อยๆ
มันไม่ได้ศักดิ์สิทธิ์ขนาดจะบันดาลให้มันเป็นจริงหรอก
แต่เขาจะได้รู้สึกดีตั้งแต่ก่อนฝันแล้ว
เวลาหลับเราต้องการความสงบ เวลาตื่นต่างหากที่เราอยากยิ้ม
เกิดมาทั้งทีน่าจะได้ทดลองทำในสิ่งที่อยากทำ
รู้ได้ไงว่าจะได้เกิดมาลองอีกหน โทรไปถามพระพรหมแล้วหรือ
ความสำเร็จ คือการได้ลงมือทำ
ความผิดพลาดคือ อยากแล้วไม่ลอง
ผิดคือครู ไม่ผิดจะเรียนรู้จากใคร
เวลาผ่านไปทุกวัน โอกาสก็ยิ่งน้อยลง
เคารพคนแก่ที่น่าเคารพ เช่นเดียวกับเคารพเด็กที่น่าเคารพ
วันหนึ่งเราจะแก่เหมือนเขา ศึกษาจากความแก่ ดูแลความชรา
เลือกดูทีวีที่ “น่าดู” ใครก็รู้ว่า “น่าดู” คืออะไร
ของใครก็ของมัน
ไปทะเลบ้าง ทะเลมันกว้าง ใหญ่ ช่วยขยายใจได้
ไปภูเขาบ้าง ภูเขามันสูง ตระหง่าน อยู่นานกว่าคน
ขำ-เวลาที่อยากขำ ไม่ต้องอั้นทำเก๊กว่า-ไม่เห็นขำตรงไหน
ชม-เวลาเจออะไรที่ชอบ เก็บเอาไว้ ตายไปไม่ได้บอก
ชื่นชม-สิ่งที่อยากชื่นชม
หากมัวเอาเวลาไปตั้งแง่ จะเหลือเวลาที่ไหนให้ชื่นชม
ความสำเร็จอาจเหมือนก้อนอิฐ ที่ต้องก่อร่างทีละก้อน
เพื่อเห็นผลสำเร็จในปั้นปลาย หากไม่ก่อวันนี้จะมีตึกไหม
หรืออาจเหมือนลมหายใจที่ไหลวนปนอยู่ในชีวิตทุกวินาที
แทนที่จะสำเร็จตอนอายุสี่สิบ ห้าสิบ หกสิบ หรือเจ็ดสิบ
ทำไมเราไม่สำเร็จมัน ณ วินาทีนี้เลย
คนเราอาจประสบความสำเร็จได้ในทุกวินาที
แต่เราจะประสบความสำเร็จได้
คงต้องตอบตัวเองก่อนว่า
นิยามของความสำเร็จของเราคืออะไร
เมื่อตอบได้ และทำมันสำเร็จ
นั่นอาจนับได้ว่า เกิดมา เราประสบความสำเร็จแล้ว

*แรงบันดาลใจจาก Ralph Waldo Emerson
(จะนำมาแปะในวันถัดไปครับ)

แผลมีสี

เมษายน 26, 2008

จะนึกถึง “พลาสเตอร์ปิดแผล” กันทีก็ต้องรอมีดบาด ใครจะบ้านั่งนึกหน้าพลาสเตอร์ราวกับละเมอหาหญิงอันเป็นที่รัก (หรือชายอันเป็นที่หลงใหล) อยู่ทุกเวลานาที ผมหันหน้ามาสนใจพลาสเตอร์ยาเมื่อได้ไปอ่านเจอตัวหนังสือที่ตั้งข้อสังเกตเกี่ยวกับพลาสเตอร์ปิดแผลในหนังสือ Jerome Becomes a Genius ของ Eran Katz ตัวละครในหนังสือเล่าว่าเขาไปอ่านเจอข้อความในนิตยสารไทม์เมื่อนานมาแล้ว ข้อเขียนนั้นตั้งข้อสังเกตว่า โลกมีพลาสเตอร์ปิดแผลมาเป็นเวลาเจ็ดสิบปี แต่พลาสเตอร์ปิดแผลทุกชนิดผลิตออกมาเป็น “สีเนื้อ” ที่เป็นสีครีมเหมือนกันทั้งหมดเป็นเวลาถึงหกสิบปี และตลอดหกสิบปีนั้นทุกคนก็ก้มหน้าก้มตาปิดแผลกันด้วยพลาสเตอร์สีเนื้อ “มาตรฐาน” นั้นกันอย่างไม่โต้แย้งอะไร

