Archive for สิงหาคม 29th, 2007

จงนับก้อนเมฆ แล้วเวลาจะมาถึง

สิงหาคม 29, 2007

null

เรื่องบังเอิญเกิดขึ้นในชีวิตเราเสมอ
หากมีเวลาเพียงพอเราจะรู้สึกถึงมัน

สองสัปดาห์ก่อนได้มีโอกาสนั่งคุยเรื่องหนังสือ
กับพี่แป๊ด-ระหว่างบรรทัด ในบทสนทนาขนาดยาว
มีหนังสือชื่อ “ไหม” ของ อเลซซานโดร บาริกโก
แทรกตัวเข้ามา

หลังจากนั้นไม่กี่วัน เพื่อนคนหนึ่งก็พูดถึง “ไหม”
ถามว่า-เคยอ่านไหมไหม?
ตอบไป-อยากอ่าน แต่ไม่ได้อ่านสักที
จริงๆ แล้วหนังสือเล่มบางๆ แบบนี้ ชอบนักล่ะ

ไม่กี่วันถัดมา เพื่อนคนนั้นติดใจ “ไหม”
จึงไปซื้อ “ไร้เลือด” ของผู้เขียนคนเดียวกันมาอ่านอีก
และเริ่มกล้าพูดเกือบจะเต็มปากเต็มคำว่า “ชอบ”
นักเขียนคนนี้

ตั้งใจเอาไว้ว่ากลับไปจะรีบไปหามาอ่าน
ได้ข่าวว่า เล่มบาง

วันนี้ เดินทางไปรับ “ของ” ในห่อสีน้ำตาลที่ที่ทำการไปรษณีย์
พนักงานยื่นห่อยู่ยี่มาให้ ของข้างในมีหลายชิ้น ยังไม่ได้แกะดู
ใส่มันลงไปในกระเป๋า และเดินต่อ

มานั่งลงในร้านน้ำชาเงียบๆ แห่งหนึ่ง บรรจงแกะห่อกระดาษสีน้ำตาล
ในนั้นมีหนังสือสองเล่ม หนึ่งในนั้นคือ “ไร้เลือด” ของ บาริกโก
ตื่นเต้น แปลกใจ และตัดสินใจพัก “ขี่ม้าชมดอกไม้” ของ
‘รงค์ วงษ์สวรรค์ (หนุ่ม) ที่อ่านค้างไว้ แล้วแง้ม “ไร้เลือด” อ่านก่อน

ผมเดินทางจากบ้านไร่เก่าโทรมในหน้าแรกไปจนถึงเตียงนอน
ในหน้าสุดท้ายภายในร้านน้ำชาแห่งนั้น-อย่างไม่รีบร้อน

บางฉากบางตอนทำให้ตกใจ
บางบรรทัดทำเอาเกือบน้ำตาไหล
บางความคิดก็ทำให้ต้องหยิบดินสอมาขีดเน้นความสำคัญ

ภาษาเรียบง่าย แต่เหตุการณ์และเรื่องราวช่างมีพลัง

อ่านจบแล้วมีความหวัง
อ่านจบแล้วอยากเขียนหนังสือ

เจ้าของ “ไร้เลือด” เล่ามาในจดหมายว่า
วันนั้นตั้งใจจะ “คัด” หนังสือเพื่อนำไปบริจาคให้เด็ก
แต่ในจำนวนหนังสือเกินร้อยเล่มนั้น เธอ “ตัดใจ” บริจาคได้แค่
หกเล่มเท่านั้นเอง นับได้ว่ารักหนังสือไม่ใช่น้อย และระหว่าง
สางหยากไย่ในกรุหนังสือของตัวเอง ก็เกิดความคิดว่า
น่าจะลองให้ “ไร้เลือด” เปลี่ยนเจ้าของดูเสียหน่อย
เพราะเธอคิดว่าอาจจะเหมาะกับเจ้าของใหม่ เดาเอาว่าคงชอบ

“บางที “ไร้เลือด” อาจจะทวีคุณค่ามากขึ้นเมื่อเปลี่ยนคนอ่าน”
เธอแนบข้อความมาว่าอย่างนั้น

ไม่กี่วันก่อน เพื่อนที่ชื่นชอบ อเลซซานโดร บาริกโก
เพิ่งบอกกับผมว่า “เราคิดว่าหนังสือไม่ควรอ่านคนเดียว”
(บังเอิญอีกแล้วใช่ไหม?)

