Archive for the '22: ถาม-ตอบ' Category

ทำไงให้อ่อนโยน?

ตุลาคม 18, 2007

“พี่เคยเขียนถึงหนังเรื่อง Little Miss Sunshine ใช่ไหม
มันอยู่ตรงไหนอะ หาไม่เจอ”
“อ๋อ มันอยู่ใน bloggang”
“ถามต่ออีกหน่อย พี่ชอบคนไหนในเรื่อง”
“เราชอบปู่ แล้วบีมชอบคนไหน”
“ชอบแม่”
“อ๋อ อืม ชอบเหมือนกัน”
“หากเป็นได้สักครึ่งแบบนั้นคงจะดี”
“อืม…”
“ทำไงถึงจะเป็นคนอ่อนโยนอะ?”

นั่นคือที่มาของบล็อกในวันนี้ครับ
ผมว่ามันเป็นคำถามที่น่าสนใจมาก
น่าสนใจเพราะ
หนึ่ง, ความอ่อนโยนนี่มัน “ทำ” กันได้ด้วยหรือ?
สอง, สมมุติว่าทำได้ นั่นสินะ ทำยังไงล่ะ?

ชั่วความคิดแรก ผมตอบน้องไปว่า
“อย่างแรกเลย คงต้องให้เวลากับการสังเกตล่ะมั้ง”
แล้วก็ตามด้วยประโยคถัดมาว่า
“คำถามดีจัง ขอเก็บไปตอบในบล็อกนะ”

พี่ๆ เพื่อนๆ ล่ะครับ พอจะทราบไหมว่า
“ทำอย่างไรเราจึงจะเป็นคนอ่อนโยน?”
เอาเข้าจริงแล้วผมก็ไม่คิดว่าตัวเองเป็นคนประเภทนั้น
แม้จะมีบ้างในเวลาอากาศเย็นๆ และไม่มีคนอยู่ใกล้ๆ
แต่บางคำถามที่ไม่คิดว่าน่าจะเป็นคนตอบ แต่ผมก็ชอบเก็บมาคิด
บ่อยครั้งที่ความคิดและความเข้าใจของเราก็เริ่มจากคำถามที่ดี
ผมอยากเข้าใจและอยากหาคำตอบแบบเดียวกับที่บีมอยากหา
ก็เลยลองเก็บมานั่งคิดดู

แม้จะนั่งคิดได้สักพัก ผมก็ยังคงยืนยันคำตอบในความคิดวินาทีแรก
ผมคิดว่า มีหลายวิธีที่จะนำไปสู่การเป็นคนอ่อนโยน
(ซึ่งแน่นอนว่า ไม่ได้หมายความว่าความอ่อนโยนเป็นสิ่งที่ดีเสมอไป)
แต่ผมคิดว่า วิธีการหลักๆ ก็คือ “การให้เวลากับการสังเกต” นั่นเอง

เราสามารถอ่านวรรณกรรมเยาวชนสักสองโหล ดูสารคดีดอกไม้
ชีวิตมด ตัวหนอน ผีเสื้อ ดูหนังที่อ่อนละมุน ฟังเพลงละไม ฯลฯ
สิ่งเหล่านั้นล้วนหล่อหลอมให้เราอ่อนโยนมากขึ้น

แต่หากลองสังเกตให้ดี อาจพบคำตอบคล้ายกันกับผม
ผมว่าความอ่อนโยนเกิดขึ้นจากการใส่ใจ
และการใส่ใจนั้นอาศัยเวลา

คนที่มีเวลาใส่ใจกับสิ่งต่างๆ และผู้คนรอบข้าง
สนใจในรายละเอียด ซึมซับสิ่งเล็กๆ น้อยๆ ที่หลายคนมองข้าม
คนคนนั้นนับได้ว่าอ่อนโยนไม่ใช่น้อย

เขียนมาถึงตรงนี้ ผมนึกถึงคำว่า “sensitive”
เลยหยิบดิกฯ ขึ้นมาเปิด ในนั้นให้ความหมายไทยๆ ว่า
“ความรู้สึกไว” ผมแปลของผมเอาเองว่า “ขยันรู้สึก”

คนที่อ่อนโยนน่าจะมี “ต่อมรับความรู้สึก” โตเต่งกว่าชาวบ้าน
คืออะไรเข้ามาใกล้ๆ ก็รู้สึกรู้สาไปเสียทุกอย่าง
ฝุ่นตกกระทบผิวหนังก็รู้สึกราวกับ
ใครหย่อนลูกเทนนิสลงมาจากตึกสิบชั้น
โอว…นั่นก็ขี้รู้สึกเกินไป!

จะว่าไปแล้ว ต่อมๆ นี้ก็คล้ายต่อมอื่นๆ ในร่างกาย
เราเกิดมา มันมีขนาดที่ติดตัวมาแบบหนึ่ง
แต่พอเราเติบโต มันก็เปลี่ยนแปลงไปตามพฤติกรรมการใช้ชีวิตของเรา
ผมจึงคิดว่า เราสามารถฝึก “ต่อมอ่อนโยน” ได้
หาก “สัมผัส” มันบ่อยเข้า มันจะบวมปูดตึงเต่งมากขึ้นเรื่อยๆ

และ “เวลา” นั่นเองคือคำตอบ
คนคนเดียวกัน ในวันที่มีเวลาว่างกับวันที่ยุ่งหัวฟูก็อ่อนโยนไม่เท่ากัน
หากมีเวลา เราจะใส่ใจสิ่งต่างๆ รอบกายมากขึ้น

แต่ก็อีกนั่นแหละ บางครั้ง เราก็ชินชากับชีวิตที่ไม่ค่อยมีเวลา
และชีวิตที่หมุนไวเหมือนกงล้อของหนูถีบจักร
กระทั่งวันที่มีเวลา เราก็มองข้ามสิ่งต่างๆ ที่น่าใส่ใจไปเสียได้

สำหรับผมแล้ว คนที่อ่อนโยนกับคนที่พยายามทำความเข้าใจ
มักจะเป็นคนเดียวกัน นั่นหมายความว่า เขามีเวลานั่งดู
ให้เวลาทำความเข้าใจ และพยายามมองให้เห็นสิ่งที่ไม่ได้เห็นอยู่ตรงหน้า
สิ่งที่ซ่อนอยู่เบื้องหลัง “ภาพ” ที่เห็น
สิ่งที่ซ่อนอยู่เบื้องหลัง “คำพูด” ที่ได้ยิน
สิ่งที่ซ่อนอยู่เบื้องหลัง “สัมผัส” ที่ได้แตะต้อง

นั่นเท่ากับว่า ไม่ “ผิว+เผิน” แต่ “ลึก+ซึ้ง”
คำว่า “ลึกซึ้ง” น่าสนใจ
เคยมีไหม “ตื้นซึ้ง” –ไม่มี!
คนเราจะ “ซึ้ง” ได้ ต้องปล่อยความคิดความรู้สึกด่ำดิ่ง “ลึก” ลงไปเท่านั้น