แหม มันช่างโดนใจคนผิวดำคมขำอย่างผม ผมทนใช้พลาสเตอร์ “สีผิวฝรั่ง” มาตั้งนานโดยไม่เคยตั้งคำถามสักแอะ ทั้งที่เมื่อแปะลงไปบนผิวหนังมันก็ด่างขึ้นมาเป็นแผ่น ไม่แนบเนียนผสมกลมกลืนเป็นเนื้อเดียวเหมือนเวลาฝรั่งเขาใช้กัน

เป็นเรื่องเล็กที่มีความคิดเบื้องหลังที่ใหญ่กว่านั้น

นั่นเป็นลักษณะของโลกในยุคหนึ่ง ซึ่งบางส่วนก็ยังคงต่อเนื่องมาจนถึงโลกยุคนี้ คือความคิดความเชื่อที่ว่า “ฝรั่งคือมาตรฐานโลก” ก็เหมือนกับเวลาที่เข้าไปยืนอยู่ตรงหน้าโถปัสสาวะของโรมแรมบางแห่งแล้วชายชาวไทยบางคนต้องยืนเขย่งขา เพราะเขาใช้ “มาตรฐานความสูงของฝรั่ง” มาเป็น “มาตรฐานสากล”

มันสากลตรงไหน?

พลาสเตอร์แผ่นเล็กๆ ยังชวนให้คิดขยายออกไปอีกไกล ถึง “มาตรฐาน” ทั้งหลายที่ฝรั่งเขาว่ากันว่าดี ผิวขาว, ประชาธิปไตย, ISO, ฯลฯ บางทีมันก็น่าตั้งคำถามดูเหมือนกันว่า เรากำลังก้มหน้าก้มตายอมรับมาตรฐานเหล่านั้นโดยไม่ตั้งคำถาม เหมือนที่ยอมใช้พลาสเตอร์ยาด่างๆ ที่ต่างจากสีผิวของเราอยู่หรือเปล่า

โลกเปลี่ยนยุคสมัยมาสู่ช่วงเวลาที่มนุษย์เห็นหน้าค่าตาและได้แลกเปลี่ยนวัฒนธรรมกันมากขึ้น ฝรั่งก็เริ่มรู้แล้วว่าตัวเองไม่ได้เป็นมาตรฐานโลก และคำว่า “ฝรั่ง” ไม่ได้เท่ากับคำว่า “สากล” โลกยังมีมนุษย์ผิวสีอื่น มีความเชื่อความชอบและค่านิยมที่ต่างไป น่าจะเป็นเรื่องดีที่เราจะได้แลกเปลี่ยนกันไปมา ไม่ใช่การเข้าไปปรับเปลี่ยนประเทศชาติอื่นและบังคับให้ต้องเป็นไปตามมาตรฐานของตนเอง

แหม ขนาด นาตาลี แฟนของพี่ภราดร เขายังยกมือไหว้เลย!

ว่ากันว่า ทุกวันนี้มีพลาสเตอร์หลายสีมากขึ้น กระทั่งมีสีของคนผิวดำให้คนดำได้เลือกใช้ ผมยังไม่เคยเห็น แต่ได้ยินแล้วก็คิดว่าน่ารักดี เวลามีแผลก็ปิดแผลได้อย่างสวยงามไม่มีรอยด่างของ “สีผิวมาตรฐาน” ให้รำคาญใจ

