Archive for the '17: วันละสั้นๆ' Category

ตูดในอิฐ

ตุลาคม 28, 2007

ผมเห็นรอยยิ้ม และได้ยินเสียงหัวเราะของคุณผู้อ่านที่ยืนอยู่ตรงหน้าหลายครั้ง เมื่อผมจรดปากการ่างรูป “ตูด” (ของแท้ต้องมีสิว ผด เม็ดโรคผิวหนัง และขน) ลงในหนังสือ “อิฐ”

ผมว่า “ตูด” เป็นอวัยวะที่น่ารัก และชวนให้ขำ เรียกรอยยิ้มได้ง่าย เหมือนจะเป็นจุดซ่อนเร้นแต่รูปร่างหน้าตาของมันก็อ้วนๆ กลมๆ นุ่มๆ น่าตบน่าตี (ตูดใครแข็งๆ เหลี่ยมๆ ก็เถียงมา) ตูดจึงออกไปทางน่าเอ็นดูมากกว่าน่าขยะแขยง

หลายคนพอขำเสร็จก็สูดหายใจลึกหนึ่งฟืดแล้วเอ่ยปากถามว่า “ทำไมต้องตูดด้วย?” ผมยิ้ม บางทีก็ตอบว่า “คำตอบอยู่ในเล่มครับ” ถ้าว่างหน่อยก็จะจิ้มประโยคหนึ่งในหนังสือ “อิฐ” ให้เชยชม พร้อมกับบอกด้วยว่า “ผมชอบประโยคนี้มาก”

ประโยคนั้นคือ “ถึงหากว่าการสร้างสรรค์ของข้าพเจ้าจะเป็นเพียงการผายลม อย่างน้อยที่สุดก็ย่อมจะดีกว่าการสูดดมลมที่ผู้อื่นผายออกมาอย่างแน่นอน” มันออกมาจากปาก (กา) ของ “โกวเล้ง” ครับ

ผมเคยได้ยินมาว่า วรรณกรรมชื่อก้องของ โกวเล้ง นั้น ภายในยุคสมัยของเขา ในแวดวงขีดเขียนก็ยังมีนักวิจารณ์หลายคนบ่นผ่านงานวิจารณ์ว่างานของโกวเล้งเป็นวรรณกรรมขยะ ไร้คุณค่า มิได้ต่างอะไรจากการ “ผายลม”

ใครชอบดม “ตด” บ้างครับ?
ผมนี่แหละตัวดีเลย ทั้งตดตัวเอง และตดคนอื่น
ตดมักจะสร้างความรู้สึกหนึ่งให้เกิดขึ้น และหากขยันดม เราก็จะจับได้ว่า กลิ่นนี้ท่านใดผายออกมา

ผมว่าโกวเล้งขี้เล่นดี แซวนักวิจารณ์กลับอย่างมีอารมณ์ขัน คือ อย่างน้อยกว่าจะมีงานเขียนสักเล่มนักเขียนก็ยังต้องใช้แรงเบ่ง และใช้เวลากว่าจะ “ปู๊ด” ออกมาได้ แต่นักวิจารณ์นั้นทำเพียงยื่นจมูกมาสูดกลิ่นตดจาก “ตูด” ของโกวเล้ง แล้วก็ร้องออกมาว่า “อี๋ เหม็น” เท่านั้นเอง

ผมไม่เคยรังเกียจอาชีพนักวิจารณ์ แถมยังชอบอ่านบทวิจารณ์หนัง เพลง และหนังสือเสียด้วย ผมชอบฟังมุมมองที่แตกต่างออกไป งานศิลปะมองได้ด้วย “เกณฑ์” และ “แว่น” ไม่รู้กี่ร้อยกี่พันแบบ

แต่ประโยคนี้ของโกวเล้ง เป็น “พลังใจ” ให้กับนักสร้างสรรค์ทุกคน ให้ไม่กังวลกับการเบ่งงานออกมา ต่อให้มันเป็น “ตด” แต่อย่างน้อยเราก็ได้ “สร้าง” อะไรขึ้นมาประดับไว้บนโลก และเมื่อได้รับคำติ คำวิจารณ์บ้าง ที่น่ารับฟังและนำไปสู่การพัฒนางานให้ดีขึ้นก็ไม่น่ามีปัญหา แต่หากได้รับคำบ่นที่ไม่ค่อยสร้างสรรค์ก็ไม่น่าท้อ และลองถอยออกมามองสักหน่อย ก็จะเห็นว่า อย่างน้อยเราก็เป็นคนตด และเขาเป็นคนดมกลิ่นตดเรา และนั่นอาจทำให้เราอยากจะตดต่อไป

อุปสรรคหนึ่งของการสร้างสรรค์อะไรแปลกๆ ใหม่ๆ มักจะเป็นความไม่แน่ใจ ไม่มั่นใจ ว่ามันจะดีหรือไม่ เพราะหากเราวัดมันด้วยเกณฑ์เดิมๆ วัดจากสิ่งที่มีอยู่แล้ว สิ่งที่เขาว่ากันว่าดีอยู่แล้ว สิ่งที่ขายได้อยู่แล้ว สิ่งที่ผู้คนชื่นชอบอยู่แล้ว นั่นย่อมเสี่ยงต่อการถูกกล่าวหาว่าเป็นเพียง “การผายลม”

แต่พอดีว่าผมชอบดมลมตด และไม่อยากให้คนร่วมบ้านเมืองพากันกลั้นตดจนหน้าเขียว เวลากลั้นตดนี่มันอึดอัดนะครับ หากมีคนสร้างสรรค์อะไรสนุกๆ กล้าๆ ออกมามากๆ ผมว่า โลกมันก็น่าเบื่อน้อยลง และนั่นก็เป็นเหตุผลที่ผมวาดรูป “ตูด” ปล่อยลม “ตด” ลงไปในหน้าแรก เมื่อคุณผู้อ่านถือหนังสือ “อิฐ” มาให้ขีดเขียนลายเซ็น

“ขอให้ตดให้สนุกนะครับ”
“ตดให้สนั่นไปเล้ย!”
“ว่างๆ อย่าลืมตดให้โลกดมนะครับ”
ข้อความเหล่านี้มักจะห้อยอยู่ใต้ตูดขึ้นสิว และขนหรอมแหรม

หากไม่ปวดตดก็ไม่เป็นไรครับ ดำเนินชีวิตกันตามสบายต่อไปเถิด
แต่หากใครสักคนกำลังปวดตดล่ะก็ อย่าได้ปล่อยให้ความกังวลและเกณฑ์มาตรฐานของใครคนอื่นมาทำให้เราต้องอายที่จะปล่อยลมของเราออกมา และอย่ากลั้นมันเอาไว้จนมันหายไปในช่องท้องและช่องสมองเลยครับ เบ่งให้เต็มที่ ไม่ต้องขมิบ

ตดออกมาเถิดครับ
หากไม่ตด เราก็ไม่รู้หรอกว่า
ตดของเรานั้นหอมหรือเหม็น

ถ้าเมทริกซ์ทำได้ อะไรก็ทำได้!

ตุลาคม 19, 2007

เมื่อวาน ผมเดินไปดูงานน้องอาร์ตไดเร็กเตอร์ในทีม
ผมขอให้เขาช่วยปรับ+เปลี่ยนอะไรนิดหน่อย
ประมาณว่าตัดหัวคนนี้ไปต่อหัวคนนั้น ดัดนู่นนิดนี่หน่อย
แต่งสี เพิ่มความเนียน เติมเงา ดัดเข้า perspective
ตอนพูดมันก็ง่าย ผมพูดจบภายในเวลาแค่สองนาที
แต่ไอ้ตอนทำนี่สิ ผมออกจะเป็นห่วงว่ามันจะยากไหม
ตอนนั้นมันก็ดึกแล้วเหมือนกัน ก็เลยเอ่ยปากถามเนี่ยลั่งว่า
“ยากไหม เป็นไปได้ไหม พอทำได้ไหม?”
เขาก้มหน้า ยิ้มเจื่อนๆ หัวเราะแหะๆ ในใจคงคิดว่า
“ให้บิดาพี่มาทำน่าจะเหมาะกว่า” แต่ก็ฝืนยิ้มแล้วตอบออกมาว่า
“ถ้าเมทริกซ์ทำได้ อะไรก็ทำได้”

ผมไม่เข้าใจประโยคของเขา จึงเอ่ยปากถามว่า
“ว่าไงนะ ไม่ค่อยเข้าใจ” เขาก็ยิ้มกว้างเลยคราวนี้
เรียกนิกกี้มาเป็นล่ามช่วยแปลภาษาให้ ได้ความว่า
“ถ้าหนังอย่างเมทริกซ์ยังทำออกมาได้ โลกนี้ไม่มีอะไรที่ทำไม่ได้หรอก”
นับประสาอะไรกับการตัดหัวต่อตัวปรับสีเปลี่ยนรูปร่างแค่นี้
พอได้ฟังคำแปล ผมหัวเราะลั่น แล้วกำมือชูขึ้นบริเวณหน้าอก
พร้อมกับทำท่าทุบอากาศหนึ่งทีแบบแน่นๆ ทำตามุ่งมั่น
แล้วบอกกับเนี่ยลั่งว่า “นั่นสิ ถ้าเมทริกซ์ทำได้ อะไรก็ทำได้”
แล้วเราก็หัวเราะกันจนลืมความยากไป

นิกกี้หันไปแซวเนี่ยลั่งว่า “แกมันเก่งที่สุดในโลกแล้ว”
เหมือนจะบอกว่า “เมทริกซ์มันระดับไหน แล้วแกมันระดับไหน”
ผมขำ แต่ก็หันไปบอกเนี่ยลั่งว่าผมชอบประโยคของเขามาก
ผมว่ามันตลกแต่ก็ฮึกเหิมดี เป็นการเปรียบเทียบที่น่าสนใจ

เนี่ยลั่งถามผมว่าเคยดูดีวีดีเบื้องหลังเมทริกซ์ไหม
มันมีตั้งเก้าแผ่น!!

ลองคิดดูสิครับ หนังจริงๆ มีสามแผ่น (สามภาค)
แต่เบื้องหลังล่อไปเก้า!!

