Archive for มกราคม, 2007

สมการในสมอง: y = ax

มกราคม 31, 2007

ตื่นเช้ามานั่งอ่านหนังสือ กำแพงคนโง่
เขียนโดย ทาเคชิ โยโร่ แปลโดย โชว์เดียร์
แค่บทที่สองก็เริ่มสนุก

สนุกกับการคิด ‘สมการเชิงเส้นในสมอง’ ของผู้เขียน
จากข้อสังเกตที่ว่า “เราไม่สามารถสื่อสารกับคนที่ไม่อยากรู้ได้”

หนังสือบอกว่า
ในระหว่างที่รับข้อมูลผ่านสัมผัสทั้งห้า และส่งข้อมูลออกไปจาก
การเคลื่อนไหวนั้น ในสมองจะทำการเคลื่อนไหวและหมุนเวียน
ข้อมูลที่ถูกใส่เข้าไป

ลองให้การรับข้อมูลที่ว่าคือ x และการส่งข้อมูลคือ y
ก็จะได้สมการเชิงเส้น y = ax
เมื่อมีข้อมูลค่า x อะไรก็ตามที่ใส่เข้าไป คูณเข้ากับ
สัมประสิทธิ์ a ผลหรือการตอบสนองที่ได้ก็คือค่าของ y

a คืออะไร?
a คือ ‘น้ำหนักที่เป็นความจริง’ ซึ่งจะแตกต่างกันไป
ขึ้นอยู่กับแต่ละคนว่าจะให้น้ำหนักความจริงมาก-น้อยแค่ไหน

พูดง่ายๆ ก็คือ การตอบสนองของคนเราขึ้นอยู่กับ
ข้อมูลที่ใส่เข้าไปในตัวเราคูณเข้ากับการตัดสินของเราว่า
ข้อมูลนั้นจริงใจหรือไก่กา (จริงหรือไม่ จริงหรือเปล่า หว่าวๆๆๆ)

สมมุติว่า เราให้ค่าความจริงกับข้อมูล (a)
จากคุณสนธิ ลิ้มฯ (นามสมมุติ) ค่อนข้างมาก
การตอบสนองของเราก็จะมากด้วย เช่น
ไปร่วมเอาผ้ากู้ชาติผูกกบาลตะโกนตามหลังคุณ สนธิ ลิ้มฯ
แต่ถ้าเราให้ค่าความจริงกับข้อมูลนั้นน้อย
เราก็คงนอนอยู่บ้านเกาสะดือเล่นเฉยๆ
ถ้าหนักกว่านั้นคือให้ค่าเป็นติดลบ เราก็อาจหาทางออกอื่น
เช่นไปเย้วๆ กับม็อบคนรักทักษิณ หรืออื่นๆ ที่เป็นทางตรงข้าม
(ซึ่งไม่ได้หมายความว่าเกลียดคนนี้แล้วต้องชอบอีกคนนึงเสมอไป)

ในหนังสือบอกว่า
โดยปกติแล้วถ้ามีข้อมูล x ที่รับเข้าไป ก็จะต้องมีปฏิกิริยา
สักอย่างเกิดขึ้น ก็เพราะเมื่อในเมื่อมีค่า y ปรากฏอยู่
a ก็จะไม่เป็นศูนย์

แต่มีกรณีพิเศษที่ a = 0 ในกรณีเช่นนี้ ถึงแม้จะมีข้อมูล
รับไว้มากเท่าไหร่ก็ตาม ก็จะไม่มีข้อมูลที่ส่งออกมา
ก็หมายความว่า ข้อมูลนั้นไม่ส่งผลไปที่การกระทำใดๆ

การที่ข้อมูลที่รับเข้าไปไม่ส่งผลใดๆ กับการกระทำนั้น
ก็หมายความว่า สิ่งนั้นไม่ใช่ความจริงสำหรับคนคนนั้น

ในหนังสือยกตัวอย่าง คนอิสราเอลที่มีค่าสัมประสิทธิ์เป็นศูนย์
ต่อเรื่องที่ว่า คนอาหรับจะพูดถึงพวกเขาว่ายังไง
หรือโลกจะวิพากษ์วิจารณ์พวกเขายังไง เพราะฉะนั้น
มันจึงไม่มีผลต่อการกระทำของพวกเขาเลย

อีกตัวอย่าง
ถ้าเราเดินๆ อยู่แล้วมีหนอนไต่อยู่ที่เท้า
บางคนก็จะหยุดดู แต่คนที่ไม่สนใจก็จะไม่ใส่ใจหนอนตัวนั้น
เท่ากับว่าค่าสัมประสิทธิ์ของสมการที่มีต่อข้อมูลของหนอนตัวนั้น
สำหรับคนคนนั้นมีค่าเป็นศูนย์นั่นเอง

ในหนังสือยังยกตัวอย่างเวลาพ่อด่า
เมื่อเราไม่เชื่อข้อมูลที่พ่อด่าว่าเรา สมองเราจะรับเฉพาะ
ข้อมูลใบหน้าของพ่อที่กำลังโกรธว่าเป็นความจริง
แต่จะทิ้งคำด่า(อันเป็นประโยชน์)ไป
เพราะในตอนนั้นสำหรับเรา คำสั่งสอนของพ่อ ไม่ใช่ความจริง
(เพราะเราไม่เห็นด้วย)

แต่ถ้าพ่อชม เราคงรับฟังทุกถ้อยคำอย่างตั้งใจ
และค่า a ก็จะเป็นบวกทันที

ง่ายๆ ถ้าค่า a (น้ำหนักความจริง) ต่อ x (ข้อมูลที่ใส่เข้าไปในสมอง)
เป็นบวก ค่าของ y ซึ่งก็คือการกระทำตอบกลับก็จะเป็นบวกไปด้วย

คิดไปคิดมาก็เหมือนความรักเมื่อครั้งยังหวาน
น้องชี้นกแล้วบอกว่าไม้ พี่ก็ว่าไม้ไปตามวาจา
เห็นปูน้องบอกว่าปลา พี่ก็ว่าปลาไปตามดวงใจ

เราให้ค่าความจริงโดยตัดสินจากแหล่งข้อมูลนั้นด้วย

หนังสือยังบอกอีกว่า
การกระทำมีทั้งด้านลบและบวก ถ้า a เป็น บวก10a
ก็สามารถเป็น ลบ10a ได้เช่นกัน
อย่างนายโอซามะ บินลาดิน ที่ฝ่ายชังก็จะเกลียดมาก
ฝ่ายสนับสนุนก็จะชอบมาก a ของบินลาดิน
จึงเป็นตัวเลขที่ใหญ่มาก ทั้งนี้ก็มาจากความใหญ่ของข้อมูล
(การกระทำ) ของเขานั่นเอง

เหมือนเวลาเราลงมือจีบใครสักคน
ถ้าเขาเปิดรับ ‘ข้อมูลการจีบ’ ของเรา ว่ามันมีอยู่จริง
เราก็ย่อมจะได้ค่า a คูณเข้าไปใน x (การจีบ)
แต่ถ้าตื้อมากๆ เข้า ก็อาจจะได้ค่า a ที่เป็นลบ
แต่อย่างน้อยก็ยังดีกว่าค่า a เป็นศูนย์
เพราะนั่นหมายความว่า เราไม่มีตัวตน
หรือเธอไม่เห็นหัวเราอยู่ในสายตาเลยนั่นเอง

การที่ค่า a เป็นลบมากๆ นั้นมีผลดีกว่าเป็นศูนย์
เพราะเมื่อเราไม่เชื่อมากๆ มันจะนำไปสู่การแสวงหา
ในหนังสือเปรียบเปรยกับเกมหมากกระดานโอเทโล่
ที่เมื่อเป็นลบมากๆ เข้าก็จะเปลี่ยนเป็นบวกได้ทันที

พระเอกกับนางเอกที่ทะเลาะกันจะเป็นจะตายในตอนต้นเรื่อง
จึงลงเอยด้วยการแต่งงานหอมแก้มฟอดๆ กันได้ในท้ายเรื่อง
ก็เพราะค่า a ที่เป็นลบมากๆ นั่นแหละ (ตบจูบ ตบจูบ!)