ชีวิตทุกวันเต็มไปด้วยผิวและเปลือก บางครั้งก็หน้ากาก
หากมีเวลาเราจะได้ปอกเปลือก แง้มผิว ถอดหน้ากากของสิ่งต่างๆ ออก
แล้วเราก็จะเข้าใจ “เบื้องหลัง” มากขึ้น

นั่นคือเหตุผลที่คนอ่อนโยนบางคนน้ำตาไหลเพียงเพราะใบไม้ร่วง!
เพราะในวินาทีนั้น ใบไม้อาจบอกความหมายของชีวิต!
บางครั้งคนเราก็ “บรรลุ” อะไรเล็กๆ จากการใส่ใจอะไรบางอย่าง
จ้องมองอะไรนานๆ แล้วอ่านเจอความหมายที่ซ่อนอยู่ลึกลงไป

นั่นในภาพกว้าง หากกล่าวให้แคบขึ้น ในระดับความสัมพันธ์คนต่อคน
จะว่าไปแล้ว เราต่างมี “ผิว” และ “เปลือก” ด้วยกันทั้งนั้น
หากเราคบกันผิวเผิน พูดคุยด่วนๆ เราก็จะใช้ผิวคุยกับผิว
และเราก็จะรู้จักและเข้าใจกันแบบ “ผิว+ผิว”

แต่หากมีเวลา เช่นกันกับการจ้องมองดอกไม้ใบหญ้า
ในคนหนึ่งคนมีสิ่งที่รอให้ค้นหาและเปิดเผยมันออกมา
มีความหมายลึกๆ มีเนื้อหา มีอดีตและเรื่องราวระหว่างทางที่ผ่านมา
หากใครสักคนมีเวลาเพียงพอที่จะใส่ใจนั่งฟังใครสักคน
ผิวก็จะค่อยๆ ถูกกระเทาะ เปลือกจะค่อยๆ ถูกแกะทิ้งไป
แล้วเราก็จะได้สัมผัส “ข้างใน” กันมากขึ้น
“ข้างใน” ที่ไม่ได้หมายความว่าทั้งคู่แก้ผ้าคุยกัน!

และโดยส่วนใหญ่ เรามักจะรู้สึกดีที่มีคนให้เวลาใส่ใจกับเรามากพอ
มีเวลาทำความรู้จักกันให้ลึกซึ้ง ซึ่งนั่นเป็นสิ่งที่ใครก็ต้องการทั้งนั้น
ใครสักคน (หรือหลายคน) ที่จะได้รู้จักและเข้าใจกันจริงๆ

การให้เวลาใส่ใจและทำความเข้าใจคนอื่นทำให้คนเราอ่อนโยนขึ้น
การได้เรียนรู้ความรู้สึกลึกๆ ที่ละเอียดอ่อนของคนอื่น
ก็ช่วยขัดเกลาความรู้สึกของเราให้ละเอียดขึ้นเช่นกัน
ความรู้สึกของมนุษย์ละเอียดอ่อนจะตายไป

หลายสิ่งที่เราเดินผ่าน หลายคนที่เราไม่ได้นั่งลงคุยด้วยจริงจัง
แท้จริงแล้วล้วนมีสิ่งที่รอให้ค้นหาและค้นพบ กระทั่งช่วยกันค้น
คนที่ขี้รู้สึกจะได้สัมผัสโลกมากกว่าคนอื่น
และโดยมากความรู้สึกที่อ่อนโยนมักจะสวยงาม
มีบ้างที่เศร้า เหงา ซึม แต่นั่นก็สวยงามไปอีกอย่างอยู่ดี

อะไรที่รวดเร็วและแข็งกระด้าง ยากที่จะทำให้รู้สึกดี
ความเนิบช้าและการซึมซับต่างหากล่ะที่นำมาซึ่งความอิ่มเอมใจ
และความรู้สึกอันลึกซึ้ง

ในหนังเรื่อง Little Miss Sunshine ตัวละคร “แม่”
มีฤทธิ์เป็น “กลาง” รับฟัง ใส่ใจ และซึมซับเรื่องราวต่างๆ ของคนอื่น
พยายามยอมรับในสิ่งที่แต่ละคนเป็น และพยายามเป็นตัวประสาน
ทุกคนเข้าด้วยกัน พยายามมองให้เห็นข้างในและเข้าใจทุกคน

พยายาม แต่ใช่ว่าจะสำเร็จ

เขียนมาถึงตรงนี้ ผมเริ่มมีคำแนะนำที่ “จับต้องได้” มากขึ้น
เขียนวนเวียนและพูดคุยไปมากับตัวเองมาเสียหลายบรรทัด
สุดท้ายแล้วมีคำแนะนำสำหรับผู้ที่อยากอ่อนโยนเป็นแบบฝึกหัดง่ายๆ
หากวันนี้มีเวลา ลองจับตาจ้องมองแมลงวันดูสักหน่อย
แล้วลอง “ตกหลุมรักแมลงวัน” ดูสักตัว

แน่นอน มันอาจต้องใช้เวลาพอสมควร

อะไรที่ทำให้คนเราจะตกหลุมรักแมลงวันได้?
และถ้าใครก็ตามที่ตกหลุมรักแมลงวันได้
ผมคิดว่า เขาก็คงอ่อนโยนไม่ใช่น้อย

ว่าแต่ว่า คุณพอจะมีเวลามองหาความงามของแมลงวันไหม?

คุยกันเรื่องกระแสและหนังสือ

กันยายน 29, 2007

“แพร” รุ่นน้องที่จุฬาฯ ส่งเมลมาชวนคุยเรื่อง “กระแส” เห็นบอกว่ากำลังช่วยรุ่นน้องที่ชมรมเขียนจุลสารหัวข้อ “กระแส” (ถ้าเสร็จแล้วเอามาให้ชมเชยกันบ้างก็น่าจะดีนะแพร)

คำถาม-คำตอบ มีดังต่อไปนี้ครับ นำมาแปะไว้เพราะอยากชวนคุยกับเพื่อนบ้านท่านอื่นๆ เช่นกัน เราต่างก็อยู่ใน “กระแส” กันทั้งนั้นนี่!