บางที หนังสือบางเล่มก็ต้องรอบางคนนำมันมาสู่เรา
และช่วงเวลานี้ก็เหมือนมีใครสักคนพยายามให้ผม
ทำความรู้จักกับ อเลซซานโดร บาริกโก โดยจงใจ

ผมดีใจที่เป็นคนที่สองที่ได้อ่านหนังสือเล่มเดียวกันนี้
และอยากส่งต่อให้คนที่สาม ที่สี่ ที่ห้า ที่หก…
เขียนมาถึงตรงนี้ ก็นึกไปถึงคำท้ายเล่มที่บรรจุไว้ในหนังสือ
ของสำนักพิมพ์ผีเสื้อทุกเล่ม เขาเขียนเอาไว้ว่า

“เรามิได้ทำหนังสือให้ท่านอ่านเพียงวันนี้
เดือนนี้ หรือปีนี้ แต่หวังจะให้อยู่เนิ่นนาน
มิใช่ในชั่วเวลาสิบปี ยี่สิบปี หรือห้าสิบปี
ทว่าอยากให้อยู่ถึงร้อยปีหรือกว่านั้น
เหมือนวรรณกรรมและหนังสือดีๆ ทั้งหลาย
ที่มักจะอยู่ในความทรงจำของผู้อ่าน
สืบทอดต่อกันรุ่นแล้วรุ่นเล่า
จดจำกันสืบไปไม่รู้เลือน
ไม่ว่าเวลาจะผ่านไปนานเท่าใด
หนังสือทุกเล่มของสำนักพิมพ์นี้ก็เช่นกัน
ด้วยเราเชื่อมั่นประการหนึ่งว่า
การทำหนังสือดีก็เหมือนการสร้างโบสถ์วิหาร”

เป็นเจตนาเพื่อ “ส่งต่อ” เช่นกัน ใช่ไหม?

เวลาได้อ่านหนังสือดีๆ นี่มีความสุขนะครับ
และผมก็คิดว่า หากคนที่ส่งต่อหนังสือดีๆ มาให้ได้รู้ว่า
คนรับมีความสุขจากการอ่าน เขาก็คงมีความสุขเหมือนกัน

ขอส่งต่อ “ไร้เลือด” ให้คนที่ยังไม่เคยอ่านครับ

เหมา-บนฝาผนัง

สิงหาคม 29, 2007

null

“ประธานเหมา” คือสิ่งแรกที่เห็น เมื่อก้าวเท้าเข้าไปในร้าน
ผมเองก็ไม่ได้มีโอกาสไปเยี่ยมบ้านคนจีนแท้ๆ สักเท่าไหร่
จึงไม่รู้ว่า ทุกวันนี้ยังมีคนประดับรูปประธานเหมาไว้ที่ฝาผนังบ้าน
กันกี่มากน้อย เคยเห็นบ้านเล็กๆ หลังหนึ่งในปักกิ่งแขวนหลายสิ่ง
เกี่ยวกับประธานเหมาเอาไว้ ส่วนบ้านเรือนที่เซี่ยงไฮ้นี่ไม่ค่อยเห็น

เนี่ยลั่งจูงมือผมเข้าไปในร้านอาหารหูหนาน
“หู” คือทะเลสาบ “หนาน” แปลเป็นไทยว่า ใต้
รวมกันแล้วไม่ใช่ “ใต้ทะเลสาบ” แต่เป็น “ทะเลสาบใต้”
ทั้งนี้ยังมี “หูเป่ย” ซึ่งแปลว่า “ทะเลสาบเหนือ” อีกด้วย