แต่ในอีกกรณี ถ้าค่า a ของใครคนหนึ่งพุ่งไปถึง infinity
ข้อมูลหรือความเชื่อนั้นๆ จะเริ่มกลายเป็นสิ่งจริงแท้แน่นอน
สำหรับคนคนนั้น และส่งผลต่อการกระทำได้อย่างไร้ขีดจำกัด

เหมือนคนที่เชื่อในคำสอนใดมากๆ และสามารถทำทุกอย่างได้
ตามคำสอนของลัทธิเหล่านั้น

หนังสือบอกว่า
การที่ค่า a = 0 และ a = infinity นี่เองเป็นปัญหาใหญ่ในปัจจุบัน
และหากสังคมเป็นแบบนั้น เราก็จะอยู่กันไม่ได้

เพราะเมื่อคนหนึ่งเชื่อในความจริงของตัวเองสุดกู่ (a = infinity)
และปิดประตูรับความจริงจากแหล่งข้อมูลอื่น (a = 0)
เราคงไม่สามารถพูดจาทำความเข้าใจอะไรกันได้

ผมมองว่า เราสามารถมีความเชื่อของเราได้
และไม่จำเป็นต้องแกล้งเห็นด้วยกับคนอื่นที่คิดต่างออกไป
แต่เรานั่งอยู่บนโต๊ะอาหารเดียวกัน อยู่ในบ้านหลังเดียวกัน
พูดจาแลกเปลี่ยนกัน รับฟังกัน ทำความเข้าใจกัน ก็น่าจะดี

ทำความเข้าใจ โดยไม่จำเป็นต้องเห็นด้วย.

เขียนหนังสือไม่ได้ยิ่งใหญ่อะไรนักหนาหรอก

มกราคม 31, 2007

1.
วันนี้เป็นวันดี
เพราะเป็นวันที่ได้มีโอกาสเจอพี่ชายดีๆ ตั้งสามคน
คนที่เคารพ นับถือ และเคยเห็นอยู่ห่างๆ
แต่ได้มานั่งตรงกันข้ามและพูดคุยด้วย
แลกเปลี่ยนและรับฟัง
มีแต่สิ่งดีๆ ไหลเข้าสู่รูหู
รู้สึกดีจัง

2.
กลางวัน เราถามพี่ชายคนหนึ่งว่า
“มีจุดประสงค์ในการเขียนหนังสือหรือเปล่าครับ?”
“จุดประสงค์ของพี่คืออะไร?”
พี่ชายตอบเสียงเรียบ
“ไม่มีหรอก”
“พี่เคยคิดว่าการเขียนหนังสือเป็นเรื่องยิ่งใหญ่
เปลี่ยนแปลงโลกได้ แต่จริงๆ แล้วโลกไม่เคยเปลี่ยนแปลง
โลกยังคงเป็นแบบนั้นของมันอยู่ โลกจะมีเราหรือไม่มีเรา
มันก็ไม่ได้เปลี่ยนแปลงไปสักเท่าไหร่”

เราบอกกับเขาว่า
“ผมเคยฟังพี่พูด แล้วรู้สึกว่าไม่อยากมีชีวิตต่อ”
พี่ชายหัวเราะ
“มีชีวิตก็ดี ยังอยู่น่ะดี แต่ตายก็ได้ ก็ไม่เห็นว่าจะมีอะไร”
“ทุกวันนี้ก็ยังเขียนหนังสือ เขียนเหมือนหายใจ
เขียนเป็นปกติ พี่ไม่ได้คิดว่าการเขียนหนังสือมันยิ่งใหญ่อะไรแล้ว
ก็แค่เขียนไป เพราะยังมีชีวิตอยู่ ก็ทำงานกันไป”

3.
ตอนค่ำ ได้เจอพี่ชายที่เคารพอีกคน
หน้าตาผ่องใส มีความสุข รอยยิ้มติดอยู่บนหน้าตลอดเวลา
พี่ชายคนนี้เคยทุ่มเทให้กับการทำหนังสืออย่างมุ่งมั่น
มาถึงวันนี้ เขาแลดูผ่อนคลายเอามากๆ

ผ่อนคลายเหมือนละวางหลายอย่างได้แล้ว
แววตาแห่งความสุข ประโยคคำพูดแบบเข้าอกเข้าใจโลก
ถูกส่งผ่านสายตาและรูหูของเรา

จากภาพตรงหน้า เราสงสัยว่าพี่เขายังอยากทำอะไรอีก
“พี่ยังสนุกกับการเขียนหนังสืออยู่รึเปล่าครับ?”
“เฉยๆ นะ เขียนก็ได้ ไม่เขียนก็ได้”
“เขียนก็เขียนไป ไม่ได้รู้สึกว่าการเขียนหนังสือมันยิ่งใหญ่อะไร”

4.
เย็นวันนั้น ได้คุยกับพี่ชายอีกคนผ่านโปรแกรมเอ็มเอสเอ็น
เราถามไถ่ถึงทรรศนะเกี่ยวกับการเขียนในปริมาณมาก
“ถ้าสนุก มีแรงก็เขียนไป เขียนได้ ก็เขียนไปเถอะ”

5.
ดึกวันนี้ เดินสนทนากับพี่ชายอีกคน
เขาพูดลอยขึ้นกลางอากาศบนทางเดินรถไฟฟ้า
“ช่วงมีแรงเยอะก็เขียนไปเถอะ เดี๋ยวพอเขียนเยอะๆ เข้า
ก็จะอยากทำอย่างอื่น เดี๋ยวมันก็จะปรับเปลี่ยนไปเรื่อยๆ เอง”

เป็นพี่ชายที่เคารพนับถือทั้งสี่ท่าน
ขอบคุณมา ณ ที่นี้
ดีใจที่ได้พูดคุยและรับฟังคำของพี่ๆ

ยังสนุกกับการเขียน
และก็เป็นแค่คนหัดเขียนหนังสือคนหนึ่ง
ที่มีความสุขทุกครั้งที่ได้นั่งลงเขียนหนังสือ
เป็นแค่นั้นจริงๆ

อาจจะจริงอย่างที่ท่านพี่ทั้งสองได้บอกกล่าว
การเขียนหนังสือไม่ได้ยิ่งใหญ่อะไรนักหนาหรอก
อย่าคาดหวังอะไรจากการเขียนหนังสือของเรามากนักเลย
เราเขียนเพราะมีความสุข-ก็แค่นั้น.

แฉคนไทย (สอง)

มกราคม 30, 2007

(กลับมาต่อกันตามสัญญาครับ พอดีว่ายังไม่ง่วง)

นิสัยกว้างๆ เก้าอย่างของคนไทย

1.ความสนุก คือหลักชัยของชีวิต
อันนี้ที่จริงไม่ต้องการคำบรรยาย คำว่า ‘สนุก’ เป็นคำพูดยอดฮิต
ติดปากของเราชาวไทยทุกสาขาอาชีพ กระทั่งอาชีพที่เคร่งขรึม
ก็ยังหลุดคำว่า ‘สนุก’ ออกมาเสมอ

หนังสือหรืองานเขียนบางชิ้นดูจริงจัง แต่ก็มักได้รับคำชมว่า ‘อ่านสนุก’
เราจึงได้เห็นคำพูดอาทิ งานวิชาการอ่านสนุก, รายการสารคดีดูสนุก,
กระทั่งอุปกรณ์ก่อร่างความคิดสร้างสรรค์ อ่านสนุก! ก็มี

กระทั่งเรื่องเคร่งเครียดอย่างการรัฐประหาร
“เฮ้ย! เมื่อคืนติดตามข่าวปฏิวัติรึเปล่า?”
“เออ ตามตลอดเลย กว่าจะได้นอนตั้งตีสาม แม่งสนุกดีว่ะ”

หรือกระทั่งการกู้ชาติ
“เมื่อวานไปสวนลุมฯมาเปล่า? ได้ข่าวว่าสนุกมาก”
“โหย มึงพลาดไปแล้วล่ะ ไปร้องตะโกนไล่ ออกไปๆๆๆ โคตรหนุกเลย”

อะไรก็เป็นเรื่องสนุกได้ เหมือนความสนุกอยู่ในหัวใจพี่ไทยตลอดเวลา
เราจึงเป็นประเทศที่มีวันหยุดมากที่สุดประเทศหนึ่งของโลก