+มีกระแสอะไรในสังคมที่มีอิทธิพลกับพี่เอ๋อย่างจริงๆ จังๆ บ้าง
อะไรก็ตามที่เกิดเป็นกระแสขึ้นมาแล้วเป็นเรื่องที่ใกล้เคียงกับความสนใจของเรา เราก็จะลองเข้าไปร่วมกระแสด้วย ไม่ใช่คนที่ปฏิเสธกระแส แถมยังอยากรู้ด้วยว่าทำไมมันถึงฮิตขึ้นมาได้ อย่างแฮร์รี่ พ็อตเตอร์ หรือ ดาวินชี โค้ด เป็นกระแสขึ้นมา เป็นเรื่องหนังสือ ซึ่งเป็นเรื่องที่เราชอบ เราก็จะลองอ่านดู กระแสทางการเมืองก็เป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับชีวิตของเราบางครั้งก็สนใจ กระแสหนัง เพลง กีฬา ก็มีอิทธิพลทั้งนั้นครับ อย่างตอนฟุตบอลโลกหรือฟุตบอลยุโรปนี่ก็เข้าขั้นติดงอมแงมเลยครับ แต่คิดว่ากระแสมีอิทธิพลกับเราในแง่ที่ทำให้อยากรู้อยากเห็นว่าเพราะอะไรมันจึงเป็นกระแสขึ้นมาได้ เหมือนเวลาเห็นไทยมุงกำลังมุงอะไรอยู่สักอย่าง เราก็อยากรู้ว่าเขามุงอะไร แต่เมื่อลองเข้าไปสัมผัสมัน เห็นมันด้วยตัวเองก็ต้องไตร่ตรองดูอีกทีว่าจะคล้อยตามกระแสหรือไม่ คือกระแสไม่ได้มีอิทธิพลกับเราในแง่ที่ว่าเมื่อคนส่วนใหญ่ชอบแล้วเราจะต้องชอบด้วยน่ะครับ

+พี่เอ๋มีกระแสในฝันมั้ย หมายถึงสิ่งที่อยากให้กลายเป็นกระแสขึ้นมา
กระแสในฝันคงอยากให้มีกระแส “ใจกว้าง” คือให้การเปิดรับความคิด ความเชื่อที่แตกต่างของเพื่อนมนุษย์คนอื่น “ฮิต” ขึ้นมา เพราะถ้ากระแสนี้ฮิตขึ้นมาจริงๆ พวกเราคงทะเลาะกันน้อยลง และโลกคงสงบกว่าที่เป็นอยู่ครับ

+ มีความคิดเห็นยังไงบ้างคะกับวงการหนังสือบ้านเราสมัยนี้
ในร้านหนังสือมีหนังสือหลากหลายมากขึ้นเรื่อยๆ คนอ่านมีโอกาสได้เลือกอ่านตามความชอบที่แตกต่างกันไป และแต่ละคนก็อาจจะอ่านหนังสือหลากหลายแนวมากขึ้น เราชอบให้ร้านหนังสือมีหนังสือเยอะๆ และหลากหลาย เพราะเชื่อว่าไม่ว่าหนังสือชนิดไหน เล่มไหน ก็มีคุณค่าบางอย่าง แต่ผู้อ่านที่มีคุณภาพไม่ควรอ่านหนังสือแคบๆ แค่แบบเดียว ทางด้านของสำนักพิมพ์และนักเขียน ถ้าผลิตผลงานที่มีแนวทางที่หลากหลายมากยิ่งขึ้นก็น่าจะทำให้วงการหนังสือคึกคัก ไม่ใช่เลือกพิมพ์เฉพาะเล่มที่คิดว่าจะขายได้ หรือพยายามผลิตตามกระแสที่กำลังขายดีอยู่ในช่วงนั้น

+ ตั้งแต่มี Harry Potter ดูเหมือนหนังสือแนวแฟนตาซีจะเป็นที่นิยมมากขึ้น พี่เอ๋ชื่นชอบแนวนี้บ้างหรือเปล่าคะ คิดว่ามันเป็นยังไงบ้าง
หนังสืออย่างแฮร์รี่ พ็อตเตอร์ เหมือนก้อนหินนำทาง พอโยนลงน้ำแล้วก็เกิดแรงกระเพื่อมเป็นวงกว้าง จริงๆ แล้วแฮร์รี่ฯ ไม่ได้ทำให้นวนิยายแฟนตาซีเป็นที่นิยมมากขึ้นเท่านั้น แต่ยังทำให้เด็กๆ กระเถิบตัวเข้ามาใกล้และรู้สึกสนุกกับ “หนังสือ” มากขึ้น เราอ่านแฮร์รี่ฯ เล่มหนึ่งและเล่มสองด้วยความตื่นเต้นและสนุกไปกับมันจนวางไม่ลง แต่อาจเพราะขี้เบื่อ ไม่ชอบอ่านแนวเดียวนานๆ ก็เลยเลิกอ่านไปเมื่อมาถึงเล่มที่สาม และก็ไม่ได้อ่านนวนิยายแฟนตาซีเล่มอื่น อะไรที่อ่านมาเยอะเกินไปจะเริ่มเบื่อ แล้วก็หันไปสร้างกระแสให้ตัวเองอ่านอย่างอื่นแทน

+ แล้วอย่างพวกนิตยสารต่างๆ พี่เอ๋เห็นด้วยหรือเปล่าว่ามันมีส่วนกำหนดความนิยมต่างๆ ในสังคม
นิตยสารก็เป็นสื่อสาธารณะชนิดหนึ่ง ซึ่งแน่นอนว่าต้องมีผลกระทบกับคนในวงกว้าง และยิ่งหากเรามีนิตยสารที่ไม่หลากหลายเพียงพอก็ยิ่งง่ายต่อการสร้างกระแสเพราะทุกเล่มถ่ายภาพโป๊ๆ เหมือนกัน สนใจเรื่องราวของความสวยความงามเหมือนกัน สัมภาษณ์ไฮโซเหมือนกัน ก็ย่อมผนึกกำลังกันสร้างค่านิยมบางอย่างขึ้นในสังคมเป็นธรรมดา แต่หากมีนิตยสารแนวทางอื่นอย่าง สารคดี, โอเพ่น หรือ ค.คน ออกมาปะปนบนแผง ก็จะมีค่านิยมแบบที่ต่างไปให้เลือกนิยมกัน

+ ส่วนตัวพี่เอ๋ติดตามนิตยสารแนวไหนเป็นพิเศษบ้างไหม
นิตยสารที่อ่านประจำคือ มติชนสุดสัปดาห์, จีเอ็ม, อะเดย์, เวย์, เนชั่นแนล จีโอกราฟิก, สารคดี, ค.คน พวกนี้นี่ถ้าเจอเล่มใหม่ก็รีบซื้อทันที เมื่อลองมานั่งดูแล้วก็เหมือนว่าจะเป็นนิตยสารที่นำเสนอข้อมูลเชิงสารคดีที่มีเนื้อมีหนัง อ่านแล้วเข้าใจคนในสังคมอื่น ได้เห็นชีวิตที่แตกต่าง และมีคำอธิบายหรือข้อมูลที่เป็นประโยชน์และทำให้เราเข้าใจโลกแวดล้อมรอบตัวเรามากขึ้น คนที่เลือกมาสัมภาษณ์ก็น่าสนใจ นักสัมภาษณ์เองก็เก่ง ส่วนมติชนสุดสัปดาห์นั้นก็เหมือนสรุปข่าว วิเคราะห์ประเด็นในแต่ละสัปดาห์ แถมยังมีคอลัมน์ดีๆ ให้อ่านอีกมากมาย นอกจากนิตยสารที่อ่านประจำพวกนี้ ก็ซื้อนิตยสารเกี่ยวกับการตลาดและเทรนด์ อย่าง มาร์เก็ตเทียร์, โพสิชันนิ่ง ถ้าเป็นเทรนด์หรือประเด็นที่เราสนใจ นิตยสารเกี่ยวกับการออกแบบก็ชอบซื้ออ่านครับ อย่าง อาร์ตโฟร์ดี ก็อ่านสนุกครับ