เราสั่งอาหารเลื่องชื่อของหูหนานมาสำราญลิ้น
หนึ่งคือหัวปลารสเผ็ด นามว่า โต้วเจียวหยูโถว
ส่วนอีกหนึ่งนั้นเป็นอาหารจานโปรดของผม-หงซ่าวโร่ว
ซึ่งก็คือหมูสามชั้นเค็มปนหวานกลมกล่อมนั่นเอง
แต่จะว่าไป หงซ่าวโร่ว ก็มีหลายสูตร และสูตรหนึ่ง
ที่ผมอยากลองมานานก็คือสูตรของหูหนานนี่เอง
เพราะเป็นสูตรเฉพาะที่ประธานเหมาชื่นชอบ
ในร้านนี้จึงไม่ใช่หงซ่าวโร่วธรรมดา แต่เป็น-เหมาซื่อหงซ่าวโร่ว

ประธานเหมาเป็นชาวหูหนาน และนั่นอาจเป็นเหตุผลที่ร้านนี้
แขวนภาพของท่านเอาไว้ให้ผู้คนเห็นเป็นสิ่งแรก
ผมไม่แน่ใจว่าข้างในจิตใจของเจ้าของร้านจะเคารพศรัทธาเหมา
หรือแค่ใช้ภาพมาตกแต่งร้าน เพื่อสื่อ “สาร” ในเชิงสัญลักษณ์
ซึ่งถ้าเป็นอย่างหลัง “เหมา” ในที่นี้แปลว่า “หูหนาน” เท่านั้นเอง
ไม่ได้มีอะไรลึกซึ้งมากกว่านั้นเลย และถ้าเป็นแบบนั้นจริงๆ
ความหมายของ “เหมา” ก็แบนไม่ต่างอะไรกับภาพที่นำมาติดไว้

“นายชอบประธานเหมาไหม” ผมแง้มถามชายหนุ่มจากฉงชิง
ซึ่งอยู่ในละแวกใกล้เคียงกับหูหนาน เนี่ยลั่งแย้มยิ้ม พยักหน้า
แล้วพูดออกมาว่า “เป็นไอดอลของเราเลยล่ะ” ผมออกจะแปลกใจ
ที่ได้ยินคำตอบนี้ เพราะเท่าที่เคยถามหนุ่มสาวชาวจีนที่รู้จักกัน
หลายคนตอบว่า “ไม่ชอบ” และก็ให้เหตุผลต่างๆ กันไป
แต่ผู้ให้คำตอบส่วนใหญ่เป็นชาวเซี่ยงไฮ้ บ้างก็บอกว่า
เหมาทำให้จีนพัฒนาช้าไปหลายสิบปี บ้างก็ไม่ชอบที่เหมา
“ปฏิวัติวัฒนธรรม” ด้วยวิธีการที่ค่อนข้างรุนแรง

แต่ทำไมเนี่ยลั่งถึงชอบ?

“ประธานเหมาเป็นผู้นำที่เข้มแข็ง เด็ดเดี่ยวและเด็ดขาด”
ผมออกจะแปลกใจกับเหตุผลที่ยกขึ้นมา เพราะมันช่างขัดกับ
บุคลิกของเขาที่โอนอ่อนราวกับต้นหญ้าลู่ลม แต่แล้วถ้อยคำ
หลังจากนั้นที่พรั่งพรูออกมาก็ช่วยให้ผมเข้าใจมากขึ้น
“ประธานเหมาเป็นศิลปิน เป็นนักเขียน เป็นนักโฆษณา
เป็นนักแต่งเพลง เป็นทุกอย่าง ท่านเก่งมาก”
“เหมาวาดภาพด้วยเหรอ” ผมถาม “อืม ตัวหนังสือของเหมา
ก็คือภาพวาด ท่านเขียนตัวหนังสือได้สวยมาก”
เอลวิสก็เคยบอกกับผมว่า ลายมือของเหมานั้นได้รับการยอมรับว่า
“สวย” และขึ้นชื่อลือชาเอามาก ตอนนั้นเขาชี้ให้ผมดูที่ป้ายหิน
แผ่นหนึ่งใกล้ๆ ทางขึ้นไปกำแพงเมืองจีน

ผมเพิ่งอ่านหนังสือเจอมาเมื่อไม่นานมานี้ว่า
คนจีนให้ความสำคัญกับลายมือมาก เพราะมันเป็นศิลปะอย่างหนึ่ง
ตัวหนังสือจีนก็คืออักษรภาพ เพราะฉะนั้นถ้าเขียนสวย
ก็เท่ากับว่าวาดภาพได้สวย เราจึงเห็นคนจีนนำตัวหนังสือ
มาประดับบ้านเสมือนภาพวาดอยู่ในส่วนต่างๆ เต็มไปหมด

