Archive for กุมภาพันธ์ 16th, 2007

0002: มนุษย์ต่างด้าว

กุมภาพันธ์ 16, 2007

“ฮัลโหล เอ๋ ยูอยู่ไหน?”
เสียงไทยสำเนียงเทมาเส็กของเอลวิสยังเหมือนเดิม
“อยู่เคเอฟซี ชั้นสองนะ”

รอยยิ้มขนาดกว้างใต้ไรหนวดของเอลวิสเป็นยิ้มที่คุ้นเคย
และมันอาจเป็นยิ้มของเพื่อนร่วมโลกต่างชาติที่ผมคุ้นเคยด้วยมากที่สุด
และรอยยิ้มนี่เองที่อาจจะเป็นเหตุผลสำคัญที่ทำให้ผมกล้าเก็บผ้าผ่อน
ออกเดินทางไกล

“ฮ่าฮ่า”
เสียงหัวเราะของเราทั้งคู่ดังขึ้นพร้อมกัน
ไม่รู้หัวเราะทำไม แต่ความเก้อเขินก็หายตัวไปหลังเสียงหัวเราะ

“เอลวิสจะมาเอาตัวเอ๋ไปเหรอ?” หญิงสาวข้างๆ ผมเอ่ยปากถาม
“ฮ่าฮ่า” เอลวิสหัวเราะอีกครั้ง “แล้วเอ๋จะไปไหม?”
“ไม่รู้เหมือนกัน” หญิงสาวตอบ เธอหัวเราะบ้าง

ทุกครั้งที่เราเปล่งเสียงหัวเราะออกมา เรามีเจตนาอะไร?
ผมว่าไม่เสมอไปหรอกที่เราจะหัวเราะเพราะ ‘ขำ’
และก็ไม่เสมอไปหรอกกระมังที่เราจะหัวเราะตอนเรามี ‘สุข’ เท่านั้น
บางครั้ง เราก็อาศัยเสียงหัวเราะเป็นกำบังความไม่สบายใจ มิใช่หรือ?

“ฮ่าฮ่า” ผมหัวเราะบ้าง
“เดี๋ยวเราลงไปหาร้านนั่งคุยกันดีกว่า”
ผมพูดประโยคนี้ หลังจากเห็นถ้อยคำ “หนูจะปิดร้านแล้ว” ของพนักงานในร้าน
ที่ส่งผ่านแววตา เราหันไปยิ้ม เธอส่งยิ้มคืนมา นัยน์ตาพูดว่า “ขอบคุณที่เข้าใจหนู”

เราย้ายก้นกันไปหย่อนบนเก้าอี้ที่ร้านโดนัทในสยามสแควร์
ผมสั่งช็อกโกแล็ตเย็น เอลวิสสั่งตาม เราแย่งกันจ่ายเงิน
มื้อเล็กๆ แบบนี้ต้องแย่งกันสักหน่อย มื้อใหญ่จะได้เป็นทีของอีกฝ่าย
ผมค่อนข้างประหลาดใจกับราคาสามสิบห้าบาทของช็อกโกแล็ตเย็นแก้วใหญ่
และประหลาดใจตามมาว่า ทำไมผมจึงประหลาดใจ?
ทำไมผมจึงรู้สึกว่า ช็อกโกแล็ตเย็นแก้วละสามสิบห้าบาทมันถูก?

หรือผมจะชินกับช็อกโกแล็ตเย็น+ราคาบรรยากาศในร้านกาแฟราคาแพงไปแล้ว?

เราเริ่มต้นบทสนทนากันด้วยการหยอกเอิน หยอกกันแบบผู้ชายกับผู้ชาย
มิใช่แบบกระหนุงกระหนิง แต่เป็นแบบกระโชกกระชาก
ไม่ได้หยิกแก้มหยิกก้น แต่เป็นตบหลังตบไหล่ เพื่อให้กำแพงน้ำแข็งละลาย

เพื่อนกัน สนิทกันขนาดไหน พอจากกันไปนานๆ เมื่อได้หวนมาเจอหน้ากันอีกที
มักจะมี ‘กำแพงน้ำแข็ง’ ก่อตัวขึ้นตรงหน้าเสมอ หนาบ้าง บางบ้าง ตามแต่คนไป