+ เกี่ยวกับหนังสือของตัวเอง พี่เอ๋คิดในแง่ที่ว่ามันจะออกไปก่อให้เกิดผลกระทบอย่างไรต่อสังคมไหม หรือเป็นความอยากบอกเล่าเรื่องราวประสบการณ์ต่างๆ ของเรามากกว่า
แล้วแต่เล่มนะครับ บางเล่มก็ตั้งใจส่งสารอะไรบางอย่างออกไปถึงคนที่เราอยากคุยด้วย ไม่ได้ตั้งใจว่ามันจะต้องไปเปลี่ยนแปลงความคิดใคร แต่ตั้งใจว่าอยากชวนคุยกันเรื่องนี้ ผมคิดอย่างนี้ คุณคิดยังไง แต่บางเล่มก็เหมือนวาดภาพน่ะครับ มีอารมณ์แบบนี้อยู่ อยากวาดมันออกมา หากใครมีความรู้สึกร่วมก็มาดูภาพแล้วรู้สึกไปด้วยกัน บางเล่มก็อยากให้คนอ่านสนุกไปกับมัน และคนเขียนเองก็สนุกที่ได้เขียน ก็แค่นั้น แต่สิ่งหนึ่งที่คิดไว้ในใจเสมอคือ เราไม่ได้กำลังเขียนไดอารี่ที่จะเก็บไว้อ่านคนเดียว มันจะออกไปอยู่ในร้านหนังสือและอาจจะมีคนหยิบมันขึ้นมาอ่าน เพราะฉะนั้นต้องระวังผลกระทบที่ไม่ดี หรือการมีทัศนคติต่อโลกต่อคนอื่นในเชิงลบ แบบนั้นนี่ไม่ควรจะเกิดขึ้น

+ มันเป็นภาระความรับผิดชอบของตัวผู้เขียนหรือเปล่าที่การที่หนังสือนั้นๆ เป็นที่ยอมรับขึ้นมาแล้ว ต้องพยายามรักษาระดับคุณภาพนั้นไว้
แหม พูดว่าเป็นภาระนี่ดูหนักหนานะครับ เราเชื่อว่านักเขียนหรือนักสร้างสรรค์ผลงานทุกคนก็อยากรักษาคุณภาพของผลงานไว้ในระดับที่ดี หรือถ้าเป็นไปได้ก็อยากพัฒนาให้มันดียิ่งๆ ขึ้นไป แต่ความดีนี่พูดยากนะครับ และก็ไม่สามารถนำมาวัดกัน นำมาเปรียบเทียบกันได้แบบเล่มต่อเล่ม บรรทัดต่อบรรทัด เพราะหนังสือแต่ละเล่มก็มีหน้าที่และมีความหมายของมัน เหมือนที่เราไม่สามารถบอกว่า คุณลุงคนสวนมีคุณค่าน้อยกว่าท่านประธานบริษัท เรื่องคุณภาพเป็นเรื่องที่คนอ่านมีมันเก็บไว้ในใจของตัวเอง เมื่อได้อ่านแล้วทุกคนย่อมตัดสินหนังสือเล่มนั้นโดยอัตโนมัติ ชอบ-ไม่ชอบ ห่วย-ดี ก็ล้วนแต่ตัดสินตามมาตรฐานความชอบและรสนิยมส่วนตัว ที่ว่า “หนังสือคุณภาพ” นั้น โดยมากมักจะตัดสินใจจากความชอบหรือการยอมรับของคนในวงกว้าง หรือคนที่มีชื่อเสียงเป็นที่ยอมรับ แต่จริงๆ แล้ว เราว่านักเขียนเองก็มีคุณภาพในใจของเขา และหากหนังสือเล่มนั้นผ่านเกณฑ์คุณภาพที่เขาตั้งไว้มันก็น่าพอใจแล้ว หนังสือบางเล่มก็มีคุณค่าแบบตลกคาเฟ่ แค่ทำให้คนขำได้ก็นับว่าคุณภาพยอดเยี่ยมแล้วว่าไหม

+ บางทีการเขียนหนังสือให้คงความเป็นตัวของตัวเองมันไม่เอื้อกับความต้องการของตลาด/ผู้อ่าน โดยทั่วไป พี่เอ๋มีคำแนะนำอย่างไรบ้างคะ
เราไม่เชื่อว่าหนังสือที่พยายามเขียนเอาใจคนอ่านจะเป็นหนังสือที่ดี เหมือนผู้ชายคนหนึ่งพยายามทำอะไรก็ตามให้หญิงสาวประทับใจ แต่สุดท้ายก็ทำไปไม่ได้ตลอด เพราะมันไม่ได้เป็นตัวจริงของเขา การเขียนหนังสือที่ดีน่าจะออกมาจากความคิดความเชื่อของตัวเองจริงๆ ไม่อย่างนั้นจะเขียนหนังสือกันทำไม เหมือนพ่อครัว คนที่เดินเข้ามากินร้านเราก็เพราะเขาติดใจในรสชาติ รู้ว่าร้านนี้ก็ต้องรสนี้ ไม่ใช่ว่าเตรียมกระทะเตรียมตะหลิวรอไว้ ลูกค้าเดินเข้ามาจะสั่งอะไรก็ได้ ใส่ผักน้อย หวานหน่อย เค็มนิด สับหมูให้ละเอียดหน่อยเฮีย แบบนั้นก็เหมือนทำตามใจคนสั่ง แล้วความคิดของเราจริงๆ มันอยู่ตรงไหน เหมือนคนเขียนเองก็ยังไม่เข้าใจตัวเองด้วยซ้ำไป ในมุมของคนเขียน เราไม่คิดว่าหนังสือเป็นสินค้า และยิ่งไม่คิดว่าหนังสือจะเป็นสินค้าที่ต้องปรับตัวตามความต้องการของตลาด คงต้องถามก่อนว่าเราจะเขียนหนังสือพิมพ์หนังสือสักเล่มเพื่ออะไร ถ้าโจทย์คือเพื่อขาย ก็แปลว่าเรามองว่าหนังสือคือ สินค้า ถ้าอย่างนั้นก็โซ้ยกันให้สนุกเลย ออกไปเก็บข้อมูลเลยว่า ตอนนี้ตลาดกำลังต้องการอะไร มีช่องว่างทางการตลาดรูไหนให้เสียบบ้าง ปกแบบไหนที่คนชอบ ตั้งชื่อให้แรงๆ มีเรื่องบนเตียงใต้เตียงด้วยดีไหม ถ้าคิดแบบนั้นก็คงต้องมีกระบวนการในการผลิตและการเขียนแบบนั้น คือเป็นหนังสือที่เขียนจากข้างนอก เขียนขึ้นจากการตลาดเพราะอยากได้ตังค์ แต่เราชอบหนังสือที่เขียนและผลิตขึ้นจากข้างในมากกว่า เขียนในสิ่งที่คิดและเชื่อ พิมพ์ออกมาเพราะอยากพิมพ์ เชื่อว่ามันเป็นสิ่งที่ดี ส่วนจะขายหรือไม่ อันนี้ค่อยมาคิดกันตอนทำเสร็จแล้ว ว่าจะหุ้มเปลือกมันอย่างไร ประชาสัมพันธ์มันอย่างไร ให้คนหันมาสนใจ ส่วนเรื่องความเป็นตัวของตัวเองที่จะถูกใจตลาดหรือไม่นั้นเป็นเรื่องของดวงครับ บางคนมีรสนิยมตรงกับคนส่วนใหญ่ บางคนก็ดันไม่ตรงกับคนส่วนใหญ่ แต่มันก็ไม่ใช่เรื่องที่เขาจะต้องปรับตัวเพื่อเอาใจคนส่วนใหญ่ เราว่าอาจเป็นหน้าที่ของบรรณาธิการหรือสำนักพิมพ์ที่จะต้องคิดว่าจะนำเสนอผลงานของเขาอย่างไรให้คนส่วนใหญ่สนใจมากกว่า แล้วอีกอย่าง ถ้านักเขียนทุกคนปรับตัวเขียนให้ตลาดชอบ เราจะมีนักเขียนหลายคนกันไปทำไม ในเมื่อทุกคนก็เขียนคล้ายๆ กัน