“เหมาเขียนสโลแกนเก่งมาก มีสโลแกนดีๆ เต็มไปหมด
จริงๆ แล้ว เหมาเป็นก๊อปปี้ไรเตอร์ที่เก่งมากๆ เลยทีเดียว”
เนี่ยลั่งพยายามโยงเหมาเข้ากับอาชีพการงานของพวกเรา
“แถมเหมายังเป็นนักเขียนที่ยิ่งใหญ่ที่สุดคนหนึ่งของจีน
หนังสือที่เหมาเขียนเต็มไปด้วยวรรคทอง เคยอ่านบ้างไหม”

“อืม มีอยู่ที่บ้าน อ่านไปได้นิดหน่อย เดี๋ยวจะลองอ่านดู
นี่เด็กทุกคนต้องอ่านหนังสือของเหมาหรือเปล่า”

“เราใช้หนังสือของเหมาเป็นแบบเรียนตั้งแต่สมัยประถม”

“หา! จริงเหรอ แล้วนอกจากเหมา พวกนายเรียนอะไรกันอีก
เติ้งเสี่ยวผิง เรียนไหม”

“เติ้งนี่เรียนสมัยมัธยม ตอนประถมเรียนพวกขงจื่อ จวงจื่อ
เต้าเต๋อจิง…”

“หา! เรียนตั้งแต่ประถมเนี่ยนะ!”

“อืม เรียนเบื้องต้นน่ะ แล้วก็ยังมี เก๊าเอ้อจี้ (นักเขียนใหญ่ของรัสเซีย
ที่เนี่ยลั่งจำชื่อภาษาอังกฤษไม่ได้), เช็กสเปียร์, หลู่ซิ่น โอย
อีกเยอะมาก ถึงตอนนี้ก็จำไม่ค่อยได้แล้ว นายรู้จัก เหลยฟง ไหม”

“ใครอะ ไม่เคยได้ยิน”

“เหลยฟง เป็นทหารก่อนยุคประธานเหมา มีแนวความคิดหลักๆ คือ
จงเป็นผู้ให้ และอย่าหวังรับอะไรจากใคร เหลยฟง มีชื่อเสียงมาก
ผู้คนรักเขา และถึงทุกวันนี้พวกเรายังต้องเรียนเรื่องของเหลยฟง
กันอยู่เลย อ้อ มีวันเหลยฟงด้วยนะ”

“เหลยฟงเดย์เหรอ ตรงกับวันไหน”

“ไม่รู้แฮะ จำไม่ได้ แต่เหมาประกาศว่า ให้ทุกวันเป็นวันเหลยฟง
หมายความว่าทุกคนควรจะมีเหลยฟงไว้ในใจทุกวัน”

“แล้ว หลู่ซิ่น ล่ะ เป็นคนในยุคไหน”

“หลู่ซิ่น เป็นนักเขียนยุคหลังฮ่องเต้ เขาเดินทางไปศึกษาด้านการแพทย์
ที่ญี่ปุ่น แต่พอกลับมาจีน แล้วญี่ปุ่นมาบุกจีน ฆ่าคนจีน ทำร้ายคนจีน
แล้วคนจีนไม่ตอบโต้ ไม่สู้ หลู่ซิ่นจึงทนไม่ได้ เริ่มลงมือเขียนหนังสือ
ปลุกใจให้ชาวจีนทุกคนเข้มแข็ง เลิกก้มหัวยอมให้คนอื่นทำร้ายตัวเองเสียที
ณ เวลานั้น หลู่ซิ่นถือว่าเป็นคนที่เปลี่ยนความคิดของคนจีนเลยทีเดียว”

“เปลี่ยนยังไง”