หนังสือเล่มนี้เขียนไว้ว่า
หากท่านต้องการให้คนเยอรมันทำงาน ต้องบอกว่า “มันเป็นกฎ”
ถ้าเป็นชาวอังกฤษ ต้องบอกว่า “มันเป็นมารยาทของสุภาพบุรุษ”
ถ้าเป็นอเมริกันก็ต้องบอกว่า “แกทำได้แล้วจะเป็นฮีโร่”
ส่วนพี่ไทยเราก็ต้องบอกว่า “ทำดิ สนุกสุดๆ เลย”

2.ชอบการชี้นำ ฟันธง
เขาเขียนว่า พี่ไทยเราชอบอะไรขาวจัด-ดำจัด
ถ้ารักนักการเมืองคนไหน ก็จะฟันธงว่า เป็นคนดี
ถ้าเกลียดใครก็ชั่วไม่ได้ผุดได้เกิด

ละครไทยก็เลยมีตัวละครชี้นำแบบชั่วก็ชั่วชัดๆ
ดีก็ดีโคตรๆ จะได้ไม่ต้องดูไปแล้วงงๆ ต้องเก็บไปคิดต่อว่า
ตกลงไอ้คนนั้นชั่วหรือดีกันแน่ ขี้เกียจคิด บอกกันมาเลย

อย่างเหตุการณ์ในวันที่สิบเก้า กันยาฯ ที่ผ่านมาก็เช่นกัน
ทะเลาะกันไปมาสองฝ่าย ไม่รู้จะเชียร์ฝ่ายไหนดี
ฝ่ายไหนดี ฝ่ายไหนร้าย หรือชั่วทั้งสองฝ่าย ก็ตัดสินใจไม่ถูก
พอมีคนออกมา ‘ฟันธง’ พี่ไทยเราก็เอาข้าวเอาดอกไม้ไปให้กันเพียบ

หนังสือเขียนว่า
ปรัชญาการศึกษาจึงขัดแย้งกับนิสัยคนไทยอย่างมาก
เพราะปรัชญาการศึกษาคือการตั้งคำถาม กระตุ้นให้เกิดคำถามใหม่
ไม่ต้องสรุป ไม่ต้องฟันธง เพื่อที่คนเรียนจะได้ไปต่อยอด

นั่นแหละ-พี่ไทยเราขี้เกียจคิดมาก เดี๋ยวจะไม่มีเวลาสนุก
นิสัยนี้ไม่ต้องพลิกตำราหมอดูก็บอกกันได้ – – ฟันธง!
(เห็นมั้ยหมอดูฟันธงยังงานล้นมือขนาดนี้เลย)

3.ชอบเยอะๆ
ถ้าท่านจะเปิดข้าวแกง ต้องมีหม้อข้าวแกงเรียงโชว์เกินยี่สิบหม้อ
ยิ่งเป็นร้อยหม้อยิ่งดีใหญ่ คนไทยชอบอ่านเมนูเล่มหนาๆ
พอรู้สึกว่ามีของให้เลือกเยอะแล้วหัวใจจะพองโต ตื่นเต้น

แชมพูสระผมก็เลยมีร้อยรุ่นพันยี่ห้อ กระทั่งแชมพูหมาก็เยอะไม่แพ้กัน
เวลามีอะไรน้อยๆ จะตัดสินใจไม่ค่อยได้ รู้สึกว่ายังไม่หนำ

ทริปท่องเที่ยวก็ต้องใส่สถานที่ให้เยอะเข้าไว้
ไปสูดหายใจครึ่งเฮือกแล้วกระโดดขึ้นรถไปต่อ ก็ไม่เป็นไร
ขอให้ได้ไปเยอะๆ ทริปแบบเจ็ดวัน สิบสี่ประเทศ จึงเกิดขึ้น
ทัวร์ไหว้พระก็ต้องเก้าวัดถึงจะหนำ อีกไม่นานอาจทัวร์ไหว้พระ
เก้าสิบเก้าวัดก็ได้ ยิ่งเยอะยิ่งหนุก

พวกฟังก์ชั่นของโทรศัพท์มือถือก็เหมือนกัน
ขอเยอะๆ เข้าไว้ ใช้-ไม่ใช้ไม่เป็นไร มีเกินๆ ไว้อุ่นใจกว่า

4.เน้นรูปแบบมากกว่าสาระ
มนุษย์ในโลกนี้ชอบเน้นรูปแบบมากกว่าสาระอยู่แล้ว
แต่ในหนังสือเล่มนี้บอกว่า พี่ไทยเราเน้นหนักมาก
สังเกตได้จากพิธีเปิด พิธีปิด ประธานกล่าว ตัดริบบิ้น
อะไรต่อมิอะไรก็มักจะยืดยาวกว่าจะเข้ารายการเนื้อๆ

ผู้มีภูมิก็มักจะใช้คำพูดคำจาให้หะรูหะราเอาไว้ก่อน
ให้มันดูฟุ่มเฟือยฟังยากๆ เข้าไว้ สาระน้อยไม่เป็นไร
เพราะรูปแบบมันสร้างภาพลักษณ์ที่น่าเชื่อถือได้

5.อยากเป็นมากกว่าอยากทำ
หนังสือเขียนว่า
หนทางได้บุญจึงเป็นการซื้อบุญ
อยากแข็งแรงแต่ไม่อยากออกกำลังกาย

จริงๆ แล้วคนไทยอยากเป็นนู่นเป็นนี่มากมาย
และมักมองหา ‘ทางลัด’ ไปสู่จุดหมายเหล่านั้น
อยากรวยก็เล่นหวยกันไป

6.ไม่เป็นไร ช่างเขาเถอะ
พี่ไทยเราชอบประนีประนอม ให้อภัยคนง่าย
เขาจะโกงชาติบ้านเมืองยังไงก็ไม่เป็นไร ช่างเขาเถอะน่า
ซึ่งข้อนี้บางทีก็ดี บางทีก็ร้าย
แต่จริงๆ แล้วก็ทุกข้อนั่นแหละที่มีมุมดีและร้ายต่างๆ กันไป
ในแต่ละเหตุการณ์และขนาดความสำคัญ

อีกสามข้อที่หนังสือเล่มนี้เขียนไว้คือ
7.ไม่มีความเท่าเทียมกันในปฏิสัมพันธ์ใดๆ
8.ทนแรงกดดันระยะยาวไม่ได้
9.ได้ทำ กับ ทำได้ (ขอแค่ได้ทำ ทำได้รึเปล่าไม่รู้)
ซึ่งผมยังนึกตัวอย่างที่ตัวเองเห็นด้วยมากๆ ไม่ออก
ใครนึกออกบอกกันด้วยครับ

แต่หลายเรื่องข้างบน ผมค่อนข้างเห็นด้วย
โดยยังไม่ได้คิดตัดสินดี-ร้าย
บางนิสัยก็ดีกับบางกรณี บางนิสัยก็ร้ายกับบางกรณี
แต่ผมว่า ดีออกครับ ที่เรา (พี่ไทย) จะได้ทบทวนตัวเองดูบ้าง
สนุกดีออก!

เรื่องสั้น: ถ่าย

มกราคม 29, 2007

ชายหนุ่มชื่อ เพเตอร์ บิคเซล
เขาไม่ใช่นักเขียนชาวสวิสเซอร์แลนด์ เจ้าของผลงาน โต๊ะก็คือโต๊ะ
เขาเป็นเพียงตัวละครหนึ่งในเรื่องสั้นๆ ของวันนี้
ด้วยที่ผู้เขียน (เรื่องสั้นๆ ของวันนี้) เกิดหลงรักชื่อของชายหนุ่มคนนั้น
จึงขอยืมมาใช้ตั้งเป็นชื่อของเขา
เอาเป็นว่า เขาชื่อ เพเตอร์ บิคเซล

นายเพเตอร์ บิคเซล เป็นคนดัง
เมื่อเป็นคนดังนิตยสารจึงรุมล้อมถ่ายภาพ
พวกเขาต้องการภาพลงไปประดับหน้ากระดาษนิตยสารให้ไม่ว่างเปล่าเกินไปนัก
ยิ่งเป็นนิตยสารทุกวันนี้ที่ไม่ค่อยมี ‘เนื้อ’ ให้ ‘หา’ สักเท่าไหร่
ยิ่งต้องอาศัยภาพใหญ่ๆ เท่ๆ เก๋ๆ ฉูดๆ ฉาดๆ มาวางพาดลงไป
ภาพใหญ่ๆ ตัวหนังสือน้อยๆ
แม้ผู้สัมภาษณ์จะมานั่งคุยกับเขาเป็นเรื่องเป็นราวนานนับชั่วโมง
แต่สิ่งที่นิตยสารต้องการ ไม่มากขนาดนั้น

มิใช่ความผิดของผู้สัมภาษณ์-บิคเซลคิด
มิใช่ความผิดของใครทั้งนั้น เขาชอบนั่งคุยกับคนสัมภาษณ์
และค่อนข้างเขินอายกับการถ่ายรูป

รูปถ่ายในหน้านิตยสารสร้างคนได้และทำลายคนได้
รูปถ่ายเป็นเพียง ‘การเก็บชีวิต’ แค่หนึ่งวินาทีของมนุษย์คนนั้น
ย่อมไม่สามารถครอบ+คลุม ‘ความเป็นเขา’ ทั้งหมดได้
ใครกล้าตัดสินคนภายในเวลาหนึ่งวินาที?