+ ทำไมหลายครั้งหนังสือที่เราคิดว่าดีกลับไม่ดัง แต่หนังสือที่ดังบางเล่มกลับทำให้เราเกิดคำถามว่าดังเพราะอย่างอื่นที่ไม่ใช่คุณภาพของตัวงานหรือเปล่า
หนังสือทั้งสองแบบที่พูดมาน่าสนใจไปคนละแบบ แบบแรกที่คิดว่าดี ก็คงต้องถามว่า “ดี” ของใคร วัดจากอะไร ใช้อะไรเป็นเกณฑ์ เราไม่คิดว่าหนังสือที่มีเนื้อหาสาระหนักอึ้งหรือลึกซึ้งจะเป็นหนังสือดีสำหรับทุกคน แต่มันมักจะดีในมุมมองของคนที่คิดว่าหนังสือเป็นเรื่องจริงจังและสูงส่ง แต่จริงๆ แล้ว ขายหัวเราะก็เป็นหนังสือเหมือนกัน บางคนก็อ่านหนังสือเพื่อความเพลิดเพลินเท่านั้น หนังสือดีสำหรับเขาอาจเป็นหนังสือที่อ่านแล้วเพลินมากไม่ใช่หนังสือที่ทำให้เข้าใจชีวิตอันลึกซึ้งมากขึ้น ซึ่งไม่แน่ว่าวันหนึ่งเขาอาจจะต้องการหนังสือแบบนั้นก็ได้ เรื่องน่าสนใจมีอยู่ว่า หากเราเชื่อเหลือเกินว่าหนังสือเล่มนี้ดีสุดๆ อยากให้ผู้คนทั้งประเทศได้อ่านกัน เราจะนำเสนอความเชื่อของเราออกไปอย่างไร ทำอย่างไรที่จะโน้มน้าวให้คนหันมาสนใจความดีงามของหนังสือเล่มนั้น ไม่ใช่แค่จะมานั่งบ่นกันว่า เฮ้อ คนไทยรสนิยมต่ำ อ่านแต่หนังสือขยะ หนังสือดีๆ แบบนี้ไม่มีใครอ่าน เราว่ามันเป็นหน้าที่ของคนที่เชื่อว่าหนังสือเล่มนั้นดี (ไม่ว่าจะเป็นสำนักพิมพ์ หรือ นักวิจารณ์) ว่าจะบอกความดีงามที่ตนได้สัมผัสมาส่งต่อไปยังผู้อื่นอย่างไร จะสร้างรสนิยมแบบอื่นในการอ่านให้กับคนในวงกว้างได้อย่างไร จากที่เคยอ่านเอาเพลิน ลองอ่านเอาสาระบ้างไหม ยิ่งรู้เยอะยิ่งสนุกนะ ซึ่งก็คงต้องใช้เวลา แต่อย่างไรเราก็คิดว่า เรื่องสนุกมักจะขายได้มากกว่าสาระจริงจังเป็นปกติของโลกอยู่แล้ว คนที่ชอบเรียนรู้จากหนังสือมักจะเชื่อว่าหนังสือทำให้เราเข้าใจโลกและชีวิตมากขึ้น แต่จริงๆ แล้วแต่ละคนก็มีวิธีทำความเข้าใจโลกและชีวิตในแบบที่แตกต่างไป อาจไม่จำเป็นต้องอ่านหนังสือก็ได้ ส่วนหนังสือที่ดังแต่เราคิดว่าคุณภาพไม่ดี อาจไม่ใช่เรื่องที่ต้องไปนั่งจับผิดว่าเขาไม่ดีตรงไหน แต่น่าศึกษาจากเขามากกว่าว่า ขนาด(เราคิดว่า)ไม่ดีเขายังขายได้เป็นแสนเล่ม อะไรกันหนอที่มันทำให้ของไม่ดีขายได้ขนาดนั้น และมีส่วนไหนที่เราจะนำมาปรับใช้กับหนังสือดีที่อยู่ในมือเพื่อให้มันขายดีมากขึ้นได้บ้าง

+ เกี่ยวกับงานเขียนออนไลน์ล่ะคะ มันจะทำให้วัฒนธรรมการอ่านการวิจารณ์ของเราเป็นไปในทางที่ดีขึ้นไหม หรือพี่คิดว่าไง
ในด้านของการอ่าน งานเขียนออนไลน์อาจทำให้พฤติกรรมในการอ่านเปลี่ยนไป คืออาจต้องการอะไรที่สั้น กระชับมากขึ้น เพราะไม่ต้องการจ้องจอสว่างๆ นานเกินไป อีกพฤติกรรมที่น่าสนใจคือ เวลาเราอ่านงานเขียนออนไลน์มันง่ายต่อการค้นคว้าต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็นการคลิกเข้าไปตามลิงค์ต่างๆ ที่ผู้เขียนทำลิงค์ไว้ให้ หรือเราจะลองไปค้นคว้าหาต่อเองในอินเตอร์เน็ต ซึ่งก็ทำได้ทันทีในเวลานั้น ง่ายและเร็ว ทำให้เราไม่ได้จบการอ่านลงแค่บทความนั้นๆ แต่ยังขยายการอ่านออกไปอีก ซึ่งบางครั้งมันก็เชื่อมต่อไปยังเรื่องอื่นๆ ไม่รู้จบ ตรงนี้เรามองว่าเป็นประโยชน์นะ เพราะผู้อ่านจะรู้ข้อมูลมากขึ้น รอบด้านมากขึ้น และก็มีโอกาสวิเคราะห์ ตรวจสอบ และกลั่นกรองให้เป็นความคิดของตัวเองได้มากกว่าการอ่านจากบทความใดบทความหนึ่งเพียงแค่ชิ้นเดียว แถมยังสร้างนิสัยการ “คลิกลิงค์” ซึ่งก็คือการค้นคว้าหาต่อนั่นเอง อีกสิ่งที่ดีก็คือการได้เชื่อมโยงสิ่งหนึ่งเข้ากับอีกหลายๆ สิ่ง น่าจะนำมาซึ่งมุมมองที่กว้างขึ้นและเห็นผลกระทบจากสิ่งหนึ่งไปสู่อีกสิ่งหนึ่ง ทั้งในแง่ของแรงบันดาลใจ และการส่งผลกระทบในแง่ที่ไม่ดี