ผมลองไปสืบประวัติพลาสเตอร์ยามาจาก บล็อกแห่งนี้

เห็นเขาเล่าว่า เหตุเกิดที่บริษัท จอห์นสันแอนด์จอห์นสัน ซึ่งตอนนั้นเป็นผู้ผลิตผ้าก๊อซและเทปกาว มีพนักงานชาย (Earle Dickson) ที่เพิ่งแต่งงานกับ Josephine หญิงสาวที่ถูกมีดบาดบ่อย ด้วยความที่ขี้เกียจทำแผล เขาจึงเอาเทปกาวของบริษัทตัวเองมาตัดเป็นแถบสั้นๆ แล้วเอาผ้าก๊อซวางไว้ตรงกลาง มีแผลปุ๊บก็แปะได้ปั๊บ ทันใจ เมื่อบริษัทของเขารู้เข้าจึงนำไปผลิตเป็นพลาสเตอร์ยามาให้เราใช้กันจนถึงทุกวันนี้

ลองคิดดูสิครับว่า หากเหตุการณ์นี้เกิดขึ้นที่อินเดีย หรือ แอฟริกา ทุกวันนี้เราจะใช้พลาสเตอร์ยาสีอะไร

เมื่อมองไป ผมว่าเราก็จะเห็นว่าโลกใบนี้ยังมีแผลอีกมาก หลายแผลที่ดูเหมือนจะได้รับการเยียวยารักษา แต่หากมองดีๆ มันเป็นการครอบงำด้วยสีผิวมาตรฐานต่างหาก

(อย่างการไล่ที่ทำกินของชาวบ้านที่อยู่ในพื้นที่นั้นมานานหลายสิบปี เพื่อสร้างเขื่อนปั่นไฟให้คนเมืองใช้กัน นั่นก็เป็นการตัดสินปัญหาด้วยการใช้ “สีมาตรฐาน” เช่นกัน จึงดูเหมือนว่า “สีมาตรฐาน” จะเป็น “สีของคนที่มีอำนาจ” มากกว่า)

นอกจากพลาสเตอร์ปิดแผลแล้ว อย่างอื่นก็มี “สี” เหมือนกัน

ถั่วงอกนั่งรถไฟไปดาวหาง

เมษายน 14, 2008

จากที่เคยแง้มไว้เรื่องชวนกันไปปลูกต้นไม้ วันนี้นำรายละเอียดมาแปะครับ ทั้งหมดนี้นำมาจากเว็บไซต์ “เครือข่ายต้นไม้ขี้เหงา” ของพี่ก้อง-ทรงกลด บางยี่ขัน (www.lonelytrees.net) เข้าไปเยี่ยมชมกันแบบเต็มๆ ได้ที่นั่นนะครับ : )

สำหรับผู้อ่านที่ตามติดกันมานานกว่า 2 ปี คงทราบดีว่า ทรงกลด นิ้วกลม และทรงศีล มีประเพณีปฏิบัติน่ารักน่าชังอยู่อย่างหนึ่งก็คือ การจัดงาน ‘เปิดตัวผู้อ่าน’ ซึ่งผ่านมาแล้ว 2 ครั้ง ที่มาที่ไปของงานนี้ก็คือ พวกเราชาวนักเขียนมักมีโอกาสขึ้นเวทีเนื่องในวาระเปิดตัวหนังสืออยู่บ่อยๆ แขกเหรื่อที่มาในงาน ก็มักจะเป็นสื่อมวลชน และผู้คนที่บังเอิญผ่านไปมา เราเลยคิดกันว่า น่าจะดี ถ้าเรามีงานเล็กๆ ที่ชวนผู้อ่านของเรา มาพูดคุยถึงหนังสือเล่มใหม่ให้ได้รับทราบก่อนใครๆ

และอีกเหตุผลก็คือ เราอยากเห็นหน้าค่าตาและทำความรู้จักผู้อ่านของเราบ้าง นั่นเลยเป็นที่มาของงาน ‘เปิดตัวผู้อ่าน’ ครับ

สองหนแรกนั้นเราจัดกันในห้องหับเล็กๆ ในเขตกรุงเทพมหานคร แต่คราวนี้เราเราคิดการใหญ่ไปกว่านั้น นั่นก็คือเราจะชวนผู้อ่าน ‘รุ่นสาม’ ของเราเดินทางไกลไปถึงเชียงใหม่