สิ่งที่เราเห็นมักจะเป็นขั้นตอนสุดท้าย และ “ก่อนนั้น”
มักจะ “ยาว” และ “เยอะ” กว่าเสมอ

กลับไปที่ประโยคทองของเนี่ยลั่ง
“ถ้าเมทริกซ์ทำได้ อะไรก็ทำได้”
ผมว่ามนุษย์เรามีความคิดแบบนี้จริงๆ นั่นแหละ
คือเราจะให้ขอบเขต “ความเป็นไปได้” เอาไว้เท่าที่เราเคยเห็น
เท่าที่เราเคยรับรู้ หากเราไม่เคยเห็นเครื่องบินเราก็จะไม่เชื่อว่า
เรือเหล็กลำยักษ์แบบนั้นจะเหาะกลางอากาศได้ (ได้ไงวะ?)
และหากไม่เคยเห็นเครื่องบินคองคอร์ด เราก็คงไม่เชื่อว่า
ไอ้เรือเหล็กหนักๆ นี้จะบินเร็วเหนือเสียงได้
แต่พอเคยเห็น พอเคยรู้ ขอบเขตความเป็นไปได้ในใจก็จะถ่างกว้างออกไป

และสำหรับนักพัฒนาทั้งหลายที่ไม่ยอมหยุดอยู่แค่นั้น
เมื่อเห็นนก ก็ทำเครื่องร่อน เห็นเครื่องร่อนก็ทำเครื่องบิน
เห็นเครื่องบินก็ทำคองคอร์ท เห็นคองคอร์ทก็ทำจรวด
พอเห็นจรวดก็อยากทำให้มันพุ่งไปได้ไกลขึ้นไปอีก

ขอบเขตความเป็นไปได้เมื่อไปถึงจุดหนึ่ง บรรดานักพัฒนา
ก็พยายามจะไต่ระดับความเป็นไปได้ให้มากขึ้นไปอีก

ขอบเขตความเป็นไปได้ของเราจึงถูกจำกัดอยู่กับสิ่งที่เรารับรู้
ยิ่งเห็นน้อย เส้นรอบวงความเป็นไปได้ก็ยิ่งแคบ
ยิ่งเห็นมาก เห็นความเป็นไปได้ต่างๆ นานามาหมดแล้ว
ขอบเขตเส้นรอบวงแห่งความเป็นไปได้ก็ยิ่งกว้างใหญ่

“ไอ้แบบนี้ทำได้ด้วยเหรอวะ?”
“ได้สิวะ กูเคยเห็นมาแล้ว”
เพื่อนซี้มักจะถกเถียงกันทำนองนี้

“เคยเห็นมาแล้ว” จึงเป็นเครื่องมือเพื่อยืนยันความเป็นไปได้

และผมว่ามันก็น่ารักดี ที่มนุษย์เป็นแรงบันดาลใจและแรงผลักดัน
ให้กับมนุษย์ด้วยกันเอง เมื่อเมทริกซ์ทำได้ เนี่ยลั่งจึง(คิดว่าตัวเอง)ทำได้

ในชีวิตอันแสนสั้น ขอบเขตความเป็นไปได้ของคนเราไม่เท่ากัน
บางคน สำหรับเขา อะไรๆ ก็ดูเหมือนจะลำบากยากเย็น
และเป็นไปไม่ได้ไปเสียทุกอย่าง เวลาอยู่ใกล้ๆ คนแบบนี้
จะรู้สึกว่าโลกนี้ช่างตีบตัน มองไม่เห็นทางไป
โน่นก็ไม่ดี นี่ก็ไม่ดี โทษฉันทู้กที…อะไรว้า…(เพลงเก่ามาก!)

ต่างกับเวลาที่เราได้อยู่ใกล้คนที่มีขอบเขตความเป็นไปได้กว้างขวาง
พูดอะไรออกมาก็เหมือนว่ามันจะเป็นจริงได้ทุกสิ่งไป
โลกดูสดใส น่าอยู่ น่าใช้ชีวิต น่าออกค้นหา และน่าทำการทดลอง

คนประเภทหลังนั้นมีพลังเหมือนคนทำเดอะเมทริกซ์
พลังที่พร้อมจะบอกกับคนข้างๆ ว่า “แกก็ทำได้”

สำหรับผมแล้ว คนที่มีขอบเขตความเป็นไปได้กว้างขวาง
มักจะ “เปิด” อวัยวะสองอย่างออกให้กว้างที่สุด
หนึ่ง, “เปิดใจ” และสอง, “เปิดตา”
ยิ่งเห็นมากก็ยิ่งเป็นไปได้มาก
ยิ่งใจกว้างก็ยิ่งรับฟังอะไรที่ไม่เคยเห็น ยอมรับ และพร้อมจะลงมือทำ

ผมออกจะชอบใจที่ได้อยู่ใกล้ๆ อาร์ตไดเร็กเตอร์ที่เปิดกว้างทั้งสองอวัยวะ
ดีใจที่เขาไม่หันมาบอกผมว่า “โอย พี่ แบบนี้ทำไม่ได้หรอก ไม่ไหวอะ”
แต่เขากลับหันมาบอกผมด้วยประโยคที่ชวนให้ผมฮึกเหิมตามไปด้วย
ใช่ครับพ่อแม่พี่น้อง “ถ้าเมทริกซ์ทำได้ เราก็ต้องทำได้” ครับ!

อยู่ให้เขาหัวเราะ จากให้เขาร้องไห้

ตุลาคม 16, 2007

วันนี้เป็นวันสุดท้ายของ “หยาง”
หยางเป็น ECD เรียกยาวๆ ก็ Executive Creative Director
ว่ากันง่ายๆ ก็คือหัวหน้าใหญ่ของบรรดาครีเอทีฟทั้งหมด
ในองค์กรที่ขับเคลื่อนด้วยความคิดสร้างสรรค์
แน่นอนว่า หัวหน้าใหญ่ของครีเอทีฟย่อมมีความสำคัญไม่ใช่น้อย

โดยตำแหน่ง พวกเราทำงาน “ใต้” หยาง
และแน่นอนว่า มีน้องๆ ทำงาน “ใต้” เราอีกขั้นหนึ่ง
ตำแหน่งต่างๆ ขององค์กรมักถูกวาดแทนด้วยแผนภูมิรูปต้นไม้
โยงใยจากใหญ่ลงมาสู่เล็ก จากอำนาจมาสู่ด้อยอำนาจ
จากสูงมาสู่ต่ำ จากสำคัญมาสู่ไม่ค่อยสำคัญ
แผนภูมินี้มักโยงเข้าไปสูงสุดที่คนใดคนหนึ่งเสมอ
คนคนเดียวแต่บังคับบัญชาผู้คน “ใต้” เขานับสิบนับร้อย

แต่หยางไม่เคยทำให้เรารู้สึกว่าอยู่ “ใต้” บังคับบัญชา
เราทำงาน “ข้างๆ” กันต่างหาก
หยางเปิดรับฟังความคิดเห็นเสมอ
มิน่า รูหูของหยางถึงได้ใหญ่ (ฮ่าฮ่า)
แต่หยางก็ไม่ใช่คนหูเบา เรื่องอะไรที่เห็นว่าไม่ควรจริงๆ
หยางก็จะสวมวิญญาณหมอลักษณ์ “ฟันธง” ทันที

ความที่หยางเปิดรับความคิด ทำให้พวกเรากล้าออกความคิดความเห็น
ผมเถียงกับหยางออกจะบ่อยไป ถ้าหยางเหตุผลดี ผมก็ยอมรับ
และถ้าผมเหตุผลดี หยางก็เห็นทีจะต้องยอมรับบ้าง
หยางน่ารัก หยางไม่เคยรู้สึกว่าตัวเองเสียฟอร์มเวลายอมลูกน้อง
ตรงกันข้าม กลับชมเชย และบอกกับคนอื่นว่า เหตุผลของไอ้นี่ดี

มุกหนึ่งที่หยางชอบเล่นเสมอๆ เวลาเรานั่งถกเถียงกัน
ท่ามกลางเพื่อนร่วมออฟฟิศหลากสัญชาติ
มาเลเซีย, สิงคโปร์, จีน, ไทย, ญี่ปุ่น
“งวดนี้ไทยชนะ!” หยางเล่นมุกนี้ให้พวกเราขำอยู่บ่อยๆ

ทุกความคิดเห็นจึงสำคัญเท่าๆ กัน ไม่ขึ้นอยู่กับว่ามันออกจากปากใคร
ปากนั้นจะเล็กหรือใหญ่ ขอให้มันส่งเหตุผลดีๆ ออกมาก็พอ

หยางเป็นผู้นำที่น่ารัก
หากมีข้อผิดพลาด หยางพร้อมยืดอกรับก่อนใครเพื่อน
ผมนึกถึงคำนำของคุณอธิคม คุณาวุฒิ ที่เคยเขียนว่า
“บรรณาธิการที่ดี หากมีข้อผิดพลาดต้องออกหน้ารับเป็นคนแรก
และหากมีความดีความชอบก็ควรจะเป็นคนสุดท้ายที่ออกมารับ”
หยางเป็นเช่นนั้น

หากมีงานที่ลูกน้องไม่ยอมและไม่อยากทำ หยางยินดีทำให้
อะไรที่ยาก หยางยกมือรับไปทำแทนอยู่บ่อยครั้ง
หน้าที่ที่หนักหนา อุปสรรคที่เหมือนไม่มีทางออก
แต่เมื่อพวกเราอยู่กับหยาง มันก็เหมือนไม่ยากอย่างที่เป็น
กระทั่งบางครั้งเราก็ยังหัวเราะเสียงดังกันได้ท่ามกลางปัญหาหนักนั้น

หยางสอนผมว่า “ผู้นำที่แย่ที่สุดคือผู้นำที่ไม่ยอมตัดสินใจ
กลัวผิดพลาด ก็จะไม่นำพาองค์กรไปทางไหนสักทาง ถ้ามีผู้นำแบบนี้
ลูกน้องก็มีแต่ความสับสนงุนงง จำไว้นะ เป็นผู้นำแล้วจงตัดสินใจ
จะผิดจะถูกก็ตัดสินใจไป แล้วก็มุ่งไปตามเส้นทางนั้นให้ดีที่สุด”

หยางตัดสินใจในนาทีที่จำเป็นต้องตัดสินใจเสมอ-อย่างเด็ดขาด

แม้แข็งแกร่ง แต่หยางกลับอ่อนโยน
หยางจะกอดพวกเราทุกคนเสมอๆ เมื่อวานนี้ก็เพิ่งกอดผม
ก่อนจากลา ท่ามกลางอากาศหนาวเย็นในเดือนตุลาฯ
พอหยางรู้ว่าเมื่อวานเป็นวันเกิดของผม หยางก็ชวนไปทานข้าวด้วยกัน
แน่นอน มื้อใหญ่และเงินหยาง เรากอดกันหลังพรีเซ้นท์งาน
“สุขสันต์วันเกิดนะเอ๋” เขาพูด ผมยิ้ม “ขอบคุณนะหยาง”

บางครั้ง ผมก็ชอบความสัมพันธ์แบบ “เมืองนอก”
ไม่มีคำว่า “ครับ” ลดทอนความสูง-ต่ำระหว่างวันวัย
แต่เรายังคงเคารพและเกรงใจกันตามความน่านับถือของคนคนนั้น

หยางเห็นพนักงานทุกคนเป็น “มนุษย์” ที่มีหัวจิตหัวใจ
หยางเคยบอกผมว่า “อย่ามองคนเป็นตัวเลข พนักงานทุกคนคือเพื่อน
มีหัวจิตหัวใจ มีความรู้สึก มีปัญหาที่ต้องการการช่วยเหลือ
ไม่ใช่หุ่นยนต์ที่เป็นกำลังการผลิต และนับหัว หารเงินเดือน
แล้วคิดออกมาเป็นผลลัพธ์ที่ควรผลิตได้ต่อเดือนว่าคนนี้ควรจะเท่านี้ๆ
เราเป็นเพื่อนกัน ต้องดูแลกันให้ดี” ค่ำคืนนั้นเองที่หยางพูดกับพวกเรา
เหนือแก้วเบียร์ว่า “ไม่มีงานไหนง่ายหรอก แต่งานที่ยาก หากได้ทำกับ
เพื่อนร่วมงานที่รู้ใจกัน พร้อมจะฝ่าฟันอุปสรรค์ไปด้วยกัน งานนั้นก็จะง่ายขึ้น”

วันนั้น บนดาดฟ้าบริษัทตัดต่อที่กรุงลอนดอน
เราคุยกันราวกับเหลียงเฉาเหว่ยกับหลิวเต๋อหัวใน Infernal Affair
หยางถามถึงอนาคตของผม เราคุยกันเรื่องอนาคตของเรา
บางทีเราอาจจะได้ร่วมงานกันอีก