ในส่วนของการวิจารณ์ เราว่าเวทีออนไลน์ทำให้ผู้คนกลายเป็นนักคิดนักเขียนกันมากขึ้นมาก คือปกติคนเรามักจะคิดและมีทัศนคติกับสิ่งต่างๆ อยู่ตลอดเวลาอยู่แล้ว เพียงแค่เราไม่ได้ไปนั่งบ่นให้ใครฟัง หรือเราไม่ได้เขียนมันออกมาบนหน้ากระดาษ ได้แต่คิดแล้วก็สลายตัวไป แต่พอมีบล็อก มีไดอารี่ออนไลน์ หลายคนมีเรี่ยวแรงเขียน อยากเขียน เพราะเขียนแล้วมีคนอ่าน มีคนมาฟังความคิดของเรา มีคนมาแลกเปลี่ยน ถกเถียง และสนับสนุน เมื่อไม่ได้คิดอยู่คนเดียวก็เลยสนุกและต่อยอดความคิดได้ การเขียนบล็อกและเขียนไดอารี่ออนไลน์จะทำให้คนขยันคิดกับเรื่องต่างๆ มากขึ้น ในแง่ของวัฒนธรรมการวิจารณ์ก็น่าจะทำให้เกิดมาตรฐานความดีงามที่หลากหลายมากขึ้น ไม่ใช่ความดีงามที่อยู่ในอุ้งมือของนักวิจารณ์มืออาชีพ หรืออาจารย์ที่มีความรู้เสมอไป เสียงเล็กๆ ของคนธรรมดา ในฐานะของคนที่อยู่ในสังคมเดียวกัน รับสื่อเหมือนกัน ก็มีเวทีให้แสดงทัศนคติ ความเชื่อ ความชอบ และได้บอกเหตุผลของตัวเองให้คนอื่นฟัง ซึ่งเราว่าทุกความคิดล้วนแล้วแต่น่ารับฟัง เพราะมันสะท้อนอะไรบางอย่างในสังคมเสมอ ไม่เฉพาะความคิดเห็นที่เต็มไปด้วยทฤษฎีเท่านั้นที่น่าอ่าน แต่ความรู้สึกในไดอารี่ของเด็กมัธยมสักคนก็น่าสนใจไม่น้อยไปกว่ากัน

(ขอบคุณแพรที่ชวนคุยครับ)

หั่นเวลา

สิงหาคม 20, 2007

“บีม” เข้ามาทักในเอ็มเอสเอ็น แล้วโยนคำถามใส่
“พี่ สั้นๆ เลย ขอคำถามหนึ่ง พี่แบ่งเวลายังไงในแต่ละวัน”
ผมบอกบีมไปว่า “ขอเก็บไปตอบในบล็อกนะ”
“ได้เลยพี่”

จริงๆ แล้วผมไม่คิดว่าจะเป็นคนที่เหมาะกับคำถามนี้
โน่น…คุณสรยุทธ, คุณปัญญา, ไชยา มิตรชัย,
พี่กอล์ฟน้องไมค์, พี่แดนน้องบีม, น้องอั้ม, น้องแพนเค้ก,
คุณสนธิ (ทั้งสองสนธิ) หรือกระทั่งคุณทักษิณ
น่าจะมีคำตอบที่ดีและน่าสนใจกว่าตั้งเยอะ
เพราะวันหนึ่งวันหนึ่งพวกเขาทำกิจกรรมอะไรได้ตั้งมากมาย
โดยเฉพาะสามคนหลังนี่น่าสนใจยิ่งว่ามีเวลาคิดแผนการ
อะไรต่อมิอะไรเพื่อประมือกันมากมายขนาดนั้นได้อย่างไร

พนักงานออฟฟิศตัวดำๆ เอ้ย ตาดำๆ อย่างผม
เวลาว่างเยอะแยะไป ใช้ไม่ค่อยจะหมด (อันนี้เว่อร์ละ)
แต่เมื่อบีมถามมา ก็เห็นว่าน่าคุย (กับตัวเอง) เล่นๆ ดูสักตั้ง

ผมเพิ่งได้อ่านบทสัมภาษณ์ของ Lin Shumin
(น่าจะอ่านว่า หลิน ชูหมิน-เดาเอาครับ)
คิวเรเตอร์ของ Shanghai Biennale เมื่อปี 2006
หนึ่งในบทสัมภาษณ์เขาตอบว่า “เฉลี่ยแล้วผมนอนคืนละ
สี่ชั่วโมงครึ่ง ตั้งแต่อายุได้สามสิบปี นิสัยนี้เริ่มติดตัวผมตั้งแต่
ผมเริ่มหัดวาดรูป ผมเริ่มรู้สึกว่า การนอนเป็นเรื่องเสียเวลา–
เวลาที่น่าจะเอามาใช้สอยไปกับงานศิลปะ”

“การนอนเป็นเรื่องเสียเวลา” ฟังแรกๆ ก็ดูคมบาดตาบาดใจดี
แต่พอผ่านไปสักสอง-สามวินาที ผมก็รู้สึกอี๋ๆ นิดหน่อย
ผมว่ามันเท่ไปนิดหนึ่ง ก็เลยรีบส่ายตาไปมองรูปถ่ายของเขา
ไม่แก่เว้ยเฮ้ย นอนน้อยแต่ก็ยังหน้าเด็กและสดใส เอาไปโฆษณา
โฟมล้างหน้านีเวียฟอร์เมนได้อยู่ สงสัยจะมีความสุขกับการอดนอน

สมัยเรียนสถาปัตย์ อาจารย์สาวแกร่งท่านหนึ่งบอกกับพวกเราว่า
“พวกเธอกำลังจะถูกทำให้กลายพันธุ์ เธอกำลังจะกลายร่างไปเป็น
มนุษย์อีกสปีชี่ส์ เป็นสปีชี่ส์ที่ไม่ต้องนอนก็มีชีวิตได้ อึด ทรหด
และต้องการการพักผ่อนน้อยกว่ามนุษย์ทั่วไป”
ฟังแว่บแรกก็ดูน่าสนใจและทรงพลัง แต่แว่บหลังเพิ่งนึกได้ว่า
ชีวิตในคณะนี้มันคือนรกดีๆ นี่เอง