ที่มาที่ไปก็คือ ในยุคที่ใครๆ ต่างร่วมใจกันเยียวยาโลก สามนักเขียนตาดำๆ ก็อยากลงมือทำอะไรบ้าง สิ่งเล็กๆ ที่เราพอจะทำได้ก็คือ ชวนผู้อ่านของเราไปปลูกป่าเพื่อชำระบาปจากการโค่นต้นไม้มาทำหนังสือ

พอเหมาะพอเจาะกับที่ได้เจอพี่นิคม พุทธา นักปลูกป่ามือดีที่สุดคนหนึ่งของเมืองไทย พี่เขามีโครงการปลูกป่าอยู่ที่แถวๆ ดอยหลวงเชียงดาว จังหวัดเชียงใหม่พอดี และเขาก็ยินดีมากๆ หากเราจะไปช่วย และที่บังเอิญไปกว่านั้นก็คือ สำนักงานโครงการปลูกป่าของพี่นิคมนั้นใช้รั้วเดียวกับโรงละครมะขามป้อม สาขาเชียงดาว

เมื่อตอนงานเปิดตัวผู้อ่านรอบสอง เราก็ใช้สถานที่ของโรงละครมะขามป้อมสาขาสะพานควาย ตอนนั้นทีมงานโปรยคำชวนไว้ว่า
อยากให้เราไปเยี่ยมโรงละครที่เชียงดาวซึ่งเขาเอากิจกรรมละครเข้าไปพัฒนาเด็กๆ ที่สำคัญ ร่ำลือกันมาหนาหูเหลือเกินว่า บรรยากาศของโรงละครมะขามป้อมที่นี่สวยสะเด็ด เราก็เลยไม่ลังเลที่จะเลือกที่นี่

ยิ่งพอได้ไปสำรวจพื้นที่มายิ่งมั่นใจครับ เพราะมันโคตรสวยเลย

เราตั้งใจว่าทริปนี้จะเป็นทริปสบายๆ มีโปรแกรมจางๆ ไม่ให้เหงาจนเกินไป ขืนมีโปรแกรมละเอียดยิบแบบนาทีต่อนาทีจะดูเป็นกรุ๊ปทัวร์ซะเปล่าๆ

สำหรับชาวกรุงเทพฯ เราตั้งใจว่าจะเดินทางร่วมกันโดยรถไฟชั้น 3 ครับ ออกจากหัวลำโพงเวลา 19.20 ของวันศุกร์ที่ 2 พ.ค. 51 แต่ถ้าใครไม่สะดวก อยากเดินทางด้วยวิธีอื่น ก็ไปเจอกันที่เชียงใหม่เลยก็ได้ รถไฟของเราจะถึงเชียงใหม่ในเวลา 07.40
จากนั้นก็นั่งสองแถวต่อไปยังโรงละครมะขามป้อม ที่อ.เชียงดาว และเราจะนั่งรถไฟกลับจากเชียงใหม่เย็นๆ วันจันทร์ที่ 5 พ.ค. 51 กลับมาถึงกรุงเทพฯ ภายใน 7 โมงเช้าของวันที่ 6 พ.ค.

เพื่อความตื่นเต้นของชีวิต ขออนุญาตไม่เล่าโปรแกรมโดยละเอียดนะครับ เอาเป็นว่า 3 วันในเชียงใหม่ เราจะได้เจอประมาณนี้แหละครับ