“แต่ก่อนคนจีนเรามี ขงจื่อ จวงจื่อ อยู่ในใจ จวงจื่อสอนให้รักสงบ
ขงจื่อสอนว่าหากมีใครตบหน้าเรา ก็จงยิ้มกลับไปให้เขา
ใครทำสิ่งที่เลวมา ก็ให้ต่อสู้ด้วยความดี แนวคิดส่วนใหญ่ของจีน
ในยุคก่อนสอนให้ยอมคน อยู่อย่างสงบ และไม่คิดรุกรานใคร
แต่มาถึงยุคนั้น (ยุคล่าอาณานิคม) ครั้นจะขงจื่อ จวงจื่อ กันต่อไป
หลู่ซิ่นก็เห็นว่าไม่ได้การเสียแล้ว”

“งี้หลู่ซิ่นก็คนละแนวทางกับขงจื่อเลยสิ”

“โหย หลู่ซิ่นเกลียดขงจื่อมากๆ เพราะขงจื่อทำให้คนจีนอ่อนแอ”

“เคยอ่านหนังสือของหลู่ซิ่นเล่มหนึ่ง ชื่อ อาคิว”

“โอย ใช่เลย เล่มนี้แหละสะท้อนลักษณะนิสัยคนจีนในยุคนั้น
อาคิว ที่เป็นคนปวกเปียกก็เหมือนกับคนจีนในยุคนั้นนั่นเอง”

“อ้อ เพิ่งรู้นะเนี่ยว่า หลู่ซิ่นนี่แนวปลุกระดม”

“อืม ด้วยเหตุนี้แหละ ประธานเหมาถึงชอบหลู่ซิ่น และไม่ชอบขงจื่อ
จวงจื่อ หรือสารพัดจื่อเอาเสียเลย ตอนนั้นเป็นช่วงปฏิวัติวัฒนธรรม
พวกแนวความคิดเก่าๆ ถูกเผาถูกทำลายเกลี้ยง ใครชอบใครเชื่อ
ความคิดแบบนั้นก็พานจะถูกทำลายไปด้วย เพราะเหมาคิดว่า
จีนยุคใหม่ต้องแข็งแรง จะทำตัวแบบเก่าๆ ไม่ได้อีกต่อไปแล้ว”

“แล้วแนวความคิดของเหมาล่ะ”

“ตอนนั้นจีนมีสองผู้นำประลองกำลังกัน ด้านหนึ่งคือเหมา
อีกด้านคือ เจี่ยงเจี้ยสือ (เจียงไคเช็ก) ซึ่งเอียงไปทางอเมริกา
เหมาพยายามจะรักษาจีนเอาไว้ สิ่งที่แตกต่างกันก็คือ
ในยุคก่อนเหมา คนจีนจำนวนมากที่เป็นชาวนาไม่มีอะไรกิน
เหมาแบ่งสรรปันส่วนให้ทุกคนได้มีข้าวกิน เหมือนๆ กัน
แต่เจี่ยงเจี้ยสือไม่ได้คิดแบบนั้น คนมีเงินบางคนเท่านั้น
ที่จะมีข้าวกิน แล้วรู้ไหม คนจีนพันล้านคนเนี่ย เป็นชาวนา
เกือบแปดร้อยคนเข้าไปแล้ว”

“ครอบครัวนายแต่ก่อน เมื่อนานมาแล้วก็เป็นชาวนาไหม”

“ใช่ ที่ฉงชิงมีชาวนาเยอะมาก ในจีนก็มีเยอะมาก”

ถึงตรงนี้ผมก็ได้คำตอบที่ตอบข้อสงสัยของตัวเอง
ว่าทำไมเนี่ยลั่ง-ตัวแทนจากฉงชิงจึงชอบเหมา
และทำไมคนเซี่ยงไฮ้ที่มองไปข้างหน้า
อยากเจริญรุดหน้าเร็วๆ จึงไม่ชอบ

“ประธานเหมา เหมือนพระพุทธเจ้า เหมือนพระเยซู
สำหรับบางคน”

“โหย จริงเหรอ แต่ก็มีบางคนใช่ไหมที่ไม่ชอบท่าน”

เนี่ยลั่งหยุดนิ่งหนึ่งอึดใจ แล้วค่อยๆ ตอบ
“ประธานเหมาเป็นมนุษย์ปุถุชน ไม่สมบูรณ์แบบหรอก
มีดี และมีแย่ ด้านแย่ก็มี แต่อย่างน้อยท่านก็ทำเพื่อคนส่วนใหญ่”