“หากเรารักใคร เราต้องปล่อยเขาให้เป็นอิสระ” หยางพูด
ผมพยักหน้า ยิ้ม เขาหมายความตามนั้น
ผมเงยหน้ามองท้องฟ้าสีฟ้า หยางพ่นควันบุหรี่ลอยละล่อง
เราสองคนกำลังใช้ความคิด

วันนี้ เรามีปาร์ตี้เลี้ยงอำลาหยาง
เลขาฯ ของหยางเดินนำการ์ดมาให้ผมเขียนอะไรสักอย่าง
ปกติแล้ว การ์ดทำนองนี้จะได้รับแค่คำสั้นๆ หรือไม่ก็ลายเซ็น
แต่ของหยาง ผมเขียนค่อนข้างยาว และตั้งใจ

ผมขอบคุณเขาที่สอนอะไรหลายอย่าง ผมบอกเขาว่า
เขาเป็นผู้นำที่ดีเหลือเกิน ผมเรียนรู้จากเขามากมาย
เขาเป็น ECD ที่หนุ่มที่สุดตั้งแต่ผมทำงานมา
และขอให้ “หนุ่ม” ไปตลอดกาล หวังว่าเราจะได้เจอกันอีก
ที่ไหนสักที่ วันไหนสักวันหนึ่ง ผมลงท้ายข้อเขียนว่า
“Love” ไม่บ่อยนักที่จะให้คำนี้กับใคร

การ์ดใบนั้นถูกส่งถึงมือหยาง ในนั้นเต็มไปด้วยลายมือของพนักงาน
ทั้งบริษัท ทุกแผนกทุกสาขาที่เคยร่วมงานกับเขา
หน้าปกเป็นรูปพวกเรารวมเข้าด้วยกันเป็นรูปหยางที่กำลังยิ้มตาหยี

หยางอยู่ในชุดสุดแฟชั่นเหมือนทุกวัน สวมหมวกฟางถัก
เขากล่าวคำอำลาเป็นภาษาจีน โดยเกริ่นว่า ตอนเขาเข้ามา
เขาแนะนำตัวเป็นภาษาอังกฤษ ทุกคนตั้งใจฟัง หลายคนน้ำตาคลอ
ผมเองก็เกือบๆ ไป แต่คิดไว้แล้วว่าจะไม่ร้องไห้ให้กับผู้ชาย
ก็เลยกลืนมันลงกลับเข้าไปในตา (ฮ่าฮ่า โทษทีหยาง)

สั้นๆ ง่ายๆ หยางเอ่ยชื่อหลายคน และบอกว่าดีใจที่ได้ทำงานด้วย
“ผมยังอยู่ในเซี่ยงไฮ้ หากมีอะไรปรึกษาก็มาคุยกันได้เสมอ”
หยางยังคงน่ารักจนหยดสุดท้าย หยางบอกว่า คำที่ควรใช้ในการล่ำลาครั้งนี้
คือ “see you” ไม่ใช่ “goodbye”
แล้วหยางก็หัวเราะเสียงดังเหมือนที่เคยมาตลอด

วันพรุ่งนี้ ออฟฟิศเราคงเงียบลงไปพอสมควร
เสียงหัวเราะอันดังลั่นและจริงใจที่คุ้นเคยคงไม่มีอีกต่อไปแล้ว
เรายังคงต้องทำหน้าที่กันต่อไป “เหนือ” พวกเรา ขณะนี้ยังไม่มี “หัวหน้า”
คงต้องฟันฝ่าอุปสรรคด้วยตัวเองไปสักระยะเวลาหนึ่ง
ซึ่งจะว่าไป “ใต้” พวกเราก็ไม่มีลูกน้อง เพราะผมเองก็ได้เรียนรู้มาจากหยาง
ว่าไม่มีใครอยู่ “เหนือ” หรือ “ใต้” แต่พวกเราอยู่ข้างๆ กันต่างหาก

แม้ไม่มีหยาง แต่ “เชื้อหยาง” ยังคงแพร่กระจายไปทั่ว
“หัวหน้า” ที่เคยทำงานกับเขาได้เรียนรู้สิ่งดีๆ จากเขามาไม่น้อย

กระทั่งก่อนจาก กระทั่งวันนี้-วันสุดท้าย
หยางก็ยังสอนผมในความเงียบ เปล่า, เขาไม่ได้พูดออกมาหรอก
แต่ผมอ่านเอาจากแววตาเศร้าของหลายคนในห้องประชุม
แววตาที่เคยยิ้มหยี หัวเราะไปกับมุกตลกของหยางที่มีมาเสมอ
แววตาเหล่านั้นบอกกับผมว่า จงใช้ชีวิตในออฟฟิศเช่นเดียวกับหยาง

ยามอยู่ ทุกคนต่างหัวเราะไปพร้อมกับเขา
และยามจากอำลา ทุกคนต่างร้องไห้ด้วยความเสียดาย

หยาง-เพื่อน, หัวหน้า, ครู และพี่ชาย
เราคงได้เจอกันอีก
ด้วยรัก

29: ปีแห่งความเข้าใจ

ตุลาคม 15, 2007

สมัยมัธยมจะเขียนสิ่งหนึ่งเก็บไว้อ่านทุกปี
คล้าย “ไดอารี่” แต่เขียนปีละหน จึงกลายเป็น “เยียร์รี่” ไปแทน
ไม่ได้เขียนมานานหลายปี ปีนี้ได้โอกาสและอารมณ์เหมาะสมจะเขียน
จึงเห็นควรว่าน่าจะเขียนเก็บไว้ เพราะทุกครั้งที่หันหลังกลับไปอ่าน
ก็จะพบตัวเองในวันวานเสมอๆ ต่อไปนี้คือ “เยียร์รี่ ประจำปี 2550”

นี่คงเป็นปีสุดท้ายที่จะมีตัวเลข 2 เป็นตัวเลขแรกของ “อายุ”
แม้เราจะเกิดมาในยุคที่มนุษย์พยายามค้นหารหัสลับเพื่อยืดชีวิต
ด้วยวิธีต่างๆ นานา แต่เราก็คงไม่โชคร้ายขนาดที่จะอยู่ทันให้
นักวิทยาศาสตร์คิดค้นวิธียืดอายุขัยให้ยาวนานถึง 200 ปีหรอกมัง

ปีหน้าก็จะเข้าเลย 3 หลายคนแซวว่า เตรียมแก่หรือยัง?
จริงๆ แล้วไม่เคยคิดเลยว่าอายุวัย 30 จะ “แก่”
ไม่ค่อยเข้าใจเพลง “สามสิบยังแจ๋ว”
แหม ปกติ “30” เขาก็แจ๋วๆ กันทั้งนั้นไม่ใช่หรือ?
ยังเต่งยังตึ๊งตึงตังกันทั้งนั้นแหละ

และจะว่าไป ถึงจะกลัวตาย แต่ก็ไม่เคยกลัวแก่
ออกจะชอบความแก่ ชอบการผ่านโลกมามาก
ชอบการผ่านเหตุการณ์และผู้คนมาเป็นเวลาหลายปี
ยิ่งผ่านก็ยิ่งน่าจะนิ่ง และเข้าใจอะไรๆ ได้ดีขึ้น

เคยมีพี่คนหนึ่งเขียนสมุดบันทึกก่อนจากขณะที่ไปฝึกงาน
ที่บริษัทลีโอ เบอร์เนทท์ให้ว่า “อะไรที่ไม่เคยเจอ
พอเราได้เจอครั้งแรก เราก็จะตกใจ ตื่นเต้น และประหลาดใจ
บางครั้งก็ตั้งรับไม่ทัน แต่อีกหน่อยเอ๋ก็จะเข้าใจ
เมื่อผ่านอะไรมามาก สุดท้ายก็จะไม่มีเรื่องอะไรที่ทำให้เรา
ตื่นเต้นได้อีก” จำได้ว่าวันนั้นไม่ค่อยเห็นด้วย
กระทั่งถึงวันนี้ก็ยังไม่เห็นด้วยทั้งหมด เพราะคิดเสมอว่า
ชีวิตมีอะไรที่ทำให้เราประหลาดใจ และตั้งรับไม่ทันเสมอๆ
จริงอยู่ เมื่อเติบโต คนเราอาจจะนิ่งมากขึ้น แต่หากนิ่งเสียจน
ไม่มีอะไรที่จะมาทำให้หัวใจเปลี่ยนจังหวะการเต้น
ก็เห็นว่าจะหายใจต่อไปอย่างไม่ค่อยสนุกนัก

ยังอยากตื่นเต้นกับสิ่งใหม่ๆ ที่ไม่เคยเจอ
และอยากทำความเข้าใจสิ่งเหล่านั้น

สมัยเป็นเด็ก ชอบคิดว่า อยากโตเป็นผู้ใหญ่
และผู้ใหญ่ก็ชอบใส่ความคิดลงไปในหัวของเราว่า
“เดี๋ยวพอแกโตเป็นผู้ใหญ่ แกก็จะอยากกลับไปเป็นเด็ก”

หลายคนโตขึ้นแล้วอยากกลับไปเป็นเด็กอีก
แต่เราไม่ค่อยอยาก เราว่าเด็กเป็นวัยที่สับสน
มึนงง และร้องไห้ง่ายเกินไป
ดูไม่ค่อยพยายามเข้าใจอะไรสักเท่าไหร่
เด็กส่วนใหญ่จะถือตัวเองเป็นจุดศูนย์กลางของโลก
ทุกอย่างต้องหมุนวนรอบตัวฉัน ฉันเท่านั้นที่มีแรงดึงดูด
และกำหนดกฏเกณฑ์ไปตามแต่ใจที่ฉันต้องการ

จึงชอบผู้ใหญ่ (แน่นอน โดยเฉพาะที่สามสิบยังแจ๋ว)
และอยากเป็นผู้ใหญ่ แต่ไม่อยากแก่เกินวัย
เป็นผู้ใหญ่เท่าที่ประสบการณ์และความคิดตามวันวัยควรจะเป็น
อายุ 29 ก็คิดแบบคน 29 ไม่พยายามแก่ไปกว่านั้น-มันเมื่อย!

