
สุดสัปดาห์นี้มีความสุขมากครับ
วันเสาร์ไปเดินดูนิทรรศการ Gaudi’ Cosmos
Architecture, geometry and design ที่
Museum of Contemporary Art (MoCA)
ส่วนวันนี้ไปดู (และเล่น) นิทรรศการ
Japan Media Arts Festival in Shanghai 2007
ที่ Shanghai Sculpture Space สนุกมากครับ
จะทยอยแบ่งให้ดูและเล่าให้ฟังเมื่อมีโอกาสครับผม
…
ผมเคยคิดสงสัยว่าเวลาที่คนมีชื่อเสียงเสียชีวิตไป
ทำไมคนชอบพูดกันว่า “เสียดายที่เขาจากไป”
เพราะผมรู้สึกว่า ยังมีคนอีกมากในตำแหน่งหน้าที่ และอาชีพเดียวกัน
เหมือนตอนป๋าต๊อก (ล้อต๊อก) เสียชีวิต ผมก็คิดว่ายังมีพี่หม่ำ
ดาราดังสักคนเสียชีวิต ผมก็คิดว่ายังมีอีกหลายคน
ไม่ได้หมายความว่าจะไม่ร่วมแสดงความเสียใจอยู่ห่างๆ
แต่หมายความในแง่สงสัยว่าทำไมผู้คนจึง “เสียดาย”
ยังจำได้ เมื่อปีก่อน ตอนที่กนกพงศ์ สงสมพันธุ์ เสียชีวิต
ผู้อ่านและคนในแวดวงหนังสือรู้สึก “เสียดาย” อย่างยิ่ง
ที่เขาต้องจากไปในวัยหนุ่ม ซึ่งที่จริงแล้ว เขาควรมีเวลา
อยู่บนโลกนี้และผลิตผลงานดีๆ ต่อไปอีกหลายปี
ผมเคยอ่าน “โลกหมุนรอบตัวเอง” ของเขาเพียงเล่มเดียว
จากการแนะนำของพี่ชายคนหนึ่ง หลังจากอ่านจบก็อยากไปหา
หนังสือที่เขาเขียนมาอ่านอีก แต่ก็ได้แต่คิด กระทั่งเขาเสียชีวิตลง
เกิดกระแส “กนกพงศ์” ขึ้นมาช่วงหนึ่ง หนังสือหลายเล่มของเขา
ได้รับการตีพิมพ์ใหม่ และผมก็ได้ซื้อมาหลายเล่ม ยิ่งอ่าน
ก็ยิ่งเข้าใจว่า ทำไมผู้คนจึง “เสียดาย” ที่เขาต้องจากไปเร็วเกินกาล
…
ผมได้ยินชื่อ “เกาดี้” ครั้งแรกจากปากของเพื่อนถาปัดที่เพิ่งกลับมาจาก
การไปเที่ยวสเปน บ้านของเกาดี้ดูจะเป็นสิ่งที่ชวนให้มันประทับใจที่สุด
ในการเดินทางครั้งนั้น ผมเล่าฟูมฟายไม่หยุดหย่อน ไอ้คนนี้ชอบ
ดูอาคาร อยากออกแบบอาคารสนุกๆ ผมก็ไม่รู้จัก ได้แต่เออๆ ออๆ
ห่อหมกจกข้าวเข้าปากผึ่งหูฟังมันไปเรื่อยๆ แต่ก็จำชื่อพี่เขาได้
“พี่เกาดี้” และก็คิดว่า หากมีโอกาสได้ไปสเปนคงไม่พลาด
ผลงานหน้าตาประหลาดๆ ของเกาดี้ผ่านตาไปมาเหมือนแมลงวันบิน
คือไม่เคยได้นั่งจ้องมองมันดีๆ สักที ก็รู้แค่ว่าอาคารของพี่เขา
เหมือน “ปั้น” ขึ้นมา ไม่ได้ “ก่อสร้าง” หน้าตามันเหมือน
เด็กซนๆ “แปะ” ดินน้ำมันสีสันเจ็บๆ เติมไปเรื่อยๆ โค้งๆ เว้าๆ
งอกโน่นงอกนี่ หยึกๆ หยักๆ ขยุกขยุยไปทั้งหลัง
คล้ายๆ ปราสาทในเทพนิยาย ผมจำได้ว่าอย่างนั้น
กระทั่งวันนี้เสียเงินยี่สิบหยวน (หนึ่งร้อยบาท) เพื่อเข้าไปทำความรู้จัก
กับพี่เกาดี้ให้มากขึ้น อยากรู้เหมือนกันว่า “ดี้” ของพี่โดนยุงกัดตรงไหน
พี่ถึงต้อง “เกา” ตลอดเวลา (โอว…ขำไหมเนี่ย…เสียวๆ อยู่)
นิทรรศการเปิดด้วยห้องมืดขนาดใหญ่ที่ใช้เครื่องฉายภาพ 3 เครื่อง
ฉายรูปถ่ายสถาปัตยกรรมของเกาดี้ ฝีมือการถ่ายภาพของ
Rafael Vargas ช่างภาพชาวสเปนที่ตั้งใจถ่ายทอดผลงาน
ของเกาดี้ให้ออกมาสวยงามในเชิงของภาพถ่าย ภาพที่นำมาฉายนั้น
มีทั้งภายนอกและภายในอาคาร ตั้งแต่ภาพในระยะไกล
กระทั่งภาพที่เจาะเข้าไปถ่ายถึงรายละเอียดยิบย่อย
อาคารหลายหลังถูกนำมาอวด ยิ่งฉายก็ยิ่งทึ่ง
ยิ่งดูก็ยิ่งอึ้ง และเกิดคำถามในใจว่า “คิดได้ไงวะ?”
ผมจินตนาการไม่ออกจริงๆ ว่า อาคารที่มีรายละเอียด
ส่วนโค้งเว้านูนยุบ มีฟอร์มที่ยึกยักโย้เย้แบบนั้นสถาปนิก
คิดและเขียนแบบออกมาได้อย่างไร (ในสมัยที่ยังไม่ใช้
คอมพิวเตอร์) และรายละเอียดเล็กๆ น้อยๆ ที่สวยงาม
ตามซอกมุมต่างๆ ของอาคาร ก็ราวกับ “ทำมือ”
คือมันเหมือนงานปั้น งานหัตถกรรม แต่ละชิ้นมีเอกลักษณ์มากๆ
เขาต้องนั่งคิดรายละเอียดพวกนี้นานขนาดไหน?
หรือค่อยๆ ปะติดปะต่อไปเรื่อยๆ เหมือนเด็กเล่นดินน้ำมันจริงๆ?
…