ผมโยนคำถามเดียวกันกับที่เคยถามเพื่อนชาวเซี่ยงไฮ้คนอื่น
“แต่ ณ เวลานั้น ถ้าไม่มีเหมา ป่านนี้ก็ไม่รู้จีนจะแตกออกเป็นกี่ประเทศ”

“ก็เป็นไปได้ บางทีอาจคล้ายเกาหลี เพราะตอนนั้นก็มีสองกำลังง้างกันอยู่”

“อืม…”

“หลังจากที่เหมาชนะ เจี่ยงเจี้ยสือต้องหลบไปตั้งรกรากที่ไต้หวัน
บนแผ่นดินใหญ่ที่ผ่านการปฏิวัติวัฒนธรรม เผาตำราโบราณ ล้างความเชื่อ
จึงไม่มีพิธีเก่าๆ เหมือนในไต้หวัน ซึ่งยังเคร่งครัดกว่ามาก”

บางทีผมยังคิดเลยว่า คนจีนในไทยนี่ประเพณีจีนแข็งแรงกว่าที่นี่เสียอีก
อย่างสารทจีนที่กำลังไหว้กันอยู่ ที่นี่ก็ไม่มีแต่อย่างใด

“ทุกวันนี้ ยังมีคนประดับรูปประธานเหมาไว้ที่ฝาผนังบ้านอีกไหม”

“คงจะเหลือน้อยมาก ตามชนบทไกลๆ อาจจะยังมีอยู่
แต่ในเมืองนี่ไม่น่าจะมีแล้ว ทุกวันนี้คนไม่มีเหมาในใจแล้ว”

“ไม่มีในใจ ก็ไม่มีบนผนัง”

“เติ้งเสี่ยวผิง เป็นอีกคนหนึ่งที่พลิกจีน ปฏิวัติจีนให้เปลี่ยนไป”
เขาทำท่าพลิกฝ่ามือรุนแรง

“นายไม่ชอบเหรอ”

“ก็ไม่ใช่ชอบหรือไม่ชอบ มันก็ต้องเป็นไป”
เนี่ยลั่งตอบอย่างกะจวงจื่อมาเอง ว่าแล้วก็พูดต่อ

“แต่ทุกวันนี้ จีนเปลี่ยนเร็วเกินไป เติบโตเร็วเกินไป
ตอนนี้ไม่มีเหมา ไม่มีขงจื่อ ไม่มีจวงจื่อ ไม่มีเหลาจื่อ ไม่มีหลู่ซิ่น
ไม่มีอะไรเหลือแล้ว ในใจคนจีน ยิ่งคนในเมือง
ไม่มีความเชื่ออะไรเหลือแล้ว”

“เป็นอย่างนั้นเลยเหรอ แล้วพวกเขาเชื่อในอะไรกัน”

“เงินไงล่ะ เงิน”

ผมมองออกไปนอกร้าน เห็นร้านอาหารหรูหราตรงกันข้าม
ประดับโคมไฟระย้า บัวผนังทาสีทองอร่าม เก้าอี้สไตล์ยุโรป
ตั้งเรียงราย บนฝาผนังแขวนภาพเขียนยุโรปที่ผลิตซ้ำขึ้นจาก
การพริ้นท์ภาพเขียนชื่อดังลงบนผืนผ้าใบ หลายร้าน
หลายสถานที่ในเซี่ยงไฮ้อวดความหรูหราข่มกันแบบไม่มีใครยอมใคร
ผมนึกไปถึงตลกร้ายที่น้องชายชาวเซี่ยงไฮ้เคยเล่นไว้กับผม
“ผมชอบเหมานะพี่ รักเหมามากเลย เหมาที่อยู่บนแบงค์น่ะ ฮ่าฮ่า”

แล้วผมก็หันกลับมามองรูปท่านประธานเหมาในร้านอีกครั้ง
ความหมายของ “เหมา” ที่แขวนไว้บนผนังคืออะไร
ได้แต่แอบหวังเอาไว้ในใจ ว่าท่านไม่ได้ถูกแขวนเอาไว้เพื่อเป็นนางกวัก