เพราะเมื่อชีวิตเดินทางมาถึงวัยหนึ่ง
เมื่อผ่านเส้นทางต่างๆ มาตั้ง 29 ปี
ย่อมเข้าใจ “กฏ” ของธรรมชาติมากขึ้น
“กฏ” ข้อสำคัญก็คือ เราไม่สามารถควบคุมอะไรได้
และธรรมชาติก็หลากหลายเกินกว่าที่จะเป็นไปตามที่
เราต้องการตลอดเวลา

เราไม่ใช่จุดศูนย์กลางของโลก เราเป็นเพียงเส้นรอบวงเท่านั้น
เป็นจุดๆ หนึ่งในเส้นรอบวง ที่ต่อเชื่อมกับจุดอีกหลายจุด
ต่อเชื่อมกันเป็นเส้น เป็นระนาบ เป็นปริมาตร เป็นสังคม เป็นโลก
โลก-ที่ไม่มีใครเป็นจุดศูนย์กลาง ไม่มีใครจำเป็นต้องหมุนรอบใคร
ไม่มีใครควรที่จะถูกใครบังคับบัญชา ไม่มีใครควรจะโอนอ่อนตามใคร
แต่ละจุดต่างเป็นตัวของตัวเอง ไม่มีจุดไหนดีเลิศ ไม่มีจุดไหนถูกต้องที่สุด
เราทั้งหมดประกอบเข้าด้วยกัน จากความหลากหลายกลายเป็นหนึ่ง

ดูเหมือนหนึ่ง แต่ที่จริงเป็นล้านๆ

ยอมรับเสียเถิดว่า ไม่มีใครเหมือนกันเลย
ไม่มีแม้แต่หนึ่งคนต่อหนึ่งคน
เราต่างแตกต่าง เราต่างคิดต่างใจ
โชคร้ายหน่อยที่เราต้องอยู่ข้างๆ กัน อยู่บนโลกใบเดียวกัน
และจุดเล็กๆ อย่างพวกเรานั้น ต้องมีคราวที่หัวไหล่กระทบกันเสมอ

ยอมรับเสียเถิดว่า เราไม่สามารถรักทุกคนได้
และอย่าได้พยายามทำให้ทุกคนรักเรา
อย่าได้คิดว่า เขาจะยอมรับในความเป็นเรา
เพราะเขาก็มีความคิดของเขา เติบโตมาในแบบของเขา
ขอโทษด้วยจริงๆ ที่เรารักกันไม่ได้-มันฝืน
สิ่งที่ทำได้คือ “เข้าใจ”

29 ปีที่ผ่านมา ข้อความง่ายๆ ที่สรุปได้คือคำนั้น
เรามีชีวิตอยู่เพื่อ “เข้าใจ”
เข้าใจคนอื่นๆ
เข้าใจสิ่งอื่นๆ
เข้าใจเหตุการณ์
เข้าใจชีวิต
เข้าใจโลก
เข้าใจตัวเอง

เรามีชีวิตอยู่เพื่อ “เข้าใจ” เท่านั้นเอง

จริงอยู่ ไม่มีใครเข้าใจทุกอย่าง
แต่อย่างน้อย เราควรพยายามทำความเข้าใจ
อย่างน้อยก็ “เผื่อใจ” ให้กับคนอื่นที่แตกต่างไป
แม้จะพยายามแค่ไหนก็ไม่เข้าใจ แต่ก็เผื่อใจให้พื้นที่กับเขาบ้าง

เราเรียนกันไปทำไม?
ไม่ว่าจะวิชา หรือ ศาสตร์แขนงไหน เราเรียนไปเพื่อทำความเข้าใจทั้งนั้น
ชีววิทยา, เคมี, ฟิสิกส์, คณิตศาสตร์, สถาปัตย์, รัฐศาสตร์,
เศรษฐศาสตร์, วิศวกรรมศาสตร์, แพทยศาสตร์, อักษรศาสตร์, ฯลฯ
หากไม่ได้ร่ำเรียนไปเพื่อเข้าใจเพื่อนๆ ข้างๆ กาย รู้เยอะไปก็เท่านั้น

พระพุทธเจ้าพูดเรื่อง “ใบไม้กำมือเดียว”
ความรู้มีมากมายเหมือนใบไม้นับล้านๆ ใบในป่าใหญ่
แต่สิ่งที่เราจำเป็นต้องรู้มีอยู่แค่หนึ่งกำมือเท่านั้นเอง

สำหรับท่าน สิ่งนั้นคือ วิธีดับทุกข์

และเราคิดว่า หนึ่งในวิธีดับทุกข์ก็คือ ความเข้าใจ นี่เอง

หนึ่งในธรรมะหัวข้อหลักที่เปรียบเป็นแก่นของพุทธศาสนา คือ
“อิทัปปัจจยตา” ซึ่งคล้ายกันเหลือเกินกับเพลง “อื่นๆ อีกมากมาย”
ของวงเฉลียง ตามความเข้าใจอันอ่อนหัดของเรา
คัมภีร์เล่มหนาหลายร้อยหน้านั้นหดสั้นๆ แล้วเหลือประโยคว่า
“ทุกสิ่งที่เกิดขึ้นล้วนมีเหตุ”

“ถ้าเขาเป็นคนเลว ที่เลวนั้นจากใด คำตอบมีไว้ ตอบไปก็คงอื้อ
อาจเลวเพราะแสนเข็ญ หยาบช้าเพราะขมขื่น เหตุนำนั้นพันหมื่น
อื่นๆ อีกมากมาย”

อีกท่อนหนึ่งซึ่งชอบมาก
“เด็กหนีไม่ยอมเรียน โดดเรียนเพราะเหตุใด ลองตอบกันไหม
เด็กไปเพราะใจเบ่ง แม่ให้ไปขายของ ครูสอนไม่ดีเอง
เด็กรักเป็นนักเลง อื่นๆ อีกมากมาย”

ทุกสิ่งที่เกิดขึ้น หากเราสาวกลับไปเรื่อยๆ เราจะเจอต้นตอในที่สุด
และเมื่อเจอตอที่ว่า ก็จะนำมาซึ่งคำว่า “อ๋อ” ตรงตอนั้นเอง

แต่ก็ใช่ว่าเราจะสาวจนเจอ “ตอ” ตลอดเวลา เป็นไปไม่ได้หรอก
“เฉลียง” จึงเขียนไว้ในเพลงว่า “เผื่อใจไว้ที่ยังไม่เห็น”
เบื้องหลังการกระทำ เบื้องหลังนิสัยที่ไม่ถูกใจของคนๆ หนึ่ง
คงมีอะไรมากมาย อะไรมากมาย-ที่เราอาจไม่มีโอกาสได้เห็นและได้รู้

แม้ไม่สามารถเข้าใจอะไรได้ทุกอย่าง ไม่สามารถเข้าใจใครได้ทุกคน
แต่แค่พยายาม “เผื่อใจ” และทำความเข้าใจ แค่นั้นก็น่ารักจะตายไปแล้ว

ช่วงหลายปีหลัง ได้ดูหนังที่ฉายภาพความหลากหลายของเพื่อนมนุษย์
อย่าง Crash, Babel, Little Miss Sunshine และ Bobby
กี่เรื่องกี่เรื่องก็ชวนให้หลั่งน้ำตา กับความไม่เข้าใจกันของเพื่อนมนุษย์
จุดเล็กๆ ที่ต่อเนื่องกันเป็นเส้นรอบวง แต่หลายครั้งที่จุดบางจุด
ยึดตัวเองเป็นจุดศูนย์กลางโลก และก็ต้องพบกับความพังทลายในที่สุด
บางเรื่องที่จบลงอย่างสวยงามก็ทำให้วันนั้นยิ้มได้ โลกดูมีความหวัง

ในจอทีวี ในหน้าหนังสือพิมพ์ ยังเต็มไปด้วยความไม่เข้าใจกัน
หนังสือมากมายในห้องสมุด ในร้านหนังสือ หนังมากเรื่อง กวีมากบท
ความรู้เป็นกระตั๊ก อ่าน ดู ฟัง เสพเข้าไปก็ไม่เกิดประโยชน์อะไร
หากไม่นำมาซึ่งความเข้าใจตัวเองและคนอื่น

ไม่ว่าอะไรก็ตามที่เราทำ จริงๆ แล้วเราใช้เวลาไปกับมัน
เพื่อทำความเข้าใจสิ่งต่างๆ ให้มากขึ้น อ่านหนังสือ, ดูหนัง,
ฟังเพลง, เดินทาง, ทำงาน, สังเกตการณ์ ก็เพื่อเข้าใจ

หากเราตื่นมาทุกวันเพื่อที่จะทำความเข้าใจคนอื่นและสิ่งต่างๆ
ให้มากขึ้น เราก็น่าจะได้เข้าใจทีละนิดทีละน้อย ค่อยเป็นค่อยไป
เมื่อเข้าใจ ก็จะทุกข์น้อย เมื่อยอมรับในเหตุที่มาของสิ่งต่างๆ
ที่ไม่เป็นอย่างที่คิด ไม่เป็นไปตามที่คาดหวัง ก็น่าจะยิ้มได้บ่อยขึ้น
หรือต่อให้ไม่เข้าใจ แต่เผื่อใจสำเร็จ ต่อให้ไม่ยิ้ม
อย่างน้อยก็คงไม่บูดบึ้ง

สงครามเล็กๆ เกิดขึ้นตลอดเวลารอบตัวเรา
จากการไม่พยายามเข้าใจอีกฝ่าย
สงครามข้างถนน, ในห้องประชุม, ร้านอาหาร, แถวรอคิว, ฯลฯ
มีคนบอกว่า “ไม่มีเส้นทางใดนำไปสู่สันติภาพ สันติภาพคือเส้นทาง”
การพยายามทำความเข้าใจอีกฝ่ายก็น่าจะระงับสงครามได้
หรืออย่างน้อยก็ไม่ทำให้มันบานปลายเกินกว่าที่เป็นอยู่

แก่ขึ้นอีก 1 ปี นั่นเท่ากับว่าได้เห็นโลกและเพื่อนร่วมโลก
มากขึ้นอีก 1 ปี เช่นกัน นั่นน่าจะทำให้เข้าใจอะไรต่อมิอะไร
มากขึ้นอีกสักหน่อย และยังตั้งความคาดหวังเพื่อที่จะ
เข้าใจให้มากขึ้น เพื่อที่จะทุกข์ให้น้อยลง

เมื่อมองคนอื่นๆ อย่างที่เขาเป็น ไม่พยายามไปดัด ปรับ เปลี่ยน
และควบคุมบังคับ หรือคาดหวังให้เขาเป็นอย่างที่เราอยากให้เป็น
เมื่อนั้นเราก็คงสบายตัว เขาก็คงสบายใจ

เราเป็นอย่างที่เราอยากเป็น เขาเป็นอย่างที่เขาอยากเป็น
เราอยู่ข้างๆ กัน เรียนรู้กันและกัน เพื่อเข้าใจกัน
เราอาจจะเกิดมาเพื่อการนี้

ใช่, เราอาจเกิดมาเพื่อทำความเข้าใจซึ่งกันและกัน

โลกกว้าง คนอีกมาก ล้วนแตกต่างไม่มีที่สิ้นสุด
ชีวิตที่มีระยะเวลาไม่ถึงหนึ่งร้อยปีสั้นเกินไป
สั้นเกินไปที่จะทำความเข้าใจใครได้หมด
แต่ก็สั้นเกินไปที่จะอยู่ไปอย่างไม่พยายามทำความเข้าใจใครเลย

ขอบคุณ 29 ปีที่ผ่านมา
รอยตีนกาที่เพิ่มขึ้น
นั่นหมายถึง เราได้เห็นสิ่งต่างๆ มาพอประมาณ
และทุกสิ่งทุกอย่างที่ไหลผ่านเข้ามาในดวงตา
ก็ย่อมไหล “เข้า” ไปใน “ใจ” ด้วยเช่นกัน

จำนวนตีนกาจึงนำมาซึ่งจำนวนความเข้าใจ
แล้วจะกลัวแก่ไปไย
หากยิ่งแก่ก็ยิ่งเข้าใจ
ยิ่งแก่ ก็ยิ่งสุข
………………………………………………………………

ขอเชิญเพื่อนบ้านทุกท่านร่วมกันปันเค้กช็อกโกแล็ตทำเองก้อนนี้
คนละชิ้น สองชิ้น สามชิ้น ก็ตามสะดวกเลยครับ ซัดกันให้อิ่ม
งั่มกันให้เต็มที่ รับรองได้ว่าเค้กก้อนนี้กินเท่าไหร่ก็ไม่หมดครับ (ฮ่าฮ่า)

null

ก้าว-รอ-ก้าว

ตุลาคม 13, 2007

null

วันนั้น พ่อ-ลูกคู่นี้เดินอยู่ข้างหน้าผม
ทั้งคู่เดินช้าเอื่อย
ผมรีบ ตื่นสาย และต้องเข้าประชุมตอนเช้า จ้ำอ้าว
ผมรู้สึกว่าทั้งคู่เดินช้ามาก
ช้า-พอที่จะทำให้ผมชะลอจังหวะการเดินของตัวเองลง
เหมือนทั้งคู่กระซิบประโยคอิคคิวซังใส่หู
“จะรีบไปไหน จะรีบไปไหน พักเดี๋ยวหนึ่งซี่”
ซึ่งจะว่าไปทรงผมของน้องชายคนนี้ก็คล้ายอิคคิวอยู่

ผมเหลือบมอง “ก้าวเล็กๆ” ของเด็กน้อย
สลับกับจังหวะการ “เขยิบขา” ของคุณพ่อ

เด็กน้อยก้าวได้แค่ทีละคืบ
สั้นๆ ช้าๆ
ไม่รู้กี่ก้าวจึงจะเท่ากับก้าวหนึ่งของคุณพ่อ
คุณพ่อ-ที่ก้าวเดินบนพื้นโลกมาไม่น่าจะต่ำกว่าสามสิบกว่าปี

จะว่าไป คุณพ่ออาจจะเดินจ้ำอ้าว (เหมือนผม) มามากแล้ว
วันนี้จึงอยากก้าวเดินช้าๆ สูดอากาศเย็นๆ บ้าง
จึงเลือกที่จะหย่อนลูกน้อยลงบนพื้นถนน
และก้าวเดินตามจังหวะของลูก-เล็กๆ ช้าๆ

หากคุณพ่อคนไหนเลือกที่จะจูงมือลูงแล้วเดินไปพร้อมกัน
นั่นย่อมเท่ากับว่าคุณพ่อคนนั้นได้เลือกแล้วที่จะเปลี่ยนจังหวะของตัวเอง
เปลี่ยนมาเดินในจังหวะก้าวเล็กๆ-เดินตามลูก

ผมคิดในใจ-เมื่อไหร่พี่กับลูกชายจะเดินถึงบ้านครับ?