หลังจากนั่งชมภาพถ่ายคลอเพลงสเปนจนอึ้ง ทึ่ง ตะลึงตาโตไปแล้ว
พอเดินออกมาก็ได้พบว่า ที่อึ้งในห้องมันยังอึ้งไม่หมด
เพราะด้านนอกนั้นจัดแสดง “โครงสร้าง” ในแต่ละส่วน
ไม่ว่าจะเป็นเพดาน ผนัง หลังคา โครงสร้างแขวน และเล่าวิธีคิดคร่าวๆ
ของเขา ซึ่งจะว่าไปก็ถือว่า “ล้ำ” มากๆ ในยุคนั้น
โครงสร้างแต่ละส่วนไม่ธรรมดาเลย เกิดจากการนำเส้นตรงมาวางเรียง
และจับมันบิด เอียง กระดก จึงนำมาซึ่งฟอร์มที่แตกต่างจากคนอื่น
ไอ้ที่นั่งอึ้งๆ ในห้องเพราะคิดว่า คิดฟอร์มแบบนั้นได้ไง
ก็ต้องมีอึ้งต่ออีก เพราะลืมไปว่า นี่มันตึก!
ไม่ได้ปั้นขึ้นมา แต่มันต้องมีโครงสร้างด้วย!
และ “ข้างใน” ที่ต่างนี่เอง จึงนำมาซึ่ง “ข้างนอก” ที่เป็นเอกลักษณ์

ลำพังแค่เดินดูจอแสดงวิธีคิดโครงสร้างของเกาดี้
ก็ “สวย” แล้ว สวยแบบที่ยังไม่ต้องมีอะไรมาหุ้ม

ผมเองนั้นมีความรู้เรื่องโครงสร้างเท่าหางอึ่ง (ตัวที่หางสั้นเสียด้วย)
จึงไม่ค่อยเข้าใจเท่าไรนัก เชื่อว่าสำหรับนักศึกษาสถาปัตย์ (โดยตรง)
คงตื่นตาตื่นใจกว่าผมอีกหลายทวีคูณ และอาจได้แรงบันดาลใจ
กลับไปทดลองในแบบของตัวเองดูบ้าง
อีกอย่างที่ผมเห็นว่ามันแสดงถึงความเจ๋งของพี่ขี้เกา
คือโมเดลโครงสร้างและโมเดลอาคารที่นำมาแสดง
หลายชิ้นที่ต้องตั้งอยู่บนกระจก เพื่อส่องสะท้อน “ใต้” เพดาน
ให้คนได้เห็น คือไม่ใช่แค่สวยหรือมีดีแค่ด้านข้าง ด้านล่าง
แต่ยังสวยละเอียดยิบไปถึงด้านบน เพดานช่างอลังการเหลือเกินครับ