งานเขียนแบบและการคิดแบบทุกคืนฝึกให้พวกเรากลายพันธุ์จริงๆ
บางคนถึงทุกวันนี้ยังไม่สามารถนอนก่อนเที่ยงคืนได้ ผมก็เป็นหนึ่งในนั้น
และพวกเราชาวไอดี (ภาควิชาการออกแบบอุตสาหกรรม) ยิ่งอึดกว่า
พวกเพื่อนๆ ภาควิชาอื่นอีกมาก เราไม่หลับไม่นอนกันบ่อยไป
นั่งทอผ้ากันถึงพระมาทักทางวิทยุตอนตีห้าเกือบทุกวันในช่วงนั้น
จากอยากนอน กลายเป็นไม่อยากนอน จากรักหมอน กลายเป็นรักความเงียบ
และความเงียบก็มักจะค่อยๆ ย่องออกมาในช่วงดึกเสมอ

อาจารย์ไอดีท่านหนึ่งบอกกับพวกเราว่า “ไม่ต้องนอนให้มันมากนักหรอก
นอนวันละสามชั่วโมงนี่ก็เต็มที่แล้ว” นั่นไง ผมถึงไม่ค่อยตกใจกับชั่วโมง
การนอนโดยเฉลี่ยของคิวเรเตอร์หนุ่มคนนี้สักเท่าไหร่ เพราะอาจารย์ผม
นอนน้อยกว่าเขาเสียอีก

วันนั้นผมตรวจสุขภาพที่ออฟฟิศ คุณหมอดูผลแล้วบอกกับผมว่า
“คุณความดันต่ำนิดๆ นะ” ฟังไม่ค่อยเป็นมงคล เลยเอ่ยปากถาม
“แล้วจะตายไหมครับหมอ?” หมอยิ้ม “ตายเร็วแน่ เฮ้ย หมอล้อเล่น
ไม่มีอะไรหรอก ความดันต่ำนิดๆ นี่ดีนะ อ้วนยาก กินยังไงก็ไม่อ้วน
แล้วก็อึด เหนื่อยยาก ถึงทำงานเยอะๆ ก็จะไม่ค่อยรู้สึกเหนื่อย”

ทั้งหมดที่เล่ามาไม่เกี่ยวกับการแบ่งเวลาเลยสักนิด
นี่ก็ “กิน” เวลาเพื่อนบ้านที่เข้ามาอ่านไปหลายนาทีแล้ว
ยังไม่เข้าเรื่องเลย

ผมว่า ประโยคที่บอกว่า คนเรามีเวลาเท่ากันวันละยี่สิบสี่ชั่วโมง นั้น
ไม่ค่อยจะจริงนัก จริงๆ แล้วคนเรามีเวลาไม่เท่ากันเลยต่างหาก
ญาติของผมคนหนึ่งไม่ค่อยแข็งแรงจำเป็นต้องนอนมากๆ
เธอไม่เคยได้ดูละครหลังข่าวเลยสักเรื่อง ไม่เคยได้เห็นหน้า
พี่ป๋อ-ณัฐวุฒิ สะกิดใจ เลยสักหน บางคนอาจต้องเอาเวลาไปดูแลลูก
บ้างก็ดูแลพ่อแม่ บ้างก็ดูแลสามี ภรรยา บ้างก็ต้องดูใจแฟนหนุ่มแฟนสาว
บางคนก็ใช้เวลาไปกับการเปลี่ยนน้ำตู้ปลา แปรงขนหมา ให้อาหารแมว
เราต่างมีเรื่องให้ต้องควักเวลาออกมาใช้สอยต่างกันไป-ไม่เท่ากัน

เพราะเราไม่ได้ใช้เวลาอยู่คนเดียว
แต่เวลาของเรานั้นมีคนอื่นมาร่วมใช้สอยด้วย
บางคนก็มีคนมาช่วยใช้เวลาจนไม่มีเวลาเป็นของตัวเอง
บางคนก็ไม่มีคนมาช่วยใช้ จนรู้สึกว่า พระอาทิตย์ขึ้นช้าจัง

กระทั่ง ความต้องการในการนอนของร่างกายแต่ละคนยังไม่เท่ากันเลย
แล้วเราจะพูดว่า คนเรามีเวลาคนละยี่สิบสี่ชั่วโมงเท่ากันได้อย่างไร?

สำหรับคนที่สูงวัยแล้ว,
ยังจำพลัง ความมุ่งมั่น และขอบตาคล้ำๆ คู่นั้นได้ไหม? คู่ไหน?
ก็คู่ที่อ่านหนังสือยันตีสามตีสี่เพื่อที่จะตะเกียกตะกายวิ่งเข้ามหาวิทยาลัย
ที่ใฝ่ฝันตอนนั้นไงล่ะ ตอนสมัยที่พวกเราจะเอ็นทรานซ์กัน สำหรับผมแล้ว
ช่วงเวลานั้นเป็นช่วงที่ขยันที่สุดช่วงหนึ่งของชีวิต

จะเปรียบไปก็เหมือนอาการ “ยกตุ่ม” ตอนที่บ้านไฟไหม้
คือพอเห็นว่าไฟกำลังจะไหม้อนาคตอย่างที่ผู้ใหญ่เขาขู่กัน
ก็รีบเบ่งพละกำลังทั้งหมดที่มีมา “ยกตุ่ม” หนีไฟกันยกใหญ่
พลังตอนนั้นมากมายกว่าในช่วงเวลาธรรมดามากนัก

อย่างที่เขาบอกกัน ว่าที่จริงคนเรามีพลังมากกว่าที่เราใช้
บางตำราว่าไว้ว่า ปกติแล้วเราใช้พลังความคิดแค่สิบในร้อย
ของทั้งหมดที่เรามีเท่านั้นเอง

และก็คงจะแข็งแรงดี ถ้าเรา “ยกตุ่ม” ได้ตอนไฟไม่ไหม้
คือควักพลังมหัศจรรย์นั้นออกมาใช้ในยามปกติ

ถ้าตอนเอ็นท์เราทำได้ ไฉนเลยตอนนี้จะทำไม่ได้

ช่วงเวลาหลังเลิกงานเป็นช่วงเวลาสุดโปรดของผม
เป็นช่วงเวลาที่จะได้อยู่กับตัวเอง หากนับเวลาตั้งแต่
ประมาณสองทุ่มไปจนถึงตีสาม (บางคืนตีสี่) นั่นเท่ากับว่า
จะมีเวลาเงียบๆ ให้ทำอะไรต่อมิอะไรอีกตั้งเจ็ดชั่วโมง
ซึ่งนั่นมันเท่ากับ “เวลางาน” ในตอนกลางวันเชียว!
เรียกได้ว่า หากมีคนจ้าง ก็สามารถทำงานได้อีกบริษัทหนึ่ง
เป็นงานภาคค่ำ

แต่แบบนั้นก็ดูบ้าพลังและคลั่งเกินเหตุ
ผมแบ่งเวลาส่วนตัวออกเป็นสองดุ้นใหญ่ๆ ครับ
ดุ้นแรกเป็นภาครับเข้า (input) ดุ้นที่สองเป็นภาคจ่ายออก (output)
หรือหากพูดภาษานักค้าของนอกก็ต้องบอกว่า import กับ export