ก่อนหน้านั้นไม่กี่วัน บริเวณเดียวกัน บนถนนเส้นเดียวกัน
ผมพบกับชายชราคนหนึ่งซึ่ง “เขยิบขา” เดินช้ามาก
เรียกได้ว่าทีละครึ่งคืบ เล็กๆ ช้าๆ ไม่ต่างจากเด็กชาย
ช้ากระทั่งว่า หากเรามองเผินๆ ปล่อยเวลาผ่านไปสักนาที
ในโลกที่ทุกสิ่งวิ่งไว คุณตาเหมือนจะไม่ได้ขยับไปไหนเลย!

ผมเห็นแล้วก็คิดในใจ-เมื่อไหร่คุณตาจะเดินถึงบ้านครับ?

โลกมักหมุนไปตามจังหวะของหนุ่ม-สาว
จังหวะการก้าวเดิน “ปกติ” ของโลกมักถูกกำหนดและวัดจาก
จังหวะก้าวเดินอันเต็มเปี่ยมไปด้วยพลังและความรีบเร่ง
ของวัยหนุ่ม-สาว หากช้ากว่านั้นก็นับว่า ช้าผิดปกติ

โลกทุกวันนี้ จึงดูเหมือนไม่ใช่โลกของเด็กและคนชรา
ที่เดินช้ากว่าจังหวะการหมุนของโลก-ช้าเกินไป

ก้าวสั้นๆ ทางไกลๆ ต้องการใครสักคนมาประคับประคอง
และดูแล หากว่าเกิดหมดแรงเดินขึ้นมากลางทาง

พ่อ-ลูก และคุณตา ในเวลาสองวัน
แสดงการออกแบบที่สมดุลของธรรมชาติให้ผมเห็นว่า
ธรรมชาติได้คิดมาอย่างดีแล้ว
ที่ให้เด็กน้อยมีก้าวเล็กและจังหวะก้าวที่ช้าเอื่อย
เพราะขายังไม่แข็งแรง หากล้มก็จะได้ไม่เจ็บหนัก
คนชราก็เช่นกัน ขาเริ่มอ่อนแรงและอ่อนแอ
หากทำอะไรรวดเร็วเกินไป ล้มขึ้นมาก็อาจจะเจ็บหนัก

และผมว่า ธรรมชาติคิดช่วงเวลามาเรียบร้อย
เมื่อเป็นเด็กน้อยก้าวช้าๆ เราต้องการคุณพ่อเดินจูงมือไปพร้อมกัน
ประคับประคองดูแลจนเราเติบใหญ่และเปลี่ยนเป็นเดินเร็วในจังหวะหนุ่ม-สาว
ระหว่างนั้นคุณพ่อก็แก่ตัวลง ก้าวที่เคยใหญ่กลับหดสั้น
จังหวะถี่เร่งกระชั้นกลับช้าเอื่อย เมื่อนั้นชายหนุ่มที่เคยเป็นเด็กน้อย
ก็จะมีโอกาสได้กลับมาเดินจูงมือประคับประคองคุณพ่อในยามชราบ้าง
เปลี่ยนจังหวะของตัวเอง เดินตามพ่อ-ก้าวเล็กๆ ช้าๆ

ผลัดกันคนละวันเวลา
แหม มันช่างสมดุล

แต่มนุษย์ก็ไม่ได้ดำเนินตามวิถีทางของธรรมชาติเสมอไป
บ่อยครั้งไปที่เราเห็นคุณพ่อ-คุณแม่ ดูแลและก้าวเดินตามจังหวะของลูก
แต่น้อยครั้งที่เราจะเห็นลูกหนุ่มลูกสาว
ก้าวเดินไปพร้อมๆ กับจังหวะชราช้าๆ ของคุณพ่อคุณแม่

ที่นี่ ผมเห็นคนหนุ่ม-สาว เกาะเกี่ยวกันเดินในจังหวะเดียวกัน-เร็วเร่ง
เห็นคนชราเดินคนเดียว ในจังหวะที่ไม่เกี่ยวพันกับโลก บ่อยครั้ง
มีบ้างบางครั้งที่เห็นคุณปู่-คุณย่า คุณตา-คุณยาย เดินจูงมือกัน
ก้าวในจังหวะชราของตัวเอง ไม่สนใจโลกที่หมุนไวรอบตัว
บางครั้งเห็นคุณตาเข็นรถเข็นให้คุณยายที่เดินไม่ไหวนั่งสูดอากาศเย็น

ธรรมชาติอาจคิดมาไม่ถ้วนถี่พอ
เพราะระยะเวลากว่าที่คุณพ่อ-คุณแม่จะแก่ตัวนั้นมันอาจจะนานเกินไป
นาน-จนทำให้เด็กน้อยลืมว่า ครั้งหนึ่งคุณพ่อชราที่เดินช้าๆ ในวันนี้
เคยเปลี่ยนจังหวะการก้าวเดินของตัวเองให้ช้าลงเพื่อมาเดินจูงมือเขา

เหนา

ตุลาคม 10, 2007

(ขออภัยที่ช่วงนี้เขียนเรื่องส่วนตัวมากเกินไป
เข้าใจว่ามันไม่ค่อยดี แต่ทำไงได้ เมื่อรู้สึกก็อยากทดเก็บไว้
เคยคิดเสมอว่าจะพยายามทำบ้านพักหลังนี้ให้สมดุล
มีทั้งความรู้สึกและความรู้ สาระและไร้สาระ เรื่องส่วนตัวและเรื่องส่วนรวม
จะพยายามทำให้สมดุลนะครับ หากช่วงไหนมีเรื่องส่วนตัวมากเกินไป
และไม่ถูกใจแขกบางท่าน ต้องขออภัยด้วยจริงๆ ครับ)

null

เคย “เหนา” กันบ้างไหม?

ก่อนหน้านี้สามวัน อากาศร้อน
สองวันก่อน ฝนตกหนัก ทั้งวัน ทั้งคืน
ลมพัดแรงราวกับจะหอบทุกสิ่งไปกับมัน
ต้นไม้หน้าตึกห้องพักล้มหัวฟาดพื้น
ร่มที่กางออกถูกลมตีกลับด้านครั้งแล้วครั้งเล่า
ฝนตกหนัก อาจเป็นหางพายุที่พัดเข้าหางโจว
ลมพัดปะทะร่าง หนาวสะท้าน
ผมเอ่ยปากบอกคนที่บ้านที่มาเที่ยวว่า
“สงสัยลมหนาวเดินทางมาแล้ว”

เมื่อวาน คนที่บ้านเดินทางกลับ
ฟุตบาทดูกว้างกว่าที่เคย
อากาศดูเงียบกว่าที่เคยเงียบ
ใช่, อากาศก็มีเสียงของมัน

อากาศหนาวกระทันหัน!
ตั้งตัวไม่ทัน
เหมือนใครบนนั้นกดสวิตช์

อากาศดีเหลือเชื่อ
เย็นสบาย
ผมหยิบแจ็กเก็ตสีดำตัวนั้นมาใส่อีกหน
หลังจากแขวนไว้เกือบหกเดือน
(ซักแล้ว ซักแล้ว ไม่ต้องสงสัย)

อากาศดีเหลือเชื่อ
เหมาะที่จะเดินไปเรื่อยๆ
แล้วมีใครสักคนเกาะแขน
ง้องแง้งไปตลอดทาง
เหมาะจริงๆ นะ
เห็นคนอื่นเขาทำกันใหญ่

แต่ไม่มีใครมาเดินให้ผมไปเกาะแขน
จะง้องแง้งก็ไม่มีใครให้ง้องด้วย
พวกเพื่อนชายล่ำๆ จะไปง้องกับมัน
ก็กลัวมันหันมาบอกว่า “เพื่อน กูรักมึงว่ะ!”
ไม่เอาล่ะ ซึ้งไป

อากาศดีเหลือเกิน
อากาศดีเกินไป
ดีเกินไปที่จะเดินคนเดียว
ยิ่งในยามค่ำคืน

มันไม่หนาวจนต้องวิ่งเข้าบ้าน
มันไม่ร้อนจนอยากอาบน้ำ
แต่มันเป็นอากาศที่ทำให้ไม่อยากกลับบ้าน
อยากเดินตากแสงดาวไปตลอดค่ำ

ผมชอบเดินร้องเพลงไทยระหว่างทางกลับบ้าน
เนื้อเพลงที่ชาวบ้านชาวเมืองไม่รู้เรื่อง

ผมเพิ่งสังเกตวันนี้เองว่า
“หนาว” กับ “เหงา” มันออกเสียงคล้ายกัน
“โทน” ของคำมักจะสื่อความรู้สึก
ลองออกเสียงดูเบาๆ จะรู้สึกว่ามันคว้างๆ เคว้งๆ
ยิ่งถ้าลองไปพูดสองคำนี้ในตุ่ม จะ “คว้าง” มาก

ความหนาวมักจะเร้าความเหงาให้เพิ่มดีกรี

ผมพบว่าหลายคนมีอาการ “เหนา”
คือความเหงาที่มาพร้อมกับลมหนาว
อย่างน้อยวงดนตรีทีฟอร์ทรีก็วงหนึ่งล่ะ
“ผ่านลมหนาวจะกี่คราวก็ยังเหมือนเดิม ไม่มีใครให้ใจอุ่น”
เพลงฮิตของฤดูหนาว

คนเราจะเหงามากขึ้นเมื่อพบเจอเรื่องที่ดี
อยากมีผู้มาร่วมง้องแง้ง
เวลามีเรื่องดีแล้วไม่มีคนมาแบ่งปัน
มันก็ชวนให้เศร้าอยู่เหมือนกัน

เหมือนมีลูกชิ้นอร่อยห้าลูก
ครั้นจะกินคนเดียวก็อิ่มเกินไป
อยากแบ่งให้ใครสักคน
แต่เขาดันไม่มาอยู่ด้วยกันตรงนี้เสียนี่
พอกินไปถึงลูกที่ห้า ก็ไม่ค่อยอร่อยเสียแล้ว
ออกจะขมหน่อยๆ เสียด้วยซ้ำ

ตรงกันข้าม ถ้าลูกชิ้นไม้นั้นไม่อร่อย
ยังไม่เศร้ามาก ก็แค่ขว้างมันลงถังขยะ
หรือถ้าเสียดายก็ขว้างมันลงกระเพาะอาหาร

เราเหงาเมื่อเราพบเจอเรื่องที่ดี
เรื่องดีที่เราอยากแบ่งให้ใครสักคน
อยากให้เขามาร่วมสถานการณ์ร่วมรู้สึกไปด้วยกัน

อากาศหนาวแบบกำลังดีชวนให้รู้สึกสบาย
อากาศหนาวสาหัสไม่ได้น่ากอดกันนักหรอก

อาการเหงาแบบกำลังดีนำมาซึ่งแรงบันดาลใจ
อาการเหงาแบบสาหัสอาจเล่นเอาทำอะไรไม่ถูก

หนาว-ห่มผ้าแล้วอุ่นขึ้น
เหงา-ห่มอะไรดี?

