Archive for มกราคม 18th, 2007

สงสัยว่าเป็น ฟลาเนอร์

มกราคม 18, 2007

1.
ก็เหมือนกับ ‘ฟลาเนอร์’ น่ะแหละ
เราเริ่มต้นเขียนบล็อกวันนี้ด้วยการเดินเรื่อยเปื่อย ไร้จุดหมาย

“ความตื่นเต้นเกิดจากการเดินทางที่ยาวนานและไร้จุดหมาย
ไปตามท้องถนน ด้วยแต่ละก้าวของการเดินนั้นก่อให้เกิดแรงดึงดูด
และถึงแม้จะอ่อนแรง แต่ความเย้ายวนของร้านค้า ร้านอาหาร
รอยยิ้มของผู้คนและหญิงสาว(รวมไปถึงชายหนุ่ม)
แม้กระทั่งหัวมุมของถนนสายถัดไป รวมทั้งชื่อของถนนต่างๆ
เป็นแรงดึงดูดให้พวกเขาก้าวเดินไปเรื่อยๆ”

นั่นคือบุคลิกบางประการของ ‘ฟลาเนอร์’
และก็อาจจะเป็นบางบุคลิกของเราเวลาอยู่ต่างเมือง

2.
ฟลาเนอร์ (flaneur) หมายถึง คนที่หลงใหลในเมือง
ผู้ซึ่งเต็มไปด้วยเวลาว่างและใช้เวลาว่างในช่วงพักจากงานประจำ
เพื่อที่จะเดินเล่นโดยไม่มีจุดหมาย เนื่องจากการมีจุดมุ่งหมาย
และตารางเวลาที่แน่นอนนั้นเป็นสิ่งที่อยู่ตรงข้ามกับความเป็นฟลาเนอร์

เริ่มเห็นภาพอันล่องลอยของฟลาเนอร์บ้างแล้ว

ฟลาเนอร์ที่สมบูรณ์แบบหรือสำหรับผู้ที่หลงใหลในการเฝ้ามองแล้ว
ความพึงพอใจอย่างแรงกล้าได้แก่ การมีชีวิตอยู่ท่ามกลาง
ความแตกต่างหลากหลายที่มีการเปลี่ยนแปลงและเคลื่อนไหว

ความสุข คือ การได้เฝ้ามองความเคลื่อนไหวอันหลากหลาย

ถึงแม้คุณไม่ได้อยู่ที่บ้านแต่คุณรู้สึกเสมือนอยู่บ้าน
ในทุกที่ที่คุณไป คุณพบกับผู้คน และอยู่ ณ ศูนย์กลางของสรรพสิ่ง
แต่ในขณะเดียวกับที่ตัวคุณนั้นยังคงแยกตัวออกจากผู้อื่น

อยู่ท่ามกลาง ทว่าแยกตัว เหมือนโดดเดี่ยว แต่ก็เข้าร่วม

ฟลาเนอร์จะปฏิเสธการรับรู้สิ่งต่างๆ
หรือการพบปะผู้คนด้วยคุณค่าที่กำหนดไว้ล่วงหน้า

เป็นพวกชอบใฝ่หาประสบการณ์มากกว่าที่จะเป็นการหาความรู้
ซึ่งมักจบลงด้วยการตีความ-และแทนที่ด้วยความรู้

สำหรับฟลาเนอร์แล้ว ประสบการณ์ยังคงบริสุทธิ์
ไม่มีผลประโยชน์ และดิบ
(ต่างจาก ‘ความรู้’ ที่มักถูกสร้างขึ้นมาจากผู้มีอำนาจ
และมักจะปรุง+แต่งมาเรียบร้อยแล้ว)

ประสบการณ์ได้สร้างพลังของความเข้าใจต่อความแตกต่าง
และความไม่เป็นแก่นสารของเมือง พวกเขาจะสร้างความหมายใหม่
ต่อความสับสน ข่าวลือ และความประหลาดใจ รวมทั้งพฤติกรรมที่
เบี่ยงแบนและวิถีชีวิตแบบใหม่ของคนรุ่นใหม่

ไป ‘ประสบ’ กับ ‘การณ์’ ต่างๆ ด้วยตัวเอง
ตีความเอง สร้างความหมายและความรู้เอง ท่ามกลางความสับสน

บางส่วนคัดมาจาก หนังสือ โพสต์โมเดิร์นทางเลือก มุมมองของเอเชีย
โดย วิลเลียม ลิม พิมพ์โดย art4d กับ ม.ธ.

3.
อ่านแล้วนึกถึง ‘อารมณ์’ ของตัวเองตอนที่ไปเดินเรื่อยเปื่อย
ในต่างแดน ในวันที่ไม่มีงานการกองท่วมหัว ในวันที่ไม่มีอะไรให้คิด
ลำพังแค่ ‘หัวมุมของถนนสายถัดไป’ ก็มีแรงดึงดูดอย่างประหลาด

ดูเหมือนว่าจะมี ‘การณ์’ ใหม่ๆ รอให้ ‘ประสบ’ อยู่ทุกแยก
ทุกก้าวจึงเต็มไปด้วยความตื่นเต้น กระตือรือร้น อยากรู้อยากเห็น

กลับมาที่บ้าน-ในมหานครกรุงเทพฯ
พฤติกรรม ‘เรื่อยเปื่อย’ ในวันไร้การงานก็ไม่ต่างกันนัก
หากแต่ก็ไม่ได้เหมือนกันไปซะทั้งหมด

เสาร์-อาทิตย์ ทีไร ต้องมานั่งตอบคำถามง่ายๆ
ที่ตอบตัวเองไม่ค่อยได้ว่า จะออกไปไหนดี?

ถึงแม้ ‘หัวมุมของถนนสายถัดไป’ จะไม่มีอะไรดึงดูดใจนักหนา
เพราะเห็นผ่านตามาไม่รู้กี่ครั้ง แต่ก็คงยังขับรถออกจากบ้านเสมอ
ถ้าไม่มีจุดหมาย สุดท้ายมักจะจบลงแถวๆ สยามฯ
สแควร์, เซ็นเตอร์, พารากอน เลยไปถึงเซ็นทรัลเวิลด์
บางทีก็เป็นอัตโนมัติเหมือนถูกตั้งโปรแกรมไว้

เอาตัวเองไปอยู่สถานที่ชุมนุมชน
เหมือนอยู่ปะปนกับเค้า แต่ก็ไม่รู้จักกัน

หรือเราต่างเป็นฟลาเนอร์?
ผู้หลงใหลในการเฝ้ามอง
ไปมองเค้า ไปให้เค้ามองเรา?

แต่ถ้าในนิยามว่า ‘หลงใหล’ ในเมือง อันนั้นไม่น่าจะใช่
หากบอกว่า ‘หลง’ จนต้อง ‘ไหล’ อาจจะใช่กว่า

‘ไหล’ ไปเรื่อยเปื่อย
ไม่ค่อยได้เจอประสบการณ์ใหม่อะไรนักหนาหรอก
ยิ่งเป็นประสบการณ์ที่ทำให้เข้าใจเมืองหรือได้ความรู้ใหม่
แบบที่หนังสือว่าไว้ ยิ่งไม่ค่อยจะมี
เป็นเพียงประสบการณ์ซ้ำๆ เจ็ดวันหน

เสาร์-อาทิตย์ เวียนมาทุกๆ เจ็ดวัน
ไปไหนกันบ้าง?
เรื่อยเปื่อยไหม?
ตกเป็น ‘ผู้ต้องสงสัย’ เหมือนกันหรือเปล่า?