กิจกรรมหลักที่เราจะทำ
• เราจะปลูกป่ากัน
• แต่ลืมภาพการปลูกป่าที่เราคุ้นชินไปได้เลย เพราะเราจะปลูกเฉพาะกล้วยป่า จำนวน 1,000 ต้น
• เหตุผลก็คือ กล้วยป่าเป็นไม้เบิกนำ ที่ช่วยปรับพื้นที่ให้ไม้ใหญ่อื่นๆ ขึ้นได้ง่ายขึ้น
• แถมตัวมันเองยังเป็นอาหารของสัตว์มากมาย ต้นผล ทั้งต้น (ได้ข่าวว่าอีเห็นชอบมาก)
• ไม่ต้องกลัวครับ ปลูกป่าไม่ยากหรอก เรื่องกล้วยๆ
• เราจะปลูกในพื้นที่ของหมู่บ้านปางแดงใน ซึ่งเป็นหมู่บ้านของชาวปะหล่อง
• ชาวปะหล่องเป็นชนเผ่าหนึ่งที่ยังคงรักษาวัฒนธรรมของตัวเองไว้ได้อย่างเข้มข้น
• เราจะปลูกร่วมกับชาวบ้าน ทั้งผู้ใหญ่และเด็ก คุยกันไปปลูกกันไป ประหนึ่งรายการทุ่งแสงตะวัน
• แล้วก็จะได้เยี่ยมเยียนดูวิถีชีวิตที่เราไม่คุ้นตาในหมู่บ้านด้วย
• หากใครอยากลองหัดทอผ้าก็ยังได้
• สุดท้าย เราจะปลูกต้นไม้ใหญ่ 1 ต้นร่วมกัน
• และพวกเราทุกคนจะฝังของ 1 ชิ้นและข้อความ 1 ข้อความรวมกันไว้ใน ‘แคปซูลเวลา’ ของพวกเรา
• อีก 10 ปีข้างหน้า พวกเราจะกลับมาขุดขึ้นมาดูกัน

กิจกรรมรอง
• กิจกรรมพูดคุยแลกเปลี่ยนความคิดเห็นแสนสนุก
• กิจกรรมจี๊ดใจเพียบ
• กิจกรรมคัดสรร ทรงกลด สอนดูดาว
• ส่วนนิ้วกลม กับ ทรงศีล กำลังเตรียมการอยู่ว่าจะทำอะไรดี

คนที่เราจะได้เจอ
• พี่นิคม พุทธา นักปลูกป่าที่ใครได้คุยด้วยรับรองว่า แรงบันดาลใจในการดูแลโลกจะล้นปรี่
• ชาวมะขามป้อม คณะละครที่มุ่งมั่นในการนำเอาศาสตร์ของละครมาใช้พัฒนาชุมชน
• ชาวปะหล่อง กลุ่มชนเผ่าเล็กๆ ชาวไทย ที่ดีใจมากเมื่อรู้ว่าจะมีคนเมืองมาช่วยพวกเขาดูแลป่า
• และผู้ร่วมเดินทางทุกคน ที่เราเดาว่าเป็นมนุษย์เผ่าพันธุ์เดียวกันแน่นอน

ที่ที่เราจะไป
• เราใช้เวลาส่วนใหญ่อยู่ในพื้นที่ของโรงละครมะขามป้อม ซึ่งตั้งอยู่กลางนา ถัดจากนาเป็นบึงเล็กๆ และภูเขา ตอนกลางคืนก็นอนฟังเสียงกบร้องระงม ตื่นมาถ้าไม่โชคร้ายจนเกินไปก็น่าจะได้เห็นภาพหมอกล้อเล่นกับดอยหลวงเชียงดาว

ที่ที่เราจะนอน
• เป็นส่วนที่เรียกว่าเกสต์เฮ้าส์ของมะขามป้อม นอนรวมกันห้องละ 10 คน มีอยู่ 3 ห้อง ส่วนนี้สำหรับผู้หญิงครับ
• ส่วนผู้ชายก็มานอนรวมกันที่โรงละคร
• มีหมอน ผ้าห่ม และมุ้ง ให้ครับ
• ห้องน้ำ+สุขาในโซนของผู้หญิง มีอยู่ 6 ห้อง สะอาดสะอ้าน ถึงขนาดมีเครื่องทำน้ำอุ่น
• โซนผู้ชายมีห้องน้ำอีก 4 ห้อง

อาหารที่เราจะได้กิน
• อาหารท้องถิ่นง่ายๆ แต่มีเสน่ห์
• ไม่ขนาดกินอยู่อย่างราชา แต่ว่าก็ไม่ถึงขั้นยาจก

เรื่องที่เราควรจะรู้
• ทริปนี้สมบุกสมบันพอควร
• อาจถูกรบกวนด้วยยุงได้ (โอกาสสูงด้วย)
• ที่นี่ไม่ค่อยจะมีสัญญาณโทรศัพท์ และไม่มีเครื่องปรับอากาศ