อะไรที่ดีบางทีก็แย่
อะไรที่แย่บางทีก็ดี

นั่งฟังเพลงของโมเดิร์นด็อก
good sometimes bad
bad sometimes good

อะไรที่ดีเกินไป บางทีมันก็กลายเป็นแย่
ช่วงนี้อากาศดีเกินไป
ชวนให้นึกถึงคนที่อยากแบ่งลูกชิ้นให้กิน

ป๊าสอนผมด้วยรองเท้า

ตุลาคม 9, 2007

ผมเพิ่งเจอกับป๊า
ไม่ได้เจอกันตั้งนานแล้ว
ป๊าเป็นไงเป็นงั้น
ไอ้ครั้นจะให้คนอายุหกสิบกว่ามาเปลี่ยนแปลงคงยาก
ผมเคยคุยกับเพื่อนที่คณะว่า
หลังจากอายุยี่สิบคนเราก็จะเริ่มมี “แกน” ให้ยึด
และยากจะเปลี่ยน

ป๊าใส่รองเท้ายางสีน้ำตาล เชื่อได้เลยว่าราคาถูก
ป๊าไม่ชอบของแพง และนิสัยนี้ก็สืบทอดมาถึงผม
ป๊าเป็นคนขี้เหนียว ญาติๆ ว่ากันว่าอย่างนั้น
ผมไม่เคยแอบเข้าห้องน้ำป๊า ก็เลยไม่รู้ว่าจริงไหม
แต่ป๊าก็ใช้เวลาในห้องน้ำไม่นาน
ผมเลยคิดว่า ไม่น่าจะเหนียวขนาดที่เขาว่ากัน

พวกเราพอจะรู้ว่าป๊าระมัดระวังในการใช้เงิน
แต่แม่เคยบอกกับเราว่า ป๊าขี้เหนียวเฉพาะของใช้ของตัวเอง
ถ้าเป็นของของลูกๆ ล่ะก็ ป๊าไม่เคยเหนียว
ซึ่งก็จริง ผมกับพี่สาวได้พิสูจน์แล้ว

ป๊าจะซื้อเสื้อผ้าแต่ละครั้งต้องพลิกแล้วพลิกอีก
ไม่ได้ดูลาย ดูสไตล์ ดูเนื้อผ้า แต่พลิกดูป้ายราคาต่างหาก
กางเกงของป๊าหยิบขึ้นมาจากกระบะลดราคาเสมอๆ
เสื้อก็ด้วย ถ้ากางเกงในมีลดราคาก็คงจะด้วย

แต่ช่วงที่ผมกับพี่สาวบ้าแบรนด์
ช่วงที่เด็กไทยลอยละล่องตามฟองสบู่ของบ้านเมือง
ต้องใส่ลีวายส์ ริมแดง, เสื้อบานาน่า รีพับบลิค,
รองเท้าด็อกเตอร์มาร์ตินห้อยกระดิ่ง, เสื้อเบสบอลจากอเมริกา,
รวมถึงหมวกใบเก๋ ใบละพันกว่าบาท
ผมกับพี่สาวก็ได้ใส่ลีวายส์กับเขา ตัวละสองพัน-สามพัน
แบงค์เหล่านั้นก็ควักออกมาจากกระเป๋าเหนียวๆ ของป๊านี่แหละ

“สำหรับลูก ป๊าไม่อั้น” แม่ไม่ได้โกหกพวกเรา
ผมยังมีเสื้อเบสบอล หมวก และเสื้อบานาน่าฯ ตามแฟชั่น
แพงจะตายไป แต่ทำไงได้ เพื่อนมี เราก็ต้องมี

ผมเพิ่งเจอกับป๊า
ไม่ได้เจอกันตั้งนานแล้ว
ป๊าเป็นไงเป็นงั้น
ไอ้ครั้นจะให้คนอายุหกสิบกว่ามาเปลี่ยนแปลงคงยาก

เจอกันครั้งนี้ป๊าใส่รองเท้ายางสีน้ำตาล
ข้างๆ มีตัวหนังสือสีชมพู เขียนว่า “Loso”
พี่สาวผมแซวว่า ป๊าจะเลือกรองเท้าดีๆ หน่อยไม่ได้หรือ?
ป๊าคงไม่สนว่ามันจะ Lo หรือ Hi
ขอแค่ใสสบาย นุ่มเท้าก็น่าจะพอแล้ว
ตัวหนังสือสีชมพูนั้นไม่ใช่รองเท้าสักหน่อย
รองเท้า คือ ส่วนที่มันรองอยู่ใต้เท้านั่นต่างหากล่ะ

ป๊าสอนผมโดยที่ไม่ต้องสอน
ป๊าสอนด้วยกางเกง เสื้อผ้า และรองเท้าโลโซ
ป๊าสอนผมว่า ถ้าเรามีข้อแม้ในชีวิตน้อยลง
เราจะใช้ชีวิตได้ง่าย สบาย และราคาถูก

ผมเลือกเสื้อยืดแต่ละครั้งไม่ง่ายเลย
ผมไม่ชอบลายเสื้อ “แนวๆ” กราฟิกเท่ๆ
ไม่ใช่ไม่ชอบ ไม่ใช่ไม่สวย แต่มันไม่เหมาะ
ใส่แล้วไม่เข้ากับหน้าเจี๋ยมเจี้ยม
เคยซื้อมาเหมือนกัน แต่ใส่แล้วไม่รอด
นี่ก็ข้อแม้ในชีวิต

เพื่อนหลายคนเลือกของใช้และเสื้อผ้าเนิ่นนาน
บ้างก็พิถีพิถันกับข้าวของส่วนตัว
เพราะของทุกชิ้นที่หยิบขึ้นมา
ย่อม “สื่อ” ตัวตนของคนคนนั้น

บางคนยิ่งโตก็ยิ่งมีข้อแม้ในชีวิตมาก
หาหนังสนุกดูยากขึ้น
หาเพลงเพราะๆ ฟังยากขึ้น
หาหนังสือดีๆ อ่านยากขึ้น
หาเสื้อผ้าที่ถูกใจยากขึ้น
โลกก็เป็นของมันเหมือนเดิม
ตัวเราเอง รสนิยมของเราเองนั่นแหละที่เปลี่ยน

ดูเหมือนมันจะขยับตัว
ทำให้อะไรๆ ไม่ง่ายดังเดิม

ชีวิตไม่มีข้อแม้หรอก
เราเป็นคนตั้งมันเองนั่นแหละ
ของไม่มีสูง-ต่ำ
เราไป “แปล” มันเอง
รองเท้า Loso ของป๊าบอกกับผมอย่างนั้น

แล้วป๊ายังสอนผมอีกด้วยว่า
ความจริงแล้ว
สิ่งที่เราควรพิถีพิถันและใส่ใจ
ไม่น่าจะเป็นสิ่งของส่วนตัว
แต่ควรจะเป็นสิ่งของที่เราจะมอบให้คนอื่นมากกว่า

ของของเรา ถูกได้ โลโซได้
แต่ของสำหรับคนที่เรารัก เราน่าจะให้สิ่งที่ดีที่สุดสำหรับเขา

ผมเพิ่งเจอกับป๊า
ไม่ได้เจอกันตั้งนานแล้ว
ป๊าเป็นไงเป็นงั้น
ไอ้ครั้นจะให้คนอายุหกสิบกว่ามาเปลี่ยนแปลงคงยาก

ผมพาป๊ากับแม่เที่ยวรอบเซี่ยงไฮ้
เราไปนั่งกินกาแฟราคาแพงกันบนยอดตึกจินเม่า
ตึกที่สูงที่สุดในประเทศจีน (ขณะนี้)
ตอนคิดเงิน เล่นเอาป๊าตาโต ตกใจ
ป๊าใส่รองเท้า Loso ขึ้นตึกจินเม่าชั้น 87

แม่พูดประโยคหนึ่งที่ทำให้ผมยิ้ม
“เอ๋นี่มันขี้เหนียวนะ แต่กับป๊ากับแม่เท่าไหร่ไม่อั้น”

ผมอยากหันไปบอกกับป๊ากับแม่ว่า
“นิสัยแบบนี้ ผมก็ติดมาจากป๊าน่ะแหละ”

“สู้สู้”

ตุลาคม 1, 2007

เวลาคุย msn ได้เห็นอะไรหลายอย่าง
นั่งนิ่งๆ คิด จะทยอยออกมาเยอะเหมือนกัน
วันนี้นั่งคิดถึง “คำลา” เวลาที่เราคุยกันในเอ็มฯ
แปลกดี ที่เรามักจะ “บ้ายบาย” กันด้วยคำว่า “สู้สู้”

“สู้ๆ นะโว้ย”
“สู้ๆ นะคะ”
“สู้ๆ นะครับ”
“สู้ๆ นะพี่”
“สู้ๆ นะน้อง”

แปลกดี ว่าไหม?
จะ “สู้” อะไรกันนักหนา

ปกติ เวลาอยู่ในโลกที่คุยกันทางปากฟังทางหู
เราล่ำลาเพื่อนฝูงว่าอย่างไรกันบ้าง?
ผมมักใช้คำว่า “โชคดี” และ “เจอกัน”
มีบ้างตามสถานการณ์ที่ใช้ให้เข้ากับสถานการณ์นั้นๆ
“ขับรถดีๆ เว้ย” หรือ “กลับบ้านดีๆ นะ”

เวลาโทรศัพท์ล่ะ?
ถ้าคุยช่วงกลางคืน
คำยอดฮิตในหมู่คู่รักเห็นจะเป็น “ฝันดีนะ”
หวานหน่อยก็ “ฝันถึงเราบ้างนะ”

ถ้าแบบปกติธรรมดาก็คง “สวัสดี” หรือไม่ก็ “บ้ายบาย”
ผมชอบเวลาคนจีน “บ้ายบาย” เพราะเขาจะออกเสียงกันแบบพินอิน
“ป้ายปาย” เพราะ B ของเขาคือ ป.ปลา ไม่ใช่ บ.ใบไม้

จะว่าไป คนจีนก็ลากันด้วยคำที่มีความหมายว่า “เจอกัน” (ไจ้เจี้ยน)
บางครั้งก็ “เจอกันพรุ่งนี้” (หมิงเทียนเจี้ยน) ฝรั่งก็ goodbye “ลาก่อน”
See you. “เห็นคุณ” (น่าจะย่อมาจาก เห็นคุณพรุ่งนี้ หรือ เห็นคุณครั้งหน้า)
นอกจากนั้นก็อาจจะมี Have a nice day. “มีวันสวยๆ นะ”
และก็คงมีบ้างที่ Goodluck! “โชคดี” พอตกกลางคืนก็คล้ายกันกับของเรา
goodnight “ค่ำคืนดีๆ นะ” sweet dream “ฝันหวาน”

ซึ่งทั้งหมดนั้นดูเหมือนจะเป็นคำลาในเชิงปรารถนาดีและอวยพร
หรือไม่ก็เรียบๆ ไม่บวกไม่ลบไม่หวานไม่ขม อย่าง “เจอกัน”

แล้วไอ้เจ้า “สู้สู้” นี่มันมาจากไหน มายังไง มาเมื่อไหร่กัน?
ผมยังสงสัยว่า ชนชาติอื่นเขาล่ำลาด้วยคำว่า “สู้สู้” กันบ้างไหม?
เพราะคำลานี้สะท้อนทัศนคติต่อชีวิตของคนพูดและคนฟังอยู่เหมือนกัน
มันสื่อว่า ชีวิตคือสนามแข่งขัน และเราจำเป็นต้อง “สู้” เพื่อฝ่าฟันไป
บางครั้งเวลาผมได้รับคำนี้จากเพื่อน ผมก็ยังถามตัวเองว่า
“นี่เราสู้กับอะไรอยู่หว่า?”