จะตัดสินได้อย่างไร?
เป็นไปได้ว่าวินาทีนั้นอาจเป็นวินาทีที่เขาน่ารักที่สุด
เป็นไปได้ว่าวินาทีนั้นอาจเป็นวินาทีที่เขาน่าหมั่นไส้ที่สุด
เป็นไปได้ว่าวินาทีนั้นอาจเป็นวินาทีที่เขาดูโง่เง่าที่สุดในชีวิต
รูปถ่ายบันทึกได้เพียงหนึ่งวินาที

เพเตอร์ บิคเซล นักเขียนชาวสวิสเซอร์แลนด์
เขียนถึงการถ่ายรูปของช่างภาพนิตยสารเอาไว้
ในหนังสือ ‘เรื่องเล่าผิดเวลา’ เขาเล่าไว้ดังต่อไปนี้

เขาเดินไปรอบๆ ตัวผมพร้อมกับกล้อง ขอให้ผมทำอะไรก็ได้โดยไม่ต้องสนใจเขา
ผมพยายามอ่านหนังสือเล่มที่อ่านอยู่ก่อนหน้านั้น ก่อนหน้าช่างภาพผู้นี้จะมา
แล้วก็พบว่าผมไม่ได้อ่านจริงๆ เพียงแต่ทำท่าเหมือนคนกำลังอ่านหนังสือ
พบว่าตัวเองอ่านประโยคเดียวซ้ำไปซ้ำมาอยู่สามเที่ยวแล้ว
โดยประโยคประโยคนั้นไม่เข้าหัวเลย

เพเตอร์ บิคเซล นั่งหัวเราะและพยักหน้ากับข้อความที่ เพเตอร์ บิคเซล เขียนไว้
เขาเองก็มักถูกขอร้องให้ทำอะไรตลกๆ ทำนองนี้เสมอ
ช่างภาพมักอยากได้ ‘ภาพลักษณ์ของเรา’ ในแบบที่เขาอยากให้เป็น
มากกว่าที่จะอยากได้ในสิ่งที่เราเป็นจริงๆ-เขาคิด

เขาไม่สามารถทำท่าเขินใส่หน้ากล้องเพื่อเอาไปลงนิตยสารได้
ไม่มีใครต้องการดูภาพไร้พลังแลดูไม่มั่นใจแบบนั้น
คนอ่านต้องการเห็นผู้โด่งดังทั้งหลายมีความมั่นใจ แววตามุ่งมั่น
หรือไม่ก็ดูมีไฟ (สำหรับคนหนุ่มไฟแรง) ดูอารมณ์ดี (สำหรับนักดนตรีอารมณ์ขัน)
คนอ่านน่ะเหรอต้องการ? นิตยสารมากกว่ารึเปล่า? – เขาคิด

นิตยสารปั้นคนให้เป็นนั่นเป็นนี่ได้
ปั้นคนเรียบร้อยให้เซ็กซี่ ปั้นคนดีเป็นแบดบอย ปั้นคนจ๋อยให้มั่นใจ
ทำไมจะทำไม่ได้ ในเมื่อช่างภาพทั้งหลายใช้เวลา ‘บิลท์’ กันตั้งนาน
แถมยังล้างผลาญฟิลม์ไปตั้งสอง-สามม้วน

“เอาอย่างนี้ดีกว่า คุณเล่าอะไรให้ผมฟังก็ได้ อะไรก็ได้ คุณเป็นนักเขียนนี่
คุณต้องมีอะไรเล่าอยู่แล้ว” ช่างภาพคนนั้นพูดกับเพเตอร์ บิคเซล นักเขียนชาวสวิสฯ
บิคเซล เขียนเล่าไว้ในหนังสือว่า
ผมไม่ทำตามที่เขาบอก ผมไม่สามารถเล่าให้คนฟังเพียงเพื่อจะเล่าเท่านั้น
ผมไม่สามารถเล่าให้คนที่ไม่ตั้งใจฟัง คนที่เพียงอยากจะจ้องดูว่าผมเล่าอย่างไร

ผมเริ่มรับรู้ถึงอารมณ์ขุ่นมัวที่ปะทุขึ้นในตัว หมอนี่ใช้ศิลปะของตนดูหมิ่นดูแคลนผม
เขาต้องการถ่ายรูปอะไรบางอย่างที่ไม่สามารถถ่ายได้: เขาต้องการถ่ายรูปการเล่า
–เลวร้ายจริงๆ ผมเม้มริมฝีปากเข้าหากัน อยากจะได้หัวของผมก็เชิญ
หัวที่เงียบงันของผม ผมจะไปยืนตรงโน้นตรงนี้ตามที่เขาต้องการ จะหันหัวไป
นิดหน่อยด้วย แต่เขาจะไม่มีวันได้ธรรมชาติที่แท้ของผม ไม่ได้รอยยิ้มอย่างเป็นธรรมชาติ
ไม่ได้อะไรเลย

เพเตอร์ บิคเซล ยิ้มทั้งน้ำตา เขารู้สึกกับตัวหนังสือของเพเตอร์ บิคเซล
อย่างเข้าอกเข้าใจ ทั้งขำในพฤติกรรมของช่างภาพ และหดหู่ตามไปกับ
ความรู้สึกของนักเขียนผู้ทรนง

บางวินาทีของเขาถูกแปะลงบนหน้านิตยสารบางฉบับ
บางวินาทีนั้น เขาจ้องมองมันซ้ำแล้วซ้ำเล่า
เขาไม่อยากเชื่อสายตาว่านั่นคือตัวเขาจริงหรือ?

ในวินาทีนั้น ด้วยพลังอำนาจของผู้ถือกล้องถ่ายรูปตรงหน้าเขา
สามารถสะกดจิตให้เขาทำบางสิ่งบางอย่างที่ไม่ใช่ธรรมชาติของตัวเอง
และจังหวะนั้นนั่นเอง เป็นจังหวะโปรดของช่างภาพ

ช่างภาพมักจะเลือกภาพที่เขาชอบ
ภาพที่เขาอยากสื่อบุคคลคนนั้นออกไป
ภาพนั้นไม่จำเป็นต้องเป็นสิ่งที่บุคคลคนนั้นเป็นจริงๆ
และภาพที่ถูกเลือกมักจะเป็นภาพที่แปลกและออกจะพิสดารเสียหน่อย
แต่จะปฏิเสธได้อย่างไร นั่นมันก็หนึ่งวินาทีในชีวิตของคนคนนั้นจริงๆ

เพเตอร์ บิคเซล วางหนังสือ ‘เรื่องเล่าผิดเวลา’ ลงบนเตียง
เขาหัวเราะกับรูปถ่ายหลายรูป หัวเราะกับหลายวินาทีเหล่านั้น
บางทีเขาก็เป็นคนทะเล้น บางเวลาเขาก็เป็นคนเงียบขรึม
บางเวลาเขาก็ดูมุ่งมั่นจริงจัง บางเวลาเขาก็ดูโง่เง่า
บางเวลาก็ดูอยากเท่เสียเต็มประดา

และวินาทีเหล่านั้นนั่นเอง ที่ผู้พบเห็นต่างเหมาเอาว่านั่นคือตัวเขา
บ้างชอบ บ้างชัง บ้างหมั่นไส้ บ้างหลงใหล บ้างเอาเป็นแบบอย่าง
เพียงวินาทีเดียว

เขาฉวยนิตยสารเล่มล่าสุดที่เพิ่งซื้อมาเดินเข้าห้องน้ำ
นั่งลงบนโถชักโครก
ใครก็มีวินาทีที่ต้องขี้!