วิธีการสมัคร
• ทริปนี้เรารับ 30 คน
• เราจะคัดคนโดยการดูจากคำตอบในจดหมายสมัคร
• ผู้สมัครต้องเขียนแนะนำตัวเอง (ขอเบอร์โทรติดต่อด้วยนะ) และเหตุผลที่อยากร่วมทริปนี้ ภายใน 1 หน้า A4 ขนาดตัวหนังสือ 14 p.t.
• ส่งมาที่ zcongklod@yahoo.co.uk, roundfinger2547@yahoo.com และ yoopeeup@hotmail.com (ส่งทั้ง 3 อีเมลเลยนะครับ)
• หมดเขตส่งวันที่ 18 เม.ย. 51
• ประกาศผลวันที่ 24 เม.ย. 51 ทาง http://www.lonelytrees.net, https://roundfinger.wordpress.com และ http://songsin.exteen.com
• สนนราคาค่าเดินทางครั้งนี้คือคนละ 2,500 บาทไทย จ่ายตังค์กันวันไปที่หัวลำโพง
• ในกรณีที่ทริปนี้ใช้เงินน้อยกว่าที่เก็บมา เราจะบริจาคเงินที่เหลือสมทบทุนโครงการปลูกป่าของที่นั่นครับ

ไฮไลท์
• การเดินทางคราวนี้ไม่ธรรมดา เพราะว่า ทรงกลด นิ้วกลม และทรงศีลจะช่วยกันเขียนบันทึกการเดินทางคราวนี้ขึ้นมาเป็นหนังสือ 1 เล่ม
• ผู้ร่วมเดินทางในทริปนี้ย่อมปรากฏกายในหนังสือของเรา
• และแน่นอนว่า เราจะชวนทุกคนมามีส่วนร่วมในการก่อร่างสร้างหนังสือเล่มนี้ด้วย
• มันคือบันทึกการเดินทางที่พวกเราทุกคนเป็นเจ้าของครับ พวกเราแค่เป็นคนเล่าเท่านั้นเอง

หวังว่าจะได้ร่วมเดินทางด้วยกันครับ

สงกรานต์แบบไทยเล่นยังไงเหรอ

เมษายน 12, 2008

“สงกรานต์ปีนี้เล่นน้ำกันก็รักษาวัฒนธรรม ประเพณี อันดีงามของไทยเราเอาไว้นะคะ ไม่ใช่เล่นกันด้วยความรุนแรง มีทะเลาะตบตีกัน น้ำแข็ง เม็ดแมงลัก หรือปืนที่ฉีดแรงๆ ก็หลีกเลี่ยงกันนะคะ” นอกจากอาจารย์ในห้องเรียนและคุณแม่ในห้องกินข้าวแล้วทุกวันนี้เรายังมี “ผู้บังคับบัญชา” อีกหลายท่านอยู่ในจอทีวี

ใกล้สงกรานต์ที ก็จะได้ยินประโยคทำนองนี้อยู่เนืองๆ “เล่นสงกรานต์ก็เล่นกันแบบไทยๆ นะคะ” ก็เลยมีคำถามว่าแล้ว “สงกรานต์แบบบราซิล” หรือ “สงกรานต์แบบคิวบา” นี่มีหน้าตาเป็นอย่างไร แต่ที่สงสัยกว่านั้นก็คือ “สงกรานต์แบบไทย” นี่ต้องเล่นยังไงเหรอ

มิใช่ไม่เห็นด้วยกับการเล่นน้ำอย่างละมุนละม่อม ใช้น้ำเป็นอุปกรณ์ประกอบความสนุก ไม่ใช่อุปกรณ์ประกอบอาชญากรรม เพียงแค่อดสะดุดหูสะกิดใจไม่ได้ทุกครั้งที่ได้ฟังว่า “การเล่นอย่างน่ารักเรียบร้อยนั้นเป็นการเล่นแบบไทยๆ” มันใช่จริงหรือ

ทำไมเราจึงได้เป็นเจ้าของ “ความน่ารัก”, “ความเรียบร้อย และ “ความดีงาม” แล้วคำความหมายดีๆ เหล่านั้นมันประกอบขึ้นมาเป็นคำว่า “ไทยๆ” จริงหรือ