ไม่นานนักน้ำแข็งก็ละลายเกลี้ยง

ผมกับเอลวิสคุยกันแบบนี้มาตั้งแต่สมัยที่เราร่วมรัก เอ้ย! ร่วมงานกัน
องค์ประกอบหลักของโฆษณามีสองอย่าง ภาพ และถ้อยคำ
เอลวิส เป็น ผู้กำกับศิลป์ (อาร์ตไดเร็กเตอร์)
ผม เป็น ผู้เขียนคำโฆษณา (ก๊อปปี้ไรเตอร์)
เมื่อมาร่วมรักกัน จึงคลอดผลผลิตออกมาเป็น ‘งานโฆษณา’

คนมักเข้าใจว่า ก๊อปปี้ไรเตอร์ มีหน้าที่ ‘เขียน’ เท่านั้น
และอาร์ตไดฯ ก็มีหน้าที่แค่ ‘แต่งภาพ’ และก็มักจะเข้าใจผิดว่า
‘ครีเอทีฟ’ จะเป็นมนุษย์อีกคนหนึ่ง ที่ไม่ใช่ทั้งอาร์ตไดฯ และก๊อปปี้ฯ
มีหน้าที่คิดไอเดียในงานโฆษณา แล้วค่อยมาให้ก๊อปปี้ฯ ช่วยเขียนคำ
ให้อาร์ตไดฯ ช่วยแต่งภาพ แต่จริงๆ แล้ว ไอ้สองหน้าที่นั้นนั่นแหละ
ที่เรียกรวมกันว่า ‘ครีเอทีฟ’

สองหน้าที่นั้นนั่นแหละที่ช่วยกันคิดงานโฆษณามาด้วยกัน
ก่อนที่จะแยกย้ายกันไป ‘สำเร็จ’ ขั้นตอนสุดท้ายตามหน้าที่แต่ละคน
ก๊อปปี้ฯ ดูเรื่อง ‘คำ’ ทั้งในหนัง, สื่อสิ่งพิมพ์ และวิทยุ
อาร์ตไดฯ ดูเรื่องภาพ ทั้งในหนัง และสื่อสิ่งพิมพ์
เริ่มต้นคิดด้วยกัน แต่แยกย้ายกันไปดูแลในตอนท้ายของกระบวนการ

ครับ, ผมกับเอลวิสเป็น ‘ครีเอทีฟ’

อาชีพที่พี่คนหนึ่งเคยให้นิยามว่า ‘ถูกจ้างมาปวดหัว’
บางวันผมก็รู้สึกแบบนั้น แต่บางวันผมก็รู้สึกว่า เรา ‘ถูกจ้างมาสนุก’

ขณะที่ทำงานด้วยกัน มีบ้างที่สนุก มีบ้างที่เคร่งเครียด
มีบ้างที่เห็นตรง มีบ้างที่เห็นต่าง ซึ่งนั่นก็เป็นเรื่องยากอย่างหนึ่ง
ของอาชีพเกี่ยวกับความคิดสร้างสรรค์

อาชีพกึ่ง ‘ศิลปะ’

เพราะขึ้นชื่อว่า ‘ศิลปะ’ แล้ว ยากที่จะหาเกณฑ์การตัดสินที่ทุกฝ่ายจะยอมรับ
ย่อมมิใช่ อะไร+อะไร=อะไร ไม่มีเหตุผลอธิบายหรือหักล้างกันเห็นๆ
การตัดสินงานโฆษณาสำหรับนำไปพรีเซ้นท์ (ขาย) ลูกค้านั้น
จึงเป็นไปตามหลักการบางอย่างด้านการตลาด บวกรวมเข้ากับความชอบส่วนตัว
ของหัวหน้าที่มีชื่อเรียกตามตำแหน่งว่า ‘ครีเอทีฟ ไดเร็กเตอร์’ (ซีดี) เท่านั้น

ลูกน้องทั้งหลายถก+เถียงได้ตามมุมที่มอง ตามสมองที่คิด
แต่สุดท้ายก็ต้องยอมรับในการตัดสิน ซึ่งจะว่าไปก็ต้องอาศัย
ความเชื่อใจและศรัทธาในตัวหัวหน้าอยู่ไม่น้อย

ความที่เอลวิสเป็นสิงคโปร์ และผมเป็นคนไทย
ย่อมทำให้ความคิดที่ไหลออกมาจากสมองนั้นแตกต่าง
แต่ส่วนผสมที่แตกต่างกันนี่แหละที่น่าสนใจนักสำหรับความคิดสร้างสรรค์