แฉคนไทย (หนึ่ง)

มกราคม 29, 2007

(ก่อนที่จะสำลักความฝันกันจนจุก ขออนุญาตพักไว้ก่อนครับ)

อ่านหนังสือจบไปสองเล่มครับ!
ต้องขอโม้สักหน่อย ถือเป็นความภูมิใจของช่วงเวลานี้
เพราะช่วงนี้อ่านหนังสือหลายเล่มเหมือนคนหลายใจ
แต่ก็ไม่ได้ลงเอยเสร็จสิ้นกับใครเลยจริงๆ สักราย
วันนี้ดีใจ สำเร็จไปตั้งสองเล่ม

เล่มหนึ่งค้างคามานาน ใช้เวลาอ่านอยู่ประมาณสองสัปดาห์
คือ บัลซัคกับสาวน้อยช่างเย็บผ้าชาวจีน ของ ไต๋ซื่อเจี๋ย
แปลโดย โตมร ศุขปรีชา

อีกเล่มเพิ่งซื้อมาวันนี้ครับ X-ray คนไทย 360 องศา
โดย พงษ์ ผาวิจิตร อ่านแล้วมันส์กระเด็น!

มีหลายแง่มุมในหนังสือเล่มนี้ที่รู้สึกว่า ‘โดน’
น่าจะเล่าได้หลายวันไม่แพ้ความฝันที่นั่งนึกก็ได้อีกหลายตอน
วันนี้ขอเอามาแบ่งสักส่วนหนึ่งก่อนก็แล้วกันครับ

ว่ากันด้วย…
การให้คุณค่ากับคนในสังคมไทย

อันดับแรก คือ ชาติตระกูล
จะไปขอลูกสาวใครเขา จะไปสมัครงาน สมัครเรียน
คนไทยมักดูกันที่ชาติตระกูลก่อน
ยิ่งถ้ามีตัวหนังสือ ‘ณ.เณร’ ห้อยปนอยู่ในนามสกุลด้วยแล้ว
ยิ่งมีโอกาสที่คนอื่นจะชื่นชมโดยที่ยังไม่ต้องทำอะไร
ผมเองก็เคยอยากเติมคำว่า ‘ณ มีนบุรี’ ต่อท้ายนามสกุลตัวเอง
อยู่เหมือนกัน

เราจึงมีสังคมอภิสิทธิ์ชนที่เรียกกันว่า ‘สังคมไฮโซ’
ลูกหลานของคนดังไม่ว่าเข้าวงการอะไรก็มักจะได้ ‘เส้นทางลัด’
ไปสู่ความสำเร็จเร็วกว่าคนอื่นที่มีความสามารถเท่าๆ กัน

นิตยสารต่างๆ ก็นิยมซุบซิบคนในสังคมชั้นสูงเหล่านี้
แต่ไม่เห็นมีใครซุบซิบคนเก่งกันบ้างเลย
อืม เราน่าจะมี oops! ฉบับเด็กเคมีโอลิมปิกบ้างเนอะ

แฉ! น้องวิภาอ่านเคมีถึงตีสี่ไม่หลับไม่นอน
แม่บ่นอุบ อยากให้อ่านถึงตีห้า

อันดับสอง คือ ทรัพย์สมบัติ ความร่ำรวย
จุดเด่นของหนังสือเล่มนี้ คือ การหยิบยกข้อสังเกตในชีวิตจริงขึ้นมา
อย่าง ป้าย ‘บ้านนี้อยู่แล้วรวย’ มักจะขายดีกว่า ‘บ้านนี้อยู่เย็นเป็นสุข’
สำนวนไทยอย่าง ‘มีเงินนับเป็นน้อง มีทองนับเป็นพี่ ถ้ามีที่ทางดีๆ
ก็นับเป็นพ่อเลยแหละ’ หรือข้อสังเกตกับคนถูกหวยที่จะมีญาติโกโหติกา
เพิ่มมาจากไหนต่อไหนมากมาย

ซึ่งก็พอจะเป็นเครื่องพิสูจน์ได้ว่า พี่ไทยเราชอบนับญาติกับคนรวย
ส่วนเงินที่รวยมานั้นมาจากไหน พี่ไทยไม่ค่อยสน

อันดับสาม คือ ความเป็นสากล
ใครที่ได้ไปหายใจสูดคาร์บอนไดออกไซด์ที่เมืองนอกเมืองนามา
มักจะมีราศีผ่องอำไพมากกว่าพวกที่หมกตัวอยู่ในเมืองไทยตั้งแต่เกิด
‘เด็กจบนอก’ ไม่ว่าจบจากห้องแถวในซอกซอยไหนของเมืองนอก
กระทั่งว่าจะจบหรือไม่จบ ก็มักมีราศีดีกว่าชาวบ้าน
เพราะพี่ไทยมักเชื่อว่า เมืองฝรั่งมีดีกว่าบ้านเฮา

ในหนังสือเขียนไว้ด้วยว่า ทั้งที่บางคนที่ไปเรียนเมืองนอก
ก็เพราะสอบไม่ติดในเมืองไทย แต่ผมว่าข้อสังเกตนี้
ดูจะโหดร้ายไปสักนิด

อันดับสี่ คือ ดีกรีการศึกษา
บัณฑิตแม้มาขายขนมครก ก็ยังได้รับการยกย่องว่าเป็น
‘ขนมครกบัณฑิต’ ‘น้ำเต้าหู้ปริญญาโท’ หรือ ‘ไก่ย่างปัญญาชน’
ซึ่งอันนี้ผมยืนยันว่า ‘ขนมครกปริญญา’ ที่มีนบุรีขายดีมาก
แม้ว่าลูกชายคนขายจะไม่ได้จบปริญญาด้านขนมครกมาก็ตาม

แปลกดีที่เรามักรู้สึกว่า คนมีการศึกษาจะทำอะไรได้ดีกว่า
แม้ว่าจะขายเต้าฮวย เฉาก๊วย บ๊ะจ่าง ก็ดูน่าเชื่อถือกว่า
อาเจ๊ อาซ้อ ผู้ชำนาญการมานานกว่ายี่สิบปี

ในหนังสือเล่มนี้พูดถึงการให้ค่าของคนที่ลาออกก่อนเรียนจบอย่าง
ริชาร์ด แบรนด์สัน (เวอร์จิ้น), เดล (เจ้าพ่อคอมพิวเตอร์ขายตรง),
บิล เกต (ไมโครซอฟต์) ที่ได้รับเกียรติเชิญไปสอนนักศึกษา
ในมหาวิทยาลัยดังๆ ของโลก ก่อนตบท้ายว่า กฎของมหาวิทยาลัย
เมืองไทยบอกไว้ว่า ผู้ที่จะสอนคนอื่นได้ต้องจบการศึกษาสูงกว่าหนึ่งขั้น

แม้จะมีวิทยากรนอกมาสอนบ้าง แต่หัวข้อนี้ก็ดูท่าจะจริง
ในแง่ของการให้คุณค่าคนในสังคมส่วนใหญ่ ที่ยังคงวัดคน
จากใบปริญญามากกว่าความสามารถหรือประสบการณ์

อันดับห้า คือ หน้าที่การงาน
โดยเน้นไปที่ข้าราชการ ที่หลายคนยังมีความเชื่อว่าได้เป็นเจ้าคนนายคน

อันดับหก คือ การประสบความสำเร็จในหน้าที่การงานที่ผ่านมา
พูดถึงความสำเร็จที่ต้องประโคมกันให้โด่งดัง

ซึ่งสองอันดับหลัง ผมค่อนข้างเห็นว่าเป็นเรื่องทั่วไป
ที่คนมักให้ค่ากันเป็นปกติ

พรุ่งนี้ (ถ้าไม่ง่วง) จะมาต่อกันที่เก้านิสัยของคนไทย
ที่อ่านแล้วเหมือนนั่งดูตัวเองยังไงยังงั้น
โปรดติดตามตอนต่อไปครับ!