เมื่อวานได้นั่งคุยกับรุ่นน้องสองคน พวกเขาเล่าให้ฟังว่า ตอนที่เรียนอยู่ที่สถาปัตย์ อาจารย์สอนเรื่อง Thainess และมีโจทย์ให้แต่ละคนไปควานหา “ความเป็นไทย” มาส่ง น้องๆ หากันเลือดจมูกแทบทะลัก (สงสัยไปหาในปฏิทินแม่งโขง สุราไทย) ก็ยัง “ไม่ไทย” ในความหมายของอาจารย์ นั่นสินะ แล้วความเป็นไทยมันคืออะไรกัน มันมีคำตอบจริงหรือ

ความเป็นไทยจริงๆ จะเป็นอย่างไรผมก็ไม่รู้เหมือนกัน รู้แต่ว่าเรามีความเป็นไทยที่เราอยากเป็นมาตลอด เราอยากให้ชนชาติของเรา ดีงาม, เรียบร้อย, น่ารัก, อ่อนน้อม, ยิ้มเก่ง, เคารพผู้หลักผู้ใหญ่ (กระทั่งผู้ใหญ่ที่ไม่ค่อยน่าเคารพ) รวมไปถึงการกล่าวอ้างขนมธรรมเนียมประเพณีอันดีงามอย่างการรดน้ำดำหัว

ถามผม-ผมว่ามันก็น่าสนุกดีหากเราจะนำประเพณีเก่าแก่มาใช้ใหม่เอาสนุก วันสงกรานต์ก็แวะไปรดน้ำดำหัวญาติผู้ใหญ่กันสักหน่อย ให้คุณลุงคุณป้าอาม่าอากงหยอดน้ำใส่กบาลสักสองสามหยด เป็นศิริมงคลหรือไม่นั้นไม่เป็นไร แค่ได้เห็นญาติผู้ใหญ่ยิ้มกว้างๆ นั่นก็น่าจะเป็นผลลัพธ์ของการรดน้ำดำหัวที่น่าพอใจแล้วนี่นา เพียงแค่การระลึกถึงญาติผู้ใหญ่นั้นไม่จำเป็นต้อง “ล็อค” พิธีกรรม (ที่ว่ากันว่าดีงาม) เอาไว้อย่างนั้นอย่างกับหมูป่าที่ถูกสตาร์ฟไว้ในพิพิธภัณฑ์ เราสามารถพัฒนาไปเป็นการซื้อไวน์ เอ่อ…หรือซื้อเครื่องดื่มอะไรก็ได้ที่ญาติผู้ใหญ่ชอบไปรดน้ำใส่คอแล้วนั่งหัวร่อกันอย่างสนุกสนานก็ไม่น่าจะผิดธรรมเนียมประเพณีอะไร เราน่าจะมีสิทธิคิดพิธีกรรมใหม่ๆ ให้เหมาะกับยุคสมัยนี่นา (อ้อ แต่ “เมาไม่ขับนะคะท่านผู้ชม”)

ผมว่าแบบนั้นต่างหากที่ “ไท้ยไทย” ผมว่าคนไทยขี้พลิกแพลง และชอบผสมโน่น ยำนี่ จนกระทั่งหาวิธีใหม่ๆ ของตัวเองได้ และทุกครั้งที่เห็นวิธีการใหม่ๆ ที่ยังคงไว้ซึ่งเนื้อหาของ “แก่น” เดิมที่ดีงาม ผมก็ชื่นชมในใจทุกครั้ง คนที่คิดอะไรแบบนั้นได้เก่งจะตายไป

ส่วนการสาดน้ำซู่ซ่า ปะแป้งแจ๊ะแจ๊ะนั้น ผมว่ามันเป็น “การละเล่น” มากกว่า “วัฒนธรรมอันดีงาม” มันค่อยๆ วิวัฒนาการจากขันน้ำเป็นปืนฉีดน้ำ สายยาง และกระบอกฉีดยาฆ่าแมลง เพราะได้ชื่อว่า “เล่น” แล้วละก็ ผู้เล่นมักหาวิธีเล่นให้สนุกที่สุดจนได้ ซึ่งไม่ว่าจะเล่นแล้วดีหรือร้ายอย่างไร ผมว่ามันก็ถูกตัดขาดออกไปจาก “ความเป็นไทย” ไปแล้ว