‘การสร้างสรรค์ คือ การจับสิ่งที่ไม่เกี่ยวกันมาเกี่ยวกัน’ ใครเคยบอกไว้

ไทยกับสิงคโปร์อาจแตกต่าง และในวันนี้หลายคนอาจมีทัศนคติด้านลบ
กับประเทศนี้ หึหึ ผมแค่สังเกตจากการไปเชียร์ฟุตบอลนัดชิงในสนามศุภฯ
ที่เพิ่งผ่านมา

แต่สำหรับผม-คนที่ไม่ค่อยสนใจเรื่องเชื้อชาติ สัญชาติ
เอลวิสเป็นเพื่อนมนุษย์ และเป็นเพื่อนที่ดีของผมคนหนึ่ง

ครับ, ไทยกับสิงคโปร์อาจแตกต่าง แต่ในความแตกต่างย่อมมีจุดร่วม
ซึ่งบางจุด พอมาร่วมกันแล้วมันก็แปลกใหม่ดี

ตอนนั้น เอลวิสเป็น ‘เอเลี่ยน’ สำหรับเมืองไทย
‘เอเลี่ยน’ ที่แปลว่า ต่างด้าว
การมาอยู่โดดเดี่ยวในที่แปลกหน้าแปลกภาษาย่อมเหงาเป็นธรรมดา
แต่เอลวิสก็มีอาการเหงาเกินธรรมดาไม่น้อย
ทุกคืน เอลวิสต้องต่อสู้กับ ‘ความไม่ง่วง’ ของตัวเอง
และน้อยคืนที่จะเอาชนะมันได้

หากไม่รู้มาก่อน ผมอาจนึกว่า เอลวิสมาจากเมืองจีน
ก็ด้วยรอยดำรอบดวงตาสองดวงยังกะ ‘แพนด้า’ นั่นไงเล่า!

อาการ ‘หลับยาก’ ของคนต่างด้าวเป็นเรื่องที่ผมไม่อาจเข้าใจ
ผมพยายามบอกให้เอลวิสออกกำลังกายให้หนัก ปล่อยเหงื่อออกมาเยอะๆ
เอาให้เพลีย พอถึงเตียงจะได้สลบ แต่มันก็ไม่ง่ายแบบนั้น

ผมพยายามบอกให้เอลวิสอ่านหนังสือน่าเบื่อๆ ก่อนนอน
แต่เรื่องกลับเป็นว่า มันอ่านจนจบเล่ม!

ผมพยายามบอกให้เอลวิสทำสมาธิ
หายใจเข้านับ ‘พุท’ หายใจออกนับ ‘โธ’
หรือจะลอง เข้านับ ‘สิง’ ออกนับ ‘คโปร์’ ก็ยังได้
เพราะผมปรับใช้กับตัวเองมาแล้ว
เข้าผมนับ ‘แตง’ ออกผมนับ ‘โม’ แล้วผมก็หลับฝันดี

แต่เอลวิสมันนับทั้งพุททั้งโธ นับทั้งแกะทั้งแพะ มันก็ไม่หลับ!

ผมเองก็จนปัญญาจะหาวิธีมาทำให้เอลวิสหลับได้
เกรงว่าทางออกสุดท้ายจะเป็นการไปนอนข้างๆ เกาหลังให้มัน
และเกรงว่าความสัมพันธ์ของเราจะงอกงามเลยเถิดไปไกลกว่านั้น
จึงหยุดดีกว่า!

มึงหาวิธีหลับของมึงเองก็แล้วกัน!

นั่นแหละ ตอนนั้นผมเป็น ‘เจ้าบ้าน’ เอลวิสเป็น ‘ต่างด้าว’
และผมก็ไม่เคยเป็น ‘ต่างด้าว’ เสียด้วย
และผมก็ไม่เคยนอนไม่หลับ มีแต่จะหลับก่อนได้นอน

สำหรับการเดินทางไกลครั้งนี้ ผมเองก็เกรงอยู่ไม่น้อยว่า
ความเป็นต่างด้าวจะทำให้ผมนอนไม่หลับ ซึ่งผมคิดว่า
ภายใต้อาการ ‘นอนไม่หลับ’ นั้น มันซ่อนอะไรไว้หลายอย่าง
เป็น ‘อะไร’ ที่มีแค่คนที่นอนไม่หลับคนนั้นแหละที่จะรู้

คราวนี้ อาจจะเป็นผมบ้างที่ต้องการให้เอลวิสมานอนเกาหลัง!