คำถามเกี่ยวกับความฝัน (สี่)

มกราคม 27, 2007

เรามีฝัน
คนที่เรารักก็มีฝัน
และ-เราก็มีสิทธิ์ที่จะเป็นหนึ่งในฝันของคนที่เรารัก

คนที่เรารัก และคนที่รักเรา มักมีความรักและคาดหวังในตัวเราเป็นปกติ
คาดหวังให้เป็นอย่างนี้อย่างนั้น คาดหวังให้ได้ดิบได้ดี
ได้ดิบได้ดีในแบบที่พวกเขาคิดฝัน ซึ่งอาจเป็นคนละสิ่งกับที่เราฝัน

คราวนี้จะทำยังไง?
ในเมื่อเราไม่ได้อยู่ตัวคนเดียวในโลก
ตัวเราผูกอยู่กับหลายคน ในหลายสถานะ
เมื่อเราขยับตัว ย่อมส่งผลกระทบต่อคนเหล่านั้นโดยไม่ตั้งใจ
กระทบแรงบ้าง เบาบ้าง แต่ย่อมส่งผลกระทบ
กระทบดีบ้าง กระทบแย่บ้าง แต่ย่อมส่งผลกระทบ

สายสัมพันธ์คล้ายเส้นด้ายที่ผูกโยงเราไว้ด้วยกัน
เมื่อมีรักก็มักมีสายสัมพันธ์เกิดขึ้นตามมา
สายใยที่มองไม่เห็น จึงตัดไม่ได้
อย่าว่าแต่ตัดขาด แค่คิดจะตัดก็ไม่รู้จะจับต้นชนปลายตรงไหน

ในเมื่อเราเป็นฝันของพวกเขา เราจะทำอย่างไร?
อยากให้ฝันของเขาเป็นจริง ก็อยาก
อยากให้ฝันของเราเป็นจริง ก็อยาก
หากมันไม่ใช่สิ่งเดียวกัน ย่อมนำมาซึ่งทางสองแพร่ง
ขณะยืนอยู่ ณ แยกนั้น เราจะตัดสินใจเดินไปสู่ทางใด?

ทางแรก-ไปในทางที่คนที่เรารักวาดฝัน
ทางสอง-ไปในทางที่เราวาดฝัน

ทางแรก เดินไปให้สุดทาง ก้าวทุกย่างด้วยความตั้งใจ
ทำทุกก้าวให้ดีที่สุด เพื่อให้คนที่เรารักและรักเราเค้าได้ปลื้ม
แววตาในยามที่เค้ามองเราอย่างปลาบปลื้มนั้นน่ายินดี
เหมือนเราได้เห็นแววตาของคนที่ได้เห็นความฝันที่เป็นจริง
(โดยไม่ต้องออกรายการของคุณไตรภพ)

แต่ในยามที่ส่องกระจก เราอาจพบแววตาแห่งความเสียดาย
และคับข้องใจว่าถ้าเราเลือกเดินไปอีกทางจะเป็นเช่นไร?

คนเรามีความสุขได้หลายวิธี
สุขจากการที่ได้เห็นคนที่เรารักมีความสุข ก็เป็นความสุขแบบหนึ่งใช่ไหม?

หรือจะเลือกทางที่สอง?
เดินไปตามความชอบและความฝันของตัวเอง
อาจมีบ้างที่คนที่เรารักไม่เข้าใจ ไม่เห็นด้วย ไม่สนับสนุน
แต่ก็ยืนยันที่จะเดินดุ่มไป ในทางที่พวกเขาบอกว่าอันตราย

ยิ่งเลือกทางนี้ยิ่งเหนื่อย ยิ่งต้องฝ่าฟัน
เพราะนอกจากฝ่า+ฟันกับอุปสรรคที่เรียงรายอยู่ตลอดเส้นทางแล้ว
ยังต้องฝ่าฟันกับขวากหนามของคำเตือน คำสบประมาท คำดุว่า
และความห่วงใยจากคนที่เรารักทั้งหลายด้วย

รัก คือ อิสระ
ใครหลายคนพูดไว้

หากความรักคืออิสระ
การปล่อยให้คนที่เรารักได้ทำในสิ่งที่เขาคิดฝันและอยากลงมือ
ย่อมคือความรักประเภทหนึ่ง

ห่วงใยได้ แต่มิใช่กักขัง

ยิ่งวันยิ่งเชื่อว่า คนเราต้องเรียนรู้ดีร้ายด้วยตนเอง
ไม่มีใครสรุปบทเรียนชีวิตให้ใครได้
เพราะเราต่างมีศักยภาพที่แตกต่างกัน
เธอทำไม่สำเร็จ ฉันอาจทำสำเร็จก็ได้
เธอทำสำเร็จ ฉันอาจทำไม่สำเร็จก็ได้
ประสบการณ์ของเธอจึงไม่ควรถูกหยิบขึ้นมาตัดสินชีวิตฉัน

วิชาชีพนั้นดี วิชาชีพนี้ไม่ดี คำเหล่านี้ไม่ใช่สิ่งจริงแท้เสมอไป
ขึ้นอยู่กับว่า ‘ใคร’ ไปทำ ‘อะไร’ มากกว่า
คนเราถนัดไม่เหมือนกัน มีความสามารถไม่เหมือนกัน รักอาชีพไม่เหมือนกัน
และมีพลังกับการทำสิ่งใดสิ่งหนึ่งไม่เท่ากัน

คนหนึ่งอาจยอมทำงานอย่างหนึ่งถึงดึกดื่น
ขณะที่ทำงานอีกอย่างหนึ่งถึงห้าโมงเย็นก็เหนื่อยหน่าย

เรามักทุ่มเทพลังให้กับสิ่งที่เรารักเสมอ

แล้วคนที่เรารักล่ะ?

หากใครสักคนเลือกทางที่สอง-ก้าวไปตามทางที่ฝัน
และลงมือทุ่มพลังกายพลังใจทั้งหมดที่มีใส่เป้แล้วออกเดิน
ใช้เหลี่ยมคมแห่งความรักในทางเส้นนั้นฝ่าและฟันหนามแหลม
ระหว่างทาง กรุยทางที่เคยเดินยากให้ราบเรียบลงได้
ใครคนนั้นอาจได้พิสูจน์อะไรบางอย่าง

พิสูจน์กับตัวเอง
และพิสูจน์กับคนที่เขารัก
พิสูจน์ว่าทางเส้นนั้นสวยงามไม่แพ้ทางเส้นที่ไม่ได้เลือก

ทางสองเส้นต่างสวยงาม
อยู่ที่ใครชอบแบบไหน

แต่ในเมื่อเราจำเป็นต้องเดินบนเส้นทางนั้นอย่างโดดเดี่ยว
โดยมีคนที่เรารักทำได้แค่เพียงคอยเอาใจช่วยอยู่ห่างๆ
เราก็น่าจะเลือกทางที่เราเห็นว่าสวย มิใช่ทางที่เขาเห็นว่าสวย
ใช่หรือไม่?

แต่หากใครมิได้เลือกทางที่ว่า
อย่าได้เสียใจไป
ใครคนนั้นอาจไม่ได้หลงใหลทางที่ไม่ได้เลือกมากเพียงพอ
เพียงพอที่จะเสี่ยง เพียงพอที่จะยืนยันในความฝัน เพียงพอที่จะก้าวไป
และเขาหรือเธออาจคิดและตอบกับตัวเองเป็นที่เรียบร้อยแล้วก็ได้ว่า
“ฉันรักคนที่ฉันรักมากกว่าความฝัน”
“ฉันอยากเห็นฝันของพวกเขาเป็นจริงมากกว่าฝันของฉันเอง”
ซึ่งนั่นย่อมเป็นคำตอบที่สวยงามสำหรับเขาหรือเธอ

แน่นอน-ใครสามารถเดินบนสองทางได้ย่อมน่าอิจฉายิ่ง

เราต่างมีฝัน
คนที่เรารักก็มีฝัน
เราต่างรักกัน
และความรัก คือ อิสระ.