ผมคิดเอาเองว่า คนเราจะจ่ายออกตลอดเวลาไม่ได้
เพราะยิ่งจ่ายยิ่งใช้มันก็ยิ่งหมดไปทุกวันทุกวัน และพอ “ของ” ในสมอง
มันแห้งๆ เหือดๆ เราก็จะรู้สึกเหือดๆ แห้งๆ ตามไปด้วย
จึงต้องคอย “รับ” ไอ้นู่นไอ้นี่มารดน้ำสมองให้แฉะๆ อยู่เสมอ
พอน้ำเริ่มแฉะ เริ่มเจิ่ง กระบวนการอยากระบายออกมันก็จะเกิดขึ้นเอง
โดยไม่ต้องมีใครมาบังคับ ยิ่งรับมามาก ก็ยิ่งอยากจ่ายออกไปมาก

แต่คนเราไม่ใช่กะละมังก้นรั่ว จะได้รับน้ำมาแล้วไหลออกทางรูที่ก้นเสียหมด
คนเราน่าจะคล้ายกับต้นไม้มากกว่า รับน้ำมาแล้วแปลงร่างมัน “ออกมา”
เป็นดอกผล — เป็นดอกผลที่ผ่านกระบวนการย่อยสารอาหารแล้ว
และนอกจากดอกผลที่เห็นได้ชัด เราก็ยังเก็บกักสารอาหารไปหล่อเลี้ยง
กิ่งก้านใบที่ค่อยๆ เติบใหญ่ไปอย่างช้าๆ

ในเวลาเจ็ดชั่วโมงนั้น ผมใช้เวลาหนึ่งในสามไปกับการรับ อีกหนึ่งในสาม
ไปกับการจ่าย และอีกหนึ่งในสามไปกับเรื่องไร้สาระ อาหารที่ไม่มีปุ๋ย

หนังสือ, หนัง, เพลง, นิตยสาร, บล็อก, เว็บไซต์ เป็นปุ๋ยสูตรปกติ

ในสเกลที่ใหญ่กว่าหนึ่งวัน การเดินทางออกไปเห็นของใหม่ๆ ในที่ไกลตา
ก็เป็นปุ๋ยเร่งใบเร่งกิ่งและเสริมความแข็งแรงให้รากที่ดีอยู่เหมือนกัน
เมื่อจ่ายออกไปมากแล้ว นานๆ ทีก็น่าจะมีโอกาสเดินออกไปรับกลับมาบ้าง

แต่เวลาทั้งหมดของชีวิตเราไม่ได้อุทิศให้กับงานงานงานเสียหน่อย
เฮ้ย คนนะไม่ใช่หุ่นอะสิโม่ (หุ่นอะสิโม่ยังเอาเวลาไปเล่นกับเด็กบ้างเลย)
เราก็ต้องเล่นกับเด็กบ้าง เอ้ย! ไม่ใช่ เล่นกับผู้ใหญ่บ้าง
เล่นกับคุณพ่อคุณแม่ อันนั้นแน่อยู่แล้ว

เวลาสามส่วนในชีวิตที่แบ่งกันง่ายๆ
คนที่ผูกพัน, การงาน และตัวเอง
หากแบ่งเวลาสามส่วนนี้ได้อย่างสมดุล ชีวิตก็คงเป็นสุข
ราวกับวางแผนครอบครัวกับไบรวู้ดมากาเร็ต

คงแล้วแต่ความสำคัญตามวันเวลา มาก-น้อย สลับสับเปลี่ยน
แต่เมื่อถึงคราวที่ต้องเลือก ดุ้นแรกคงต้องมาเป็นอันดับหนึ่ง
(หากจำไม่ได้ว่าดุ้นแรกคือดุ้นไหน กรุณาเหลือบไปมองย่อหน้าบน)

เพราะดุ้นแรกนั้นเองที่ทำให้ดุ้นที่สองและสามมีคุณค่า
ดุ้นแรกเป็นพลังให้เรามีเรี่ยวแรงทำดุ้นที่สอง
และทำให้ดุ้นที่สามอยากหายใจต่อไปทุกวันๆ
(หลายดุ้นจัง ฟังแล้วงง)

ผมพบว่าตัวเองมีเวลามากขึ้นตั้งแต่ปิดทีวี
ผมเลิกดูทีวีมาได้ปีกว่าแล้วล่ะมัง ช่วงนี้มาผลาญเวลาไปกับ
อินเตอร์เน็ตแทน แต่ผมว่าอินเตอร์เน็ตก็ยังมีข้อดีกว่าทีวีอยู่
เพราะเราไม่ได้ตกเป็นฝ่าย “ถูกกระทำ” คือได้แต่นั่งรับฟัง
รับชมอยู่ฝ่ายเดียว อินเตอร์เน็ตยังมีช่องทางให้ “โต้กลับ” บ้าง
และเมื่อมีการโต้กลับ สมองก็จะขยับตามไปด้วย
(อย่างการพิมพ์ความเห็นทิ้งไว้ก็ได้บริหารสมอง ว่าไหมครับ?)

ผมดูทีวีจนเป็นนิสัยมาตั้งยี่สิบกว่าปี คือดูเหมือนหายใจ
ไม่ได้คิด ก็แค่รู้ว่ามันคือกิจวัตรประจำวัน กลับบ้านมาต้องเปิด
แต่จริงๆ แล้ววันหนึ่งวันหนึ่งเราใช้จ่ายเวลาไปกับมันไม่น้อยเลย
และหากให้เวลากับมันน้อยลง (มันคงไม่งอน) เราก็น่าจะมีเวลา
มาทำในสิ่งที่อยากทำ แต่เก็บมันใส่ลิ้นชักเอาไว้จนราขึ้นได้อีกตั้งเยอะ

ยาว และกินเวลาเพื่อนบ้านมากเกินไปแล้ว
ขอบคุณบีมด้วยครับที่ทำให้ได้มานั่งทบทวนเรื่องการใช้สอยเวลาของตัวเอง

จะว่าไป คนเรามีเวลาไม่เท่ากัน ต้องการเวลาไม่เท่ากัน
และก็มีพฤติกรรมใช้สอยเวลาไม่เหมือนกันอยู่แล้ว

สำหรับบางคน การนอนเป็นเรื่องเสียเวลา แต่สำหรับบางคน
การนั่งเขียนหนังสือหรือนั่งวาดภาพนี่โคตรเสียเวลานอนเลย

บางคนอาจต้องการเวลามากขึ้น บางคน “ฆ่า” เท่าไหร่ เวลาก็ไม่หมดเสียที
บางคน วันหนึ่งเหมือนมีแค่แปดชั่วโมง ขณะที่บางคนเหมือนมียี่สิบห้า
บางคนอาจล่อเข้าไปยี่สิบแปด (คืออยู่ข้ามวันข้ามคืน)

จะใช้สอยอย่างไรก็เป็นเรื่องของใครแต่ละคน
เรื่องน่าสนใจมีอยู่แค่ว่า ทำไมเราไม่ค่อยมีเวลาให้กับสิ่งที่เราอยากทำ?
เป็นไปได้ไหมว่า เราใช้เวลาไปกับสิ่งที่เราไม่รักมากกว่าสิ่งที่เรารัก?