หมายถึง “ความเป็นไทย” ที่เราอยากเป็น แต่ในทางตรงกันข้าม มันกลับสะท้อน “ความเป็นไทย” ในสังคมยุคปัจจุบัน (ที่ความรุนแรงคือความมัน การได้แต๊ะอั๋งคือความสนุกของทั้งผู้ที่ได้แต๊ะและผู้ถูกแต๊ะ) ด้วยซ้ำไป

แบบนี้หรือเปล่าที่เขาเรียกกันว่า “วัฒนธรรม” ซึ่งไม่จำเป็นต้องดีงามเสมอไปสักหน่อย

แต่เรามักเลือกที่จะหลับตา ไม่ยอมมองสภาพปัจจุปัน และนั่งฝันถึงความดีงามที่เราอยากมีอยากเป็น ผู้บังคับบัญชาในทีวีทั้งหลายจึงพร่ำสอนให้เรา “เล่นสงกรานต์แบบไทยๆ” ซึ่งหมายความว่าไทยในฝันของเขา ที่ยกขันขึ้นมารดหัวไหล่ เสร็จแล้วก็ยกมือไหว้กันไปมา (ไม่ใช่ว่าไม่ดี แต่ก็ไม่ใช่ว่าการเล่นน้ำแบบนี้เท่านั้นที่ดี)

ขอยกมือสนับสนุนด้วยคนให้เล่นสงกรานต์กันอย่างน่ารักและเป็นมิตร เพียงแค่ไม่เห็นว่านั่นเป็นการเล่นสงกรานต์แบบไทยๆ แหม พูดอย่างกับว่าถ้าเผลอไปแต๊ะอั๋งแก้มสาวคนไหนแล้วพี่ตำรวจจะมายึดบัตรประชาชนและเนรเทศออกนอกประเทศ แถมการที่จะรณรงค์ให้ผู้คนเล่นสงกรานต์กันอย่างสุภาพและเคารพผู้อื่นนั้น ผมว่าเราคงต้องให้เหตุผลที่มากกว่า “ความเป็นไทย” เราควรให้เกียรติเพศตรงข้าม (ทั้งหญิง, ชาย, เกย์, เลสเบี้ยน, ฯลฯ) หรือไม่ควรคึกคะนองฉีดน้ำแรงๆ ใส่ใครจนเขาได้รับบาดเจ็บ เพราะสิ่งเหล่านั้นเป็นเรื่องที่ “มนุษย์” ไม่ควรทำ

ไม่ว่าจะเป็นความรุนแรงต่อเพื่อนมนุษย์ หรือการเอาเปรียบนานาชนิดนั้นเป็นเรื่องที่มนุษย์ไม่ควรจะทำอยู่แล้ว เพราะนอกจากจะไปทำร้ายผู้อื่น การกระทำนั้นมักจะย้อนมาทำร้ายตัวเอง (ไม่ร่างกายก็จิตใจ) เสมอ

หมายถึง “มนุษย์” ทุกคนไม่ควรทำ ไม่ใช่ว่า “คนไทย” ไม่ควรทำ เพราะถ้าทำแล้วมันจะไม่ไทย แต่ถ้าคนบราซิลหรือคิวบาน่าจะทำได้–ไม่น่าใช่อย่างนั้น

สุขสันต์วันสงกรานต์ครับ ผมไม่มีวิธีการเล่นน้ำที่ดีมาฝากหรอกครับ เพียงแค่ขอให้เล่นกันให้สนุกสนานสำราญใจ จะเล่นแบบไทยหรือสไตล์แซมบ้าก็เชิญกันตามสะดวก เพราะผมว่า “การเล่นให้สนุก” นั้นครอบคลุมไปถึงการไม่มีทุกข์มาถึงตัวอยู่แล้ว

สวัสดีปีใหม่ไทย ขอให้ชุ่มฉ่ำครับ!