และผมรู้สึกว่า “สู้สู้” เป็นคำลาเฉพาะของคนวัยหนุ่มสาวยุคสมัยนี้
ก่อนหน้านี้สักสิบปีหรือมากกว่านั้นเรายังไม่น่าจะล่ำลากันด้วยคำๆ นี้
และก็ไม่ค่อยจะมีคนแก่ คุณแม่ คุณพ่อที่ไหนจะล่ำลาว่า “สู้สู้นะลูก”

หรือจริงๆ แล้วเราเอง (หนุ่ม-สาว) ก็เผลอมีทัศนคติกับชีวิต
ว่าต้อง “สู้” จึงมักผลัดกันให้กำลังใจและส่งเสียงเชียร์เพื่อนๆ
พี่ๆ น้องๆ ที่กำลังลงสนามอยู่เสมอ

อย่างที่คำโฆษณาเขาว่าไว้ “เป็นวัยรุ่นมันเหนื่อย”
อย่างที่คำติดท้ายรถกระบะว่าไว้ “ชีวิตต้องสู้”
ซึ่งผมว่ามัน “ไท้ยไทย”

เช่นกันกับคำล่ำลายอดนิยมในเอ็มเอสเอ็น
ผมก็ว่ามันสะท้อนความเหนื่อยและการแข่งขัน
ของชีวิตวัยรุ่นและหนุ่มสาวแบบไทยๆ ของเรา

วันนี้ดึกแล้ว ขอตัวไปนอนก่อน
“สู้สู้นะครับ”

ฉลาดไปใย สวยไว้ดีกว่า

กันยายน 30, 2007

เพื่อนหญิงคนหนึ่งเล่าให้ฟังว่า วันนี้ไปร้านหนังสือมา
หนังสือใหม่เยอะมาก (ฟังแล้วก็น้ำลายไหลตามไปด้วย)
“แต่ฉันไม่ได้ซื้อหรอกนะ ไม่อยากฉลาดแล้ว อยากสวยมากกว่า
ก็เลยเอาตังค์ไปซื้อแว่นกันแดดอันใหม่ เพิ่มความสวยดีกว่า”

เคยมีเพื่อนผู้หญิงบางคนพูดกับผมแบบนี้เหมือนกัน
จะว่าไปก็ไม่ใช่แค่คนสองคนเสียด้วย

ผมมักประทับใจเวลาได้พูดคุยกับคนฉลาด
และแน่นอนว่าเมื่อเป็นเพศตรงข้ามก็ย่อมประทับใจมากขึ้น
ความฉลาดก็เป็นความสวยแบบหนึ่ง เปล่งประกายได้เหมือนกัน

แต่เท่าที่ได้รู้จักผู้หญิงฉลาด หลายคนผิดหวังกับความรัก
หากลองทำการวิจัย ผมว่าผู้หญิงฉลาดอาจผิดหวังมากกว่าผู้ชายฉลาด

บางครั้ง ผู้หญิงฉลาดและพัฒนาตัวเองมากขึ้นจนแฟนหนุ่มตามไม่ทัน
ก็เป็นอันต้องเลิกรากันไป อาจเพราะเพศชายยอมเป็นเท้าหลังของช้างไม่ได้

สารคดีของบีบีซีที่เพิ่งได้ดู พยายามจับคู่ “นัดบอด” ให้หญิง-ชาย
มีนักธุรกิจสาวคนเก่ง วัยสามสิบกว่า หน้าตาค่อนข้างดีคนหนึ่ง
มีปัญหากับการหาคู่ เมื่อลองมา “จับคู่” ในโครงการนี้
ผลปรากฏว่า แรกเริ่มในนาทีแรกๆ ฝ่ายชายจะกดคะแนนค่อนข้างสูงให้เธอ
แต่พอเวลาผ่านไปเพียงห้านาที เมื่อบทสนทนาเริ่มต้น เธอมักจะ
เป็นฝ่ายควบคุมหัวข้อในการพูดคุย และเป็นฝ่ายรุก กระทั่งคะแนนลดฮวบ
ชายหนุ่มหลายคนบอกว่า เธอทำให้พวกเขารู้สึกว่าตัวเองโง่

หลายคำพูดของปราชญ์ที่คนทั่วไปยอมรับว่าฉลาด
มักจะบอกว่า พวกเขาไม่รู้อะไรเลย
คนฉลาดที่แท้คือคนที่รู้ว่าตัวเองไม่ฉลาด

และคนที่แยบยลซ่อนกลกว่านั้นคือคนที่พยายามทำเป็นไม่ฉลาด
แต่ที่จริงในใจก็คิดเอาไว้ว่า-กูฉลาดนะโว้ย
คนแบบแรกน่ารัก แบบหลังน่ากลัว

คนสวยไม่จำเป็นต้องโง่ และคนฉลาดก็ไม่จำเป็นต้องขี้เหร่
แต่หลายครั้งที่ความฉลาดทำให้บางคนเจ็บตัว
มีบ้างที่เธออยากจะขว้างมันทิ้งไป อยากเป็นเด็กน่ารักหัวอ่อน
จิ๊จ๊ะ ดี๊ด๊า ไปตามประสาที่หนุ่มๆ ชอบ
แต่ทำไม่ได้หรอก เพราะนั่นไม่ใช่สิ่งที่เธอเป็น

บางครั้งคนฉลาดดูเป็นผู้นำ เข้มแข็ง และดูแลตัวเองได้
แต่เอาเข้าจริงก็อ่อนแอ ขี้แพ้ และโหยหาใครสักคนเหมือนกัน
ยิ่งเจ็บกว่านั้นเวลาที่ต้องซ่อนเอาไว้ใต้หน้ากากของหญิงแกร่ง

บางครั้งผมก็รู้สึกกับผู้หญิงฉลาดเหมือนผู้หญิงที่มีร่างกายสูงมากๆ
คือจะโดดเด่น แต่หาแฟนยาก เพราะผู้ชายที่ “สูง” กว่าเธอมีไม่มากนัก
ดูเผินๆ เหมือนธรรมชาติจะยุติธรรม ที่แบ่งปันผู้ชายไปดูแล
หญิงสาวที่ไม่เข้มแข็ง แข็งแกร่ง และเป็นผู้นำได้เท่าพวกเธอ
แต่เอาเข้าจริงแล้วมันไม่ค่อยยุติธรรมสักเท่าไหร่
เพราะพวกเธอก็ไม่ได้ต่างอะไรกับหญิงสาวน่ารัก หน่อมแน้มเหล่านั้นเลย

“ไม่ได้อยากฉลาดเลยนะ” หลายคนพูด
คงคล้ายกับหญิงสาวที่ไม่ได้อยากเกิดมาสูง
“ผิดด้วยหรือที่เราเก่ง” หลายคนตั้งคำถาม
แต่ไม่ใช่เพื่อนของผมที่ตัดสินใจซื้อแว่นกันแดดแทนหนังสือ
รายนี้แค่กำลังตัดสินใจระหว่าง “สมอง” กับ “ความรู้สึก”

“ความรู้” เป็นเรื่องของเหตุผลล้วนๆ เป็นเรื่องของ “สมอง”
“ความงาม” เป็นเรื่องของความรู้สึก เป็นเรื่องของ “หัวใจ”

เป็นไปได้ไหมว่า “ความรู้” หรือ “เหตุผล” นั้น
เป็นสิ่งที่ผู้ชายถูกสังคมรอบกายหล่อหลอมให้มีมันมาโดยตลอด
และก็สะสมมันเอาไว้เต็มเปี่ยม แถมยังเบื่อหน่ายกับมันด้วยซ้ำในบางหน

เมื่อมีอยู่ในตัวจนมากเกินพอแล้ว จึงไม่ต้องการอีก
ไม่ต้องการ “สมอง” มาเพิ่มเติมแล้ว กดดันมากพอแล้ว
แต่ต้องการ “ความรู้สึก” หรือ “หัวใจ” ที่จะมาอยู่ข้างๆ มากกว่า
นั่นเป็นการคาดเดามุมมองของผู้ชาย แบบล่อเป้าขบวนการสตรีนิยมอย่างยิ่ง

ถ้าสมมุติฐานนี้เป็นจริง ผู้ชายก็น่าจะต้องการ “หัวใจ” ไม่ใช่ “สมอง”
เมื่อมี “หยาง” แล้ว จึงต้องการ “หยิน” มาทำให้เกิดสมดุล

แต่เอาเข้าจริง ลึกๆ แล้วไม่ว่าจะชายหรือหญิงก็ล้วนต้องการ “หัวใจ”
และสุดท้ายคนเราก็จะเป็นจะตายกับความรู้สึก ไม่ใช่ความรู้

ผมพอเข้าใจเพื่อนของผมได้ว่า ทำไมวันนี้เธอจึงไม่ซื้อหนังสือเลยสักเล่ม
เพราะไม่มีความรู้ชนิดไหนที่จะเยียวยาหัวใจของมนุษย์ได้

“หัวใจ” ต้องใช้ “หัวใจ” เยียวยาเท่านั้น

เรื่องรอบเดือน

กันยายน 28, 2007

บล็อก Culture Gap ให้ข้อมูลเกี่ยวกับเรื่อง
“ตำนานพระจันทร์…วันไหว้!” เอาไว้ว่า

น้าชาติ ประชาชื่น แห่ง คอลัมน์ รู้ไปโม้ด (นสพ.มติชน)
เขียนถึงประวัติเทศกาลไหว้พระจันทร์ ไว้ว่า
เป็นการไหว้เพื่อรำลึกถึง เทพรูปงามองค์หนึ่ง นามว่า ไท้อิมเนี้ย
ซึ่งจะเสด็จมาโปรดสัตว์โลก ในคืนพระจันทร์เต็มดวง…

… อีกตำนานหนึ่งกล่าวไว้ว่า ผู้นำชาวจีน นามว่า จูง่านเจียง
วางแผนยึดอำนาจจากกษัตริย์ชาวมองโกล
โดยส่งเอกสารลับไว้ในขนมเปี๊ยะที่มีขนาดใหญ่
นัดให้ทุกครอบครัวเตรียมอาวุธ โดยจัดงานไหว้พระจันทร์ตบตา
และในที่สุด ก็ยึดอำนาจได้สำเร็จ