…

บนชั้นสอง แสดงผลงานการออกแบบของเกาดี้
ทั้งเก้าอี้, ประตู, หน้าต่าง, รั้ว, กระจก, กระเบื้องปูพื้น
ไล่ไปถึงมือจับประตู ที่แขวนผ้า และช่องส่องคนมาเยี่ยม
โอว เรียกได้ว่า ฉันขอดีไซน์เองทุกรายละเอียด
และทุกรายละเอียดก็เป็นบุคลิกเฉพาะของพี่เขาจริงๆ
เมื่อมารวมกันเป็นหลังเดียวนี่จินตนาการไปไม่ถึงจริงๆ ครับ
ได้คุยกับเพื่อนคนหนึ่ง เขาบอกว่า ความรู้สึกที่ผมกำลังอึ้งนั้น
เป็นแค่ขี้เล็บของความรู้สึกเมื่อตอนที่ได้เห็นของจริง
ผมเชื่อว่า หลายคนที่มาเดินดูนิทรรศการนี้คงมี “สเปน”
เป็นประเทศในรายการต้องไปอีกหนึ่งประเทศ
…

เกาดี้ เป็นสถาปนิกคนสำคัญ (ที่สุด) ของสเปนในศตวรรษที่ยี่สิบ
ชีวิตของเขาคาบเกี่ยวอยู่ระหว่างกลายศตวรรษที่สิบเก้ากับ
เศษหนึ่งส่วนสี่แรกของศตวรรษที่ยี่สิบ ซึ่งเป็นช่วงที่โลกกำลังเปลี่ยนแปลง
ทั้งทางด้านการเมือง, วัฒนธรรม, วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
รวมถึงศิลปะและสถาปัตยกรรมด้วย
เกาดี้ เป็นสถาปนิกที่โดดเด่นมากเรื่องโครงสร้าง ผลงานของเขา
นั้นหากจะจัดเข้าหมวดหมู่ก็เห็นจะยากสักหน่อย ไม่ค่อยจะเข้าพวกกับใคร
เขาออกแบบตั้งแต่บ้าน, แมนชั่น, พาเลซ, โบสถ์, โรงเรียน, สวน
รวมไปถึงเฟอร์นิเจอร์, พื้น, โคมไฟ, ประตู, หน้าต่าง ทุกอย่างที่จะ
ประกอบร่างขึ้นมาเป็นอาคารของเขา พี่แกเหมาหมด

พี่เกาเกิดวันที่ 25 มิถุนายน ปี 1852 ที่เมือง Reus
ติดกับทะเลเมดิเตอร์เรเนียน เขาใช้ชีวิตในวัยเด็ก
กับธรรมชาติและทะเล และเขาก็เริ่มคิดอะไรเป็นสามมิติ
ตั้งแต่ที่พ่อเริ่มสอน
พออายุได้ 17 ปี เกาดี้ก็ย้ายมาที่บาร์เซโลน่าเพื่อเทรนเป็นสถาปนิก
เริ่มจากการเป็นคนช่วยเขียนแบบ ก่อนที่จะได้มีส่วนร่วมในงาน
พัฒนาแบบ Ciutadella Park และก็สำเร็จการศึกษาในปี 1878
ตั้งแต่ช่วงแรก งานของเกาดี้ก็แตกต่างและแยกตัวออกห่างจาก
สถาปัตยกรรมที่มีอยู่ และการจัดวางองค์ประกอบแบบเดิมๆ
เขาคิดค้นวิธีการเฉพาะตัวและสร้างงานชื่อดังขึ้นมาสามชิ้นด้วยกัน
Casa Vicens, the Pavilions of Finca Guell (ในบาร์เซโลน่า)
และ El Capricho (ในโคมิลล่าส์) โดยมีส่วนประกอบหลัก
ที่โดดเด่นสามส่วนด้วยกัน คือ อิฐ, เซรามิกส์เคลือบ และโครงสร้างเหล็ก
รวมถึงส่วนตกแต่งต่างๆ ที่เป็นเหล็ก