งานสี่สิบห้าปีวรรณศิลป์

มกราคม 27, 2007

ข่าวฝากครับ ช้าไปหน่อย เผื่อใครผ่านมาและผ่านไป ขอเชิญครับผม

ชมรมวรรณศิลป์ จุฬาฯ ขอเชิญผู้ที่สนใจในแวดวงหนังสือ
มาร่วมสนุกด้วยกันในงาน “๔๕ ปีวรรณศิลป์”

พลาดไม่ได้กับ…การเสวนา
“วรรณศิลป์ผลิใบ คลื่นลูกเก่า – ใหม่แห่งวรรณกรรม”

ร่วมฟังการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นเกี่ยวกับวรรณกรรมในปัจจุบัน
ทั้งวรรณกรรมแนวทดลอง วรรณกรรมในโลกไซเบอร์ หนังสือทำมือ
และหนังสือนักศึกษา แนวการเขียนใหม่ๆ รวมถึงการให้คำแนะนำ
สำหรับผู้ที่กำลังฝึกเขียน ผ่านทาง 1 นักเขียนอาวุโส และ 3 นักเขียนร่วมสมัย

– ชมัยภร แสงกระจ่าง เจ้าของนามปากกา “ไพลิน รุ้งรัตน์”
นักวิจารณ์หนังสือและนักเขียนชื่อดัง เจ้าของผลงาน “รังนกบนปลายไม้”
ที่สร้างเป็นละครหลังข่าวภาคค่ำช่อง 3 ในขณะนี้

– อรุณวดี อรุณมาศ นักเขียนหญิงคลื่นลูกใหม่ เข้าชิงรางวัลซีไรต์จากรวมเรื่องสั้น
“การล่มสลายของสถาบันครอบครัวที่ความรักไม่อาจเยียวยา”

– “นิ้วกลม” เจ้าของผลงาน “โตเกียวไม่มีขา”, “กัมพูชาพริบตาเดียว”,
“เนปาลประมาณสะดือ” และความเรียง “อิฐ”

– ปณิธาน รอดเหตุภัย ยุวกวีดีเด่นแห่งชาติ
ผู้ได้รับรางวัลชนะเลิศ Young Thai Artist Award
จากรวมบทกวี “ใจกรุง” และรางวัลดีเด่นจากรวมบทกวี “แห่งห้วงฤทัยสมัย”

และกิจกรรมน่าสนใจอีกมากมาย
– การออกร้านขายหนังสือและหนังสือทำมือ
– การจัดนิทรรศการให้ความรู้ด้านวรรณกรรม
– การมอบรางวัลการประกวดเรื่องสั้นละบทกวี “รางวัลเกียรตินิยมวรรณศิลป์ ครั้งที่ ๓”
– การอ่านบทกวีประกอบดนตรี (Melopoetry)
– การเปิดตัว “ภาคีวรรณศิลป์” การรวมกลุ่มของชมรมวรรณศิลป์ 4 สถาบัน
ได้แก่ จุฬาฯ ธรรมศาสตร์ เกษตรศาสตร์ และ ศิลปากร

พบกันในวันเสาร์ที่ 27 ม.ค. 2550 ณ สวนสันติชัยปราการ
(รอบป้อมพระสุเมรุ ปลายถนนพระอาทิตย์ติดกับแม่น้ำเจ้าพระยา ปากคลองบางลำพู)

กำหนดการ
14.00 น. เปิดร้านขายของและแสดงนิทรรศการ
15.00- 16.00 น. รับลงทะเบียน
16.00- 16.45 น. เปิดงาน / มอบรางวัลเกียรตินิยมวรรณศิลป์
16.45-17.15 น. การอ่านบทกวีประกอบดนตรี
17.15-17.45น. เปิดตัวภาคีวรรณศิลป์
17.45-20.00 น. การเสวนาในหัวข้อ
“วรรณศิลป์ผลิใบ คลื่นลูกเก่า – ใหม่วรรณกรรม”

*สามารถเดินทางไปยังสวนสันติชัยปราการได้ทางรถเมล์
สาย 3, 6, 15, 19, 43, 65 และ 82

กล่องหย่อนความเห็น

มกราคม 26, 2007

โพสต์หัวข้อที่แล้วแล้วมัน error ครับ
ไม่มีช่องให้หย่อนความเห็น
เลยตั้งหัวข้อนี้ขึ้นมาสำหรับใส่ความเห็นครับ
เผื่อใครอยากแลกเปลี่ยน ใส่ไว้ที่นี่ได้ครับ
😀

คำถามเกี่ยวกับความฝัน (สาม)

มกราคม 26, 2007

หากชีวิตมีสองสิ่ง ‘จริง’ กับ ‘ฝัน’
เราควรจะมีความสุขกับทั้งสองอย่างจริงไหม?

หากมัวแต่จับจ้องมองไปที่ความฝัน
แล้วไม่ใส่ใจกับสิ่งที่ทำอยู่ตรงหน้า
ก็ดูเหมือนว่าจะทรยศหน้าที่เกินไปหน่อย

จริงอยู่-คนเรามีสิ่งที่ต้องทำ
ซึ่งบางวันมันอาจแลดูแห้งแล้ง จืดชืด เย็นชา
ไร้ความตื่นเต้น ไม่เห็นจะสนุก
แต่หากมองดูจริงๆ ไอ้สิ่งที่ต้องทำนั้นก็อาจมีความฝันซ่อนอยู่

แม่ค้าขายส้มตำอาจฝันอยากเป็นช่างทำผม
แต่จริงๆ แล้วในครกส้มตำก็มีความฝันอยู่เหมือนกัน
เธออาจลองฝันอยากมีส้มตำเฟรนไชส์
เธออาจตั้งใจตำส้มตำมากขึ้น เมื่อเห็นจุดหมายเป็นป้ายร้านเต็มเมือง

ตลกในวงดนตรีลูกทุ่งอาจฝันอยากเป็นศิลปินเดี่ยว
แต่จริงๆ แล้วระหว่างที่ถาดฟาดลงบนหัว
ก็มีฝันกระเด็นออกมาเหมือนกัน
ตลกคนนั้นอาจตั้งเป้าว่าจะเล่นให้คนฮามากขึ้นเรื่อยๆ
เขาอาจตั้งอกตั้งใจเล่นจนได้เป็นหัวหน้าคณะ
และสุดท้ายก็ได้ดิบได้ดีได้เป็นเศรษฐีจากความฮา

ทำในสิ่งที่รัก และ รักในสิ่งที่ทำ
หากใครสักคนทำทั้งสองอย่างควบคู่กันไป
เขาน่าจะเป็นคนที่มีความสุข

ขยายความให้ตัวเองเข้าใจ
เคยเปรียบเทียบสิ่งที่ทำตอนกลางวันเป็น เมียหลวง
ส่วนสิ่งที่แอบทำตอนกลางคืนเป็น เมียน้อย

ในเมื่อเมียน้อยน่ารักและเย้ายวน เราคงแสวงโอกาสดุ่มเข้าไปหาบ่อยๆ
สิ่งที่เรารักมัน เรามักมีเวลาให้มันเสมอ (เมื่อเมียหลวงเผลอ)
แต่ไอ้ครั้นจะทิ้งเมียหลวง หรือคบหากันแบบอยู่ๆ กันไป ก็ดูไร้คุณภาพ
เราน่าจะปันความรักมาให้เมียหลวงบ้าง อย่างจริงใจ
แม้เมียหลวงจะขี้บ่น จุกจิก หนังเหี่ยว ไม่ตื่นเต้น ไม่เร้าใจ
แต่ก็คงมีมุมให้รักบ้าง

หากได้ทำในสิ่งที่รัก (เมียน้อย) และได้รักในสิ่งที่ทำ (เมียหลวง)
ก็แลดูน่าจะมีความสุขดี เพราะได้มีตั้งสองเมีย

หมายเหตุ: สำหรับเยาวชนทางบ้านและในห้องส่ง
อันนี้เป็นการเปรียบเทียบเกี่ยวกับหน้าที่การงานและความฝัน
มิได้หมายถึงภรรยาที่มีหัวจิตหัวใจและมีมือไม้แข็งแรงพอที่จะกำสากกะเบือ
อันนั้นไม่ควรมีหลวงมีน้อย ไอ้ครั้นทำเค้าเจ็บไม่น่ะเท่าไหร่
เกรงว่าเค้าจะทำเราเจ็บ(กบาล)น่ะสิ! อันนี้น่ากลัว!

ว่างๆ ก็น่าลองถามตัวเองว่า ‘เมียหลวง’ น่ารังเกียจขนาดนั้นจริงหรือ?
ถ้าการอยู่ด้วยกันมันโหดร้ายทารุณมาก ก็ควรรีบเซ็นต์ใบหย่าโดยด่วน

แต่หากคำตอบคือ เปล่านี่!
ก็อาจทำให้ลองมาประพฤติตัวกับเมียหลวงให้ดีขึ้น
ลองมีฝันร่วมกันกับเมียหลวงบ้าง น่าจะทำให้ชีวิตคู่เป็นสุข
โดยไม่ต้องปรึกษาไบรวู้ดมากาเร็ต

ว่างๆ ลองนั่งมองหน้าเมียหลวง
ว่างๆ ลองนั่งคิดครวญถึงสิ่งที่ทำอยู่
เราพอจะมีความฝันกับมันได้บ้างไหม?