นั่นเป็นตำนานวันไหว้พระจันทร์ ซึ่งผมก็ไม่แน่ใจนักว่า
“เด็กจีน” สมัยนี้จะรู้หรือเปล่า เพราะทุกวันนี้คนจีนบนแผ่นดินใหญ่
ไม่มีใครไหว้พระจันทร์กันแล้ว เพื่อนบอกว่า พวกประเพณีดั้งเดิม
เหล่านี้น่าจะยังมีอยู่ในไต้หวัน และคงติดตามตัวชาวจีนที่อพยพ
ไปยังดินแดนอื่น

แต่ที่แน่ๆ บนแผ่นดินใหญ่ หลังยุคเหมาเจ๋อตุงก็ไม่มีการไหว้พระจันทร์อีก
เหมาต้องการปฏิวัติวัฒนธรรม เพราะฉะนั้นความเชื่อเดิมๆ จึงถูก
ขุดรากถอนโคนทิ้งไป และก็ทำได้สำเร็จเสียด้วย

เมื่อสองวันก่อน ผมเอ่ยปากถาม “เด็กจีน” หลายคนว่า
นี่เป็นเทศกาลไหว้พระจันทร์ใช่ไหม? (ผมทำท่ายกมือไหว้)
เขาทำหน้างง เขาเรียกเทศกาลนี้ว่า “Moon Cake Festival”
หรืออาจพอจะแปลเป็นไทยได้ว่า “เทศกาลขนมไหว้พระจันทร์”
ไม่มีอะไรเชื่อมโยงเกี่ยวกับการ “ไหว้” อีกต่อไป
ผมถามต่อ “แล้วเทศกาลนี้มีความสำคัญยังไง?”
“อ๋อ คล้ายวันครอบครัว ทุกคนจะมารวมตัวกันเพื่อกินขนมไหว้พระจันทร์”
(ซึ่งจะให้ถูกควรจะเรียกว่า “ขนมพระจันทร์” ไม่มี “ไหว้”)
จึงเป็นการรวมตัวกันเพื่อ “กิน” พร้อมหน้า เนื่องในวันที่พระจันทร์ดวงกลมโต
ส่องสว่างเหมาะแก่การนั่งชมจันทร์กันทั้งครอบครัวก็เท่านั้นเอง

ใกล้วันหยุดยาวของชาวจีนเข้ามาทุกที
ตามปฏิทิน พรุ่งนี้จะเป็นวันสุดท้ายที่พวกเราทำงานกัน
“หนึ่งสัปดาห์ทอง” คนจีนเรียกแบบนั้น แต่จริงๆ แล้ว หยุดเนื่องในโอกาส
“วันชาติ” ชาวจีนหลายคนถือโอกาสกลับบ้าน บางคนที่อยู่บ้านมาตลอด
อย่างชาวเซี่ยงไฮ้ก็ถือโอกาสเดินทางไกล น้องสาวในกลุ่มนั่งรถไฟ
ไปทิเบต ผมอยากจะกระโดดขึ้นรถไฟไปด้วย แต่ไปไม่ได้

นิกกี้-น้องชายในทีม ถือโอกาสนี้กลับบ้านไปหาพ่อแม่ที่หนานจิง
จริงๆ แล้วนิกกี้เป็นชาวเหนือ แต่ครอบครัวย้ายมาอยู่ที่หนานจิงแล้ว
ผมถาม “ดีใจไหมได้กลับบ้าน” เขาตอบ “ดีใจมาก คิดถึงบ้านมาก
คิดถึงพ่อ คิดถึงแม่” เขายิ้มกว้าง

เนี่ยลั่ง-น้องชายในทีม ได้โอกาสพาภรรยากลับถิ่นฐานที่ฉงชิง
“คราวนี้นั่งรถไฟเร็วหน่อย เดี๋ยวนี้รถไฟวิ่งไวขึ้น” เขาเล่า
“กี่ชั่วโมง?” ผมถาม “ยี่สิบแปดชั่วโมง” เขาตอบ ผมตาโต
“เร็วแล้วนะ แต่ก่อนสามสิบเจ็ดชั่วโมง” ผมตาเหลือก!
“ดีใจไหม ได้กลับบ้าน” ผมถาม “ดีใจสิ ผมชอบฉงชิง คิดถึง”

เซี่ยเจิ้ง-น้องชายในทีมอีกคนที่มีบ้านอยู่กุ้ยโจว
“กลับบ้านไหม สัปดาห์ทองคำ” ผมถาม “ไม่กลับ” เขายิ้ม
“อ้าว ทำไมไม่กลับ” เขาตอบ “แม่ผมอยู่ที่เซี่ยงไฮ้”
“อ๋อเหรอ ดีจัง” เขายิ้ม

เอลวิส-เพื่อนชาย กลับสิงคโปร์ไปดูแลภรรยาที่กำลังท้องกลม

แอนสัน-โปรดิวเซอร์หนุ่ม ไปฮ่องกงกับครอบครัว

ที่บริษัทบรรยากาศคล้ายบ้านเราช่วงสงกรานต์
เงียบ ร้าง และว่างเปล่า

หมี-เพื่อนชายอยู่ที่นิวยอร์ก เจอกันในเอ็มเอสเอ็น
“ไงบ้าง ได้ข่าวว่าได้งานแล้ว” ผมถาม
“อืม เพิ่งเริ่มว่ะ” ผมถามต่อ “จะอยู่อีกนานเลยเหรอ”
“ทำวีซ่ามาตั้งแสนหก อยู่ได้สามปี” ผมซัก “เอาครบเลย?”
“อืม ถ้างานสนุกก็คงอยู่ไปเรื่อยๆ” ผมถาม “สนุกกว่าไทยไหม?”
“ก็สนุกกว่านะ” ผมคิดในใจ มีหวังมันจะอยู่อีกนาน

ก้อง-เพื่อนชายอยู่ปารีส เจอกันในเอ็มเอสเอ็น
“ไงมึง อยู่จีนอยู่รึเปล่า?” มันทักมา
“อืม มึงล่ะ เรียนจบยัง?” ผมทักกลับ
“จบแล้วว่ะ เพิ่งกลับไปไทยมา เจอเพื่อน แต่ไม่เจอมึง”
“จบเร็วจัง แล้วมึงกลับไปปารีสอีกทำไม”
“ทำงาน” มันตอบ “อ้าว ทำไมต้องทำที่นั่น?”
“แล้วทำไมจะไม่ทำวะ” ผมถาม “งานสนุกกว่าไทยเหรอ?”
“อืม ก็สนุกกว่า” ผมถาม “เงินดี?” มันตอบ “ก็ดีกว่า”
ผมนึกในใจ มีหวังมันจะอยู่อีกนาน

นก-เพื่อนสาวอยู่ชิคาโก เจอกันในเอ็มเอสเอ็น
“ปักกิ่งเป็นไงบ้าง?” นกถาม
“ก็แข็งๆ นะ ไม่แน่ใจว่านกจะชอบ”
“อืม แล้วทำงานกับคนจีนมีปัญหาไหม?”
“ก็ไม่นะ นกทำได้สบายอยู่แล้ว”
“อืม ไม่แน่อาจจะย้ายไปปักกิ่ง”
“โอย อย่างแก สบายอยู่แล้ว”
ผมถามนกตลอดว่าเมื่อไหร่จะกลับเมืองไทย ถามจนเลิกถาม

น้ำ-เพื่อนชายอยู่ซานฟรานฯ เจอกันในเอ็มเอสเอ็น
“จะจบยังมึง?”
“ยังว่ะ อีกสักปีกว่า”
“จะกลับไหม ไม่คิดถึงเมืองไทยบ้างเหรอวะ”
“ไม่ค่อย แต่ก็ไม่ได้ชอบที่นี่หรอกนะ”
“แล้วจะอยู่ทำไมนานๆ”
“มันมีอะไรให้ทำมากกว่า มีอะไรสนุกๆ ให้ทำมากกว่าหน่อย”
“เออ ยังไงอย่าลืมก็แล้วกัน ปีหน้ากลับไปเที่ยวไทยกัน”
“เออ ไม่ลืม ถ้ากูจบนะ”

ตุ๋ย-เพื่อนชายอยู่กรุงเทพฯ เจอกันในเอ็มเอสเอ็น
“ไอ้บอลกำลังจะแต่งงาน ส่วนไอ้เอ๊ะแต่งกับอีชุไปแล้ว”
“มึงล่ะ แต่งเมื่อไหร่” ผมถาม “โอย ยัง มึงล่ะกลับเมื่อไหร่”
“เดี๋ยวเดือนหน้ากลับไป นั่งคุยกัน”
“ฟังเพลงไหม แต่งเสร็จไปหลายเพลงแล้ว”
“เออ ส่งมาดิ”

ต๋อย-เพื่อนชายอยู่กรุงเทพฯ เจอกันในเอ็มเอสเอ็น
“เพลงในบล็อกมึงวันนี้โคตรเหงาเลย”
ผมไปทำงาน กลับมาอีกทีเห็นข้อความที่ต๋อยทิ้งไว้
เพิ่งรู้ว่าต๋อยเข้ามาอ่านบล็อกด้วย เมื่อวานมันเพิ่งบอก
ถ้าอ่านอยู่ก็สวัสดีนะเว้ย-ต๋อย!

โดยอัตโนมัติ เมื่อออฟฟิศเงียบ และโล่ง
ผมกลับไปออนเอ็มเอสเอ็นคุยกับเพื่อนอีกครั้ง
บางคนไม่ได้คุยกันตั้งนาน ผมมองรายชื่อเพื่อนในเอ็มฯ
กระจัดกระจายกันไปไม่รู้กี่ที่ต่อกี่ที่

คืนวันนั้น พระจันทร์เต็มดวง น้องๆ ในกลุ่มกลับบ้าน
ไปกินขนมไหว้พระจันทร์กับครอบครัว หลายคนบอกให้ผม
ไปซื้อขนมมากินเล่น ผมก็ยิ้มแฮ่แฮ่ไปตามเรื่อง

ผมแหงนหน้ามองพระจันทร์
ผมว่ามันเป็นวัตถุบนท้องฟ้าที่โรแมนติกที่สุดสิ่งหนึ่ง
แล้วเพลง “เดือนเพ็ญ” ก็ดังขึ้นในใจ
ถนนมืด ไฟสว่าง พระจันทร์สว่างกว่า

null

เดือนเพ็ญสวยเย็นเห็นอร่าม
นภาแจ่มนวลดูงาม เย็นชื่นหนอยามเมื่อลมพัดมา
แสงจันทร์นวล ชวนใจข้า คิดถึงถิ่นที่จากมา
คิดถึงท้องนา บ้านเรือนที่เคยเนาว์

เรไร ร้องดังฟังว่า
เสียงที่เจ้าพร่ำครวญหา
ลมเอยช่วยพากระซิบข้างกาย
ข้ายังคอยอยู่ไม่หน่าย
ไม่เลือนห่างจากเคลื่อนคลาย
คิดถึงไม่วายเมื่อเราจากกัน

กองไฟ สุมควายตามคอก
คงยังไม่มอดดับดอก
จันทร์เอยช่วยบอกให้ลมช่วยเป่า
สุมไฟให้แรงเข้า พัดไล่ความเยือกเย็นหนาว
ให้พี่น้องเรานอนหลับอุ่นสบาย

ลมเอยช่วยเป็นสื่อให้
นำรักจากห้วงดวงใจของข้านี้ไปบอกเขานั้นหนา
ให้เมืองไทยรู้ว่า ไม่นานลูกที่จากมา
จะไปซบหน้ากับอกแม่เอย

Get this widget | Track details | eSnips Social DNA