Casa Vicens

the Pavilions of Finca Guell
ในช่วงต้นศตวรรษที่ยี่สิบ เมื่อโลกหมุนไปสู่ยุคโมเดิร์น
สถาปัตยกรรมแบบโมเดิร์นเริ่มแพร่หลาย แต่เกาดี้ก็ยังสร้างงาน
ในแบบของเขาต่อไป ไม่ไหวหวั่น “เกาดี้เป็นตัวของตัวเอง
เกาดี้ผิดตรงไหน” เขาสร้าง Casa Calvet, the Torre de
Bellesguard ในขณะที่อาคารแบบโมเดิร์นกำลังงอก

Casa Calvet

the Torre de Bellesguard
ขณะที่คนทั่วไปกำลัง “ตัดทิ้ง” แต่เกาดี้กลับ “โปะ”
ส่วนประดับต่างๆ เพิ่มเข้าไปอีก และยิ่งโลกรอบข้างนิยมเส้นตรง
เกาดี้ก็ยิ่งพยายามหาวิถีทางใช้เส้นโค้ง และองค์ประกอบ
ในรูปฟอร์มของธรรมชาติให้มากขึ้น
เกาดี้ใช้เวลาช่วงท้ายๆ ของชีวิตไปกับโครงการ
Sagrada Familia ซึ่งเขาเคยล้มเลิกไปเมื่อสิบปีก่อนหน้านี้
เขาเริ่มรับนักศึกษาสถาปัตย์เข้ามาและอธิบายโมเดล
ในแต่ละส่วนของโบสถ์ที่ยังไม่ได้สร้างให้ฟัง

แต่ในเดือนมิถุนายน ปี 1926 เกาดี้เสียชีวิตลงเสียก่อน
จากอุบัติเหตุทางรถยนต์ และก็ได้จัดพิธีศพในโบสถ์
Sagrada Familia นี่เอง

…
ผมเห็นโลกมาน้อย และก็เปิดหนังสืองานสถาปัตย์ไม่มาก
จึงไม่รู้ว่ายังมีสถาปนิกคนไหนที่ทำงานในแนวทางใกล้เคียง
กับเกาดี้อีกหรือเปล่า เท่าที่รู้ ผมยังไม่เคยเห็น
งานของเกาดี้ นอกจากจินตนาการล้ำเลิศแล้วยังต้องอาศัย
ความมุ่งมั่นตั้งใจ ความอึดและความถึกในระดับอภิมหาถึก
เพราะการคิดรายละเอียดยุบยิบและโครงสร้างมหัศจรรย์
แบบนั้นไม่ใช่เรื่องที่จะทำได้ง่ายๆ หรือต่อให้มีคนทำได้
ก็ใช่ว่าเขาเลือกที่จะทำ
เมื่อเกาดี้เสียชีวิต โลกจึงสูญเสียจินตนาการ ทรรศนะ ความคิด
มุมมอง รสนิยม และบุคลิกอันเป็นลักษณะเฉพาะไปพร้อมๆ กัน
ซึ่งนั่นเท่ากับว่า โลกได้สูญเสียอาคารมหัศจรรย์อีกหลายหลัง
ไปด้วย
คล้ายกับกนกพงศ์ ที่เราได้สูญเสียหนังสือดีๆ อีกหลายเล่ม
เรื่องสั้นดีๆ นวนิยายดีๆ อีกหลายเรื่องไปพร้อมๆ กัน
คนหนึ่งคนเสียชีวิตไป เขาได้หอบเอามุมมอง ทัศนคติ
บุคลิก ความคิด ความเชื่อที่เป็นของเขาติดตัวไปด้วย
และก็ใช่ว่า โลกจะมีคนที่มีส่วนประกอบต่างๆ แบบนั้น
อีกคนเสียเมื่อไหร่เล่า!
หลังจากเกาดี้ โลกก็ดูเหมือนจะไม่มีอาคารแบบนั้นอีกเลย
หลังจากเคิร์ธ โคเบน โลกก็ไม่มีเพลงของเนอร์วาน่า
หลังจากป๋าต๊อก โลกก็ไม่มีมุกขำบนหน้าบึ้งๆ นิ่งๆ แบบนั้นอีก
วันเสาร์ที่ผ่านมา ผมได้รู้จักเกาดี้มากขึ้นอีกนิด
และเชื่อว่าคนที่ไปดูนิทรรศการครั้งนี้คงมีอีกมากที่ไปค้นคว้า
เรื่องราวของเขาเพิ่มเติม
ระหว่างเดินออกมาจาก MoCA ผมรู้สึกว่า ผมเข้าใจคำว่า
“เสียดาย” ที่เขาอื่นชอบพูดกันเวลามีใครสักคนเสียชีวิตมากขึ้น
เกาดี้ก็เป็นอีกคนหนึ่งที่เราไม่อยากให้เขาตาย