มีฝันในหน้าที่จริง
มีฝันในชีวิตประจำวันที่เราไม่ค่อยตื่นเต้นอะไรกับมัน

หากชีวิตมีสองสิ่ง ‘จริง’ กับ ‘ฝัน’
และเราสามารถมีความสุขกับมันได้ทั้งสองสิ่ง
ยี่สิบสี่ชั่วโมงที่หายใจในแต่ละวันคงมีความสุขไม่น้อย

ถึงเวลาหลับก็อยากหลับ
ถึงเวลาตื่นก็อยากตื่น

ใน ‘จริง’ มี ‘ฝัน’
ขออนุญาตอวยพรให้พี่น้องผองเพื่อนหาเจอพร้อมหน้ากัน
จะได้มีความสุขกันทั้งกลางวันและกลางคืน
ทั้งตอนตื่นและตอนหลับ.

คำถามเกี่ยวกับความฝัน (สอง)

มกราคม 25, 2007

‘ความจริง’ กับ ‘ความฝัน’ อยู่ห่างจากกันแค่ขนาดของหมอน
พอเราหลับ ความจริงตรงหน้าจะหายวับไปกับตา
และพื้นที่ของความฝันก็เปิดกว้างขึ้น

ความจริงที่หายไปนั้นรวมความไปถึงข้อจำกัด ความเป็นไปไม่ได้
และความจำเป็นต่างๆ นานา ที่เราต้องลืมตามองมันมาตลอดทั้งวัน
แต่เมื่อเราเดินทางเข้าสู่พื้นที่แห่งความฝัน มันจะหายตัวไป

ในอาณาบริเวณของความฝัน เราจะทำอะไรก็ได้ อะไรก็เกิดขึ้นได้!

เราว่าความฝันมีหลายขนาด
และฝันขนาดใหญ่ก็สามารถหั่นซอยออกเป็น ‘ฝันย่อย’ ได้

หากฝันใหญ่คือพิชิตเขาเอเวอร์เรสต์
ฝันย่อยก็เอาแค่พิชิตภูกระดึงไปก่อน
ฝันกลางก็อาจหาเวลาไปให้ถึงหัวเข่าหิมาลัย
ฝันไซส์แอลก็อาจลองเดินไปให้ถึงค่ายฐาน
ตามแต่เวลาและโอกาสจะอำนวย

หากฝันใหญ่คือรางวัลซีไรต์
ฝันย่อยอาจเป็นการได้ส่งผลงานไปลงในนิตยสารสักเล่ม
ฝันกลางก็อาจจะเป็นพ็อกเก็ตบุ๊กรวมงานจากคอลัมน์นั้น
ฝันไซส์แอลก็อาจจะเป็นผลงานที่เขียนขึ้นมาใหม่ทั้งเล่ม
ตามแต่เวลาและโอกาสจะอำนวย

สำหรับความฝัน เราน่าจะพอหาเวลาและโอกาสให้มันได้
ฝันของใครก็ของมัน กรุณาเติมฝันในช่องว่างด้วยตนเอง

ตัวอย่างที่ยกมาบอกใบ้ว่า เราน่าจะฝันให้ใกล้แล้วไปให้ถึง
ค่อยๆ เขยิบสู่จุดหมายโดยไม่บ่ายหน้าหนีไปทางอื่น
จุดหมายอยู่ไหน ก็มุ่งหน้าไปในทางนั้น
มุ่งหน้าไป-โดยที่อาจไม่จำเป็นต้องใช้เวลาส่วนใหญ่
หากแต่-ใช้เวลาที่เหลือ
เหลือจากเวลาในส่วนของความจริง

หากความจริงคือกลางวัน ความฝันอาจเป็นกลางคืน?

เผชิญหน้าความจริงที่ต้องอยู่กับมันให้ได้ดีที่สุดในตอนกลางวัน
และกระโจนเข้าสู่ดินแดนแห่งความฝันในเวลากลางคืน
หากเรารักสิ่งไหน เราน่าจะหาเวลาให้สิ่งนั้นได้

(ใครที่บอกว่ารักแฟนแต่ไม่มีเวลาให้แฟน
แบบนั้นแปลว่ารักแต่ปาก)

แบ่งปันและจัดสรรเวลามา ‘มุ่งหน้า’ ไปยังสิ่งที่ฝัน

มุ่งหน้าไปในทิศทางนั้น
เพราะหากเดินไปทิศทางอื่นย่อมยากที่จะไปถึง
อยากขึ้นสู่ยอดเอเวอร์เรสต์
แต่ดันเดินดุ่มไปตามทะเลทรายซาฮาร่า จะไปถึงได้อย่างไร

อย่างน้อย หากไม่ได้มุ่งไปในทางนั้น
ก็น่าจะหาเวลาลงมือฝึกปรือในสิ่งที่ไม่ต่างไปจากสิ่งที่ฝัน
ฝึกไต่เขาเตี้ย เพื่อให้กล้ามเนื้อแข็งแรงมากขึ้น
เผื่อวันหนึ่งมีโอกาสได้ไต่เขาสูงจะได้พร้อม

ความสุขจากการพิชิตยอดภูกระดึงกับเอเวอร์เรสต์
เป็นความสุขประเภทเดียวกัน-เราเดาว่าอย่างนั้น
ค่อยๆ พิชิต ค่อยเป็นค่อยไป ค่อยๆ มีความสุข

ไม่ใช่ทุกคนที่จะพิชิตยอดเขาที่สูงที่สุด
และความสุขก็อาจไม่ได้รออยู่ที่ยอดเขาแห่งนั้น
หากแต่มันเกิดขึ้นระหว่างเดินไต่ระดับขึ้นไปต่างหาก
เป็นความสุขที่มาพร้อมหยดเหงื่อ
สุขแต่เหนื่อย ก็เพราะเหนื่อยจึงสุข

หยดเหงื่อที่ไหลออกมาจากการมุ่งหน้าเข้าหาฝัน
หากลองแลบลิ้นไปเลียมันน่าจะมีรสหวาน

หากความฝันได้มาง่ายๆ เหมือนเดินไปซื้อกล้วยแขกปากซอย
ก็คงไม่มีค่า และไม่ชวนให้โหยหาถึงเพียงนี้

เราเดาว่าคนส่วนใหญ่แอบมีความฝันเก็บไว้ในใจ
บ้างบอกคนที่พอบอกได้ บ้างก็เก็บงำไว้คนเดียว

หากเรามีน้องชายหรือน้องสาวแล้วมันอยากทำในสิ่งที่ฝัน
แต่ดันต้องทำสิ่งอื่นที่จำเป็นสำหรับการเลี้ยงชีวิต
เราจะขอร้องให้มันหาเวลามาทำในสิ่งที่ฝัน แม้วันละไม่กี่นาที
เพราะสิ่งที่ฝันก็เป็น ‘สิ่งจำเป็น’ สำหรับชีวิตเช่นกัน

หากต้องเลือกระหว่าง ‘สิ่งที่ต้องทำ’ กับ ‘สิ่งที่อยากทำ’
เราว่า ‘สิ่งที่อยากทำ’ นั่นแหละเป็น ‘สิ่งที่ต้องทำ’ ที่สุด

ทำแค่วันละไม่กี่นาที
แล้วเมื่อไหร่เราจะไปถึงฝันล่ะพี่? – น้องอาจถามเราแบบนี้
เราคงตอบว่า – กูจะไปรู้เหรอ มันขึ้นอยู่ที่ตัวมึง

แกล้งห้าวไปงั้นแหละ จริงๆ เราแอบคิดในใจแล้วว่า
ไม่กี่นาทีในแต่ละวันที่น้องได้ทำมันก็เหมือนกับ
ช่วงเวลาที่เราได้หลับตาหลบไปจากโลกแห่งความจริง
ทิ้งข้อจำกัด ความจำเป็น และความเป็นไปไม่ได้นานาไปชั่วขณะ

และช่วงเวลาเล็กๆ นั้นนั่นแหละ
ที่ความฝันได้กลายเป็นความจริงไปแล้ว.